ThaiPublica > เกาะกระแส > ป.ป.ช. ลงมติ “สุเทพ” แทรกแซง ก.วัฒนธรรม ฝาก ส.ส. เพื่อประโยชน์ตัวเอง และพวก

ป.ป.ช. ลงมติ “สุเทพ” แทรกแซง ก.วัฒนธรรม ฝาก ส.ส. เพื่อประโยชน์ตัวเอง และพวก

27 กรกฎาคม 2012


นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ:  http://www.oknation.net
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มาภาพ: http://www.oknation.net

วันที่ 26 กรกฎาคม 2555 นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงกรณีที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทย ได้ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และประธานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง

โดยมีข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อ คือ 1. กล่าวหาทั้ง 2 คนว่า กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมาย กรณีนายอภิสิทธิ์มอบหมายและมอบอำนาจให้นายสุเทพ ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) และประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)

2. กล่าวหานายสุเทพ ว่าใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ก้าวก่าย หรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง กรณีส่ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์และบุคคลอื่นรวม 19 คน ไปช่วยราชการกระทรวงวัฒนธรรม

3. กล่าวหานายอภิสิทธิ์ ว่ารู้เห็นเป็นใจกับนายสุเทพ กรณีส่ง ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ไปช่วยราชการในกระทรวงต่างๆ และไปก้าวก่าย แทรกแซง เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น หรือพรรคการเมือง ซึ่งเป็นความผิดต่อรัฐธรรมนูญ

โดยนายกล้านรงค์ได้กล่าว่า ข้อกล่าวหาที่ 1 และข้อกล่าวหาที่ 3 ไม่มีมูล และให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตกไป

แต่ในข้อกล่าวหาที่ 2 นายกล้านรงค์กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ เป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง ในการสร้างฐานเสียง และเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือของพรรคประชาธิปัตย์ในด้านฐานเสียงหรือคะแนนเสียง อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญจริง ป.ป.ช. จึงมีมติให้ส่งเรื่องไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาต่อไปตามรัฐธรรมนูญ

โดยรายละเอียดของข้อกล่าวหาที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสุเทพคือ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายและมอบอำนาจให้นายสุเทพ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี กำกับบริหารกระทรวงวัฒนธรรมแทนนายกรัฐมนตรี

ต่อมา นายสุเทพได้มีมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม แจ้งความประสงค์ขอส่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 19 คน ไปช่วยราชการที่กระทรวงวัฒนธรรม แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้แจ้งต่อนายสุเทพว่า ไม่ประสงค์จะรับ ส.ส. ไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม นายสุเทพจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ของนายสุเทพไปรับเอกสารดังกล่าวคืน

ในขั้นตอนการไต่สวน นายสุเทพได้ชี้แจงข้อกล่าวหาว่า ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจในการไต่สวนเรื่องนี้ เนื่องจาก ก.ก.ต. เคยได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไปแล้วว่า นายสุเทพไม่ได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งรัฐมนตรี ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม โดยการร้องให้ถอดถอน เกิดขึ้นในสมัยที่นายสุเทพดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในวาระแรก ต่อมาได้ลาออกจากตำแหน่งนั้นไปแล้ว จึงไม่อาจนำมาพิจารณาถอดถอนได้อีก

และคำชี้แจงสุดท้ายของนายสุเทพ คือการกระทำของตน เป็นการกระทำภายใต้กรอบอำนาจของรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกระทรวงวัฒนธรรม การมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นเพียงการหารือ มิใช่คำสั่ง

นายกล้านรงค์ได้กล่าวว่า จากการไต่สวนพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดย ป.ป.ช. เห็นว่าคำชี้แจงดังกล่าวของนายสุเทพฟังไม่ขึ้น โดยนายกล้านรงค์ได้ให้เหตุผล คือ

1. มีการใช้สถานะหรือตำแหน่งของรองนายกรัฐมนตรี เนื่องจากหนังสือที่ส่งไปถึงกระทรวงวัฒนธรรมเป็นหนังสือราชการ ซึ่งนายสุเทพได้ใช้สถานะหรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1)

2. การใช้สถานะหรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดังกล่าว เป็นการเข้าไปก้าวก่าย หรือแทรกแซงงานของกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อพิจารณาความตามบทบัญญัติในมาตรา 266 (1) ประกอบมาตรา 268 เนื่องจากกฎหมายไม่ได้นิยามคำว่า “การก้าวก่ายหรือแทรกแซง” จึงต้องพิจารณาตามความหมายตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คำว่า “ก้าวก่าย” หมายความว่า ล่วงล้ำ เข้าไปยุ่งเกี่ยวหน้าที่ผู้อื่น, เหลื่อมล้ำไม่เป็นระเบียบ เช่น งานก้าวก่ายกัน ส่วนคำว่า “แทรกแซง” หมายความว่า แทรกเข้าไปเกี่ยวข้องในกิจการของผู้อื่น

3. การใช้สถานะหรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม เนื่องจากการไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ใช่หน้าที่หลัก ของ ส.ส.

การกระทำของนายสุเทพ เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง ในการสร้างฐานเสียงเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น คือ ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ของ ส.ส. หรือของพรรคการเมือง คือ พรรคประชาธิปัตย์ ในด้านฐานเสียง คะแนนเสียง

4. การใช้สถานะรองนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ไม่ได้กระทำตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ เนื่องจากนายสุเทพไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการกระทรวงวัฒนธรรม และไม่มีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง หรือจัดส่ง ส.ส. ไปช่วยราชการในกระทรวงวัฒนธรรม และไม่ใช่อำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา

5. การขอถอนเรื่องคืนของนายสุเทพ ไม่ถือว่าไม่มีการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เนื่องจากเป็นความผิดสำเร็จแล้ว

“คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของนายสุเทพเป็นการใช้สถานะหรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติราชการของกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อประโยชน์ของตนเองในทางการเมือง ในการสร้างฐานเสียง และเพื่อประโยชน์ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือของพรรคประชาธิปัตย์ในด้านฐานเสียงหรือคะแนนเสียง อันเป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (1)

คณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงมีมติว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีพฤติการณ์ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ให้ส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นไปยังประธานวุฒิสภา เพื่อพิจารณาโดยเร็วต่อไป ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 272 วรรคสี่” นายกล้านรงค์กล่าว

รายละเอียดเพิ่มเติม: ข่าวการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 เรื่อง คำร้องขอให้ถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง