ThaiPublica > คอลัมน์ > จ่าย 30 บาทหรือไม่จ่าย! จะแก้ปัญหาคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขหรือไม่?

จ่าย 30 บาทหรือไม่จ่าย! จะแก้ปัญหาคุณภาพมาตรฐานการบริการสาธารณสุขหรือไม่?

30 สิงหาคม 2012


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้มีมติที่จะให้ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมจ่ายเงินครั้งละ 30 บาท เมื่อไปรับการตรวจรักษาตามสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยจะเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2555 ที่จะถึงนี้ แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยังมีข้อยกเว้นสำหรับประชาชนที่ไม่ต้องจ่าย 30 บาท อยู่ถึง 20 กลุ่ม และกลุ่มที่ 21 คือ กลุ่มคนที่อยู่นอกเหนือจากผู้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายเงิน แต่แสดงความประสงค์ว่า “ไม่ต้องการจ่ายเงิน”

สำหรับผู้เขียนที่ได้ติดตามการบริหารบ้านเมืองและการบริหารงานของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตลอดระยะ 10 ปีมานี้ ขอแสดงความเห็นเกี่ยวกับการร่วมจ่าย 30 บาท ที่จะเริ่มใหม่ว่า คงจะทำความสับสนวุ่นวายให้กับเจ้าหน้าที่การเงินของโรงพยาบาลจนปวดหัวและเสียเวลาทำงานมากขึ้น เพราะจะต้องคอยตรวจสอบว่าจะเก็บเงินผู้มาใช้บริการได้หรือไม่ เนื่องจากมีข้อยกเว้นถึง 21 ประเภท และประเภทสุดท้ายก็คือผู้ประสงค์จะไม่ “ร่วมจ่าย”

ตามความเห็นของผู้เขียนแล้ว การเก็บเงินเพียงครั้งละ 30 บาทนี้ คงไม่ทำให้โรงพยาบาลได้เงินเพิ่มสักเท่าไหร่ โรงพยาบาลที่เคยขาดเงิน ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และไม่มีเงินซื้อยา ก็คงจะไม่มีเงินเหมือนเดิม เพราะในที่สุดแล้ว คงมีคนประเภทที่ 21 คือไม่ประสงค์จะจ่ายเงินเป็นจำนวนมากกว่าผู้ประสงค์จะจ่ายเงินอย่างแน่นอน เริ่มจากกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และกลุ่มสหพันธ์ผู้บริโภคที่ได้ออกแถลงการณ์ไว้แล้ว คนทั้งสองกลุ่มนี้ต่างก็อ้างว่าประชาชน “มีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ” ที่จะได้รับการรักษาโดยไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะประชาชนเสียภาษีไปแล้ว

แต่ถ้าไปดูรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี พ.ศ. 2550 มาตรา 51 เขียนไว้ว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมและได้มาตรฐานและผู้ยากไร้มีสิทธิได้รับการรักษาพยาบาลจากสถานบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย”

จะเห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันเขียนไว้ว่า “ผู้ยากไร้เท่านั้นที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย”

แต่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพในรัฐบาลยุคปฏิวัติ (คมช). ได้ประกาศให้คน 48 ล้านคน ได้รับบริการสาธารณสุขโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเลย ถือว่ามีเอกสิทธิเหนือกว่าผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ที่ต้องถูกหักเงินเดือน 5% ทุกเดือน และเหนือกว่ากลุ่มข้าราชการที่ต้องเสียสละทำงานหนัก เงินเดือนน้อย จึงจะได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเหมือนประชาชนในกลุ่มหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ที่มาภาพ : http://www.consumerthai.org/
ที่มาภาพ : http://www.consumerthai.org/

กลุ่มแกนนำคนรักหลักประกันสุขภาพทราบดีว่า เงินรายหัวที่มอบให้แก่โรงพยาบาลนั้นไม่พอที่จะใช้จ่ายในการตรวจรักษาสุขภาพประชาชน เนื่องจากแกนนำหลายคนต่างก็เคยเป็น และกำลังเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติอยู่แล้ว และเป็นผู้มีส่วนในการลงมติให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ออกกฎระเบียบในการรักษาและการจ่ายยาให้แก่ผู้ป่วยได้เป็นบางชนิดเท่านั้น มีผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถได้รับยาที่เหมาะสมและทันสมัยที่สุดสำหรับรักษาอาการป่วยของตน

อาจจะมีเหตุผลโต้แย้งมากมายที่บอกว่า การใช้ยาสามัญก็สามารถรักษาอาการป่วยได้ เพื่อเป็นการประหยัดเงินของประเทศชาติ แต่ความเป็นจริงในปัจจุบันก็คือ มียาที่เป็นต้นแบบอีกหลายชนิดที่มีการค้นคว้าวิจัยใหม่ สำหรับรักษาโรคที่มีอาการรุนแรง ยุ่งยากซับซ้อน ที่ยาเดิมๆ ไม่สามารถรักษาได้ และประเทศไทยยังไม่มีความสามารถหรือเทคโนโลยีที่จะผลิตเป็นยาสามัญได้ (และ สปสช. ไม่อนุญาตให้แพทย์นำยาเหล่านี้มาใช้ในการรักษาผู้ป่วย (โดยไม่กำหนดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ) เช่น ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยารักษาโรคหัวใจบางอย่าง ฯลฯ ทำให้ผู้ป่วยพลาดโอกาสในการที่จะได้รับยาที่มีคุณภาพเหมาะสมกับอาการป่วย และพลาดโอกาสที่จะหายจากโรคและการที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

หรือยาสามัญจากองค์การเภสัช ก็เป็นยาที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องตรวจสอบคุณภาพยา และรายการยาในบัญชียาหลักที่บังคับให้ใช้ในการรักษาผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพนั้น ก็ยังขาดการทบทวนให้ครบถ้วนและทันสมัย จนทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสในการที่จะได้รับยาที่เหมาะสมที่สุดที่จะรักษาอาการป่วยและทำให้หายจากโรค

ผู้เขียนขอเปรียบเทียบว่า ประเทศไทยยังสร้างเครื่องบินเองไม่ได้ แต่ประเทศไทยยอมสั่งซื้อเครื่องบินมาใช้ในการเดินทาง/ขนส่ง/ต่อสู้ข้าศึกศัตรู/ป้องกันประเทศ เพราะถือเป็นความจำเป็นเพื่อความสะดวกสบาย และความปลอดภัยของประชาชน แล้วทำไมเราไม่ใช้แค่รถยนต์หรือช้าง/ม้าเหมือนเมื่อก่อนล่ะ

แต่ทำไมเราไม่เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสม ทันสมัย และมีประสิทธิภาพสูงๆ ในการรักษาชีวิตและสุขภาพของประชาชนล่ะ ทำไมเราจึงต้องคอยอาศัยงบประมาณที่จำกัดจำเขี่ยจากงบประมาณรายหัว ที่ไม่เพียงพอที่จะซื้อยาและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพในการรักษาผู้ป่วยของเรา

ทำไมประชาชนจึงรู้สึกว่าจะ “เสียศักดิ์ศรีที่จะได้รับการรักษาฟรีโดยมีมาตรฐานที่ดีกว่าเดิมล่ะ” ทำไมเราพอใจเพียงยอมรับที่รัฐบาลจัดให้นั่งเกวียนหรือรถเมล์ร้อน แทนที่จะได้นั่งเครื่องบินตามความสามารถที่ประเทศไทยควรทำได้โดยการจัดสรรเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น

ในเมื่อรัฐบาลมีงบประมาณไม่เพียงพอ ทำไมเราไม่ให้ประชาชนที่ไม่ยากจนมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการจ่ายเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น

ที่เปรียบเทียบเรื่องรถยนต์กับเครื่องบินนั้น เป็นเพียงความสะดวกสบายและความรวดเร็วในการเดินทางเท่านั้น แต่การตรวจรักษาและให้ยาผู้ป่วยนั้นมีความสำคัญในการช่วยรักษาสุขภาพและชีวิตพลเมืองด้วย ทำไมเราจึงไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพเท่ากับการเดินทาง

ผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลควรจะต้องสั่งให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หันมาระดมสมองและรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ ที่เป็น “ผู้ให้บริการสาธารณสุข” อย่างจริงจังตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. 2545 มาตรา 18 (13) เพื่อที่จะได้พัฒนาคุณภาพมาตรฐานการบริการด้านสาธารณสุขของระบบ 30 บาท ให้ก้าวหน้าทัดเทียมกับคุณภาพมาตรฐานการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเอกชน (ใหญ่ๆ) ของไทย (ไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะถูกทิ้งห่างอีกไกล)

คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 18 (13) มาหลายปี กล่าวคือ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นจากโรงพยาบาลที่เป็น “ผู้ให้บริการสาธารณสุข” แก่ประชาชนว่า งบประมาณที่จัดสรรให้แก่ “สถานบริการ” นั้นมีไม่พอ จนทำให้โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำค่าไฟ และไม่มีเงินซื้อยาที่เหมาะสมเพื่อมารักษาประชาชน ทำให้ประชาชนเสี่ยงอันตรายและเสี่ยงต่อความเสียหายจากการบริหารจัดการในระบบ 30 บาท มาตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเอาไปจัดเพิ่มบริการบางอย่างไปเรื่อยๆ ในขณะที่งบประมาณการรักษาผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยิ่งขาดแคลน

ทำอย่างไรคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงจะลุกขึ้นมาทำหน้าที่นี้ (รับฟังความเห็นจากผู้ปฏิบัติงานและช่วยแก้ไขปัญหาการขาดงบประมาณ) เสียที หรือต้องให้ประชาชนไปฟ้องร้องว่าละเลยการปฏิบัติหน้าที่เสียก่อนจึงจะทำ

แต่ผู้เขียนอาจจะคาดหวังมากเกินไป ที่จะให้ประชาชนมาฟ้องร้องคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพราะประชาชนยังคาดหวังแต่จะได้รับการรักษาฟรี ทั้งๆ ที่ไม่ทราบว่าการรักษาฟรีที่ว่านี้มีคุณภาพมาตรฐานที่เหมาะสมหรือไม่

ฉะนั้น ปัญหาสำคัญในระบบหลักประกันสุขภาพในขณะนี้ ไม่ใช่ปัญหาว่าจะให้ประชาชนจ่าย 30 บาท หรือไม่ แต่ปัญหาที่จำเป็นจะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุดก็คือ ปัญหาคุณภาพการรักษาผู้ป่วย ที่ไม่ได้คุณภาพมาตรฐานที่ดีที่สุด เนื่องจากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกระเบียบกำหนดมาตรการคุมเข้มในการใช้ยาเพียงบางชนิด และควบคุมวิธีการรักษาเพียงบางอย่างเท่านั้น ซึ่งมีผลให้ผู้ป่วยถูกละเมิดสิทธิในการที่จะได้รับการรักษาและยาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง

1. ปลุกแอนตี้ร่วมจ่าย 30 บาท ชี้ไม่ก่อประโยชน์ แค่เครื่องมือหวังผลทางการเมือง

2. กลุ่มรักประกันสุขภาพอีสานค้าน นโยบายรัฐเก็บค่ารักษา 30 บาท ชี้ไม่ช่วยพัฒนาหน่วยบริการได้จริง

3. เปิดรายงานอนุกรรมาธิการวุฒิสภา ทำไม รพ.ขาดทุน –บริษัทยาฟ้อง-ค้างค่าน้ำ-ค่าไฟ

4.10 ปี ประกันสุขภาพถ้วนหน้า โรงพยาบาลรัฐขาดทุนถ้วนหน้ากว่า 7,000 ล้านบาท

5. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ย้ำ งบสาธารณสุขมีปัญหา บีบ สปสช. ปล่อยเงินค้างท่อ 17,000 ล้าน อุ้ม รพ. ขาดสภาพคล่อง

6.นพ.ดำรัส โรจนเสถียร แจงข้อเท็จจริงไตวายเรื้อรังเพิ่ม 800 คน/เดือน จี้ สปสช. ทบทวนล้างไตทางช่องท้อง ชี้เสียชีวิตสูงกว่า 6,000 คน

7. กรรมาธิการสาธารณสุขแนะ สปสช. ทบทวนหลักเกณฑ์ล้างไตทางช่องท้อง ติง ควรเคารพการวินิจฉัยของแพทย์

8. มหันตภัย 30 บาทรักษาทุกโรค