ThaiPublica > คอลัมน์ > Clicktivist: เป็นนักเคลื่อนไหวได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วขยับ

Clicktivist: เป็นนักเคลื่อนไหวได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้วขยับ

7 กันยายน 2012


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

อาจเพราะตกอยู่ในภาพความหมายว่า “ทำ” ต้องปรากฏเป็นรูปธรรม ให้เห็นความเคลื่อนไหวของร่างกายเป็นประจักษ์แก่สายตา จึงเป็นที่วิวาทะกันอยู่เสมอ ว่าระหว่าง “นักคิด” กับ “นักปฏิบัติ” นั้น สิ่งใดจะถือได้ว่า “ลงมือทำ” มากกว่ากัน

ก็คิดได้หลายแง่ครับ หากจะมองในแง่ของการแบ่งงานกันทำ ใครถนัดอันใดก็ทำไปในทางนั้น นักคิดก็ถนัดคิด นักปฏิบัติก็ถนัดปฏิบัติ ถ้านักปฏิบัติเห็นด้วยกับสิ่งที่นักคิดคิด ก็นำไปปฏิบัติเสีย ก็ไม่น่ามีปัญหา ซึ่งผู้เขียนเห็นไปในทางที่ว่า การคิดก็เป็นการลงมือปฏิบัติวิธีหนึ่ง และอย่างไรเสียสังคมก็ยังให้ค่ากับการคิด ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีสำนวนอย่าง “ทำไม่คิด” แล้วก็ถ้าในเมื่อคิดว่าสังคมจะดำรงคงเดินไปข้างหน้าได้ด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เรื่องอะไรจะต้องไปรวมว่าทำกับคิดต้องอยู่ในคนคนเดียวกันเล่าครับ

แต่ทีนี้ มนุษย์นี่ก็ช่างเอาใจยาก เพราะต่อให้ไม่เพียงแค่คิด แต่ลงมือทำด้วย ก็ยังถกเถียงกันอีก ว่าแล้วต้องลงมือแค่ไหน ถึงจะเรียกได้ว่า “ทำ”

เอาใจยากขนาดนี้…ไม่ทำเสียเลยดีกว่าไหมครับ

ก็แล้วแต่…

ในยุคของเว็บ 2.0 ตามมาด้วยการเติบโตของโซเชียลมีเดีย มนุษย์ (ผู้สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต) เคลื่อนย้ายที่ทางทางความคิดและการกระทำไปมาระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์ การรณรงค์เคลื่อนไหวในเรื่องต่างๆ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ล้วนยาตรา “ไปๆ มาๆ” อยู่ในสองโลก (ต้องขอใช้คำว่า “ไปๆ มาๆ” นะครับ เพราะก็ต้องยอมรับว่า บางการเคลื่อนไหวเหมือนจะ “ไป” แล้ว แต่เคลื่อนไปเคลื่อนมาดันมีที่ท่าว่าถดถอยกลับ “มา” ที่เดิม หรือย้อนหลังไปกว่านั้น)

ภายในการเจริญเติบโตของโซเชียลมีเดีย (โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก) ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเติบโตดังกล่าวได้ทำให้โลกออนไลน์กลายเป็นพื้นที่ที่ช่วยขยายอาณาเขตการรับรู้ถึง “ปัญหาต่างๆ” (causes) ไม่ว่าจะเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ให้แพร่กระจายไปโดยรวดเร็วและกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และนักเคลื่อนไหวหลายท่านหลากองค์กร ทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่น อยู่มาแต่โบร่ำโบราณหรือเพิ่งเกิดเมื่อวานเป็นหน้าใหม่ ต่างก็ใช้พื้นที่ในโลกออนไลน์ในการกระจายข่าวสารการรณรงค์เคลื่อนไหวของตัวเอง กระทั่งทำให้การรับรู้เรื่องราวแล้วออกไปรวมตัวกันทำอะไรบางอย่างในโลกออฟไลน์ก็เป็นไปโดยง่ายในหลายกรณี (ที่ล้มเหลวก็ไม่น้อยนะครับ)

ที่มาภาพ : http://www.fairobserver.com
KONY 2012 ที่มาภาพ : http://www.fairobserver.com

สิ่งที่เรียกว่า “คลิกติวิสต์ (Clicktivist)” เกิดขึ้นมาได้ในโลกแบบนี้นี่เอง

คลิกติวิสต์ หรือที่ผู้เขียนเรียกว่า นักรณรงค์เคลื่อนไหวด้วยปลายนิ้ว เป็นคำศัพท์ที่ใช้เรียกผู้คนที่ใช้การกดไลค์, แชร์, รีทวีต, แสดงความคิดเห็น, บริจาคออนไลน์ หรือวิธีการใดๆ ก็ตามที่ “ทำได้โดยง่ายด้วยปลายนิ้ว” ในโลกอินเทอร์เน็ตเพื่อสนับสนุนการรณรงค์เคลื่อนไหว การเรียกร้อง การประท้วง ทั้งหลายทั้งปวงที่นำเสนอผ่านโลกออนไลน์ และด้วยความที่ทำได้โดยง่ายด้วยปลายนิ้วดังกล่าว ทำให้ในบางสายตาแล้ว คลิกติวิสต์ก็คล้ายเป็นส่วนหนึ่งของ Slacktivist (สแล็กติวิสต์; Slactivist, Slackervist ก็ว่า) ซึ่งมาจากคำว่า “slacker (คนขี้อู้, ผู้เขียนคิดว่าแปลแบบนี้น่าจะเหมาะที่สุด)” บวกกับคำว่า “activist (นักเคลื่อนไหว)” ทำให้ความหมายที่ใกล้เคียงที่สุด ที่น่าจะใช้อธิบายคำว่าสแล็กติวิสต์ได้ก็คือ ผู้ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวโดยไม่ได้ใช้ความพยายามอันใดมากมายนัก (ลองหาความหมายเพิ่มเติมจากในกูเกิลหรือวิกิพีเดียนะครับ ขยับนิ้วกันเยอะๆ สักนิด)

กล่าวคือ ในเชิงของผู้ริเริ่มการรณรงค์แล้ว ก็ไม่ต้องออกจากบ้านไปตีฆ้องร้องป่าวเล่ากับโลกออฟไลน์ เพราะสามารถใช้โซเชียลมีเดียและเครื่องมือต่างๆ ของมันในการนำเสนอวัตถุประสงค์ของการรณรงค์ เพื่อเกณฑ์แรงสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ เข้ามา ซึ่งก็คือในฟากของผู้เข้าร่วมการรณรงค์ที่ถูกริเริ่มขึ้น ที่สามารถเข้าร่วมการรณรงค์ได้โดยไม่ต้องออกจากบ้านไปตีฆ้องร้องป่าวเล่ากับโลกออฟไลน์เช่นเดียวกัน

ในวิถีแห่งคลิกติวิสต์ การเคลื่อนไหวทางสังคมกลายเป็นเรื่องที่กระทำได้โดยง่ายและไร้พรมแดน มนุษย์ไม่ได้เคลื่อนไหวอยู่เพียงในสังคมใกล้ตัวอีกต่อไป ในขณะที่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตใดๆ ในเมืองไทย หรือที่ใดสักแห่งในโลก มนุษย์กลับสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวที่อยู่ไกลออกไปในอีกซีกโลกได้โดยไม่ต้องลุกไปไหน เช่น การต่อต้านเผด็จการอย่างปรากฏการณ์ “การลุกฮือแห่งโลกอาหรับ (Arab Spring) ”1, การต่อต้านความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกิจกรรม “ยึด (occupy)”2 สถานที่ต่างๆ ในโลกตะวันตก, การสกัดกั้นยับยั้งการใช้เด็กๆ เป็นเครื่องมือในการทำสงคราม และช่วยกันฟื้นฟูเยียวยาเด็กๆ เหล่านั้นอย่าง “โคนี 2012 (Kony 2012)3 เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้พร้อมๆ กันในหลายเหตุการณ์โดยไม่ต้องลุกไปไหนแล้ว หากกล่าวอย่างถึงที่สุด มนุษย์สามารถเข้าร่วมในการเคลื่อนไหวเหล่านั้นได้โดยไม่ต้องรับรู้เข้าใจถึงภาพรวมปัญหาเชิงโครงสร้างของแต่ละเหตุการณ์มากไปกว่า “คำสำคัญ” ที่ใช้ในการเคลื่อนไหวอย่าง “เผด็จการ”, “ความไม่เท่าเทียม” และ “สงคราม-เด็ก” เลยด้วยซ้ำ

เดินไปหยิบกล้วยมาปอกเข้าปากยังใช้เวลามากและยากกว่าเลยครับ…

ณ ทุกวันนี้ เมื่อใครต่อใคร (ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต) ก็สามารถเป็นนักเคลื่อนไหวได้โดยง่ายด้วยปลายนิ้วแล้ว จึงดูเหมือนวิถีแห่งคลิกติวิสต์จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงความหมายของนักเคลื่อนไหวแบบ “ดั้งเดิม” ที่มีภาพว่าจะต้องอาศัยการสั่งสมความเข้าใจในปัญหา การมีหัวจิตหัวใจและหัวคิดต่อปัญหาอย่างลึกซึ้ง ต้องเสียสละเวลาในชีวิตไปทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อใช้รณรงค์แก้ปัญหานั้นๆ และที่สำคัญที่สุดก็คือ การออกจากบ้านไปแสดงออกซึ่งการกระทำต่างๆ บนท้องถนน หรือพื้นที่ต่างๆ ในโลกออฟไลน์ เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในสิ่งที่ตนเห็นว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ทว่า ภาพที่ผู้คนมักมองมาที่คลิกติวิสต์ก็คือ ภาพในแบบที่ตรงกันข้ามกับนักเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิม ด้วยความที่ทำได้ง่ายและไวทั้งในแง่ของการเริ่มสร้างการรณรงค์และการเข้าร่วม คลิกติวิสต์จึงถูกตั้งกังขาว่าเคลื่อนไหวอย่างฉาบฉวย ตื้นเขิน รู้และเข้าใจปัญหาแต่เพียงผิวเผิน ไม่ต้องเสียสละเรี่ยวแรงและเวลามากมายอันใด และเหนือสิ่งอื่นใด ด้วยความเร็วในโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน ไม่ว่าจะในการเชื่อมต่อ หรือการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือการกระทำใดๆ แค่หนึ่งวินาทีผ่านไป สิ่งที่เคลื่อนไหวด้วยปลายนิ้วกันไปก็แทบจะกลายเป็นเรื่องของเมื่อวานแล้ว ทำให้ราวกับว่าไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ของคลิกติวิสต์จะจีรังในโลกแบบนั้น

เหล่านั้นล้วนทำให้คลิกติวิสต์ถูกมองในแง่ที่ว่า ที่เคลื่อนไหวไปด้วยวิธีการใดก็ตามในโลกออนไลน์ สุดท้ายแล้วก็ดูจะเป็นเรื่องของการตอบสนองความพึงพอใจส่วนตัว ทำไปเพื่อได้รู้สึกว่าตัวเองมีค่า มีความสำคัญ มีหัวจิตหัวใจ ได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำที่ยิ่งใหญ่ โดยไม่ได้ใส่อกใส่ใจในการที่จะอยากเห็นอะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างจริงจัง หรือกล่าวอย่างเลวร้ายที่สุด บางการรณรงค์อาจถูกสร้างขึ้นเพียงเพราะอารมณ์ชั่ววูบเท่านั้น

และนำมาสู่คำถามที่ว่า ในเมื่อเป็นแบบนั้น แนวทางการเคลื่อนไหวแบบคลิกติวิสต์ในโลกออนไลน์จะมาแทนการเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิมในโลกออฟไลน์หรือไม่ และถึงที่สุดแล้ว การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ ในวิถีแห่งคลิกติวิสต์ จะสามารถนำพาให้เกิดการเคลื่อนไหวต่อเนื่องในโลกออฟไลน์ หรือที่ปลายทางกว่านั้นก็คือ จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ขึ้นมาได้จริงๆ หรือ

กรณีที่ว่าการเคลื่อนไหวแบบคลิกติวิสต์จะมาแทนที่การเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิมหรือไม่ ผู้เขียนคิดว่ามีแนวโน้มสูงที่จะเป็นแบบนั้นครับ เพราะปริมาณการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเองก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ผู้คนส่วนใหญ่ในขณะนี้จะมีลักษณะอย่าง “ผู้อพยพ (immigrant)” ของโลกออนไลน์ แต่ก็อพยพกันเข้ามาตั้งแต่ยังเก้กังจนถึงขั้นตั้งถิ่นฐาน กระทั่งถึงขั้นสร้างและเรียกร้องวัฒนธรรมและกฎเกณฑ์ต่างๆ แก่โลกออนไลน์นี้แล้ว และผู้คนในรุ่นต่อๆ ไปจึงย่อมน่าจะมีลักษณะอย่าง “ชนพื้นเมือง (native)” เนื่องจากเรียกได้ว่าเกิดและเติบโตมาในแวดล้อมของยุคสมัยที่เต็มไปด้วยการใช้งานโลกออนไลน์ และเติบโตต่อยอดไปบนพื้นฐานที่ผู้อพยพอย่างเราๆ สร้างไว้ ซึ่งแน่นอนว่า ลักษณะการเคลื่อนไหวแบบคลิกติวิสต์ย่อมจะเป็นสภาพแวดล้อมที่พวกเขาเติบโตขึ้นมาโดยคุ้นชินกับมันด้วย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนคิดว่าต่อให้ทุกคนบนโลกสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต การเคลื่อนไหวออนไลน์ก็อาจไม่ได้สามารถแทนที่การเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิมในทุกกรณีไป แน่นอนว่าอาจแทนที่ได้สนิทในแง่ของการเคลื่อนไหวที่เป็นการ “ล่ารายชื่อ” เพื่อเป็นฐานในการเสนอความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แต่ในการเปลี่ยนแปลงบางแบบ ที่จำเป็นต้องเรียกร้อง “ความตระหนักรู้” ของสังคมในวงกว้าง การออกไปแสดงพลังรูปแบบต่างๆ ในโลกออฟไลน์ ก็อาจยังเป็น “ยุทธวิธี” ที่จำเป็นจะต้องกระทำควบคู่กันไปด้วย

Occupy Wall Street ที่มาภาพ : http://insidespelman.com
Occupy Wall Street ที่มาภาพ : http://insidespelman.com

ซึ่งจะนำมาถึงกรณีคำถามที่ว่า การเคลื่อนไหวที่ดำเนินไปในโลกออนไลน์ จะสามารถนำมาสู่การเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์ได้หรือไม่ และจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆ ให้เกิดขึ้นจริงหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ ผู้เขียนคิดว่าเราไม่สามารถตอบโดยมองในภาพรวมได้ครับ แต่คงต้องมองในรายละเอียดของแต่ละการเคลื่อนไหวเป็นกรณีๆ ไปมากกว่า มองกันที่ความต่อเนื่องของการรณรงค์ เทคนิคที่ใช้จูงใจ การให้ข้อมูลความรู้ กระทั่งทิศทางลมในสังคมต่อกระแสดังกล่าว หรือก็คือต้องพิจารณารูปการจิตสำนึกในสังคมด้วยนั่นเอง

เช่น ถ้าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องกระทำผ่านการใช้อำนาจของรัฐ (อาทิ การแก้ไขกฎหมายต่างๆ) รัฐจะยึดสิ่งใดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณาการตอบสนอง กฎหมาย บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หรือกระแสสังคม รัฐจะให้ความสำคัญต่อความต้องการเปลี่ยนแปลงนั้นแค่ไหน ยอมรับและเปลี่ยนแปลงแต่โดยดี รับไว้พิจารณา หรือมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ห้ามกระทำ กระทำมิได้ เอาง่ายๆ ถ้ามีความต้องการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไปเป็นแบบอื่นขึ้นมา อย่าว่าแต่จะรับพิจารณา เลวร้ายที่สุด อาจได้หัวกุดกันทั้งขบวน

ในไทยเองก็พอจะมีตัวอย่างของการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ที่นำไปสู่การเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์อยู่บ้างนะครับ โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างสัก 3 กรณี คือ 1.กลุ่มพลเมืองอาสาปกป้องแผ่นดิน (เสื้อหลากสี) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในปี พ.ศ. 2553 ก็เป็นกลุ่มที่ถือกำเนิดขึ้นจากในเฟซบุ๊ก ซึ่งต่อมาก็มีการใช้พื้นที่ออนไลน์เป็นฐานในการระดมคนออกไปชุมนุมแสดงพลังตามเจตจำนงในโลกออฟไลน์อยู่หลายครั้ง

2.กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ที่ก่อตั้งขึ้นภายหลังจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ก็ถือกำเนิดขึ้นจากในโลกออนไลน์ และนำไปสู่การทำกิจกรรมหลากหลายเวลาและพื้นที่ในโลกออฟไลน์ภายใต้ชื่อแคมเปญ “วันอาทิตย์สีแดง” ที่เป็นไปเพื่อกระตุ้นสังคมให้ระลึกรู้ ไม่ลืมเลือน และตระหนักว่าจำเป็นต้องมีการเรียกร้องความยุติธรรมต่อเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่ผ่านมา

และ 3. แคมเปญรณรงค์ร้องเรียนบริษัทขนส่ง 999 ให้ยุติการฉายหนังรุนแรงบนรถโดยสาร และมีนโยบายหนังที่เหมาะกับผู้โดยสารเด็ก ที่สร้างขึ้นผ่าน www.change.org/th ก็มีการรายงานถึงผลสำเร็จของการรณรงค์ ที่ทำให้ทางบริษัทขนส่งรับปากจะดำเนินการปรับปรุงแก้ไข (ดูได้ที่นี่) ที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนั้นก็เพื่อจะให้เห็นว่า การจะขยับขยายการเคลื่อนไหวจากในพื้นที่ออนไลน์ ไปสู่พื้นที่ออฟไลน์ได้ จะเห็นว่ากระแสสังคมที่ภายนอกก็มีส่วนครับ อย่างกรณีของเสื้อหลากสี และวันอาทิตย์สีแดง เป็นต้น ที่สถานการณ์ทางการเมืองข้างนอกนั้นร้อนระอุอยู่แล้ว มีผู้คนมากมายในสังคมที่ไม่รู้จักหน้าค่าตากันมาก่อนแต่มีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์อยู่แล้ว เมื่อมีการทำการเคลื่อนไหวขึ้นมา จึงมีผู้ที่พร้อมจะเข้าร่วมจนถึงระดับออกไปรวมตัวกันเคลื่อนไหวในโลกออฟไลน์ ส่วนในกรณีของการร้องเรียนต่อบริษัทขนส่ง จะเห็นว่าเพราะมีผู้ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง เชื่อมประสานข้อเรียกร้องเข้ากับผู้เป็นเป้าหมายของการเรียกร้อง และผู้ที่เป็นเป้าหมายนั้นให้ความใส่ใจและมองเห็นว่าสิ่งที่ได้รับการเรียกร้องมานั้นต้องถูกแก้ไข จึงทำให้เกิดการแก้ไขขึ้นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์จะขยับขยายไปสู่พื้นที่ออฟไลน์ หรือนำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้นั้น สิ่งที่จำเป็นจะต้องมีก็คือ “รหัสทางวัฒนธรรมที่ตรงกัน” กล่าวคือ มีความคิดเชื่อ อุดมการณ์ ที่ตรงกัน ระหว่างผู้ริเริ่มการเคลื่อนไหว และผู้เข้าร่วมการเคลื่อนไหว ในเรื่องที่ทำการเคลื่อนไหว
เพราะฉะนั้น โจทย์สำคัญที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้คงไม่ใช่ช่องทางในการเคลื่อนไหว ว่าจะเป็นออนไลน์หรืออฟไลน์ หากแต่คือจะทำอย่างไร ให้สามารถสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดแก่สังคมในวงกว้าง ว่าสิ่งที่ทำการเคลื่อนไหวอยู่นั้นเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข และกระทำไปโดยใช้ทั้งวิถีทางการเคลื่อนไหวแบบดั้งเดิมควบคู่ไปกับวิถีแห่งคลิกติวิสต์

เพราะโลกเราไม่ได้มีอะไรแยกขาดจากกันโดยเด็ดขาดครับ…

หมายเหตุ

1. การประท้วงของพลเมืองในหลายประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2553

2. การเคลื่อนไหวด้วยวิถีทางประชาธิปไตย เพื่อต่อต้านธนาคารขนาดใหญ่และบรรษัทข้ามชาติ ด้วยเชื่อว่าเป็นตัวการทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวเริ่มขึ้นที่หน้าอาคารที่ทำการตลาดหุ้นในนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554 เป็นที่รู้จักกันในชื่อ “ยึดครองวอลล์สตรีท (Occupy Wall Street)” จนกลายเป็นกระแสให้เกิดการ “ยึด” ในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในที่ต่างๆ ทั่วโลก

3. คลิปวิดีโอที่ทำขึ้นโดยกลุ่มนักเคลื่อนไหว “Invisible children” บอกเล่าเรื่องราวความโหดร้ายต่อเด็กที่กระทำโดย “โจเซฟ โคนี (Joseph Kony)” ผู้นำ “กองกำลังต่อต้านของพระผู้เป็นเจ้า (Lord’s Resistance Army) เผยแพร่บนยูทูบเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2555