ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (3) : เปิดแนวคิดตั้งปรส. “เสียดายขายสินทรัพย์ได้ราคาต่ำ”

ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (3) : เปิดแนวคิดตั้งปรส. “เสียดายขายสินทรัพย์ได้ราคาต่ำ”

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย

แนวคิดการแก้ปัญหาสาถบันการเงินโดยการจัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.)ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงถึงขนาดว่า เป็น “ขายชาติ” เนื่องจากสินทรัพย์ที่ปรส.ขายทอดตลาดออกไปนั้น ราคาต่ำมาก แต่เบื้องหลังที่มาที่ไปของแนวคิดนี้เป็นอย่างไร มีรายละเอียดดังนี้

ภาวิน: ผมขอเข้าไปในรายละเอียดของการแก้ปัญหาสภาวะวิกฤติสักนิดหนึ่งครับ เรามีการจัดตั้งเหมือนนโยบายในการแก้ปัญหาในช่วงนั้น เราปรับเปลี่ยนไปมาระหว่างการจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์ กับ ปรส. ในเบื้องต้นเลยผมอยากจะให้คุณธาริษาช่วยอธิบายว่าทั้ง 2 เครื่องมือนี้มีความแตกต่างกันอย่างไรครับ

ปรส. เกิดเนื่องจากว่ามีข่าวคราวเรื่องบริษัทเงินทุนค่อนข้างเยอะ คือธนาคารพาณิชย์จะมีความเชื่อมั่นมากกว่าพวกไฟแนนซ์ ทุกคนก็กังวลมาก ดิฉันคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่ง เป็นเงื่อนไขหนึ่งของเจ้าหนี้เราที่บอกว่าสถาบันการเงินที่ไม่แข็งแรงต้องออกไปจากระบบและเก็บเฉพาะส่วนที่เดินหน้าต่อไปได้

นี่คือความคิดที่ว่าถ้า “แอปเปิ้ล” ผลไหนเสีย ก็ต้องเอาออกไป มิฉะนั้นผลอื่นจะเสียหมด ซึ่งเป็นความจริง เพราะหากประชาชนแยกไม่ออกว่าธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนที่มีอยู่ขณะนั้นที่ไหนน่าเชื่อถือ ที่ไหนไม่น่าเชื่อถือ ก็จะถอนเงินเอาไปเก็บไว้กันหมดเพื่อความแน่ใจ แนวคิดเขา (ไอเอ็มเอฟ) คือแบบนั้น

ในส่วนของบริษัทเงินทุนก็เลยประกาศหยุดกิจการชั่วคราว 58 บริษัท และให้เวลาแต่ละที่ทำแผนมาว่าจะแก้ไขปัญหายังไง รายได้จากไหน ผู้ถือหุ้นเดิมพร้อมที่จะใส่เงินเข้าไปใหม่หรือไม่ หรือจะหาผู้ถือหุ้นรายใหม่ หรือจะควบรวมกันเอง หรือจะเอาทรัพย์สินที่เสียหายไปขายที่อื่น แล้วมุ่งแก้ไขปัญหาในส่วนที่หลงเหลืออยู่ ต่างๆ เหล่านี้ต้องทำแผนของแต่ละที่ แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาแผนแต่ละแผนที่เสนอมาว่าเป็นไปได้หรือไม่ ไม่ใช่เขียนซะสวยหรูแต่ในทางปฏิบัติไม่น่าจะเป็นไปได้

แนวคิดที่ว่าจะแยก “แอปเปิ้ล” เน่าออกจากเข่งนั้นดี แต่เอาเข้าจริงเกณฑ์นั้นเข้มงวดมาก และใน 58 บริษัท มีเพียง 2 บริษัทที่ได้อนุมัติแผนผ่าน เพราะดูแล้วพอที่จะไปได้ ส่วนที่เหลือไม่มีทางเลือกอื่น ก็ต้องปิดกิจการไป ผลพวงตรงนี้ค่อนข้างเยอะ เพราะส่วนแบ่งตลาดของบริษัทเงินทุนประมาณ 10%

เรื่องเอาส่วนที่ไม่ดีอออกถ้าทำเพียง 2-3 แห่งก็ดี แต่หากปิดที่ 56 แห่งเป็นเรื่องใหญ่ ลูกหนี้ก็กระทบหมด ลูกหนี้บางรายไม่ได้มีปัญหาเลย เพราะไม่ได้เป็นหนี้ต่างประเทศ ธุรกิจก็พอไปได้อยู่ ถึงเวลาเขาจะไปผ่อนหนี้ จะผ่อนที่ไหน อะไรยังไง ทุกอย่างค่อนข้างโกลาหลมาก ข้อมูลเรื่องนี้ก็ไม่มี จึงส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งผู้ฝาก ลูกค้า ผู้กู้ ของสถาบันการเงิน

ปรส.ก็เป็นองค์กรรูปแบบหนึ่งที่เข้ามาจัดทรัพย์สินของบริษัททั้ง 56 แห่ง ก็ขายไปเท่าที่จะขายได้แล้วเอาเงินกลับคืนมา ทรัพย์ที่ว่าก็อาจเป็นลูกหนี้ของบริษัทเงินทุนทั้งหลาย เนื่องจากนิติบุคคลเหล่านี้ล้มหายตายจากไปแล้ว เลยมีการรวมทรัพย์สินเป็นหมวดหมู่แล้วขายออกไป อาจมีผู้สนใจซื้อในราคาถูก แล้วไปตามเก็บหนี้จากลูกหนี้คนนั้นๆ อีกที
นี่คือกระบวนการแก้ปัญหาหลังจากที่ปิดบริษัทเงินทุนไป พอมีรูปแบบการแก้ไขอย่างนี้ก็เป็นส่วนที่ ปรส. ต้องเข้ามาช่วย

ส่วนรูปแบบของบริษัทบริหารสินทรัพย์ เนื่องจากบริษัทเงินทุนล้มเยอะ และมีทรัพย์สินที่ต้องดูแลเยอะ ดังนั้นคงเป็นภาครัฐที่ต้องเข้ามาถือหุ้นและจัดการ ก็จัดการรวมสินทรัพย์นี่แหละและให้บริษัทบริหารสินทรัพย์จัดการไป คือแทนที่จะขายก็เก็บมาจัดการเอง การขายก็คือขายให้ตลาดไป

“แนวคิดนี้อะไรถูก อะไรผิดดิฉันว่าพูดยาก”

เพราะแนวคิดหนึ่งก็บอกให้ขายกันในตลาดเสีย จะได้จบกันไป ขายได้แค่ไหนยังไงก็เป็นราคาตลาด ในขณะที่หากเอาแนวคิดของบริษัทบริหารสินทรัพย์มาก็คือให้รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง แล้วก็ขายไปถ้าในระยะยาวอาจมีกำไร แต่ถ้าขาดทุนภาครัฐก็รับภาระ

จริงๆ แล้วก็มีแนวคิดว่าไม่อยากใช้เงินภาษีมาตั้งบริษัทนี้ ให้ขายไปซะก็จบ แต่ในความเป็นจริงมันไม่จบ เพราะเมื่อขายเอกชนไปการขาดทุนที่เกิดขึ้นก็ต้องมีคนรับอยู่ดี เพราะว่าบัญชีไฟแนนซ์ทั้งหลาย ด้านขาผู้ฝากนั้นรัฐต้องรับภาระจ่ายผู้ฝากอยู่แล้วเช่นเดียวกับเรื่องทุน-กำไรที่สุดท้ายแล้วก็กระทบภาครัฐทั้งสิ้น

ท้ายที่สุดคนที่รับภาระคือประชาชน คือภาษีนั้นเอง เพียงแค่จะมารูปแบบไหน ทางตรงหรือทางอ้อม และที่บ้านเรายังไม่ตั้งบริษัทจัดการทรัพย์สินขึ้นมาโดยเร็ว ตอนนั้นเพราะแนวคิดแบบนี้ เข้าใจว่ากระทรวงคลังไม่อยากให้จัดตั้ง เพราะต้องใช้เงินภาครัฐ

แต่การไม่แก้ไขปัญหาให้เบ็ดเสร็จก็กระทบต่อเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจไม่ฟื้นโดยเร็ว ก็เป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจ สุดท้ายก็กลายมาเป็นต้นทุนของภาครัฐ ซึ่งคือประชาชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะในรูปแบบภาษี หรือภาระจากการที่ประชาชนหางานทำยากขึ้น รายได้หายไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจทั้งหมด “เลยตอบยากว่าอะไรถูกหรือผิด”

แต่การตั้งปรส. ตอนนั้นเข้าใจว่าตั้งโดยความเร่งรีบ “ไม่รู้อิโหน่อิเหน่” กฎเกณฑ์ก็ต้องฟังเจ้าหนี้ด้วย จึงทำให้เราขายได้ราคาค่อนข้างต่ำ

“ในแง่นั้นมองในลักษณะประเทศชาติก็รู้สึกเสียดายที่เราเอาของไปให้เขาขายแบบไฟล์เซลล์ (fire sale) ราคามันก็ตกลงไปเยอะ ในแง่นั้นก็คงจะพูดได้”

ซีรี่ส์ 15 ปี วิกฤติ 2540 สนับสนุนโดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)