ThaiPublica > เกาะกระแส > วิกฤติประชากรไทย เด็กรุ่นใหม่กับภาระในอนาคต “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” แนะตั้งโจทย์ใหม่ 4 ข้อ รับมือ “ทุนมนุษย์”

วิกฤติประชากรไทย เด็กรุ่นใหม่กับภาระในอนาคต “โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” แนะตั้งโจทย์ใหม่ 4 ข้อ รับมือ “ทุนมนุษย์”

11 กันยายน 2012


ในงานการประชุมประจำปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องอนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา มีการเสวนาในหัวย่อยเรื่อง “สังคมสีเขียว…นวัตกรรมทางสังคมสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน : การเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาสังคมที่ทั่วถึงและยั่งยืน”

ด้วยจำนวนประชากรเป็นปัจจัยสำคัญต่อการเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะประชากรวัยทำงาน เมื่อจำนวนประชากรเปลี่ยนแปลงสวนทางกับที่เคยเป็นมา ประเทศจะยังสามารถเดินหน้าต่อไปด้วยรูปแบบและวิธีการเดิมๆ ได้อีกหรือไม่? และโจทย์ใหม่ที่ประชาชนทุกฝ่ายต้องร่วมกันคิดในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางประชากรครั้งใหญ่ของประเทศมีอะไรบ้าง?

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ กรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์สู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน” ว่า ความจริงหรือข้อมูลด้านประชากรมีส่วนสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน เพราะเป็นโครงสร้างหลักในการพัฒนาประเทศ แต่ปัจจุบัน จำนวนประชากรของประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะจำนวนประชากรวัยทำงาน

จากจำนวนประชากรของไทยระหว่างปี 2513 กับปี 2555 และการประมาณการจำนวนประชากรในอีก 30 ปีข้างหน้า ของอนุกรรมการ สศช. พบว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ทางประชากร

จากปี 2513-2555 ประเทศไทยมีจำนวนประชากรรวมเพิ่มขึ้น 30 ล้านคน จาก 34.39 ล้านคน เป็น 64.36 ล้านคนในปัจจุบัน แต่จะลดลงเหลือ 63.87 ล้านคนในปี 2583

แต่หากพิจารณาแยกตามกลุ่มอายุแล้วจะพบว่า ในช่วงเวลา 40 ปีที่ผ่านมา วัยแรงงานซึ่งเป็นวัยที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจนั้นมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 25 ล้านคน แต่จะลดลงในอีก 30 ปีข้างหน้าเกือบ 8 ล้านคน เหลือเพียง 35.18 คนเท่านั้น คิดเป็นสัดส่วนวัยแรงงานในปี 2513, 2555 และ 2583 เป็นร้อยละ 50, 66.7 และ 58.6 ตามลำดับ

ในขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังกลายเป็น Ageing Society หรือสังคมของผู้สูงอายุแทน เพราะมีอัตราเพิ่มสูงมากจากจำนวน 1.68 ล้านคนในปี 2513 กลายเป็นเกือบ 10 ล้านคนในปัจจุบัน และจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20 ล้านคนในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งข้อมูลนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่เราต้องมาใคร่ครวญกันว่า จะตอบสนองความจริงชุดนี้อย่างไร ซึ่งจะกลายเป็นโจทย์ใหม่ของสังคมที่ต้องเริ่มคิดตั้งแต่วันนี้

โจทย์ข้อแรกที่เกิดขึ้นจากข้อมูลประชากรวัยสูงอายุในอนาคตคือ แบบจำลองทางเศรษฐกิจ หรือ Growth Model ของประเทศ ที่เดิมคำนวณโดยใช้จำนวนคนที่เพิ่มขึ้น จำนวนวัยแรงงานที่เพิ่มขึ้น บวกกับทุน เทคโนโลยี และตลาด ซึ่งทำให้บ้านเมืองของเราเติบโตมาจนวันนี้ ยังสามารถใช้ได้หรือไม่ หากเราไม่มีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น และต่อจากนี้ไป Growth Model น่าจะมีลักษณะอย่างไร อันนี้เราทุกคนก็ต้องช่วยกันคิดโมเดลอื่นๆ และนำมาแลกเปลี่ยนกัน เพราะโมเดลแบบเก่าจะไม่ช่วยให้เราเจริญขึ้นอีกแล้ว

ด้านจำนวนประชากรวัยเด็กจะลดลงเหลือเพียง 8 ล้านคนในปี 2583 คิดเป็นร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด จากเดิมในปี 2513 วัยเด็กเป็นประชากรที่มากที่สุดในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 45 นั่นจึงทำให้ปัจจุบันเรามีประชากรวัยแรงงานเพิ่มขึ้น

“ทุกๆ การเกิดต้องมีคนตาย และทุกช่วงอายุต้องมีคุณภาพ” คำคำนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ เพราะที่แล้วมาพวกเราถนัดกับความคิดเชิงปริมาณ แต่มาวันนี้ทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว เราต้องคิดในเชิงคุณภาพ และทำอย่างไรคนถึงเปลี่ยนความคิดเชิงปริมาณไปเป็นความคิดเชิงคุณภาพได้

ตัวอย่างเช่น การลงทุนเรื่องรถไฟความเร็วสูง นี่คือความคิดเชิงปริมาณ เพราะหากเป็นความคิดเชิงคุณภาพจะต้องมีคำตอบว่าทำอย่างไรรถไฟถึงจะสะอาด สะดวก ตรงเวลา ไม่ตกราง คำถามคือ ในวงเงินงบประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท (เงินกู้เพื่อโครงการลงทุนของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) นั้นมีประเด็นเชิงคุณภาพบ้างหรือไม่

โจทย์ข้อสองที่สำคัญก็คือ ทำให้เกิดการลงทุนเชิงคุณภาพแทนการลงทุนเชิงปริมาณ เพราะการลงทุนของไทยที่ผ่านมาเป็นการการลงทุนเชิงปริมาณ แล้วละเลยการลงทุนเชิงคุณภาพ เช่น รัฐลงทุนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่ลงทุนทำให้สนามบินนี้กลายเป็นที่ 1 ในอาเซียนเลย นั่นเพราะเราไม่เคยตั้งเป้าหมายนี้ เรามีแต่เป้าหมายว่าให้เครื่องบินจอดเท่านี้หรือรองรับคนเท่านั้น

“เห็นได้ว่าการลงทุนเชิงคุณภาพของเราล้าและด้อยในความสำคัญ ซึ่งต้องเปลี่ยนลำดับความสำคัญจากการลงทุนเชิงปริมาณมาเป็นเชิงคุณภาพให้ได้ และต้องทำให้ได้ภายใน 30 ปีต่อจากนี้ มิฉะนั้นประเทศชาติจะเจ๊ง เช่น การลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของวัยแรงงาน ทั้งการศึกษา การอบรมฝีมือ การสร้างกระบวนการการเรียนรู้ ฯลฯ” นายโฆสิตกล่าว

ที่ผ่านมาเรามีแผนพัฒนาฯ หลายฉบับ แต่ยังไม่มีแผนพัฒนาคุณภาพประเทศไทยที่จะสร้างคุณภาพของประเทศในทุกๆ เรื่องเลย เช่น มีแผนพัฒนาการศึกษาทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณแยกจากกัน ว่าทำอย่างไรมหาวิทยาลัยของไทยถึงจะมีอันดับสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ทำอย่างไรให้มีมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างการลงทุนเชิงคุณภาพ เช่น การลงทุนด้านวิจัย ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้นถือว่าน้อยมาก อยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.2 ของจีดีพี และมีนักวิจัยเพียงประมาณ 500 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศที่เจริญมากๆ เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ลงทุนด้านวิจัยประมาณร้อยละ 3-3.5 ของจีดีพี และมีนักวิจัยประมาณ 4,000-6,000 คนต่อประชากร 1 ล้านคนตามลำดับ

โจทย์ข้อที่สาม คือ ภาระของประชาชนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรมีอายุยืนมากขึ้น ปัจจุบันอายุเฉลี่ยเพศชาย 70.88 ปี เพศหญิง 77.87 ปี นั่นหมายความว่าหากนับอายุงานเท่ากับข้าราชการตอนเกษียณอายุ 60 ปีแล้ว ประชากรเหล่านี้จะต้องดูแลตัวเองต่ออีก 10 กว่าปีโดยไม่ได้ทำงาน และภาระเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นอีกเรื่อยๆ เพราะประชากรจะอายุยืนขึ้นอีกในปี 2583 เป็น 75.25 ปีในเพศชายและ 81.86 ปีในเพศหญิง

โดยมีสัดส่วนวัยสูงอายุต่อวัยแรงงานในปี 2513, 2555 และ 2583 อยู่ที่ 1:10, 1:5 และ 1:2 ตามลำดับ

นายโฆสิตกล่าวว่า ด้วยภาระที่เพิ่มขึ้นนี้ “การออมทรัพย์” จึงกลายเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับครัวเรือน เพราะฉะนั้น นโยบายเรื่องดอกเบี้ยจึงสำคัญมาก รัฐบาลจะเน้นแต่ดอกเบี้ยต่ำเพื่อการลงทุนไม่ได้ ต้องมีนโนบายดอกเบี้ยเพื่อดึงดูดคนมาออมทรัพย์ด้วย ดอกเบี้ยต่ำๆ นั่นเหมาะกับตอนที่จำนวนประชากรของประเทศอยู่ในขาขึ้น แต่เมื่อจำนวนประชากรของเราอยู่ในขาลงและอายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ การออมทรัพย์จึงมีความสำคัญ

ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)
ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ภาระที่เพิ่มขึ้นตามมาจากอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นอีกคือ วัยแรงงานจะต้องมีเงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ในยามแก่ ผ่านระบบกลไกของรัฐ อาจเป็นสวัวสดิการ หรือจะต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งของตนไปช่วยคนวัยเกษียณ อีกทั้งภาระการกู้เงินของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน คนที่ต้องมาใช้หนี้คืนคือคนวัยทำงานในรุ่นต่อไป ไม่ใช่คนในรุ่นนี้ เพราะระยะเวลากู้นาน 20-30 ปี ซึ่งเศรษฐศาสตร์ระหว่างรุ่น (generation economic) นี้กำลังเป็นปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อภาระประชาชนเพิ่มขึ้น และเริ่มจะกลายเป็นประเด็นระหว่างรุ่นขึ้นมา พวกเราควรจะทำกันอย่างไร

โจทย์ข้อสุดท้าย คือ บทบาทของรัฐบาล เมื่อภาระของประชาชนค่อยๆ เพิ่มขึ้น ภาระของรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เพราะต้องเข้ามาแบกรับภาระประชาชน และยังต้องอุดหนุนเงิน (subsidy) ด้านต่างๆ ให้อีกด้วย เช่น การจัดสวัสดิการสำหรับคนที่กำลังจะแก่ รวมถึงการลงทุนต่างๆ ด้วย ซึ่งปัจจุบันมีแต่การลงทุนเชิงปริมาณเท่านั้น อย่างไรเสีย รัฐบาลก็ต้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าจะใหญ่อย่างยั่งยืน หรือว่าใหญ่แล้วเป็นหนี้ไปเรื่อยๆ ก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ทั่วทั้งโลก

เช่น ประเด็นการกู้เงินของรัฐบาล คนที่จะต้องใช้หนี้รัฐบาลก็คือคนวัยทำงานที่เสียภาษีในรุ่นต่อไป ซึ่งอาจเป็นคนละรุ่นกับตอนที่รัฐกู้มา สิ่งที่ประชากรวัยทำงานรุ่นต่อไปต้องรับกรรมแทน อย่างเช่น ประเทศกรีซหรือสเปน ที่เกิดปัญหาเด็กจบใหม่ประมาณครึ่งหนึ่งไม่มีงานทำ

นับจากนี้ไป เราทุกคนมีเวลา 30 ปี ในการตอบคำถามทั้ง 4 ข้อ ให้ได้ แต่ถ้าทุกอย่างทำไม่ถูกต้อง ความเดือดร้อนต่างๆ ก็จะมาถึงเร็ว ซึ่งความเดือดร้อนนั้นมาด้วยเหตุผลที่ว่าทุกคนต่างหวังดีต่อกัน เพียงแต่ว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นคือความเดือดร้อน ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่ต้องช่วยกันคิดแก้โจทย์ดังกล่าว และช่วยกันเผยแพร่ความคิดนั้นออกสู่สาธารณะ