ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (จบ) : การทำนโยบาย เป็น “ศิลป์มากกว่าศาสตร์”

ซีรีส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (จบ) : การทำนโยบาย เป็น “ศิลป์มากกว่าศาสตร์”

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

จากประสบการณ์ทำงานของ ดร.ธาริษา และได้บทเรียนจากวิกฤติ 2 ครั้งใหญ่ๆ ทำให้องค์กรระหว่างประเทศเชิญไปบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งมีรายละเอียดน่าสนใจดังนี้

ภาวิน: พอดีได้ข้อมูลมาว่าหลังจากที่คุณธาริษาออกจากตำแหน่งผู้ว่าฯ ธปท. ไปแล้ว ได้มีบทบาทมีโอกาสไปแสดงปาฐกถาให้กับนักลงทุนต่างประเทศ

ส่วนใหญ่ก็เป็นองค์กรระหว่างประเทศ หรือว่าธนาคารกลางด้วยกัน จะเรียกว่า “โชคดีหรือโชคไม่ดี” ไม่ทราบ ดิฉันเจอวิกฤติ 2 ครั้งใหญ่ๆ คือตอนปี 40 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ตอนปี 51 ด้วย

“เพราะฉะนั้นก็เห็นมาเต็มๆ ทั้งวิกฤติของเราและวิกฤติในระดับสากล ประสบการณ์อันนี้คิดว่าเป็นประโยชน์ ก็ได้มีโอกาสแบ่งปัน”

ส่วนใหญ่เป็นการจัดประชุมหรือสัมมนาขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น บีไอเอส ไอเอ็มเอฟ และธนาคารโลก ที่จัดให้สมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ ก็ได้เอาประสบการณ์ไปแบ่งปันว่าสิ่งที่เราต้องระมัดระวังคืออะไร

แต่เวลาที่สมาชิกจากคือผู้เข้าถ้ามาจากประเทศพัฒนาแล้ว ก็จะเห็นว่ามาเขาก็ยังไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องของมาตรการ Macro prudential เท่าไร ก็มีความกังวลว่า “เอ๊ะ” อันนี้เราจะคล้ายๆ กับว่ายังเป็น “ศิลป์มากกว่าศาสตร์”

ไม่เหมือนกับการรักษาเงินเฟ้อ ที่เราดู CPI (ดัชนีราคาผู้บริโภค) หรือบางประเทศก็ดูตัวแปรดัชนีตัวอื่นๆ ก็ได้ แต่มันชัดเจนว่าจะดูอะไร แล้วก็ระมัดระวังไม่ให้ตัวนี้ออกไปจากเป้า หรือว่าสูงเกินไปต่ำเกินไป

แต่ว่าทำมาตรการ Macro prudential ที่บอกว่าไม่ให้เกิดฟองสบู่นั้น “วัดยาก” ฟองสบู่นั้นวัดอย่างไร วัดตรงไหน เพราะฉะนั้นก็จะมีข้อกังวลอะไรเหล่านี้

เราก็เอาประสบการณ์ไปเล่าให้เขาฟังว่าความจริงแล้วมันมีความเป็น “ศิลปะ” อยู่ แต่ธนาคารกลางเวลาทำนโยบายเราก็จะมีข้อมูลต่างๆ จากหลายแหล่ง หรือแม้กระทั่งการทำนโยบายอัตราดอกเบี้ย ถึงแม้เราจะมีเครื่องบ่งชี้ชัดเจน แต่ว่าการวิเคราะห์เศรษฐกิจเราก็ไม่มีข้อมูลร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม เราก็เอาข้อมูลเท่าที่เรามีให้ดีที่สุด และก็ตัดสินใจทำนโยบาย อย่าไปหวังว่าเราอยากจะได้ข้อมูลเต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์แล้วค่อยทำนโยบาย

“อันนั้นมันเกิดขึ้นไม่ได้ในโลกแห่งความเป็นจริงอยู่แล้ว”

และที่ดิฉันจะพูดบ่อยๆ คือธนาคารกลางต้องมี “ความกล้า” ถ้าบอกว่าข้อมูลไม่มี ขอชะลอไว้ก่อน ในที่สุดอาจจะกลายเป็น ”ข้ออ้าง” ที่ไม่อยากทำนโยบายที่ไม่เป็นที่นิยมก็ได้ ซึ่งเสียหายต่อประเทศชาติค่อนข้างเยอะ

เป็นเรื่องที่เขามาที่หลังเรา ส่วนใหญ่เวลาเขาทำนโยบาย คล้ายๆ ต้องมีกฎเกณฑ์เป๊ะๆ เมื่อเจอสภาพอย่างนี้แล้ว หุ่นจำลองมันบอกว่าก็ควรต้องทำอย่างนี้ ต้องมีข้อมูลในอดีตที่เป็นการศึกษาไว้มาสนับสนุน อันนี้ก็เป็นแนวที่เราทำอยู่แล้วในเรื่องของการทำนโยบาย Macro prudential แต่ว่าระหว่างนี้ก็ต้องใช้ “ประสบการณ์” และใช้ข้อมูลเท่าที่มีอยู่ ทำเท่าที่เราคิดว่า “จำเป็นจะต้องทำมากกว่า”

ภาวิน: ผมขอเป็นตัวแทนของสำนักข่าวไทยพับลิก้า ขอบคุณธาริษาที่ให้ความรู้กับพวกเรา

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)