ThaiPublica > เกาะกระแส > นักวิชาการชี้ความมั่งคั่งของไทยอยู่ที่ใคร! คน 20% ครองทรัพย์สินสุทธิเกินครึ่งประเทศ

นักวิชาการชี้ความมั่งคั่งของไทยอยู่ที่ใคร! คน 20% ครองทรัพย์สินสุทธิเกินครึ่งประเทศ

22 สิงหาคม 2012


เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2555 ในสัมมนาทางวิชาการเพื่อการเสนอผลงานวิจัย (ร่าง) “สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป” ทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สนับสนุนโดย สกว., สกอ.และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโดยศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การกระจุกตัวของความมั่งมี” โดย ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการกระจายการถือครองทรัพย์สินในประเทศไทย หรือการกระจุกตัวของความมั่งคั่ง

ผศ.ดร.ดวงมณี ได้แบ่งการศึกษาออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ศึกษาการถือครองที่ดิน 2. ศึกษาการถือครองทรัพย์สิน โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) และ 3. ศึกษาการถือครองหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

โดยใช้ตัวชี้วัดทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) หรือค่าจีนี เพื่อแสดงค่าความเหลื่อมล้ำการกระจายการถือครองทรัพย์สิน หรือการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในประเทศไทย ซึ่งค่าจีนีจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 1 หากค่าจีนีต่ำ (เข้าใกล้ 0) หมายถึงสังคมมีความเหลื่อมล้ำที่ต่ำ แต่ถ้าค่าจีนีสูง (เข้าใกล้ 1) หมายถึงการมีความเหลื่อมล้ำในสังคมมาก

ผลการศึกษาของงานวิจัยนี้ เมื่อพิจารณาจากค่าจีนีล่าสุดของประเทศไทยที่มีการเก็บข้อมูล คือ ปี 2552 พบว่าการถือครองทรัพย์สินรวมสุทธิ (ทรัพย์สินทั้งหมด หัก หนี้สินทั้งหมด) มีค่าจีนี 0.688, การถือครองทรัพย์สินรวม มีค่าจีนี 0.656 และ รายได้ มีค่าจีนี 0.485 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยมีความไม่เสมอภาคของการถือครองทรัพย์สิน หรือการกระจุกตัวของความมั่งคั่งค่อนข้างสูง

ส่วนแรก ผลการศึกษาเรื่องการถือครองที่ดิน จากข้อมูลการถือครองที่ดินของกรมที่ดิน และการคำนวณของผู้วิจัย พบว่า ความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินจากข้อมูลการถือครองที่ดินที่มีโฉนด ในปี 2555 ภาพรวมทั้งประเทศ และรายจังหวัด มีการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินสูงมาก ภาพรวมทั้งประเทศมีค่าจีนีสูงถึง 0.941 ขณะที่รายจังหวัดมีค่าจีนีอยู่ในช่วง 0.7 – 0.9

ภาคที่มีความไม่เสมอภาคในเรื่องการถือครองที่ดินมากที่สุดคือภาคกลาง (0.978) ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภาคที่มีความไม่เสมอภาคในเรื่องการถือครองที่ดินน้อยที่สุด (0.837)

และเมื่อพิจารณาเป็นรายจังหวัดพบว่า จังหวัดที่มีความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินมากที่สุดคือ จังหวัดสมุทรปราการ ( 0.957) รองลงมาคือปทุมธานี (0.954) ส่วนจังหวัดที่มีความไม่เสมอภาคในการถือครองที่ดินน้อยที่สุดคือ จังหวัดศรีษะเกษ (0.77) รองลงมาคือพัทลุง (0.804)

โดยค่าเฉลี่ยของการถือครองที่ดินทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล พบว่า ประเทศไทยมีค่าเฉลี่ยการถือครองที่ดินอยู่ที่ 13.97 ไร่ โดยบุคคลที่ถือครองที่ดินมากที่สุดในประเทศเป็นนิติบุคคล มีการถือครองที่ดินจำนวน 2,853,859 ไร่ ซึ่งงานวิจัยไม่ได้ระบุว่าเป็นใคร และเมื่อแบ่งผู้ถือครองที่ดินทั้งประเทศออกเป็น 5 กลุ่ม (100%) ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล พบว่ากลุ่มคนที่ถือครองพื้นที่น้อยที่สุด 20% แรก ถือครองที่ดินเฉลี่ย 0.086 ไร่ ขณะที่กลุ่มคนที่ถือครองพื้นที่มากที่สุด 20% ท้าย ถือครองที่ดินเฉลี่ย 62.5515 ไร่ ซึ่งมีความต่างกันประมาณ 729 เท่า

และเมื่อจำแนกผู้ถือครองที่ดินทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็น 100% พบว่ามีคน 10% ครอบครองที่ดินเป็นจำนวนร้อยละ 80 ของพื้นที่มีโฉนด และคนที่เหลืออีก 90% ครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วนร้อยละ 20 ของพื้นที่มีโฉนดที่เหลือ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินเป็นอย่างมาก

ส่วนที่สอง การศึกษาการถือครองทรัพย์สิน โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) ปี 2549 – 2552 ประกอบด้วย มูลค่าบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง มูลค่ายานพาหนะ และมูลค่าทรัพย์สินทางการเงิน พบว่า ในปี 2552 ทรัพย์สินรวม มีค่าจีนี 0.656, บ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย 0.679, บ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจเกษตร และอื่นๆ 0.884, ยานพาหนะ 0.735 และทรัพย์สินทางการเงิน 0.849

เมื่อแบ่งพิจารณาตามประเภท ในปี 2552 พบว่า สัดส่วนการถือครองทรัพย์สินรวมของครัวเรือน แยกตามชั้นรายได้ ชั้นรายได้สูงสุด 20% แรก ถือครองทรัพย์สินรวมของครัวเรือน ร้อยละ 52.76 ของมูลค่ารวมทั้งหมด

สัดส่วนการถือครองบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครัวเรือนตามชั้นรายได้ ผู้ถือครองบ้านที่มีมูลค่าสูงสุด 20% แรก มีสัดส่วนในการถือครองบ้านมูลค่ารวม ร้อยละ 50.06 ของมูลค่ารวมทั้งหมด

สัดส่วนการถือครองบ้าน ที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบธุรกิจ หรือการเกษตร ตามชั้นรายได้ ผู้ถือครองบ้านเพื่อธุรกิจ หรือการเกษตร ที่มีมูลค่าสูงสุด 20% แรก มีสัดส่วนการถือครองบ้านเพื่อธุรกิจ หรือการเกษตร รวมคิดเป็น ร้อยละ 44.87 ของมูลค่ารวมทั้งหมด

สัดส่วนการถือครองยานพาหนะตามชั้นรายได้ คิดตามมูลค่า ผู้ถือครองยานพาหนะ ที่มีมูลค่าสูงสุด 20% แรก มีสัดส่วนการถือครองถือครองยานพาหนะคิดเป็น ร้อยละ 58.66 ของมูลค่ารวมทั้งหมด

สัดส่วนการถือครองทรัพย์สินทางการเงินของครัวเรือนตามชั้นรายได้ ครัวเรือนผู้ถือครองทรัพย์สินทางการเงิน ที่มีมูลค่าสูงสุด 20% แรก มีสัดส่วนการถือครองถือครองทรัพย์สินทางการเงินรวมคิดเป็น ร้อยละ 70.41 ของมูลค่ารวมทั้งหมด

และส่วนของทรัพย์สินสุทธิ มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมมีมูลค่า 18,093,751 ล้านบาท ค่าจีนีของการถือครองทรัพย์สินสุทธิ อยู่ที่ 0.688 โดย 20% แรกของผู้ที่ถือครองทรัพย์สินสุทธิสูงที่สุด มีทรัพย์สินสุทธิครอบครองรวมคิดเป็นร้อยละ 50.66 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ

หากมีการเก็บภาษีทรัพย์สินรวมสุทธิในอัตราร้อยละ 1 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมสุทธิ จากการประมาณการโดยใช้ข้อมูล จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (SES) พบว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีได้สูงถึง 180,938 ล้านบาท ซึ่งจำนวนภาษีนี้สามารถนำไปกระจายประโยชน์ให้กับกลุ่มที่มีความมั่งคั่งน้อยได้ โดยผ่านนโยบายทางการคลังด้านรายจ่ายที่เป็นการกระจายรายได้ใหม่ในเรื่องต่างๆ เช่น การจัดสวัสดิการสังคมให้กับประชาชน เป็นต้น

และส่วนที่สาม การศึกษาการถือครองหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มีบุคคลที่ได้ชื่อว่ามีมูลค่าหุ้นสูงสุด อยู่ใน 10 อันดับแรก ติดต่อกัน 3 ปี (2552 – 2554) มีทั้งหมด 5 คน คือ นายอนันต์ อัศวโภคิน, นายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์, นายนิติ โอสถานุเคราะห์, นายวิโรจน์ ธนาลงกรณ์ และนายวรวิทย์ วีรบวรพงศ์ โดยมูลค่าการถือหุ้นรวมของ 10 อันดับแรกในตลาดหลักทรัพย์ ในปี 2553 – 2554 มีจำนวนมากกว่า 1 แสนล้านบาท

เมื่อแบ่งการจัดลำดับมูลค่าการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จำแนกตามตระกูล พบว่า ในปี 2554 ตระกูลมาลีนนท์ มีมูลค่าหุ้นมากที่สุด คิดเป็น 37,859.64 ล้านบาท ตระกูลที่มีมูลค่าหุ้นมากที่สุด 10 อันดับแรก ได้แก่ มาลีนนท์, วิจิตรพงพันธุ์, จิราธิวัฒน์, อัศวโภคิน, ทองแดง, กาญจนพาสน์, ปราสาททองโอสถ, จันศิริ, มหากิจศิริ และโสภณพนิช ตามลำดับ

จากผลการศึกษาการถือครองหลักทรัพย์ในสังคมไทยจะเห็นว่า ผู้ที่ถือครองหุ้นที่มีมูลค่าสูงสุด มักเป็นบุคคลหรือตระกูลเพียงไม่กี่กลุ่มเท่านั้น ในขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ มีส่วนร่วมในการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ทั้งจำนวนหุ้น และมูลค่าหุ้นเป็นจำนวนน้อยมาก สะท้อนให้เห็นภาพการกระจุกตัวของความมั่งคั่งในตลาดหลักทรัพย์

โดยสรุปแล้ว ในสังคมไทยมีการกระจุกตัวของความมั่งคั่งอยู่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่อยู่ในรูปของบ้าน ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง ยานพาหนะ ทรัพย์สินทางการเงิน และหลักทรัพย์ นอกจากนั้นความไม่เสมอภาคในการถือครองทรัพย์สินสูงกว่าความไม่เสมอภาคในรายได้

ดังนั้น แนวทางหนึ่งที่จะทำให้เกิดความเสมอภาคได้มากขึ้นในสังคมคือ การกระจายการถือครองทรัพย์สินใหม่ เช่น เก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน ซึ่งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีประเภทนี้คือ กลุ่มคนที่มีทรัพย์สินในครอบครองมูลค่าที่สูง มากกว่าคนที่ไม่มีทรัพย์สินในครอบครอง หรือมีทรัพย์สินในครอบครองมูลค่าที่น้อย ซึ่งการเก็บภาษีในลักษณะนี้จะเป็นไปตามหลักการเก็บภาษีตามความสามารถในการจ่าย (Ability to pay principle)

เมื่อรัฐบาลได้รายรับจากภาษีมาแล้ว ก็สามารถที่จะนำรายรับจากภาษีนี้ ไปจัดสรรในการจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนต่อไป โดยสามารถจัดสรรไปให้กลุ่มเป้าหมายที่มีความจำเป็นในการรับบริการสาธารณะมากที่สุด ซึ่งการเก็บภาษีทรัพย์สินนี้ จะเป็นการกระจายทรัพย์สินและรายได้ใหม่ ให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น

ด้าน รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้วิจารณ์บทความนี้ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า การนำค่าจีนีมาใช้ในงานวิจัย สามารถทำให้ติดกับบางอย่างได้ เนื่องจากค่าจีนีเป็นตัวชี้วัดที่ยังมีจุดอ่อน ส่วนการกำหนดความหมายของคำว่า “ความยากจน” ในบทความนี้ ควรมีการกำหนดให้ชัดเจน ว่าความยากจนคืออะไร เพราะจากตัวเลขที่มีการนำมาใช้ 20% แรกของคนที่ถือครองพื้นที่มากที่สุด มีพื้นที่ครอบครองเฉลี่ยเพียง 62 ไร่เท่านั้น ซึ่งดูเหมือนเป็นตัวเลขที่ต่ำ แต่ค่าจีนีของการถือครองที่ดินที่ได้กลับเข้าใกล้ 1 ซึ่งเป็นผลมาจากที่ดินในเมืองกับที่ดินในต่างจังหวัดมีราคาประเมินต่างกันมาก ทำให้มีมูลค่าที่ได้ต่างกันมาก

ส่วนการวัดมูลค่าทรัพย์สิน ค่าจีนีของรายได้จะน้อยกว่าค่าจีนีรายได้เฉลี่ยเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากครัวเรือนมีการกู้ ส่วนข้อเสนอเรื่องนโยบายในการเก็บภาษี ก็ควรต้องดูว่าจะเก็บภาษีแบบไหนทำให้เกิดประโยชน์ และเกิดความยุติธรรม เช่น การเก็บภาษีในอัตราคงที่ จะทำให้คนจนเสียเปรียบ ขณะที่การเก็บภาษีแบบก้าวหน้า ก็ควรจะมีการพิจารณาว่า ระหว่างที่ดินที่มีการใช้ประโยชน์ กับที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ ควรมีการเก็บภาษีที่ต่างกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการนำที่ดินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

อุปสรรคของกฎหมายภาษีที่ดิน

ผลของการวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยยังมีความไม่เสมอภาคของการถือครองที่ดินค่อนข้างสูง จากภาพรวมของทั้งประเทศที่มีค่าจีนีสูงถึง 0.941 ซึ่งเข้าใกล้ 1 และแสดงให้เห็นความเหลื่อมล้ำและการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินมาก

ทางแก้หนึ่ง ที่มีการพูดกันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คือการเข็นมาตรการทางภาษี ออกเป็นกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นการเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สิน เพื่อจัดการแก้ไขฐานภาษี อัตราภาษี และการจัดเก็บภาษีใหม่ ทำให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และกระจายการถือครอง และพัฒนาที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าให้เป็นแหล่งรายได้สำคัญของหน่วยงานรัฐมากขึ้น โดยรายได้ที่เกิดขึ้น จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ และจัดสรรให้กับผู้ที่มีความต้องการบริการสาธารณะ ช่วยให้เกิดการกระจายทรัพย์สิน และเกิดความเสมอภาคมากขึ้นในสังคมไทย

แต่การจะให้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมได้ จำเป็นต้องอาศัยกลไกและกระบวนการทางนิติบัญญัติ ผ่านระบบรัฐสภา ที่มีทั้ง ส.ส. และ ส.ว. เป็นตัวขับเคลื่อนผลักดันให้ออกกฎหมาย

ในงานวิจัยชิ้นนี้ ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เพราะเหตุใด การผลักดันให้มีการตออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน

โดยหยิบข้อมูลการที่ถือครองที่ดินของรัฐสภามาแยกแยะให้เห็นว่า กลไกสำคัญในรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ปัจจุบัน มีจำนวนการถือครองที่ดินเป็นอย่างไร หากมีการผลักดันให้กฎหมายภาษีที่ดินมีผลบังคับใช้ จะส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญในการผลักดันให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ แน่นอนว่าหาก ส.ส. หรือ ส.ว. คนใดเป็นเศรษฐีที่ดิน คงเป็นธรรมดาที่ไม่อยากจะให้มีกฎหมายนี้เกิดขึ้น

จากข้อมูลของ ป.ป.ช. ที่มีกฎหมายกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. ต้องรายงานบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. พบว่า ตัวเลขการถือครองที่ดินของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. มีขนาดการถือครองที่ดินรวมกันทั้งสิ้น ประมาณ 27,035 ไร่ มีมูลค่าที่ดินรวมกันกว่า 15,794 ล้านบาท โดยแต่ละคนมีที่ดินครอบครองเฉลี่ยคนละประมาณ 64 ไร่ (ค่าเฉลี่ยทั้งประเทศ 13.97 ไร่) ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของผู้ที่มีการถือครองที่ดินสูงที่สุด 20% แรกของประเทศ

การถือครองทรัพย์สินนักการเมือง

ดังนั้น ชะตากรรมของกฎหมายภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างไทย จึงขึ้นอยู่กับการชี้เป็นชี้ตายของกลุ่มคนที่ครอบครองที่ดินมากที่สุดในประเทศ หากมองการเมืองเป็นเรื่องของกลุ่มผลประโยชน์ แน่นอนว่าการฝากความหวังให้มีการออกกฎหมายเพื่อเก็บภาษีที่ดิน กับกลุ่มคนที่ถือว่าครอบครองที่ดินมากที่สุดของประเทศ ต้องถือว่ามีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก

โดย ผศ.ดร.ดวงมณียอมรับว่า ตัวเลขที่หยิบมานี้ เป็นตัวเลขที่ดินที่ครอบครองโดยตัว ส.ส. และ ส.ว. เองเท่านั้น ยังไม่นับรวมที่ดินที่ครอบครองโดยครอบครัวและญาติพี่น้อง ที่อาจไม่มีการเปิดเผยอีก ตัวเลขที่ได้จึงยังคงต่ำกว่าความเป็นจริงมาก

ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตจาก รศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ว่า ตัวเลขที่มาจาก ป.ป.ช. นี้ เกิดจากการที่ให้ ส.ส. และ ส.ว. กรอกตัวเลขมูลค่าที่ดินเอง ไม่ได้ใช้ตัวเลขมูลค่าการประเมินที่มีการปรับเปลี่ยนตามเวลา ทำให้ราคาที่ดินที่ใช้ประเมินอาจเป็นราคาที่ดินที่เก่ามาก มูลค่าที่แท้จริงกับมูลค่าที่กรอกให้ ป.ป.ช. จึงมีความแตกต่างกันหลายเท่า