ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว (2) : นวัตกรรมการมีส่วนร่วม หนทางสู่ Eco Industrial Town

อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว (2) : นวัตกรรมการมีส่วนร่วม หนทางสู่ Eco Industrial Town

10 กันยายน 2012


แฟลร์ที่ปล่อยจากโรงงานในนิคมฯพื้นที่มาบตาพุด
แฟลร์ที่ปล่อยจากโรงงานในนิคมฯพื้นที่มาบตาพุด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555

ความพยายามที่จะยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยไปสู่ Eco Industrial Town หรือ เมืองอุตสาหกรรมนิเวศ โดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ทุ่มงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อจัดทำแผนแม่บทนิคมอุตสาหกรรมนิเวศ ตั้งแต่ปี 2553 ด้วยการคัดเลือกนิคมอุตสาหกรรมหลายนิคมเข้ามาร่วมโครงการ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร นิคมอุตสาหกรรมหนองแค นิคมอุตสาหกรรมบางชัน นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้

แต่กระนั้น การดำเนินการยังไม่ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสถานประกอบการหลายแห่งยังขาดมาตรฐานในการบริหารจัดการ และสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน เวทีการเสวนาเรื่อง “อุตสาหกรรมสะอาด: วิถีใหม่ของอุตสาหกรรมอนาคต” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “อนาคตประเทศไทยบนเส้นทางสีเขียว” มีการพุดคุยถึง “หนทาง” ที่จะทำให้อุตสาหกรรมของไทยเป็น Eco Industrial Town เหมือนดังเช่นที่สามารถทำได้ในหลายประเทศ

นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การบูรณการที่จะขับเคลื่อนไปสู่คำว่าเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ มีทั้งจากบนลงล่าง (จากโรงงานสู่ชุมชน) และจากล่างขึ้นบน (จากชุมชนสู่โรงงาน) ในอดีต เวลาจะดำเนินการอะไรต้องมาจากรัฐบาลกลาง มีโครงการจัดสรรงบประมาณลงไปสู่ท้องถิ่น ดังนั้น อยากขอร้องสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ว่าอย่าเพิ่งทิ้งพื้นที่อุตสาหกรรมที่กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาว่าพอไม่มีแม่งานมาบูรณการ โครงการ งบประมาณ หน่วยงานรัฐ ก็จะเกิดกระบวนการเขย่งขากัน บางโครงการได้งบประมาณไปทำ บางโครงการบางกรมบางกระทรวงไม่ได้ ก็เกิดการลักลั่นกัน เพราะฉะนั้นทุกคนต้องการสภาพัฒน์ฯ เป็นแม่งานในการเขียนแผนงานอยู่ ในการที่จะให้บนลงล่างไหลลื่นอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนกระบวนการจากล่างขึ้นบน เริ่มตั้งแต่ความต้องการของชุมชนที่เป็นหมู่บ้านมาเป็น อบต. เป็นตำบล อำเภอ และจังหวัด วันนี้ก็มีอยู่ โครงการที่เริ่มจากล่างขึ้นบน เช่น แผนจัดการมลพิษ แผนสิ่งแวดล้อมจังหวัด ต้องหวังว่าจะให้ชุมชนเขาขับเคลื่อนได้ จะไปได้อย่างไร พอหวังว่าจากบนลงล่าง งบประมาณมาไม่พอ จึงเกิดกระบวนการกองทุนต่างๆ ขึ้นมาจัดกิจรรมในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นกองทุนโรงไฟฟ้า อนาคตจะมีเรื่องของภาษีสิ่งแวดล้อมที่จะเป็นกลไกที่ทำกิจกรรมต่างๆ จากล่างมาถึงข้างบนได้ ในส่วนี้เองต้องมีกระบวนการที่จะทำให้เขามีส่วนร่วม ทั้งร่วมรับผิดและรับชอบ ประสบการณ์

“บางครั้งการบริหารจัดการเงินก็เป็นจุดอ่อนหนึ่งของชุมชนเหมือนกัน เพราะจะเกิดกระบวนการการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ การควบคุมกำกับดูแลตรงนี้ต้องมีการเสริมสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบตรวจสอบให้กับทางด้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพราฉะนั้น ตรงนี้ต้องทั้งสองส่วน ถึงจะมาบรรจบกัน บูรณการ และมาขับเคลื่อนได้”

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ถ้าเป็นในเรื่องของผู้ประกอบการ เราคงทำในบ้านของเรา จะเป็น Green Industry ก็ทำในบ้านของเรา เราจะไปโน้มน้าวชาวบ้านทั่วไปให้มาร่วมกับเรามันไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ที่มีการพูดถึง Public Hearing เวลาที่เราไปทำ สิ่งที่เราได้มาก็คือชุมชนอยากจะมีโรงพยาบาล อยากจะมีมหาวิทยาลัย ซึ่งมันคนละส่วนกันกับในเรื่องของสิ่งแวดล้อม นักวิชาการเองก็ต้องให้ความรู้ชาวบ้านเยอะขึ้น ให้เขามีความรู้และให้เขารับรู้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในสังคมเขามากขึ้น”

นายบวรกล่าวต่อว่าแต่ละคนมีบทบาทที่ต้องทำ ทำบทบาทของตัวเอง บทบาทของเอ็นจีโอ ถ้าอุตสาหกรรมทำหน้าที่ของอุตสาหกรรมสะอาดได้แล้ว เอ็นจีโอทำหน้าที่ของเอ็นจีโอที่คอยถ่วงดุล รัฐมีหน้าที่กำกับดูแล ใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดกวดขันมากขึ้น มันเกิดขึ้นได้

“ในแง่ของภาคอุตสาหกรรม เราพยายามที่จะประสานกับผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านด้วยกัน ไม่ว่าระดับของปลัด ระดับอธิบดี ส่วนท้องถิ่น หรือชุมชน เพื่อจะขับเคลื่อนทำให้เกิด Eco Industrial Town ขึ้นมา แต่เชื่อไหม ในส่วนราชการเองจะเปลี่ยนตัวบุคคลเร็วมาก(อ่าน อนาคตประเทศไทย เราเลือกได้) เปลี่ยนทีหนึ่งมันก็หายไปทีหนึ่ง ซึ่งเราตามไม่ไหวในแง่ของเอกชน ทำอย่างไรที่จะมีนโยบายอันนี้ให้ต่อเนื่อง ปฏิบัติได้ชัดเจน ตรงนี้เป็นเรื่องที่เราอยากเห็นมาก เราอยากจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งหมดให้เป็น Green ประสานกับชุมชนว่าเขาอยากได้อะไร และขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นจริง”

นายบวรกล่าวต่อว่าจากที่เล่าให้ฟัง พอได้โมเดลที่ชัดเจนแล้วเราจะเอาไปขยายต่อ 2 ระยะด้วยกัน ระยะแรกเป็นโครงการนำร่อง หลังจากเสร็จแล้วเราจะเอาไปขยายต่อตามอุตสาหกรรมต่างๆ แต่นั่นยังอยู่แค่ในอุตสาหกรรม ถ้าจะเอาประสานกันให้ได้เลยต้องมีชุมชนอยู่ด้วย ภาครัฐต้องมีส่วนเยอะเลย

นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ข้อเสนอเรื่องการขับเคลื่อนให้สำเร็จ เป็นโจทย์ในเชิงโครงสร้างและระบบ เราต้องมองปัญหาตรงนี้และดูว่าการจัดการสิ่งที่เราเรียกว่าสภาพแวดล้อมของการขับเคลื่อนแนวคิดนี้อย่างไร ซึ่งมีด้วยกัน 4 ส่วน คือ 1. การปรับแนวคิด 2. การปรับตัวกระบวนการนโยบายสาธารณะ 3. เครื่องมือการบริหารจัดการ การตัดสินใจ และ 4. ระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ในส่วนของเครื่องมือการบริหารจัดการ การตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย มี 2 ส่วน คือ EIA(การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม)ซึ่งเรามาอยู่ในจุดที่ต้องการการรื้อสร้าง เพราะว่าใช้กันมา 30 ปี มีปัญหาในตัวเองมากมาย วันนี้เป็นหัวข้อหนึ่งในกระบวนการนโยบายสาธารณะ เวทีสมัชชาสุขภาพประจำปีนี้ที่จะนำเสนอ มีการพูดคุยกันเห็นว่าคนที่อยู่ในระบบก็อึดอัด ภาคประชาชนไม่เชื่อใจ ภาคราชการที่เกี่ยวข้องก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทุกคนเห็นปัญหากันหมด แต่ว่าจะเดินออกจากตรงนี้อย่างไร

ภาคเอกชนที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน
ภาคเอกชนที่ทำกิจกรรมร่วมกับชุมชนในพื้นที่มาบตาพุด

“เราได้ HIA(การประเมินผลกระทบด้ายสุขภาพ) ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ถ้าจะเปรียบเทียบ เหมือนกับว่าเรามีบ้านอยู่หลังหนึ่ง เป็นเรื่องของ EIA ที่หลังคารั่ว ฝาผุ วันนี้เรามีห้องใหม่ๆ ปรับปรุงใหม่ เฟอร์นิเจอร์ใหม่ ทาสีดี เราเรียกว่า HIA แต่มันเข้าไปอยู่ในบ้านที่มีปัญหา ผลก็คือว่า เติม HIA เข้าไปใน EIA วันนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอย่างที่เราคาดหวัง เอกสารหนาขึ้น การพิจารณายาวนานขึ้น ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ซึ่งถ้าไม่แก้ตรงนี้ อุตสาหกรรมนิเวศไม่สามารถเดินผ่านกระบวนการใช้เครื่องมือนี้ไปบริหารตัดสินใจได้”

นายบัณฑูรกล่าวว่ากระบวนการดังกล่าวกำลังจะเริ่มทำกันภายใต้เวทีสมัชชาสุขภาพ อีกส่วนหนึ่งไปอยู่ภายใต้คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ กำลังจะแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อม 2535 รื้อระบบ EIA

“ถ้าเปลี่ยนตรงนี้ เราเปลี่ยนทัศนะคติของเจ้าของโครงการให้ต่างจากเดิมที่มองว่าต้องทำ EIA ให้ผ่าน เพื่อที่จะได้นำไปสู่การขอใบอนุญาต ทุกวันนี้กลายเป็นงานเอกสาร ที่ทุกคนก็ส่งแต่เอกสาร ถ้าเปลี่ยนไปสู่การที่มองว่า EIA เป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าของโครงการ ผู้ที่เกี่ยวข้องรู้ว่าโครงการอาจจะก่อเกิดผลกระทบอย่างไร และเราจะลดผลกระทบได้อย่างไร จะป้องกันผลกระทบและทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งกับบุคคลที่อยู่รอบข้างได้อย่างไร ถ้าเปลี่ยนตรงนี้ได้ เรื่องราวเปลี่ยนหมดเลย”นายบัณฑูรกล่าว

นายบัณฑูรกล่าวต่อว่าถ้าเจ้าของโครงการเปลี่ยนมุมมอง ก็จะหาบริษัทที่ปรึกษาที่ทำแล้วตอบโจทย์ตรงนี้ได้ การจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก็เปลี่ยนไปอีกเรื่องหนึ่ง ตรงนี้หากลองปรับโจทย์ ภายใต้สิ่งที่เราบอกว่าจะรื้อสร้าง ในส่วนของมาตรการเศรษฐศาสตร์สังคมรูปแบบใหม่ ทางสภาพัฒน์ฯ เสนอไว้อย่างน่าสนใจ เรื่องของภาษีคาร์บอน ภาษีสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเห็นด้วย ถ้าจะเพิ่มเติมตรงนี้ อยากให้ไปถึงท้องถิ่น คือให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บภาษี

“วันนี้เราให้ภารกิจ เราให้หน้าที่ท้องถิ่นไปมาก แต่ไม่ให้ทรัพยากรเขาไป ให้ท้องถิ่นเก็บและนำเงินตรงนี้มาแก้ไข ดูแลติดตามเรื่องของสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงสิ่งที่มันจะเป็นเรื่องผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และจะได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของธุรกิจ เจ้าของโรงงาน กับท้องถิ่น ให้มีความสำคัญ ในเชิงให้รับผิดชอบต่อกันได้อย่างเต็มที่”

ส่วนเรื่องการคัดสรร การคัดกรองอุตสาหกรรมต่างประเทศ ถ้ามีอุตสาหกรรมข้ามชาติที่ทำและเบี่ยงเบนไปจากอุตสาหกรรมนิเวศ เราก็จะเจอปัญหา อย่างไรก็ตามขอฝากเรื่องของ Off Shearing Green House Gas จีนมีนโยบายที่ไม่ให้โครงการบางโครงการเกิดขึ้นในประเทศ เพราะว่ามีบัญชี เรื่องของ Green House Gas สูง ก็พยายามที่จะให้อุตสาหกรรมนั้นออกข้างนอก และเราก็จะรับบัญชีนี้เข้ามาแทน โดยกติกาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้สนใจว่าสัญชาติไหน แต่ถ้าผลิตในประเทศไทย บัญชีก๊าซเรือนกระจกนั้นอยู่ในประเทศไทย เรื่องนี้ต้องมีกติกาว่าจะแชร์ในเรื่องนี้อย่างไร เราได้ประโยชน์จากจีดีพี การจ้างงาน แต่บัญชีก๊าซเรือนกระจกอยู่ในบัญชีของประเทศไทยทั้งหมด เรื่องนี้กติกาใหม่ต้องเปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ในส่วนของระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เราต้องการฐานกฎหมายรองรับ ต้องการกฎกติกาทางด้านกฎหมายพอสมควร ชุดกฎหมายที่เกี่ยวข้องมี 4 ฉบับ 1. พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมปี 2535 2. พ.ร.บ.นิคมอุตสาหกรรม 3. พ.ร.บ.โรงงาน และ 4. พ.ร.บ.ผังเมือง ทั้ง 4 กฎหมายนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน บางกรณีจะเห็นว่าในขณะที่ EIA ไม่ผ่าน แต่หลายกฎหมายอนุญาตให้กิจกรรมในบางส่วนดำเนินการไปได้ และทำให้เกิดความไม่ไว้ใจ ความไม่เชื่อมั่นของคน ถ้าไม่แก้ไขตรงนี้ก็จะเป็นอุปสรรคต่อการนำไปสู่ Eco Industrail Town

สำหรับพื้นที่นำร่องอุตสาหกรรม 5 แห่ง ไม่มีข้อขัดข้องอะไร แต่อยากจะชวนคิดว่า ทำให้มีการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษที่มาบตาพุดให้ได้ หมายความว่า เราควรทำให้ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดพ้นระดับที่จะต้องประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

ถ้าทำตรงนี้ได้ จะเป็นบทพิสูจน์ว่าอุตสาหกรรมนิเวศจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ในสังคมไทย