ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > กสทช. ส่อเค้าล้มกระดานประมูลเบอร์สวยมูลค่ากว่าพันล้าน พร้อมแจกคืนเอกชน

กสทช. ส่อเค้าล้มกระดานประมูลเบอร์สวยมูลค่ากว่าพันล้าน พร้อมแจกคืนเอกชน

27 สิงหาคม 2012


นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.

การจัดสรรหมายเลขโทรศัพท์สวยด้วยวิธีประมูล ถือเป็นกระบวนการที่ กสทช. สามารถทำได้ตามที่กฎหมายระบุไว้ (ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551) ในฐานะที่ กสทช. เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการเลขหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ

แต่ที่ผ่านมา หลังจากที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 4 ปีแล้ว ปรากฏว่า กสทช. ยังคงไม่มีการจัดประมูลเบอร์สวยให้เกิดขึ้นแต่อย่างใด ประกอบกับการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายถึงความล่าช้า และรูปแบบการจัดสรรเลขหมายแบบเดิมที่คิดค่าธรรมเนียมในการขอเลขหมายทั้งหมด ครั้งละ 5,000 บาท และค่าธรรมเนียมรายเดือน จำนวน 2 บาท/เลขหมาย ซึ่งอาจทำให้รัฐเสียประโยชน์ (อ่านเพิ่มเติม)

และจากข้อเท็จจริงที่พบว่า กสทช. มีการเก็บเลขหมายบางกลุ่มที่เข้าข่ายเป็นเบอร์สวย และมีมูลค่าในท้องตลาดไว้ ไม่นำออกมาจัดสรรตามปกติ จำนวนทั้งสิ้น 1.64 ล้านเลขหมาย และล่าสุดเพิ่มเป็น 1.74 ล้านเลขหมาย ตามข้อมูลเดือนสิงหาคม 2555 ซึ่งมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่า กสทช. เตรียมจะนำเบอร์สวยเหล่านี้ออกมาประมูลในไม่ช้า โดยมูลค่าจริงของเบอร์สวยเหล่านี้น่าจะไม่ต่ำกว่าพันล้านบาท

ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า ขณะนี้ กสทช. มีนโยบาย หรือมีทีท่าอย่างไร ที่จะจัดการกับเบอร์สวย เนื่องจากเบอร์สวยเป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติที่มีมูลค่ามหาศาล การจัดสรรจึงควรทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ

ตามขั้นตอนที่ควรจะเป็น การจัดให้มีการประมูลเบอร์สวยสามารถกระทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายที่ให้อำนาจ กสทช. รองรับอยู่แล้ว เพียงแค่มีการออกประกาศหลักเกณฑ์เพิ่มเติม กสทช. ก็สามารถจัดให้มีการประมูลเบอร์สวยได้ทันที

แต่การประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว ก็ใช่ว่าจะสามารถทำได้ในข้ามคืน เพราะ พ.ร.บ. กสทช. มาตรา 28 กำหนดให้การจะออกประกาศต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในกรณีนี้คือผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือ และประชาชนทั่วไป

ขณะนี้ ขั้นตอนของการจัดทำหลักเกณฑ์ประมูลเบอร์สวยจึงยังคงไม่เสร็จสิ้น และยังอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดหลักของ กสทช. ที่ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ที่จะต้องจัดทำร่างประกาศ และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไข และประกาศให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

จากคำยืนยันของ นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ได้ยืนยันว่า ที่ผ่านมา ตั้งแต่สมัย กทช. (คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ก่อนที่จะกลายมาเป็น กสทช. ได้มีการหยิบยกเรื่องการประมูลเบอร์สวยมาเป็นประเด็นในการพิจารณาจริง เนื่องจากเป็นเรื่องผลประโยชน์สาธารณะ และมีกฎหมายรองรับให้สามารถทำได้ เมื่อเปลี่ยนจาก กทช. กลายมาเป็น กสทช. การดำเนินการที่จะผลักดันให้มีการประมูลเบอร์สวยยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง

“จนกระทั่งเดือนพฤษภาคม 2555 ในที่ประชุม กทค. มีการเสนอความคิดเห็นให้มีการทบทวนเรื่องการจัดประมูลเบอร์สวย ซึ่งอาจส่งผลให้มีการยกเลิกการประมูล หรืออาจมีการประมูลต่อไปก็ได้ ซึ่งข้อสรุปในเรื่องนี้ต้องรอให้ กทค. มีมติอย่างเป็นทางการ โดยขณะนี้ในที่ประชุม กทค. กำลังพิจารณาทบทวนเรื่องนี้ไม่เสร็จสิ้น จึงยังไม่สามารถให้คำตอบได้ว่าจะมีการประมูล หรือจะยกเลิกการประมูล” นายประวิทย์กล่าว

สอดคล้องกับความเห็นของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการประมูล ที่เริ่มปรากฏชัดเจนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการเสนอให้ยกเลิกประมูลเบอร์สวยโดยให้เหตุผลว่า กสทช. ไม่ควรเป็นองค์กรที่มุ่งแสวงหารายได้ในเชิงธุรกิจ การจัดสรรเลขหมายควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด ขณะที่ปัจจุบันยังไม่มีประกาศของ กสทช. เรื่องการจัดสรรเลขหมายสวยให้มีผลในทางปฏิบัติ ทำให้ต้องมีการออกประกาศใหม่ และต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 4 เดือนในการรับฟังความเห็นสาธารณะ ทำให้เบอร์สวยที่ถูกเก็บไว้ไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ อาจขาดแคลน และเป็นอุปสรรคในการแข่งขันของเอกชน ขณะที่การประมูลเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน กสทช. อาจถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการจัดการเงินในภายหลังได้

เมื่อย้อนกลับไปก็พบว่า ในอดีต ตั้งแต่สมัย กทช. ไปจนถึง กสทช. เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่มีความพยายามผลักดันให้เกิดการประมูลเบอร์สวยมาตลอด มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดประมูลเบอร์สวย และร่างหลักเกณฑ์ในการประมูล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเก็บเบอร์สวย 1.74 ล้านเลขหมาย ที่เตรียมการไว้สำหรับอนาคต หากประกาศเรื่องการประมูลมีผลบังคับใช้

แต่ปรากฏว่า ในเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ประชุม กทค. กลับมีการเปลี่ยนแปลงแนวทาง จากต้นเดือน ซึ่งที่ประชุมมีความเห็นเร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ จัดทำหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเบอร์สวยเพื่อเตรียมพิจารณาโดยเร็ว แต่ปรากฏว่าในช่วงปลายเดือน ที่ประชุม กทค. กลับเปลี่ยนแนวทางในการประมูลเบอร์สวย และเสนอให้พิจารณาทบทวน เนื่องจากมองว่าการนำเบอร์สวยออกประมูล อาจก่อให้เกิดภาระในการบริหารจัดการในอนาคตได้ โดยมีความเป็นไปได้ที่ กทค. อาจนำเบอร์สวยที่เคยดึงไว้ 1.74 ล้านเลขหมาย คืนให้แก่ผู้ประกอบการ ที่เคยถูกดึงเบอร์สวยออกมาจากการจัดสรร

เป็นการเตรียมกลับลำ และเปลี่ยนแนวทางจากหน้ามือเป็นหลังมือ ในระยะเวลาไม่ถึง 30 วัน และจากเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ในที่ประชุม กทค ได้มีการนำวาระให้ทบทวนการประมูลเบอร์สวย มาพิจารณาอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้จนกระถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลากว่า 3 เดือนแล้ว

หากมีการยกเลิกไม่ให้มีการประมูลเบอร์สวยจริง คนที่ได้ประโยชน์ทันทีก็คือภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หรือค่ายโทรศัพท์มือถือ ที่จะได้รับเบอร์โทรศัพท์สวย โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เพิ่มขึ้นจากเบอร์โทรศัพท์ธรรมดาทั่วไป และสามารถนำไปขายต่อในท้องตลาดในราคาแพงมหาศาล

ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์ ก็คงหนีไม่พ้นประเทศชาติ เพราะเบอร์สวยเป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น และมีมูลค่ามหาศาลในท้องตลาด ถึงแม้ว่า กสทช. จะไม่เป็นผู้จัดประมูลเอง แต่ขณะนี้ก็พบว่ามีภาคเอกชนนำเบอร์สวยที่มีมาจัดการประมูลอยู่แล้ว ซึ่งผลประโยชน์ส่วนเกินที่เกิดขึ้น แทนที่จะตกเป็นของรัฐ ก็กลับเข้าสู่กระเป๋าของภาคเอกชน

ดังนั้น สิ่งที่ กสทช. ต้องตอบคำถามกับประชาชนให้ได้ขณะนี้คือ เพราะเหตุใดการประมูลเบอร์สวยที่มีการเตรียมการมากว่า 3 ปี กลับถูกนำมาพิจารณา และมีการเสนอให้ยกเลิกอย่าเร่งรีบในช่วงเวลาเพียง 3 เดือน

ความไม่ชอบมาพากลของ กสทช. เตรียมมา 3 ปี ทำไมจะล้มใน 3 เดือน

ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2551 เป็นต้นมา ทำให้ กทช. (หลังจากนั้นจึงกลายมาเป็น กสทช.) มีอำนาจในการจัดสรรเบอร์สวย ตามประกาศในข้อ 34 ที่ระบุว่า

“การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน ให้จัดสรรเป็นไปตามลําดับก่อนหลัง หรือตามความเหมาะสมในการบริหารเลขหมายโทรคมนาคม เว้นแต่ในกรณีที่มีเลขหมายขาดแคลนหรือในกรณีมีกลุ่มเลขหมายโทรคมนาคมที่เป็นเลขหมายสวย กทช. อาจกําหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิเศษเป็นรายกรณีสําหรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมดังกล่าวก็ได้ กรณีเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐานขาดแคลนหรือถือเป็นกลุ่มเลขหมายสวย กทช. จะประกาศกําหนดเป็นคราวๆ ตามความเหมาะสม”

สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด และเจตนารมณ์ของผู้ร่างประกาศ ที่เตรียมจะนำเบอร์โทรศัพท์สวยมาจัดสรรด้วยวิธีพิเศษ หรือการประมูล มาใช้ในประเทศไทย หากนับตั้งแต่วันที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ในปี 2551 จนถึงเดือนพฤษภาคม 2555 ที่ กสทช. เริ่มมีการเปลี่ยนแนวคิดที่จะพิจารณาทบทวน หรืออาจยกเลิกประมูลเบอร์สวย ก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามของ กทช. ในการผลักดันให้มีการประมูลเบอร์สวยเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ปี

ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2552 ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเลขหมายโทรคมนาคมมาจัดสรรเป็นเลขหมายสวยขึ้น เพื่อทำการศึกษาในเรื่องประมูลเบอร์สวย

มีนาคม 2553 ที่ประชุม กทช. มอบหมายให้ นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร กรรมการ กทช. เป็นผู้กลั่นกรองเรื่องนี้ก่อนนำเสนอที่ประชุม

พฤษภาคม 2553 กทช. ได้ยกเลิกคณะกรรมการศึกษาความเป็นไปได้ฯ หลังจากคณะกรรมการได้รายงานผลการศึกษาต่อที่ประชุม กทช. เรียบร้อยแล้ว โดยให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการต่อ

มิถุนายน 2553 ได้มีการกำหนดนิยาม และตรวจสอบจำนวนเบอร์สวย ตามรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้

สิงหาคม 2553 กทช.สุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร มีความเห็นให้เร่งนำเสนอหลักเกณฑ์เลขหมายสวยให้ กทช. พิจารณาโดยเร็ว

ธันวาคม 2553 ที่ประชุม กทช. เห็นชอบในหลักการของหลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นกรณีพิเศษ (เลขหมายสวย) ที่สำนักงาน กทช. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้วตามความเห็นของคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม และความเห็นคณะกรรมการกลั่นกรองตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยขอให้ กทช. ไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง หากไม่มี กทช. ท่านใดแก้ไข หรือมิใช่การแก้ไขในสาระสำคัญให้สำนักงาน กสทช. นำไปดำเนินการเพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการพิจารณาการจัดสรรเลขหมายฯ เป็นกรณีพิเศษ (เลขหมายสวย) ต่อไป

7 ตุลาคม 2554 มีการแต่งตั้ง กสทช. ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูและวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 จำนวน 11 คน (กสทช. ปัจจุบัน)

10 พฤศจิกายน 2554 สำนักงาน กสทช. ได้เข้าชี้แจงภารกิจด้านเลขหมายฯ ต่อที่ประชุม กทค. โดยที่ประชุม กทค. มีความเห็นต่อการดำเนินการจัดทำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การจัดสรรเลขหมายฯ เป็นกรณีพิเศษ (เลขหมายสวย) ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลเบอร์โทรศัพท์มือถือ ดังนี้

กรณีเลขหมายฯ เคลื่อนที่ กทค. เห็นด้วยที่จะกำหนดเป็นเลขหมายสวย เพื่อนำออกประมูล และควรให้ประชาชนสามารถประมูลได้ และควรให้สิทธิโอนเปลี่ยนมือได้ ดังนั้น การจัดทำร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าว ควรมีเนื้อหาสาระหลัก เช่น กำหนดนิยามเลขหมายสวย รูปแบบวิธีการประมูล ประเภทและจำนวนเลขหมายฯ ที่จะประมูล ทั้งนี้ ควรระบุประเภทเลขหมายสวยและจำนวนเลขหมายแนบไว้ในท้ายประกาศฯ ด้วย

รายได้จากการประมูล เมื่อเป็นรายได้ของสำนักงาน กสทช. แล้ว ควรนำไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ และขอให้ตรวจสอบว่าแหล่งรายได้ของกองทุนฯ ตาม พ.ร.บ.องค์กรฯ ปี 2553 นั้นได้รับมาจากแหล่งใดบ้าง โดยค่าธรรมเนียมเลขหมายฯ ตามประกาศฯ ปัจจุบัน เช่น ค่าธรรมเนียมเลขหมายฯ รายเดือน ควรต้องชำระต่อไปหรือไม่ ใครเป็นผู้ชำระ หากเรื่องนี้เป็นข้อจำกัดในร่างประกาศฯ ที่จะจัดทำขึ้นควรพิจารณากำหนดให้เหมาะสมต่อไป

2 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุม กทค. มีมติมอบหมายให้กลุ่มงานบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม เร่งรัดดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับเลขหมายสวย และให้นำเสนอต่อที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาโดยเร็ว

แต่แนวทางการทำงานของ กทค. ที่จะผลักดันให้มีการประมูลเบอร์สวยก็เริ่มเปลี่ยนไป จากวันที่ 2 พฤษภาคม ที่ยังมีมติให้เร่งรัดดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเตรียมพิจารณาโดยเร็ว แต่ในวันที่ 30 พฤษภาคม กทค. ได้มีมติให้นำเรื่องประมูลเบอร์สวยมาพิจารณาใหม่ หลังจากที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม เสนอให้ยกเลิกการประมูล

28 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม มีมติให้สำนักงาน กสทช. จัดทำวาระเสนอประเด็นที่จะขอแก้ไขปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 รวมถึงได้ให้ความเห็นว่า “ไม่ควรนำเลขหมายโทรคมนาคมมาพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การจัดสรรเป็นเลขหมายสวย”

30 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุม กทค. ให้กลุ่มงานบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม นำเสนอเรื่องเกี่ยวข้องกับการพิจารณาจัดสรรเลขหมายสวย ที่ กทช. ได้เคยมีมติไว้เดิม มาให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาทบทวนโดยเร็ว เนื่องจากการนำเบอร์สวยออกประมูล อาจก่อให้เกิดภาระในการบริหารจัดการในอนาคตได้

โดย กทค. อาจมีความจำเป็นต้องพิจารณานำเบอร์สวยที่เคยดึงไว้ 1.74 ล้านเลขหมาย คืนให้แก่ผู้ประกอบการ ที่เคยถูกดึงเบอร์สวยออกมาจากการจัดสรร กลับคืนให้ผู้ประกอบการรายเดิมต่อไป

7 มิถุนายน 2555 สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำวาระทบทวนการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นกรณีพิเศษ ให้คณะกรรมการกลั่นกรองให้ความเห็น

6 กรกฎาคม 2555 สำนักงาน กสทช. มีบันทึกข้อความ เพื่อนำเรื่องทบทวนการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นกรณีพิเศษ เข้าที่ประชุม กทค.

โดยมีผู้ที่นำเรื่องนี้ไปเชื่อมโยงกับการประมูลใบอนุญาต 3G ที่จะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2555 ว่า การยกเลิกประมูลเบอร์สวย จะทำให้ผู้ประกอบการได้ประโยชน์จากการนำเบอร์สวยไปขายในท้องตลาด เสมือนเป็นการให้ส่วนลดต้นทุนการประมูล 3G ในทางอ้อม