ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > รัฐบาลถนัดอุ้ม ควักกระเป๋าจ่าย “2 โครงการประชานิยม” 1 ปี อัดฉีดไปแล้ว 3.1 แสนล้าน

รัฐบาลถนัดอุ้ม ควักกระเป๋าจ่าย “2 โครงการประชานิยม” 1 ปี อัดฉีดไปแล้ว 3.1 แสนล้าน

31 สิงหาคม 2012


ที่มาภาพ : http://images.voicetv.co.th/contents/640/330/horizontal/13745.jpg
ที่มาภาพ : http://images.voicetv.co.th/contents/640/330/horizontal/13745.jpg

ผ่านพ้นขวบปีมาไม่นานสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้การนำของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร”

นโยบายเร่งด่วนของ “รัฐบาลนารี” ที่มีการแถลงไว้ต่อรัฐสภาทั้ง 16 ข้อนั้น ดูประหนึ่งว่าจะถูกจัดอยู่ในลิสต์ “โบว์ดำ” มากกว่า “โบว์แดง”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายในข้อที่ 10 เรื่อง การยกระดับสินค้าการเกษตรและให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยให้มีการประกันภัยพืชผลและนำระบบรับจำนำสินค้าการเกษตรมาใช้ รวมถึงการออกบัตรเครดิตสำหรับเกษตรกร

แม้ว่านโยบายข้อนี้รัฐบาลจะขับเคลื่อนตามที่ “สัญญา” ไว้จริง

แต่กระนั้น เมื่อไปดูผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น กลับพบว่าการเดินหน้านโยบายรับจำนำแทนที่จะ “สร้าง” คะแนนให้กับรัฐบาล กลับกลายเป็น “ฉุด” ความนิยมให้ลดต่ำลง

หากสำรวจตัวเลขงบประมาณประจำปี 2556 ที่จะออกสตาร์ทสู่ปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณในยุทธศาสตร์การสร้างรากฐานการพัฒนาที่สมดุลสู่สังคม แผนงานเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร จำนวน 40,152 ล้านบาท แผนงานสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเกษตร จำนวน 1,650 ล้านบาท และยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ในแผนงานส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าภาคการเกษตร จำนวน 63,344 ล้านบาท

โดยในจำนวนนี้ได้ถูกจัดสรรเพื่อใช้จ่ายในโครงการ “รับจำนำผลผลิตทางการเกษตร” จำนวนทั้งสิ้น 39,772 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นขององค์การคลังสินค้า 5,485 ล้านบาท องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร 1,648 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) 32,639 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในส่วนของ ธกส. ยังได้รับงบประมาณอีกจำนวน 1,650 ล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการ “บัตรสินเชื่อเกษตรกร” อีกด้วย

ทั้งนี้ เมื่อกลับไปพลิกข้อมูลการ “จ่าย” เพื่อ “รับจำนำ” ผลผลิตทางการเกษตรจะพบว่า ตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้ามา มีการใช้งบประมาณไปแล้วกว่า 312,266 ล้านบาท แบ่งเป็น

การรับจำนำข้าวเปลือกนาปี (7 ต.ค 2554 – 31 ก.ค. 2555) 6.95 ล้านตัน เป็นเงิน 118,000 ล้านบาท

การรับจำนำข้าวเปลือกนาปรัง (1 มี.ค. – 31 ต.ค. 2555) จำนวน 10.05 ล้านตัน เป็นเงิน 148,000 ล้านบาท

การรับจำนำมันสำปะหลัง (1 ก.พ. – 30 มิ.ย. 2555) จำนวน 9.73 ล้านตัน เป็นเงิน 27,800 ล้านบาท

การชะลอขุดหัวมันสำปะหลัง (1 มี.ค. – 31 พ.ค. 2555) จำนวน 9,000 ล้านบาท

มาตรการอุ้มยางพารา 8,666 ล้านบาท

และโครงการแทรกแซงหอมแดง จำนวน 800 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ในส่วนของพลังงาน ได้ออก “บัตรเครดิตพลังงาน” โดยให้สินเชื่อกับผู้ขับแท็กซี่ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในการเติมก๊าซ NGV

มีรายงานว่า ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2554 มียอด “รูดปรี๊ด” ในโครงการนี้ 38 ล้านบาท และมีหนี้ค้างชำระแล้วกว่า 8.3 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามแม้ “บัตรเครดิตพลังงาน” จะส่อเป็นหนี้เสียในอนาคต แต่ทว่า รัฐบาลยังเปิดโครงการใน “เฟส 2″ ตามมาติดๆ และมีการเพิ่มฐานกลุ่มผู้ใช้บริการให้มากขึ้น ซึ่งครอบคลุม รถตุ๊กตุ๊ก รถตู้โดยสารสาธารณะ และรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างด้วย

โครงการบัตรเครดิตพลังงานในเฟส 2 นี้ กระทรวงพลังงานตั้งเป้าผู้ใช้บัตรกว่า 1 แสนคน วงเงินสินเชื่อใบละ 3,000 บาท รวมเป็นงบประมาณจำนวน 300 ล้านบาท ดีดลูกคิดคร่าวๆ จะเห็นได้ว่า รัฐบาล “ควักกระเป๋า” เพื่ออุ้มในโครงการจำนำและบัตรเครดิตพลังงานไปแล้วกว่า 312,304 ล้านบาท

นี่คืองบประมาณสำหรับโครงการประชานิยม!!