ThaiPublica > เกาะกระแส > เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย แจกสมุดพกนักการเมือง “ยิ่งลักษณ์” ติด 1 ใน 7 ส.ส. ไม่เคยลงมติแม้แต่ครั้งเดียวในเดือน ส.ค.

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย แจกสมุดพกนักการเมือง “ยิ่งลักษณ์” ติด 1 ใน 7 ส.ส. ไม่เคยลงมติแม้แต่ครั้งเดียวในเดือน ส.ค.

27 กันยายน 2012


น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย

ผ่านพ้นมาเกือบ 2 เดือนแล้ว สำหรับการทำหน้าที่ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมัยสามัญทั่วไป ที่เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา

เครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย ภายใต้การนำของสองอาจารย์รัฐศาสตร์ “จรัส สุวรรณมาลา” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ “อรรถสิทธิ์ พานแก้ว” จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ออก สมุดพก ส.ส. ประจำเดือนสิงหาคม 2555 เพื่อเป็นเครื่องสะท้อนการทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในเดือนที่ผ่านมา ทั้งผลการดำเนินงานของสภาผู้แทนราษฎร ญัตติกระทู้ต่อการลงมติ สถิติการเข้าประชุม สถิติการเข้าประชุมและการลงมติ และรายละเอียดการโหวต ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 9 ครั้ง ที่มีขึ้นในเดือนสิงหาคม

ผลการทำงานในภาพรวมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในห้วงเวลาดังกล่าว มีดังนี้

1. ลงมติในร่างกฎหมาย 10 ฉบับ อาทิ

-ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพสังคมสงเคราะห์ พ.ศ. ….

-ร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพแพทย์แผนไทย พ.ศ. …., ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556

-ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. …., ร่าง พ.ร.บ.ประกอบโรคศิลป์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่าง พ.ร.บ.มาตรฐานสินค้าเกษตร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

-ร่าง พ.ร.บ.เงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการและกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินและผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และประธานกรรมการและกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….

2 ตั้งกระทู้ถามสดและกระทู้ถามทั่วไป เพื่อติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร จำนวน 15 กระทู้ อาทิ แนวทางและขั้นตอนการรับจำนำข้าว, ปัญหายางพาราตกต่ำ, สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้, การทุจริตคอร์รัปชันกับนายกรัฐมนตรี ปัญหาการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติภูเขาหลวง เป็นต้น

3 รับทราบรายงานจากองค์กรต่างๆ 2 เรื่อง คือ รายงานการตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน และรายงานผลการตรวจสอบและผลการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำปี 2552

สำหรับสถิติการเข้าประชุมสภาของ ส.ส. จากจำนวน 486 คน มีค่าเฉลี่ยการเข้าประชุมอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ จำแนกเป็น

เข้าประชุม 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม มีจำนวน 383 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 78 เปอร์เซ็นต์

ร้อยละ80-89 จำนวน 50 คน หรือคิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์

ร้อยละ70-79 จำนวน 34 คน หรือคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์

ต่ำกว่าร้อยละ 70 จำนวน 22 คน คิดเป็น 4 เปอร์เซ็นต์

ในสมุดพกยังระบุว่า เมื่อพิจารณาสถิติการลงมติในการพิจารณาเรื่องต่างๆ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติ ญัตติ พระราชกำหนด และเรื่องพิจารณาอื่นๆ จะเห็นว่า ส.ส. ยังคงออกเสียงลงมติได้น้อยกว่าการเข้าประชุม ซึ่งเห็นได้จากความแตกต่างของสถิติการลงมติและการเข้าประชุมสภา

แม้ค่าเฉลี่ยของการเข้าประชุมอยู่ที่ 95 เปอร์เซ็นต์ แต่สถิติการลงมติของ ส.ส. ทั้งสภามีเพียง 76 เปอร์เซ็นต์ จำแนกเป็น

ลงมติ 100 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 133 คน คิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์

ลงมติร้อยละ 79 – 99 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 188 คน คิดเป็น 39 เปอร์เซ็นต์

ลงมติร้อยละ 50-74 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 71 คน คิดเป็น 15 เปอร์เซ็นต์

ลงมติร้อยละ 49-29 เปอร์เซ็นต์ จำนวน 46 คน คิดเป็น 9 เปอร์เซ็นต์

ลงมติต่ำกว่าร้อยละ 29 มีจำนวน 48 คน คิดเป็น 10 เปอร์เซ็นต์

สะท้อนให้เห็นว่า ส.ส. ได้เข้าประชุมแต่กลับไม่ลงคะแนนเสียง ทั้งที่เสียงของ ส.ส. คือเสียงที่ได้รับจากประชาชน!

นอกจากนี้ เป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ระหว่างการลงคะแนนเสียงภายในหนึ่งวัน ส.ส. ก็ยังมีสถิติการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สม่ำเสมอในแต่ละเรื่องที่พิจารณาในวันนั้นๆ ทั้งที่เมื่อเข้าประชุมแล้วก็ควรทำหน้าที่ให้เสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสถิติการเข้าร่วมประชุมและลงคะแนนพบว่า มี ส.ส. จำนวน 4 คน ประกอบด้วย นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในฐานะ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย และนายอนุมัติ ซูสารอ ส.ส.ปัตตานี พรรคมาตุภูมิ เป็นกลุ่มบุคคลที่ลงชื่อเข้าร่วมประชุมทุกครั้งแต่ไม่เคยลงมติแม้แต่ครั้งเดียว

ขณะที่นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เข้าร่วมประชุมจำนวน 89 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่เคยลงมติ เช่นเดียวกับนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมประชุม 67 เปอร์เซ็นต์ และไม่เคยลงมติ รวมไปถึงนายอิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่เข้าร่วมประชุม 11 เปอร์เซ็นต์โดยที่ไม่เคยลงมติแต่อย่างใด

ส่วน ส.ส. ที่ไม่มาประชุมและไม่ได้ลงมติใดๆ แม้แต่ครั้งเดียว ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมามี 2 ราย คือ นายปัญญวัฒน์ บุญมี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ พล.อ.พิชาญเมธ ม่วงมณี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีรายงานว่า พล.อ.พิชาญเมธรักษาอาการป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล

เมื่อเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทยได้แจกจ่าย “สมุดพก” ให้กับ ส.ส. ที่บรรดาเราๆ ท่านๆ ได้เลือกเข้ามาทำหน้าที่ คำถามมีต่อไปว่า ประชาชนซึ่งเป็นเสมือน “ผู้ปกครอง” จะมีมีวิธีการ “ลงไม้เรียว” กับบรรดา ส.ส. ติดชาร์ตนี้อย่างไร

หรือจะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการลงคะแนนในการเลือกตั้งครั้งหน้า!