ThaiPublica > คนในข่าว > มองการเมืองให้เห็น “คน” จากจุดนอนของ “โตมร ศุขปรีชา”

มองการเมืองให้เห็น “คน” จากจุดนอนของ “โตมร ศุขปรีชา”

26 สิงหาคม 2012


โตมร ศุขปรีชา ที่มาภาพ : www.v-reform.org
โตมร ศุขปรีชา ที่มาภาพ : www.v-reform.org

หกปีที่ผ่านมาสังคมไทยตกอยู่ในภาวะแตกร้าว

ท่ามกลางปัญหาที่ดูหนักหน่วงขึ้นเรื่อยๆ ผู้คนจำนวนไม่น้อยพยายามตั้งคำถามหาคำตอบกันอย่างซับซ้อน แต่โตมร ศุขปรีชา กลับเป็นคนหนึ่งที่ใช้ปากกาของเขาชี้ชวนให้ผู้คนหันมามองและทำอะไรง่ายๆ เช่นเรียกร้องให้ผู้คนก้าวข้ามความกลัวในฝ่ายตรงข้ามด้วยการ ‘มาไล่ผีกันเถอะ’ หรือการที่เขาเคยเรียกร้องให้ผู้คนเปิดพื้นที่ทางใจให้แก่ทางเลือกอื่นๆ เช่นทางเลือกของฝ่าย ‘เหลืองที่ไม่เอาอำมาตย์ และแดงที่ไม่เอาทักษิณ’ นอกจากนี้ยังเคยพิสูจน์ให้เราเห็นหลายครั้งว่าการขี่จักรยาน กินผัดกระเพราะใส่แครอท ก็อาจนำไปสู่การเข้าใจปัญหาหลายๆ อย่างได้

ตัวอย่างของการตอบคำถามยากๆ ด้วยมุมมองง่ายๆ แต่ลึกซึ่ง เช่นเมื่อสองปีก่อนเคยมีคนถามโตมรว่า “คุณเลือกฝ่ายไหน” โตมรตอบไปว่า “เลือกฝ่ายที่ยอมให้มีอีกฝ่ายอยู่ด้วย” อีกฝ่ายถามต่อว่า “ฉันหมายถึงเหลืองกับแดง” โตมรตอบว่า “ผมก็หมายถึงอย่างนั้น…จะว่าโง่ก็ไม่ว่ากัน แต่ต้องเป็นเหลืองที่ยอมให้โลกนี้มีแดง และต้องเป็นแดงที่ยอมให้โลกนี้มีเหลือง วิธีคิดของเราจะเป็นอย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับว่า คำสวยๆอย่าง ‘อุดมการณ์’ หรือ ‘จุดยืน’ นั้น มันคืออุดมการณ์หรือจุดยืนอะไร ของใคร ใครกำหนด และใครที่ว่า, มองโลกด้วยกรอบแบบไหน ทำไมเราต้องพยายาม ‘ยัด’ คนอื่นลงไปในกรอบของตัวเองด้วยเล่า… โลกมีอยู่แค่สองกรอบเท่านั้นหรือ?” (จากบทความ ‘เหลืองที่ไม่เอาอำมาตย์ และแดงที่ไม่เอาทักษิณ‘)

อาจเพราะคิดเช่นนี้ โตมรจึงบอกกับเราว่าเขาไม่มี ‘จุดยืน’ มีแต่ ‘จุดนอน’

คงจะเป็นเรื่องที่น่า ‘น้อยเนื้อต่ำใจ’ และมักง่ายเกินไปหากเราจะกล่าวหาว่าโตมรคือ ‘ปัจเจกนิยมเอาตัวรอด’ เพราะไม่แน่ว่ามุมมองของคนเดินดิน ที่มองจากข้างล่างขึ้นข้างบน โดยไม่ลดทอนความซับซ้อนของความหลากหลายทั้งในโลกและในตัวมนุษย์ อาจจะเป็นสิ่งที่สังคมเราควรโหยหาเสียด้วยซ้ำ

วันนี้เป็นอีกครั้งที่มีคนถาม และโตมรจะตอบ…

คุณโตมรมองและเห็นอะไรในช่วงวิกฤติการเมืองที่ผ่านมา?

อยากจะเริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องให้ฟัง ในช่วงที่เกิดการนองเลือด ผมเดินไปซื้อของที่ตลาดแอบได้ยินแม่ค้าเสื้อแดงนั่งคุยกัน เขาถามกันว่า “ตกลงวันนี้โลกมันจะแตกใช่มั้ย” เราเห็นเขานั่งหดหู่ขายของไม่ได้ก็คิด คิดได้ว่าปกติเรามองเรื่องการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องสมุหภาพ เราจึงมักลืมคิดถึงคนที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เช่นลืมว่าคนแต่ละคนต้องรับผิดชอบทำงานหาเลี้ยงตัวเอง หาเลี้ยงครอบครัว บางทีเรื่องใหญ่ๆ อย่างการเมืองนี่สำหรับบางคนเขาไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่ามันเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เขาไม่เข้าใจก็มาส่งผลกระทบถึงตัวเขา บังเอิญบ้านผมอยู่ในจุดที่มีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อย เช่น การปิดสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 มีวิทยุชุมชน มีการเคลื่อนขบวนของผู้ชุมนุม ก็จะได้มอง ได้เห็น ได้คิดอะไรทำนองนี้ค่อนข้างมาก ผมสนใจและรู้สึกกับเรื่องของคนแบบนี้ ไม่ค่อยสนใจการเมืองที่เป็นทางการเท่าไหร่ จะสนใจอยู่บ้างก็คือสงสัยว่าทำไมคนที่สู้กันอยู่จำนวนมากถึงไม่ค่อยเห็นคนพวกนี้ แต่ละฝ่ายเอาแต่พูดถึงอะไรบางอย่างราวกับเป็นนิพพานของฝ่ายตน

แล้วส่วนตัวคุณโตมรเอง ได้เข้าไปข้องเกี่ยวหรือมีความรู้สึกอย่างไรกับสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ้าง?

เวลามีการชุมนุมก็ตามไปดู อย่างวันแรกที่เสื้อแดงมาชุมนุมกัน มีการแห่กันรอบเมือง ผมขี่จักยานออกจากบ้านไปท้ายซอย ครั้งแรกที่เห็นเรารู้สึกว่ามันเป็นความสำเร็จและชัยชนะของประชาชนเลยนะครับ เพราะอย่างน้อยมันทำให้เห็นว่าประชาชนทั่วไปสามารถรวมตัวกันประกาศความเชื่อของตนได้ ถึงแม้เสื้อแดงจะไม่ใช่ประชาชนทั้งหมดก็ตาม แต่ที่สำคัญคือมวลชนกลุ่มนี้มันไม่ใช่กลุ่มทางชนชั้นหรือกลุ่มคนในวัยเดียวกัน เหมือนสมัยเหตุการณ์เดือนตุลาฯ ที่เรายังเกิดไม่ทัน หรือช่วงพฤษภาทมิฬที่เป็นเรื่องของคนรุ่นวัยและชนชั้นหนึ่ง แต่ที่เราเห็นคือมันมีความหลากหลายทั้งในแง่ชนชั้นและช่วงวัย ภาพนี้มันสร้างความฮึกเหิมขึ้นในหมู่คน ส่วนตัวตอนนั้นก็เกิดความฮึกเหิม แต่เลือกที่จะขี่จักยานกลับบ้านไปทบทวนตัวเอง

ตอนนั้นเพื่อนหลายคนที่เป็นนักคิด นักเขียน นักวิชาการก็ได้เห็นภาพเดียวกันนี้ หลายคนเปลี่ยนเป็นเสื้อแดงทันที บางคนก่อนหน้านั้นไม่เคยพูดหรือสนใจเรื่องการเมืองเลย แต่ความรู้สึกฮึกเหิมมันทำให้คนต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในขบวนการ แล้วความรู้สึกนี้มันไม่ได้เข้าถึงแค่ชาวบ้าน แต่เข้าถึงพวกนักคิดนักเขียน นักวิชาการด้วย ณ ตอนนั้นส่วนตัวรู้สึกว่ามันประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจแล้ว โดยเฉพาะในแง่การแสดงพลังและการสร้างความรู้สึกร่วม จริงๆ น่าจะกลับออกไปเหมือนที่ อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เคยแนะนำ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น แล้วไปสู่จุดจบที่เรารู้ๆ กัน

ในเมื่อมนุษย์ทุกคนมีความรู้สึก มีความรับผิดชอบของตัวเอง อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนเหล่านี้มารวมตัวเป็นกลุ่มก้อนแบบที่คุณโตมรเห็น?

เท่าที่เห็นกรอบทางชนชั้น หรืออุดมการณ์ซ้ายขวามันอธิบายไม่ได้ ผมเลยอธิบายด้วยความไม่รู้ว่ามันเกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจทางการเมือง ซึ่งความน้อยเนื้อต่ำใจนี้แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือคนที่เขาถูกกระทำจริงๆ มาตั้งแต่เกิดจากนโยบายของรัฐ ปกติเราเรียกคนเหล่านี้ว่าเป็นคนชั้นล่างรากหญ้า อีกกลุ่มก็คือคนที่ไม่ถูกกระทำ แต่เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจร่วมขึ้นมา คือตอนแรกมันมีคนที่ถูกกระทำอย่างเป็นกระบวนการอยู่จริงๆ แล้วต่อมามันก็มีบางคนที่อาจจะเป็นชนชั้นสูงด้วยซ้ำเกิดสัมผัสได้ถึงความรู้สึกถูกกระทำ เพราะเขาอาจจะเคยถูกคนที่สูงกว่ากระทำมาก่อน คนพวกนี้ก็เลยสร้างและเกิดความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจไปด้วย คือพูดให้ถึงที่สุดบ้านเรามันเต็มไปด้วยสายของการกดขี่ สุดท้ายมันก็เลยเกิดการรวมตัวทางความรู้สึกแล้วเป็นหนึ่งเดียวกันผ่านจุดร่วมตรงนี้ ต่อมาความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจมันก็ถูกกระทำซ้ำเติมขึ้นเรื่อยๆ เช่นจากตุลาการภิวัตน์ ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นเวลาผมคุยกับคนที่มีความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจแบบนี้จะค่อนข้างต้องระวังต่อความรู้สึกของเขา จะตรงข้ามกับเวลาคุยกับคนอีกขั้วหนึ่ง พวกนี้จะรู้สึกว่าตัวเองสูงส่งกว่าคนอื่น

ที่มีคนอีกกลุ่มหนึ่งนี้ก็เพราะความน้อยเนื้อต่ำใจที่พูดไปมันเกิดขึ้นกับแต่ละคนไม่เท่ากัน เพราะแต่ละคนถูกกระทำไม่เท่ากันตั้งแต่เกิดแล้ว ผลกระทบ ความรู้สึกที่ได้รับจากเรื่องต่างๆ ก็เลยไม่เท่ากัน บางเรื่องอาจทำให้คนคนหนึ่งน้อยใจ ในขณะที่บางคนไม่รู้สึก มันก็เลยแบ่งเป็นกลุ่มคนที่น้อยเนื้อต่ำใจ กับไม่ได้รู้สึกอะไร ถ้าให้มองผมก็เห็นว่าทั้งสองฝ่ายยังมีปัญหาอยู่

อะไรคือปัญหาของกลุ่มการเมืองแต่ละฝ่าย?

ปัญหาร่วมกันคือแต่ละฝ่ายมีวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ ซึ่งหมายถึงวิธีคิดที่แบ่งเรื่องราวออกเป็นสองด้าน ด้านที่ถูก กับด้านที่ผิด พอคิดแบบนี้มันก็จะเกิดการผูกขาดความถูกต้องไว้เฉพาะกับตัวเอง ยิ่งมีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนก็จะยิ่งแย่ เพราะมันจะมีการกำหนดว่าต้องคิดแบบนี้เท่านั้นถึงจะอยู่ในกลุ่มก้อนนี้ได้ ไม่งั้นไม่ให้เข้ามา แล้วที่สำคัญคือบางทีไปอ้างว่าตนเองเป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตย อันนี้ก็จะทำให้นิยามของประชาธิปไตยสับสน เพราะแท้จริงระบอบนี้มันต่างจากคณาธิปไตยหรือเผด็จการตรงที่มันเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายอย่างทั่วถึง ถึงที่สุดคุณจะเป็นอำมาตย์ จะเป็นคอมมิวนิสต์ก็เป็นไป ถึงพวกนี้มันมุ่งจะล้มระบอบ เราก็อยู่ร่วมกันได้ คือประชาธิปไตยมันต้องมีลักษณะทั่วถึง (Inclusive) ไม่ใช่ปิดกั้นคนอื่นออกไป (Exclusive) ทุกวันนี้มันเป็นแบบหลัง ทำให้ผมอยากตั้งคำถามกับนิยามประชาธิปไตยของแต่ละกลุ่มมาก

ถ้าจะมีท่าทีเรียกร้องประชาธิปไตยก็ควรจะยึดเรื่องการเปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย ถ้าระบอบมันเปิดกว้างจริง ถึงจะมีคนออกมาเรียกร้องให้ฆ่ากัน มันก็จะมีคนออกมาคัดค้าน ตรวจสอบ ถ่วงดุลเอง โจทย์ของประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องว่าใครถูก ใครผิด แต่มันอยู่ที่จะบริหารจัดการความหลากหลายอย่างไร ในเบื้องต้นก็คือการที่สังคมเดินไปด้วยเสียงข้างมาก แล้วพร้อมกันนั้นก็มีการดูแลรักษาสิทธิ์ของเสียงข้างน้อย แต่ถ้าตอนนี้เรายังไปถึงขั้นอุดมคติปรัชญาไม่ได้ อย่างน้อยก็ต้องไม่เป็นผู้ผูกขาดความถูกต้อง ควรมีการตรวจสอบตัวเอง ซึ่งก็เห็นมีการทำกันบ้าง แต่โดยรวมยังไม่ค่อยเห็น อันนี้เป็นปัญหาของกลุ่มด้วยซ้ำ แต่อย่างกลุ่มเสื้อแดงที่ไม่ทำนี่ก็คงเพราะการรวมกลุ่มมันเกิดจากความน้อยเนื้อต่ำใจร่วม พอเป็นอย่างนี้มันก็ไม่อยากตรวจสอบตัวเองเพราะเห็นใจกัน

อีกเรื่องหนึ่งที่ผมไม่ชอบคือการเอาวาทกรรม ‘คนดี’ มาด่า ตอนแรกก็ด่ามีเหตุผลอยู่ ทำให้เราเห็นว่าคนดีที่มันไม่ดีจริงมันเป็นยังไง หลังๆ เหมารวมเลย ใครมีท่าทีเป็นคนดีถือว่าเลวหมด ทำนองเดียวกัน ตอนแรกบอกพูดอังกฤษสำเนียงไม่ดีเป็นเรื่องปกติ ไปๆ มาๆ ใครพูดดีถือว่าดัดจริต นี่ก็แย่เลย

ก่อนหน้านี้คุณโตมรบอกว่าทั้งสองฝ่ายล้วนมีปัญหา พูดถึงปัญหาฝ่ายหนึ่งไปแล้ว แล้วอีกฝ่ายหนึ่งมีปัญหาอะไร?

เขาก็มองว่าเลือกตั้งโดยเสรีในสภาพที่คนยังมีความไม่รู้อยู่สูงก็จะได้แต่คนรวยคนดัง สุดท้ายก็จะกลายเป็นคณาธิปไตย คล้ายตลาดเสรีที่ในที่สุดก็จะก่อให้เกิดความไม่เสรีขึ้นมา เพราะคนที่เก่งกว่า มีทุนมากกว่าก็จะได้เปรียบ กลายเป็นเรื่องของคนมีคนโอกาสกับไม่มีโอกาส คือในระดับหนึ่งผมก็เห็นด้วยว่าควรมีการถ่วงดุล แต่ที่ชอบพูดกันเรื่องการศึกษา ผมคิดว่าต้องนิยามอย่างกว้าง ไม่ใช่เข้าใจการศึกษาคับแคบแบบที่ผ่านมา การมีการศึกษาไม่ได้แปลว่าต้องเข้าเรียน จบปริญญาตรี คือทุกคนมันมีความรู้ในแบบของตัวเองอยู่แล้ว แต่เราก็ชอบไปพูดแบบอริสโตเติลว่าคนต้องมีการศึกษาก่อนถึงจะเป็นพลเมืองที่ดี มีวิจารณญาณในการเลือก เรื่องนี้พูดและเข้าใจง่ายๆ ไม่ได้ สำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องของการศึกษาในระบบ แต่ถ้าเราถือว่าทุกคนมีการศึกษาในแบบของตัวเอง โจทย์ก็จะเป็นว่าทำยังไงให้การมีการศึกษาในแบบของแต่ละคนได้รับสิทธิ์เสียง ได้เข้ามามีบทบาทในพื้นที่ของตัวเอง ทุกคนมีความรู้ มีภูมิปัญญาของตัวเอง ทุกคนน่าจะมีสิทธิเสนอนโยบายในเรื่องที่ตนรู้ตั้งแต่ต้น

จากที่คุยมาเห็นได้ชัดว่าคุณโตมรติดตามเรื่องบ้านเมืองมาโดยตลอด แต่ทำไมเราไม่เห็นคุณโตมรแสดงบทบาททางการเมืองเหมือนเพื่อนร่วมรุ่นคนอื่นๆ?

อะไรคือการแสดงบทบาททางการเมือง? ผมว่าเราไม่ควรนิยามมันอย่างแคบๆ การแสดงบทบาททางการเมืองไม่ได้หมายถึงแค่การรวมกลุ่มเคลื่อนไหวอย่างเป็นทางการแต่เพียงอย่างเดียว คือต้องขอบอกไว้ก่อนว่าผมก็ชื่นชมคนที่ทำอะไรพวกนี้นะ เช่นกลุ่มแสงสำนึก กลุ่มปฏิญญาหน้าศาล แต่สำหรับผมการต่อสู้มันไม่ได้มีวิธีเดียว เพราะบทบาททางการเมืองมันกว้างกว่านั้น สำหรับผมการขี่จักยาน อาหารเช้าที่เรากิน ก็ล้วนแต่มีบทบาททางการเมืองแฝงอยู่ทั้งนั้น บางคนบอกว่าเราไม่สนใจสังคม ไม่ออกไปร่วมกับขบวนการ เป็นพวกปักเจกชนนิยมเอาตัวรอด คือพูดแบบนี้มันก็จะกลับไปที่เรื่องวิธีคิดแบบทวิลักษณ์ คือมีการมองแยกขาดระหว่างความเป็นปัจเจกภาพกับสมุหภาพ ทั้งที่ในชีวิตประจำวัน เรื่องราวต่างๆ มีความเป็นการเมืองแทรกอยู่ อย่างเราไปกินอาหารที่โอเรียลเต็ล มันไม่ใช่แค่เรื่องรสชาติหรือไลฟ์สไตล์ คนบางคนต้องกินปาท่องโก๋เป็นอาหารเช้าทั้งที่ไม่อยากกินแต่ไม่มีเงินซื้ออย่างอื่น เรื่องพวกนี้มันบอกนัยยะอะไรบางอย่างกับเราเสมอ อย่างที่ประเทศอังกฤษเวลารินชา จะใส่นมหรือชาก่อนนี่ก็เป็นเรื่องอำนาจล้วนๆ เพราะแก้วของชนชั้นสูงนำเข้าจากจีน แก้วมันบาง ถ้ารินผิดลำดับแก้วก็จะแตก แค่นี้เราก็เห็นถึงประเด็นเรื่องความเป็นไพร่ ความเป็นผู้ดี หรือตัวอย่างใกล้ตัวอย่างงานรำลึกสิบสี่ตุลา ทำไมถึงต้องจัดให้มีเก้าอี้นวมสำหรับบางคนนั่ง ส่วนคนที่เหลือต้องนั่งเก้าอี้พับ บางคนต้องนั่งพื้น ทั้งที่อะไรพวกนี้มันขัดกับประเด็นของงาน

ส่วนตัวก็ชอบขี่จักยาน แล้วไม่ได้ขี่เพราะเก๋ แต่ขี่ตลอดในชีวิต มันทำให้เราเห็นเรื่องปัจเจกภาพกับสมุหภาพชัดเจน คือจักยานมันเป็นปัจเจกภาพ ทำนองเดียวกับแม่ค้า รถเข็น ซึ่งอยู่ในโครงสร้างสมุหภาพก็คือถนน ผมพบว่าโครงสร้างไม่เคยเห็นปัจเจกเหล่านี้อยู่ในสายตา เห็นแต่รถยนต์อย่างเดียว ถ้าเป็นเมืองเล็กๆ ในยุโรป ก็จะมีการแบ่งพื้นที่ เช่นเปิดให้คนแก่เดินบนถนนได้ ซึ่งนี่มันก็เป็นเรื่องของการบริหารจัดการพื้นที่ให้กับความแตกต่าง เกี่ยวข้องกับเรื่องประชาธิปไตยชัดๆ ของประเทศไทยนี่แค่เริ่มแบ่งพื้นที่ให้จักยานก็เริ่มมีเสียงไม่พอใจมาแล้ว (หัวเราะ)

หลายคนกล่าวหาว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีคิดของพวกไม่มีจุดยืน?

ผมไม่มีจุดยืน มีแต่จุดนอน (หัวเราะ) ถ้าให้พูดจริงๆ ผมก็มีอุดมคติบางอย่างอยู่ คือผมรู้สึกว่าการปกครองมันเป็นเรื่องไม่จำเป็น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีใต้หล้ารวบรวมฟ้าดิน จะเรียกว่าเป็นพวกอนาธิปไตยก็ได้ อย่างสามก๊กนี่รบกันแทบตาย เราก็มองข้ามคนทั่วไปที่ทำไร่ทำนาที่อยู่ๆ ก็ต้องถูกเรียกไปรบให้ใครก็ไม่รู้ที่ไม่รู้จัก แล้วใครคนนั้นก็มีคำสัญญาให้ว่าถ้าได้อำนาจแล้วพวกเอ็งจะสบายขึ้น จริงรึเปล่าก็ไม่รู้ คือถ้าเป็นความเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างที่ทำให้คนทั้งหมดขึ้นมาพร้อมกันมันก็คงจะเป็นเรื่องดี อย่างเสื้อแดงก็บอกว่าให้ไปล้มโครงสร้างเดิมแล้วสร้างโครงสร้างใหม่ขึ้นมา แต่ผมรู้สึกว่าล้มไปเลยก็ได้ไม่ต้องมีโครงสร้างใหม่อะไรหรอก คือผมไม่เข้าใจว่าทำไมผมจะต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ตอนอายุยี่สิบเอ็ด ขี้เกียจไปเลือกตั้ง บางทีรู้สึกว่าเรื่องพวกนี้มันไม่ได้เกี่ยวกับเราเลย เพราะฉะนั้นดีที่สุดก็ไม่ต้องปกครองกัน อาจจะมีเรื่องของการบริหารจัดการ การแบ่งงานกันทำก็ว่ากันไป แต่ลักษณะการปกครองอย่างเป็นลำดับชั้น มอบอำนาจให้ใครบางคนอยู่เหนือเรา ผมว่ามันไม่จำเป็น เพราะมันก็จะเกิดความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ถ้าเป็นแต่ก่อนผมก็จะอ้างถึงธรรมิกอนาธิปไตย ที่เรียกร้องให้เป็นคนดีพอสมควร แต่เดี๋ยวพอพูดคำว่าคนดีมันก็จะมีความหมายอีกแบบหนึ่ง ตอนนี้ยังนึกคำอื่นไม่ออก แต่แนวคิดก็คือคนมันไม่ต้องมีอะไรมากำกับจากข้างนอก แต่ให้มาจากข้างใน ที่พูดไปไม่ได้คาดหวังอะไร เป็นแค่อุดมคติ ความฝันส่วนตัว ซึ่งก็ไม่อยากให้ใครมายึดตาม เพราะไม่อยากให้ใครตามใคร

ถ้าถอยมาในความเป็นจริงก็ต้องยอมรับว่าถ้าไม่มีการปกครองคนอาจจะลุกขึ้นมาฆ่ากัน ดังนั้นการปกครองมันยังจำเป็นเหมือนการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ช่วยเราไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ แต่ส่วนตัวจริงๆ ถ้ามนุษย์จะเลือกหนทางที่จะไปสู่ความสูญพันธ์ ผมก็ไม่คิดมากอะไรนะ สรุปก็คือไม่อยากถูกปกครอง แต่ก็ไม่ดิ้นรนที่จะต้องไม่ถูกปกครอง ถ้าใครจะมาปกครองเราก็คงจะนั่งดู นั่งคิดว่าทำไมมันถึงเป็นอย่างนั้น แล้วก็หาวิธีที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ ถ้าใครจะมาฆ่าผม ผมก็สู้ แต่สุดท้ายถ้าต้องตายก็คงจะต้องพยายามหาทางตายอย่างสงบ แล้วก็เหมือนกันถ้าเราเห็นใครตายอย่างไม่เป็นธรรม เช่นเรื่องอากง คนที่ยังอยู่ก็ต้องสู้กันต่อไป แต่ในอีกมุมหนึ่งการฝึกหัวใจตัวเองให้ปลอดจากความโกรธแค้นก็จะทำให้เราสงบนิ่งขึ้น

ขยายความคำว่า ‘จุดนอน’ ได้มั้ย?

อันนี้ไม่ได้พูดเล่นๆ คือผมไม่แน่ใจว่าจริงๆ ว่าเราต้องมีจุดยืนทางการเมืองรึเปล่า คือการที่ไม่มีโครงสร้างการปกครองในหัว ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอะไรเลย เพียงแต่เราไม่ต้องยึดมั่นอะไรตายตัวเอาไว้ เราอาจจะเห็นด้วยกับกลุ่มหนึ่งในเรื่องนี้ ไม่เห็นด้วยกับอีกกลุ่มหนึ่งในเรื่องนั้น ก็ว่ากันไปเป็นประเด็นๆ อย่างผมไม่ลงชื่อเรื่อง 112 ก็เพราะรู้สึกว่ามันมีความไม่นิ่งสูง ต่อไปก็อาจจะไม่ไปเลือกตั้งละ จริงๆ ก็ไม่เคยไปเลือกเลยนะ ยกเว้นครั้งล่าสุด ที่จะไม่ไปก็เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ซึ่งผมเห็นว่ามีลักษณะอำนาจนิยม สิทธิหรือการบัญญัติสิทธิต้องมาก่อนหน้าที่ แต่สังคมไทยไม่เคยให้สิทธิประชาชนในการบัญญัติสิทธิของตัวเองด้วยซ้ำ (หัวเราะ) วิกฤติการเมืองคราวนี้ ทำให้มีการพูดถึงปัญหามากมาย จาก ‘จุดนอน’ ของคุณโตมรแล้ว อะไรคือ ‘คอขวด’ ของบ้านเรา?

มันมีปัญหามาก สำคัญทั้งนั้น ควรแก้เป็นประเด็นๆ ไป อย่างเรื่องที่ดินอะไรทำนองนี้ แต่ส่วนตัวผมคิดว่าทั้งหมดมันเริ่มจากการที่สังคมไทยมันลอกแบบสังคมลำดับขั้นมาจากสังคมอำนาจนิยมดั้งเดิม มันก็เลยมีสำนึกรากฐานบางอย่างฝังลึก ถ้าแก้สำนึกรากฐานตรงนี้ไม่ได้ทำอะไรไปก็เหนื่อยเปล่า เดี๋ยวปัญหาก็กลับมาใหม่ ปัญหาที่ว่าคือเรื่องความเสมอภาค ตอน 2475 คณะราษฎรก็พูดไว้เรื่องหลักความเสมอหน้า คือผมไม่ได้กล่าวหาว่าปัญหาเรื่องสำนึกแบบจารีตนี่เป็นแกนกลางที่สร้างปัญหาทุกอย่างในสังคมนะ เพียงแต่มันเป็นต้นแบบ แล้วเรื่องอื่นๆ ก็ลอกกันไป คือเรามักจะเชื่อฟัง ทำตามศูนย์กลางแล้วก็แผ่ออกไปเรื่อยๆ มันไม่ได้เปลี่ยนกันง่ายๆ เลย แต่ถ้าทำตรงนี้ได้มันก็จะคลายปัญหาความเหลื่อมล้ำอื่นๆ อย่างในอเมริกามันเริ่มต้นถูก เพราะทุกอย่างเริ่มกันที่ความเสมอภาค ของเรานี่ถ้าแก้เรื่องที่ดินทำกินขึ้นมา คนที่ได้รับที่ดินจากรัฐไปอาจยังรู้สึกว่าเขาได้เพราะมีคนให้มา เป็นบุญคุณ ไม่ได้รู้สึกว่าเขาได้เพราะเป็นสิทธิที่สมควรได้ หรืออย่างเงินคนแก่ 500 บาท ในต่างจังหวัด เวลาเงินมาจะมีการประกาศเรียกไปรับในหมู่บ้าน จึงให้ภาพคล้ายๆ กับเป็นบุญเป็นคุณ งกๆ เงิ่นๆ ไปรับเงินกัน คนให้ก็รู้สึกยิ่งใหญ่ คนรับรู้สึกต่ำต้อย ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นสิทธิที่ตัวเองพึงได้รับ แต่ถ้าจัดการให้โอนเข้าบัญชีได้ ก็ไม่เกิดความรู้สึกแบบนั้น อย่างเรื่องที่ตำรวจจับคนขับแท็กซี่ผิดตัว พอปล่อยออกมา คนขับก็ขอบคุณตำรวจ ตำรวจให้เงินไปสองหมื่น ติดคุกไปตั้งเก้าวัน มันน่าขอบคุณตรงไหน เป็นผมผมไม่ยอม สำนึกแบบจารีต เจ้านาย ลูกน้อง มันควรจะหมดไปได้แล้ว ถ้ามันเป็นแบบนี้ต่อไปบ้านเมืองจะล่มจมก็ไม่น่าแปลกใจเลย ก็เราสร้างกันมาแบบนี้

ทีนี้พอเป็นสังคมลำดับขั้น มีผู้ใหญ่ผู้น้อยอย่างเข้มข้น แล้วก็อยู่กันแบบอำนาจนิยม มันก็ทำให้เราเกิดวัฒนธรรมหน้าไว้หลังหลอก คือพยายามทำให้ผู้มีอำนาจเหนือกว่าพอใจด้วยวิธีการใดก็ได้ นี่เป็นจุดเด่นของสังคมเรา เราไม่ได้ทำกันแค่กับคนใหญ่คนโตระดับชาติ แม้แต่ในโครงสร้างสังคมประชาธิปไตย ตัวละครสำคัญอย่างสื่อก็ทำ คนที่ห่วงเรื่องคะแนนเสียงก็เอาใจประชาชนในจินตนาการของตัวเอง เกิดเป็นโครงการประหลาดๆ ขึ้นมา อย่างเรื่องจักรยาน ก็ออกมาบอกกันว่าจะทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองจักยาน มี Car Free Day แต่เอาเข้าจริงพอถึงวันงานคนพูดก็มาขี่นำหน้าขบวน ทั้งที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในชีวิตจริง วันอื่นก็ไม่ได้ใช้ ไม่ได้มีการปิดถนน ไม่ได้มีการลงทุนสร้างโครงสร้างอะไรให้จักรยาน จะมีลักษณะแบบนี้มีอยู่มากในสังคมเรา เมืองหนังสือโลกก็ทำนองเดียวกัน ช่วงหลังผมมีความรู้สึกเบื่อที่จะพูด รู้สึกว่าการเขียนงานของตัวเองมันเป็นการเหน็บแนมที่ไร้ราคาขึ้นเรื่อยๆ เพราะมันไม่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไร

พอคุณโตมรพูดถึงเรื่องปัญหาเชิงวัฒนธรรม เรื่องสังคมลำดับชั้น สำนึกอำนาจนิยม ความหน้าไหว้หลังหรอก ฟังดูแล้วเรื่องความเท่าเทียมที่พูดไว้ตอนแรกดูเหมือนจะกลายเป็นเรื่องหมดหวัง?

มันเท่าทียมกันได้สิ อย่างน้อยก็ในแง่ความรู้สึก โจทย์คือทำยังไงให้คนในสังคมนี้มันกินปาท่องโก๋ได้ด้วยความรักชอบ ไม่ได้กินไปน้อยเนื้อต่ำใจไป ในทางกลับกันเวลาไปกินโอเรียนเต็ลก็ไม่ได้ไปด้วยความรู้สึกว่าเป็นคนชั้นสูง คนเลือกใช้กระเป๋าหลุยส์ วิตตอง เพราะหลงใหลในศิลปะ ไม่ใช่เพราะใช้แล้วจะทำให้เป็นคนที่เหนือกว่าคนอื่นอะไรอย่างนี้ ประเด็นคือได้ทำอะไรที่รู้สึกอยากทำ ไม่ใช่ทำเพราะอยากเหนือกว่า ทุกวันนี้ในสังคมเรามันจะมีกลุ่มสูงสุด สมมุติว่าห้าเปอร์เซ็นต์ ไล่ลงมาอีกกลุ่มหนึ่งสิบเปอร์เซ็นต์ แล้วก็แบ่งชั้นไล่ลงมาเรื่อยๆ อย่างกินซูชิคนกลุ่มบนสุดก็กินคำละหมื่น เพราะถือว่ามันเป็นสัญญะของอะไรบางอย่าง ไอ้คนที่กินซูชิตลาดคำละห้าบาทมันก็มีความรู้สึกเหนือกว่าคนที่กินตับปิ้ง เหยียดกันลงมาเป็นชั้นๆ จะนั่งเครื่องบินชั้นธุรกิจหรือชั้นประหยัดก็ไม่ได้เป็นแค่เรื่องของอรรถประโยชน์ แต่เป็นการแสดงสถานภาพ ก็เลยมีคนจำนวนหนึ่งที่ดิ้นรนให้ได้บัตรสมาชิกระดับทองระดับแพลตทินัม ได้อภิสิทธิ์ แล้วได้เงียบๆ ไม่ได้ ต้องให้คนอื่นรู้ด้วย บางคนมาบ่นว่าเวลานั่งชั้นประหยัดต้องเจอคู่แข่งในวงสังคมทุกที ก็เลยต้องนั่งชั้นแพงๆ ไว้ก่อน ทั้งที่มันก็เจอกันในชั้นเดียวกันนี่แหละ (หัวเราะ) พวกไปปฏิบัติธรรมนี่ก็มีลำดับชั้นแรงมาก รู้สึกว่ายิ่งปฏิบัติมาก บริจาคมาก จะเป็นคนดีมากกว่าคนอื่น กลายเป็นไปแล้วยิ่งเพิ่มกิเลส

ถ้าเราไปดูในอเมริกาถึงมีคนที่รวยอย่างดาราฮอลลีวูด ก็มีสักห้าเปอร์เซ็นต์ แต่ที่เหลืออีกเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่จะมีความรู้สึกถึงความเสมอภาคกันพอสมควร เทียบกับไทยจะเห็นชัดว่าทุกวันนี้บ้านเรา กลุ่มเก้าสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ก็ยังแบ่งแยกเหยียดกันเป็นสายๆลงมา มีลักษณะดูถูกกันอยู่ แม้แต่ของใช้ทุกอย่างก็ไปให้ความหมายมัน เอาเข้าจริงต่อให้คุณปฏิเสธว่าไม่ได้คิดแบบนั้น แต่คนรอบข้างก็ยังให้ความหมายมันอยู่ดี เวลาจะใช้จะทำอะไรมันก็เลยต้องคิดถึงเรื่องพวกนี้ด้วย สุดท้ายมันก็กลับมาที่ปัญหาเรื่องสำนึกฐานรากที่ไม่ได้แก้กันง่ายๆ ถ้าไม่แก้ตรงนี้ทำอะไรไปก็หมดความหมาย นี่คือความเหลื่อมล้ำที่ต้องอาศัยการแก้จากสำนึกรากฐาน

‘จุดนอน’ ของคุณโตมรช่วยอะไรพวกนี้ได้บ้างมั้ย?

ผมคิดว่าความผสมปนเปนี่มันช่วยทำลายสังคมลำดับขั้น การที่เราไม่ยึดติดอะไรตายตัวมันทำให้ทุกอย่างผสมปนเปมั่วกันไปหมด ผัดกะเพรากลายเป็นผัดกะเพราที่อยากจะใส่แครอทก็ใส่ ไม่ต้องสนใจสูตรดั้งเดิม ที่นี้กรอบอะไรมันก็จะป่วน แล้วมันก็จะนำไปสู่สังคมที่มีความหลากหลาย สุดท้ายพอมันหลากหลายได้มันก็จะเกิดความเสมอภาค

นอกจากนี้ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมก็อาจจะช่วยคลายเรื่องพวกนี้นะ ตัวอย่างเช่นการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ที่ตอนนี้เข้ามาแข่งมาก ทำให้ระบบการผูกขาด หรือการขายโฆษณาอย่างล้นเกินของสื่อเก่าๆ ถูกท้าทาย สื่อใหม่มีบทบาททำให้สิ่งเหล่านี้ค่อยๆ คลายตัวเองลงมา อย่างในต่างประเทศมันไม่มีโฆษณาแฝงเลย ถ้ามีก็ต้องทำเนียนมากๆ ทำให้ก้ำๆ กึ่งๆ เขาก็คงผ่านยุคแบบเราไปแล้ว ในอเมริกามันมีการเปิดเสรีโทรทัศน์ทำให้เกิดการแข่งขันมาก การยัดเยียดโฆษณาก็ทำได้น้อยลง คนจะเลิกดู ของเราอยู่กับฟรีทีวีแค่ห้าหกช่องมากี่ปีแล้วไม่รู้ โฆษณาแฝงก็ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ในวงการหนังสือก็มีกลุ่มธุรกิจเข้ามาจ่ายเงินให้หนังสือนิตยสารที่วางขายทำเล่มแถม แล้วสั่งให้เล่มนั้นใช้สีของแบรนด์สินค้าของเขา ให้เอาคนดังมาพูดอะไรเท่ๆ โดยอาจไม่ต้องลงรูปโฆษณาก็ได้ แต่ให้พูดอะไรที่มันเป็นปรัชญาที่พอฟังแล้วนึกไปถึงสินค้าของเขา เช่นพูดให้อนุรักษ์ธรรมชาติ เราก็จะนึกถึงรถประหยัดพลังงาน ทั้งที่เอาเข้าจริงไม่ได้ประหยัด

ทุกวันนี้โฆษณาเข้ามามากอย่างกับเชื้อโรค คนก็ป่วยโทรม ถ้ามีอะไรที่มันดีกว่าเข้ามา คนไม่อยากตายก็ไปหาทางเลือกใหม่ สื่อก็ต้องประคับประคอง ไม่ปล่อยให้โฆษณามาทำลายแบรนด์ตัวเอง คือที่ยกตัวอย่างนี้มาเพื่อจะบอกว่าบางทีเวลามันช่วยได้ จะสังเกตได้ว่าการเปลี่ยนตรงนี้ กสทช. คงไม่ต้องทำอะไรมาก คือถึงจะมีตัวกำกับดูแล แต่สภาพแวดล้อมมันไม่เปลี่ยนมันก็ไม่เปลี่ยน แต่ถ้าสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยน สำนึกรากฐานเปลี่ยน ทุกอย่างก็จะคลายตัวเอง ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ก็อาจจะมีสำนึกรากฐานแบบแบ่งชนชั้นน้อยกว่า ไม่เหมือนคนรุ่นผมที่ต้องแข่งกันซื้อรถแพง

เวลาจะช่วยคลายปัญหาการผูกขาดอื่นๆ ที่คุณโตมรพูดมา เช่นการผูกขาดนิยามประชาธิปไตย นิยามการศึกษา การผูกขาดถนนโดยรถยนต์ ได้หรือไม่?

เวลาอย่างเดียวมันอาจไม่พอ เงื่อนไขคือไอ้สิ่งที่ผูกขาดมันต้องผูกขาดมาก ยิ่งผูกขาดก็จะยิ่งมีแรงต้าน ของไทยนี่ไม่เคยผูกขาดหรือกดขี่แรงจริงๆ เหมือนนักมวยเตะต้นกล้วยไม่ให้ล้ม ยังไม่มีวาทะทำนอง ‘Let them eat cake’ ก็อาจต้องใช้เวลามากหน่อย ถ้าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมันก็จำเป็นต้องมีกลุ่มที่มีความคิดเรื่องการปฏิรูปมาทำอะไรบางอย่าง เพราะเรายังไม่มีเงื่อนไขผูกขาดแรงพอ ขนาดที่จะทำให้อะไรๆ มันเกิดและเป็นไปได้เอง

เมื่อก่อนคุณโตมรเคยเขียนถึงการเปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย เช่นเสื้อเหลืองที่ไม่เอาอำมาตย์ เสื้อแดงที่ไม่เอาทักษิณ ภายใต้บรรยากาศที่ทุกฝ่ายผูกขาดนิยามความถูกต้อง มันจะเป็นไปได้หรือ?

ขอเริ่มต้นมองจากเรื่องใกล้ตัว ในช่วงหลังมานี้รู้สึกว่าอยู่ยากขึ้น ในแวดวงคนใกล้ชิดรู้สึกว่ามันมีอะไรบางอย่างผลักกันอยู่เสมอ มันไม่ได้ถึงขนาดแตกหักแบบหวนคืนไม่ได้ แต่ไม่ยอมเข้าหากันมากกว่า จริงๆ ถ้าแต่ละคนมาเจอกันมันก็คงมีเรื่องที่ต้องเถียงกันอยู่บ้างแหละ แต่มันก็คงมีเรื่องที่ร่วมกันได้คุยกันได้ ขอแค่ยอมมาเจอกัน กินข้าวด้วยกัน ทุกวันนี้จากประสบการณ์ส่วนตัวเวลาคุยกับคนที่เห็นต่างกัน พอเราคุยกันด้วยการอธิบายที่มันใส่ใจจริงจัง ไม่ได้ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ สุดท้ายเราก็ฟังกันนะ คงเพราะให้ถึงที่สุดเราก็มีจุดร่วมว่าเราอยากเห็นชีวิตที่ดีขึ้นเหมือนกัน บางคนเป็นเสื้อเหลืองพอพาไปเจอเสื้อแดงเขาก็รู้สึกว่าคนพวกนี้น่ารัก เพราะมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่เป็นแบบทุกวันนี้ก็เพราะถูกกดหนักๆ ก็เลยพลิกกลับขึ้นมา แต่ถ้าไม่ยอมมาเจอกัน ก็จะไม่มีการเรียนรู้กัน แต่ก่อนไม่มีสีเสื้อก็เคยนั่งคุยนักถกเถียงด้วยกันได้ พอมีวิกฤติกลับมาพูดเรื่องเดิมที่เคยพูดนี่พูดไม่ได้ละ กลายเป็นเรื่องตื่นเต้น ตาสว่าง เลว หลอกลวงอะไรอย่างนี้ เดี๋ยวนี้อะไรก็กลายเป็นเรื่องดีสุดๆ เลวสุดๆ ทั้งที่แค่เจอกันบ้าง คุยกันบ้างก็คงคลายเรื่องพวกนี้ลงไปได้

ฟังดูแล้วเหมือนทุกวันนี้คนและความซับซ้อนคือสิ่งที่ถูกมองข้ามท่ามกลางสถานการณ์ฝุ่นตลบทางการเมือง?

ตอนนี้ถ้าจะพูดว่าให้มองเห็นคน เห็นความซับซ้อนก็คงจะโดนด่าว่าจะซับซ้อนอะไรกันนักหนา ต้องลุยไปตามเป้าหมายที่วางไว้ก่อน อย่าเสียเวลาอะไรอย่างนี้ แต่ผมอยากเล่าให้ฟังว่าบ้านผมที่เชียงใหม่ คนดูแลบ้านนี่เป็นเสื้อเหลืองจัด แล้วอยู่ในหมู่บ้านที่เป็นแดงทั้งหมู่บ้าน แล้วเสื้อเหลืองคนนี้ก็เคารพนับถือบุคคลท่านหนึ่งมาก ซึ่งคนนั้นดันเป็นเสื้อแดง แล้วคนดูแลบ้านผมก็มีอิทธิพลในหมู่บ้านพอสมควร เป็นเจ้าแม่ขายของ ถึงเวลาก็ออกมาตะโกนหน้าถนนด่าทักษิณ ด่าอภิสิทธิ์ แต่ทุกคนก็ยังไปซื้อน้ำเต้าหู สั่งแก๊ส จากเขา โลกเรามันมีอะไรแบบนี้ เราต้องไม่ลืม

ทางออกคืออะไร ถ้าใช้คำที่คุณโตมรเคยเขียนไว้ ก็ต้องถามว่าทำอย่างไรสังคมเราจึงจะเกิดการ Reform (ปฏิรูป) ที่แท้จริง ไม่ใช่ปิดกั้น ผลักไสกันจนกลายเป็น Deform (บิดเบี้ยว)?

ง่ายที่สุดทุกฝ่ายควรมีการตรวจสอบตัวเอง โดยเฉพาะตรวจสอบคนที่เป็นแกนนำของเรา ตอนนี้บ้านเรายังไม่เกิดการฆ่ากันเองของประชาชน ที่ไม่เกิดไม่ใช่เพราะไม่อยากฆ่ากัน แต่แกนนำยังไม่นำออกมาเผชิญหน้า ยังถือเป็นโชคดีอยู่ แต่มันก็มีโอกาสจะเป็นไปได้ การนองเลือดก็มีไปแล้ว แต่ไม่ใช่เพราะประชาชนฆ่ากันเอง เพื่อหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านั้นต้องมีการตรวจสอบแกนนำ เพราะคนที่อยู่ใกล้ก็จะยิ่งตรวจสอบได้ง่ายขึ้น มีความชอบธรรมที่จะตรวจสอบ คนก็เชื่อถือ คืออย่างถ้าให้เสื้อเหลืองมาตรวจสอบรัฐบาลเสื้อแดงใครจะมาเชื่อ แต่ทุกวันนี้มันยังกลัวกันว่าการตรวจสอบตัวเองจะเป็นการเตะหมูเข้าปากหมา กลัวว่าถ้าวิพากษ์ฝ่ายตัวเองจะกลายเป็นแนวร่วมด้านกลับของอีกฝ่ายหนึ่ง พอตรวจสอบทีไรฝ่ายตรงข้ามก็เฮฮาสนุกสนาน ก็เลยไม่อยากทำกัน ลำพังการวิพากษ์ตัวเองมันยากอยู่แล้ว แค่จะบอกว่าตัวเองไม่สวยยังยากเลย แต่พอมีคนมาใส่ไฟว่าเธอต้องไม่สวยแน่ๆ มันก็ยิ่งไม่กล้าส่องกระจก

อีกเรื่องที่น่าตั้งคำถามคือ ถึงที่สุดเรามีเหตุผลที่ต้องฆ่ากันจริงๆ หรือเปล่า ที่อื่นฆ่ากันเพราะเรื่องศาสนายังเข้าใจได้ เพราะมันมีรากฐานความขัดแย้งกันมาเป็นพันปี อย่างในตะวันออกกลาง ไอร์แลนด์ อังกฤษ อย่างปฏิวัติฝรั่งเศสก็ยืดเยื้อส่งผลถึงปัจจุบันมันก็เลยไม่จบ แต่ของเรามันคืออะไร ก็พออธิบายได้ว่ามันเริ่มต้นจากความน้อยเนื้อต่ำใจ ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดีที่ลุกขึ้นมาพูดว่าหยุดกระทำเราได้แล้ว แต่เราต้องกระทำกลับด้วยหรือ ทางออกน่าจะเป็นการมาร่วมกันหาหนทางที่ยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ไม่ใช่ผลัดกันทำกันไปมา ไม่ใช่ฆ่ากัน ไม่ต้องใจร้อน ทุกเรื่องมันมีความหวังและต้องใช้เวลานาน ค่อยๆ เรียนรู้กันไปเรื่อยๆ ที่ไหนๆ ก็เป็นอย่างนี้ ของเราจะรีบร้อนกันไปไหน

ที่มา : http://v-reform.org/(เครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป)

โดย ทีมงาน V-Reform
http://www.v-reform.org