ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปั่นด่วนแบบปลอดภัยบน “ซูเปอร์ไฮเวย์จักรยาน” แห่งกรุงโคเปนเฮเกน

ปั่นด่วนแบบปลอดภัยบน “ซูเปอร์ไฮเวย์จักรยาน” แห่งกรุงโคเปนเฮเกน

29 สิงหาคม 2012


bike highways ที่มาภาพ: http://energy.korea.com
bike highways ที่มาภาพ: http://energy.korea.com

เราคงจะรู้จัก “ซูเปอร์ไฮเวย์” หรือทางด่วนสำหรับรถยนต์ทั่วไปกันอยู่แล้ว แต่วันนี้มาลองทำความรู้จักกับซูเปอร์ไฮเวย์ของ “จักรยาน” กันบ้าง

แม้ว่า “อัมสเตอร์ดัม” เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ จะได้รับการจัดอันดับให้เป็นเมืองที่เป็นมิตรกับนักปั่นจักรยานมากที่สุดในโลกมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง แต่ “โคเปนเฮเกน” เมืองหลวงของเดนมาร์ก กลับเป็นคำที่คนทั่วโลกนึกถึงในแง่ของการสร้างสรรค์วัฒนธรรมการขี่จักรยานที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด โดยชาวเมืองโคเปนเฮเกนประมาณ 50% จากทั้งหมด 550,000 คน เลือกออกกำลังขาปั่นจักรยานไปไหนมาไหนเป็นกิจวัตรประจำวัน ขณะที่ฝ่ายบริหารของเมืองก็เดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจูงใจให้ชาวเมืองหันมาปั่นจักรยานกันมากขึ้นเหมือนกัน

ที่มาภาพ: http://assets.inhabitat.com
ที่มาภาพ: http://assets.inhabitat.com

โดยทั่วไปแล้ว กรุงโคเปนเฮเกนมีเครือข่ายเส้นทางจักรยานที่ดีอยู่แล้ว แต่มาตรฐานของแต่ละเขตเทศบาลอาจแตกต่างและไม่สอดคล้องกัน หรือบางช่วงอาจมีขนาดเส้นทางจักรยานไม่เหมาะสม ไฟส่องสว่างไม่พอ หรือขาดการบำรุงรักษาช่วงฤดูหนาวทำให้มีหิมะกีดขวางเส้นทาง หรือบ้างก็อาจมีแยกที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้ขับขี่ ดังนั้น เมืองโคเปนเฮเกนและรัฐบาลท้องถิ่นของอีก 21 เมือง ได้ร่วมมือกันสร้างซูเปอร์ไฮเวย์สำหรับจักรยานโดยเฉพาะ เพื่อสร้างเส้นทางจักรยานที่เป็นมาตรฐานเดียวกันจากย่านชานเมืองสู่เมืองหลวงของประเทศ

ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 โคเปนเฮเกนก็ได้ฤกษ์เปิด “ซูเปอร์ไฮเวย์จักรยาน” สายแรก เชื่อมระหว่างย่านชานเมือง “อัลเบิร์ตสลุนด์” ( Albertslund) และใจกลางเมืองโคเปนเฮเกน ระยะทาง 17.5 กิโลเมตร โดยฝ่ายบริหารเมืองวางแผนเปิดทางด่วนจักรยานทั้งหมด 26 สาย ซึ่งจะมีระยะทางรวมมากกว่า 300 กิโลเมตร โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้ชาวเดนมาร์กหันมาเดินทางด้วยจักรยานเพิ่มขึ้นอีก

ปั๊มเติมลมจักรยานที่มาภาพ : http://www.copenhagenize.com/2012/04/launching-copenhagens-bicycle.html

ซูเปอร์ไฮเวย์จักรยานนี้ถูกออกแบบคล้ายกับฟรีเวย์สำหรับรถยนต์ทั่วไป แต่จะมีจุดเด่นที่แตกต่างและเหมาะกับจริตของนักปั่นก็คือ มีจุดจอดพักขา และระบบไฟจราจรแบบใหม่ ที่สอดคล้องกับความเร็วเฉลี่ยของการปั่นจักรยาน ทำให้นักปั่นไม่ต้องหยุดปั่นบ่อยเพราะต้องรอไฟเขียว นอกจากนี้ ยังมีปั๊มเติมลมจักรยานทุกๆ 1.6 กิโลเมตร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักปั่น ทำให้มั่นใจได้ว่ายางยังแน่น ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง

ที่มาภาพ: http://farm7.static.flickr.com
ที่มาภาพ: http://farm7.static.flickr.com

ฟริทซ์ เบรดัล หัวหน้าฝ่ายสื่อสารของสมาพันธ์นักปั่นจักรยานของเดนมาร์ก บอกว่า ตอนนี้ทางด่วนจักรยานยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะตามแบบที่วางแผนไว้จะต้องไม่มีไฟแดงเลย นอกจากนี้ก็ต้องมีลู่จักรยานที่สมบูรณ์ ไม่มีหลุม ไม่มีสิ่งกีดขวางใด หรือเรียกได้ว่าต้องเป็นทางหลวง หรือ ไฮเวย์อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ นอกจากนวัตกรรมโดดเด่นเพื่อนักปั่นโดยเฉพาะ เช่น ที่พักขาระหว่างทาง และเทคโนโลยี “กรีนเวฟ” ที่จะตั้งเวลาไฟจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วนให้เหมาะกับเหล่านักปั่น เหมือนที่บอกไปข้างต้นแล้ว ฝ่ายบริหารกรุงโคเปนเฮเกนก็ยังมีแผนเพิ่มความสะดวกแก่เหล่านักปั่นด้วยนวัตกรรมอื่นๆ อีก เช่น ถังขยะ ที่วางอยู่ในมุมที่นักปั่นทิ้งขยะได้อย่างง่ายดาย รวมถึง เลนพิเศษเพื่อการสนทนา หรือ conversation lanes เพื่อให้นักปั่นสองคนสามารถปั่นตีคู่คุยกันได้ตลอดเส้นทาง

สำหรับในแง่ของสิ่งแวดล้อมนั้น Cycling Embassy of Denmark ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน ประมาณ 1 ใน 3 ของการเดินทางในโคเปนเฮเกนใช้จักรยานเป็นพาหนะในเส้นทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร และคาดว่า ซูเปอร์ไฮเวย์จักรยานจะช่วยเพิ่มจำนวนนักปั่นอีก 30% หรือจะมีคนใช้เครือข่ายซูเปอร์ไฮเวย์พิเศษนี้เพิ่มอีก 15,000 คน ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 7,000 ตัน แถมยังช่วยลดต้นทุนด้านสาธารณสุขปีละประมาณ 300 ล้านโครนเดนมาร์กเลยทีเดียว

แบ่งกันปั่น ปันกันใช้ กับโครงการเช่าจักรยานทั่วโลก

ทุกวันนี้ “จักรยาน” ยังเป็นพาหนะยอดนิยมที่คนทั่วโลกใช้เพื่อเดินทางในชีวิตประจำวัน ฮิตกันขนาดไหน ก็ดูได้จากยอดการผลิตจักรยานในปี2554 ที่มีมากถึง 133 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2503 เกือบ 600% แถมยังทิ้งห่างยอดผลิตรถยนต์ทั่วโลกในปีเดียวกันแบบไม่เห็นฝุ่น

นอกจากปั่นจักรยานของตัวเองแล้ว นักปั่นอีกจำนวนมากก็เลือกใช้บริการโครงการเช่าจักรยานที่หลายเมืองทั่วโลกสรรหามาอำนวยความสะดวกแก่คนที่อยากออกกำลังขา โดยจากที่เคยมีโครงการปันกันปั่นทำนองนี้แค่ 60 โครงการเมื่อปี 2550 มาถึงตอนนี้ โครงการเช่าจักรยานในเมืองต่างๆ ทั่วโลก เพิ่มเป็นเกือบ 450 โครงการ

โดยเมืองที่มีโครงการเช่าจักรยานใหญ่ที่สุดในโลกคือ เมือง อู่ฮั่น (Wuhan) ของจีน ที่มีจักรยานในระบบมากถึง 70,000 คัน นอกจากเมืองอู่ฮั่นแล้ว เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็นก็ได้รวบรวมอีกหลายเมืองทั่วโลกที่มีบริการเช่าจักรยานที่โดดเด่นน่าสนใจไว้ด้วย

เริ่มจาก “มอนทรีออล” ของแคนาดา ที่ได้รับการยกย่องจากนิตยสารไทมส์ว่าเป็น หนึ่งในสุดยอดนวัตกรรมประจำปี 2551 โดยจักรยานเช่าที่นี่เรียกว่า “Bixi” ซึ่งเป็นการรวมของสองคำคือ bike และ taxi ซึ่งแม้เป็นโครงการที่ดี แต่มาถึงตอนนี้โครงการก็ยังทำกำไรไม่ได้ ก็คงต้องรอดูกันในระยะยาวว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

จากมอนทรีออล ก็มาต่อกันที่ “วอชิงตัน ดีซี” ของสหรัฐ ที่เปิดโครงการเช่าจักรยานตั้งแต่ปี 2553 และตอนนี้มีจักรยานในโครงการรวมมากกว่า 1,500 คัน โดยคิดค่าเช่าเริ่มต้นที่วันละ 7 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในกรุง “ปารีส” การแบ่งปันกันใช้จักรยานเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วเมือง โดยตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อปี 2550 ภายใต้การบริหารงานของบริษัทโฆษณาเจซี เดอโก มาถึงตอนนี้มีจักรยานให้เช่าในโครงการมากกว่า 20,000 คัน และมีสถานีจักรยานประมาณ 1,800 แห่ง กระจายตัวอยู่ทุกๆ 1,000 ฟุต ทั่วใจกลางกรุงปารีส

นอกจากในปารีสแล้ว บริษัทโฆษณารายนี้ยังเป็นผู้บริหารโครงการเช่าจักรยานในเมือง “บาเลนเซีย” ในสเปนด้วย โดยให้บริการเช่าจักรยานสีม่วงสดใส 2,750 คัน ใน 275 สถานีทั่วเมือง ด้วยราคาสมาชิกปีละประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐ

ด้าน “ลอนดอน” เจ้าภาพโอลิมปิก 2012 ก็มีโครงการเช่าจักรยานที่ได้รับความนิยมชื่อ “บอริสไบค์ส” (Boris Bikes) ที่ขยายกิจการมากขึ้นเรื่อยๆ และปีนี้ก็เพิ่มจำนวนจักรยานเช่าอีกหลายพันคันเพื่อบริการนักปั่นอย่างทั่วถึง

ขณะที่กรุง “เบอร์ลิน” ของเยอรมนี มีระบบแบ่งปันจักรยานกันใช้ที่ไฮเทคสุดๆ เพราะบริษัทรถไฟดอยช์บาห์น เปิดโอกาสให้นักปั่นใช้โทรศัพท์มือถือปลดล็อกจักรยานที่จอดพร้อมให้บริการตามสถานีรถไฟ เรียกได้ว่าอำนวยความสะดวกกันสุดๆ เลยทีเดียว

ส่วนในฝั่งเอเชีย เมือง “หางโจว” (Hangzhou) ของจีน เป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีระบบเช่าจักรยานที่ใหญ่โตมโหฬาร เพราะมีจักรยานในระบบมากถึง 60,000 คัน

และในกรุง “โตเกียว” ของญี่ปุ่น แม้จะยังไม่มีโครงการเช่าจักรยานอย่างเป็นทางการ แต่บริษัทเอกชนก็ให้บริการนี้กันอย่างกว้างขวาง และบางแห่งก็ให้ปั่นฟรีในครึ่งชั่วโมงแรกด้วย

รวบรวมข้อมูลจาก นิวยอร์คไทมส์, www.crosscut.com, www.copenhagenize.com, Cycling Embassy of Denmark