ThaiPublica > คนในข่าว > “สมมาตร์ มีศิลป์” ตัวเก็ง ผ.อ.คุรุสภา แจง 10 คดี ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัคร

“สมมาตร์ มีศิลป์” ตัวเก็ง ผ.อ.คุรุสภา แจง 10 คดี ไม่เข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามลงสมัคร

29 สิงหาคม 2012


หลังจากที่คณะกรรมการสรรหาบุคคล เพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ที่มีนายเอนก เพิ่มวงศ์เสนีย์ เป็นประธานคณะกรรมการสรรหา ประกาศรายชื่อผู้สมัครที่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการกำหนด มี 3 คน ได้แก่ นายสมมาตร์ มีศิลป์, นายชวลิต ลีลาศิวพร และนายปิติ นุชอนงค์

จากนั้น เมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2555 เวลา 10.00 น. คณะกรรมการสรรหาฯ ได้เชิญผู้สมัครทั้ง 3 คน มาสัมภาษณ์และแสดงวิสัยทัศน์ ซึ่งในช่วงเช้าของวันนั้นสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ได้สัมภาษณ์นายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตลูกหม้อเก่าสกสค. ผู้เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภา (ชื่อเดิม) หนึ่งในผู้สมัคร ที่ว่ากันว่า เป็นม้ามืดมาแรงที่สุด

ขณะเดียวกัน ทุกสายตาก็พุ่งเป้าไปที่นายสมมาตร์ เพราะผู้สมัครรายนี้เป็นทั้งโจทก์และจำเลยกับองค์การค้าของ สกสค. ถึง 10 คดี วันนี้นายสมมาตร์คิดอย่างไร ถึงมาลงสมัครในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่มีบางคดียังต่อสู้กันอยู่ในชั้นของศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา

ไทยพับลิก้า : คดีความทั้ง 10 คดี ตอนนี้ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว

ผมถูกองค์การค้าของคุรุสภาแจ้งความดำเนินคดีถึงขั้นฟ้องศาล 10 คดี คดีทั้งหมดผ่านการพิจารณาของศาลชั้นต้นมาแล้ว ผลคือศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” ผมขอจำแนกความคืบหน้าของคดีออกเป็น 3 กลุ่ม

กลุ่มที่ 1 มีคดีค้างอยู่ 1 คดี คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า คณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา หรือ “บอร์ดของคุรุสภา” ไม่ได้มีมติบอร์ด หรือไม่ได้มอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับผมและพวก ศาลชั้นต้นจึงพิพากษา “ยกฟ้อง”

นายสมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา
นายสมมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา (ผู้สมัคร)

จากนั้น องค์การค้าของคุรุสภาไปร้องต่อศาลอุทธรณ์ ต่อมาศาลมีคำพิพากษาออกมาว่า “คนแจ้งความมีอำนาจดำเนินการ และให้ส่งคดีนี้กลับไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่ ซึ่งผมก็ทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาไป”

คดีกลุ่มที่ 2 มีอยู่ 6 คดี กลุ่มนี้ศาลชั้นต้นพิพากษา “ยกฟ้อง” ว่าจำเลยทั้ง 7 คน ไม่ได้กระทำความผิดตามที่โจทย์กล่าวหา ซึ่งเป็นการยกฟ้องตามข้อเท็จจริง ไม่ได้ใช้เทคนิคทางกฎหมายแต่อย่างใด เพราะคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภา หรือ “บอร์ดคุรุสภา” ไม่เคยรับรู้กับการแจ้งความเลย

จากนั้น องค์การค้าของคุรุสภาทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาลไป และในช่วงที่มีการเบิกความในชั้นศาลอุทธรณ์ เกี่ยวกับเรื่องการจ่ายค่าดำเนินการขายหนังสือเรียน ทนายความผมได้นำหลักฐานมาแสดงต่อศาลว่า ช่วงที่นายสุรัฐ ศิลปอนันต์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดำรงตำแหน่งรักษาการ ผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาขณะนั้น ก็เคยอนุมัติจ่ายค่าดำเนินการขายหนังสือเหมือนกับผม

นอกจากนี้ ในระหว่างที่มีการเบิกความในชั้นศาลอุทธรณ์ นายสุรัฐให้การต่อศาลว่า “ที่ผ่านมา บอร์ดของคุรุสภาไม่เคยออกระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินดังกล่าว ดังนั้น ผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภาจึงมีอำนาจอนุมัติจ่ายได้”

นายสุรัฐยอมรับว่าเคยทำเหมือนผม และนี่คือที่มาที่ทำให้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น คือ”ยกฟ้อง” เพราะจำเลยทั้ง 7 คน กระทำโดยสุจริต อนุมัติจ่ายเงินตามระเบียบที่ปฏิบัติกันมา และเป็นการกระทำอย่างเปิดเผย มีเจ้าหน้าที่รับรู้ไม่ต่ำกว่า 2 คน จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติขององค์การค้าคุรุสภาแต่อย่างใด

สรุป คดีกลุ่มที่ 2 ทั้ง 6 คดี ผ่านการพิจารณามาแล้วถึง 2 ศาล คือศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

และกลุ่มที่ 3 กลุ่มสุดท้าย มี 3 คดี ผู้แจ้งความดำเนินคดีไม่มีอำนาจ เพราะไม่ได้ส่งให้บอร์ดอนุมัติ หรือทำเป็นมติมอบอำนาจให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา และปลัดกระทรวงศึกษาธิการไปดำเนินการแจ้งความกล่าวโทษจำเลยทั้ง 5 คน

คดีกลุ่มนี้ ศาลชั้นต้นจึงพิพากษา “ยกฟ้อง” เพราะเป็นการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ถือว่าไม่มีการแจ้งความร้องทุกข์ และไม่มีความผิดทางอาญา พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจ

ต่อมา องค์การค้าคุรุสภายื่นอุทธรณ์ต่อศาล ซึ่งคดีกลุ่มนี้ ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้ตัดสิน แต่เนื้อหาสาระของคดีเหมือนกับคดีในกลุ่มที่ 2 คือ ข้อกล่าวหาว่า ผมยักยอกทรัพย์สินขององค์การค้าคุรุสภา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการอนุมัติเงินจ่ายค่าดำเนินการขายหนังสือ ทั้งนี้ ผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภาคนก่อนๆ ก็อนุมัติจ่ายเหมือนกับผม ซึ่งถือว่าเป็นไปตามระเบียบที่ปฏิบัติกันมา

นี่คือความคืบหน้าของทั้ง 10 คดี ที่องค์การค้าคุรุสภาสั่งฟ้องผม

จากนั้นผมก็ฟ้องกลับกรรมการอำนวยการคุรุสภาทั้ง 10 คดี ในข้อหาแจ้งความเท็จ ซึ่งศาลอาญาใช้เวลาไต่สวนมูลฟ้องมาหลายเดือน ในที่สุด ผู้ที่เคยแจ้งความดำเนินคดีกับผม ตั้งแต่อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และพนักงานองค์การค้าของคุรุสภา ก็ตกเป็นผู้ต้องหาฐานแจ้งความเท็จ ศาลประทับรับฟ้องทั้งหมด 9 คดี ส่วนอีก 1 คดี หลุดไป

ไทยพับลิก้า : ยังคดีค้างอยู่ในชั้นศาล ถือว่าเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศสรรหาฯ หรือไม่

ต้องขออ้างถึงเหตุการณ์ช่วงที่ผมลงสมัครขอรับการคัดเลือกเมื่อปี 2550 ก่อน สมัยนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ ตัดชื่อผมออก อ้างว่าผมขาดคุณสมบัติ เพราะเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติต้องห้ามของผู้สมัครตามประกาศสรรหาฯ ซึ่งระบุว่า “ผู้สมัครต้องไม่เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน กิจการ หรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับองค์การค้าฯ” ประเด็นนี้ผมถือว่ากีดกันไม่ให้ผมได้เข้ารับการสรรหา ผมจึงร้องศาลปกครอง

ต่อมา ศาลปกครองชั้นต้นพิพากษาว่า ลักษณะต้องห้ามดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการกลั่นแกล้งผมไม่ให้ได้รับการสรรหาเป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศของคณะกรรมการสรรหาฯ เมื่อปี 2550 ฝ่ายองค์การค้าของ สกสค. ทำเรื่องอุทธรณ์ต่อศาล ปรากฏว่าศาลปกครองไม่รับเรื่องที่อุทธรณ์ ถือคดีนี้เป็นที่สิ้นสุด

“กรณีคำพิพากษาของศาลปกครองครั้งนั้นถือว่าเป็นประเด็นสำคัญ หมายความว่าผมสามารถสมัครเข้ารับการคัดเลือกได้ องค์การค้าของ สกสค. ต้องยอมให้ผมสมัครได้ตามคำสั่งของศาลปกครอง”

ไทยพับลิก้า : คำสั่งเลิกจ้างเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2541 ถือว่าเข้าข่ายคุณสมบัติต้องห้ามตามประกาศฯ ข้อ 1.10 หรือไม่

คำตอบคือว่า “ไม่เข้าข่าย” เพราะความหมายของคำว่า “ถูกเลิกจ้าง” ตามประกาศคณะกรรมการสรรหาฯ ข้อ 1.10 คือ ต้องมีสาเหตุมาจากเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ แต่กรณีของผมเลิกจ้างเพราะไม่ได้ทุจริตต่อหน้าที่ สมมุติว่า บริษัทเลิกจ้างคุณ คุณไม่มีสิทธิไปสมัครงานที่อื่นเลยใช่หรือไม่

เปรียบเทียบคำสั่งเลิกจ้าง2

“ผมถูกองค์การค้าของคุรุสภาเลิกจ้าง ในคำสั่งไม่ได้ระบุเหตุผลว่าผมทุจริตต่อหน้าที่ และที่สำคัญ บอร์ดคุรุสภา ไม่ได้มีมติให้เลิกจ้างผมด้วย องค์การค้าฯ เลิกจ้างผมเฉยๆ โดยไม่ได้ระบุเหตุผล หากเปรียบเทียบกับคำสั่งเลิกจ้างที่ใช้กับอดีตผู้อำนวยการองค์การค้าท่านอื่นจะทำเป็นมติบอร์ดคุรุสภา แต่กรณีผมใช้ระเบียบ และอ้างมาตราเดียวกัน แต่ไม่ต้องส่งให้บอร์ดคุรุสภาอนุมัติ หากมั่นใจว่าผมทุจริต ควรนำเข้าบอร์ด เมื่อไม่กล้าเอาเข้าบอร์ดฯ วิธีการคือไปแจ้งความดำเนินคดีเพื่อให้ดูชอบธรรม และนี่คือที่มาของคำพิพากษาศาลที่ว่ากรรมการอำนวยการองค์การค้าคุรุสภาไม่มีอำนาจแจ้งความ”

ถ้าไปดูรายละเอียดในคำพิพากษา ระบุว่า เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2541 ซึ่งเป็นวันที่มีการประชุมบอร์ดคุรุสภา และเป็นวันเดียวกันกับที่ไปแจ้งความดำเนินคดีผม ทำไมไม่นำเรื่องส่งให้บอร์ดอนุมัติก่อนไปแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งแตกต่างจากการดำเนินคดีอาญากับบุคคลอื่น ต้องส่งให้บอร์ดออกเป็นมติก่อนทุกครั้ง ดังนั้น กรณีร้องทุกข์กล่าวโทษผมจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ไทยพับลิก้า : ยังมีคดีความค้างอยู่ ถ้าเป็น ผอ. ถือว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้งกันหรือไม่

ไม่เป็น เพราะบางคดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาล ศาลได้ไต่สวน สอบพยานบุคคล พยานเอกสารต่างๆ ก็ส่งไปให้ศาลไปทั้งหมดแล้ว หากผมได้เป็นผู้อำนวยการองค์การค้าของ สกสค. ก็ไม่มีผลต่อรูปคดี เพราะคดีที่เหลือรอศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตัดสินเท่านั้น ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ผู้ที่ถูกกล่าวหายังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่น่ะ หากศาลยังไม่ได้ตัดสินจนถึงที่สุด ผมเคลียร์มาได้จนถึงขั้นนี้แล้วยังคิดว่าผมทุจริตอีกหรือ คนทั่วไปมองเพียงด้านเดียวและมองแบบผิวเผิน แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียด ความจริงมันไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา

ไทยพับลิก้า : คิดอย่างไรถึงกลับเข้าสู่วงการอีกครั้ง

หลังจากที่ผมถูกองค์การค้าคุรุสภาบอกเลิกสัญญา ผมต่อสู้คดีมา 15 ปี กลับมาคราวนี้ผมไม่ได้คิดมาแก้แค้นใคร ผมอโหสิกรรมให้ทุกคนหมดแล้ว หากเราเป็นคนธรรมดาๆ วันนี้เราก็ไม่เจ็บ แต่ช่วยไม่ได้ เราอยากใหญ่เอง ก็ต้องอดทน ซึ่งผมได้ส่งเอกสารชี้แจงเกี่ยวกับคดีความของผมไปให้คณะกรรมการ สกสค. และคณะกรรมการสรรหาฯ ทั้งหมดแล้ว ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯ ก็มีใจเป็นธรรม ไม่ตัดชื่อผมออกจากการสรรหา

นายสมาตร์ มีศิลป์ อดีตผู้อำนวยการองค์การค้าคุรุสภา3

ไทยพับลิก้า : หลังถูกองค์การค้าคุรุสภาเลิกจ้าง 15 ปีที่ผ่านมาทำอะไร

ผมต้องต่อสู้คดีมาตลอด 15 ปี อาชีพของผมคือ เลี้ยงเป็ด ทำเกษตรกรรมมาจนถึงทุกวันนี้ ตอนผมออกจากงานก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ แต่ก็ต้องเข้าใจว่าคนที่ทำกับผมเป็นบุคคล ไม่ใช่องค์กร หากจะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ก็ต้องเรียกเอากับบุคคล ไปฟ้ององค์กรคงไม่ถูกต้อง แต่ผมคิดว่าอะไรที่ให้อภัยได้ก็ให้อภัยกันไป การแก้แค้นไม่มีประโยชน์หรอก ลืมอดีตแล้วเดินไปข้างหน้าดีกว่า

ไทยพับลิก้า : หากได้เป็น ผอ.องค์การค้าฯ เตรียมแผนพลิกฟื้นกิจการขององค์การค้าฯ อย่างไร

ปัจจุบันองค์การค้าของ สกสค. มีปัญหาหนี้สินสะสมอยู่หลายพันล้านบาท แนวทางในการพลิกฟื้นกิจการ ต้องพยายามเพิ่มรายได้จากยอดขายให้ได้มากที่สุด

วิธีการคือ ต้องเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ทั้งผ่านร้านศึกษาภัณฑ์พาณิชย์ และร้านค้าทั่วไป ยิ่งเพิ่มช่องทางการขายได้มากเท่าไหร่ โอกาสที่จะขายของได้ยิ่งมีมากขึ้น ขณะเดียวกัน องค์การค้าฯ ต้องปรับตัวให้สอดรับกับช่องทางการขายในรูปแบบใหม่ๆ

ยิ่งรัฐบาลมีนโยบายขยายโอกาสทางการศึกษา ผ่าน “แท็บเลต” ถือเป็นโอกาสขององค์การค้าฯ เพราะองค์การค้าฯ มีจุดแข็ง ตรงที่องค์การค้าฯ เป็นผู้ดูแลลิขสิทธิ์ในเนื้อหา (content) ให้กับกระทรวงศึกษาธิการ เนื้อหาในตำราเรียนองค์การค้าฯ ผลิตเองก็มี พันธมิตรผลิตให้ก็มี

“ตัวเนื้อหา หรือ “คอนเทนท์” ของหลักสูตร ตำราเรียนต่างๆ ถือเป็นหัวใจที่จะใช้ในการสื่อสารผ่านแท็บเลต นี่คือโอกาสขององค์การค้าที่จะพลิกฟื้นกิจการได้ ต้องเร่งพัฒนาโปรแกรมต่างๆ เพื่อใส่ลงไปในแท็บเลต

ไทยพับลิก้า : โรงพิมพ์คุรุสภาต้องปรับตัวอย่างไรกับก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัล หรือ E-BOOK

ต้องทำคู่ขนานกัน ทั้ง “นิวมีเดีย” และหนังสือ ทำได้ยิ่งดี องค์การค้าฯ จะได้ขายทั้ง 2 เวอร์ชันเลย คือมี E-BOOK ขายผ่านแท็ปเลตได้ ขณะเดียวกันก็มีหนังสือวางขายด้วย

นอกจากนี้ องค์การค้าฯ ต้องพัฒนาเนื้อหาของโปรแกรมช่วยสอน (Computer assist instruction: CI) ให้เป็นอินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยลดช่องว่างการศึกษา หรือทำเป็นมัลติมีเดีย (Multimedia assist Computer assisted instruction: MACI)

หมายความว่า ถ้าเด็กนักเรียนเรียนที่โรงเรียนแล้วยังไม่เข้าใจ สามารถกดโปรแกรมการเรียนการสอนแบบนี้ที่บ้านได้ เช่น เรียนเรื่องสาเหตุที่ทำให้ภูเขาไฟระเบิดไม่เข้าใจ ก็ไปกดดูในแท็บเลต เป็นภาพเคลื่อนไหว หรือเป็นวิดีโอ

ตรงนี้จะช่วยลดช่องว่างเรื่องคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ระหว่างเด็กนักเรียนที่อยู่ในชนบทกับเด็กที่อยู่ในกรุงเทพฯ ได้

ขณะเดียวกัน องค์การค้าฯ จะมีรายได้เพิ่มจากการขายผ่าน E-book, ขายโปรแกรมสื่อการเรียนการสอน ทั้งมัลติมีเดีย อินเตอร์แอคทีฟ และวิดีโอ ด้วย

จากนั้นองค์การค้าฯ ขอใบอนุญาตจากคณะกรรมการ กสทช.ทำรายการเพื่อการศึกษา ผ่านระบบทีวีดิจิทัล ซึ่งตามกฎหมายไม่ต้องจ่ายค่าใบอนุญาต (license) ให้กับ กสทช. แถมยังมีรายได้จากค่าโฆษณาในรายการได้อีกด้วย

นอกจากนี้ องค์การค้าของ สกสค. ยังมีที่ดินทำเลดีกระจายอยู่ตามหัวเมืองสำคัญๆ ควรจะนำมาพัฒนาในเชิงธุรกิจ ทำเป็นศูนย์การค้าเพื่อการศึกษาแบบครบวงจร เช่น ศูนย์กลางของโรงเรียนกวดวิชา เหมือนสยามสแควร์

แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า องค์การค้าไม่มีเงินลงทุน การพัฒนาที่ดิน ถ้าจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว คงต้องทำร่วมกันกับพันธมิตรทางธุรกิจ