ThaiPublica > เกาะกระแส > สังคมสีเขียว…นวัตกรรมการพัฒนายั่งยืน กับแนวคิดอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

สังคมสีเขียว…นวัตกรรมการพัฒนายั่งยืน กับแนวคิดอ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน”

12 กันยายน 2012


ในงานการประชุมประจำปี 2555 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เรื่องอนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา มีการเสวนาในหัวย่อยเรื่อง “สังคมสีเขียว…นวัตกรรมทางสังคมสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน : การเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาสังคมที่ทั่วถึงและยั่งยืน”

จากสวัสดิการของสังคมไทยยังขาดความทั่วถึงและเป็นธรรม โดยเฉพาะกลุ่มคนจน ที่นอกจากจะไม่ได้รับสวัสดิการจากรัฐแล้ว ยังมักถูกอ้างเพื่อใช้อนุมัติของบประมาณจากรัฐอีกด้วย ดังนั้น รัฐบาลควรศึกษาให้แน่ชัดว่ากลุ่มคนจนอยู่ตรงไหน คือใครกันแน่ เพื่อแก้ปัญหาโปรยเงินสู่คนรวย

เราทุกคนเสียภาษีให้แก่รัฐไม่ทางตรงก็ทางอ้อม เพื่อให้รัฐมีเงินในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงบริการด้านสวัสดิการด้วย โดยต้องบริการแก่ประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ภายในรัฐอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ซึ่งสวัสดิการนั้นจะต้องสามารถดูแลพลเมืองของรัฐได้อย่างมีคุณภาพตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายด้วย แล้วปัจจุบันสังคมไทยมีสวัสดิการที่ทั่วถึง เท่าเทียม สำหรับประชากรทุกเพศทุกวัยหรือไม่

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาเศรษฐกิจส่วนรวมและการกระจายรายได้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ปาฐกถาเรื่อง “สวัสดิการสังคมที่ทั่วถึงและเป็นธรรม” ว่า เมื่อเราจะพูดถึงเรื่องนี้แล้ว คำถามแรกที่ต้องถามก็คือ ทุกวันนี้สวัสดิการของสังคมไทยทั่วถึงหรือยัง คำถามที่สองคือ สวัสดิการนั้นมีความเป็นธรรมไหม คำถามต่อมาคือ ถ้าสวัสดิการยังไม่ทั่วถึงและไม่เป็นธรรม จะทำยังไงให้มันเกิดขึ้นมาได้ และคำถามสุดท้ายคือ มีความเป็นไปได้ไหมที่จะเกิดขึ้นจริงในสังคม

เพื่อตอบคำถามด้านสวัสดิการเหล่านี้ ดร.สมชัยจึงใช้ข้อเขียน “จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน” ของอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่เขียนไว้เมื่อปี 2516 เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพชีวิตตั้งแต่เกิดจนตายของประชาชนที่พึงได้รับจากรัฐบาล โดยตัดทอนข้อความบางตอนมาเปรียบเทียบกับสวัสดิการที่คนไทยได้รับจริงในปัจจุบัน

เริ่มจากอยู่ในครรภ์มารดา “เมื่อผมอยู่ในครรภ์มารดา ผมต้องการให้แม่รับประทานอาหาร ที่เป็นคุณประโยชน์ และได้รับ ความเอาใจใส่ และบริการอันดี ในเรื่องสุขภาพของแม่และเด็ก” จากงานวิจัยที่ผมเคยทำมาพบว่า ในขั้นตอนตั้งแต่การตั้งครรภ์จนกระทั่งคลอดนั้น สวัสดิการของสังคมไทยดูแลได้ดี แต่สิ่งที่ไม่แน่ใจก็คือในช่วง 9 เดือนนั้น แม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ ครบถ้วนหรือเปล่า

ต่อมา เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว “ในระหว่าง 2-3 ขวบแรก ซึ่งร่างกายและสมองผมกำลังเติบโต ในระยะที่สำคัญ ผมต้องการให้แม่ผม กับตัวผม ได้รับประทานอาหารที่เป็นคุณประโยชน์ (อ.ป๋วย) มีอาหารเพียงพอและเหมาะกับวัย (ดร.สมชัย)” ซึ่งในส่วนของอาหารที่เป็นประโยชน์และครบถ้วนสมวัยนั้น ก็ยังไม่แน่ชัดว่าได้รับหรือไม่

ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มาภาพ : นิตยสารสารคดี
ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่มาภาพ : นิตยสารสารคดี

เมื่อเริ่มเข้าสู่ช่วงปฐมวัย “ผมต้องการไปโรงเรียน พี่สาว หรือน้องสาวผมก็ต้องการไปโรงเรียน” นี่หมายถึงต้องมีความเท่าเทียมกันระหว่างเพศชาย-หญิง ซึ่งแก้ไขได้แล้วในปัจจุบัน “จะได้มีความรู้หากินได้ และจะได้รู้คุณธรรม แห่งชีวิต ถ้าผมมีสติปัญญาเรียนชั้นสูงๆ ขึ้นไป ก็ให้มีโอกาสเรียนได้ ไม่ว่าพ่อแม่จะรวยหรือจน จะอยู่ในเมือง หรือชนบท แร้นแค้น” ส่วนที่สังคมไทยยังขาดก็คือลูกหลานคนจนไม่มีสิทธิเข้าถึงการศึกษาได้เท่ากับลูกหลานคนรวย

จนกระทั่งเข้าสู่วัยทำงาน “ในฐานะที่ผมเป็นชาวนาชาวไร่ ผมก็อยากมีที่ดินของผมพอสมควร สำหรับทำมาหากิน มีช่องทางได้กู้เงินมา ขยายงาน มีโอกาสรู้วิธีทำกินแบบใหม่ๆ มีตลาดดี และขายสินค้าได้ราคายุติธรรม” ปัญหาของเกษตรไทยขณะนี้คือ ขาดที่ดินทำกินที่เป็นของตัวเอง และยังให้โอกาสไม่มากพอที่จะให้ความรู้หรือวิธีทำกินแบบใหม่ๆ รวมถึงหาตลาดที่ดีให้แก่เกษตรกร

ทั้งนี้ ดร.สมชัยได้พูดถึงอาชีพคนงานว่า ยังขาดความมั่นคงในอาชีพและสวัสดิการต่างๆ รวมถึงยังขาดโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ อีกปัญหาหนึ่งที่สำคัญคือ แรงงานนอกระบบจำนวนมากที่อยู่ในสังคมไทย
นอกจากนี้ อาชีพหาบเร่ ขับแท็กซี่ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้าง ก็มีปัญหาขาดแหล่งทำกินที่แน่นอน ขาดความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ และมักถูกเบียดเบียนจากเจ้าหน้าที่รัฐหรืออำนาจอิทธิพลอื่นๆ อยู่เสมอ

ในกรณีที่เจ็บป่วย “ผมต้องการสุขภาพอนามัยอันดี และรัฐบาลจะต้องให้บริการป้องกันโรคแก่ผมอย่างฟรี กับบริการการแพทย์ รักษาพยาบาลอย่างถูกอย่างดี เจ็บป่วยเมื่อใด หาหมอหาพยาบาลได้สะดวก” ซึ่งนโยบายการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ช่วยให้ประชาชนได้รับรักษาฟรีและทั่วถึง

“เมื่อแก่ผมและเมียก็ควรได้ประโยชน์ตอบแทนจากการประกันสังคม ซึ่งผมได้จ่ายบำรุงตลอดมา” แต่ระบบประกันสังคมของไทยทุกวันนี้ มีประชากรที่ได้สิทธิและได้รับผลตอบแทนเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น

สำหรับผู้พิการ ดร.สมชัยเพิ่มเติมไว้ว่า ผู้พิการในสังคมไทยยังได้รับการดูแลที่ไม่ดีพอ และขาดโอกาสในการทำงาน แม้ว่าจะเรียนจบมีปริญญาก็ตาม

สุดท้ายคือเรื่องของสภาพแวดล้อม “ผมต้องการอากาศบริสุทธิ์สำหรับหายใจ น้ำบริสุทธิ์สำหรับดื่ม” ซึ่งสังคมไทยก็ยังประสบปัญหามลภาวะทางน้ำและอากาศจากของเสียอุตสาหกรรมอยู่ตลอดเวลา

จะเห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบข้อคิดเห็นของ อ.ป๋วย กับสวัสดิการที่เกิดขึ้นจริงแล้ว สังคมไทยยังขาดสวัสดิการขั้นพื้นฐานอยู่มาก และสวัสดิการบางอย่างที่มีก็ได้ไม่ครบทุกคน ดังนั้นสรุปได้ว่า สวัสดิการอย่างไทยยังไม่ทั่วถึงและเป็นธรรมอย่างแน่นอน

จากการวิจัยที่ทำร่วมกับสภาพัฒน์ฯ เพื่อแก้ปัญหาพื้นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้ พบว่า ใช้เงินอุดหนุนร้อยละ 1.7 ของจีดีพีเท่านั้น หรือประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี

ดร.สมชัยกล่าวว่าในเรื่องการดูแลสุขภาพของเด็กและคนแก่ ผมคิดว่าสังคมไทยในวันนี้ต้องคิดและทำอย่างจริงจังแล้ว ควรเริ่มขยายระบบประกันสังคมเข้าสู่แรงงานนอกระบบด้วย สิ่งที่ควรเลิก คือ 1. ให้บริการคนจนด้วยคำพูดที่สวยหรู หรือประชานิยมที่อ้างว่าทำเพื่อคนจน ทั้งที่ความจริงแล้วเข้าไม่ถึงคนที่จนจริงๆ 2. เลิกแนวคิดการช่วยเหลือผ่านกลุ่ม ด้วยความคิดที่ว่าคนจนกระจุกตัวอยู่ในบางอาชีพ เช่น เกษตรกร ซึ่งความจริงแล้วคนจนและคนรวยมีอยู่ในทุกๆ อาชีพ 3. ทำระบบฐานข้อมูลรายได้ที่แท้จริงและเชื่อมโยงกันในทุกหน่วยงาน จะได้รู้และให้ความช่วยเหลือคนจนได้ตรงจุด และแก้ปัญหาการไปช่วยเหลือคนที่ “ยากจน”

ตัวอย่างเช่น เกษตรกรที่สังคมคิดว่าเป็นกลุ่มอาชีพที่ยากจน ความจริงแล้วเป็นเพียงร้อยละ 20 ของคนจนทั้งหมด หรือโครงการจำนำข้าวที่อ้างว่าช่วยเหลือคนจนปีละแสนล้านบาทนั้น เงินถึงชาวนาที่จนแค่ร้อยละ 17 ที่เหลือตกอยู่ที่ชาวนาร่ำรวย ข้าราชการ นักการเมือง คิดเป็นเงิน 8 หมื่นกว่าล้านบาท

จากการวิจัยพบว่า การให้เงินอุดหนุนช่วยเหลือประชากรที่ยังขาดแคลนในข้างต้น ตั้งแต่ครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนอย่างทั่วถึง จะใช้เงินเพียงปีละประมาณ 85,000 ล้านบาท นั่นคือเพียงรัฐบาลจัดสรรงบประมาณใหม่เท่านั้น ไม่ได้กู้เพิ่มแต่อย่างใด จาก 8 หมื่นกว่าล้านบาทในโครงการจำนำข้าว ที่ไปโปรยให้คนรวย มาให้คนจนจริงๆ แทน

ปิดท้ายด้วยข้อคิดจาก อ.ป๋วย ที่ดร.สมชัยฝากไว้ “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายแบบโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามการเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำ หรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”