ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (3)

เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (3)

28 สิงหาคม 2012


ด้วยดีมานด์ที่มากกว่าซัพพลาย จำนวนเก้าอี้ที่มีน้อยกว่าความต้องการ ทำให้การเสนอชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณ ตกเป็นข่าวแทบทุกปี สำหรับการขับเคี่ยวของบรรดานักการเมืองพรรคต่างๆ เพื่อ “แย่งชิง” ตำแหน่งนี้

เพราะนอกจากจะเป็นการ “โชว์เก๋า” แล้ว กมธ.ชุดนี้ยังมีความเกี่ยวพันกับ “ตัวเลข” จำนวนมหาศาล โดยมีการ “ล่ำลือ” กันถึง “ช่องทาง” การแสวงหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม (อ่าน เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (1) )

ดังนั้น “ที่มา” ของ กมธ. งบประมาณ จึงไม่ธรรมดา!

กมธ. งบประมาณ 1 ชุด จะมี กมธ. จำนวน 63 คน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

มาจากตัวแทนของรัฐบาล อันได้แก่ รัฐมนตรี และข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ส่วนที่เหลือเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองทั้งหมดที่มีอยู่ โดยสัดส่วน กมธ. ที่แต่ละพรรคจะได้รับนั้นขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส. ซึ่งอัตราส่วนจะอยู่ที่ 10-11 คนต่อ 1 เก้าอี้ กมธ.

เมื่อได้รับการจัดสรรตำแหน่งเป็นรายพรรคแล้ว ต่อไปคือหน้าที่ของแต่ละพรรคที่จะไปบริหารจัดการเสนอชื่อคนของพรรคเข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรมีความแตกต่างกัน ดังนี้

“พรรคเพื่อไทย” เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มี ส.ส. จำนวนมากที่สุดในสภา ทำให้จำนวนเก้าอี้ที่ได้รับการจัดสรรมามีจำนวนมากกว่าทุกพรรคการเมือง แต่กระนั้น ไม่เพียงพอต่อความต้องการของ ส.ส. ในพรรค ทำให้พรรคเพื่อไทยต้องใช้วิธีการแบ่งโควตารายภาค โดยให้ ส.ส. แต่ละภาคไปดำเนินการจัดสรรกันเองตามกฎเกณฑ์ของภาคนั้นๆ บางภาคใช้วิธีการสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนการดำรงตำแหน่ง หรือการกำหนดคุณสมบัติของ ส.ส. มาเป็นตัวคัดเลือก เช่น ต้องเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 สมัย ขณะที่บางภาคให้เขตกลุ่มจังหวัดไปตกลงเจรจากันว่าจะส่งใครเป็นตัวแทนนั่ง กมธ. และหากไม่มีใครยอมใคร จนไม่สามารถตกลงกันได้ วิธีการ “จับสลาก” เสี่ยงดวงจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ทุกฝ่ายต้องเคารพ

นอกจากโควตารายภาคแล้ว พรรคเพื่อไทยจะดึงเก้าอี้ไว้ที่ส่วนกลางอีกจำนวนหนึ่ง หรือเรียกว่า “โควตากลาง” ที่จัดสรรไว้ให้กับนักการเมือง โดยมี “นายใหญ่” เป็นผู้กำหนด

นายวิทยา บุรณศิริ ที่มาภาพ: http://media.thaigov.go.th
นายวิทยา บุรณศิริ ที่มาภาพ: http://media.thaigov.go.th

อย่างไรก็ตาม ในการพิจารณางบประมาณ 2556 มีความพยายามในการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรบุคคลของพรรคเพื่อไทยใหม่ โดยเปิดให้บรรดา ส.ส. หน้าใหม่ เข้ามาเป็น กมธ. มากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นการแก้ไข “ภาพลักษณ์” ของพรรคเพื่อไทยหลังจากที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามี “กมธ. บางคน” ของพรรค ที่ทำตัวเป็น “ขาใหญ่” ใช้ตำแหน่งและหน้าที่ในทางที่ไม่ถูกต้อง

“พรรคประชาธิปัตย์” ใช้วิธีการเดียวกับพรรคเพื่อไทยในส่วนของการแบ่งโควตาออกเป็นรายภาค และมีการแบ่งโควตากลาง เพื่อแต่งตั้งให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญงานงบประมาณไปดำรงตำแหน่ง หรือ ส.ส. ที่พลาดหวังจากตำแหน่งรัฐมนตรี และตำแหน่งกรรมาธิการสามัญประจำสภา มาดำรงตำแหน่ง กมธ. งบประมาณแทน

“พรรคภูมิใจไทย” จะเป็นการแบ่งโควตาระหว่าง กลุ่มของ “เนวิน ชิดชอบ” กับของ “สมศักดิ์ เทพสุทิน” โดยในปีงบประมาณ 2556 พรรคภูมิใจไทยได้โควตา กมธ. งบ 3 คน ตกเป็นของ ส.ส. สายของ “เนวิน” 2 คน และที่เหลืออีก 1 คน เป็นของสาย “สมศักดิ์” อย่างไรก็ตาม ในส่วนโควตาของ “เนวิน” นั้นจะมี “ชัย ชิดชอบ” เป็นตัวยืนในการเป็น กมธ. เนื่องจากมีประสบการณ์เรื่องงบประมาณมานาน ส่วนอีก 1 คนที่เหลือ จะสลับหมุนเวียนกันตามความเหมาะสม โดยบุคคลที่เคยเป็น กมธ. แล้วจะต้องสละให้กับคนที่ยังไม่เคยเป็นมาทำหน้าที่ดังกล่าว

“พรรคชาติไทย” คนที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็น กมธ. งบประมาณ ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีความชำนาญเรื่องงบประมาณ และเป็นคนที่ “บรรหาร ศิลปอาชา” ให้ความไว้วางใจ

ขณะที่พรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่จำนวน ส.ส. ในพรรค ไม่ถึง 10 คน ทำให้ไม่ได้รับโควตานั้น มีการเปิดทางให้ 3 พรรคการเมืองขนาดเล็กอันประกอบไปด้วย พรรครักษ์สันติ พรรครักประเทศไทย และพรรคมาตุภูมิ ได้รับโควตา 1 ที่นั่ง โดยให้หมุนเวียนกันปีละ 1 พรรค ให้ตัวแทนดำรงตำแหน่ง กมธ. งบประมาณ

แม้การก้าวเข้ามาเป็น กมธ. จะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้อง “ชิงดำ” กับ ส.ส. ด้วยกัน แต่มี กมธ. งบประมาณบางรายได้เป็นตัวแทนของพรรคการเมืองอยู่ไม่ใช่น้อย จากการตรวจสอบข้อมูลรายชื่อ กมธ. งบประมาณ 5 ปีย้อนหลัง หรือตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552-2556 พบว่ามีเพียง 1 คนที่เป็น กมธ. ทุกสมัยคือ “วิทยา บุรณศิริ” รมว.สาธารณสุข ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย

รองลงมาคือ “วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย และ “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลัง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็น กมธ. งบประมาณ 4 ครั้งจาก 5 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม บุคคลทั้ง 3 คนนี้เป็นรัฐมนตรีด้วย ทำให้การเป็น กมธ. บางครั้งต้องเป็นโดยตำแหน่งเพราะมาจากสัดส่วนของรัฐบาล เช่น ตำแหน่ง รมว.คลัง จะเป็นประธาน กมธ. งบประมาณ โดยตำแหน่งอยู่แล้ว

สำหรับ ส.ส. ที่ไม่เคยเป็นรัฐมนตรี แต่ได้ดำรงตำแหน่ง กมธ. มากที่สุดเมื่อย้อนหลังไป 5 ปี มีด้วยกัน 3 คน คือ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย “ชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ” ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย และ “นันทนา สงฆ์ ประชา” ส.ส.ชัยนาท พรรคภูมิใจไทย โดยทั้งหมดนี้เป็น กมธ. จำนวน 3 ครั้งจาก 5 ครั้ง (อ่านรายชื่อ กมธ. งบฯ ย้อนหลัง)