ThaiPublica > คนในข่าว > “พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช”แพทย์มช. ชี้ ‘คอนแทร็กฟาร์มมิง’ ต้นเหตุภาคเหนือเมืองในหมอก (ควัน) เปิดสถิติ พบสารพิษ-มะเร็งปอด พุ่งสูงสุด

“พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช”แพทย์มช. ชี้ ‘คอนแทร็กฟาร์มมิง’ ต้นเหตุภาคเหนือเมืองในหมอก (ควัน) เปิดสถิติ พบสารพิษ-มะเร็งปอด พุ่งสูงสุด

1 กันยายน 2012


รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัญหาหมอกควันทั้งที่เกิดตามธรรมชาติและจากการ “เผาป่า” เพื่อทำการเกษตร กำลังกลายเป็นปัญหาเรื้อรังในเมืองไทยขณะนี้ โดยเฉพาะภาคเหนือตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ต้องกลายเป็นเมืองในหมอก (ควัน) ทุกๆต้นปี

หนึ่งใน “ต้นตอ” สำคัญของมลพิษเหล่านี้ เกิดจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกรูปแบบ “เกษตรพันธสัญญา” หรือ คอนแทร็กฟาร์มมิง (Contract Farming) ซึ่งบริษัทขนาดใหญ่เป็นผู้ออกเงินทุนค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และยาฆ่าแมลง ให้ชาวบ้าน แล้วรับซื้อคืนทั้งหมดในราคาที่ตกลงกันไว้

ควันไฟที่เกิดจากการถางป่า เผาต้นไม้ ทำลายซังข้าวโพด ตามพื้นที่ห่างไกล จากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง จนขยายใหญ่ลุกลามเป็นไฟลามทุ่ง กลายเป็นควันพวยพุ่งสีเทาและเขม่าพิษขนาดมหึมา ปกคลุมท้องฟ้าข้ามมาถึงเขตเมือง คือต้นเหตุของโรคร้ายที่ตามมาเพียบ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปอด หลอดเลือดหัวใจ หอบหืด ผื่นคัน ล่าสุดอาจกระทบไปถึงเด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาให้ออกมาไม่สมบูรณ์ได้

รศ.นพ.พงศ์เทพ วิวรรธนะเดช หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในนักวิชาการที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ลงมาจัดการดูแลปัญหานี้อย่างจริงจัง ผ่านเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ปลายปีนี้ ด้วยการทำเป็นวาระแห่งชาติและตั้งวอร์รูมขึ้นมาสู้กับปัญหาหมอกควันที่รุนแรง

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้ปัญหาหมอกควันในประเทศไทยรุนแรงแค่ไหน

เป็นที่ทราบกันดีว่าภาคเหนือจะมีปัญหาวิกฤติหมอกควันรุนแรงมาก โดยเฉพาะในช่วงเดือน มี.ค. ของทุกปี จากข้อมูลยืนยันชัดเจนว่า สาเหตุนั้นมีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ 4 แหล่ง 1. เผาขยะบ้าน จะมีทุกวัน 2. จากการจราจรก็มีทุกวัน 3. ควันจากภาคอุตสาหกรรมทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก และ 4. จากการเผาพื้นที่เกษตรและเผาป่า ผมคิดว่า 3 แหล่งแรกเกิดขึ้นทุกวันแต่ไม่ทำให้เกิดปัญหาหมอกควันรุนแรง เพียงทำให้เกิดหมอกควันระดับพื้นฐาน และพอช่วงวิกฤติคือหน้าแล้ง แหล่งที่ 4 จะเพิ่มปริมาณเข้ามามาก บวกกับเบสไลน์เดิม ทำให้เกิดวิกฤติรุนแรงช่วง 3-4 เดือนแรกของทุกปี  

ไทยพับลิก้า : มีสถิติที่ชัดเจนว่าปัญหาหมอกควันเกินค่ามาตรฐาน

ครับ ค่าที่เกินจะดูหลายตัว หลักๆ คือดูพวกฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งเล็กกว่าเส้นผม มองไม่เห็น อีกกลุ่มคือกลุ่มดูแก๊สพิษ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ โอโซน และคาร์บอนไดออกไซด์ ที่มีปัญหาคือฝุ่นขนาดเล็ก เราดูค่า PM 10 หรือต่ำกว่า 10 ไมครอน จะเกินในช่วงเกิดวิกฤติ สถิติเดือน มี.ค. 2555 หนักมาก ตัววัดที่แม่ฮ่องสอนวัด 30 วัน พบว่ามี 27 วัน ที่มีค่าเกินมาตรฐานของประเทศไทยที่กำหนดไว้ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง แม่ฮ่องสอนเกินถึง 27 วัน คิดเป็น 90% เชียงรายเกิน 80% เกือบทุกจังหวัดในภาคเหนือจะวิกฤติทุกๆ เดือนมีนาคม

ไทยพับลิก้า : การจัดการกับต้นเหตุของหมอกควันในภาคเหนือ

หมอกควันเกิดจากหลายสาเหตุในการเผา แหล่งแรกคือการเผาขยะบ้าน เป็นผลมาจากที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่สามารถจัดเก็บให้กับครัวเรือนได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ละบ้านต้องช่วยตัวเองในการเผา เรื่องนี้พูดยากเพราะเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมของชาวบ้านด้วย เนื่องจากเห็นเป็นเรื่องปกติ ทำมานานแล้วคงต้องแก้เรื่องการจัดเก็บ เป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหาของบ้านเรา ต้องมองตั้งแต่ต้นน้ำว่าทำอย่างไรให้ขยะน้อยลง และต้องหาที่ทิ้งขยะ ที่ฝังกลบที่ยังมีจำกัดและมีแรงต้านจากหลายภาคส่วน หลายๆ ที่จึงใช้วิธีเผาเลยดีกว่า ไม่ว่าจะในเตาหรือที่โล่งแจ้งก็ตาม และเราพบว่ามีขยะพิษมากขึ้น ยังไม่มีมาตรการชัดเจนว่าจะลดพวกนี้อย่างไร ในภาคเหนือขยะ 66% เป็นพวกวัสดุการเกษตร จริงๆ แล้วใช้ประโยชน์ได้เยอะมาก แต่เรายังไม่มีการจัดการที่ดี ชาวบ้านจึงเอาไปเผาหมด

เรื่องจราจร อย่างขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายรถคันแรก ก็เป็นการส่งเสริมให้คนใช้รถส่วนตัว ทั้งๆ ที่สวนทางกับทั่วโลกที่เขาต้องการให้ลดลง จึงควรมีระบบขนส่งมวลชน ซึ่งเป็นเรื่องคอมมอนเซนส์มาก แต่เชียงใหม่นี่ชัดเจนมาก เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากกรุงเทพฯ แต่ไม่มีขนส่งมวลชน อาจจะมีรถแดงแต่ก็เป็นรถรับจ้างมากกว่า ทุกคนจึงต้องใช้รถส่วนตัวมากกว่า

ปัญหาฝุ่นละอองภาคเหนือ

ในส่วนอุตสาหกรรมปล่อยมลพิษออกมา การตรวจสอบยังไม่เข้มงวด โรงงานใหญ่มีวิธีการหลีกเลี่ยงปล่อยมลพิษออกมา ที่มีปัญหามากคืออุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น ในภาคเหนือมีการใช้เชื้อเพลิงสกปรก เช่น แกลบ ขี้เลื่อย อย่างโรงอบลำไย ทั้งหมดจะใช้ฟืน เอาต้นลำไยมาเป็นฟืน พวกโรงงานเซรามิกที่อบเซรามิกจะใช้แกลบ ขี้เลื่อย มีวัสดุการเกษตรมากเขาก็เอามาเป็นเชื้อเพลิง พวกนี้มลพิษมากถ้าการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ รวมถึงเตาเผาอิฐ โรงอบไม้ ระยะหลังมีโรงไฟฟ้าชีวมวลที่ใช้แกลบขี้เลื่อย การควบคุมแทบจะไม่มีเลย ปล่อยสารมลพิษออกมาตลอดเวลา

แหล่งที่สี่ คือ การเผาป่ากับที่ทำกินเกษตร ภาคการเกษตรหนึ่งที่เราพบว่าก่อให้เกิดปัญหามหาศาลคือ “เกษตรพันธสัญญา” (Contract Farming) ในภาคเหนือ ที่นิยมปลูกมากคือข้าวโพด อย่างที่อำเภอแม่แจ่มแห่งเดียวมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นแสนไร่ ที่จังหวัดน่าน 3-4 แสนไร่ พันธสัญญาคือมีบริษัทใหญ่ที่มาส่งเสริมทำสัญญากับเกษตรกร โดยอาศัยจุดอ่อนของเกษตรกร 3 อย่าง คือ เรื่องทุน ไม่มีเทคโนโลยี ไม่รู้การตลาด จะมีบริษัทใหญ่ที่เขารู้สามอย่างนี้ สามารถพัฒนาเทคโนโลยีสายพันธุ์ได้ การตลาดก็เก่ง ก็จะทำสัญญารับประกันให้เกษตรกร แต่ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ปุ๋ยเคมีของเขา เกษตรกรเป็นผู้รับจ้าง แต่เมื่อปลูกแล้วห้ามขายใครต้องขายเขาคนเดียว 

อย่างข้าวโพด เราศึกษาพบว่ามีการทำลายป่ามาก เพราะปลูกแล้วดินจืด ต้องไปหาที่ใหม่ เมื่อมีพันธสัญญาแล้วก็ปลูกได้ไม่อั้น รัฐบาลก็ไม่มีกฎหมายบังคับ แรงจูงใจทางการเงินทำให้เกษตรกรบุกรุกมาก ก่อนทำลายก็จะพ่นยาฆ่าหญ้าให้ต้นไม้ตายประมาณเดือนพฤศจิกายน มันจะแห้งประมาณ 3 เดือน แล้วจุดไฟเผาเพื่อให้ได้ที่มา 

ต้นข้าวโพดเป็นพืชล้มลุก เก็บเสร็จก็เอามาเผา ซังข้าวโพดก็เอามาเผาได้อีก เท่ากับปลูก 1 รอบนี่เผาสามครั้ง นี่พูดมิติเดียวนะ แต่ถ้าพูดเรื่องบุกรุกทำลายป่าน่ากลัวมาก อาจจะมีปัญหาเรื่องภัยแล้งรุนแรงเพราะไม่มีป่า นี่ยังไม่พูดถึงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์
 
ไทยพับลิก้า :  บริษัทที่จ้างทำเกษตรพันธสัญญาไม่มีการควบคุมชาวบ้าน

บริษัทเขาไม่สนใจ เพราะไม่มีนโยบายจากรัฐบาลในการควบคุม ก็เป็นนิสัยของบริษัทอยู่แล้ว เพราะตลาดโลกต้องการไม่อั้น ปลูกมากก็ได้กำไรมาก บริษัทเหล่านี้ก็จะมาส่งเสริม มีนายหน้าเป็นทอดๆ มา ผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รับกันเป็นทอดๆ ที่เอาไปคือผลผลิตแต่ไม่เคยสนใจดูแลเรื่องการเผา แม้กระทั่งซังข้าวโพดก็ไม่รับไปกำจัด เขาจะดูแต่ต้นทุน ไม่ได้ดูเรื่องพื้นที่ เป็นการทำธุรกิจที่เห็นแก่ตัว เอาแต่กำไร ทิ้งความเสียหายไว้มหาศาล น่านนี่เกือบทั้งจังหวัด เป็นวงจร เพราะชาวบ้านยิ่งทำยิ่งยากจน เป็นหนี้ ลักษณะของบริษัทจะให้สินเชื่อ เอาเมล็ดพันธุ์ไปก่อน เอาปุ๋ยไปก่อน ยาฆ่าแมลงไปก่อน ได้ผลผลิตก็หักออก ต้องเข้าใจว่าไม่ได้ปลูกแล้วขายได้ทั้งหมด บริษัทจะตั้งสเปกไว้ว่าจะซื้อขนาด ความชื้น เท่าไหร่ ก็กดราคาเกษตรกร จริงๆ ไม่ได้กำไรมาก บางรายก็ขาดทุน สุดท้ายต้องใช้หนี้ ก็ปลูกรอบต่อไป วนเวียนกันอย่างนี้ เข้าสู่วงจรนี้แล้วถอนตัวไม่ได้ หนี้ผูกคออยู่ บริษัทมีแต่ได้ เกษตรกรมีแต่แย่ลง สุดท้ายประเทศชาติเสียทรัพยากรมากมาย 

ไทยพับลิก้า : ผลกระทบทางสุขภาพจากปัญหาหมอกควัน

ก็ชัดเจนว่ามีฝุ่น และทุกประเทศทั่วโลกเห็นชัดจนว่าหมอกควันได้ทำลายระบบทางเดินหายใจ กระตุ้นการไอ อักเสบที่ถุงลม บางรายรุนแรงจะหอบหืด หายใจไม่ออก ต้องเข้าโรงพยาบาล  ระบบที่สอง คือ หัวใจหลอดเลือด เนื่องจากหัวใจทำงานหนักเพราะอากาศไม่ดี รวมทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์แย่งจับเม็ดเลือดแดง แย่งจับเซลล์ ทำให้หัวใจทำงานหนัก สาม คือ การคันผิวหนัง ถ้าเข้าตาก็แสบตา ระบบผิวหนังส่วนใหญ่จะระคายเคืองไม่รุนแรง ระบบที่สี่ คือ สมอง เราพบว่าฝุ่นขนาดเล็กมากๆ จะเข้ากระแสเลือดได้ ทำให้เส้นเลือดไปเลี้ยงสมองตีบ และล่าสุดเราพบว่าข้ามผ่านไปทำอันตรายกับเด็กในท้องได้ หญิงมีครรภ์จึงอันตรายถ้าสูดดมมากๆ เด็กจะโตช้า น้ำหนักน้อย ทางการแพทย์จะรู้ว่าเด็กที่น้ำหนักน้อย อาจทำให้มีปัญหาการเติบโต รวมถึงพวกออทิสซึ่ม ด้วย มันเกี่ยวพันกันทุกโรคตามมา 

สุดท้าย ในระยะยาว ที่ชัดเจนที่เรากลัวมากที่สุดคือมะเร็งปอด เพราะมีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์พบว่าในการเผามีสารก่อมะเร็งมาด้วย สารตัวนั้นคือ PAH [โพลีไซคลิกอะโรเมติกไฮโดรคาร์บอน (Polycyclic Aromatic Hydrocarbons)] เป็นการยืนยันแล้วว่าทำให้เกิดมะเร็งปอดได้ และข้อมูลสถิติของโรงพยาบาลมหาราช พบว่า ภาคที่มีมะเร็งปอดมากที่สุดคือภาคเหนือ จากปกติค่าเฉลี่ย 40 คนต่อแสนคนต่อปี เช่น เชียงใหม่มีประชากร 1.7 ล้านคน แปลว่าปีหนึ่งจะมีมะเร็งรายใหม่ 400-500 ราย เทียบกับค่าเฉลี่ยประเทศประมาณ 10 ต่อแสน เท่ากับว่าคนเชียงใหม่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปสี่เท่า มันไม่ได้มาเผาเมื่อสี่ห้าปีที่แล้ว แต่ทำมาเป็นร้อยปีแล้ว เพราะการเผาข้าวโพดที่ราคาดีจากเศรษฐกิจโลก หลายประเทศเจอปัญหาน้ำมันแพงก็หันมาปลูกพืชทดแทนน้ำมัน ทำให้อาหารสัตว์ขาดแคลน จึงต้องเร่งปลูกข้าวโพด อ้อย ผลของเศรษฐกิจโลกที่ต้องการอาหารมาก จึงทำให้มีการปลูกมากจนไม่มีการควบคุม

ไทยพับลิก้า : ในเชิงเทคนิคการแพทย์ แยกไม่ได้ว่ามะเร็งปอดเกิดจากมลพิษจริงหรือไม่

ในทางการแพทย์จะบอกได้ว่ามีความสี่ยงทำให้เกิดมะเร็งเท่าไหร่ แต่ไม่สามารถฟันธงได้ว่าทำให้เกิดจากอันนี้หรือไม่ อย่างคนสูบบุหรี่ก็ไม่สามารถฟันธงได้ว่าทุกคนจะต้องเป็นมะเร็ง แต่เรารู้ว่าสูบมากมีโอกาสเป็นมะเร็งมาก ในงานวิจัยพบว่าหมอกควันเพิ่มความเสี่ยงนี้แน่นอน แต่การเป็นมะเร็งต้องเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน สาเหตุเดียวไม่พอ แต่มีหลายสาเหตุจะเพิ่มความเสี่ยงทำให้คนภาคเหนือเป็นมะเร็งปอดมาก หมอกควันเป็นตัวหนึ่ง แต่ก็เพราะสาเหตุอื่นด้วย 

ไทยพับลิก้า :  ตามสถิติพบเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพดเป็นมะเร็งปอดมากหรือไม่

แน่นอน เกษตรกร 70-80% อยู่แล้ว กลุ่มใหญ่ที่เป็นคือเกษตรกร ดังนั้น พอรู้ว่าต้นเหตุมาจากสี่แหล่ง ก็ต้องแก้ไขตรงจุด มีความพยายามแก้มาโดยตลอด แต่ถามว่าถ้าแก้ได้ดีจะไม่เกิดปัญหาอย่างนี้ ในข้อเท็จจริงยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะปัญหาหมอกควันในปี 2555 ถือว่ารุนแรงสุด แม้เราจะเริ่มรณรงค์ปีแรกเมื่อปี 2550 แต่ปีนี้กลับแย่สุด เท่ากับว่าทำแล้วไม่ดีขึ้น มาตรการที่รัฐมีตั้งแต่ต้นไม่ได้ผล เรามาวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร 

ประการแรก เห็นได้ชัดเลยว่าปัญหาหมอกควันต้องการการบูรณาการชัดเจน เพราะเกี่ยวข้องกับทุกกระทรวง ตั้งแต่กระทรงทรัพยากรฯ มหาดไทย คมนาคม สาธารณสุข อปท. ด้วย รวมทุกกระทรวง แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังไม่มีจุดบัญชาการ ปล่อยให้กับทุกกระทรวงไปทำแผนจัดการของเขาเอง ต่างคนก็ต่างทำ ในจังหวัดมีผู้ว่าซีอีโอสั่งการแต่ผู้ว่าฯ ก็มีข้อจำกัดในแง่สั่งการ ไม่สามารถสั่งการได้ทุกกระทรวง และมีขอบเขตในกระทรวงตัวเองเท่านั้น แต่เรื่องหมอกควันต้องการอาศัยการบูรณาการ

หมอกควันในภาคเหนือ ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th
หมอกควันในภาคเหนือ ที่มาภาพ : http://www.dailynews.co.th

สอง คือ พื้นที่ กินอาณาบริเวณ 8-10 จังหวัด ให้แต่ละคนทำงานกันเองไม่ได้ผล ต้องมองภาพรวม การจัดการหมอกควันให้แต่ละจังหวัดทำกันเองจึงไม่ได้ผล ข้อเสนอคือการทำศูนย์บัญชาการส่วนกลาง และให้ผู้มีอำนาจสั่งการได้ทุกกระทรวง ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บัญชาการหรือมอบรองนายกฯ ก็ได้ ศูนย์นี้ไม่ใช่เฉพาะกิจ ต้องทำตลอดไป คล้ายภาคใต้มี ศอบต. เกาะติดทั้งปี เพราะหมอกควันไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า 3 เดือน แต่ต้องทำระยะยาว หลายเรื่องอาจต้องแก้กฎหมาย ศูนย์นี้จะมีอำนาจเต็มในการแก้ไข สร้างวาระแห่งชาติในการแก้ปัญหา

ส่วนเรื่องการจราจรต้องมีนโยบายขนส่งมวลชนชัดเจน ต้องทำงานจริงจัง รณรงค์ให้คนลดการใช้รถส่วนตัว หันมาใช้รถที่มันเป็นรถไม่ใช้พลังงาน เช่น จักรยาน ต้องส่งเสริมจริงจังแล้ว อย่างที่บอกว่านโยบายรัฐสวนทาง เช่น ส่งเสริมรถคันแรก อย่างนี้ไม่ได้ มันเพี้ยนหมด หรืออาจต้องเน้นการตรวจสภาพรถ เช่นเชียงใหม่ รถแดงเหมือนเอารถเสื่อมสภาพมาวิ่ง ก็ปล่อยควันดำ 

หรือการเผาขยะบ้าน ต้องมองเป็นระบบ แก้ต้นน้ำ ลดขยะลง เมืองนอกเอาจริงจังมาก เช่น ไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า เขาจะถามว่าเอาถุงพลาสติกหรือไม่ จะคิดอีกราคาหนึ่ง บ้านเราคิดราคาเดียวไม่ว่าเอาหรือไม่เอา หรือขยะที่รีไซเคิล ต้องมีมาตรการจูงใจให้คนหันมารีไซเคิลมากขึ้น เมืองนอกเขาจะไม่ส่งเสริมให้กินน้ำขวดพลาสติก แต่บ้านเราจะรุนแรงมาก เป็นขยะมหาศาล สถานการณ์ขณะนี้สะท้อนว่าประเทศเป็นมะเร็งแล้วนะ ถ้าไม่แก้คนจะเป็นมะเร็งมากขึ้น

ในส่วนอุตสาหกรรมก็ต้องแก้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็กที่อ้างทุนน้อย แต่ทำให้เกิดมลพิษมากมาย ก็ไม่แฟร์ ต้องจัดการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เอาเปรียบก็ต้องใช้กฎหมายจัดการจริงจัง แต่ปัญหาคือเราไม่ค่อยเอาจริงเอาจังเท่าไหร่ 

เรื่องใหญ่คือการเผาป่า เราเห็นใจเกษตรกรเพราะเลือกการเผาเนื่องจากยากจน ประหยัดแรงงาน ต้นทุน รัฐบาลก็ต้องมองทางเลือกให้เขา ก็ต้องช่วย เราเสนอเฉพาะหน้าว่าทุกปีช่วงวิกฤติต่างๆ มีสาเหตุหลักคือข้าวโพด ระยะสั้นคือรัฐบาลเข้ามาจัดการไม่ให้เผาซังข้าวโพด ไร่ข้าวโพด เช่น ทุ่มเงินเลย ให้ไปจัดการเอาไปฝังกลบ เป็นทางออกที่ดีที่สุด ดินก็ได้ปุ๋ยด้วย แต่แน่นอนว่าต้องใช้เงินมาก ใช้แรงมาก ทุกวันนี้ให้ท้องถิ่นไม่มีปัญญาจัดการ เงินไม่มี เครื่องจักรไม่มี บนป่าเขาก็เอาเครื่องจักรเข้าไปไม่ได้ ต้องรัฐบาลทำ ต้องยอมจัดการในระยะสั้นก่อน แต่ระยะยาวต้องมีนโยบายควบคุมพื้นที่เพาะปลูก ปล่อยไปตามกรรมคงไม่ได้แล้ว

ไทยพับลิก้า :  เรื่องการเผามีกฎหมายคุมหรือไม่

มีอยู่ แต่การใช้กฎหมายคงไม่เวิร์ก หาหลักฐานยาก ชาวบ้านมีวิธีของเขา เช่น จุดธูป ปักไว้ ยังไม่ไฟไหม้ เขาก็ไปไหนไม่รู้ พอไหม้แล้วก็ไม่มีหลักฐาน จึงต้องช่วยเขาด้วยเช่นเอาไปทำปุ๋ย

ไทยพับลิก้า :  ควรให้เจ้าของเกษตรพันธสัญญามารับผิดชอบด้วยหรือไม่

ในการประชุมร่วมกันของคณะอนุกรรมการวิชาการเรื่องปัญหาหมอกควัน เพื่อเสนอสมัชชาสุขภาพแห่งชาติปลายปีนี้ ได้เชิญตัวแทนบริษัทซีพีมาร่วมประชุมเพื่อหาทางออกด้วย เขาก็พูดไม่เต็มปาก บอกว่าเขาไม่ใช่รายใหญ่ มีรายใหญ่กว่าอีก ซึ่งผมไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ แต่เขาบอกว่ามีโครงเมล็ดพันธุ์ ถ้าปลูกให้ซีพี ข้อสัญญาหนึ่งคือต้องไม่เผา ถ้าเผาไม่รับซื้อ แน่นอนถ้าเผาจะไม่ได้เมล็ดพันธุ์ที่ดี แต่เขาไม่ได้พูดถึงการเผาซังข้าวโพด เป็นเรื่องของพื้นที่ไป และก็เป็นธรรมดาที่เมื่อพื้นที่จัดการไม่ได้ก็เผา ใครจะลงทุนไปฝังกลบ 

ปัญหาฝุ่นละออง 2

ไทยพับลิก้า : ถ้าเช่นนั้นตัวแทนเกษตรกรต้องรับผิดชอบด้วย
 
ปกติเกษตรพันธสัญญาจะทำผ่านนายหน้า ก็มีทุกรูป แบบบางทีผ่านสหกรณ์ บางทีผ่านแกนนำ บางคนตั้งบริษัทรับซื้อเป็นทอดๆ วิธีการนี้ฉลาด ทำให้ระดับท้องถิ่นได้ประโยชน์

ไทยพับลิก้า :  ปัญหาหมอกควันในภาคใต้ที่เกิดล่าสุดถือว่ารุนแรงแค่ไหน
 
ภาคใต้เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง สาเหตุหลักมาจากประเทศอินโดนีเซีย มีการเผาป่าคล้ายๆ บ้านเรา เขามีการทำสวนยางมาก วิธีการคือเผา แต่ผลกระทบลามมาถึงไทยด้วย การแก้ปัญหาภาคใต้ต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศเพื่อนบ้าน คือต้องใช้เวทีประชาคมอาเซียน ประเด็นคืออินโดนีเซียไม่ยอมลงสัตยาบรรณ แต่ 10 ประเทศเขาลงแล้ว แต่ต้นตอคืออินโดนีเซียไม่ลง อาเซียนมีลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย เกรงใจอินโดฯ และแม้ลงสัตยาบรรณก็คงไม่จริงจังเท่าไหร่ อินโดไม่ลงก็ทำอะไรเขาไม่ได้ ถึงลงก็ไม่มีการบังคับกัน แก้ไม่ได้เท่าไหร่ ดังนั้น ภาคใต้คงเกินความสามารถของเรา ต่างจากภาคเหนือที่เป็นปัญหาของเราเอง แต่เพื่อนบ้าน พม่า ลาว ก็เผาด้วย แต่คงไม่โยนความผิดให้เขา ส่วนภาคใต้ ถ้าเราพูดเรื่องระดับ PH 10 เขายังไม่เกินมาตรฐาน อินโดเผาทุกปีแต่กว่าจะมาถึงบ้านเราก็จางแล้ว แต่ภาคเหนือเราเผาเอง บวกปัจจัยภูมิศาสตร์ มีภูเขากักเอาไว้ ปัญหาสุขภาพคนใต้ก็จะไม่รุนแรงเหมือนภาคเหนือ
      
หมายเหตุ อ่านเพิ่มเติม-แพทย์หวั่นปัญหาหมอกควันภาคเหนือเกินค่ามาตรฐาน ชี้ฝุ่นขนาดเล็กเสี่่ยงเป็นมะเร็ง ยอดผู้ป่วยทางเดินหายใจ เพิ่ม 4 เท่า