ThaiPublica > เกาะกระแส > “ทีดีอาร์ไอ” ประเมิน 1 ปีจำนำข้าว สูญรายได้ 6 หมื่นล้าน-ติงเอกชนแนะรัฐเก็บข้าวไว้ขายทีหลังเป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล”

“ทีดีอาร์ไอ” ประเมิน 1 ปีจำนำข้าว สูญรายได้ 6 หมื่นล้าน-ติงเอกชนแนะรัฐเก็บข้าวไว้ขายทีหลังเป็นพวก “มือถือสากปากถือศีล”

24 สิงหาคม 2012


ศึกการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป แม้สภาผู้แทนราษฎรจะมีมติเสียงข้างมากให้ พ.ร.บ.งบประมาณฯ 2556 ผ่านไปแล้ว แต่ประเด็นเรื่องนโยบายประชานิยมที่ถูกหยิบยกในการอภิปรายมากที่สุดยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าว ซึ่งถูกฝ่ายค้านอภิปรายอย่างดุ เดือด เผ็ด มัน และยังถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดจากนักวิชาการว่า เป็นนโยบายที่สร้างภาระงบประมาณมากที่สุด และเสนอให้ทบทวนหรือยกเลิกเสีย

แต่ดูเหมือนรัฐบาลเมินคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยประกาศเดินหน้ารับจำนำข้าวในฤดูการผลิต 2555/2556 และล่าสุด ประกาศจะระบายข้าวในสต็อกรัฐบาลจำนวน 7.53 แสนล้านตัน โดยการเปิดประมูล ซึ่งรายละเอียดอยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์ของกรมการค้าระหว่างประเทศ

รัฐบาลเดินเกมผูกขาดตลาดส่งออกข้าว

แนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการนั้น มีข้อสังเกตจาก ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ว่า เวลานี้นโยบายจำนำข้าวมาถึงจุดที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่ารัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ จากเดิมที่ไม่ค่อยเข้าใจ แต่มาวันนี้ หลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวจะระบายข้าวออกไป (บทวิเคราะห์จากหนังสือพิมพ์ :ระบายข้าวอย่างโปรงใส ทางรอดเดียวประชานิยม)เพื่อให้มีสภาพคล่องที่จะใช้ในการจำนำแต่ละปี แต่ละปีก็จะซื้อข้าวเข้ามาแล้วขายออกไปในจำนวนประมาณ 10 ล้านตันข้าวสาร นี่คือลักษณะที่เริ่มคลี่คลาย

“ผมคิดว่ารัฐบาลจะจำนำข้าวประมาณ 45% ของผลผลิตข้าวทั้งหมด คือจะรับจำนำข้าวส่วนที่เป็นข้าวส่งออก จะไม่จำนำทั้งหมด พูดง่ายๆคือผูกขาดตลาดข้าวส่งออก ตลาดส่งออกข้าวจะอยู่ในมือรัฐบาล ไม่ปล่อยให้อยู่ในมือเอกชนโดยเสรี” ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

แนวทางดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานความเชื่อของรัฐบาลว่า จะสามารถยกระดับราคาในประเทศได้ แต่ประธานทีดีอาร์ไอกลับไม่คิดเช่นนั้น แต่ยอมรับว่าแนวคิดนี้ประสบความสำเร็จในการยกระดับราคาได้แค่ในปีนี้ หรือปีแรกที่ดำเนินนโยบายเท่านั้น แต่จะไม่ประสบความสำเร็จในการยกระดับราคาในปีต่อไป

ประเด็นที่ ดร.นิพนธ์แสดงความเป็นห่วงมากกว่าเรื่องระดับราคาคือ จะเกิดการ “เวียนเทียน” ข้าว โดยรัฐบาลบอกว่าขายข้าวเก่า แต่เราส่งออกข้าวใหม่ แล้วข้าวในโกดังก็จะเปลี่ยนบัญชี

ดร.นิพนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ต้องทำแบบนั้นเพราะข้าวในโกดัง ถ้าบอกว่าขายข้าวเก่าจะขายได้ในราคาถูก แต่ข้าวที่ออกไปจริงจะเป็นข้าวใหม่ในแต่ละฤดู เพราะฉะนั้นบนฐานนี้จะขายข้าวได้ราคาแพง แต่คนซื้อข้าวจากรัฐบาลจะซื้อได้ในราคาถูก

เพราะฉะนั้นระบบนี้จะเป็นระบบที่ใครก็ตามที่จะมาค้าขายข้าวกับรัฐบาลต้องอาศัย “นายหน้า” โดยจะมีนายหน้ากี่คนก็แล้วแต่ แต่ ดร.นิพนธ์ตั้งข้อสงสัยว่าจะมีไม่กี่คน และมองว่ากระบวนการนี้จะเป็นกระบวนการ “หล่อเลี้ยง” การเมืองไทย เพราะการเมืองไทยต้นทุนแพง

“รัฐบาลออกแบบมาเพื่อผูกขาดตลาดส่งออก แล้วก็มีนายหน้าเป็นคนจัดการเรื่องตลาดส่งออก เวลานี้ไม่มีสิทธิไปซื้อข้าวกับชาวนาเพื่อส่งออกแล้ว ต้องมาซื้อผ่านนายหน้าเท่านั้น”ดร.นิพนธ์กล่าว

ดร.นิพนธ์กล่าวต่อว่า ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้จะทำลายภาคส่งออก เพราะภาคส่งออกจะตกอยู่ในการควบคุมของคนที่ไม่สุจริต แล้วจะเกิดกระบวนการที่ใครอยากเข้ามาต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ ถ้าไม่จ่ายเงินใต้โต๊ะก็เข้ามาไม่ได้

“ธุรกิจข้าวไม่ได้มีอะไรเป็นปัญหาเลย ประเทศไทยสร้างธุรกิจค้าข้าว ธุรกิจอุตสาหกรรมข้าวไทยมาเป็นเวลา 100 ปี จนกระทั่งเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดทั้งปริมาณ และคุณภาพข้าว”

ดร.นิพนธ์ซึ่งทำการศึกษาเรื่องข้าวมาอย่างยาวนานได้ตั้งคำถามที่น่าคิดว่า “แล้วเราจะให้รัฐบาลเข้ามา หรือให้นักการเมืองบางคนใช้อิทธิพลบางเรื่องเข้ามาทำลายอุตสาหกรรมนี้หรือเปล่า เรายอมไหม ผมคิดว่าเรายอมไม่ได้เด็ดขาด”

ที่สำคัญ ประธานทีดีอาร์ไอเป็นห่วงว่า ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ในที่สุดคนที่อยู่ในวงการข้าวที่มีความชำนาญเขาก็ไม่อยากจะยุ่ง อยากค้าขายตามปกติ เขาก็จะเลิกอาชีพนี้ และสมมติ 3-4 ปีข้างหน้ามีการเลิกนโยบายแทรกแซงราคาข้าว โอกาสที่คนเก่งๆ ด้านนี้จะกลับมาทำธุรกิจอีกครั้งคงยากแล้ว

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า นโยบายเกษตรราคาสูงเป็นสิ่งที่พึงปรารถนา แต่นโยบายราคาสูงแต่คุณภาพต่ำจะทำลายอุตสาหกรรมข้าวไทย และสร้างกระบวนการ “คอรัปชัน” ที่ทุกคนต้องร่วมมือ ถ้าไม่ร่วมมือไม่ต้องมาค้าขายกับรัฐบาล อยากจะค้าขายกับรัฐบาลต้องเข้าสู่กระบวนการคอรัปชัน

1 ปีนโยบายจำนำข้าว สูญรายได้ส่งออกกว่า 6 หมื่นล้าน

วาระครบ 1 ปีการบริหารของรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นโยบายจำนำข้าวซึ่งเป็น 1 ใน 16 นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภาฯ เมื่อ 23 สิงหาคม 2554 อาจเป็นผลงานชิ้น “โบว์แดง” ของรัฐบาล แต่อาจเป็นผลงานชิ้น “โบว์ดำ” ของนักวิชาการ

สะท้อนได้จากข้อมูลที่ ดร.นิพนธ์นำเสนอ เรื่อง “นโยบายเกษตรไทยกับการปฏิรูป ??” ในการประชุมทางวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 1 ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในหัวข้อ “๑ ปีกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล: นโยบายด้านการเกษตร” เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ณ ห้องประชุมชั้น 8 อาคาร 72 ปี กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

ดร.นิพนธ์เชื่อว่า โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดจะทำให้เกิดความเสียหายแก่เศรษฐกิจข้าวไทย ซึ่งข้าราชการและนักการเมืองบางคนไม่ได้คาดคิดมาก่อน แม้ผลของการจำนำปีแรก รัฐบาลประสบความสำเร็จอย่างที่คุย คือสามารถยกระดับราคาข้าวเปลือกในประเทศ และราคาในตลาดโลก จากการที่รัฐบาลไทยซื้อข้าวเข้าไปเก็บไว้สต็อก 10 ล้านตัน โดยไม่ขายข้าว แต่การส่งออกลดลงเป็นประวัติการณ์

ทั้งนี้ ตั้งแต่มีนโยบายจำนำข้าวเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 ปรากฏว่า ปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 4.7 ล้านตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วซึ่งมีปริมาณการส่งออกสูงถึง 9.4 ล้านตัน หรือลดลง 4.7 ล้านตัน

แต่ถ้าดูด้านมูลค่าการส่งออกข้าว หรือคิดเป็นเงิน ปรากฏว่า มูลค่าการส่งออกข้าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนมิถุนายน 2555 มีมูลค่าส่งออก 1 แสนล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้วซึ่งมีมูลค่าส่งออก 1.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นรายได้ที่หายไปจากการส่งออกข้าว 6 หมื่นล้านบาท

ที่มา: ทีดีอาร์ไอ

ทั้งนี้ หากพิจารณาแยกประเภทข้าว จะพบว่าข้าวขาวลดลงค่อนข้างมาก ส่วนข้าวหอมลดลงไม่มาก

ที่มา: ทีดีอาร์ไอ

“ผลก็คือทำให้มูลค่าการส่งออกรวมของประเทศไทยหายไปมโหฬาร กระทบกระเทือนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแน่นอน ตัวนี้เป็นตัวใหญ่มาก หายไปเยอะมาก” ดร.นิพนธ์กล่าว

มั่นใจรัฐขายข้าวขาดทุน 90,000 – 110,000 ล้านบาท

หลายคนสงสัยว่า ทำไมประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น สามารถยกระดับราคาสินค้าในประเทศได้ เรื่องนี้ ดร.นิพนธ์กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจถึงข้อแตกต่างระหว่างนโยบายยกระดับราคาสินค้าเกษตรของประเทศ “นำเข้า” กับประเทศ “ส่งออก” ข้าวก่อนว่า ประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น นำเข้าอาหาร นำเข้าข้าว วิธีการที่จะยกระดับราคาข้าวในประเทศง่ายนิดเดียวคือ ตั้งกำแพงภาษี ยิ่งกำแพงภาษีสูงเท่าไรราคาข้าวยิ่งสูงเท่านั้น เกษตรกรก็ขายสินค้าได้ราคาสูง และรัฐบาลได้รายได้จากภาษีด้วย

แต่ประเทศผู้ส่งออกข้าว ถ้าราคาประเทศผู้ส่งออกต่ำกว่าราคาตลาดโลก จะทำให้ราคาสูงกว่าราคาตลาดโลกมีวิธีเดียวคือ “เงินและเงิน” คือใช้เงินซื้อข้าวส่วนเกิน และเก็บข้าวไว้ในสต็อก

“เงินใครครับ ก็เงินในกระเป๋าคุณกับเงินในกระเป๋าผม คุมให้ดีๆ นะ รัฐบาลล้วงคุณทุกวัน เวลานี้ยังไม่ขาดทุน แต่ถ้าขายข้าวเมื่อไรผมคาดการณ์ว่าจะขาดทุน 90,000 – 110,000 ล้านบาท นี่คือตัวเลขที่ค่อนข้างมั่นใจ เสียเวลาคำนวณมาเป็นสัปดาห์” ดร.นิพนธ์กล่าว

จัดทำโดย: ทีดีอาร์ไอ

จากภาพจะเห็นว่า การคาดการณ์ผลขาดทุนจากการขายข้าวของรัฐบาลนั้นมี 2 กรณี กรณีแรก ถ้าขาดทุน 110,000 ล้านบาท คือกรณีที่ราคาข้าวลดลง และขายข้าวจำนวนมาก (ดูภาพบนด้านขวามือ)

กรณีที่ 2 ถ้าขาดทุน 90,000 ล้านบาท เป็นกรณีที่ราคาขายสมเหตุสมผล คือสามารถขายได้ราคาสูงกว่าเวียดนาม 77 เหรียญต่อตันสำหรับข้าวขาว และข้าวหอมมะลิขายได้ในราคาตลาด (ดูภาพบนด้านซ้ายมือ)

พื้นที่ปลูกข้าวนาเพิ่มขึ้นแย่งพืชอื่น

ดร.นิพนธ์ระบุว่า ผลกระทบของนโยบายจำนำข้าวอีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าตกใจมากคือ พอเราใช้นโยบายแบบนี้ตั้งแต่สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ประกันรายได้ราคาสูง พบว่า พื้นที่ปลูกข้าวนาปีกระโดดขึ้นมาทันทีทันใด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไปเอาพื้นที่ทำอย่างอื่นมาจดทะเบียนด้วย มีส่วนทำให้พื้นที่ปลูกข้าวคลาดเคลื่อนมาก

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ปลูกข้าวปีนี้ก็สูงกว่าปีอื่นๆ และพื้นที่นาปรังก็เพิ่มขึ้น ต่อไปเกษตรกรอาจก็ไม่ปลูกพืชอย่างอื่นปลูกแต่หันมาปลูกแต่ข้าว อนาคตไทยอาจขาดแคลนอาหารบางชนิด นี่คือผลกระทบที่จะตามมา

กราฟแสดงพื้นที่ปลูกข้าวนาปี นาปรัง (หมายเหตุ: ปี 2554/55 เป็นข้อมูลประมาณการเบื้องต้น)

กราฟแสดงพื้นที่ปลูกข้าวนาปี นาปรัง (หมายเหตุ: ปี 2554/55 เป็นข้อมูลประมาณการเบื้องต้น)
ที่มา: ศูนย์สารสนเทศการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (จัดทำโดย: ทีดีอาร์ไอ)

วิจารณ์ทฤษฎีขายข้าวแพงที่เอกชนบางรายเสนอ

ในกรณีที่มีเอกชนเสนอทฤษฎีเรื่องขายข้าวราคาแพง โดยบอกว่า ให้คู่แข่งขายข้าวไปก่อน แล้วรัฐบาลไทยค่อยขายนั้น ประธานทีดีอาร์ไอตั้งข้อสังเกตว่า เอกชนที่พูดแบบนี้คือคนที่ซื้อข้าว “กักตุน” ไว้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2554 หรือไปซื้อข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเพื่อส่งออกแข่งกับไทย ถ้ารัฐบาลเก็บข้าวเอาไว้ตามคำแนะนำ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ เป็นการสร้างประโยชน์ให้เอกชนที่กักตุนข้าวไว้

“พวกนี้จะขายข้าวได้ราคาแพง เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล” ดร.นิพนธ์กล่าวและบอกว่าการที่เอกชนบางรายสนับสนุนให้รัฐบาลสต็อกข้าวไว้เพื่อหวังเก็งกำไรจากราคา เป็นการสร้างทั้งภาระภาษีต่อประชาชนและเป็นการสร้างบาป

“ข้าราชการไทยทำไมหลงเชื่อทฤษฎีนี้ผมไม่รู้ แล้วยังยุอีกว่า สต็อกส่งออกเอาเก็บไว้ แล้วเดี๋ยวขายได้ราคาดี นี่คือยุให้เก็งกำไร รัฐไม่มีหน้าที่เก็งกำไร ถ้าจะเก็งกำไรออกมาเป็นพ่อค้า อันนี้บาปมาก ยุให้ข้าราชการเก็งกำไรเป็นบาป พอขาดทุนแล้วเงินพวกเราทั้งนั้น”ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

ค้านตั้งภาคีผู้ส่งออกฮั้วราคาข้าว

อีกแนวคิดหนึ่งคือ ราคาสูงก็ตั้งภาคีผู้ส่งออก (OREC) รวบผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ๆ มา 3-4 ประเทศ แล้ว “ฮัว” กันส่งออกจะได้ขายข้าวได้ราคาแพง ดร.นิพนธ์กล่าวว่า นักธุรกิจชอบแนวคิดนี้มาก โดยไม่ได้ดูว่าจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ แต่อ้างกรณีน้ำมัน

ดร.นิพนธ์ยืนยันว่า กรณีข้าวไม่เหมือนน้ำมัน น้ำมันยิ่งเก็บนานไม่มีปัญหาอะไร แต่ข้าวเก็บนานมีต้นทุนสูง ทั้งค่าดอกเบี้ยตกปีละ 5,200 บาท ซึ่งเวลานี้รัฐบาลไทยเก็บข้าวไว้ 10 ล้านตัน ค่าดอกเบี้ยก็ประมาณปี 5,600 ล้านบาท และข้าวจะเสื่อมคุณภาพปีละ 5% ขณะที่น้ำมันอยู่ใต้ดิน ไม่มีดอกเบี้ย

ที่สำคัญแล้วใครจะมีความสามารถบังคับชาวนาไทย ชาวนาเวียดนาม ชาวนาอินเดีย หรือแม้กระทั่งชาวนาในประเทศผู้ซื้อให้ลดการผลิตได้

ทั้งนี้ทั่วโลกมีชาวนา 400 ล้านคนจะบังคับได้อย่างไร ถ้าราคาสูง ทุกคนก็แห่กันผลิต แห่กันปลูกข้าว ผลผลิตก็ล้นตลาด แล้วจะไปป้องกันพ่อค้าทุกประเทศเอาเฉพาะพ่อค้าไทย ไม่ให้แตกแถว พ่อค้าเวียดนาม พ่ออินเดียไม่ให้แตกแถวตัดราคากัน ไม่มีทางป้องกันได้

“เพราะฉะนั้น ใครมาบอกว่าตั้ง OREC ช่วยบอกไปเลยให้ไปห่างๆ ไม่ต้องพูด ผมไม่รู้ว่าพูดโดยที่ไม่คิด หรืออะไรก็ไม่รู้ ผมไม่อยากใช้คำบางคำ ก็คือใช้สมองหรือเปล่าก็ไม่รู้”ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

จำนำข้าวทำลายคุณภาพข้าว

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า คุณภาพข้าวไทยดีกว่าข้าวชาติอื่นๆ มาตลอด หลักฐานการวิจัยมีมาตลอด และตัวเลขการส่งออกก็ชี้ว่าข้าวไทยประเภทข้าวขาว 5% หลายราคาได้ราคาสูงกว่าเวียดนามโดยเฉลี่ยตันละ 77 เหรียญ เพราะคุณภาพสูงกว่า แต่นโยบายจำนำข้าวจะทำให้คุณภาพข้าวไทยแย่ลง เพราะชาวนาไทยจะไม่สนใจเรื่องคุณภาพ เนื่องจากจำนำไม่สนใจเรื่องคุณภาพ ดูแต่ความชื้นกับไม่มีสิ่งเจือปน แล้วสูตรอัตราสีมีเฉพาะข้าวหอมมะลิเท่านั้น

ราคา FOB ข้าวขาว 5% ของไทยและเวียดนาม ระหว่างปี 2008-2011
ราคา FOB ข้าวขาว 5% ของไทยและเวียดนาม ระหว่างปี 2008-2011
ที่มา: FAO (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ)
(จัดทำโดย: ทีดีอาร์ไอ)

นอกจากนี้ การที่ส่วนต่างระหว่างราคาจำนำข้าวหอมมะลิ (20,000 บาทต่อตัน) กับข้าวหอมปทุม (18,000 บาทต่อตัน) ทำให้ข้าวหอมปทุมแปลงกายเป็นหอมมะลิ ปีที่แล้วไปดูตัวเลขการจำนำข้าวข้าวหอมปทุมพบว่าเข้าโครงการจำนำน้อยมาก

และที่น่าเป็นห่วงคือ ชาวนาที่ปลูกข้าวคุณภาพก็จะถูกโรงสีตัดราคา เกิดการร้องเรียน อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ ฉะนั้นชาวนาจะหันไปปลูกข้าวเมล็ดสั้น คุณภาพต่ำ เพื่อเข้าโครงการ 3 ครั้งต่อปี จะได้เงินมาก และข้าวคุณภาพต่ำจากเขมรเข้ามาสวมสิทธิอีก

ดร.นิพนธ์วิเคราะห์วงจรอุบาทว์จากการที่ชาวนาปลูกข้าวคุณภาพต่ำว่า จะส่งผลให้ข้าวที่ส่งเข้าโกดังหรือคลังสินค้าคุณภาพต่ำด้วย เกิดการจ่ายเงินใต้โต๊ะให้เซอร์เวเยอร์ เพื่อจะส่งภาพข้าวคุณภาพต่ำ และข้าวขาดน้ำหนัก แล้วข้าวยิ่งเก็บนานคุณภาพยิ่งเสื่อม ราคาจะตกปีหนึ่งประมาณ 5% เป็นเงินไม่มากแค่ 5,000 ล้านบาท แล้วรัฐบาลก็ขายข้าวเก่าให้พ่อค้า แต่พ่อค้ารับมอบข้าวใหม่มาส่งออก แล้วเปลี่ยนบัญชีในคลัง จากบัญชีข้าวเก่าเป็นบัญชีข้าวใหม่ แต่ข้าวที่อยู่ในคลังยังเป็นข้าวเก่าเหมือนเดิม

เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ โรงสี พ่อค้าที่ชำนาญเรื่องข้าวก็จะหมดอาชีพ หันมาทำโรงสีดีกว่า เพราะได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ตลาดข้าวไทยที่ได้คุณภาพก็จะหมด พวกพ่อค้าที่ประมูลซื้อข้าวจากรัฐบาลจะเสี่ยงมาก เพราะว่าไม่รู้ว่า ข้าวในยุ้งเป็นข้าวคุณภาพอย่างไร เนื่องจากเวลารัฐบาลขายข้าว รัฐบาลบอกว่าขายตามสภาพ

“ในที่สุดระบบการค้าขายของเราจะเป็นเปลี่ยนจากระบบการแข่งขันและคัดคุณภาพเป็นระบบที่มีพรรคพวก มีพ่อค้าที่มีเส้นสาย และมีคนยินดีจะจ่ายค่าเก๋าเจี๊ยะให้นายหน้าเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้ามาค้าขาย และมีสิทธิที่จะซื้อข้าวใหม่ได้ ระบบจะเป็นอย่างนี้ ทำให้คนค้าขายเก่งๆ ก็จะเลิกธุรกิจ หรือถ้าไม่เลิกก็เปลี่ยนมาสังกัดกระบวนการทุจริต เพราะต้องจ่ายเงิน”ดร.นิพนธ์กล่าว

ท้ายสุด ดร.นิพนธ์ฝากคำถามถึงท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระรวงคลัง ว่า จะทำอย่างไรเพื่อทำให้นโยบายจำนำที่กำลังเป็นบ่อนทำลายอนาคตข้าวไทยและกระบวนการทุจริต เปลี่ยนมาเป็นนโยบายราคาข้าวสูงและคุณภาพสูง

“ผมคิดว่าถึงเวลาที่ท่านต้องไม่ละเลยเรื่องนี้ เพราะผมยังเชื่อว่า โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหวังดีกับชาวนา และท่านนายกฯในฐานะคณะกรรมการข้าวแห่งชาติต้องลงมาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งถ้าเราต้องการปกป้องอนาคตของอุตสาหกรรมข้าวไทย” ดร.นิพนธ์กล่าว