ThaiPublica > คอลัมน์ > อัยการชาวเกาะ … “ผมไปเป็นทนายให้แพทย์และพยาบาล”

อัยการชาวเกาะ … “ผมไปเป็นทนายให้แพทย์และพยาบาล”

27 สิงหาคม 2012


บัณฑูร ทองตัน
อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดีแรงงานภาค ๘ (ภูเก็ต)
ปฏิบัติหน้าที่รองอัยการพิเศษฝ่ายคดีแพ่งภาค ๘ สำนักงานอัยการสูงสุด

วันนี้ผมไปว่าความที่ศาลมาครับ เป็นกรณีที่ผู้ป่วยฟ้องกระทรวงสาธารณสุข แพทย์ และพยาบาล เรียกค่าเสียหาย ๑๑ ล้านบาทเศษ กรณีคลอดบุตรแล้วสมองเด็กขาดออกซิเจนทำให้เด็กพิการ ผมเข้ามาเกี่ยวข้องเนื่องจากคดีนี้มีการเรียกค่าเสียหายเกินสิบล้าน อำนาจการพิจารณาสั่งคดีอยู่ที่ท่านรองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีแรงงานเขต ๘ เจ้าของสำนวนจึงต้องเสนอสำนวนตามลำดับชั้นจนถึงรองอธิบดีอัยการฯ ผมเป็นผู้เชี่ยวชาญสำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีแพ่ง เขต ๘ จึงต้องตรวจผ่านสำนวนนี้

ในเบื้องต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว ผู้ป่วยฟ้องว่าแพทย์และพยาบาลไม่เอาใจใส่ดูแลในขณะเขาปวดท้องคลอด จนบุตรของเขาออกมาคาอยู่ที่ปากช่องคลอดนานถึง ๔๐ นาที ทำให้บุตรเขาขาดอากาศหายใจ สมองขาดออกซิเจน ทำให้บุตรของเขาพิการทางสมอง แถมพยาบาลคนที่ถูกฟ้องก็มัวแต่นั่งเล่นคอมพิวเตอร์ไม่มาช่วยเขา บอกให้เบ่งคลอดแล้วไม่สอนวิธีเบ่ง เรียกค่าเสียหายจากการที่บุตรพิการไม่สามารถส่งเสียเลี้ยงดูบิดามารดา ๓๕ ปี เป็นเงิน ๙,๐๐๐,๐๐๐ บาท ค่าเศร้าโศกเสียใจอีก ๘๐๐,๐๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการเดินทางไปมารักษาบุตร ฯลฯ รวมแล้ว ๑๑ ล้านบาทเศษ

ผมได้เชิญคุณหมอมาอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ประกอบกับเอกสารที่ปรากฏอยู่ในสำนวน และเอกสารที่เกี่ยวกับวิชาการเกี่ยวกับการคลอดบุตร ได้ความรู้เยอะมาก และเราเดาด้วยว่าคนบรรยายฟ้องก็ไม่เข้าใจกระบวนการคลอดบุตร เพราะพวกเราเองอ่านคำฟ้อง อ่านคำชี้แจงแล้ว แรกๆ ก็มึนกับปากมดลูกขยายกับปากช่องคลอดขยาย มันอย่างเดียวกันไหมว้า.. การตัดฝีเย็บในขณะปากช่องคลอดบางมากและมองเห็นศีรษะเด็กมีขนาดโตเท่าไข่ห่าน ถ้าตัดฝีเย็บในขณะที่ปากช่องคลอดยังไม่ขยายตัวเต็มที่จะเป็นอันตรายแก่มารดาเด็กได้ คดีนี้คุณหมอตัดฝีเย็บ แรกๆ เราเข้าใจว่าศีรษะเด็กโผล่ออกมาขนาดเท่าไข่ห่านแล้วหมอจึงตัดฝีเย็บ แต่พอคุยกับหมอจริงๆ กลับได้ความว่า ปากมดลูกมารดาเปิดกว้าง ๑๐ เซนติเมตร พร้อมที่จะคลอดแต่ยังไม่คลอด ยังไม่เห็นศีรษะเด็กที่ปากช่องคลอดแต่จำเป็นต้องตัดฝีเย็บเพื่อใช้เครื่องดูดดูดทารกออกมา พอตัดฝีเย็บไม่ทันได้ใส่เครื่องดูดเด็กก็คลอดพรวดออกมาทันที เลยต้องนั่งฟังหมอเลคเชอร์เรื่องการคลอดและเอาเอกสารวิชาการที่หมอถ่ายไว้ให้มานั่งอ่าน นี่กว่าจะทำคดีนี้จบ ผมคงทำคลอดเองได้เลย(ฮ่าๆ)

ทราบมาว่าในการนัดไกล่เกลี่ยครั้งที่ผ่านมา มารดาเด็กไม่อยากฟ้องหมอเพราะหมอดูแลผู้ป่วยดีมาก แต่หมั่นไส้พยาบาล หมออยากให้เรื่องจบยอมควักกระเป๋าจ่ายให้ส่วนตัวสองแสนบาท มารดาเด็กก็ไม่เอา อยากจะเอาจากพยาบาลเพราะเจ็บใจที่มัวแต่นั่งเล่นคอมพิวเตอร์ ไม่ยอมมาช่วยในขณะที่ตัวเองปวดท้องคลอด และเขาก็บรรยายฟ้องในส่วนนี้ไว้ด้วย ผมจึงต้องหาข้อมูลว่าพยาบาลนั่งเล่นคอมฯ หรือเขาทำงาน ก็ได้ความว่าพยาบาลคนที่ถูกฟ้องไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบผู้ป่วยรายนี้แต่เป็นพยาบาลอีกท่านหนึ่ง และพยาบาลท่านดังกล่าวก็ดูแลผู้ป่วยอย่างดีแต่จะให้ถึงขนาดนั่งเฝ้าผู้ป่วยรายนี้คนเดียวคงไม่ได้ เพราะในวันดังกล่าวมีการคลอดต่อเนื่องหลายราย หมอก็กำลังทำคลอดท่าก้น (อย่านึกว่าหมอทำคลอดแล้วทำก้นกระดก) คือมีผู้ป่วยอีกรายกำลังจะคลอด แต่เด็กอยู่ในท่าเอาก้นออกจากช่องคลอด ซึ่งอันตรายกว่าการคลอดของผู้เสียหายซึ่งเป็นการคลอดธรรมดาและเป็นท้องที่สองแล้วด้วย หมอทำคลอดท่าก้นเสร็จก็วิ่งมาจัดการมารดาเด็กในคดีนี้เลย จะว่าช้าก็ไม่ช้า ได้มาตรฐานการรักษาทุกประการ การคลอดท้องแรกให้เวลาในการคลอดถึง ๑๒๐ นาที ส่วนการคลอดบุตรท้องต่อๆ มาให้เวลาไม่เกิน ๖๐ นาที ถ้าเด็กยังไม่คลอดออกมาตามเวลาดังกล่าว แพทย์จะต้องช่วยดำเนินการให้ออกมาแล้วครับ แต่ผู้ป่วยรายนี้ยังไม่เกินเวลามาตรฐาน

พยาบาลคนที่ถูกฟ้องมีหน้าที่ดูแลคนไข้อีกส่วนหนึ่ง (คนละโซนกัน แต่บางทีเธอก็มาช่วยคนไข้ข้ามโซน) เมื่อเวลาเด็กคลอดออกมาแล้วก็หมดหน้าที่สูตินรีแพทย์ เด็กและมารดาจะถูกส่งต่อไปยังแพทย์เฉพาะทาง ในขั้นตอนนี้ก่อนส่งตัวไปก็ต้องมีการลงทะเบียนในเครื่องคอมพิวเตอร์ ป้อนข้อมูลเด็ก มารดาเด็ก ยาที่หมอสั่ง รายละเอียดเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ไม่เช่นนั้นแล้วแพทย์พยาบาลที่รับไปต่อจะไม่มีข้อมูลการรักษาพยาบาล ก็ต้องถือว่าเขาทำงานส่วนที่เขารับผิดชอบอยู่ ไม่ใช่เล่นเกมคอมพิวเตอร์ (คำว่าเล่นคอมฯ ในความหมายของผู้ป่วยคงหมายถึง พยาบาลอยู่ว่างๆ คนไข้แหกปากร้องก็ไม่ดูแล มัวแต่นั่งเล่นเกม อินเทอร์เน็ต หรือแชท เรื่องไร้สาระ ทำนองนั้น เธอถึงได้แค้นนักหนา เพราะไม่เข้าใจว่าพยาบาลคนที่ถูกฟ้องเขาทำหน้าที่อะไร)

ในส่วนของการคลอด ที่ฝ่ายโจทก์เขาบรรยายว่าศีรษะเด็กมาคาที่ปากช่องคลอดนาน ๔๐ นาที ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจ ผมร่างคำให้การสู้คดีว่าไม่ใช่หรอก เพราะในขณะที่กระบวนการคลอดยังไม่สมบูรณ์ เด็กยังอยู่ในครรภ์มารดา เด็กยังไม่หายใจ เพราะเด็กยังอาศัยออกซิเจนจากรกที่เชื่อมระหว่างแม่สู่ลูกต่างหาก ดังนั้น ที่ว่าศีรษะเด็กมาคาอยู่ปากช่องคลอด ศีรษะถูกบีบจนออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่ได้นั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน และมีการต่อสู้ถึงการปฏิบัติของแพทย์และพยาบาลตามมาตรฐานวิชาชีพ ทั้งมาตรฐานของโรงพยาบาลและมาตรฐานสากล และอีกหลายข้อ

ที่สำคัญผมตัดฟ้องว่า คดีนี้ โจทก์ฟ้องแพทย์และพยาบาลให้รับผิดเป็นส่วนตัวไม่ได้ เพราะโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าแพทย์กับพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ไม่เอาใจใส่ดูแล จึงต้องว่ากันไปตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ ซึ่งบัญญัติว่า

“หน่วยงานของรัฐต้องรับผิดต่อผู้เสียหายในผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีนี้ผู้เสียหายอาจฟ้องหน่วยงานของรัฐดังกล่าวได้โดยตรง แต่จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้”

เรื่องนี้เคยไปบรรยายให้แพทย์พยาบาลฟังทั้งที่โรงพยาบาลของรัฐและโรงพยาบาลเอกชนตั้งแต่ยังเป็นอัยการจังหวัดประจำกรม หลายคนมาบอกว่าค่อยใจชื้นหน่อยที่มีกฎหมายตัวนี้ วันนี้ได้ใช้จริงและเห็นผล เพราะศาลก็เห็นด้วยกับข้อต่อสู้ที่เราสู้ให้หมอและพยาบาล ศาลท่านถามความเห็นทนายโจทก์ว่ามีความเห็นอย่างไร จะถอนฟ้องไปหรือไม่ เพราะกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนตามข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยที่ ๒ และ ๓ แต่ถ้าไม่ยอมถอนศาลก็จะใช้มาตรการตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๘

“ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย การยื่นคำฟ้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใดๆ ในคดีผู้บริโภคซึ่งดำเนินการโดยผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่รวมถึงความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นที่สุด

ถ้าความปรากฏแก่ศาลว่า ผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภคนำคดีมาฟ้องโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เรียกร้องค่าเสียหายเกินสมควร ประพฤติตนไม่เรียบร้อย ดำเนินกระบวนพิจารณาอันมีลักษณะเป็นการประวิงคดีหรือที่ไม่จำเป็น หรือมีพฤติการณ์อื่นที่ศาลเห็นสมควร ศาลอาจมีคำสั่งให้บุคคลนั้นชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ได้รับการยกเว้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนต่อศาลภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนดก็ได้ หากไม่ปฏิบัติตาม ให้ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ”

ศาลถามทนายโจทก์ว่ารู้อยู่แล้วใช่ไหม เกี่ยวกับกฎหมายความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ทนายก็ตอบว่ารู้ ศาลก็เลยให้ทนายคิดว่าจะเอาอย่างไร ทนายโจทก์ก็เลยยอมถอนฟ้องจำเลยที่ ๒, ๓ ออกจากคดี (เพราะคดีคุ้มครองผู้บริโภคเขามีเจตนาให้ชาวบ้านฟ้องง่าย ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมศาล แต่บางทีก็มีฟ้องแบบป่วนไปหมดทุกคน เกี่ยวนิดเกี่ยวหน่อยก็ฟ้องหมด เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนถูกฟ้องเหมือนกัน ถ้าไม่มีมาตรการข้างต้นกำหนดไว้ ผมว่าคดีเต็มศาลบานเบอะแน่นอนครับ) เหลือแต่กระทรวงสาธารณสุข จำเลยที่ ๑ ที่เราจะต้องมาว่ากันต่อ

โดยความเป็นจริงแล้ว พวกเราหาได้มีเจตนาจะต้องต่อสู้เอาแพ้ชนะกันไม่ เพราะผู้เสียหายเขาก็ได้รับความเสียหายลูกพิการทางสมอง มันจะเกิดจากอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าความเจ็บป่วยของเด็กเกิดจากปัญหาทางร่างกายของมารดาเด็กหรือเด็กโดยตรงแล้ว ผมว่ากระทรวงสาธารณสุขควรจ่ายค่าชดเชยให้กับมารดาเด็กตามสมควร ผมทราบมาว่า สปสช. เขาจ่ายให้มารดาเด็กไปแล้ว ๒๐๐,๐๐๐ บาท หากจะเรียกร้องอีกก็ควรจะดูที่ความเหมาะสม

ผมเขียนเรื่องนี้เพราะเป็นห่วงปัญหาสังคมในอนาคต เรากำลังออกกฎหมายตามก้นฝรั่ง เราฟ้องแพทย์พยาบาลเพราะถือว่าเป็นผู้ให้บริการ ในขณะที่ผู้ป่วยเป็นผู้บริโภค ถามสักนิดเถอะว่า แพทย์พยาบาลบ้านเราเหมือนกับแพทย์ทางตะวันตกไหม จะเอาแบบเขาไหมครับ แพทย์รักษาผู้ป่วยได้ไม่เกินวันละ ๒๐ คน เขาเรียกค่ารักษาพยาบาลสูงมาก ปวดฟันไปหาหมอ หมอนัดทำฟันอีกทีปีหน้า จะเอาอย่างนั้นไหมครับ เวลาถูกฟ้องก็ถูกเรียกค่าเสียหายสูงมากเช่นกัน แล้วบ้านเราในแต่ละวันแพทย์รักษาผู้ป่วยวันละกี่คน มีใครตอบผมได้ไหม เกินมาตรฐานอเมริกันกี่เท่าตัว รายได้เดือนละกี่ตังค์ครับ ไม่รักษาก็ถูกฟ้อง ฟ้องแล้วผิดพลาดต้องชดใช้ค่าเสียหาย ผมไม่ได้เข้าข้างหมอ แต่ทำกับหมอและพยาบาลอย่างนี้เป็นธรรมกับหมอและพยาบาลไหม..ถามสักคำเหอะ…..

ที่มา: www.gotoknow.org