ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (11): เล็งสอบกลุ่มแพทย์-ผู้รับเหมา ตั้ง “คณะบุคคล” นับพัน สร้างรายจ่ายเทียมเลี่ยงภาษี

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (11): เล็งสอบกลุ่มแพทย์-ผู้รับเหมา ตั้ง “คณะบุคคล” นับพัน สร้างรายจ่ายเทียมเลี่ยงภาษี

2 สิงหาคม 2012


นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร
นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร

ปัจจุบันกรมสรรพากรยังคงเปิดให้ผู้เสียภาษียื่นคำร้องขอจัดตั้ง “คณะบุคคล” เพื่อกระจายฐานเงินได้หลบเลี่ยงภาษี ต่อเรื่องนี้ นางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร กล่าวว่าปัจจุบันมีคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นแล้วกว่า 10,000 คณะ

ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมสรรพากรยืนยันว่า ตอนนี้มีการจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาแล้วเกือบ 100,000 คณะ ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลของคณะบุคคล พบว่ามีแพทย์อยู่รายหนึ่ง ใส่ชื่อในฐานะหุ้นส่วนกระจายอยู่ตามคณะบุคคลมากกว่า 400 คณะ นอกจากนี้ยังพบว่ามีบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่หลายแห่งซื้อสินค้าและบริการจากคณะบุคคลที่เป็นเครือข่ายวนเวียนอยู่ในกลุ่ม บางบริษัทซื้อบริการจากคณะบุคคลที่เป็นเครือข่าย 400 คณะ บางแห่งก็ใช้บริการจากเครือข่ายคณะบุคคลถึง 1,000 คณะ กรณีอย่างนี้เจ้าหน้าที่สรรพากรจะตั้งข้อสังเกตุว่าอาจจะมีการสร้างรายจ่ายเท็จ เพื่อทำหลักฐานส่งให้บริษัทนำไปลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่าย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่าจ้างที่ปรึกษา, ค่าจ้างทำของ, ค่าขนส่ง และค่าใช้จ่ายที่ไม่สามารถระบุได้ เป็นต้น

ส่วนสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนที่มีรายได้ดีนิยมตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลายๆ คณะมีดังนี้

ประการแรก เกิดจากโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยเป็นระบบภาษีอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได หลักการคือ คนมีรายได้น้อยเสียภาษีน้อย คนมีรายได้มากเสียภาษีมาก แต่ถ้ามีเงินได้สุทธิไม่ถึง 150,000 บาทต่อปีไม่ต้องเสียภาษี ส่วนคนที่รายได้สูงกว่านี้จะเริ่มต้นเสียภาษีที่อัตรา 10%, 20%, 30% และ 37%

สำหรับคนที่มีรายได้สุทธิเกินกว่า 1 ล้านบาทต่อปี ถ้าต้องการเลี่ยงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 30% หรือ 37% ต้องมายื่นคำร้องขอตั้งคณะบุคคลกับกรมสรรพากรเอาไว้หลายๆ คณะ เพื่อนำเงินได้ที่ผู้เสียภาษีได้รับในระหว่างปีมากระจายลงตามคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้น ทำให้การคำนวณภาษีของคณะบุคคลในแต่ละคณะ เริ่มต้นคำนวณแบบนับหนึ่งกันใหม่ กล่าวคือ หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีแล้ว ถ้ามีรายได้ไม่ถึง 150,000 บาท ยกเว้นภาษี รายได้ไม่เกิน 500,000 บาทเสีย 10% ของเงินได้ เป็นต้น วิธีนี้ช่วยให้คนที่มีรายได้สูงประหยัดค่าภาษีได้เป็นจำนวนมาก และมากไปกว่านั้น บางกรณีนอกจากจะไม่เสียภาษีแล้ว ยังได้เงินภาษีคืนอีกด้วย (ดูตัวอย่างที่นี่)

ทั้งนี้ กรมสรรพากรถือว่าคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้นมาเป็นหนึ่งหน่วยภาษี ในแต่ละหน่วยภาษีมีสถานะเทียบเท่าบุคคลธรรมดา 1 คน สามารถใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีได้เสมือนบุคคลธรรมดา แต่กรมสรรพากรไม่อนุญาตให้นำค่าลดหย่อนส่วนตัวมาหักภาษี อาทิ ค่าเล่าเรียนบุตร เพราะคณะบุคคลมีบุตรไม่ได้ หรือค่าเบี้ยประกัน ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย เป็นต้น

ประการที่สอง ขั้นตอนของการจัดตั้งคณะบุคคลไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่ทุกคนเข้าใจ เนื่องจากในประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดนิยามของคำว่าคณะบุคคลเอาไว้ จึงต้องไปเทียบเคียงมาจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1012 คำว่า “ห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ใช่นิติบุคคล” หมายถึง “บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป มาตกลงกันทำกิจการร่วมกัน โดยมีการแบ่งผลกำไร” ส่วนคณะบุคคลไม่มีการแบ่งปันผลกำไร ทั้งห้างหุ้นส่วนสามัญและคณะบุคคล หากมีเงินได้เกิดขึ้นต้องนำรายได้มายื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทุกปี หลังจากที่เสียภาษีแล้วมีกำไรเหลือ มีการแบ่งปันผลกำไรให้หุ้นส่วนในคณะบุคคล หุ้นส่วนไม่ต้องนำเงินปันผลไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอีก

ดังนั้น เมื่อแนวทางในการปฎิบัติที่ยึดถือกันมานานมาเป็นเช่นนี้ จึงกลายเป็นช่องโหว่ของกฏหมาย ผู้ที่สนใจจะจัดตั้งคณะบุคคล ก็เพียงแต่ไปชวนคนที่รู้จักตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมาทำสัญญาจัดตั้งคณะบุคคล ตามแบบฟอร์มสัญญาจัดตั้งคณะบุคคล โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าร่วมกันทำกิจกรรมอะไรบางอย่าง อาทิ ร่วมกันเป็นที่ปรึกษาทางธุรกิจ, รับจ้างทำของ และนายหน้า เป็นต้น

จากนั้นก็กรอกรายละเอียดลงในคำร้องตามแบบฟอร์ม ล.ป.10.2 เพื่อขอมีเลขบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล พร้อมกับเตรียมสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านของหุ้นส่วนในคณะบุคคลทั้งหมดไปยื่นคำร้องฯ ได้ที่สรรพากรพื้นที่หรือสรรพากรสาขา ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรไม่มีสิทธิปฏิเสธ เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฏหมาย ทั้งๆ ที่ทราบว่าผู้ที่มายื่นคำร้องมีชื่ออยู่ในคณะบุคคลกว่า 100 คณะ แต่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรต้องยอมออกหมายเลขบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ประเภทคณะบุคคล ให้กับผู้ที่มายื่นคำร้องทุกราย

หลังจากที่กรมสรรพากรออกหลายเลขบัตรประจำตัวผู้เสียภาษีอากร ประเภทคณะบุคคลให้แล้ว ทุกครั้งที่มีการรับเงินค่าตอนแทน ผู้เสียภาษีจะขอให้ผู้จ่ายเงินออก “ใบภาษีหัก ณ ที่จ่าย” สั่งจ่ายเงินพร้อมกับหักภาษีในนามของคณะบุคคลที่จัดตั้งขึ้น จากนั้นเมื่อถึงเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี (ภ.ง.ด.90, 91) กระบวนการในการคำนวณภาษีของแต่ละคณะบุคคลก็จะเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ โดยคณะบุคคลแต่ละคณะจะนำรายได้ระหว่างปีทั้งหมดมาหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนภาษีตามปกติเสมือนบุคคลธรรมดา