ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ย้อนรอยมหากาพย์ 7 ปี CTX (2): คตส. เริ่มต้นและจบด้วยการหักหลัง

ย้อนรอยมหากาพย์ 7 ปี CTX (2): คตส. เริ่มต้นและจบด้วยการหักหลัง

25 กันยายน 2012


คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)
คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)

จากเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เหตุผลหนึ่งที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คือ มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการแทรกแซงองค์กรอิสระ และองค์กรตรวจสอบ ทำให้หน่วยงานเหล่านั้นไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ (ตอนที่ 1)

ภายหลังการทำรัฐประหารเสร็จสิ้น คปค. ได้เรียกตัวเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการตรวจสอบการทุจริตเข้าพบ คือ นายกล้าณรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) และคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อหารือ เตรียมการจัดตั้งองค์กร เพื่อตรวจสอบการทุจริตของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

ในวันที่ 21 กันยายน 2549 หลังการเข้าพบ คปค. คุณหญิงจารุวรรณ ได้ออกมาให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีการตรวจสอบทุจริต โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX ว่า

“เรื่องใหญ่ที่จะต้องออกมาใน 1-2 วันนี้คือ CTX เราสรุปผลเสร็จแล้ว เหลือแค่กลั่นกรองคำพูดเล็กน้อย เรื่อง CTX อยากจะให้ทันในสัปดาห์นี้ แต่บอกตรงๆ ว่าทุกเรื่องสำคัญหมด เงินมันเยอะเป็นพันเป็นหมื่นล้านบาท แต่เรื่อง CTX ตอนนี้พร้อมสุด มั่นใจว่าเอาผิดได้แน่นอน”

วันที่ 30 กันยายน 2549 คปค. จึงได้มีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จากการดำเนินงานหรือโครงการต่างๆ โดยบุคคลในคณะรัฐมนตรีของ พ.ต.ท.ทักษิณ

คตส. ประกอบด้วยคณะกรรมการทั้งหมด 12 คน (ภายหลังลาออกไป 2 คน เหลือ 10 คน) มีนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธานกรรมการ มีนายกล้าณรงค์และคุณหญิงจารุวรรณเป็นกรรมการอยู่ด้วย มีระยะเวลาในการทำงานทั้งสิ้น 1 ปี 9 เดือน (30 กันยายน 2549 – 30 มิถุนายน 2551)

ขั้นตอนการทำงานของ คตส. มีจุดเริ่มต้นจากการเสนอเรื่องที่มีการตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลไว้อยู่แล้วของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยในช่วงแรก คตส. บรรจุเรื่องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทั้งสิ้น 8 เรื่อง ก่อนมาเพิ่มในภายหลังอีก 5 เรื่อง รวมเป็นคดีความที่ คตส. นำมาตรวจสอบทั้งสิ้น 13 เรื่อง

คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา

หนึ่งในนั้นมีโครงการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรวมอยู่ด้วย ซึ่งผลการไต่สวน คตส. มีมติให้ดำเนินคดีแก่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (กทภ.) พร้อมกับนักการเมืองอีกบางส่วน อาทิ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม

รวมไปถึงข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่เป็นบอร์ดและผู้บริหารบริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ (บทม.) และบริษัทการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) อาทิ นายศรีสุข จันทรางศุ ปลัดกระทรวงคมนาคม นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด และกลุ่มกิจการร่วมค้า ITO ในฐานะนิติบุคคล และนักธุรกิจ รวมทั้งสิ้น 25 ราย

โดยมีความผิดเกี่ยวข้องกับการจัดประมูล ที่ผู้จัดและผู้เข้าร่วมประมูลฮั้วประมูล ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างไม่เป็นธรรม (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 5, 11, 12, 13)

ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและความผิดฐานฉ้อโกง ของตัวการและผู้สนับสนุน ที่ร่วมกันกระทำความผิดในหลายกระทง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 90, 91, 144, 149, 152, 157, 341)

และความผิดฐานเป็นพนักงานของรัฐ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือทุจริต ทำให้เกิดความเสียหาย (พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 3, 9, 11) และยังขอให้ผู้กระทำความผิดคืนหรือชดใช้ทรัพย์สินเป็นจำนวน 6,937 ล้านบาท

เป็นการสอบสวนที่มีบทสรุปแตกต่างจากคณะกรรมการตรวจสอบก่อนหน้า ที่ พ.ต.ท. ทักษิณแต่งตั้งขึ้น และได้มีข้อสรุปว่า “ไม่พบสิ่งผิดปกติประการใด”

นายชัยเกษม นิติสิริ
นายชัยเกษม นิติสิริ

การทุจริตที่ คตส. ระบุ เริ่มต้นตั้งแต่การจัดซื้อ CTX ที่ต้องทำการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญากับ ITO เป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ ที่ไม่มีการตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลางตามข้อบังคับของ ทอท. และแพงกว่าราคาเดิมที่ บทม. เคยมีมติอนุมัติ

ในสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสารที่แก้ไขเพิ่มเติม บทม. ได้อนุมัติงบประมาณเป็นเงินทั้งสิ้น 4,335 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าปรับเปลี่ยนระบบรักษาความปลอดภัยเป็นระบบ CTX จำนวน 2,608 ล้านบาท ค่าปรับปรุงระบบขนส่งกระเป๋าสัมภาระผู้โดยสารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 1,727 ล้านบาท

โดย บทม. ได้ทำการจัดซื้อจัดจ้าง CTX จาก ITO เป็นเงิน 2,608 ล้านบาท ขณะที่ ITO จัดซื้อจัดจ้างจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย คือ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ แพทริออต จำกัด (Patriot) เป็นเงินเพียง 2,003 ล้านบาท

การที่ ITO ไปติดต่อซื้อเครื่อง CTX จำนวน 2,003 ล้านบาท จาก บริษัท Patriot ทั้งที่บริษัทแพทริออตมีทุนจดทะเบียนเพียง 5 ล้านบาท และไม่มีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญระบบดังกล่าว คตส. ระบุว่า เป็นการร่วมกันแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจาก บทม.

และการตรวจสอบของ คตส. ยังระบุอีกว่า บทม. ได้รับความเสียหายจากค่าจ้างปรับเปลี่ยนสายพานลำเลียง และค่าติดตั้ง CTX ที่ ITO เสนอ ซึ่งแพงกว่าความเป็นจริง 1,714 ล้านบาท

ขณะที่ บทม. ได้จ่ายเงินตามสัญญาให้ ITO จำนวน 2,990 ล้านบาท ตั้งแต่วันทำสัญญาก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร แก้ไขเพิ่มเติมในเดือนมีนาคม 2547 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2547 แต่ปรากฏว่า บทม. กลับไม่ได้รับ CTX แม้แต่เครื่องเดียว ทั้งที่สัญญาระบุไว้ว่า จะต้องส่ง CTX 10 เครื่องแรกมาทำการติดตั้งภายในเดือนธันวาคม 2547 และอีกจำนวน 10 เครื่อง ต้องมาส่งภายในเดือนมกราคม 2548 ส่วน 6 เครื่องสุดท้าย ต้องมาภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

โดย คตส. ได้ความว่า เมื่อ ITO ได้รับเงินจาก บทม. แล้ว ได้จ่ายเงินให้ บริษัทแพทริออตไป 643 ล้านบาท แต่บริษัทแพทริออตกลับไม่ได้นำเงินไปจ่ายค่าเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX ให้ “อินวิชัน” แม้แต่บาทเดียว

ต่อมา “อินวิชัน” ได้ทำการควบรวมกิจการกับบริษัท “จีอี” และถูกตรวจพบการกระทำความผิดตามกฎหมาย FCPA ของสหรัฐฯ ทำให้ “อินวิชัน” ต้องทำบันทึกตกลงกับกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ว่าจะขาย CTX ให้แก่ประเทศไทยโดยตรงแก่ บทม. เท่านั้น

วันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ทอท. จึงมีมติให้ บทม. ทำสัญญาซื้อ CTX โดยตรงจากบริษัทผู้ผลิต และให้ ITO เป็นผู้จ่ายเงิน โดย บทม. ยังคงต้องรับผิดชอบจ่ายเงินให้ ITO ตามสัญญาเดิมจำนวน 2,608 ล้านบาท ในที่สุด เครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX จำนวน 2 เครื่องแรก จึงเดินทางมาถึงประเทศไทยในวันที่ 29 กรกฎาคม 2548

คตส. จึงสรุปว่า การกระทำนี้เป็นการกระทำที่ บทม. เชิดตัวเองเข้าเป็นคู่สัญญาในการซื้อขาย CTX แทน ITO และ ITO ได้ใช้ บทม. เป็นเครื่องมือในการซื้อขาย เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ กำหนด เป็นการกระทำเพื่อให้ได้เงินตามสัญญาฉบับเดิม

หลังการไต่สวนเสร็จสิ้น คตส. จึงมีมติให้ดำเนินคดี และได้ส่งเอกสารสำนวนให้อัยการสูงสุด เพื่อทำการฟ้องคดีต่อศาล ในวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 เป็นเวลา 1 เดือนก่อนที่ คตส. จะหมดอำนาจลง ส่วนนายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด คตส. มีมติที่จะแยกสำนวนส่งฟ้องเอง

แต่เหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2551 คตส. ได้รับหนังสือจากอัยการสูงสุดแจ้งข้อไม่สมบูรณ์ของคดี และขอให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันให้ คตส. ทราบ

คตส. จึงรีบมีมติมอบหมายให้ ป.ป.ช. เป็นผู้ดำเนินการต่อ ก่อนที่ คตส. จะหมดวาระเพียง 3 วัน

ในวันที่ คตส. ได้รับหนังสือจากอัยการสูงสุด คตส. บางคนถึงกับอุทานว่า “ทำอย่างนี้หักหลังกันนี่หว่า”