ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “สมคิด” คัมแบ็ค ย้อนรอยเส้นทาง 5 ปี เขาหายไปไหน?

“สมคิด” คัมแบ็ค ย้อนรอยเส้นทาง 5 ปี เขาหายไปไหน?

3 สิงหาคม 2012


ดร.สมคิด  จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ภายหลังจากพ้นชายคาบ้านเลขที่ 111

อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยหลายคนเลือกที่จะกลับเข้ามามีบทบาทในวังวนทางการเมืองอีกครั้ง

ในขณะที่บางคนเลือกที่จะสงวนท่าทีในการตัดสินใจ

“สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” เป็นหนึ่งในนั้น

ก่อนหน้าที่ตุลาการรัฐธรรมนูญจะมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักไทย และตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้ง 111 คนนั้น

“สมคิด” เป็น “มือเศรษฐกิจ” ที่สำคัญของรัฐบาล “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” และเป็นหนึ่งในกลุ่มคนผู้ร่วม “บุกเบิก” ในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย รวมถึงลงมือทำคลอดนโยบายประชานิยม เน้นเอาใจ “รากหญ้า” ซึ่งกลายเป็นจุดขายของพรรคไทยรักไทยจนถึงพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในปลายรัฐบาล “ทักษิณ 2” เกิดการชุมนุมขับไล่ “ทักษิณ” ออกจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ด้วยข้อครหาทั้งเรื่องจริยธรรมทางการเมือง การคอรัปชั่น และผลประโยชน์ทับซ้อน ของผู้บริหารประเทศและรัฐมนตรีชุดนั้น

ชื่อ “สมคิด” ที่ในขณะนั้นเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพานิชย์ ถูกโยนขึ้นสู่การหารือกันอย่างลับๆ ของ “บิ๊กเนม” ไทยรักไทย โดยมีการเสนอให้ “สมคิด” ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน “ทักษิณ” เพื่อคลายความขมึงเกลียวของเหตุการณ์ในขณะนั้น

จนนำไปสู่ “ความหวาดระแวง” ของผู้นำรัฐบาลต่อผู้ที่ถูกเสนอชื่อทันที ข้อกล่าวหามีมากมายจนยากที่จะประสานรอยร้าว

แต่กระนั้น เหตุการณ์ “สุกงอม” เกินว่าที่จะมี “ทางออก” ให้กับรัฐบาลพรรคไทยรักไทย เพราะในวันที่ 19 กันยายน 2549 รัฐบาลประหารก็เกิดขึ้น

ต่อมาไม่นาน “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรีได้รับเทียบเชิญจาก “พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์” นายกรัฐมนตรีชุดใหม่ ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประสานงานและกระชับความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ด้วยภารกิจการสร้างความเข้าใจเรื่องนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงแก่ต่างประเทศ

ท่ามกลางเสียง “คัดค้าน” จากบางฝ่าย เนื่องจากคนในสังคมยังมีภาพจำว่าเขาคือ “ขุนพล” สำคัญของ “ทักษิณ” จนในที่สุด “สมคิด” ขอถอนตัวจากตำแหน่งดังกล่าว

จังหวะชีวิตการเมืองของ “สมคิด” ไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะไม่นานนักก็เกิดการรวมกลุ่มการเมืองภายใต้ชื่อ “พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา” ที่เป็นการจับมือระหว่าง “กลุ่มรวมใจไทย” ที่มี “ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์” “เอนก เหล่าธรรมทัศน์” “พิจิตต รัตตกุล” และ “กลุ่มชาติพัฒนา” ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” โดยมีเขานั่งเป็นที่ปรึกษาพรรค

แต่พรรครวมใจไทยชาติพัฒนาไปไม่ถึงฝั่งฝัน โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550 พรรคได้ ส.ส. เพียง 9 ที่นั่งเท่านั้น

จากนั้น “สมคิด” ก็ “วางมือ” งานทางการเมือง และหันไปให้ความสำคัญกับการเป็น “กุนซือ” ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่เคยทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนานอย่างกลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มโอสถสภา รวมไปถึงการเดินสาย “เลคเชอร์” ตามเวทีเสวนาสำคัญๆ

“สมคิด” เคยกล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมียุทธศาสตร์ของประเทศ!!

ด้วยเหตุนี้หรือไม่ที่ทำให้ “สมคิด” เปลี่ยนบทบาทจากนักการเมือง (ชั่วคราว) มาเป็นนักขับเคลื่อนคนสำคัญ เพื่อการสร้างคน เตรียมตัว ตั้งรับ และการพัฒนาในก้าวต่อไปของประเทศไทย “สมคิด” รวบรวมกลุ่มนักคิดเพื่อสร้างคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำชุมชนในระดับต่างๆ ในชื่อโครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง และล่าสุดได้เริ่มกระตุกต่อมนักธุรกิจให้ลุกขึ้นมาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทย โดยเล็งเห็นว่าปัจจุบันกำลังกัดกร่อนอนาคต จึงมีการสร้างเครือข่ายนักคิด นักปฏิบัติ นักธุรกิจ ร่วมกันก่อตั้งสถาบันอนาคตไทยศึกษาหรือ Thailand Future Foundation ขึ้นมา

โดย “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์” เป็นสิ่งหนึ่งที่ “สมคิด” ตั้งขึ้นตามคำแนะนำของ “นพ.ประเวศ วะสี” ราษฎรอาวุโส เพื่อให้เป็น “ชุมทาง” ความช่วยเหลือร่วมมือกันของนักคิดและนักวิจัยเพื่อหาคำตอบในก้าวต่อไปให้กับสังคม

นพ.ประเวศ วะสี
นพ.ประเวศ วะสี

“ผมพบอาจารย์ประเวศ ท่านบอกว่า สมคิด ผมอยากให้ช่วยประสานภาคเอกชน เพราะแต่ละบริษัทมี CSR ของตัวเอง จะทำอย่างไรที่จะให้มีการรวมพลังกันทำสิ่งดีๆ ให้กับภาคประชาชนหรือชุมชน บอกให้ผมช่วยประสานว่าทำอย่างไรที่ภาคเอกชนสามารถเชื่อมโยงกับภาควิชาการ เอาความรู้ดีๆ นั้นมาสร้างประเทศ แทนที่ต่างคนต่างอยู่ ผมฟังท่าน ผมก็คิดว่า ณ วัยนี้ ซึ่งจะว่าชราก็ยังไม่ชรา จะว่าหนุ่มมันก็ไม่หนุ่ม มันก็สมควรแก่เวลาที่จะต้องทำสิ่งเหล่านี้”

และด้วย “แบรนด์สมคิด” ทำให้เขากลายเป็น “คีย์แมน” สำคัญที่ “ดึงดูด” ให้บรรดานักวิชาการและนักธุรกิจระดับประเทศเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการสถาบัน

“ชีวิตผมเกิดมาไม่เคยต้องมาขอร้องใคร ให้ใครต้องมาช่วยเหลือผม แต่วันนี้ผมเดินสายพบปะผู้นำเอกชน เพื่อจะบอกเขาว่า วันนี้มันถึงเวลาของพวกท่าน ถ้าท่านไม่ช่วยกันริเริ่ม ไอ้ความคิดริเริ่มนั้นมันอาจจะหยุดชะงัก เพราะว่าบ้านเมืองเราขณะนี้มันไม่ค่อยปกตินัก อันนี้คือที่มาของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนักวิชาการใหม่ๆ นักธุรกิจใหม่ๆ ที่เขาอยากจะนำเสนอตัวเอง เพื่อช่วยวิเคราะห์ วิจัย นำเสนอความคิดดีๆ ให้กับสังคม” สมคิดกล่าวกับผู้ร่วมฟังเสวนา

กับความเป็นไปได้ที่จะ “คัมแบ็ค” สู่การเมืองอีกครั้ง “สมคิด” ตอบว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะคิดในเรื่องนี้ เพราะยังไม่มีการเลือกตั้งเลย วันนี้ทำหน้าที่นี้ก่อน ทำงานเพื่อสังคมไปก่อน!!!

เลคเชอร์แรก หลังพ้นโทษแบน

ในงานสัมมนา “Thailand at the Crossroads: อนาคตไทย เราเลือกได้ ” ซึ่งมีการนำเสนองานวิจัยของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ และ ดร.นิตินัย ศิริสมรรถการ ซึ่งเป็นคีย์แมนคนสำคัญของสถาบันอนาคตไทยศึกษา ตามด้วยการเสวนาของนักธุรกิจชั้นนำที่ร่วมกันแสดงความเห็นต่อปัญหา อุปสรรค และทิศทางที่จะเดินไปข้างหน้าของประเทศไทย และจบลงด้วยการกล่าวสรุปของ ดร.สมคิดว่าวันนี้มีผู้มาฟังจำนวนมาก เป็นสิ่งที่น่ายินดี เพราะหมายความว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำนั้นได้รับความสนใจ ได้รับความเอาใจใส่ มีคนเคยบอกว่าอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าความคิด ความคิดนั้นมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกอย่างแม้กระทั่งโลกใบนี้ โลกที่ไม่มีความคิดใหม่ๆ ก็จะเป็นโลกที่หยุดนิ่ง และนับวันจะถดถอยด้อยพัฒนา

ประเทศชาติบ้านเมืองก็เฉกเช่นเดียวกัน ประเทศใดยามที่รุ่งเรืองบ้านเมืองสมานฉันท์ อุดมด้วยปัญญา ประเทศเหล่านั้นก็มีแต่เจริญรุ่งเรืองอย่างไร้ขีดจำกัด ให้ดูตัวอย่างความสำเร็จของจีน ดูการพุ่งทะยานของเกาหลีใต้ ดูการปรับฐานเศรษฐกิจของบราซิล ดูการก้าวสู่ Global City ของสิงคโปร์เป็นตัวอย่าง

ทั้งหมดล้วนเริ่มมาจากความคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศ ปรับปรุงประเทศให้ดีขึ้น ในบ้านเมืองที่แตกร้าว ความคิดไม่มี ปัญญาไม่ปรากฏ หมกมุ่น งมงายลุ่มหลงอยู่กับผลพวงแห่งความสำเร็จในอดีต วุ่นวายอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้า ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ประเทศเหล่านั้นก็จะเริ่มหยุดนิ่งและถดถอย

ให้ดูเปรียบเทียบฟิลิปปินส์ในอดีตที่รุ่งเรืองกับฟิลิปปินส์ในวันนี้ ให้ดูความตกต่ำของยุโรป ใครจะเชื่อว่าจะมีวันนี้ ให้ดูความวุ่นวายที่ตะวันออกกลางที่อุดมด้วยทรัพยากรน้ำมัน แต่ทุกวันนี้หาความสงบไม่ได้เลย ให้ดูความยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ให้ดูการตกอับของญี่ปุ่น ใครจะเชื่อว่าจะมีอย่างวันนี้ ทั้งหมดมีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกันก็คือความอ่อนด้อย การหยุดนิ่ง และความบกพร่องเชิงความคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคิดเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศ ประเทศไทยนั้นถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ

ช่วงเริ่มต้น ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานคณะกรรมการบริหารไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ได้กล่าวไว้ชัดเจน ในหลายสิบปีที่ผ่านมานั้น จริงๆ แล้วประเทศไทยก้าวมาไกลมาก เราเป็นประเทศแนวหน้าในเอเชีย ไม่มีใครที่ว่าจะเกินหน้าเกินตาเรามากเกินไปนัก แต่จริงๆ แล้ว ในผลพวงความสำเร็จแห่งการพัฒนา มันยังมีจุดอ่อนจุดด้อยที่เราจะต้องพัฒนา

สมรรถนะของประเทศนั้นยังมีอีกหลายจุดที่ต้องเติมเต็มเพื่อให้เหมาะสม สอดคล้องกับการปรับเปลี่ยนของโลกในอนาคตข้างหน้า อนาคตคนไทยนั้นเลือกได้ เราจะปล่อยให้มันเป็นไปตามยถากรรม ไม่มีความคิด ไม่ยุทธศาสตร์ ทั้งๆ ที่พายุกำลังจะมา โลกกำลังเปลี่ยน หรือเราจะเลือกคิดวันนี้ ขับเคลื่อนวันนี้ เปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีในอนาคตข้างหน้า ในยามที่เราเข้มแข็งอยู่ และเลือกที่จะเปลี่ยนได้ นานๆ ทีภาคเอกชนจะยอมออกมาพูดจาชัดๆ สะท้อนความคิดดีๆ เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยนั้นเป็นอย่างไร เราควรจะไปทางไหน

ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ผมได้ยินได้ฟังท่านผู้นำนักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้งหลาย ผมรู้สึกว่าประเทศไทยมีอนาคต และน่าจะมีอนาคตที่ดีมากๆ ด้วยถ้าเรามีผู้นำเอกชนที่สามารถปานนี้ วันนี้ท่านได้กล่าวอะไรชัดๆ หลายอย่าง

สิ่งแรกเลยก็คือ การที่ภาครัฐนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศต่อประชาชน ไม่มีใครบอกว่าภาครัฐไม่สำคัญ ภาครัฐนั้นสำคัญที่สุด ประเด็นอยู่ที่ว่าภาครัฐจะทำอย่างไร ที่จะให้ตนเองนั้นมีสมรรถนะสูงสุด มีการกำกับที่มีธรรมาภิบาล มีความคิดเชิงยุทธศาสตร์ ดูแลและชี้นำพวกเขา นำพวกเขาไปสู่สิ่งที่ดี ภาวะของผม ไม่ได้หมายความเพียงเฉพาะรัฐบาล แต่หมายถึงนักการเมือง ส.ส. ส.ว. ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง

ประเทศไทยนั้นมีศักยภาพสูงยิ่ง ฉะนั้นจะต้องเอาสติปัญญา เอาใจใส่กับสิ่งที่เป็นอนาคตของประเทศมากกว่าปัญหาความวุ่นวายเฉพาะหน้า มากกว่าประโยชน์เฉพาะตน สิ่งนี้สำคัญอย่างยิ่ง และประเทศไทยที่มีประชากร 60 ล้านคน เราเลือกนักการเมืองเพื่อสร้างประเทศ สร้างคนไทย สร้างอนาคต ไม่ใช่อย่างอื่นเลย

ฉะนั้น จิตสำนึกนี้ ภารกิจนี้สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าหากภาครัฐพัฒนาตนเอง ฟังสิ่งที่ภาคเอกชนพูดในวันนี้ เอาใจใส่ ก็จะได้ยินหลายอย่างทีเดียวว่าข้อที่ 1 โลกข้างหน้านั้นเป็นโลกยุคดิจิทัล ไม่ว่าพฤติกรรมของคน ไม่ว่าอนาคตของบริษัท ในทุกๆ เรื่องต้องมีสิ่งที่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล ฉะนั้น การตัดสินใจครั้งใหญ่นั้น จะต้องมีสิ่งเหล่านี้ ว่าอนาคตไอที อนาคตดิจิทัลของเรานั้นจะเป็นอย่างไร จะลงทุนอย่างไร มีแผนการอย่างไรที่ชัดเจนรวดเร็ว ไม่ใช่ขยักขย่อน เพราะทุกนาทีที่ขยักขย่อนนั้นความเสียหายเกิดกับประเทศมหาศาล

ประเด็นที่ 2 ที่ผมเห็นชัดเจนก็คือว่า อนาคตข้างหน้า ท่านผู้นำเอกชนกล่าวชัดว่าเราจะต้องแข่งขันกันด้วย Innovation แข่งกันด้วย Value Added สิ่งเหล่านี้นั้นจะต้องมียุทธศาสตร์ออย่างไรที่จะทำอย่างนั้นได้ การศึกษาใช่ไหม การศึกษาอะไร การวิจัยใช่ไหม มหาวิทยาลัยใช่ไหม เราจะมีทางอย่างไรที่จะเชื่อมโยงสิ่งเหล่านี้เข้าด้วยกัน

ประเด็นที่ 3 ที่ชัดเจนก็คือว่า นักรบของประเทศนั้นก็คือนักธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีและธุรกิจรายใหญ่ จะทำอย่างไรที่จะกำหนดทิศทางให้เขาสามารถเดินไปข้างหน้าได้ ช่วยแนะนำเขา ช่วยสร้างเขาให้เข้มแข็ง ไม่ใช่ไปบั่นทอน ชะลอเขา ฉะนั้น ผมเชื่อว่าทุกคนอยากจะเห็นภาพยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนว่าเราจะเดินไปอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประการสุดท้ายในเรื่องของ AEC และ Global Economy ในอนาคตข้างหน้า

ทุกท่านในที่นี้ย้ำความสำคัญของการก้าวออกไปสู่ต่างประเทศ จะทำอย่างไรให้เมืองไทยนั้นเป็น Hub เป็นจุดศูนย์รวมของ AEC จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยนั้นสามารถก้าวไปใช้ประโยชน์ที่เปิดกว้างจาก AEC โดยที่ทุกฝ่ายนั้นได้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อย แต่ท้ายที่สุดอาจารย์ประเวศ (นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส) ได้บอกว่า ในประเด็นเหล่านี้นั้นอย่าลืมเรื่องของความเท่าเทียมกัน อย่าลืมเรื่องของการบูรณการที่ครบวงจร ไม่ต้องไปเอาอย่างใคร ทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดสำหรับเรา

ท่านผู้มีเกียรติครับ จริงๆ แล้วหลายสิ่งหลายอย่างที่พูดกันในวันนี้ เราไม่ต้องรอภาครัฐ จริงๆ แล้วบทบาทของภาครัฐนั้นมีความสำคัญมากที่สุด แต่น่าเสียดายที่วันนี้ การเมืองนั้นไม่นิ่ง ความพยายามในการขับเคลื่อนจึงเบาบางลงไป เป็นเรื่องของขีดจำกัด น่าเสียดายที่ภาคประชาชนวันนี้อ่อนแอเกินไป จึงไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนด้วยภาคประชาชนที่เข้มแข็งได้

วันนี้ความหวังจริงๆ ของประเทศคือภาคเอกชน พร้อมทั้งปัญญา พร้อมทั้งทรัพยากร แนวความคิดของผมนั้น สถานการณ์วันนี้ของประเทศไทย

ถ้าภาคเอกชนไม่ริเริ่ม ไม่ขยับไม่เขยื้อน ผมเชื่อว่าเมืองไทยจะถดถอยอย่างช่วยไม่ได้ทีเดียว สิ่งหลายสิ่งที่เราพูดกันที่ผมบอกว่าเอกชนนั้นสามารถเริ่มได้เลย ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ดูตัวอย่างที่สภาหอการค้าไทย ทำในเรื่องของการริเริ่มต่อต้านคอรัปชั่น ไม่ต้องการให้ใครมาริเริ่ม เราบอกว่าเราต้องการนวัตกรรมใหม่ๆ แต่เอกชนอยู่ซีกหนึ่ง นักวิชาการอยู่ซีกหนึ่ง เอกชนต้องการนวัตกรรม แต่ไม่มีคนคิดสิ่งเหล่านี้ อาจารย์มหาวิทยาลัยมีความคิดสิ่งเหล่านี้แต่ไม่มีโอกาสเชื่อมโยง การเชื่อมโยงนั้นต้องรอรัฐบาลหรือเปล่า ไม่จำเป็นเลย

เราสามารถเชื่อมโยงได้โดยผู้นำเอกชนกับนักวิชาการ เราต้องการการปฏิรูปการศึกษา ทำไมต้องรอภาครัฐอย่างเดียว ในเมื่อเอกชนก็เป็นเจ้าของโรงเรียน เจ้าของมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง ทำไมเราไม่เริ่มจากตรงนั้น และทำตัวอย่างให้ภาครัฐเห็น ในที่สุดเขาก็จะทำตามเรา เพราะบางครั้งนั้น บุคลากรในภาครัฐ อาจจะไม่เห็นด้วยซ้ำไปว่าการทำปฎิรูปจริงๆ คือทำอย่างไร เขาทำไม่ได้เพราะไม่รู้จะทำอย่างไร คนเก่งๆ ในภาคเอกชนนั้นสามารถที่จะทำให้เป็นตัวอย่างได้

ทำไมต้องรอด้วย!

หลายสิ่งหลายอย่างที่พูดมาทั้งหมดในวันนี้ หลายอย่างเราเดินไปข้างหน้าได้ด้วยเอกชนเป็นผู้ริเริ่มชี้นำ ผลักดัน ทำคนเดียวนั้นทำได้ลำบาก ขีดจำกัดมันสูง แต่ถ้ารวมพลังกันแล้วพลังการขับเคลื่อนจะแรงมาก เสียงของท่านจะดัง สิ่งที่ท่านเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง

ไม่มีรัฐบาลไหนหรอกที่จะอยู่ได้ถ้าภาคเอกชนมีพลังการขับเคลื่อนที่แข็งแรง

แต่ถ้าภาคเอกชนต่างคนต่างอยู่ ก็จะต้องเป็นผู้ถูกกระทำ และเป็นผู้ร้องอยู่ตลอดเวลา

สิ่งเหล่านี้นั้น ผมจะบอกคำเดียวว่าภาคเอกชนคือกำลังที่สำคัญอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทยในวันนี้

หนึ่งปีล่วงมาแล้วที่ผมพบอาจารย์ประเวศ อาจารย์ประเวศบอกว่า “สมคิด ผมอยากให้ช่วย ประสานภาคเอกชน แต่ละบริษัทมี CSR ของตัวเอง ทำอย่างไรที่จะให้มีการรวมพลังกันทำสิ่งดีๆ ให้กับภาคประชาชนหรือชุมชน บอกให้ผมช่วยประสาน ว่าทำอย่างไรที่ภาคเอกชนสามารถเชื่อมโยงกับภาควิชาการ เอาความรู้ดีๆ นั้นมาสร้างประเทศ แทนที่ต่างคนต่างอยู่ ผมฟังท่าน ผมก็คิดว่า ณ วัยนี้ ซึ่งจะว่าชราก็ยังไม่ชรา จะว่าหนุ่มมันก็ไม่หนุ่ม มันก็สมควรแก่เวลาที่จะต้องทำสิ่งเหล่านี้”

นักธุรกิจที่ร่วมเป็นวิทยากรและมาร่วมงานสัมมนา"อนาคตไทย เราเลือกได้"
นักธุรกิจที่ร่วมเป็นวิทยากรและมาร่วมงานสัมมนา “อนาคตไทย เราเลือกได้”

ชีวิตผมเกิดมาไม่เคยต้องมาขอร้องใคร ให้ต้องมาช่วยเหลือผม แต่วันนี้ผมเดินสายพบปะผู้นำเอกชน เพื่อจะบอกเขาบอกว่า วันนี้มันถึงเวลาของพวกท่าน ถ้าท่านไม่ช่วยกันริเริ่ม ไอ้ความคิดริเริ่มของประเทศมันอาจจะหยุดชะงัก เพราะว่าบ้านเมืองเราขณะนี้มันไม่ค่อยปกตินัก

อันนี้คือที่มาของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของนักวิชาการใหม่ๆ นักธุรกิจใหม่ๆ ที่เขาอยากจะนำเสนอตัวเอง เพื่อช่วยวิเคราะห์ วิจัย นำเสนอความคิดดีๆ ให้กับสังคม

วันนี้ท่านผู้นำเอกชนพูดหลายสิ่งหลายอย่างออกมาชัดเจน ผมก็เชื่อว่าอันนี้นี่แหละ จะเป็น Agenda เริ่มต้นที่ดี ที่เขาจะช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร ให้มันมีผลในทางปฏิบัติ

ฉะนั้น บทบาทหน้าที่ของไทยแลนด์ฟิวเจอร์คงไม่ใช่นักวิจัย แต่ต้องไปร่วมกันคิดร่วมกันทำ เพื่อที่จะมีความคิดออกมาโดยเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ และนำเสนออย่างเป็นกลาง ไม่มีฝักไม่มีฝ่าย

องค์กรนี้เป็นองค์กรขนาดเล็ก ทรัพยากรมีจำกัด ฉะนั้นการทำงานก็คงต้องอาศัยเครือข่ายนักวิชาการ นักธุรกิจ นักคิด ที่คิดดีคิดชอบกับบ้านเมืองมาช่วยกัน

และถ้าเราทำเช่นนี้ได้ มันเป็นจุดเริ่มต้น ผมเชื่อว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งดีๆ เป็นตัวอย่างที่ดีว่าทุกๆ คนสามารถทำสิ่งที่ดีให้กับสังคมได้ ไม่จำเป็นจะต้องแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย

ทั้งหมดนี้ต้องขอขอบคุณอาจารย์ประเวศที่ช่วยจุดประกายให้ผม ขอบคุณคณะกรรมการ คณะกรรมการที่ปรึกษา ที่ให้การสนับสนุน ขอบคุณฝ่ายบริหารที่ยอมทุ่มเทเวลา สติปัญญา ทุกสิ่งที่อย่างเพื่อให้เกิดเป็นไทยแลนด์ฟิวเจอร์ได้

มีคนถามว่าทำไมถึงต้องชื่อไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ผมก็บอกว่ามีคนถามผมหลายคน บอกว่าหลายปีมานี้เกิดอะไรหลายอย่างขึ้นมา

“แต่ถามจริงๆ อาจารย์ครับ ไทยแลนด์มีอนาคตหรือไม่ ก็บอกว่ามีอนาคตแน่นอน แต่เราจะต้องมีความคิด ต้องผลักดันความคิดร่วมกันคิด ร่วมกันขับเคลื่อน”

นี่คือที่มาของไทยแลนด์ฟิวเจอร์ ความคิดนั้นมันต้องมีเก่าผสมใหม่ ฉะนั้นมอตโต้ของผม ที่คุยกับทีมงานก็คือว่าอยากจะให้มอตโต้ว่าเป็น “New waves of thought for the new future of Thai” คือเป็นระลอกคลื่นของความคิดที่ผสมผสานกันเพื่ออนาคต และเมืองไทยจึงจะมีอนาคต

ท้ายที่สุดนี้ ต้องขอบพระคุณทุกท่านที่ให้ความสนใจ และอยากฝากฟังองค์กร Non profit อันนี้ให้กับพวกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือของทุกฝ่าย ทำสิ่งที่ดีๆ ให้กับเมืองไทยต่อไป

อ่านเพิ่มเติม