ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (1)

เปิดโปงขบวนการ “ซื้อขายงบประมาณ” บีบหน่วยราชการ โกยหัวคิวเข้ากระเป๋า (1)

12 สิงหาคม 2012


ที่มาภาพ : http://iraqenergy.org/
ที่มาภาพ : http://iraqenergy.org/

วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 มีจำนวน 2.4 ล้านล้านบาท

เงินก้อนมหึมาก้อนนี้จะถูกนำไปใช้จ่ายในแผนปฏิบัติงานของหน่วยราชการในปี 2556 ให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของแผนการบริหารราชการแผ่นดิน

เคยสงสัยกันไหมว่า งบประมาณของประเทศที่มาจากภาษีของเราๆ ท่านๆ กว่าจะมาเป็นงบประมาณที่ได้ใช้จ่ายกันนั้น ต้องผ่านกระบวนการและขั้นตอนอะไรมาบ้าง?

ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ของสภาผู้แทนราษฎรในวาระ 2-3 วันที่ 15-17 สิงหาคมนี้ “สำนักข่าวไทยพับลิก้า” แกะรอยเส้นทางงบประมาณปี 2556 มานำเสนอ

ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณของทุกปีงบประมาณ ขั้นตอนที่ถือว่าเป็น “ไฮไลต์” สำคัญที่สุดคือ กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ( กมธ. ) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ภายหลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรลงมติรับหลักการในวาระที่ 1

โดยผู้ที่มาสวมบท “มือเฉือนงบฯ” มาจากตัวแทนของรัฐบาล และสัดส่วนของพรรคการเมืองต่างๆ ที่ผ่านมามักจะได้ยินข่าวคราวการ “ขับเคี่ยว” แย่งชิงเก้าอี้ กมธ. ในสัดส่วนของพรรคการเมืองกันอยู่เสมอ

ด้วยเพราะ กมธ. ชุดนี้มีอำนาจ “ไม่ธรรมดา” เนื่องจากหน้าที่ของ กมธ. คือ การ “หั่น ตัด เฉือน“ งบประมาณส่วนเกินที่ไม่มีความจำเป็น หรือที่เรียกกันว่า “ไขมัน” ออกจากงบประมาณที่หน่วยงานร้องขอไปยังสำนักงบประมาณให้เสนอสู่สภา

ทำให้ “บางคน” อาศัย “ช่องทาง” นี้ในการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวแทนที่จะทำหน้าที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะ กมธ. หลายคนที่ตั้งตัวเป็น “ขาใหญ่” ใน กมธ. หลายสมัย

ว่ากันว่า กระบวนการจะเริ่มจากการที่ กมธ. หน้าเดิมๆ จะ “สวมบทโหด” ซักไซ้ไล่เรียงถึงประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของปีที่ผ่านมาว่าได้ผลสัมฤทธิ์เพียงใด ทั้งในชั้นของ กมธ. ชุดใหญ่ และอนุ กมธ. ทั้ง 4 คณะ ที่ตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาอย่างละเอียดยิบ

โดย กมธ. จะ “บี้” ขอถามอย่างเต็มที่ ประเด็นทุกประเด็นที่เป็นทั้งปัญหาและไม่ใช่ปัญหาถูกขุดคุ้ยขึ้นมา “แฉ” จากนั้นจะมีการเรียกหน่วยงานมาพูดคุยเป็นการส่วนตัว พร้อมกับ “บีบ”ให้หน่วยงานนั้นๆ จัดโครงการลงพื้นที่ของตัวเอง เพื่อแลกกับการ “ไม่ติดใจ” การเสนองบประมาณ

แต่ กมธ. บางรายกลับโยกงบประมาณไป “ขาย” ต่อให้ ส.ส. รายอื่น เพื่อให้ “ซื้อ” โครงการนั้นไปลงในพื้นที่ของตนเอง

โดย กมธ. ที่เป็นผู้ขายจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินสดประมาณ 10% ของมูลค่าโครงการทั้งหมด เช่น หากโครงการมีมูลค่า 60 ล้านบาท กมธ. จะได้รับค่าตอบแทนจำนวน 6 ล้านบาทจากเพื่อน ส.ส.

ขณะที่ ส.ส. ที่เป็นผู้ซื้อ จะนำโครงการไปขายต่อให้กับผู้รับเหมาในพื้นที่ของตัวเองต่อไป โดยจะได้เปอร์เซ็นต์จากผู้รับเหมาประมาณ 15-20 % ของมูลค่าโครงการอีกทอดหนึ่ง

แหล่งข่าวใน กมธ. รายหนึ่งเปิดเผยว่า หาก กมธ. ตัดลดงบประมาณที่สำนักงบประมาณเสนอมากเท่าใด ยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้ กมธ. หากินได้มากขึ้นเท่านั้น โดยวงเงินที่ถูกปรับลดจะถูกแปรผันเป็นงบกองกลาง เพื่อที่จะนำบางส่วนไปตั้งเป็นโครงการให้กับ กมธ. โดยงบประมาณสำหรับโครงการเหล่านั้นจะถูกบวกเข้ากับงบประมาณที่ ครม. แปรญัตติขอเพิ่มเข้ามาในภายหลัง

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมเหล่านี้เป็นที่ล่วงรู้ถึงหูเจ้าของพรรคการเมืองขนาดใหญ่พรรคหนึ่ง จนถึงกับต้อง “สั่งการ” ให้พรรคส่ง “นักการเมืองวัยละอ่อน” มานั่ง กมธ. ในโควตาของพรรคการเมืองแทน เพื่อสกัดเส้นทางทำมาหากินของนักการเมืองขาใหญ่ในปีงบประมาณ 2556 นี้

แต่กระนั้น ไม่วายที่ “ขาใหญ่” จะแทรกตัวเข้ามาเป็น กมธ. ได้ หนำซ้ำ ส.ส. หน้าใหม่บางรายยังมีพฤติกรรมการลอกเลียนตัวอย่างที่ไม่ดีจากรุ่นพี่อีก

ความซับซ้อนของการจัดสรรงบประมาณยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 500 คนจากทุกพรรคการเมืองนั้น ยังจะมีงบประมาณที่เรียกกันว่า “งบ ส.ส. ” จากกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย โดยในปีงบประมาณ 2556 นี้ ได้รับการจัดสรรรายละ 35 ล้านบาท วงเงินในส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเขตเลือกตั้งของ ส.ส. แต่ละราย รวมไปถึง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อด้วย ซึ่งการตั้งงบประมาณจากงบ ส.ส. นี้ จะต้องนำเสนอโครงการผ่านท้องถิ่นทั้ง อบจ. หรือ อบต.

การกระทำเหล่านี้เป็นที่รับรู้กันมาโดยตลอด ทั้งใน กมธ. และในสภาผู้แทนราษฎรเอง แต่ยังไม่เคยถูกตีแผ่ให้เป็นที่รับรู้ของสาธารณชน ว่างบประมาณที่ตั้งไว้ในวงเงิน 2.4 ล้านล้านบาทจะถูกนำไปใช้อย่างถูกต้องเพื่อประเทศชาติมากน้อยเพียงใด

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ควร “ออกแบบ” การทำหน้าที่ กมธ. งบประมาณใหม่ เพื่อป้องกันการ “ฉกฉวย” งบประมาณแผ่นดินเข้า “กระเป๋า” ของคนกลุ่มนี้

(โปรดติดตามอ่านตอนต่อไป)

กว่าจะมาเป็นงบประมาณ…ตามรอยเส้นทางงบปี ’56

1. คณะรัฐมนตรีเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ที่จัดทำโดยสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง วงเงินงบประมาณ 2.4 ล้านล้านบาท เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร

2. สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ

3. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตั้งกรรมาธิการ ( กมธ. ) วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจง พร้อมกับเปิดให้ ส.ส. เสนอคำแปรญัตติต่อประธาน กมธ. ภายใน 45 วันนับจากที่ประชุมสภาลงมติรับหลักการในวาระที่ 1

4. กมธ. ตั้งอนุกรรมาธิการจำนวน 4 คณะเพื่อพิจารณารายละเอียด ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมาธิการ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2. คณะอนุกรรมาธิการท้องถิ่น จังหวัด และด้านการศึกษา 3. คณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ ที่ดิน สิ่งก่อสร้าง แหล่งน้ำ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารและรัฐวิสาหกิจ 4. คณะอนุกรรมาธิการฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้างที่ปรึกษา การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายการเดินทางไปต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน งบรายจ่ายอื่น กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน

5.อนุกรรมาธิการทั้ง 4 ชุด ส่งผลสรุปการปรับลดต่อ กมธ.โดยอนุ กมธ. ปรับลดงบประมาณลงจำนวน 22,003,385,300 บาท ทำให้มีวงเงินคงเหลือ ทำให้วงเงินงบประมาณที่เหลือจากการปรับลดมีจำนวน 2,377,997 ล้านบาท

6. มติ ครม. ขอปรับเพิ่มตามที่หน่วยงานแต่ละแห่งยื่นอุทธรณ์เสนอเข้ามา โดยขอเสนอให้ปรับเพิ่มจำนวน 22,003,385,300 บาท จำนวนวงเงินงบประมาณกลับไปที่วงเงินแรกที่ยังไม่มีการปรับลดที่จำนวน 2.4 ล้านบาท

7. กมธ. เสนอรายงานผลการพิจารณาต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในการพิจารณาวาระที่ 2 โดยเปิดให้ ส.ส. ที่สงวนคำแปรญัตติได้อภิปรายเป็นรายมาตรา โดยการลงมติในวาระที่ 2 นั้น เป็นการลงมติเป็นรายมาตรา

8. ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบในวาระที่ 3 ลงมติรับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ทั้งฉบับ เมื่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว จะต้องเสนอสู่ที่ประชุมวุฒิสภาให้พิจารณาต่อไป

9. โดยที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2556 ภายใน 20 วัน นับจากวันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้จากสภาผู้แทนราษฎร (ทั้งนี้ วุฒิสภาได้ตั้ง กมธ. วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ของวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ควบคู่ไปกับ กมธ. วิสามัญงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎร แต่ กมธ. ชุดวุฒิสภาทำได้เพียงการตั้งข้อสังเกตเท่านั้น ไม่มีอำนาจในการปรับลด-เพิ่มงบประมาณ เหมือน กมธ. ชุดของสภาผู้แทนราษฎร)

10. เมื่อที่ประชุมวุฒิสภาเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างพระราชบัญญัตินั้นจากรัฐสภา เพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้