ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปตท. ฝันค้าง ลอยตัวเอ็นจีวีถูกเตะถ่วง

ปตท. ฝันค้าง ลอยตัวเอ็นจีวีถูกเตะถ่วง

30 กันยายน 2012


หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2555 ให้ทยอยปรับขึ้นราคาขายปลีกเอ็นจีวีเดือนละ 0.50 บาท (50 สตางค์) ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 จนถึงเดือนธันวาคม 2555 ปรากฏว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่งที่ได้รับความเดือดร้อนมาชุมนุมประท้วงที่หน้าอาคารสำนักงานใหญ่บริษัท ปตท. และลานพระบรมรูปทรงม้า

เนื่องจากกลุ่มผู้ประกอบการไม่เชื่อข้อมูลราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 14.46 บาท ซึ่ง ปตท. ใช้เป็นข้อมูลขอปรับขึ้นราคา ว่าไม่ใช่ราคาต้นทุนที่แท้จริง จึงเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายลอยตัวราคาขายปลีกเอ็นจีวี

ขณะนั้น รัฐบาลมอบหมายนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดโต๊ะเจรจากับม็อบ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ให้มีการจัดตั้งคณะทำงานศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวีให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยเชิญตัวแทนกลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่งเข้ามานั่งในคณะทำงานชุดนี้ด้วย

ในระหว่างที่รอผลการศึกษาของคณะทำงานชุดนี้ กระทรวงพลังงานทยอยปรับลดเงินชดเชยก๊าซเอ็นจีวีเดือนละ50 สตางค์ ทุกๆ วันที่ 16 ของเดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 ราคาเอ็นจีวีที่หน้าปั๊มทยอยปรับราคาไปได้ 4 ครั้ง จากราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 10.50 บาท ในวันที่ 16 เมษายน 2555

ก่อนที่จะถึงกำหนดที่ต้องขึ้นราคาเอ็นจีวีเป็นครั้งที่ 5 วันที่ 8 พฤษภาคม 2555 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติให้ตรึงราคาขายปลีกเอ็นจีวีที่ 10.50 บาท ต่อไปอีก 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2555 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2555

ต่อมา คณะทำงานฯ ร่วมระหว่างตัวแทนภาครัฐและผู้ประกอบการภาคขนส่ง เสนอเรื่องถึงกระทรวงพลังงานให้ว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นคนกลาง ศึกษาทบทวนโครงสร้างราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีที่สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (PTIT) เคยทำเอาไว้ ซึ่ง ปตท. นำออกไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนก่อนลอยตัวราคาเอ็นจีวี

ดังนั้น ก่อนที่จะถึงกำหนดเวลาที่ต้องปรับราคาเอ็นจีวี วันที่ 14 สิงหาคม 2555 ที่ประชุม กบง. มีมติให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ว่าจ้างสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ โดยที่ประชุม กบง. ครั้งนี้ สั่งตรึงราคาเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 10.50 บาท ต่อไปเป็นครั้งที่ 2 มีผลตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2555 เป็นต้นไป

ที่สำคัญ มติ กบง. ครั้งนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าให้ตรึงราคาเอ็นจีวีนานแค่ไหน แต่ให้รอไปจนกว่าผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้ข้อสรุป ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยอมรับการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีในอนาคต

ต่อมา วันที่ 6 กรกฎาคม 2555 สนพ. เชิญนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานที่ประชุมคณะทำงานศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี ซึ่งในที่ประชุมได้มีการพิจารณา 3 ประเด็น คือ

1. ต้นทุนเนื้อก๊าซ

2.อัตราค่าผ่านท่อก๊าซ

และ 3. ต้นทุนในการดำเนินงานของ ปตท. เช่น ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายภายในสถานีแม่ สถานีลูก
ปัจจุบัน กระบวนการผลิตก๊าซเอ็นจีวีของ ปตท. ได้มาจาก 3 แหล่ง คือ จากแหล่งก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย, พม่า และนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจี (LNG) จากต่างประเทศ

กลุ่มผู้ประกอบการภาคขนส่ง เสนอต่อที่ประชุมให้ตัดหรือแยกราคาต้นทุนก๊าซแอลเอ็นจี ซึ่งมีราคาแพงมาก ออกจากสูตรคำนวณราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ (Pool gas) แต่ที่ประชุมไม่เห็นด้วย เพราะจะผลักภาระไปให้ประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้ไฟฟ้า

สุดท้าย ที่ประชุมคณะทำงานฯ สรุปว่า ไม่ให้ตัดต้นทุนแอลเอ็นจีออกจากสูตรคำนวณราคาต้นทุนเนื้อก๊าซ แต่ควรมีการกำหนดเพดานต้นทุนแอลเอ็นจีเอาไว้ไม่เกิน 0.25 บาทต่อกิโลกรัม ไปจนกว่ากระทรวงพลังงาจะจัดทำแผนการจัดหาแอลเอ็นจีออกมาอย่างชัดเจน
ราคาพูลเอ็นจีวี

ประเด็นที่ 2 ค่าผ่านท่อก๊าซ ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังศึกษาทบทวนอัตราค่าบริการ หาก กกพ.ศึกษาเสร็จเมื่อไหร่ ที่ประชุมคณะทำงานเห็นควรให้นำอัตราค่าผ่านท่อก๊าซตามมติ กกพ. เข้ามารวมคำนวณเป็นต้นทุนแปรผันได้ ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ส่วนเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายของ ปตท. ในการจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี เช่น ค่าขนส่ง และการดำเนินการในสถานีแม่และสถานีลูก ปัจจุบันเอ็นจีวีของ ปตท. มีต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมเฉลี่ยอยู่ที่ 5.56 บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าจำแนกตามระบบการขนส่งก๊าซ ต้นทุนการขนส่งก๊าซเอ็นจีวี ที่เป็นภาระหนักที่สุดของ ปตท. คือต้นทุนขนส่งก๊าซจากสถานีแม่ไปส่งสถานีลูก เฉลี่ยอยู่ที่ 7.10 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สถานีที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซมีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ที่ 2.43 บาทต่อกิโลกรัม เท่านั้น

ประเด็นนี้ ที่ประชุมคณะทำงานฯ มีความเห็นว่า ปตท. ควรจะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทในกิจการสถานีจำหน่ายเอ็นจีวีเพิ่มมากขึ้น และควรที่จะเร่งขยายปั๊มที่อยู่ตามแนวท่อก๊าซเพิ่มเติม

ทั้งนี้ กลุ่มผู้ประกอบการขนส่งไม่ขัดข้อง หากจะมีการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี แต่ขอให้มีก๊าซใช้อย่างเพียงพอ ซึ่งนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานในที่ประชุมคณะทำงานฯ มอบหมายให้ ปตท. ไปจัดทำแผนการขยายสถานีบริการและการใช้ก๊าซ NGV ในอนาคตมาใช้ประกอบการพิจารณาครั้งต่อไป

สรุปการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี 4 ครั้งที่ผ่านมา จากราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท เป็น 10.50 บาท เป็นผลมาจากการที่กระทรวงพลังงานสั่งให้กองทุนน้ำมันทยอยลดจ่ายเงินชดเชยราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวีให้กับ ปตท. ทำให้กองทุนน้ำมันหยุดการไหลออกของเงิน ที่ต้องนำไปจ่ายเป็นค่าชดเชยราคาเอ็นจีวีได้กิโลกรัมละ 2 บาท

ขณะที่บริษัท ปตท. ต้องออกมารับหน้าเสื่อ ยอมตกเป็นจำเลยสังคม ทั้งๆ ที่ผ่านมายังไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีเลย พอใกล้ถึงวันที่ ปตท. จะปรับขึ้นราคาขายปลีกก๊าซเอ็นจีวี กบง. ก็มีมติให้ตรึงราคาเอ็นจีวีที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ครั้งที่ 1 ตรึงราคาเอ็นจีวีออกไปอีก 3 เดือน และครั้งที่ 2 กบง. สั่งให้ตรึงราคาเอ็นจีวีต่อไปจนกว่าผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะได้ข้อยุติ

ล่าสุด สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ ได้ส่งผลการศึกษาโครงสร้างราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวีเบื้องต้นไปให้กระทรวงพลังงานแล้ว แต่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะสถาบันวิจัยพลังงานต้องรอผลการศึกษาอัตราค่าผ่านท่อก๊าซของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะมีผลต่อการคำนวณราคาต้นทุนเนื้อก๊าซเอ็นจีวี ปตท. จึงต้องรอกันต่อไป ไม่มีใครทราบว่า ปตท. จะได้ขึ้นราคาก๊าซเมื่อไหร่

ปตท. เดินหน้าขยายปั๊มเอ็นจีวี-เพิ่มกำลังผลิตตามสัญญา

นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ด้านนายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เดิม ครม. มีมติให้ ปตท. ทยอยปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม หลังจากที่กองทุนน้ำมันทยอยปรับลดเงินชดเชยเอ็นจีวีจนหมดแล้ว จากราคากิโลกรัมละ 10.50 บาท เป็น 12 บาท ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2555 เป็นต้นไป แต่ตอนนี้ ปตท. ยังขายที่ราคากิโลกรัม 10.50 บาท

ส่วนผลการศึกษาของสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนนี้ศึกษาเสร็จแล้ว แต่รอมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน สรุปอัตราค่าผ่านท่อก๊าซที่เหมาะสมว่าควรเป็นอย่างไร จากนั้น ทางกระทรวงพลังงานถึงจะมาสรุปราคาต้นทุนก๊าซเอ็นจีวีที่แท้จริง ว่าควรเป็นเท่าไหร่

“ช่วงนี้ ปตท. โฆษณาออกมาเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ถึงเหตุผล ความจำเป็น ที่ต้องปรับราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ปตท. ที่ต้องย้ำเตือนให้ประชาชนใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออนาคตของคนรุ่นลูก รุ่นหลาน ได้มีพลังงานใช้” นายพีระพงษ์กล่าว

ส่วนเรื่องการขยายกำลังการผลิตก๊าซเอ็นจีวีให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชน ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ปตท. เร่งดำเนินการ 2 ด้านควบคู่กับไปดังนี้ คือ 1. เร่งก่อสร้างสถานีจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี ปลายปีนี้ ปตท. ตั้งเป้าหมายจะต้องขยายสถานีให้ได้ 502 แห่ง แต่คงจะทำได้ใกล้เคียงเป้าหมาย เพราะติดปัญหาเรื่องการขออนุญาต บางจังหวัดกำหนดให้ ปตท. ต้องทำการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (E.I.A.) และ ผลกระทบต่อสุขภาพ (H.I.A.) ด้วย ชาวบ้านบางชุมชนก็มาขอข้อมูลจาก ปตท. เพิ่มเติม ทำให้ ปตท. เร่งขยายสถานีไม่ได้ตามแผนการที่กำหนดไว้

“ปีนี้ทำไม่ได้ ปีหน้าก็ต้องพยายามสร้างให้ครบ 502 แห่ง ตามที่ได้ตกลงกับรัฐบาลเอาไว้ ปตท. คงเร่งขยายไปเรื่อยๆ”นายพีระพงษ์กล่าว

แต่อย่างไรก็ตาม การเร่งขยายสถานีก๊าซออกไปมากๆ ก็ไม่ได้ช่วยให้ประชาชนมีก๊าซใช้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ เนื่องจากสถานีแม่มีกำลังการผลิตก๊าซส่งไปให้สถานีลูกขายได้ไม่ถึงครึ่งของยอดขาย

สมมุติ สถานีลูกมียอดขายเอ็นจีวีวันละ 100 กิโลกรัม แต่สถานีแม่มีความสามารถในการผลิตและจัดส่งก๊าซไปให้สถานีลูกได้แค่ 50 กิโลกรัมเท่านั้น

ดังนั้น นอกจากการเร่งขยายสถานีแล้ว ประการที่ 2 ปตท. ต้องพยายามทำให้สถานีแม่มีกำลังการผลิตได้ใกล้เคียงกับยอดขายของสถานีลูกด้วย

ประเด็นนี้ ปตท. ไปตกลงกับรัฐบาลจะเพิ่มกำลังการผลิตและจัดส่งก๊าซเอ็นจีวีให้ได้ 1,500 ตันต่อวัน ขณะนี้สถานีแม่ของ ปตท. ผลิตได้วันละ 900 ตันต่อวัน คาดว่าภายในปลายปีนี้น่าจะเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 500 ตันต่อวัน ซึ่งใกล้เคียงกับเป้าหมาย

ถึงแม้ ปตท. จะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นราคาขายปลีกเอ็นจีวี แต่ ปตท. พยายามทำตามทำข้อตกลงที่เคยให้ไว้ต่อที่ประชุมคณะทำงานศึกษาทบทวนการคำนวณต้นทุนราคาก๊าซเอ็นจีวี