ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (2)

เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (2)

16 สิงหาคม 2012


ความไม่ชอบในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของทุกปี ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในชั้นของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.รายจ่ายงบประมาณเท่านั้น

แต่ขบวนการทุจริตเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มตั้งงบประมาณ!

บรรทัดต่อไปนี้จะเป็น “คำตอบ” ว่า เหตุใด? บรรดาหน่วยงานราชการทั้งหลายต้อง “สมยอม” กับคำขู่ของ กมธ. ด้วยการจัดโครงการลงพื้นที่ให้ กมธ. จนเป็นการเปิดช่องให้มีการซื้อ-ขายโครงการโกยงบประมาณของรัฐเข้ากระเป๋าตัวเอง เพื่อแลกกับความสะดวกในการผ่านงบประมาณ

ในทุกๆ ปีงบประมาณ ส่วนราชการไม่ว่าจะเป็นระดับกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ต้องเขียนแผนงานว่าในปีหน้ามีแผนงานที่จะทำอะไร พร้อมกับคำขอตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่าย ส่งให้สำนักงบประมาณพิจารณา ในแต่ละปีจะมียอดคำขอใช้วงเงินงบประมาณเกินกว่ากรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเป็นจำนวนมาก

เสียงลือเสียงเล่าอ้างดังออกมาจากคนวงในว่า ขั้นตอนนี้ถือเป็นประตูการทุจริตบานแรก ที่พร้อมเปิดให้ข้าราชการในหน่วยงานต่างๆ แสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ชอบได้

เพราะก่อนที่ส่วนราชการจะส่งรายละเอียดของโครงการมาให้สำนักงบประมาณพิจารณา บรรดาผู้รับเหมาโครงการ หรือพ่อค้า “วิ่งเต้น” กับ “ผู้มีอำนาจ” ทั้งในฝ่าย “ข้าราชการ” และ “นักการเมือง” ที่กำกับดูแลหน่วยงานนั้นๆ เพื่อเสนอโครงการ ไล่ตั้งแต่ระดับ “อธิบดี” ไปจนถึง “เสนาบดี” ของแต่ละกระทรวงขึ้นอยู่กับมูลค่าของโครงการ

ปรากฏการณ์ฝุ่นตลบเหล่านี้เกิดขึ้นแทบทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน

บางกรณี “ผู้รับเหมา” ทั้งหลายจะเสนอค่าน้ำร้อนน้ำชา จำนวน 5-10 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าโครงการ เป็นค่า “มัดจำ” เอาไว้ก่อนก็มี บางราย “ใจถึง” จัดทริปบินนอก พาข้าราชการและครอบครัวนำเที่ยวต่างประเทศพร้อมเลี้ยงดูปูเสื่ออย่างเต็มที่

แต่หากบางโครงการที่มีมูลค่ามหาศาลเกินกว่าที่จะ “วิ่ง” โดยง่าย ผู้รับเหมารายเก๋าจะเดินสายล็อบบี้กับ “ผู้มีบารมี”ตัวจริงอีกทางหนึ่งด้วย โดยในส่วนนี้ นักการเมือง “ระดับบิ๊ก” ที่รับเป็นธุระดำเนินการกรุยทางให้นั้น จะได้รับค่าตอบแทน 7-15 % ของโครงการ

หลังจากที่ส่วนราชการส่งรายละเอียดของโครงการ พร้อมกับคำขอใช้วงเงินงบประมาณมาแล้ว กระบวนการนี้สำนักงบประมาณจะทำหน้าที่ “หั่น” งบฯ ที่ไม่จำเป็น ไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และยุทธศาสตร์ของประเทศ เพื่อปรับลำวงเงินตามคำขอใช้งบฯ ให้อยู่ภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ผ่านการอนุมัติจาก ค.ร.ม. หากขั้นตอนนี้ “ติดขัด” จะเป็นหน้าที่ของบรรดาคนที่ “รับทรัพย์” ไปแล้ว ที่ทำหน้าที่ “เคลียร์” ให้โครงการยังอยู่

จากนั้น คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และส่งให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ ในวาระที่ 1-3 โดยหลังจากพิจารณาในขั้นรับหลักการแล้ว สภาผู้แทนราษฎรจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เพื่อที่จะปรับลดงบประมาณลงอีกครั้งหนึ่ง (อ่าน!! เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (1))

เมื่อสิ้นสุดขั้นตอนของการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ และนำ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้แล้วนั้น จะเข้าสู่ขั้นตอนของการ “ประมูล” โครงการ
ระหว่างนี้ กระบวนการ “งาบงบฯ” เกิดขึ้นอีกครั้ง!!!

กลยุทธ์ที่พบบ่อย ได้แก่ 1. การล็อคสเปค ส่วนราชการจะกำหนดรายละเอียดทางด้านเทคนิคให้เข้าทางพรรคพวก หรือกำหนดมูลค่ำไว้สูงๆ เพื่อสกัดรายเล็กไม่ให้เข้ามาประมูลแข่ง 2.ฮั้วประมูล เป็นการสมรู้ร่วมคิดกันกันในหมู่ผู้รับเหมาที่จะเข้ามาประมูลโครงการ ยกตัวอย่าง บางจังหวัดมีงานก่อสร้าง 100 โครงการ แต่มีผู้รับเหมา 200 ราย ถ้าเปิดให้ประมูลแข่งกัน จะมีผู้รับเหมาไม่ได้งาน 100 ราย ดังนั้น เพื่อให้ทุกอย่าง “วินๆ” จึงต้องมาฮั้วกัน แต่ละโครงการจะมีผู้รับเหมา 2 ราย โดยรายที่ชนะการประมูลก็ไปเซ็นสัญญากับส่วนราชการ ส่วนอีกรายเป็น Joint venture หรือคอยช่วย “ซับงาน”อยู่ข้างหลัง และ 3. ฟันราคา โดยเสนอราคาที่ต่ำที่สุดตัดหน้าผู้รับเหมารายอื่น เป็นต้น

ในวันเซ็นสัญญาว่าจ้าง “ไอ้โม่ง” ที่ช่วยผลักดันจะได้รับ “ใต้โต๊ะ” ถ้าเป็นงานรับเหมาก่อสร้าง จ่ายกัน 7-8 % ของมูลค่าโครงการอีกครั้งหนึ่ง แต่ถ้าเป็นงานประเภทประชาสัมพันธ์, รับจัดงาน (Event)และงานที่ปรึกษาโครงการ จ่ายกัน 30-35%

จากนั้นเมื่อโครงการสำเร็จลุล่วง ในแต่ละส่วนราชการจะต้องมีคณะกรรมการตรวจรับงานของแต่ละหน่วยงาน ว่ากันว่าในขั้นตอนนี้ “ผู้รับเหมา” จะต้อง “ควัก” จ่าย “ค่าเหนื่อย” ให้กับคณะกรรมการชุดนี้ที่หน้างานอีก 3 % ของมูลค่าในเฟสนั้น

เมื่อรวม “เม็ดเงิน” ที่จะต้องจ่าย “ใต้ดิน” เข้ากระเป๋าของใครต่อใครทั้งกระบวนการแล้ว จะพบว่า ตัวเลขเฉลี่ยจากเงินงบประมาณที่หายไปมีถึง 30% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด

ขณะเดียวกัน “ผู้รับเหมา” เองก็ต้องมีผลกำไรอย่างน้อย 10 % ทั้งนี้ยังไม่นับรวมค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยที่ 15 %

เมื่อบวกลบคูณหารจะพบว่า เงินงบประมาณที่เหลือใช้ในโครงการจริงๆ มีเพียง 45 % เท่านั้น!

หมายความว่า เงินภาษีของประชาชนที่นำมาจัดสรรงบประมาณลงไปในแต่ละโครงการ 100 บาท เข้ากระเป๋า “ไอ้โม่ง” 30 บาท เป็นกำไรผู้รับเหมา 10 บาท ไหลกลับเข้าหลวงในรูปของภาษี 15 บาท เหลือเม็ดเงินที่นำไปลงทุนจริงๆ 45 บาท เป็นต้นเหตุที่ทำให้ผู้รับเหมาต้องลดสเปคงาน

เป็นเรื่องที่ไม่เกินจริงที่ในแต่ละปี งบประมาณที่ “รั่วไหล” ไปสู่ข้าราชการและนักการเมืองที่ไม่ซื่อสัตย์มีมูลค่ามหาศาล ซึ่งไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าส่งผลต่อเสถียรภาพในทุกมิติของประเทศไทยเป็นอย่างมาก

สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ เป็นเพราะ“กรอบ” การพิจารณางบประมาณที่เป็นไปด้วยความหละหลวม?

เป็นเพราะผู้มีส่วนร่วมในกระบวนการมีความ “อ่อนด้อย” ในเรื่องของจริยธรรม?

หรืออาจเป็นเพราะทั้ง 2 ปัจจัย!!!