ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > คดีคัดลอกข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ “ศุภชัย หล่อโลหการ” ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องคดีหมื่นประมาท ระบุ”วิลเลี่ยม แอลลิส”คือผู้เขียน

คดีคัดลอกข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ “ศุภชัย หล่อโลหการ” ศาลอุทธรณ์ยืนยกฟ้องคดีหมื่นประมาท ระบุ”วิลเลี่ยม แอลลิส”คือผู้เขียน

2 กันยายน 2012


นายศุภชัย หล่อโลหการ
นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวตกรรมแห่งชาติ

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2555 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้พิพากษาคดีที่พนักงานอัยการจังหวัดนครปฐม โจทก์ และนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) โจทก์ร่วม ได้อุทธรณ์คดีฟ้องนายวิลเลียม วิน แอลลิส จำเลยที่ 1 นางสาวเอริกา ฟราย จำเลยที่ 2 นายพัฒนะพงศ์ จันทรานนทวงศ์ จำเลยที่3 โดยศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นที่พิพากษายกฟ้องว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และจำเลยไม่ผิดตามที่ฟ้อง การอุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น

นี่เป็นอีกคดีระหว่างนายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการ สนช .กับ นายวิลเลียม วิน แอลลิส คู่กรณี ที่มีการฟ้องร้องกันถึง 9 คดี จากกรณีที่นายวิลเลียมร้องเรียนต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่านายศุภชัยคัดลอกงานวิจัยส่วนใหญ่ของตนทำวิทยานิพนธ์ และล่าสุดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เพิกถอนปริญญาเอกนายศุภชัยเมื่อเดือนมิถุนายน 2555

สำหรับคดีนี้ นายศุภชัยฟ้องเมื่อเดือนมิถุนายน 2552 ว่านายวิลเลียมให้สัมภาษณ์แก่นางสาวเอริกา ฟราย (ผู้สื่อข่าว น.ส.พ. บางกอกโพสต์) จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นบรรณาธิการ แล้วร่วมกันพิมพ์โฆษณาใส่ความนายศุภชัย ผู้เสียหายลงใน น.ส.พ.บางกอกโพสต์ หัวข้อบททดสอบทางจรรยาบรรณด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยมีข้อความเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “นายวิลเลียม แอลลิส เป็นผู้เขียนหลักในงานพิมพ์ที่เขาอ้างว่านายศุภชัยใช้เป็นแหล่งข้อมูลคัดลอกไปใช้ในงานดุษฎีนิพนธ์…เนื้อหาส่วนใหญ่ของดุษฎีนิพนธ์เห็นได้ชัดว่ามาจากเอกสาร 4 ฉบับ ที่นายวิลเลียม แอลลิส กล่าวหาว่ามาจากงานของคนอื่น โดยที่นายวิลเลียม แอลลิส เรียกกรณีนี้ว่าเป็นการขโมยคัดลอกทรัพย์สินทางปัญญา บทความดังกล่าวของนายวิลเลียมนั้น เป็นการกล่าวหานายศุภชัยว่าเป็นผู้ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น เป็นการใส่ความ ที่จะทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง”

ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 3 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วยกฟ้องทางโจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตรวจสำนวนแล้วเห็นว่า นายวิลเลียม (จำเลย) เป็นผู้เรียบเรียงบทความทางวิชาการเรื่อง “การสร้างความเข้มแข็งให้กับการส่งออกผลิตผลเกษตรอินทรีย์ของไทย” ตามสัญญาการว่าจ้าง แม้ว่าสิทธิดังกล่าวจะตกอยู่ที่ ITC ตามสัญญาว่าจ้าง แต่ในด้านผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับบทความดังกล่าว ย่อมตกอยู่แก่จำเลย (นายวิลเลียม) จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ในการที่นายศุภชัย (โจทก์ร่วม) ร่วมนำบทความดังกล่าวมาลงตีพิมพ์ในวิทยานิพนธ์ของนายศุภชัย จำเลย (นายวิลเลียม) มีสิทธิแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต เพื่อความชอบธรรมหรือป้องกันตน หรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามครรลองได้ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา329(1)

จำเลยที่1 (นายวิลเลียม) มีสิทธิให้สัมภาษณ์แก่นางสาวเอริกา ฟราย (จำเลยที่2) ที่ร่วมนำบทความทางวิชาการของตนไปใช้ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในลักษณะที่ไม่ชอบทางวิชาการ รวมทั้งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ และไม่ปรากฏว่านายวิลเลียม เคยกล่าวหาร้องเรียนนายศุภชัยว่าการกระทำของนายศุภชัยเป็นการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา แต่ใช้ถ้อยคำว่า พลาเจียริซึ่ม ซึ่งหมายถึงการคัดลอก จึงน่าเชื่อว่านายวิลเลียมไม่ได้เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ว่านายศุภชัยขโมยทรัพย์สินทางปัญญา จำเลย (นายศุภชัย) จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น