ThaiPublica > คนในข่าว > “เจริญ ปาศร” ระบุผังเมืองใหม่มาบตาพุด ชาวบ้านรออีก 2 ปี ลดพื้นที่อุตสาหกรรม 45% ปรับเป็นอุตสาหกรรมสีขาวแทน

“เจริญ ปาศร” ระบุผังเมืองใหม่มาบตาพุด ชาวบ้านรออีก 2 ปี ลดพื้นที่อุตสาหกรรม 45% ปรับเป็นอุตสาหกรรมสีขาวแทน

22 สิงหาคม 2012


นายเจริญ ปาศร  รักษาการหัวหน้าฝ่ายผังเมือง เทศบาลเมืองมาบตาพุด
นายเจริญ ปาศร รักษาการหัวหน้าฝ่ายผังเมือง เทศบาลเมืองมาบตาพุด

“คุณประกาศเป็นพื้นที่กันชนเขาก็ยินดี แต่ทำไมไม่เยียวยา ทำไมไม่เอาที่ดินของรัฐไปพัฒนาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ล่ะ จะทำตรงนั้นได้ต้องมีการเวนคืน การเวนคืนตรงนี้รัฐบาลก็ต้องใจป้ำ พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมปัจจุบันนี่สร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศชาติมากมาย”

จากนโยบายรัฐบาลที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมขึ้นในประเทศไทย จึงได้ทำโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออกรองรับ ด้วยเหตุนี้จึงมีนิคมอุตสาหกรรมต่างๆเกิดขึ้นในจังหวัดระยองหลายแห่ง โดยเฉพาะกรณี “มาบตาพุด” กลายเป็น “กรณีตัวอย่าง” อันดับต้นๆของบทเรียน “ความขัดแย้ง” ที่เกิดขึ้นระหว่าง “ผู้มาใหม่” กับ “คนท้องถิ่น”

ทำอย่างไรให้โรงงานกับชุมชนอยู่ร่วมกันได้ ยังเป็นเรื่องที่ท้าทายอยู่

แม้ว่าคู่กรณีของความขัดแย้งจะมีความพยายามในการ “เคลียร์ใจ-สางปัญหา” มาตลอดกว่า 20 ปี

แต่ทว่าความขัดแย้งไม่เคยจางหายไป

บ้างก็ว่า…เพราะ “ความทุกข์” ของคนมาบตาพุดที่ชีวิตต้องเผชิญกับ “มลพิษ”ของนิคมฯ ที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข

บ้างก็ว่า…เพราะ “ธุรกิจ” จำเป็นที่จะต้องเดินหน้าต่อไป

บ้างก็ว่า…เพราะความไม่เข้าใจถึง “สิทธิ” ของกันและกัน

หลายความเห็นหลากปัญหา มีการตั้งคณะทำงานชุดต่างๆ มีการหารือจนได้ข้อเสนอแนะมากมาย แต่ปัญหามาบตาพุดยังไม่ได้ข้อยุติ

ปัจจุบันหลังจากผังเมืองรวมบริหารอุตสาหกรรมหลักและชุมชน จ.ระยอง ฉบับ พ.ศ. 2546 หมดอายุไป ทุกฝ่ายพยายาม “จับตา” การร่างผังเมืองใหม่ว่า ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณากันนั้น จะสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องของความ “ไม่ชัดเจน” ของการแบ่งโซนได้มากน้อยเพียงใด

“เจริญ ปาศร” รักษาการหัวหน้าฝ่ายผังเมือง เทศบาลเมืองมาบตาพุด ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวไทยพับลิก้า ถึงความคืบหน้าผังเมืองใหม่ ว่าจะเป็น “ความหวัง” ของชาวมาบตาพุดได้หรือไม่

ไทยพับลิก้า : ความคืบของผังเมืองใหม่ไปถึงไหนแล้ว

ตอนนี้จบในกระบวนการขั้นตอนที่ 3 ซึ่งจะมี 2 คณะ คือ 1. คณะอนุกรรมการพิจารณาด้านผังเมือง 2.คณะอนุกรรมการผังเมืองประสานงานวางผังเมืองรวม จากนั้น เมื่อมีการสรุปข้อมูลต่างๆ และปรับปรุงร่างผังให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการแล้ว เราก็จะมานำเสนอรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในขั้นตอนที่ 4 ต่อเพื่อรับข้อมูลต่างๆ ทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาคประชาชน ภาคสังคม สิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม ภาคบริหาร ภาคเกษตร ส่วนต่างๆ เหล่านี้มาให้ความเห็นกัน เพราะผังนี้จะมีสีเป็นตัวกำหนดว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นเป็นอะไรในอนาคต

ไทยพับลิก้า : ผังใหม่มีอะไรที่มากขึ้นกว่าผังเดิมที่หมดอายุไป

ส่วนที่เพิ่มมากขึ้น จะเป็นเรื่องของพื้นที่ชุมชน ที่พักอาศัย และพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่อุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษ ทางด้านพื้นที่อนุรักษ์ นันทนาการ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมจะมีเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พื้นที่อุตสาหกรรมหรือสีม่วงนั้นลดลง ซึ่งมีการให้ความเห็นกันและมีการศึกษาข้อเท็จจริงว่าเราจะจัดทำผังอย่างไร มีการพูดกันไปเองว่าเราไปเพิ่มพื้นที่สีม่วง (หัวเราะ) แท้จริงเราไม่ได้เพิ่มเลย และตัดลดพื้นที่สีม่วงเกือบ 45 เปอร์เซ็นต์ และมีพื้นที่สีม่วงทแยงขาวขึ้นมาแทนเพื่อปรับลดพื้นที่สีม่วงเข้มเดิมให้ลดลงมา เป็นพื้นที่สีม่วงทแยงขาวหรือพื้นที่อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมลพิษ

ร่างแผนเมืองใหม่

ไทยพับลิก้า : จะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าอุตสาหกรรมที่อยู่ในพื้นที่สีม่วงทแยงขาวจะเป็นอุตสาหกรรมสะอาดจริง

เพราะว่าส่วนใหญ่จะไม่ใช่โรงงานหลักเหมือนอย่างปิโตรเคมี พลังงาน พวกที่ใช้ถ่านหินน้ำมัน หรือก๊าซ หรืออะไร บริเวณนี้มีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่บ้าง จะเป็นพวกประกอบชิ้นส่วน โรงซ่อม หรือ แวร์เฮ้าส์ เล็กๆ ไม่ใช่ขนาดใหญ่ ส่วนด้านฝั่งตะวันตกของถนนสาย 3191 จะเป็นอุตสาหกรรมพวกโรงงานทอผ้า ซึ่งมีอยู่เดิมแล้ว เป็นโรงงานเล็กๆ น้อยๆ ไม่ใช่โรงงานหลักที่ใหญ่โตมโหฬารอะไร และบางโรงงานที่ผลิตปิโตรเคมีซึ่งมีอยู่ 1 โรงงาน ก็ได้ปิดตัวไปแล้ว

นอกจากนี้ ในสีม่วงเข้มก้อนใหญ่ เป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในเขตประกาศนิคมอุตสาหกรรมเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ และพื้นที่ที่อยู่ติดและมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงในระบบสาธารณูปโภคด้วย แต่มีจำนวนน้อยที่ได้สีม่วงไป เพราะการให้สีม่วงของเราไม่ได้กระจัดกระจายเนื่องจากต้องการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อม หรือ ขบวนการต่างๆ ให้อยู่ในกรอบ เป็นคลัสเตอร์ ไม่ใช่เราให้ตรงนี้ม่วงที กระโดดไปตรงนี้ม่วงที มันสะเปะสะปะในการควบคุม

ไทยพับลิก้า : พื้นที่สีม่วงที่หายไปตรงท่าเรือของการนิคมฯคืออะไร

ผังเดิมประกาศเขตไว้แค่กรอบล้อมชายฝั่งทะเลเท่านั้น ส่วนท่าเรือที่อยู่ในนิคมนั้น เขาทำท่าเรือมานานแล้ว ตั้งแต่มติ ครม. พ.ศ. 2531-2539 อันนี้เราเองก็จะไม่ไปกล่าวถึงตัวนั้น เพราะทำมานานแล้ว ถ้าไปย้อนอดีตเราก็ไม่รู้จะตอบอย่างไร เพราะผังเมืองตัวนั้นยังไม่ครอบคลุมถึง ส่วนผังเมืองใหม่เพื่อใช้ในอนาคต เหมือนกฎหมายทั่วๆ ไปที่ไม่มีผลย้อนหลัง

สมัยก่อน ในพื้นที่ของทะเลนั้นจะไม่มีการระบายแบ่งโซน แต่ที่ต้องมีการกำหนดในผังใหม่ สืบเนื่องมาจากการจัดทำผังเมืองรวม ในการวิเคราะห์อะไรต่างๆ เราต้องดูผังที่เขาทำไว้เดิมหรือศึกษาไว้เก่าแล้ว เช่น ผังนครระยอง ผังด้านเหนือเป็นอย่างไร ผังเมืองทางตะวันตก ตะวันออก รอบข้าง ตลอดจนผังจังหวัดเป็นอย่างไร

ทีนี้มาดูผังเมืองรวมจังหวัดระยอง ซึ่งได้ประกาศในเขตที่ต่อเนื่องลงไปในทะเล 15 กิโลเมตร ทีนี้ผังใหม่ของเราเลยขอต่อออกไป 15 กิโลเมตร เช่นกัน โดยประกาศให้เป็นพื้นที่สีฟ้า อันนี้เพื่อเป็นการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในทะเลด้วย

ถ้ามองกรณีนี้เป็นการสอดคล้องกับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ซึ่งเขตควบคุมมลพิษนี่จริงๆ แล้วก็ประกาศน้อยไปด้วยซ้ำ ในทะเลประกาศแค่ 5 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ทีนี้ ถ้า 5 กิโลเมตร มลพิษตรงนั้นควบคุมได้ดีไหม มันต้องมองถึงเรือที่เขามาจอดรอเข้าท่า เขาจอดนอกชายฝั่งเลยกว่า 5 กิโลเมตรอีก เพราะในช่วง 5 กิโลเมตร จะเป็นประมงเรือเล็ก เรือใหญ่จอดอยู่ที่ประมาณ 10 กว่ากิโลเมตรขึ้นไป บางครั้งมาทอดสมอ ทิ้งขยะ ขีดสี ล้างเรือ ใครจะไปตรวจไปเช็ค

ในส่วนนี้เรากำหนดพื้นที่สีฟ้า หรือพื้นที่ที่โล่ง อภินันทนาการ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมและการประมงต่างๆ นั้น ถามว่ามีข้อกำหนดอย่างไร คือถามว่าเราห้ามสร้างท่าเรือไหม ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าห้าม เราก็ยังให้สร้างท่าเรืออยู่ แต่มันมีเงื่อนไขในประเด็นการสร้างท่าเรือ ว่าต้องไม่เป็นการถมทะเล

ไทยพับลิก้า : การสร้างท่าเรือดูจะเป็นการกระทำที่ตรงข้ามกับการรักษาสิ่งแวดล้อม

การก่อสร้างท่าเรือจริงๆ แล้วส่วนใหญ่ถ้าเป็นโครงสร้างเหล็กหรือคอนกรีตที่เป็นสะพานออกไปในทะเล เหมือนที่เราเห็นกันทั่วๆ ไปที่มันยื่นยาวๆ ออกไปในทะเลที่มันมีเสาเข็มมีอะไร ผมดูแล้วไม่ค่อยมีผลกระทบมากมาย อาจจะมีในช่วงระหว่างทำการก่อสร้างตอกเสาเข็มและสักพักหนึ่ง จากนั้นมันจะปรับคืนสภาพของตัวมันเอง เพราะใต้สะพานท่าเรือจะอุดมสมบูรณ์ไปด้วยกุ้ง หอย ปู ปลา มันเข้ามาอยู่อาศัยตรงนี้ ซึ่งจริงๆ แล้วพวกท่าเรือใหม่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ เรือประมง เรือเล็กชายฝั่งก็สามารถลอดผ่านไปมาได้ เขาจะยกขึ้นสูงเพื่อให้เรือประมง ไม่มีผลกระทบกับการทำมาหากินของเรือเล็กชายฝั่ง

ไทยพับลิก้า : ในผังเมืองมีการระบุพื้นที่กันชนไว้หรือไม่

ทุกคนเรียกร้องกันมานาน นโยบายของภาครัฐก็กล่าวถึงการมีพื้นกันชน ผมอยากให้ถามประเด็นนี้มาก เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีผังไหนในประเทศไทยมีการกำหนดพื้นที่กันชนในผังเมืองรวมเลย ทีนี้ เจตนาของพื้นที่กันชนคือพื้นที่ที่ปลอดภัย เป็นพื้นที่ป้องกันระหว่างอุตสาหกรรมกับชุมชน ไม่ให้มาใกล้ชิดกัน เพราะเมื่อมาใกล้ชิดกัน การอยู่อาศัยระหว่างชุมชนและโรงอุตสาหกรรมจะเกิดความขัดแย้งมาก

ทีนี้ นโยบายภาครัฐที่ให้เรา จริงๆ แล้วเขาให้เราทำในโรงงานอุตสาหกรรมอันดับที่ 5 ที่ 6 ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมพวกปิโตรเคมี นิคมอุตสาหกรรม ต้องมีระยะห่างจากชุมชนอย่างน้อย 2 กิโลเมตร ซึ่งข้อเท็จจริงมันทำไม่ได้ เราก็ทำได้เท่าที่ทำได้ และมีความจำเป็นที่เราจะทำเท่านั้นเอง เราไม่สามารถที่จะไปกำหนดตรงนั้นให้มันเป็นไปตามข้อเสนอแนะขอคณะกรรมการทั้ง 4 ฝ่ายได้

นายเจริญ ปาศร  รักษาการหัวหน้าฝ่ายผังเมือง เทศบาลเมืองมาบตาพุด

ไทยพับลิก้า : ตอนนี้ระยะห่างที่เป็นพื้นที่กันชนระหว่างชุมชนกับโรงงานเท่าไหร่

ส่วนใหญ่วันนี้พื้นที่แนวกันชนของเราอยู่ที่ 200-500 เมตร คิดจากริมเขตนิคมโดยรอบออกไป ที่ไม่สามารถห่าง 2 กิโลเมตร ได้เพราะเมืองมีชุมชนตั้งมาก่อน โรงงานก็มีแล้ว และถ้าไปเอาอันนั้นเป็นข้อกำหนด ไม่โรงงานไป ก็ชุมชนไป เพราะเขาตั้งมาก่อนด้วยกันทั้งนั้นแหละ ทีนี้มันไปเหมาะสมกับการตั้งนิคมใหม่หรือเขตอุตสาหกรรมใหม่เท่านั้นเอง ที่จะมีพื้นที่กันชนตามข้อกำหนด

ไทยพับลิก้า : ผังนี้เป็นความหวังของชาวมาบตาพุดได้หรือไม่

เราลดพื้นที่ที่เป็นอุตสาหกรรม เพื่อความสอดคล้องกับการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษด้วยนะครับ ทีนี้ บางครั้งเราทำไปแล้ว กลุ่มอุตสาหกรรมเขาก็อึดอัดในผังที่ผมทำ ผมก็ถือว่าผมทำตามนโยบายด้วย และที่เราประกาศให้เป็นเขตควบคุมมลพิษ ทุกคนก็หวังว่าผังเหมืองจะช่วยลดมลพิษไม่ให้เพิ่มขึ้นไปมากกว่านี้
คุณประกาศเป็นพื้นที่กันชนเขาก็ยินดี แต่ทำไมไม่เยียวยาล่ะ แต่ทำไมไม่เอาเป็นที่ดินของรัฐไปพัฒนาให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ จะทำตรงนั้นได้ต้องมามีการเวนคืน การเวนคืนตรงนี้รัฐบาลก็ต้องใจป้ำ พื้นที่ที่ประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรมปัจจุบันนี่สร้างเม็ดเงินให้แก่ประเทศชาติมากมาย จีดีพีต่อคนของ จ.ระยองสูงเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อคน

แต่ข้อเท็จจริงไม่ใช่อย่างนั้นนะครับ อันนี้เอาผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดมาหารด้วยประชากรในพื้นที่ ตรงนี้มันเป็นข้อเท็จจริงการพัฒนา มาบตาพุดทำไมเกิดปัญหา ปัญหาเกิดจากการที่รัฐบาลเองไม่เคยให้งบประมาณที่เหมาะสมแก่ท้องถิ่น การให้งบประมาณคิดแต่จำนวนประชากรที่อยู่ในทะเบียนราษฎรแล้วมาเป็นสัดส่วนการให้งบประมาณในพื้นที่ เราแบกภาระประชากรแฝงแสนกว่าคน กระเตงอยู่ 2 มือนี่ เขามาใช้ถนน ใช้สาธารณูปโภค สถานพยาบาล โรงเรียนกับท้องถิ่นเรา แต่เราไม่ได้เงินจากประชากรแฝงพวกนี้เลย เราแบกอยู่อย่างนี้ เรามีคนอยู่ 5 หมื่นกว่าคน มีชุมชนที่อยู่ในพื้นที่นี่ 33 ชุมชน เงินพัฒนา 100 ล้าน ชุมชนหนึ่งได้ 3 ล้านกว่า ถามว่าไปซ่อมถนน ทำไฟ แค่นั้นก็หมดแล้ว

ไทยพับลิก้า : พื้นที่กันชนในมาบตาพุดมีเท่าไหร่

มีพื้นที่ประมาณ 9,500- 10,000 ไร่ เขาถูกรอนสิทธิอย่างนี้ มันเป็นหน้าที่ของรัฐเองที่ต้องเข้าไปทำ ตอนนี้เรามีหน้าที่ทำพื้นที่กันชน แต่ใครจะเยียวยาต้องไปคิดกันต่อ โดยเทศบาลเมืองมาบตาพุดมีการจัดทำการศึกษาก่อนว่าพื้นที่ตรงนี้เหมาะสมที่จะเวนคืนหรือไม่ ไปเยียวยาโดยวิธีอื่นไหม ลดภาษีไหม เพื่อให้พื้นที่ตรงนี้เป็นแนวกันชนจริงๆ ไม่ใช่กำหนดเป็นพื้นที่กันแล้ว แต่ไปพัฒนาเป็นโรงงานอุตสาหกรรม

อย่างนี้มันไม่ถูกต้องนะครับ เพราะพื้นที่กันชนมันเป็นพื้นที่ไม่ควรนำมาพัฒนาเลย แต่ต้องเป็นพื้นที่รักษาสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกัน ไม่ใช่ว่าพื้นที่กันชนประกาศก็ประกาศไป ก็เขียนแต่กระดาษ ชาวบ้านเข้ามาพัฒนา โรงงานก็ขยายออกไป มันก็ไม่ใช่ ทีนี้เม็ดเงินมันก็เยอะ จะทำอย่างไรคงต้องดูผลการศึกษาก่อน ชาวบ้านอยากออกไหม ไปศึกษาในรายละเอียด พื้นที่ติดถนน ติดทะเล ราคาก็ต่างกัน การได้มา สมมุติว่าเป็นที่ดินของรัฐแล้ว ต้องไปดูว่าหน่วยงานไหนจะมาบริหารจัดการให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็ต้องมีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไปอีก เพราะฉะนั้น เมื่อได้ตรงนี้ ความชัดเจนในเรื่องพื้นที่กันชนอะไรต่างๆ ก็สามารถที่จะไปกำหนดในผังอื่นของประเทศก็ได้

ไทยพับลิก้า : ผังเมืองใหม่ที่เรากำลังทำจะไปอุดช่องโหว่ของปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตอย่างไร

ปัญหาที่เกิดขึ้นในอดีตเกิดจากผังเมืองไม่มีความต่อเนื่องเชื่อมโยง นักลงทุนไปซื้อพื้นที่นอกเขต กำหนดว่าเป็นเขตอุตสาหกรรมและคลังสินค้า เมื่อซื้อที่ดินตอนนั้นไม่มีผังเมือง เมื่อเขาไปซื้อที่เยอะๆ และไปขอประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรม นี่คือปัญหา เช่น ที่มีอยู่ในผัง จ.ระยองมีประเด็นนี้อยู่ มีซื้อที่ดินทิ้งไว้ และไปการประกาศเป็นเขตอุตสาหกรรม เขตนิคม เสร็จแล้วและปัญหาว่าเมื่อผังเมืองประกาศแล้วนี่ ตรงนั้นอาจจะไม่ได้สีม่วงก็ได้

ผังเมืองเดิมมาบตาพุด
ผังเมืองเดิมมาบตาพุด

นอกจากนี้ยังมีการปรับลดพื้นที่ด้านเหนือของผังนั้น เพราะพื้นที่บริเวณนี้ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามมติ ครม. บริเวณนี้เป็นป่าพื้นที่อนุรักษ์อยู่แล้ว พื้นที่ที่ผมปรับลดพื้นที่สีม่วงในโซนนี้เกือบทั้งหมด โดยการปรับลดมีที่มาที่ไปในการวิเคราะห์ เนื่องจากพื้นที่ตรงนี้เป็นเขตที่มีประกาศพระราชกฤษฎีกำหนดเป็นพื้นที่เขตหวงห้ามของกรมป่าไม้ พ.ศ. 2492 ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอน จริงๆ แล้วพระราชกฤษฎีกานี้ให้ยกเลิกเพิกถอนในบริเวณที่มีชาวบ้านเข้าไปอยู่ทำกินตั้งแต่พ.ศ. 2514 แล้ว จนกระทั่งบัดนี้ยังไม่มีการยกเลิกเพิกถอน เพราะฉะนั้น กฎหายฉบับนี้ยังมีผลใช้บังคับอยู่ และก็ประชาชนส่วนใหญ่ คนดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ ยังไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอบเป็นของตนเอง

การที่ไปประกาศพื้นที่สีม่วงในผังเดิม คือเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่ออุตสาหกรรมและคลังสินค้า ผมถามว่ากรณีอย่างนี้นำมาปฏิบัติได้จริงหรือไม่ จากผังเดิม ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมจะซื้อที่ดินไหมในกรณีที่ไม่มีเอกสารสิทธิ และเมื่อถ้าเขาซื้อแล้วไม่มีเอกสารสิทธิ จะมาขออนุญาตก่อตั้งโรงงานได้ไหม ขออนุญาตก่อสร้างโรงงานได้ไหม และเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในสถานบันการเงินเขารับไหม ผู้ประกอบการเขาไม่เอา เมื่อไม่เอาแล้วคุณไปประกาศเป็นสีม่วงเขาก็ไม่เอา แล้วผังเมืองมันจะปฏิบัติได้จริงหรือ มันก็ปฏิบัติได้ไม่จริง เพราะไม่สอดคล้องกับกฎหมายที่มีอยู่ จุดนี้ทำให้ผมเลยปรับลดลงไปเลย

นอกจากนี้ยังมีการแยกพื้นที่ชุมชนออกมาให้ชัดเจน เช่น เดิมทีบริเวณแถววัดโรงเรียนชุมชนห้วยโป่งถูกกำหนดเป็นสีม่วง ผมเลยปรับพื้นที่โซนนี้ให้เป็นสีเหลืองตามความเป็นจริงเพราะมีประชาชนอยู่อาศัย เป็นชุมชน เป็นวัด เป็นโรงเรียน

ไทยพับลิก้า : ถ้าผังเมืองใหม่ประกาศใช้ สิ่งที่ชาวมาบตาพุดจะได้คืออะไร

การไม่เข้าไปอยู่ใกล้ชิดกับเขตอุตสาหกรรม คือกำหนดเขตพื้นที่กันชนแล้วกิจกรรมหรืออะไรต่างๆ ในพื้นที่กันชน ต้องถูกจำกัด แล้วข้อจำกัดของเราก็จะเข้มงวดขึ้นมาว่า ตรงนี้คุณไม่ควรเข้ามาตั้งบ้านเรือนอาศัยหรือขยายตัวเข้ามาติดโรงงานนะ โรงงานก็จะถูกกำหนดอยู่ในกรอบ เหมือนมี “Green Belt” คือเข็มขัดรัดรอบคุณแล้วล่ะ คุณจะขยายออกนอกเขตบริเวณนี้ไม่ได้นะ เราไม่ให้คุณขยายแล้ว คุณต้องอยู่แค่นี้ พื้นที่ที่จะเกิดขึ้นใหม่ที่เราจะเตรียมรองรับก็คือสีม่วงทแยงขาวเท่านั้น

ส่วนใหญ่ในพื้นที่สีม่วงเข้มที่เราเห็นอยู่ประมาณ 80% ได้ประกอบกิจการไปหมดแล้ว ก็จะเหลือบางส่วน เช่น ใกล้ๆ เขตที่เทศบาลอยู่ของนิคมมาบตาพุด เขาก็ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นมา จะมีแค่แวร์เฮาส์หรือคลังสินค้าเท่านั้นเอง ไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรม

ไทยพับลิก้า : อะไรที่ทำให้การประกาศผังเมืองใหม่เป็นไปด้วยความล่าช้า ทั้งที่ผังเมืองเดิมหมดอายุไปนานแล้ว

ไม่นานนะครับ หมดไปเมื่อปี 2553 เอง ทีนี้ เมื่อหมด 2553 เราเองมีการประกาศใช้เทศบัญญัติเทศบาลเมืองมาบตาพุดนะครับ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับผังเมืองฉบับเดิม คือ ในการเปลี่ยนแปลงสีแต่ละบริเวณเช่น พื้นที่พักอาศัยสีส้ม เราใช้แทนด้วยบริเวณหมายเลข 1 ตามเทศบัญญัติเทศบาลเมืองมาบตาพุด พื้นที่สีเหลืองนี่ ที่พักอาศัยหนาแน่นน้อย เรากำหนดเป็นพื้นที่บริเวณที่ 2 ตามเทศบัญญัติ และพื้นที่สีม่วงเรากำหนดเป็นพื้นที่ที่ 3 สีเขียวกำหนดเป็นพื้นที่ที่ 4 ตามเทศบัญญัติ นี่คือสิ่งที่เรามาปรับให้เป็นไปตามข้อกำหนดเทศบัญญัติ

ไทยพับลิก้า : ชาวบ้านบอกว่าที่ประกาศพังเมืองช้าเป็นเพราะต้องการให้มีการก่อตั้งโรงไฟฟ้าถ่านโค้กก่อน

ไม่ใช่ครับ ถ้าเราไปดูพื้นที่โรงงาน ถ่านโค้กคือโรงงานที่ตั้งมาตอนที่ยังเป็นพื้นที่สีม่วง ในผังเดิมฉบับเดิมเป็นพื้นที่สีม่วง พื้นที่อุตสาหกรรมและคลังสินค้า ไม่ใช่เรามารอให้โรงงานถ่านโค้กขึ้น ถ้าดูผังเดิมจะเห็นว่าโรงงานถ่านโค้กอยู่ผังสีม่วง โรงงานนั้นมีหนังสือถึงผม 4 ฉบับ ขอให้แก้ผังใหม่นี้เป็นสีม่วง ผมไม่แก้ครับ เพราะผมถือว่าโซนนี้คืออุตสาหกรรม โค้กอยู่โดดเดี่ยวไม่ได้อยู่เป็นกลุ่ม อีกทั้งอยู่ใกล้เขตประกาศพระราชกฤษฎีกาเขตหวงห้าม พ.ศ.2492 ซึ่งอยู่ใกล้กัน มาเป็นสีม่วงโดดๆ นี่ก็คือส่วนหนึ่งที่เรายังไม่ได้วิเคราะห์ให้พื้นที่โรงงานถ่านโค้กเป็นสีม่วง

“ทำไมผมต้องไปกำหนดตรงนั้นให้เป็นสีม่วงล่ะ บางคนไปสื่อเข้าใจผิด แม้กระทั่งสื่อมวลชนที่บอกว่าผังเมืองมาบตาพุดที่ทำใหม่นี่สีม่วงเต็มไปหมดเลย นี่ดูข้อเท็จจริง ในทะเลผมก็ไม่ได้ให้ ซึ่งต่างจากผังจังหวัดด้วยซ้ำไป ผังจังหวัดไม่มีนะครับ”

ไทยพับลิก้า : ตามขั้นตอนการประกาศผังเมืองหลังหมดอายุแล้วมีอะไรบ้าง

ขั้นตอนทั้งหมดมี 18 ขั้นตอน จริงๆ ต้องมองภาพรวม ผังเมืองมาบตาพุดนี้ไม่ใช่มีผังเดียวในประเทศไทย มีเยอะแยะไปหมด หลายร้อยผัง แต่คณะกรรมการผังเมืองใหญ่มีคณะเดียว ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา มีการเว้นว่างการตั้งบอร์ดใหญ่ขึ้นมา ไม่มีคณะกรรมการผังเมืองชุดใหญ่อยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แล้วผังที่เขารอคิวกันมานานก็ยังไม่ได้รับการพิจารณา ไม่ใช่เฉพาะผังนี้ แม้กระทั่งผังพัทยา ผังแหลมฉบัง ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเหมือนกันนี่เป็นสิบปีแล้วนะครับ มากกว่าของเราตั้งนาน ยังไม่มีผังเมืองรวมเลย

อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อกำหนดระยะเวลาว่าผังเมืองใหม่จะต้องประกาศหลังจากผังเมืองเดิมหมดอายุเท่าไหร่ ถามว่าขั้นตอนเมื่อไม่มีคณะกรรมการใหญ่บางครั้งนี่มันก็สะดุด คณะกรรมการชุดอื่นๆ รอเสนอเรื่องอะไรเข้าไปมันก็ไปค้างคา

ส่วนปัจจัยอื่นที่ทำให้การดำเนินการร่างผังที่เป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะเป็นนโยบายภาครัฐเหมือนกัน เช่น เราเข้าไปร่วมประชุมประชาชน หรือการประชุมคณะต่างๆ ที่ผ่านมาเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลนำมาวิเคราะห์ นำมาจัดทำร่างนี่ไม่น้อยกว่า 40-50 ครั้ง ซึ่งไม่เคยมีผังไหนจะมานั่งประชุมกันอย่างนี้

การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจัดเป็นกลุ่มชุมนุมเลย ทั้งหมดทุกพื้นที่ไปนั่งประชุมรับฟังเพื่อไปประชุมเชิงปฏิบัติการก่อน เพื่อเอาข้อมูลมาจัดทำร่างความต้องการของภาคประชาชนเป็นอย่างไร เราพยายามเก็บรวบรวมมาเพื่อจัดทำผังตัวนี้และนำมาวิเคราะห์ ซึ่งหากไม่มีกระบวนการใดสะดุด ผังเมืองดังกล่าวจะสามารถใช้บังคับได้อย่างช้าภายใน 2 ปีนี้

ไทยพับลิก้า : จะมีการทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องของผังหรือไม่

ผมว่าบางครั้งประชาชนพอไม่ถึงเวลาแล้วก็ไม่ค่อยจะมาดูเรื่องผังเมือง ถ้ามีเวลาไปดูพื้นที่ อปท.ทั้ง 7 แห่ง ที่อยู่ในเขตเทศบาลมาบตาพุด ไปขอดูว่าทางผมได้สื่อสารอะไรให้กับท้องถิ่นเขาบ้าง แผนผังที่กำลังร่างกันอยู่ก็ยกให้ ซีดีที่มีรายละเอียดผมให้ทุกชุมชน ให้นำไปสื่อสารแต่ละชุมชน แต่ผู้แทนชุมชนจะสื่อต่อลูกบ้านหรือไม่อย่างไร เพราะผมจะสื่อหลายๆ แสนคนมันคงลำบาก

แต่ข้อเท็จจริงก่อนหน้านั้นเราก็ไปประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาแล้ว แต่ทีนี้ เมื่อเขาได้ข้อมูลอะไรไป ในบางครั้งเขาจะสื่อหรือไม่สื่อเราก็ไม่รู้นะครับ ตรงนี้เราก็รออีกครั้งเมื่อเราไปติดประกาศโฆษณา ขอเชิญมาร่วมกิจรรมครั้งสุดท้าย คือกระบวนการตามกฎหมาย การรับฟังความคิดเห็นในขั้นตอนที่ 4 ที่จะถึงข้างหน้านี่ แต่ตอนนี้เรายังไม่กำหนดวัน เพราะต้องไปรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ปรับแก้ร่างอีกนิดหน่อยตามที่คณะกรรมการชุดต่างๆ มีความเห็น

เมื่อรับฟังความคิดเห็นมาแล้ว เราจะมาวิเคราะห์และปรับเปลี่ยนให้มันสอดคล้องหรือให้มันเป็นไปตามวิชาการ ดูหลายๆ ด้าน สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ เพราะอนาคตของเราจะเดินหน้ากันอย่างไรในพื้นที่บริเวณนี้ อุตสาหกรรมจะเพียงพอหรือไม่ การรองรับทางด้านเศรษฐกิจและสังคมซึ่งจริงๆ ทุกยุคทุกสมัย ทุกรัฐบาล ต้องการให้เศรษฐกิจตรงนี้มันเดินได้ แต่ ณ วันนี้เราควบคุมให้มันอยู่ในกรอบ ไม่ใช่มาพัฒนามาบตาพุดโดยที่ไม่มีขีดจำกัด เราทำตรงนี้ก็เสมือนว่าเราควบคุมให้อยู่ในขีดที่ควรจะพัฒนา ไม่ใช่ว่าพอพัฒนาตรงนี้ได้ ขยายอุตสาหกรรมออกไปเพื่อเอาเม็ดเงินเข้ามาในประเทศเยอะๆ ไม่ใช่นะครับ

ทีนี้การเสนอความเห็นของประชาชนมี 2 แบบ คือ การรับฟังความคิดเห็นหลังจากขั้นตอนนี้ ที่ประชาชน ผู้ประกอบการ นักลงทุนต่างๆ ทุกภาคส่วนสามารถนำเสนอในที่ประชุมเพื่อให้มีการบันทึกในที่ประชุมด้วย ว่าตรงนี้ให้นำข้อมูลของเขาไปวิเคราะห์ใหม่ และในกรณีที่มีการปรังปรุงแล้วปิดประกาศ 90 วัน ในช่วงระยะเวลานี้สามารถร้องได้อีกนะครับ หลังจากนั้นมาการแก้ไขยากมาก ตอนนี้ปัญหาเรื่องผังจังหวัดนี่แหละที่ข้อมูลที่อัพเดท

ขอยกตัวอย่าง ความล่าช้าก็ทำให้เกิดความเสียหายต่อผังเมืองเหมือนกัน ผังเมืองจังหวัดนี่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547-2548 การรวบรวมข้อมูลเพื่อมาจัดทำผังเสร็จแล้วนะ วันนี้นี่เกือบ 10 ปี แล้วยังไม่ประกาศเลย กว่าจะประกาศผมว่าอีก 10 ปี ถามว่าการใช้ประโยชน์ที่ดินมันมีไปมากแล้ว

ถ้าให้ผมมองภาพตอนนี้ ภาคอุตสาหกรรมเกือบนิ่งแล้ว ถ้าผังจังหวัดประกาศออกมาก็เรียกว่าเกือบจะนิ่งในเรื่องของปิโตรเคมีและพลังงานเลย ยกเว้นแต่อุตสาหกรรมม่วงทแยงขาวที่อุตสาหกรรมยังไม่เข้าไป ตรงนี้ถือว่าเป็นการปิดประตูปิโตรเคมีแล้ว ไม่ใช่ปิดประตูที่นี่ที่เดียวนะครับ เพราะถ้าไปมองผังข้างเคียง เช่น ผังของ จ.ชลบุรี ก็ไม่มีสีม่วงให้ขึ้นเหมือนกัน ปัจจุบันนี้ที่เขาทำร่างผังของ จ.ชลบุรี มีสีม่วงอยู่ 2 พื้นที่ คือ 1. พื้นที่ อ.พานทอง ของกลุ่มอมตะ 2. พื้นที่ของการนิคมและอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลที่แหลมฉบัง สีม่วงมี 2 จุดเท่านั้น แต่มีพื้นที่อุตสาหกรรมที่รองรับก็คือม่วงลายเหมือนกัน