ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกาภิวัตน์ปะทะเทคโนโลยี : นัยต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

โลกาภิวัตน์ปะทะเทคโนโลยี : นัยต่อการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ

13 สิงหาคม 2012


สมคิด พุทธศรี

เมื่อครั้งที่ผู้เขียนยังเป็นนักเรียนประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ แบบฝึกหัดที่อาจารย์มักจะมอบให้กับนักศึกษา คือ การศึกษาเปรียบเทียบกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจในช่วงเวลาต่างๆ เพื่อพยายามถอดบทเรียนจากประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นๆ หนึ่งในหัวข้อที่ผู้เขียนรู้สึกประทับใจเป็นพิเศษก็คือ การศึกษาเปรียบเทียบประวัติศาสตร์ของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ จึงขอนำมาเล่าสู่ผู้อ่านฟังในที่นี้ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนก็ขอออกตัวไว้ก่อนว่า สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นการตีความประวัติศาสตร์เศรษฐกิจแบบหนึ่งในการตีความหลายๆ แบบเท่านั้น

โลกาภิวัตน์คืออะไร? หากนิยามแบบกว้างๆ โลกาภิวัตน์ก็คือการที่โลกเชื่อมและรวมกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้นในมิติต่างๆ ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม แต่หากพิจารณาเฉพาะในมิติของเศรษฐกิจ ก็พอจะให้ความหมายอย่างหยาบๆ ได้อยู่ว่า โลกาภิวัตน์คือการที่ ‘ตลาด’ ในแต่ละพื้นที่เชื่อมโยงและรวมกันเป็นหนึ่งเดียวมากขึ้น จนเกิดกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘ตลาดโลก’ (global market)

ถ้าหากพิจารณาโลกาภิวัตน์จากแง่มุมของความเป็น ‘ตลาดโลก’ แล้ว หลายๆ คน (เช่นเดียวกับผู้เขียนก่อนที่จะไปเรียน) อาจจะไม่รู้ว่า โลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบันถือว่าเป็นโลกาภิวัตน์ใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980 เท่านั้น ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลกบันทึกไว้ว่า โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจเคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงระหว่างปี ค.ศ.1850 – 1914 ก่อนที่ระบบการค้าโลกจะพังทลายลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และโลกต้องใช้เวลาอีกกว่า 60 ปี โลกาภิวัตน์จึงจะกำเนิดขึ้นอีกครั้ง

แม้จะได้ชื่อว่าเป็น ‘โลกาภิวัตน์’ เหมือนกัน แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งสองครั้งนั้นมีลักษณะที่แตกต่างกันอยู่ค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็น ประเทศคู่ค้าหลัก ลักษณะของสินค้า กระบวนการปรับตัว รวมไปถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นด้วย

ในช่วงเวลาของโลกาภิวัตน์ระลอกแรก (ค.ศ. 1850 – 1914) การค้าส่วนใหญ่ของโลกเป็นการค้าระหว่าง ‘ประเทศโลกเก่า’ (The Old World) และ ‘ประเทศโลกใหม่’ (The New World) โดยประเทศในกลุ่มแรกนั้นหมายถึง กลุ่มประเทศในยุโรปที่ได้ผ่านกระบวนการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาแล้ว มีแรงงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก แต่ขาดแคลนที่ดินในการเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหาร ประเทศเหล่านี้จึงผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือเข้มข้นเป็นสินค้าหลักเพื่อส่งออก และนำเข้าอาหารจากตลาดโลก ในขณะที่ ‘ประเทศโลกใหม่’ นั้นหมายถึง ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศกิ่งก้านสาขาของอังกฤษ (The British offshoots) อย่าง แคนาดา ออสเตรเลีย ฯลฯ รวมถึงบางประเทศในแถบเอเชีย ประเทศเหล่านี้ถือว่าเป็นประเทศชายขอบของระบบทุนนิยมโลก เป็นดินแดนใหม่ที่อุดมไปด้วยที่ดินมากมายมหาศาล ประเทศเหล่านี้จึงผลิตสินค้าเกษตร (อาหารและสินค้าปฐมภูมิ) เพื่อส่งออกและนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรมจากตลาดโลก การมีที่ดินเป็นจำนวนมากทำให้แรงงานเป็นปัจจัยการผลิตที่ขาดแคลนโดยเปรียบเทียบ ค่าแรงในประเทศโลกใหม่จึงค่อนข้างสูง

โดยปกติแล้ว การแบ่งปันผลได้จากการค้าและโลกาภิวัตน์นั้นก็ขึ้นอยู่กับว่า ‘เราเป็นใคร’ ในระบบเศรษฐกิจของประเทศเรา และ ‘ประเทศของเรา’ นั้นมีสถานะอย่างไรในตลาดโลก

ในกรณีของ ‘ประเทศโลกเก่า’ โลกาภิวัตน์ทำให้ค่าจ้างแรงงานภายในประเทศสูงขึ้น เพราะการขยายตัวของการค้าจะทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือแรงงานไร้ฝีมือจำนวนมาก ในขณะที่ผู้ที่เสียประโยชน์ก็คือผู้ที่ถือครองที่ดิน เพราะผลตอบแทนจากที่ดินนั้นมีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากอาหารและสินค้าปฐมภูมิราคาถูกจาก ‘ประเทศโลกใหม่’ เข้ามาตีตลาด

ในส่วน ‘ประเทศโลกใหม่’ นั้น โลกาภิวัตน์และการค้าทำให้ผลตอบแทนที่เกิดจากที่ดินนั้นสูงขึ้น เพราะส่งออกได้มากขึ้น ในขณะที่ค่าจ้างไม่ได้ลดลงเพราะที่ดินในโลกใหม่นั้นถือว่ามีอยู่อย่างไม่จำกัด แรงงานเลยเป็นปัจจัยการผลิตที่ขาดแคลน

ในยุคสมัยนั้นยังไม่มีการควบคุมการอพยพระหว่างประเทศอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน แรงงานจาก ‘ประเทศโลกเก่า’ จำนวนมากจึงอพยพไปสำรวจดินแดนใหม่ๆ และไปหางานทำใน ‘ประเทศโลกใหม่’ ทั้งนี้ มีการประมาณการไว้ว่า มีแรงงานกว่า 30 ล้านคน ที่ย้ายจากยุโรปเพื่อไปแสวงหาดินแดนใหม่ๆ ในอเมริกา การเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นจำนวนมากเช่นนี้ ย่อมมีผลให้ค่าจ้างใน ‘ประเทศโลกเก่า’ เพิ่มขึ้นด้วย

ในแง่นี้แล้ว ผลได้จากโลกาภิวัตน์จึงมีแนวโน้มที่จะกระจายไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน ‘ประเทศโลกเก่า’ ที่แรงงานไร้ฝีมือเป็นผู้ได้ประโยชน์โดยตรงจากการขยายตัวของการค้า

ย้อนกลับมาที่ในบริบทของโลกาภิวัตน์ในปัจจุบัน (ค.ศ. 1980 เป็นต้นมา) โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจไม่ได้เป็นการค้าระหว่าง ‘ประเทศโลกเก่า’ กับ ‘ประเทศโลกใหม่’ อีกต่อไปแล้ว หากแต่เป็นการค้าระหว่าง ‘ประเทศพัฒนาแล้ว’ (North/Developed Countries) กับ ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ เป็นสำคัญ

สินค้าหลักที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันในโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน ยังแตกต่างจากโลกาภิวัตน์ในอดีตอย่างสำคัญอีกด้วย ในอดีต สินค้าหลักที่นำมาแลกเปลี่ยนกันในตลาดโลกนั้นเป็นคนละประเภทกันอย่างชัดเจน คือ สินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตร แต่ในปัจจุบัน การแลกเปลี่ยนสินค้าในตลาดโลกส่วนใหญ่ เป็นการแลกเปลี่ยนสินค้าอุตสาหกรรมกับอุตสาหกรรม (ต่างกันที่ว่าใช้ปัจจัยใดในการผลิตอย่างเข้มข้น) เนื่องจากว่า ประเทศที่ถูกผนวกรวมเข้าไปในระบบการค้าโลก ล้วนผ่านกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศมาแล้วทั้งสิ้น
ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีในระดับสูง มีการสะสมทุนเป็นจำนวนมาก และทุนราคาถูก (หมายรวมถึงทุนมนุษย์ด้วย) ในขณะที่มีแรงงานไร้ฝีมือนั้นมีราคาแพงโดยเปรียบเทียบ ดังนั้น ประเทศเหล่านี้จึงผลิตสินค้าที่ใช้ทุนและเทคโนโลยีเข้มข้นเพื่อส่งออก และนำเข้าสินค้าที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือเข้มข้นในการผลิต ส่วน‘ประเทศกำลังพัฒนา’ มักจะเป็นว่า ประเทศนั้นมีแรงงานไร้ฝีมือเป็นจำนวนมาก แต่ขาดแคลนทุนโดยเปรียบเทียบ ประเทศเหล่านี้จึงผลิตสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพื่อส่งออก และนำเข้าสินค้าที่ใช้ทุนเข้มข้นในการผลิต

หากใช้ตรรกะแบบเดิมแล้ว แรงงานไร้ฝีมือในประเทศกำลังพัฒนาก็สมควรจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากการการค้าและโลกาภิวัตน์รอบใหม่นี้ เนื่องจากการค้าโลกที่ขยายตัวย่อมทำให้ความต้องการสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพิ่มขึ้น และทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นในที่สุด ในทางกลับกัน ผลตอบแทนของทุนทางกายภาพและทุนมนุษย์ในประเทศพัฒนาแล้วก็ย่อมที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศทำให้ความต้องการสินค้าที่ใช้ทุนเข้มข้นในการผลิตเพิ่มขึ้น

ทว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง มีเพียงเฉพาะผลตอบแทนของทุนในประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างมากตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในประเทศกำลังพัฒนากลับเพิ่มขึ้นไม่มากนัก หรือแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย

คำอธิบายหนึ่งที่เรามักจะได้ยินกันก็คือ โลกาภิวัตน์รอบใหม่นี้ได้ผนวกรวมเศรษฐกิจจีนและอินเดียเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดโลกอย่างเต็มตัว ผลที่ตามมาก็คือ มีแรงงานไร้ฝีมือจำนวนหลายร้อยล้านคนเพิ่มขึ้นมาในระบบเศรษฐกิจโลก จนแทบจะกลายเป็นว่า ประเทศกำลังพัฒนามีแรงงานไร้ฝีมือราคาถูกอย่างไม่จำกัด ในขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้ายแรงงานในยุคปัจจุบัน ไม่สามารถทำได้อย่างเสรีเหมือนในโลกาภิวัตน์ยุคก่อน ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นแรงกดให้ค่าจ้างแรงงานไร้ฝีมือในประเทศกำลังพัฒนาไม่อาจเพิ่มขึ้น แรงงานไร้ฝีมือจึงมิใช่ผู้ได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ในรอบใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม การพิจารณาผลที่เกิดขึ้นจากโลกาภิวัตน์นั้นอาจไม่เพียงพอในการทำความเข้าใจผลกระทบและการปรับตัวของเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ เพราะโลกาภิวัตน์นั้นมิได้ดำรงอยู่อย่างโดดๆ หากแต่ปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

ปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับโลกาภิวัตน์ระลอกแรก คือ การปฏิวัติทางเทคโนโลยีพื้นฐานของโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมครั้งใหม่ เมื่อเครื่องจักรไอน้ำกลายเป็นเทคโนโลยีเก่าล้าสมัยและค่อยๆ ลดบทบาทลง โดยมีไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาแทนที่ นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรหนักในโรงงาน และรถยนต์ คือรูปธรรมของการปฏิวัติเทคโนโลยีในรอบนี้ การปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2’ (Second Industrial Revolution)

ในขณะที่โลกาภิวัตน์ในยุคปัจจุบันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ซ้อนทับกับ ‘การปฏิวัติอุตสาหรรมครั้งที่ 3’ (Third Industrial Revolution) ในช่วงทศวรรษ 1970 เทคโนโลยีพื้นฐานของโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนไปอีกครั้ง เมื่อมีการผลิต ‘ตัวประมวลผลขนาดจิ๋ว’ (micro-processor) ขึ้นเป็นครั้งแรก เทคโนโลยีแบบใหม่นี้เองที่เป็นฐานสำคัญที่ทำให้โลกในแบบที่เราอยู่ในปัจจุบันเกิดขึ้นมาได้ ‘โลกดิจิทัล’ และ เครื่องใช้ไอทีที่เราคุ้นเคยในชีวิตประจำวันปัจจุบัน อาทิ คอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต โทรศัทพ์มือถือรุ่นใหม่ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ล้วนถูกพัฒนาบนฐานของการปฏิวัติเทคโนโลยีในครั้งนี้

ดอกผลสำคัญของการปฏิวัติทางเทคโนโลยีในแต่ละครั้งก็คือ การที่ผลตอบแทนของปัจจัยทุนเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทุนในที่นี้ไม่ได้หมายถึงทุนกายภาพ (physical capital) เท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุนมนุษย์ด้วย การที่ผลตอบแทนของปัจจัยทุนเพิ่มสูงขึ้น ย่อมดึงดูดให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ปฏิสัมพันธ์ (interaction) ระหว่างโลกาภิวัตน์และการปฏิวัติเทคโนโลยีในแต่ละครั้ง จึงส่งผลต่อกระบวนการปรับตัวของเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ในลักษณะที่แตกต่างกันไป

การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศโลกต่างๆ ในช่วงโลกาภิวัตน์ระลอกแรกนั้นมีพลวัตสูงมาก ในด้านหนึ่ง ภาคการผลิตดั้งเดิมของทั้ง ‘ประเทศโลกเก่า’ และ ‘ประเทศโลกใหม่’ นั้นสามารถที่จะผลิตสินค้าที่ตัวเองมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (ใช้แรงงานไร้ฝีมือเข้มข้น หรือใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น) เพื่อส่งออกต่อไปได้ ส่วนในอีกด้านหนึ่ง ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นของปัจจัยทุนก็ดึงดูดให้เกิดการลงทุนในภาคการผลิตใหม่ๆ ที่ใช้ทุนอย่างเข้มข้นในการผลิต (ทั้งทุนทางกายภาพ และทุนมนุษย์) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมหนักต่างๆ จนกระทั่งภาคการผลิตเหล่านี้กลายเป็นภาคเศรษฐกิจหลักของประเทศในที่สุด

ควรกล่าวด้วยว่า ประเทศที่จะได้รับดอกผลจากการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ๆ นั้น จำเป็นจะต้องสะสมทุนมนุษย์ไว้อย่างเพียงพอ ถ้าหากไม่มีทุนมนุษย์อย่างเพียงพอแล้ว การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ ก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ จีนเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของความล้มเหลวในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีแบบใหม่ ในช่วงโลกาภิวัตน์ระลอกแรกนั้น แม้จีนจะเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมภายในก้าวหน้าไปมาก และมีการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง แต่การที่ระบบการถ่ายทอดความรู้ในสังคมจีนจำกัดไว้แต่เพียงเฉพาะชนชั้นสูงเท่านั้น เศรษฐกิจจีนจึงไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีใหม่ได้ ส่งผลให้อุตสาหกรรมของจีนต้องล่มสลาย (de-industrialization) และกลายมาเป็นประเทศเกษตรกรรมในที่สุด

ในขณะที่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลภาภิวัตน์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน สร้างทางเลือกในการปรับตัวในลักษณะที่ต่างออกไป การที่ทั้งโลกาภิวัตน์และการปฏิวัติเทคโนโลยีรอบใหม่มีแนวโน้มที่จะทำให้ผลตอบแทนของปัจจัยทุนเพิ่มมากขึ้นทั้งคู่ ประเทศพัฒนาแล้วจึงกลายเป็นผู้ที่ได้เปรียบอย่างมาก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนากลับไม่ได้ประโยชน์มากเท่าไหร่นัก เมื่อค่าจ้างแรงงานไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ผลของปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกาภิวัตน์และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การปฏิวัติเทคโนโลยีทั้ง 2 ครั้งนั้นมีความแตกต่างกันอย่างสำคัญในแง่ของการทดแทนกันของเทคโนโลยีใหม่และเก่า การเกิดขึ้นของไฟฟ้าและเครื่องยนต์สันดาปนั้น แทบจะทำให้การใช้เครื่องจักรไอน้ำกลายเป็นแต่เพียงเรื่องราวที่บันทึกไว้ในประวัติศาสตร์เท่านั้น ในขณะที่ตัวประมวลผลขนาดจิ๋วและนวัตกรรมต่อเนื่องส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ อินเทอร์เน็ต ไม่ได้เข้ามาทดแทนการใช้ไฟฟ้าและการใช้เครื่องยนต์ หากแต่ว่าเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาส่งเสริมกันเป็นอย่างดีด้วยซ้ำไป

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้น ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วยังส่งผลต่อทางเลือกในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจอีกด้วย ประเทศพัฒนาแล้วสามารถส่งออกสินค้าที่ใช้ปัจจัยทุนเข้มข้น ไปพร้อมๆ กับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ โดยที่การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากจะเป็นการลงทุนที่มีผลตอบแทนสูงในตัวเองแล้ว ยังเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมเก่าๆ อีกด้วย ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับเมื่อครั้งที่โลกาภิวัตน์ในอดีตสร้างเงื่อนไขให้ประเทศต่างๆ สามารถส่งออกสินค้าที่ตนมีความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบไปพร้อมๆ กับการลงทุนใหม่ๆ

ในทางตรงกันข้าม ประเทศกำลังพัฒนากลับต้องประสบปัญหาในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ เนื่องจากขาดแคลนปัจจัยทุน ทั้งทุนในทางกายภาพและทุนมนุษย์ ในขณะเดียวกัน ประเทศเหล่านี้ก็ไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลได้จากโลกาภิวัตน์อย่างที่ควรจะเป็น

บทเรียนจากอดีตสอนให้รู้ว่า โลกาภิวัตน์ที่เป็นมิตรกับแรงงานไร้ฝีมือและผู้คนจำนวนมากได้ผ่านพ้นมาแล้ว และคงจะไม่มีวันหวนกลับมาอีก ในขณะที่โลกาภิวัตน์และการขยายตัวของการค้าโลกในยุคปัจจุบันก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หากไม่มีสงครามหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น สภาวะเช่นนี้ย่อมเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจที่มั่งคั่งไปด้วยปัจจัยทุน ในขณะที่อนาคตของเศรษฐกิจที่คิดพึ่งค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือก็มีแต่จะตีบตัน

กระนั้น เทคโนโลยีก็เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจบางคนทำนายไว้ว่า ‘การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4’ (Fourth Industrial Revolution) กำลังก่อตัว และน่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ หากประเทศกำลังพัฒนาต้องการหลุดออกจาก ‘หล่ม’ ของโลกาภิวัตน์ การเร่งสะสมทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุนมนุษย์ เพื่อเตรียมรับมือจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง