ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (4) : วิกฤติ’40 ทุกคนมีส่วนร่วมโดยไม่ตั้งใจ

ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (4) : วิกฤติ’40 ทุกคนมีส่วนร่วมโดยไม่ตั้งใจ

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

สาเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 หลายคนอาจโยนความผิดทั้งหมดให้ ธปท. และอีกหลายคนก็โทษสถาบันการเงินที่ไม่ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยมองว่าบริษัทในตลาดหุ้นคือตัวร้าย แต่ในมุมมองของ ดร.ธาริษาต่อเรื่องนี้เป็นอย่างไร มีสาระสำคัญดังนี้

ภาวิน: ในมุมมองของคุณธาริษาองค์ประกอบอะไรในสถาบันการเงินที่ขาดไปในช่วงนั้น ที่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ’40

ดิฉันคิดว่าวิกฤติ ’40 ทุกคนมีส่วนร่วมทั้งสิ้น ไม่ใช่ความผิดพลาดของบุคคลหรือหน่วยงานใดเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้ตั้งใจ

อย่างธปท. แน่นอนว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง เพราะเปิดเสรีด้านการเงินโดยอนุญาตให้ตั้งวิเทศธนกิจ (บีไอบีเอฟ) ในขณะที่ไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินไม่ได้ทำให้สอดคล้องกัน ยังยึดถืออัตราแลกเปลี่ยนคงที่ การกำกับดูแลของเราก็ยังเป็นแบบดูว่าปฏิบัติตามกฎเกณฑ์หรือไม่ ไม่ได้ดูว่าเขาเสี่ยงไม่เสี่ยงแค่ไหนอย่างไรยังไง การกำกับดูแลทั่วไปอย่างสหรัฐฯ หรือประเทศที่เจริญแล้วก็ยังใช้หลักว่าปฎิบัติตามกฏเกณฑ์หรือไม่ ก็เป็นวิธีการที่ล้าสมัยอยู่ แต่อย่างไรก็ตาม ในแง่นั้นธปท. ก็ไม่ได้ก้าวตามแนวคิดใหม่ๆ ยุคสมัยเปลี่ยนสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นแล้วเราไม่ตามให้ทัน

ภาคเอกชนเองก็มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างที่เรียนไปเมื่อสักครู่ คือภาคธุรกิจก็อยากจะกู้ เพราะหาค่าตอบแทนได้

ภาวิน: ในช่วงนั้นส่วนต่างดอกเบี้ยเมืองไทยสูงกว่าต่างประเทศเยอะมาก

ใช่คะ แล้วกู้มาจะเอาไปลงทุน ทำธุรกิจมันทำไม่ทัน สู้เอาไปลงทุนซื้อที่ดินซื้อหุ้นรวยเร็วกว่า ทุกคนก็อยากรวย ภาคธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนก็อยากให้กู้ เพราะว่าได้ดอกเบี้ยเป็นรายได้ของตัวเอง

ภาครัฐก็เกี่ยวข้องในด้านกฎหมายที่ล้าสมัยและไม่ได้ปรับเปลี่ยนมานาน เช่น เรื่องการกำกับดูแลเราเคยอยากแก้กฎหมาย ให้แบงก์ชาติว่า การที่ธนาคารพาณิชย์จะตั้งคณะกรรมการของตัวเองได้ต้องขออนุญาตธปท. เพราะธนาคารจะทำอะไรได้ดีหรือไม่ “คนที่บริหาร” สำคัญที่สุด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ

ส่วนการเข้าไปดูแลแก้ไขปัญหาฐานะสถาบันการเงิน สมมติเรารู้ว่าธนาคารแห่งนี้หรือบริษัทเงินทุนแห่งนี้กำลังมีปัญหาและถ้าจะแก้ไขในครึ่งปีจะแย่ แต่เราไม่สามารถเข้าไปได้ ต้องรอเงินทุนหมดหรือติดลบก่อน คือกฎหมายไม่อำนวยความสะดวกให้แก้ปัญหาเนิ่นๆ ได้

พวกนี้นี้คือการผสมปนเปทั้งสิ้น ธนาคารพาณิชย์จะแก้ปัญหาลูกหนี้ก็ทำได้ไม่สะดวก จะปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้ก็มีกฎเกณฑ์เรื่องภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดยสรุปแล้วดิฉันคิดว่า “ทุกคนมีส่วนทำให้เกิดวิกฤติโดยไม่ได้ตั้งใจ”

หลังจากนั้นทุกคนเรียนรู้ว่าจุดอ่อนคืออะไร ต้องแก้ยังไง ก็เป็นตัวช่วยที่ทำให้ตอนนี้เราค่อนข้างแข็งแกร่ง อย่างวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์เราก็ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

และขณะนี้คิดว่าน่าจะรับมือได้อยู่จากความแข็งแกร่งจากการที่ “ตั้งหน้าตั้งตา” ปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้น

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)