ThaiPublica > เกาะกระแส > เอกชนผนึกกำลัง “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” วงเสวนาจำนำข้าวแฉ พบทุจริตทุกขั้นตอนของนโยบาย

เอกชนผนึกกำลัง “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” วงเสวนาจำนำข้าวแฉ พบทุจริตทุกขั้นตอนของนโยบาย

7 กันยายน 2012


ศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่นได้กำหนดให้วันที่ 6 กันยายน ของทุกปี เป็นวัน “ต่อต้านคอร์รัปชั่น” เพื่อเป็นการรำลึกถึง นายดุสิต นนทะนาคร อดีตประธานกรรมการหอการค้าไทย และ ประธานก่อตั้งภาคีเครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ที่เสียชีวิตไปในวันนี้เมื่อปี 2554

วันที่ 6 กันยายน 2555 ศูนย์ภาคีเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชั่น ได้จัดงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชั่น : รวมพลังเปลี่ยนประเทศไทย” ขึ้น เพื่อตอกย้ำและกระตุ้นให้สังคม โดยเฉพาะภาคเอกชน เห็นความสำคัญ และร่วมมือกันต่อต้านการคอร์รัปชั่น

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ได้กล่าวในการบรรยายเรื่อง “รวมพลังภาคธุรกิจ ต่อต้านคอร์รัปชั่น” ว่า ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาที่สั่งสมและเรื้อรัง ทั้งที่เราเป็นสังคมเมืองพุทธ มีกฎหมายในการปราบปราม และทุกรัฐบาลบอกว่าจะแก้ไข แต่ปัญหานี้กลับไม่ได้ลดลง โดยนายสมคิดได้ยกตัวอย่างของประเทศสิงคโปร์ ที่สามารถแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นได้ เนื่องจากการมีผู้นำที่เอาจริงในการแก้ไขปัญหา และการมีภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง

“ขณะนี้ภาคธุรกิจในบ้านเรามองว่าการทุจริตเป็นเรื่องปกติ มีคนที่ยอมรับได้หากทุจริตแล้วประเทศชาติได้ประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ สังคม ความดีงาม ไปจนถึงประเทศชาติ จะถูกกลืนกิน ถ้าเราไม่ต้องการให้สังคมเป็นแบบนี้ ทุกคน โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ต้องร่วมมือกัน หากธุรกิจไม่จ่าย คอร์รัปชั่นก็จะไม่เกิดขึ้น โดยการคอร์รัปชั่นจะเป็นตัวทำลายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะธุรกิจจะไม่สามารถเติบโตแบบยั่งยืนได้หากละเลยการพัฒนาสินค้า พัฒนาบุคลากร และการสร้างความไว้วางใจจากสาธารณะ ซึ่งคอร์รัปชั่นจะไม่ทำให้การพัฒนาที่ยั่งยืนเหล่านี้เกิดขึ้น” นายสมคิดกล่าว

ขณะเดียวกัน นายสมคิดได้เรียกร้องให้ภาคเอกชนจัดทำราคากลาง และผลักดันให้เป็นกฎหมายเหมือนในต่างประเทศ เพราะราคากลางจะเป็นมาตรฐานที่ใช้ในการเปรียบเทียบ และสนับสนุนให้องค์การต่างๆ ที่ต่อต้านคอร์รัปชั่น ออกมาปกป้องคนที่ให้ข้อมูลเรื่องการทุจริต

“บ้านเมืองของเราตอนนี้กำลังต้องการความช่วยเหลือจากภาคเอกชนทั้งหลาย การเปลี่ยนทัศนคติของคนในประเทศ ภาคธุรกิจต้องเป็นแกนนำสำคัญ เพราะในภาคอื่นๆ ขาดผู้นำที่จะเข้ามาทำตรงนี้ ซึ่งการทำเรื่องแบบนี้บังคับกันไม่ได้ เป็นเรื่องของจิตสำนึก หน้าที่ และความรับผิดชอบ ที่ทำแล้วอาจไม่ได้รางวัล แต่จะทำให้สังคมของเราดีขึ้น” นายสมคิดกล่าว

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ด้านนายมีชัย วีระไวทยะ ได้กล่าวในการบรรยายหัวข้อ “รวมพลังผลักดันการต่อต้านคอร์รัปชั่น ให้เป็นวาระแห่งชาติ” ว่า กฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถทำให้ปัญหาคอร์รัปชั่นลดลงได้ เพราะรัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ทั้งหมด ภาคเอกชนที่เป็นเหมือนเจ้าของบ้านต้องเป็นผู้เข้าไปช่วย โดยต้องมีการวางแผนระยะยาว เพื่อแก้พฤติกรรมส่วนตัว ให้คนทำความดี

“ระบบการศึกษาของเราในทุกวันนี้ เน้นผลิตผู้ตามมากกว่าผู้นำ จึงจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพื่อสร้างผู้นำที่ไม่ยอมรับการคอร์รัปชั่น การพัฒนาระบบการศึกษา และการปลูกฝังค่านิยมเรื่องคอร์รัปชั่น ต้องทำไปด้วยกัน การจะต่อต้านคอร์รัปชั่นต้องเริ่มจากจุดเล็ก เริ่มจากเด็ก แล้วพัฒนาไปจุดใหญ่ในระดับประเทศ” นายมีชัยกล่าว

นอกจากการบรรยายโดยนายสมคิดและนายมีชัยแล้ว ภายในงานยังมีการจัดเสวนาในหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นอีก 4 หัวข้อ

ในการเสวนาหัวข้อ “จำนำพืชผลการเกษตร” ประเด็นพูดคุยในวงเสวนาส่วนใหญ่อยู่ที่การวิพากษ์วิจารณ์นโยบายจำนำข้าวของรัฐบาลชุดปัจจุบัน

นายการุณ กิตติสถาพร อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า นโยบายที่เรียกว่ารับจำนำข้าวในปัจจุบันไม่ใช่การจำนำข้าว เพราะการใช้คำว่าจำนำ ราคาที่รับจำนำจะต้องต่ำกว่าราคาตลาด เนื่องจากมีการนำดอกเบี้ย ความเสี่ยงของราคา และค่าใช้จ่ายในการบริหาร มาคิดรวมด้วย เหมือนนโยบายจำนำข้าวในอดีตที่มีการกำหนดราคาจำนำต่ำกว่าราคาตลาด 80% แต่สิ่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันจึงไม่ใช่การจำนำ และการกำหนดราคาสูงกว่าราคาตลาดเป็นจำนวนมากจะทำให้คนไม่มาไถ่ถอนคืน

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการคลัง กล่าวในวงเสวนาว่า นโยบายรับจำนำข้าวทำให้ประเทศไทยสูญเสียตลาดในต่างประเทศ ทำให้กระบวนคัดสรรและกระบวนปรับปรุงคุณภาพข้าวถูกทำลาย และที่สำคัญคือการขาดทุนจำนวนมหาศาล หากคำนวณง่ายๆ มีการรับจำนำข้าว 17 ล้านตันข้าวเปลือก เมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ประมาณ 9 ล้านตัน เมื่อนำไปขายในราคาตลาดโลกก็จะขาดทุนตันละ 9,000 บาท ก็คิดเป็นเงิน 81,000 ล้านบาท แต่ในความเป็นจริง จากอดีตที่ผ่านมาพบว่า ข้าวที่รับจำนำไม่เคยขายได้ราคาตลาดโลก เพราะจะมีข้าวที่เสื่อมราคา ดังนั้น การขาดทุนขั้นต่ำจะเริ่มที่ เงิน 81,000 ล้านบาท ไปจนที่สุดรัฐอาจขาดทุนถึง 120,000 – 130,000 ล้านบาท

“เงินที่ขาดทุนไปเป็นแสนล้านบาท รัฐจะชอบบอกว่าชาวนาได้ประโยชน์ แต่ประเด็นก็คือ ชาวนาไม่ได้ผลประโยชน์ทั้งหมดจากเงินตรงนี้ แต่กลับมีคนที่หาผลประโยชน์จากส่วนต่างราคาตรงนี้ทั้งขาเข้าและขาออก” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ในอดีต การหาผลประโยชน์จากขาเข้า คือการนำใบประทวนปลอมมาใช้ มีข้าวน้อยก็บอกว่ามีข้าวมาก แล้วก็โอนเงินเข้าบัญชีตามจำนวนที่บอก ซึ่งการจำนำในครั้งนี้ ปัญหาเรื่องใบประทวนปลอมไม่ค่อยมี เพราะมีการตรวจได้ง่าย แต่สิ่งที่พบในปีนี้ก็คือ ข้าวต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศไทย เพราะในประเทศเพื่อนบ้านราคาข้าวอยู่ที่ตันละ 7 – 8 พันบาท เท่านั้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าอาจมีข้าวต่างประเทศไหลเข้ามาหลายแสนตัน

“ปัญหาใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในโครงการรับจำนำข้าวตอนนี้คือ การหาผลประโยชน์ที่โรงสี เนื่องจากมีข้าวมากทำให้โกดังไม่พอ ทำให้ต้องมีการจัดคิวเพื่อรับจำนำข้าว โดยชาวนาก็จะได้รับเงินเพียง 12,000 บาท หากต้องการได้เงินเลย โรงสีก็จะเอาข้าวที่ได้ไปสวมสิทธิ์ออกใบประทวนที่ ธกส. เมื่อได้เงินมา 15,000 บาท เงินส่วนต่างก็จะนำไปแบ่งกัน ข้าวทั้งหมดในโครงการหลายสิบล้านตัน หากทำแบบนี้ก็จะมีเงินส่วนต่างเป็นหมื่นล้านบาทที่ไม่ถึงมือชาวนา และในส่วนขาออกของนโยบาย ก็จะพบว่าเมื่อจัดการประมูลทีไร ผู้ประมูลรายเดิมๆ ก็จะได้ข้าวที่ราคาถูกไปทุกครั้ง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ภาพจาก - กรุงเทพธุรกิจ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ภาพจาก – กรุงเทพธุรกิจ

ด้านนายจำเริญ ณัฐวุฒิ ผู้ประกอบการโรงสีข้าว ได้เปิดเผยมุมมองฝ่ายผู้ประกอบการว่า จากนโยบายจำนำข้าวทำให้โรงสีไม่มีต้นทุนและไม่มีความเสี่ยง ธุรกิจโรงสีจึงได้กำไรสูงสุดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แม้สัญญาจะระบุว่า โรงสีสามารถคิดค่าสีข้าวได้เพียงตันละ 500 บาท แต่เมื่อรวมกำไรจากส่วนอื่นๆ อย่างปี 2547 พบว่าโรงสีได้กำไรมากถึงตันละ 1,500 บาท โดยในปัจจุบัน โรงสีจะได้กำไรจากส่วนนี้ตันละไม่ต่ำกว่า 600 – 700 บาท

“จากนโยบายจำนำข้าว ทำให้โรงสีปกติที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากไม่มีคนนำข้าวมาขายตามราคากลไกตลาด ซึ่งหากไม่เข้าร่วม โรงสีก็ไม่สามารถอยู่ได้ ซึ่งผมเชื่อว่าโครงการรับจำนำข้าวมีการทุจริตทุกขั้นตอน ตั้งแต่ราชการไปจนถึงเอกชนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้อง” นายจำเริญกล่าว

นายจำเริญกล่าวต่อว่า การทุจริตในนโยบายเริ่มตั้งแต่กระบวนการแรกที่การขอหนังสือรับรองของเกษตรกร เนื่องจากเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่พอ ทำให้ไม่สามารถตรวจสอบสิทธิ์ของเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง เป็นเหตุให้มีการสวมสิทธิ์ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เมื่อมาถึงโรงสี ในเรื่องน้ำหนัก เรื่องความชื้น ก็มีการแต่งตั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยไม่ดูที่ความรู้ความสามารถ ทำให้เมื่อไปตรวจจึงไม่เคยเจอความผิดปกติ กลายเป็นว่าไปการันตีให้คนทุจริต

นอกจากนั้น รัฐวิสาหกิจอย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ก็ยังมีปัญหาโอนเงินให้เกษตรกรช้า ทั้งที่โครงการนี้รัฐจะโอนเงินให้ ธกส. ก่อนแล้ว ขณะที่ ธกส. ได้รับค่าจัดการ 3% แต่กลับบริหารจัดการได้ไม่มีประสิทธิภาพ โอนเงินให้เกษตรกรช้า ส่วนใหญ่ต้องรอเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน ซึ่งตนเชื่อว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ ธกส. ถือไว้ จะสามารถนำไปหาประโยชน์ได้มหาศาลในระยะเวลาดังกล่าวที่ ธกส. ไม่ยอมโอนให้เกษตรกรทันที และนโยบายนี้จะทำให้ ธกส. ได้ประโยชน์ เพราะเป็นนโยบายผูกขาดให้เกษตรกรต้องเป็นลูกค้า ธกส. เท่านั้น และ ธกส.ยังสามารถไปหาประโยชน์ได้จากค่าธรรมเนียมบัญชี ค่าธรรมเนียมเอทีเอ็ม ของเกษตรกรทั้งประเทศอีกด้วย

“โครงการนี้ทำให้คนที่ซื่อตรง คนที่ไม่ยอมคอร์รัปชั่นลำบากมาก หากโรงสีไม่ยอมให้มีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ ใช้เซอร์เวเยอร์ (ผู้ตรวจสอบคุณภาพข้าว) ที่มีความซื่อสัตย์ ตรวจข้าวตามคุณภาพจริง เมื่อชาวนานำข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานมาก็จะถูกตีกลับ ทำให้ชาวนาไม่อยากมาที่นี่ โกดังก็จะเต็มช้า หรือไม่เต็ม แต่หากมีการใช้เซอร์เวเยอร์ที่ทุจริต ยอมให้มีการคอร์รัปชั่น ยอมรับข้าวที่ไม่ได้มาตรฐานมาเก็บในโกดัง จะทำให้โกดังเต็มเร็ว ข้าวอยู่นาน ได้ค่าเช่านาน ยิ่งโกดังเต็มเร็วและอยู่นานโรงสีก็จะยิ่งได้ประโยชน์ คนทำดีจึงไม่ได้ดี ขณะที่นโยบายกำหนดให้ชาวนาจำนำเฉพาะโรงสีในพื้นที่เท่านั้น จึงทำให้เกิดปัญหา เพราะจำนวนโรงสีกับพื้นที่ปลูกข้าวในแต่ละจังหวัดไม่สัมพันธ์กัน บางจังหวัดมีโรงสีไม่กี่โรง แต่มีนาข้าวเป็นแสนไร่ แต่ขณะที่มีบางจังหวัดที่มีโรงสีเป็นสิบๆ โรง แต่มีนาข้าวเพียงไม่กี่ไร่ ก็จะทำให้มีการโกงได้ เพราะชาวนาไม่มีทางเลือก” นายจำเริญกล่าว

ข้อสรุปในวงเสวนานี้เสนอให้โครงการรับจำนำข้าวต้องมีการจำกัดจำนวน เพื่อให้เกษตรกรที่ยากจนจริงๆ เป็นผู้ได้ประโยชน์ โดยรัฐจะต้องไม่บิดเบือนกลไกตลาด ตั้งราคาที่เหมาะสม โดยใช้นโยบายเพื่อแก้ปัญหาในระยะสั้นเท่านั้น และที่สำคัญ การรับจำนำจะต้องไม่รับจำนำทุกเมล็ดแบบที่เป็นในปัจจุบัน และมีการเสนอให้มีการปรับโครงสร้างการผลิตมากกว่าที่จะใช้นโยบายเฉพาะหน้าในลักษณะนี้

ขณะที่วงเสวนาอื่นๆ ภายในงาน ได้แก่ วงเสวนาเรื่อง “รวมพลังภาคประชาชน สู้ด้วยเสียง” ได้มีการเสนอให้ใช้ช่องทางการสื่อสารที่เป็นสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากสื่อหลักไม่สามารถเป็นที่พึ่งของสังคมในการสื่อสารเรื่องคอร์รัปชั่นได้ ขณะที่สื่อสังคมออนไลน์มีข้อได้เปรียบที่สามารถพูดได้มากกว่า และการแพร่กระจายก็เป็นไปอย่างรวดเร็ว โดยนอกเหนือจากการส่งเสียงแล้ว ก็ควรมีการปฏิบัติ และสื่อหลักก็ควรเข้าร่วมด้วย เพราะผู้ที่ทุจริตมักกลัวเสียงของประชาชนมากกว่ากลัวกฎหมาย

วงเสวนาเรื่อง “รวมพลังภาคธุรกิจ ริเริ่ม Clean & Clear Standard for AEC” ได้มีการแสดงความเป็นห่วงจากภาคธุรกิจว่า หากประเทศไทยยังปล่อยให้ปัญหาคอร์รัปชั่นเป็นแบบนี้ เมื่อเปิด AEC อาจไปกระทบความสามารถในการแข่งขัน โดยภาคธุรกิจมีข้อเสนอ สังคมต้องรีบแก้ไขปัญหานี้ เพราะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือในการทำธุรกิจ เกิดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ลดแรงจูงใจในการเข้ามาทำธุรกิจของต่างชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคเอกชนต้องมีบทบาทมากขึ้น ต้องปฏิเสธการทำธุรกิจกับผู้ที่คอร์รัปชั่น และในส่วนภาครัฐ ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ ต้องโปร่งใส และเน้นใช้นโยบายที่สนับสนุนกลไกตลาดมากขึ้น

และวงเสวนาสุดท้าย “ตรวจแถวหมาเฝ้าบ้าน” ที่เน้นพูดคุยเรื่องการทำงานของสื่อ ในวงเสวนาเห็นตรงกันว่า ปัจจุบัน สื่อหันมาทำข่าวเรื่องการคอร์รัปชั่นกันมากขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอ ขณะที่ยังมีการพบข้อจำกัดในการทำงานของสื่อ ที่แม้ว่าสื่อจะรู้ข้อมูลเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นอย่างดี แต่ยังมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน การใช้อิทธิพลคุกคาม และการใช้ระบบอุปถัมภ์ ทำให้การทำงานของสื่อที่จะเปิดเผยเรื่องการคอร์รัปชั่นเป็นไปอย่างยากลำบาก ดังนั้น ภาคประชาสังคมจึงต้องสนับสนุนการทำงานของสื่อในเรื่องนี้ด้วย