ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (2) : เมื่อต้องถูกต่างชาติ”บี้”

ซีรีส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 ดร.ธาริษา วัฒนเกส (2) : เมื่อต้องถูกต่างชาติ”บี้”

28 สิงหาคม 2012


ในโอกาสครบรอบ 15 ปี วิกฤติ 2540 ซึ่งถูกบันทึกเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์วิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลก ที่มีผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายมหาศาลให้กับประเทศในเอเชีย โดยเฉพาะประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดกำเนิดของวิกฤติ แต่ 15 ปีผ่านมา ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤติครั้งนั้น ทั้งผู้ก่อวิกฤติ ผู้แก้วิกฤติ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ มีการปรับตัว และได้เรียนรู้อะไรจากวิกฤติครั้งนี้บ้าง และประเทศไทยซึ่งฝ่ามรสุมวิกฤติครั้งนั้นมาได้จนถึงปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่อย่างไร เพื่อตอบโจทย์คำถามดังกล่าว สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้รวบรวมบทสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องมานำเสนอในซีรีส์ “15 ปี วิกฤติ 2540 ประเทศไทยอยู่ตรงไหน”

นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
นางธาริษา วัฒนเกส อดีตผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย

วิกฤติ 2540 ส่งผลกระทบสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจมหาศาล เนื่องจากมี 2 วิกฤติเกิดขึ้นพร้อมกัน คือ วิกฤติภาคการเงินกับวิกฤติภาคสถาบันการเงิน โดยเฉพาะวิกฤติสถาบันการเงิน ที่ทางการต้องเร่ง “ดับไฟ” สกัดปัญหาไม่ให้ลุกลาม ช่วงนั้น ธปท. ต้องเจอแรงกดดันอะไรบ้าง และการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ต้องทำคืออะไร มีสาระสำคัญดังนี้

ภาวิน: หลังจากที่มารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย คุณธาริษาน่าจะมีส่วนเข้าไปจัดการหรือมีส่วนเข้าไปแก้ปัญหาวิกฤตินี้โดยตรงพอสมควร ก็ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปรับตำแหน่งในช่วงสมรภูมิ ในช่วงนั้นบทบาทของฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน เราทำอะไรกันบ้างครับ

วิกฤติที่เกิดขึ้นตอนปี 40 คือวิกฤติ 2 อย่างพร้อมกัน ที่เรียกว่า วิกฤติทางภาคการเงิน และวิกฤติภาคสถาบันการเงิน ตรงวิกฤติเศรษฐกิจก็มีการปรับเปลี่ยน คือก่อนหน้านั้นเรามีลักษณะที่ผูกโยงเงินดอลลาร์ ก็เปลี่ยนระบบไปอย่างที่เราทราบ และการที่เรากลายเป็นลูกหนี้ก็มีเงื่อนไขต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจมหภาคที่ต้องทำตามที่เจ้าหนี้ระบุก็เป็นเรื่องที่ “สาหัส”พอสมควร

ส่วนทางภาคสถาบันการเงินก็สาหัสไม่แพ้กัน เพราะมีเรื่องที่เราต้อง “ดับไฟ” โดยเร็วคือ ถ้าภาคสถาบันการเงินยังไม่ได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมา จะเดินหน้าทำอะไรก็ไม่ได้

เพราะฉะนั้นมันสาหัสตรงที่ว่า เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ต้องปฏิรูปภาคสถาบันการเงินให้สิ่งที่ยังพอจะเดินหน้าได้ให้เดินหน้าต่อไป

เพราะฉะนั้นอะไรที่อยู่ไม่ได้จะแก้ยังไง อันนั้นก็ต้องแก้ อีกข้างหนึ่งก็คืออะไรที่ยังอยู่ได้จะทำอย่างไรให้เขาเดินหน้าต่อไปได้ ไม่ใช่แค่สถาบันการเงินนั้นๆ แต่ว่าเป็นเรื่องของทั้งระบบต้องทำให้ทั้งระบบเป็นที่เชื่อถือ

และความเชื่อมั่นที่จำเป็น ไม่ใช่แค่มาจากเฉพาะความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินในประเทศเท่านั้นเอง แต่ว่านักลงทุนต่างประเทศ ต้องบอกว่าช่วงนั้น “หัวกระไดไม่แห้ง” มีมากันบริษัทละคนสองคนบ้าง บางครั้งมากัน 7-8 คนบ้าง เพื่อมาพูดภาษาง่ายๆ ก็คือ มา “บี้” เอาคำตอบว่าเรากำลังทำอะไรอยู่แล้วจะมีอะไรที่ดีขึ้นหรือไม่

ภาวิน: ข้อมูลในช่วงนั้นน่ากลัวแค่ไหน สำหรับสถาบันการเงินในประเทศไทย
ค่อนข้างจะน่ากลัวในแง่ที่ว่า เนื่องจากมันเกิดเร็วจากการปรับเปลี่ยนค่าเงิน เพราะฉะนั้นภาคธุรกิจกระทบหนัก คือช่วงนั้นต้องบอกว่าเป็นช่วงที่ทุกคนกู้กันเพลิน คนกู้ก็อยากจะกู้ แบงก์พาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนก็อยากจะปล่อยกู้ ก็เลยไปกันด้วยดี ไปเป็น “ปี่เป็นขลุ่ย” ก็เป็นหนี้จากภาคต่างประเทศค่อนข้างเยอะ แล้วก็ไปกู้หนี้ยืมสินจากต่างประเทศ แม้กระทั่งธุรกิจที่ไม่มีรายได้จากต่างประเทศ

เพราะฉะนั้นเวลาค่าเงินเปลี่ยนไปอ่อนลงไปมากขนาดนั้น ภาระหนี้ก็เพิ่มขึ้นมาเป็น 1-2 เท่า ภายในระยะเวลาข้ามคืน ดังนั้นผลกระทบภาคธุรกิจก็มาก และการที่เศรษฐกิจย่ำแย่ก็กระทบหมด ในแง่ลูกค้าของแบงก์พาณิชย์ ช่วงนั้นถึงได้เกิดNPL (non-performing loan) เยอะมาก ดังนั้นต้องมีวิธีที่จะทำอย่างไรที่จะให้แบงก์ที่เขาพอจะไปได้ยังไปได้ และอันที่ไม่ไหวจริงๆ ก็ต้องหาทางให้ออกจากระบบโดยไม่สร้างความตื่นตระหนกมากเกินไป มีบริษัทลักษณะอย่างนี้เยอะไหม ก็ “พอสมควร”

ภาวิน: เรื่องความเชื่อ เมื่อสักครู่คุณธาริษาบอกว่าต้องแก้ไขเรื่องความเชื่อมั่น ขออนุญาตให้คุณธาริษาอธิบายว่าทำไมเรื่องความเชื่อมั่นถึงสำคัญกับระบบสถาบันการเงินค่อนข้างมาก

คือระบบสถาบันการเงินอยู่ได้โดยที่ประชาชนเอาเงินไปฝาก แล้วจากตรงนั้นธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนจะเอาไปปล่อยกู้ต่อ ถ้าสมมติว่าคนไม่เชื่อมั่นแล้ว อย่าว่าแต่เงินฝากจะไม่เพิ่มขึ้น คนมาฝากใหม่ก็ไม่มี และจะมีแต่คนถอนเอาไปเก็บไว้ก่อนเพื่อความมั่นใจ

เพราะฉะนั้นผลกระทบต่อภาคสถาบันการเงินมีแน่นอนในแง่ของแหล่งเงินที่จะเอามาใช้จ่ายอื่นๆ ปล่อยกู้ หมุนเวียนทำธุรกิจต่อไปมันก็จะเหือดหายไป และในส่วนของลูกหนี้เอง ถ้าสมมติว่าเป็นเรื่องที่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุนจะช่วยกันแก้ไขปัญหาก็ต้องมีการให้สินเชื่อไปอีกระดับหนึ่ง เพื่อให้เขาต่อ “สายป่าน” ไปได้อีกหน่อย “หายใจ” ต่อไปได้อีกหน่อยหนึ่ง ถ้าไม่มีแหล่งเงินอะไรพวกนี้ที่จะไปสานต่อมันก็คงต้องปิดกิจการกันหมด

ภาวิน: ก็จะยิ่งซ้ำเติมสภาวะวิกฤติเข้าไปใหญ่

ใช่คะ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นเราต้องทำให้ระบบมันนิ่ง คือความเชื่อมั่นกลับคืนมา แล้วจะแก้อะไรยังไงมันถึงจะไปได้

ซีรี่ส์ 15 ปีวิกฤติ 2540 สนับสนุนโดยบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)