ThaiPublica > เกาะกระแส > เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (4): “ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-ธีระชัย” ยืนข้าง ธปท. ทุกเรื่อง

เสียงสะท้อนสัมมนาวิชาการฯ ธปท. ครั้งที่ 13 จากอุดมคติสู่ความเป็นจริง (4): “ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-ธีระชัย” ยืนข้าง ธปท. ทุกเรื่อง

29 กันยายน 2012


“ปรีดิยาธร-ณรงค์ชัย-ธีระชัย” หนุน ธปท. ดูแลทั้งนโยบายดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดความผันผวนดูแลภาคเศรษฐกิจจริง ไม่ห่วงผลขาดทุน แต่ต้องสื่อสารให้สาธารณะชนเข้าใจ พร้อมคาดหวังให้แบงก์ชาติเป็นที่พึ่งประชาชนด้านเศรษฐกิจการเงิน

การเสวนาเรื่อง “บทบาทและหน้าที่ของธนาคารกลางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” เป็นเวทีปิดท้ายงานสัมมนาฯ ที่ให้ทั้งกำลังใจและสั่งการบ้านให้ ธปท. ทำเพิ่มอีกหลายข้อ เนื่องจากผู้ร่วมเสวนามากด้วยประสบการณ์ได้แก่

1. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการ ธปท. 2. ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 3. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และอดีตรองผู้ว่าการ ธปท. โดยมี ดร.อัจนา ไวความดี ประธานกรรมการ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด อดีตรองผู้ว่าการธปท.

หนุนใช้นโยบายดอกเบี้ย- อัตราแลกเปลี่ยนผสมผสานกัน

ในเวทีเสวนาฯ ผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 ท่าน เห็นพ้องกันว่า ธปท. มีความจำเป็นต้องเข้าดูแล หรือเข้าแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน และภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ สามารถใช้ทั้งนโยบายอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนผสมผสานกันได้ตามความเหมาะสมของสถานการณ์เศรษฐกิจ

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี ได้แสดงความคิดเห็นในฐานะเป็นกรรมการกนง. ซึ่งมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินว่า กนง. ไม่ได้ดูกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นสรณะ เนื่องจากสถานการณ์การเงินโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว รุนแรงมาก และจะวุ่นวายไปอีกนาน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อตลาดเงินโลก กระทบตลาดเงินไทย เพราะฉะนั้น กนง. พิจารณาทั้งอัตราแลกเปลี่ยนและอัตราดอกเบี้ย รวมถึงปริมาณสินเชื่อ

“ธนาคารกลางต้องมีบทบาทใหม่ คือต้องมีความเชี่ยวชาญในการแก้ปัญหา และสามารถปฏิบัติการ ดำเนินการตัดสินใจได้ทันเหตุการณ์” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

สำหรับเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน ดร.ณรงค์ชัยเห็นตรงกับหลายๆ คน คือ มีเป้าหมายหลักคือเสถียรภาพ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพราคา เสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยน โดยให้เรื่องเสถียรภาพเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง และให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเป้าหมายอันที่สอง

“ถ้ายึดมั่นแบบนี้ได้ เชื่อว่าเราจะสามารถดำเนินนโยบายเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทยได้” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

ด้าน นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ให้มุมมองว่า เราใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนมาเป็นเวลา 53 ปีแล้ว นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพิ่งเปลี่ยนมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยเมื่อประมาณ 14 ปี เพราะฉะนั้น ช่วงระยะเวลาที่เราเคยชินกับการใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นกรอบตลอด 53 ปี ก็ประสบความสำเร็จในการบริหารเศรษฐกิจไม่น้อย จึงมีคนเสนอมาเรื่อยๆ ว่าควรกลับไปใช้เหมือนเดิม

นายธีระชัยมีความเห็นว่า ประเทศที่เปิดมากอย่างสิงคโปร์ มีการนำเข้าเป็นสัดส่วนถึง 180% ของจีดีพี การใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยไม่มีประโยชน์หรือไม่เหมาะสม จึงต้องใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเป็นกลไกหลัก แต่กรณีประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าเพียง 70% ของจีดีพี ข้อมูลนี้ไม่สนับสนุนให้ใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน

ดังนั้น ธปท. ควรใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อไป แต่หนีไม่พ้นที่ ธปท. ต้องเข้าไปดูแลค่าเงินอีกระยะหนึ่ง เนื่องจาก 3 เหตุผล

1. ตลาดเงิน ตลาดทุนเรามีขนาดไม่ใหญ่ เวลามีเงินเข้าออกจำนวนมากอาจทำให้เกิดปัญหา “over shooting” คือมีเงินไหลเข้ามามากเกินกว่าปัจจัยพื้นฐาน ธปท. ก็ต้องเขาดูแล

2. กระบวนการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนยังไม่พร้อม แม้จะมีตลาดล่วงหน้า แต่สภาพคล่องยังต่ำ และเอสเอ็มอีหลายรายมีวงเงินสินเชื่อจำกัด เข้าไม่ถึงเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน

3. ให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว ถ้าเรามองแนวโน้มเงินบาทแข็งขึ้น ผู้ประกอบการจะดิ้นรนหาแหล่งเงินทุน เพิ่มการลงทุน ปรับปรุงเทคโนโลยี แต่สถานการณ์การเงินที่มีข้อจำกัด การแข่งขันในระบบยังไม่พอ ในเมื่อสิ่งแวดล้อมเป็นแบบนี้ ก็ไม่พ้นที่ ธปท. ต้องเข้าไปกำกับดูแลอัตราแลกเปลี่ยนพอสมควร

สำหรับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เห็นด้วยที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน โดยยอมรับว่า ตั้งแต่สมัยเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติก็ทำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนด้วย

“คนไทยฉลาด เห็นว่าทำอย่างเดียวไม่เหมาะก็เลยทำ 2 อย่างซึ่งดีอยู่แล้ว เรื่องนี้ควรปิดประเด็นไปได้แล้ว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ไม่ห่วงขาดทุน ธปท. แต่ต้องสื่อสารให้เข้าใจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวถึงปัญหาขาดทุนของ ธปท. ว่า ตอนนี้มีทุนสำรองประมาณ 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สมัยตนมีประมาณ 50,000-60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เวลาเงินบาทเปลี่ยนจาก 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เป็น 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ นั่งอยู่เฉยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ทุนสำรองก็ขาดทุนไป 300,000 ล้านบาท แต่ทุนสำรองยังอยู่ครบในบัญชี

สิ่งที่โลกเขาดู คือทำบัญชีเป็นดอลลาร์ให้โลกดู หรือไว้ดูเอง ให้นักการเมืองดูด้วยก็ได้ ว่าสมบัติที่มากที่สุดเป็นดอลลาร์ยังอยู่ครบ และมีดอก มีผล ของพวกนี้เป็นการสร้างความเข้าใจ แต่ตราบใดถ้าพูดอย่างเดียวไม่ลงมือทำเป็นบัญชีเงินดอลลาร์ สร้างความเข้าใจไม่ได้

“ตอนผมอยู่ผมเกือบจะทำแล้ว แต่บังเอิญลูกน้องคนเก่งของผมคนหนึ่งเขาคิดทางออกเรื่องนี้มาให้แล้ว ท่านผู้ว่าฯ ประสารถามหาเอาก็แล้วกัน แนวทางนี้แก้ปัญหาที่บอกว่าขาดทุนได้ตลอด เพราะว่ามันไม่ใช่ขาดทุนจากการดำเนินการ เป็นการขาดทุนเทคนิคทางบัญชี ก็ต้องแก้ด้วยเทคนิคทางบัญชี แต่คลังต้องเริ่มด้วย เพราะต้องออกกฎเกณฑ์ร่วมกัน ถ้าแก้ตัวนี้ได้จะได้เลิกพูดไปอีกเรื่อง” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัยออกตัวว่า แน่นอน การขาดทุนส่วนหนึ่งเป็นปัญหาทางบัญชี ก็ต้องหาทางแก้ปัญหาทางบัญชี ชัดเจน ควรทำอย่างยิ่ง แต่ในแง่สามัญสำนึกของประชาชนเขาก็มองว่า เวลาแบงก์ชาติดูดซับสภาพคล่องออกมาต้องจ่ายดอกเบี้ย 3% แต่ว่าเงินดอลลาร์ที่ถืออยู่ได้ดอกเบี้ยไม่ถึง 1% เพราะฉะนั้นจะขาดทุนจากส่วนต่างรายได้จากดอกเบี้ย และรายจ่ายดอกเบี้ย

ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี กรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“เราต้องเห็นใจประชาชนคนธรรมดา เพราะทุกปีคนแบงก์ชาติรวยขึ้น แต่แบงก์ชาติขาดทุนทุกปี เขาคงสงสัยว่าหนีภาษีหรือเปล่า ดังนั้นปัญหาขาดทุน ก็ต้องดูเรื่องการแก้ปัญหาทางบัญชี และอธิบายไปพร้อมกันด้วย” ดร.ณรงค์ชัยกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเราอยู่ในโหมดมีเงินออมมากกว่าเงินลงทุน และเงินทุนไหลเข้าออกค่อนข้างสมดุล ความจำเป็นในการดูดซับสภาพคล่องของแบงก์ชาติก็จะน้อยลง เพราะฉะนั้นปัญหาขาดทุนใหม่น่าจะบางลงไปเรื่อยๆ และหายไป แต่ถ้าปล่อยเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ประชาชนก็สับสนว่า จะพึ่งแบงก์ชาติ แต่กลับขาดทุนแบบนี้จะทำอย่างไร

ส่วนนายธีระชัยมีความเห็นว่า ปัญหาขาดทุนของ ธปท. มีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะว่ามาตรการ QE ออกมา 3 ครั้ง เวลานี้คนบอกว่า ธนาคารกลางของประเทศใหญ่ๆ แข่งกันทำให้ค่าเงินของเขาต่ำลงกว่าอีกประเทศ ที่เห็นคืออเมริกากับญี่ปุ่น แข่งกันลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่เงินไหลเข้าจะมากขึ้น และทุนสำรองมากขึ้น การตีราคาทุนสำรองของแบงก์ชาติก็มีโอกาสขาดทุนอีก ดั้งนั้นควรเตรียมวิธีการบริหารปัญหานี้ให้รอบคอบ

“ขณะนี้การดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ คิดว่าไม่ควรเอาผลกำไรขาดทุนเขามาตัดสินใจ แต่ต้องพยายามสื่อสารให้ชาวบ้านเข้าใจ และถ้ามีวิธีบริหารทุนสำรองสูงขึ้น ในลักษณะความเสี่ยงน้อยก็ต้องคิดไว้ด้วย แต่ปัญหาหลักพื้นฐานผมว่าแก้ไม่ได้และไม่ต้องแก้ เพียงแต่อธิบายให้ชัด” นายธีระชัยกล่าว

แนวทางการอธิบายที่นายธีระชัยเห็นว่าควรจะสื่อสารมี 2 ข้อ

ข้อแรก ต้องอธิบายชาวบ้านว่า การขาดทุนของแบงก์ชาติไม่ใช่ขาดทุนจากการพนันขันต่อ แต่เป็นการขาดทุนการดำเนินการในฐานะธนาคารกลาง โดยเกิดจากการเข้าไปดูแลค่าเงินบาทให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งไม่ได้ทำฟรี และการที่แบงก์ชาติเข้าไปทำอย่างนั้นได้และประสบผลสำเร็จ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในเศรษฐกิจมากมายมหาศาล เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม รู้ว่าเงินบาทจะแข็ง เขาก็เร่งปรับตัว

“แต่กระบวนการปรับตัวต้องใช้เวลา ทั้งหมดนี้เป็นการให้โอกาสผู้ประกอบการ ให้เอกชนในการปรับตัว แล้วผลผลิตของภาคเอกชนที่เพิ่มมากขึ้นจากอานิสงที่ ธปท. ขาดทุน บวกลบคูณหารกันแล้วผมว่ากำไร นี่ยังไม่ดูด้านการจ้างงาน เรื่องนี้ต้องสื่อสารซ้ำๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าใจ” นายธีระชัยกล่าว

ข้อสอง การขาดทุนจะไม่เป็นแบบนี้ตลอดไป เพราะการพัฒนาประเทศมีระดับการพัฒนา เริ่มจากภาคเกษตรกรรม ไปสู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่นานอัตราการขายตัวของเศรษฐกิจไทยจะถึงยอด คือจะโตช้าลง โครงสร้างประชากรก็จะเปลี่ยน ถึงจุดหนึ่งไทยก็จะมีการลงทุนน้อยลง มีการออมมาก ก็ต้องส่งออก(เงินออม)

“ถึงตอนนั้นเงินบาทไม่แข็งตลอดกาล ก็มีโอกาสโน้มอ่อนลง อาจทำให้แบงก์ชาติมีกำไรโดยไม่รู้ตัว”นายธีระชัยกล่าว

ให้โจทย์ ธปท. ต้องเป็นองค์กรที่พึ่งได้

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรมีความเห็นว่า แบงก์ชาติควรมี “unique” (ลักษณะเฉพาะ) ไม่เหมือนคนอื่น โดยตอนตัวเองเข้าเป็นผู้ว่าการฯ ใหม่ๆ เริ่มคิดว่า ประชาชนต้องการอะไรจาก ธปท. หรือคาดหวังอะไรจาก ธปท.

ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการ ธปท.
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตผู้ว่าการ ธปท.

จากการรวบรวมตามที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรพูด มีประมาณ 7 ข้อที่คิดว่าประชาชนต้องการอะไรจาก ธปท.

1. ต้องการให้ ธปท. รู้เรื่องเศรษฐกิจ ติดตามปัญหา มองเห็นปัญหา และเตรียมการไว้ล่วงหน้า แก้ปัญหาได้ทันการณ์ เพื่อเป็นที่พึ่งพาของประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจ

2. ต้องการถือเงินบาทที่ไม่ลดค่าลงเร็วเกินไป คือเงินเฟ้อไม่วิ่งสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

3. ต้องการความเป็นอิสระของ ธปท. ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น คนไทยจะไม่สบายใจเลยถ้าผู้ว่าการแบงก์ชาติไปยอมเป็นพวกนักการเมือง ทันทีที่ผู้ว่าแบงก์ชาติ “ก้มเกล้าพนมกร” ความเป็นอิสระจะหายไปทันที

4. ต้องการให้ประเทศมีระบบสถาบันการเงินที่ดีและแข็งแรง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าแบงก์ชาติต้องออกกฎเข้มแข็งที่สุด แต่ธนาคารพาณิชย์ให้แข็งแรงที่สุด แต่ธนาคารกลางที่ดีต้องรู้ว่ากฎอะไรเหมาะกับสภาวะสถาบันการเงิน ที่สำคัญต้องติดตามการทำงานของธนาคารพาณิชย์ และให้รู้ปัญหาเร็วที่สุด เมื่อเกิดปัญหาก็แก้เร็วที่สุด

5. คนไทยยังหวังว่าเวลาคนไทยถูกเอาเปรียบทางการเงิน เขาก็จะนึกถึงแบงก์ชาติ ซึ่งดูเหมือนไม่เกี่ยวกับ ธปท. แต่ดูไปดูมา ธปท. ก็ดูแลได้ เช่น พบว่ามีบริษัทต่างชาติไปเปิดบริการทางการเงิน คิดอัตราดอกเบี้ยสูงๆ 3-4% ต่อเดือน ของแบบนี้ ธปท. ปล่อยให้ต่างชาติ “ล้วงคองูเห่า” ได้อย่างไร ตอนนี้ไม่มีใครดู และเป็นปัญหาของประชาชน

6. การดูแลสิ่งที่เป็นผลกระทบต่อวัฒนธรรมการเงินและสังคม เช่น กรณีโฆษณา car 4 cash เห็นทีไรผมรู้สึกขึ้นมาทันทีว่าเป็นการหลอกลวง และสิ่งที่เกิดขึ้นคือ มันประทับไปในใจของคนไทยทั่วๆ ไ รวมถึงเด็กรุ่นใหม่ว่า ไม่เป็นไรหรอก ไม่มีเงินก็กู้เงินไปใช้ หรือมีของไปขอกู้ธนาคารพาณิชย์ได้

เมื่อเด็กๆ จะถูกสอนให้ออมก่อนใช้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของคนไทยที่ดีที่สุด แต่ car 4 cash คือวัฒนธรรมใช้ก่อนออม ซึ่งกำลังทำลายวัฒนธรรมการเงินของประเทศไทย เรื่องนี้ไม่มีใครแก้ได้แล้ว ยกเว้นแบงก์ชาติที่สามารถใช้ “moral suasion” (การโน้มน้าวหรือชักชวนให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติตาม) ได้กับธนาคารพาณิชย์ได้หมด

7. ต้องการให้แบงก์ชาติออกมาพูดเมื่อเห็นปัญหาที่ชัดเจน เพื่อทำให้ประชาชนไม่หว้าเหว่ และสร้างความมั่นใจกับประชาชน ซึ่งจะช่วยทั้งด้านการพัฒนาและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ด้วย

“ถามว่าความต้องการนั้นมากไปไหม ขอบอกว่าไม่มาก”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

ด้าน ดร.ณรงค์ชัยมีความเห็นว่า บทบาทธนาคารกลางถูกคาดหวังเปลี่ยนไปหมด โดยต้องยอมรับว่า เวลาคิดถึงเรื่องการเงิน ก็จะคิดถึงแบงก์ชาติ แต่แบงก์ชาติทำเองคนเดียวไม่ได้ เพราะเรื่องการเงินขยายวงกว้างไปมาก ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง นอกจากนี้ยังคาดหวังว่า ธนาคารกลางต้องดูแลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด และต้องมีคนเก่งระดับปฏิบัติการ

นอกจากนี้ ดร.ณรงค์ชัยยังเสริมเรื่องสถาบันการเงินของรัฐว่า น่าเป็นห่วงมาก เพราะขณะนี้โดนใช้ไปในลักษณะไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจและหลักการพัฒนา เรื่องนี้ไม่แน่ใจว่า ธปท. ทำอะไรได้หรือเปล่า

ขณะที่นายธีระชัย มีความเห็นเพิ่มเติมว่า อยากให้คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) ของแบงก์ชาติ ซึ่งส่วนใหญ่ดูแลด้านความมั่นคง ที่ผ่านมาทำได้ดี แต่ต้องการให้เพิ่มเติมในเรื่องการพัฒนาระบบสถาบันการเงินด้วย โดยตั้งโจทย์ว่ามีจุดอ่อนตรงไหน การแข่งขันเพียงพอหรือไม่ และทุก 6 เดือน น่าจะมีการสื่อสารให้ประชาชนรับรู้เป็นประจำ

ความคาดหวังทั้งหมดต่อ ธปท. ที่ทั้งสามท่านนำเสนอนั้น ทาง ธปท. จะทำได้มากน้อยแค่ไหน และมีความคิดเห็นอย่างไร มีคำตอบจาก ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. อ่านต่อ ตอนที่ 5