ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชาธิปไตยใส่เทคโนโลยี: นวัตกรรมการกำหนดนโยบายในต่างประเทศ

ประชาธิปไตยใส่เทคโนโลยี: นวัตกรรมการกำหนดนโยบายในต่างประเทศ

21 กรกฎาคม 2012


ภัทชา ด้วงกลัด

ประเทศไทยควรมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์หรือไม่ เราควรสร้างเขื่อนแม่วงก์หรือเปล่า เราจะยอมรับการตัดต่อทางพันธุกรรมหรือ GMO ในกระบวนการผลิตอาหารของประเทศหรือไม่ ระบบขนส่งมวลชนของประเทศในอนาคตควรจะเป็นอย่างไร ประเด็นนโยบายสาธารณะใหญ่ๆ ที่มีข้อถกเถียงมากมายเหล่านี้ เราควรฟังความคิดเห็นจากใคร? ผู้เชี่ยวชาญ? นักวิชาการ? นักการเมือง? หรือประชาชนทั่วไป?

นโยบายสาธารณะ มีผลกระทบอันเป็นสาธารณะ กล่าวคือกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก แต่การกำหนดนโยบายสาธารณะกลับถูกผูกขาดอยู่ในมือผู้กำหนดนโยบายเพียงจำนวนหนึ่ง และจำกัดอยู่ในพื้นที่การเมืองปกติ คือในรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือสถาบันการเมืองที่เป็นทางการ i เสียงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมักถูกจำกัดอยู่แค่จากผู้เชี่ยวชาญ นักวิเคราะห์ นักวิชาการ และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ที่สามารถเข้าถึงกระบวนการกำหนดนโยบายได้ ในขณะที่เสียงจาก “สาธารณะ” หรือประชาชนธรรมดาทั่วไปมักถูกเพิกเฉยละเลย ทั้งที่นโยบายสาธารณะต่างๆ ล้วนกระทบต่อพวกเขาโดยตรง

ประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ถูกกล่าวโทษ ว่าเป็นต้นเหตุที่บีบให้เสียงของ “สาธารณะ” แผ่วเบาไปจากปริมณฑลแห่งการกำหนดนโยบายสาธารณะ คงเหลือไว้เพียงเสียงในการเลือกตั้ง เลือกผู้แทนเข้าไปตัดสินใจแทนตัวเอง แต่ผู้แทนเหล่านี้ก็ถูกมองว่าไม่สามารถตัดสินใจแทนสาธารณะที่มีความหลากหลายในความคิดและผลประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ซ้ำร้ายอาจคำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนเป็นที่ตั้ง ด้วยปัญหาและความไม่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยแบบตัวแทนนี้ ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) ที่ขยายพื้นที่ทางการเมืองและการกำหนดนโยบายสู่สาธารณะและประชาชนในวงกว้าง ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมจากสาธารณะและท้องถิ่น หาข้อสรุปในประเด็นต่างๆ จากการปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้คนที่อยู่ในสังคม บนฐานการเคารพในความหลากหลายมากกว่าการรับฟังเสียงข้างมากในการตัดสินใจ ii ได้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในฐานะรูปแบบประชาธิปไตยในอุดมคติ ที่เติมเต็มช่องว่างของประชาธิปไตยแบบตัวแทน

แนวคิดประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ในทางปฏิบัติ รูปธรรมของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือคืออะไร หากพูดถึงนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนแม่วงก์ มาตรการลงทุนจัดการระบบน้ำของประเทศ การปฏิรูปการศึกษา หรือการประกันสินค้าเกษตร จะมีวิธีการใดที่จะทำให้กระบวนการกำหนดนโยบายเหล่านี้มีความเป็นประชาธิปไตยในแบบปรึกษาหารือได้บ้าง

พื้นฐานสำคัญของการปรึกษาหารือทางนโยบายคือ การเปิดพื้นที่ให้กลุ่มคนต่างๆ ในสังคมได้เข้ามาแลกเปลี่ยนแสดงความเห็น แต่ปัญหาหนึ่งที่มักเกิดขึ้นเสมอคือ เสียงจากสาธารณะหรือประชาชนทั่วไปมักขาดน้ำหนักและไม่ได้รับการรับฟัง เมื่อเทียบกับเสียงจากผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ นักการเมือง หรือกลุ่มผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่นโยบายมีความซับซ้อนทางเทคนิค ที่มักสันนิษฐานว่าคนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถเข้าใจ และไม่มีข้อมูลในประเด็นเหล่านี้เพียงพอที่จะสามารถให้ความคิดเห็นที่น่าเชื่อถือได้

ในหลายประเทศ การเปิดพื้นที่ปรึกษาหารือในกระบวนการนโยบายสาธารณะไม่ได้เป็นเพียงหลักการ แต่มีกลไกอย่างเป็นทางการให้ประชาชนธรรมดาทั่วไปได้แสดงความคิดเห็น ประเมิน และตัดสินใจในนโยบาย ในรูปแบบที่มีระบบแบบแผน กลายเป็นนวัตกรรมกระบวนการนโยบายสาธารณะที่ออกแบบมาเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในลักษณะต่างๆ ตามนโยบายที่แตกต่างกันไป สิ่งที่น่าสนใจก็คือ แม้กระทั่งนโยบายที่มีความซับซ้อนทางเทคนิค เช่น นโยบายเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนโยบายด้านการแพทย์และสาธารณสุข ที่ดูเหมือนว่าประชาชนทั่วไปจะสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้ยาก เนื่องจากไม่มีความรู้ความชำนาญ กลับมีการสร้างนวัตกรรมกระบวนการให้เสียงจากประชาชนธรรมดาได้ถูกรับฟังอย่างเป็นระบบ และกลายเป็นเสียงที่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ

Consensus Conference หรือ การประชุมเอกฉันท์ iii คือตัวอย่างของนวัตกรรมกระบวนการนโยบาย ที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนธรรมดาให้ความเห็นและตัดสินใจในนโยบายสาธารณะ ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ การประชุมเอกฉันท์กลายเป็นที่รู้จักและมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางจากการพัฒนาของคณะกรรมการเทคโนโลยีของเดนมาร์ก หรือ Danish Board of Technology (DBT) ในช่วงทศวรรษที่ 1980 DBT ได้พัฒนากระบวนการนี้จากต้นแบบของสำนักงานการประเมินเทคโนโลยีแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ US Office of Technology Assessment (OTA) ซึ่งริเริ่มใช้การประชุมในลักษณะนี้ในช่วงทศวรรษที่ 1970 เพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนานโยบายการรักษาทางการแพทย์ โดยจัดการประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคการแพทย์ และแพทย์ทั่วไปในลักษณะการพูดคุยถกเถียง ผ่านมาเกือบ 3 ทศวรรษ การประชุมเอกฉันท์ได้ถูกถ่ายทอดไปยังหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ฝรั่งเศส อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินเดีย บราซิล ซิมบับเว เป็นต้น ในปัจจุบัน ขอบเขตประเด็นในการประชุมได้ขยายออกไปยังนโยบายสังคมด้านอื่นๆ นอกเหนือจากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการแพทย์ เช่น นโยบายแก้ปัญหาคนไร้บ้านในประเทศฝรั่งเศส เป็นต้น

การประชุมเอกฉันท์ที่พัฒนาขึ้นโดย DBT คือเครื่องมือนโยบายสาธารณะที่ให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมในการประเมินเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องต่างๆ ว่ามีความเหมาะสมและมีปัญหาอะไรหรือไม่ในการนำมาใช้ อาทิเช่น การตัดต่อพันธุกรรมในกระบวนการผลิตอาหาร (GMO) การประเมินมูลค่าสิ่งแวดล้อม การรักษาผู้มีบุตรยาก และการทำประมงสมัยใหม่ เป็นต้น โดยมีพื้นฐานความเชื่อว่าการประเมินเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ควรถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในปริมณฑลของผู้เชี่ยวชาญ นักการเมือง และผู้กำหนดนโยบาย เนื่องจากเทคโนโลยีไม่ได้แยกตัวออกจากสังคม และมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตคนทั่วไปไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนธรรมดาๆ จึงมีความสำคัญ จุดประสงค์หลักของการประชุมเอกฉันท์ จึงเป็นการขยายพื้นที่ในการถกเถียงและตัดสินใจในนโยบายเทคโนโลยี โดยการสร้างคุณค่าให้ความคิดเห็นเหล่านั้นผ่านกระบวนการที่น่าเชื่อถือและเป็นระบบ เพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายและนักเมืองรับฟังและนำไปประกอบการตัดสินใจหรือการพัฒนานโยบาย แต่ที่สำคัญไปกว่านั้น เป้าหมายหลักของกระบวนการคือความพยายามที่จะสร้างวัฒนธรรมของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ และส่งเสริมการเรียนรู้ในสังคม

ในการจัดประชุมเอกฉันท์นี้ ประชาชนทั่วไปประมาณทั้งสิ้น 14-16 คนจะร่วมประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญในประเด็นการประชุม เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อสรุปข้อคิดเห็นนำเสนอสู่สาธารณะและผู้กำหนดนโยบาย ฟังดูแล้วอาจเหมือนเวทีรับฟังความคิดเห็น หรือการจัด Focus group ทั่วไป แต่กระบวนการมีความละเอียดและเป็นระบบกว่ามากกว่านั้น เพื่อให้ประชาชนคนธรรมดาสามารถแสดงความเห็นต่อประเด็นทางเทคโนโลยีที่มีความสลับซับซ้อนได้จริง

หัวใจสำคัญของกระบวนการคือประชาชนที่มาเข้าร่วม ซึ่งเรียกรวมกันว่า “คณะประชาชน” (Citizen Panel) ในกรณีของประเทศเดนมาร์ก คณะประชาชนมีที่มาจากการสุ่มประชากรโดยคำนึงถึงอายุ เพศ อาชีพ และถิ่นที่อยู่อาศัย DBT จะส่งจดหมายเชิญแบบสุ่มไปยังประชาชน 2,000 คน ให้สมัครเข้าเป็นคณะประชาชน โดยผู้ประสงค์จะเข้าร่วมจะต้องส่งจดหมายแสดงความประสงค์ของตัวเองกลับมายัง DBT พร้อมทั้งอธิบายเหตุผลที่สนใจเข้าร่วม จากนั้น DBT จะคัดเลือกผู้สมัครเหลือเพียง 14-16 คนเป็นคณะประชาชนในการประชุม โดยในจำนวนนั้นจะต้องไม่มีใครเป็นผู้เชี่ยวชาญในประเด็น หน้าที่สำคัญของคณะประชาชนนี้คือ การตั้งประเด็นคำถามแก่ “คณะผู้เชี่ยวชาญ” (Expert Panel) ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่หลากหลายในประเด็นนั้นๆ เพื่อให้การประชุมสามารถครอบคลุมข้อถกเถียงในประเด็นต่างๆ ได้อย่างรอบด้าน จากนั้นคณะประชาชนจะหารือกันและสรุปข้อคิดเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ออกมา

ในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนการประชุม คณะประชาชนจะถูกเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจประเด็นเพื่อเตรียมคำถามเข้าสู่การประชุม โดยความช่วยเหลือจากนักสื่อสารมวลชนและ “คณะที่ปรึกษา” (process consultant) ที่จะให้ข้อมูลพื้นฐานและอธิบายข้อถกเถียงต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นอย่างครบถ้วน คำถามจากคณะประชาชนจะถูกตอบโดยผู้เชี่ยวชาญในการประชุม ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ก็จะมีโอกาสในอธิบายคำตอบจากมุมมองของตน ในขณะที่คณะประชาชนก็มีโอกาสในการซักถามเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เป็นการพูดคุยปรึกษาหารือกันตลอดการประชุม จากนั้น หลังจากการอภิปรายถามตอบคำถาม คณะประชาชนจะต้องทำงานสรุปความคิดเห็นอย่างเป็นเอกฉันท์ออกมาเป็นรายงาน เพื่อเสนอแนะจากความเห็นของพวกเขาในการจัดการเทคโนโลยีที่เป็นประเด็นการประชุม ข้อเสนอเหล่านี้รวมทั้งคำถามและการอภิปรายในการประชุมจะถูกนำเสนอสู่สังคมผ่านสื่อสาธารณะ และถูกส่งไปยังนักการเมืองและผู้กำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องโดยตรง

DBT ประเมินว่า ภายใต้กระบวนการประชุมเอกฉันท์นี้ ประชาชนจะมีโอกาสได้แสดงความคิดเห็นของตนต่อประเด็นออกมาบนฐานข้อมูลที่ได้รับ ประกอบกับมุมทองที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต การงาน และความเป็นอยู่ของพวกเขา และด้วยการที่ได้รับคัดเลือกเป็นคณะประชาชน ทำให้พวกเขามีแนวโน้มจะตัดสินใจบนความรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวม และมองข้ามผลประโยชน์เฉพาะหน้าของตนเองไป ตัวอย่างเช่น การประชุมเรื่องอนาคตของการใช้ยานยนต์ในประเทศ คณะประชาชนให้ข้อเสนอแนะว่าควรมีการขึ้นราคาน้ำมันสองเท่าอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้เกิดการลดการใช้รถยนต์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือประชาชน 11 คนจาก 14 คนของคณะประชาชนในการประชุมนี้เป็นผู้ใช้รถยนต์ นอกจากนี้ DBT ยังอ้างว่าการประเมินเทคโนโลยีผ่านกระบวนการนี้มีมิติที่รอบด้านและกว้างขวางมากกว่าการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และผู้กำหนดนโยบาย เพียงอย่างเดียว

เมื่อพิจารณารายละเอียดของกระบวนการจะพบว่า การประชุมเอกฉันท์ถูกออกแบบมาในลักษณะที่พยายามอุดช่องว่างและข้อจำกัดต่างๆ ในการแสดงเปิดพื้นที่ให้ประชาชนธรรมดาในกระบวนการนโยบายสาธารณะ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นที่มีประสิทธิภาพและมีความเสมอภาคมากที่สุด อันเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ยกตัวอย่างเช่น การมีคณะที่ปรึกษาเป็นตัวกลางในการช่วยเหลือการสื่อสารระหว่างคณะประชาชนและคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อแก้ปัญหาช่องว่างในการสื่อสาร ซึ่งโดยทั่วไปทั้งสองฝ่ายมักจะพูดจากันคนละภาษา ทำให้ในภาวะปรกติแล้วการพูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างกันเกิดขึ้นได้ยาก หรือการแก้ปัญหาอคติที่ว่าประชาชนมักแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากข้อมูลและความเข้าใจประเด็น ทำให้ความคิดเห็นจากประชาชนมักไม่มีน้ำหนักเมื่อเปรียบเทียบกับความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ โดยในกระบวนการ ประชาชนจะได้รับข้อมูลและได้รับการอธิบายอย่างละเอียดในข้อสงสัยต่างๆ ก่อนจะแสดงความคิดเห็น

คำถามที่ตามมาก็คือ กระบวนการเช่นนี้สามารถเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีอิทธิพลต่อกระบวนการนโยบายสาธารณะได้จริงหรือไม่ ผลลัพธ์สำคัญของการจัดกระบวนการเช่นการประชุมเอกฉันท์ อาจไม่ใช่การมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายโดยตรง ถึงแม้ว่าจะมีบางกรณีที่ความคิดเห็นจากการประชุมนำไปสู่นโยบายที่เป็นรูปธรรม เช่น กรณีการห้ามการฉายรังสีเพื่อการถนอมอาหาร หรือการห้ามไม่ให้บริษัทอ้างสิทธิในข้อมูลพันธุกรรม ในประเทศเดนมาร์ก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการเชื่อมต่อกับผู้กำหนดนโยบาย และการให้ความสำคัญกับผลของการประชุม ประสบการณ์การจัดการประชุมเอกฉันท์ในหลายประเทศชี้ให้เห็นว่า สิ่งสำคัญที่ได้จากกระบวนการหาใช่ผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดนโยบาย แต่คือการนำเสนอมุมมองที่ไม่เคยเป็นที่รับรู้มาก่อนจากภาคประชาชนสู่กระบวนการกำหนดนโยบายและสู่สาธารณะ ทำให้ผู้กำหนดนโยบายรับรู้ว่าประชาชนทั่วไปคิดอย่างไรบ้าง และช่วยให้สังคมเกิดการเรียนรู้ เกิดการถกเถียงแลกเปลี่ยนกันมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าการประชุมเอกฉันท์ทุกครั้งจะประสบความสำเร็จ ในหลายกรณีผลจากการจัดไม่เป็นตามที่คาดหวัง ยกตัวอย่างเช่น การประชุมเรื่องการทดสอบทางพันธุกรรม ในประเทศเบลเยียม พบว่าการแลกเปลี่ยนสื่อสารระหว่างประชาชนและผู้เชี่ยวชาญในการประชุมมีน้อยมาก เนื่องจากผู้จัดให้ความสำคัญกับบทบาทคณะประชาชนมากเกินไป ทำให้ขาดความสมดุลในกระบวนการพูดคุยแลกเปลี่ยน นอกจากนี้สื่อมวลชนยังมุ่งนำเสนอประเด็นข้อขัดแย้งในการประชุมมากกว่าการนำเสนอเนื้อหาสาระที่สำคัญ ในขณะที่การประชุมเรื่องโอโซนในชั้นบรรยากาศของประเทศออสเตรีย บทบาทของคณะประชาชนมีน้อยมาก ทำให้การประชุมกลายเป็นการแลกเปลี่ยนกันเองระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้เห็นว่าการจัดการประชุมเอกฉันท์อาจไม่ใช้เรื่องง่ายนัก การรักษาสมดุลและความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าเป็นสิ่งสำคัญ นอกจากนี้ งานศึกษาวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับการประชุมเอกฉันท์ยังชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยความสำเร็จของกระบวนการขึ้นอยู่กับพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยของประเทศ และบทบาทของสื่อมวลชนในการนำเสนอประเด็นจากการประชุมสู่สังคมในวงกว้าง สาเหตุที่กระบวนการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่งในประเทศเดนมาร์ก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะโครงสร้างการเมืองที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายค่อนข้างมาก ประชาชนมีความตื่นตัว และมีวัฒนธรรมการเข้าร่วมถกเถียงอภิปรายประเด็นปัญหาสังคมต่างๆ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ประเทศที่ไม่เหมือนใคร (Thailand only) หากจะเปิดพื้นที่กระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะแก่ประชาชน เราคงไม่สามารถทำเพียงแค่คัดลอกกระบวนการจากต่างประเทศเช่นการประชุมเอกฉันท์มาใช้อย่างง่ายดาย สิ่งที่เราน่าจะได้เรียนรู้จากตัวอย่างการพัฒนากระบวนการการประชุมเอกฉันท์ของ DBT ประเทศเดนมาร์ก ก็คือ ความพยายามในการพัฒนานวัตกรรมเชิงกระบวนการที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ DBT ไม่ได้คัดลอกกระบวนการจากสหรัฐอเมริกามาใช้แบบทื่อๆ แต่มีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับบริบทสังคมและเป้าหมายของประเทศ

หากโจทย์เรามีโจทย์ชัดเจนว่าเราต้องการประชาธิปไตยที่เป็นมากกว่าแค่การเลือกตั้ง หากเราต้องการกระบวนการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีพื้นที่ในการแสดงความเห็นและตัดสินใจ เราคงต้องหันมาตั้งโจทย์ที่สำคัญไปกว่านั้น ว่าเราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริงภายใต้บริบทสังคมไทย เช่นเดียวกับการพัฒนาประเทศในมิติอื่นๆ เราอาจจะต้องเปลี่ยนจากผู้รับนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเป็นผู้สร้างมันขึ้นด้วยตัวเอง เพราะเราเท่านั้นที่รู้ดีว่าข้อจำกัดของตัวเองคืออะไร ประสบการณ์จากเดนมาร์กบอกเราว่า โครงสร้างการเมืองและวัฒนธรรมของสังคมมีส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ สิ่งที่ยากที่สุดในการพัฒนานวัตกรรมกระบวนการนโยบายสาธารณะจึงอาจไม่ใช่ปัญหาในการออกแบบกระบวนการ แต่คือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการเมือง และสร้างวัฒนธรรมการอภิปรายถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นในสังคม ไปพร้อมๆ กัน

หมายเหตุ

i บทความเรื่อง“การขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะโดยภาคประชาสังคมและปัญหาที่ท้าทายนักเทคนิคนโยบาย” โดย ประภาส ปิ่นตบแต่ง

iiบทความ“ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) คือทางออกประเทศไทย”โดยชำนาญ จันทร์เรือง

iii คำแปลโดย ทรงชัย ทองปาน ในบทความ“ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ (Deliberative Democracy) กับแนวทางการศึกษาการจัดทำนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ประสบภัยธรรมชาติซ้ำซาก”