ThaiPublica > คนในข่าว > “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ล้างคำสาปตุลาการหลัง “ศุกร์ 13” ทางพิฆาต “รธน. 50” ของนักฆ่าฝัน – หัวอกพ่อ “พยานหมายเลข 5”

“สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” ล้างคำสาปตุลาการหลัง “ศุกร์ 13” ทางพิฆาต “รธน. 50” ของนักฆ่าฝัน – หัวอกพ่อ “พยานหมายเลข 5”

21 กรกฎาคม 2012


นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)
นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.)

“…เขาฝันตั้งแต่ยังไม่ได้นอน จินตนาการไปนั่นจินตนาการไปนี่ กลัวว่าอย่างนั้นกลัวว่าอย่างนี้ มองคุณทักษิณเป็นตัวตั้งของปัญหาทั้งหมด และมองว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้ ผมว่าถ้ามองอย่างนั้นมันไปไม่ได้หรอก…”

ฟ้าหลังฝน หลังผ่าน “ศุกร์ 13” บรรยากาศทางการเมืองคล้ายยังต้องอาถรรพ์-ไม่สดใสอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ 8 ต่อ 0 ให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 291 ของสมาชิกรัฐสภา ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68

เป็นผลให้พรรคเพื่อไทย (พท.) รอดจากการถูกสั่งยุบพรรคเป็นหนที่ 3

สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. รวม 416 ชีวิตที่ร่วม “ขบวนรื้อรัฐธรรมนูญปี 2550” พลอยหายใจหายคอโล่งขึ้น

ทว่าสภาพการณ์กลับยังมัวซัว มีฝุ่นตลบอบอวลจากการที่ “รัฐบาลพรรคเพื่อไทย (พท.)” ไม่รู้จะเดินต่อใน
ทิศใด เพราะกลัวชะตาขาด เกรง “อิทธิพลศาล” ที่ขยายอาณาเขต-แผ่ปกคลุมไปทั่ว

บ้างก็เสนอให้ลุยลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระ 3 ทันที

บ้างก็เสนอให้ตั้งต้นใหม่-กลับไปแก้ไขเป็นรายมาตรา

บ้างก็เสนอให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชน ก่อนลงมติวาระ 3

จึงได้เวลาเช็คเสียง-ฟังท่าทีจากแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ผ่านปากคำ “สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) พรรคที่กอดคอกันขึ้นศาลกับ พท. ว่ารัฐบาลจะล้างคำสาปตุลาการ-คลายภาวะอึมครึมทางการเมืองได้อย่างไร?

ไทยพับลิก้า : หลังมีคำวินิจฉัย พ่วงคำแนะนำจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้เกี่ยวข้องควรเดินต่ออย่างไร

ผมคิดว่าทางที่ดีที่สุดคือยึดเอารัฐธรรมนูญเป็นตัวตั้ง รัฐธรรมนูญเขากำหนดไว้อย่างไร ฝ่ายการเมืองก็ควรจะเป็นไปตามนั้น เราคงรอดูคำวินิจฉัยส่วนบุคคลของตุลาการทั้งหมด ก็จะรู้ว่าตุลาการแต่ละท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร เราก็จะสรุป แล้วเดินไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวสนับสนุนแนวทางทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เพราะวันนี้เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น การไปฝืนคำวินิจฉัยของศาลที่บอกว่าไม่สามารถจะแก้ทั้งฉบับได้ ต้องกลับไปทำประชามติก่อน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาจากประชามติของประชาชน ผมคิดว่าเราอย่าไปท้าทายเลย ต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ เราก็ไปตามที่ศาลวินิจฉัย ชอบใจหรือไม่ชอบใจต้องเก็บเอาไว้ อย่าไปแสดงออก ในเมื่อรัฐธรรมนูญได้เขียนบทบัญญัติเอาไว้ในเรื่องอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ มันก็เป็นสิ่งที่เราต้องยึดถือและปฏิบัติตาม ผมไม่อยากเห็นการท้าทายที่ เอ๊ะ! รัฐสภาจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ผมไม่อยากเห็นจริงๆ เพราะถ้าทำไปแล้ว เราไม่รู้ว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะดำเนินการต่อไปอย่างไร เราไม่แน่ใจ

ถ้าไปแก้เป็นรายมาตรา เกิดจะเสนอมาตราหนึ่ง ก็ต้องมีคนไปยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีก ซึ่งวันนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้ว มาตรา 68 เขียนไว้ว่าเขามีสิทธิจะพิทักษ์รัฐธรรมนูญ มันก็กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาขึ้นมาอีก ดังนั้นผมจึงคิดว่า ถ้าจะทำนี่ อดทนนิดหนึ่ง แล้วก็ทำประชามติ ให้ประชาชนแสดงความเห็นออกมา หากประชาชนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ วาระ 3 มันคาอยู่ในรัฐสภาแล้ว ก็สามารถดำเนินการต่อได้ ไม่ต้องเสียเวลาตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ และตรงนั้นก็ตรงกับเจตนารมณ์ของรัฐสภาด้วย

ไทยพับลิก้า : นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ บอกเองว่าคำวินิจฉัยที่ออกมาไม่ใช่คำสั่ง ไม่มีผลผูกพันต่อองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ถ้าฝ่ายการเมืองให้ทำประชามติก่อนโหวตวาระ 3 เท่ากับยอมให้อำนาจตุลาการมามีอิทธิพลเหนือความคิดของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่

(ตอบสวนทันควัน) เราไม่ได้ให้มีอิทธิพลทางความคิดนะ เราต้องการเห็นบ้านเมืองสงบสุข อยากเห็นทุกอย่างเดินต่อไปได้ ก็เราไม่รู้น่ะ เกิดเราท้าทาย อ้าว! เปิดรัฐสภาแล้วโหวตวาระ 3 กันเลย ถามว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่มีใครรู้อนาคต ถ้ามันดีก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามันตรงกันข้ามล่ะ ผมเชื่อว่านักการเมืองแต่ละคนไม่มีใครเสี่ยงหรอกครับ ไปท้าทายกับอำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี่ไม่มีใครเสี่ยงหรอก ทุกคนก็กลัวทั้งนั้น

ไทยพับลิก้า : หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และสมาชิกรัฐสภาให้ทำประชามติก่อน สถานะขององค์อำนาจอธิปไตยจะเป็นอย่างไร จะถูกมองว่าฝ่ายตุลาการกำลังนำฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่

เราอย่าไปมองว่าใครนำใคร เพราะทุกวันนี้เขาก็แบ่งแยกอำนาจอธิปไตยไว้ค่อนข้างชัดเจนว่าใครอยู่ตรงไหน ในเมื่อตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นหนึ่งในอำนาจของตุลาการ ซึ่งเราปฏิเสธไม่ได้ เราก็ต้องน้อมรับในสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย และได้ให้แนวทางในการปฏิบัติ

ไทยพับลิก้า : แกนนำ พท. บางส่วนวิจารณ์ว่าศาลรัฐธรรมนูญทำเกินหน้าที่ แทนที่จะตัดสินถูก-ผิด ชี้ขาว-ดำ แต่กลับมาเล่นบทที่ปรึกษากฎหมายให้ฝ่ายค้าน

ก็แล้วแต่คนมอง เขาจะมองอย่างไรก็ได้ ถ้าเราสุจริตใจมองว่า เออ ศาลเขาก็ปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ในเมื่อรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างนี้ เขาก็มองดู แม้แต่ศาลยังบอกเลยว่าเขาก็มีสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

ไทยพับลิก้า : ถ้ามองเรื่องการยอมรับ หรือไม่ยอมรับ เช่น หากทำประชามติเท่ากับการยอมรับการขยายเขตอำนาจศาล จะได้หรือไม่

นั่นมองอย่างไม่อยากให้ปัญหามันจบ (หัวเราะเล็กๆ) ถ้ามองแบบอยากให้ปัญหาจบ มันต้องมองอีกมุมหนึ่งน่ะ

ไทยพับลิก้า : หลายคนเชื่อว่า พท. ต้องการเร่งจบปัญหาเพื่อปิดเกมแก้รัฐธรรมนูญ แต่ก็มีการออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ และต้องการให้โหวตวาระ 3 โดยไม่ต้องทำประชามติด้วย

นั่นเป็นความคิดเห็นของคนบางคน ไม่ใช่เรื่องของพรรค พรรคเขายังไม่มีท่าที ผมว่าพรรคเขาก็คงรออย่างที่รัฐบาลรอ รอดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการ แล้วก็มาวิเคราะห์กันว่าเป็นอะไรอย่างไร วันนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนของปีกเสื้อแดงที่ออกมาพูด ออกมารุนแรง ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งก็ยังไม่ได้มีท่าทีอะไร และคนอีกส่วนหนึ่งก็ออกมาอีกมุมหนึ่ง ใน พท. ก็มีความหลากหลาย

ไทยพับลิก้า : ทางข้างหน้าของ พท. น่าจะเหมือนกับทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือไม่ ที่ให้กลับไปแก้รายมาตรา

อันนี้ผมไม่รู้เลย เพราะไม่ได้ไปสัมพันธ์กับพรรคเขา

ไทยพับลิก้า : อาญาสิทธิ์ของ พท. เป็นอาญาสิทธิของรัฐบาลด้วยหรือเปล่า

อันนี้ไม่รู้ ผมอยู่วงนอก

ไทยพับลิก้า : การที่แกนนำ พท. และคนเสื้อแดงประกาศว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคืออีกหนึ่งคู่ขัดแย้ง จะลดโอกาสสำเร็จในแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมันก็คนละประเด็นกัน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญเลย จนกว่าจะมีคนร้องให้พิจารณาว่าขัดแย้ง หรือทำลายการปกครองในระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า แค่นั้นเอง ดังนั้น ถ้ามีเจตนารมณ์ที่ดี เขียนรัฐธรรมนูญออกไป ตั้ง ส.ส.ร. ที่มาจากกระบวนการสรรหาให้ดี ผมว่าทุกอย่างมันไปได้

ไทยพับลิ้กา : แต่คำวินิจฉัยข้อ 1 กลายเป็นบรรทัดฐานให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลได้โดยตรง

มันต้องเป็นประเด็นเรื่องการพิทักษ์รัฐธรรมนูญเท่านั้น ผมถึงบอกไงว่าถ้าแก้รายมาตราก็จะหนีไม่พ้น ก็กลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหาขึ้นมาอีก ไหนๆ จะทำแล้วคุณก็อดทนสิ กลับไปทำประชามติแล้วก็เอากลับมาเลย รัฐธรรมนูญเขียนไว้ชัดเจนเลยว่าให้ลงมติในวาระ 3 หลังผ่านไป 15 วัน แต่ไม่ได้บอกว่าภายใน 1 ปี หรือ 2 ปีคุณต้องลง มันไม่ใช่ คุณก็ไปทำกลับมา คุณก็เดินหน้าต่อไปได้ ดีกว่าที่คุณจะไปจับทีละประเด็นๆ เดี๋ยวขบวนการพิทักษ์รัฐธรรมนูญก็จะเกิดขึ้น เรื่องนั้นยังไม่จบ อ้าวเรื่องใหม่มาอีกแล้ว และอย่าไปคิดเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง หรืออะไร เป็นศัตรู แล้วจำเป็นต้องไม่เขียนในรัฐธรรมนูญ ถ้าไปคิดอย่างนี้ก็ผิดแล้ว

ไทยพับลิก้า : ถ้าตั้งต้นจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อย่างนี้คือผิด

(หัวเราะในลำคอก่อนตอบ) ใจผมคิดนะ อย่าไปลด อย่าไปอะไรเลย ดูเรื่องที่มาดีกว่า เรื่องที่มาเป็นเรื่องสำคัญ ไอ้เรื่องลดอำนาจมันเป็นปลายเหตุ ต้นทางจริงๆ คือมาอย่างไร มาแล้วได้รับการยอมรับหรือไม่ อย่างครั้งนี้หลายคนก็มองที่มาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแล้วเกิดความรู้สึก ยิ่งมีคดียุบพรรคชาติไทย พรรคร่วมรัฐบาลนี่ คนก็คิดว่าเพราะมันมีที่มาอย่างนี้หรือเปล่า ทั้งๆ ที่บนความเป็นจริงมันอาจจะเป็นสุจริตใจ เป็นอะไรก็ได้ แต่พอมันมีที่มาอย่างนี้ คนก็อดไปแตะโยงกันไม่ได้ว่าเพราะที่มาเป็นอย่างนั้น จึงเป็นอย่างนี้

ไทยพับลิก้า : คิดว่าตุลาการรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันมีส่วนทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือไม่

อันนี้ผมไม่กล้าที่จะไปวิจารณ์ (หัวเราะ) แต่ที่มามันทำให้เกิดการไม่ยอมรับไง ส่วนเรื่องจะ
บานปลาย ไปอะไรอย่างนั้น ผมไม่อยากจะไปมอง ผมว่ามันมีปัจจัยหลายอย่าง

ไทยพับลิก้า : ผ่าน “ศุกร์ 13” มาสัปดาห์แล้ว ประเมินว่ารัฐสภาจะได้โหวตวาระ 3 กันเมื่อไร

ผมว่าขั้นตอนมันยังอีกระยะหนึ่งนะ ถ้าให้รอคำวินิจฉัยของตุลาการ รัฐบาลก็ต้องมีท่าที เพราะเรื่องนี้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อไปดำเนินการลงประชามติ ผมก็ยังมีความรู้สึกว่าการทำประชามติน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดแล้วในขณะนี้ เพราะจะไปทางอื่นมันก็ไปไม่ได้ หากเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราทำมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเชื่อมั่นว่าเป็นสิ่งที่สังคมส่วนใหญ่เห็นด้วย ก็กลับไปสู่การทำประชามติดีกว่า

(พยักหน้ารับ) ความรู้สึกผมนะ ฝ่าไปได้หรือไม่ได้ไม่รู้ แต่ก็ได้กลับไปถามประชาชนแล้ว ในเมื่อตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบอกว่ามันมาจากประชาชน ให้กลับไปถามประชาชน มันก็ไม่เสียหาย เพียงแต่ต้องใช้งบประมาณหน่อย ต้องใช้เวลาอีกหน่อยเท่านั้นเอง

ไทยพับลิก้า : คิดว่าจุดยืนของ ชทพ. จะมีแรงเหวี่ยงมากพอให้ พท. ยอมรับและทำตามหรือไม่

คือนี่เป็นแนวความคิดเท่านั้นเอง ผมก็ไม่รู้ว่า พท. คิดอย่างไรในท้ายที่สุด แต่เชื่อว่าคนที่มีแนวความคิดเหมือนกับผมก็มีอยู่ไม่น้อย ผมว่าทุกคนก็รักและห่วงบ้านเมืองกันทั้งนั้น อยากเห็นบ้านเมืองก้าวเดินไปได้ พ้นจากวิกฤติเสียที

ไทยพับลิก้า : สมาชิกรัฐสภาที่ร่วมขบวนการแก้ไขมาตรา 291 มีถึง 416 คน เหตุใดจึงมีเฉพาะ ชทพ. และ พท. ที่ถูกโฟกัส

ไม่ได้ถูกโฟกัส อันนี้คงต้องไปถามผู้ร้อง เพราะเขาตั้งใจเขียนถึงผู้ที่เสนอ ซึ่งมันก็มีแค่ 2 พรรคเท่านั้น คือ คุณสุนัย (จุลพงศธร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พท.) และภราดร (ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง ชทพ.) ซึ่งเราได้บอกตั้งแต่ต้นแล้วว่าเรื่องนี้มันไม่ใช่เรื่องของพรรค เพียงแต่ผู้ที่เสนอเป็นสมาชิกของพรรค เลยดูประหนึ่งว่าเป็นพรรค ซึ่งโดยข้อเท็จจริงเราก็ได้ชี้แจงต่อศาลไปแล้ว เรามีแค่ 19 เสียง จะไปเสนอได้อย่างไร มันไม่มีทางหรอก และมันก็ต้องให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภาที่มีความเห็นด้วยช่วยกันลงชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญไป

ไทยพับลิก้า : ข้อหาล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 ที่ถูกยื่นคำร้อง ช่วยผูก ชทพ. ให้แนบแน่นกับ พท. มากกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หรือไม่

คงไม่ได้เป็นการผูกอะไรหรอกนะ ผมว่า ชทพ. เป็นพรรคที่มีคะแนนเสียงอันดับ 2 รองจากพรรคแกนนำรัฐบาล ถ้าเป็นการเสนอกฎหมายธรรมดาก็แทบจะเสนอได้แล้ว เพราะเขาให้เข้าชื่อสมาชิก 20 คนเสนอได้ เรามีอยู่ 19 คน ขาดไปแค่เสียงเดียว ส่วนพรรคพลังชล และพรรคชาติพัฒนา มีสมาชิกไม่ถึง 10 คนอย่างนี้ ผมว่าเขาเห็นด้วย แล้วสนับสนุนให้สมาชิกมาร่วมลงชื่อดีกว่า

ไทยพับลิก้า : แต่ดูเหมือน ชทพ. จะเสียงดังกว่าพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ผมคิดว่าประวัติศาสตร์ของ ชทพ. มีเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองเป็นหลัก เราทำมาตั้งแต่การปฏิรูปการเมืองปี 2538 แล้ว บทบาทของ ชทพ. ที่ทำเรื่องการปฏิรูปการเมืองมานี่ชัดเจน ไม่เคยเปลี่ยนจุดยืน เราแสดงให้สังคมรู้มาโดยตลอด ตั้งแต่ประกาศเป็นแนวนโยบายในการปฏิรูปการเมือง สมัยอยู่กับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เราก็แสดงท่าทีชัดเจนว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พอมาถึงรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร) เราก็แสดงจุดยืนอีกว่าต้องแก้ไขเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง ผมคิดว่านี่เป็นส่วนหนึ่ง เพราะบุคลากรที่ผลักดันเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองยังอยู่ครบ ตั้งแต่อาจารย์ชุมพล (ศิลปอาชา หัวหน้า ชทพ.) ซึ่งเป็นหัวหอกตั้งแต่ตอนปฏิรูปการเมืองปี 2538

ไทยพับลิก้า : เอกสารคำชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญของ ชทพ. ระบุตอนหนึ่งว่าการจัดตั้ง ส.ส.ร. เพื่อมาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นประเพณีทางการเมือง อะไรทำให้ประเพณีนี้ไม่เป็นที่ยอมรับในปี 2555

รัฐธรรมนูญคือกฎหมายมหาชน กฎหมายที่กำหนดวิถีชีวิตของคน ของประเทศ ของสังคม ดังนั้นการยึดโยงอยู่กับภาคประชาชนที่มี ส.ส.ร. ซึ่งเป็นตัวแทนของภาคประชาชน แล้วออกไปทำประชามติ นั่นคือสิ่งที่บ่งบอกให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตยจริงๆ เพราะถ้าเอานักการเมืองเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญมันก็หนีไม่พ้นวงจรเดิมๆ ในเมื่อเขากำลังมองนักการเมืองด้วยสายตาที่เคลือบแคลง ก็เอาเลย เอาประชาชนให้เขาคัดสรรกัน ตั้ง ส.ส.ร. แล้วไปยกร่างกันใหม่ โดยพวกเราไม่ต้องมีส่วนเกี่ยวข้อง ผลจากการตั้ง ส.ส.ร. เมื่อปี 2538 แล้วไปจบปี 2540 ผมว่านั่นคือคำตอบที่ทุกคนยอมรับว่านี่คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แล้วก็เป็นรัฐธรรมนูญที่อายุยืนยาวที่สุด เพราะเหมือนกับประชาชนรู้ว่าตัวเป็นเจ้าของ ก็เลยต้องพิทักษ์ไว้ จนกระทั่งมาเกิดการเปลี่ยนแปลงเมื่อปี 2549

แต่เมื่อปี 2538 สังคมไทยยังไม่ได้มีความเห็นต่าง จนกระทั่งกลายเป็นความขัดแย้ง แต่หลังปี 2548 และปี 2549 ไล่มา ความเห็นต่างกลายเป็นความขัดแย้ง ความขัดแย้งกลายเป็นการเลือกข้าง เมื่อเลือกข้างแบ่งฝ่ายมันจึงอดไม่ได้หรอกครับ ฝ่ายหนึ่งต้องบอกว่าดีที่สุด อีกฝ่ายก็ต้องมองเห็นตรงกันข้าม และต่างฝ่ายต่างอ้างประชาชนทั้งนั้น เลยกลายเป็นปมปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะในระบอบประชาธิปไตย หากไม่อ้างประชาชนก็ไม่รู้จะไปอ้างใคร มันเลยกลายเป็นความยากที่ต่างไปจากปี 2538

แต่บนความยากไม่ได้หมายความว่าทำไม่ได้ ผมยังเชื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว คนไทยหาทางออกเจอเสมอ และยังเชื่อในความรู้สึกของคนไทย ไม่มีใครจะรักประเทศไทยมากกว่าที่คนไทยรัก ถือว่าวันนี้มันเดินลึกไปพอสมควรแล้ว ถึงเวลาที่จะต้องกลับมาร่วมมือร่วมใจกันใหม่แล้ว

ไทยพับลิก้า : ไม่มีจุดพีคไปกว่านี้แล้ว

ผมคิดว่าไม่มีอะไรที่จะเจอกับความเลวร้ายของบ้านเมืองมากกว่าห้วงเวลาที่ผ่านมาแล้ว ตอนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผมว่ามันรุนแรงแล้วนะ แต่พอมาเจอเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ผมว่ามันก็รุนแรงไม่ต่างกัน มันล้วนแต่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดๆ แล้ว ไม่น่าจะเลวร้ายไปกว่านี้แล้ว

ไทยพับลิก้า : ฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญปี 2550 ไม่เชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้คือการหาทางออกให้ประเทศ แต่เป็นการหาทางออกให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ

มันอยู่ที่ความสุจริตใจว่าพวกเรามีความสุจริตใจแค่ไหน ในเมื่อโยนอำนาจไปให้ประชาชนแล้ว ก็ต้องไว้วางใจคนไทยด้วยกัน ไม่ได้หมายความว่าเมื่อมี ส.ส.ร. แล้ว ส.ส.ร. จะเป็นคนของ พท. มาทำเพื่อคุณทักษิณ ต้องไม่ลืมว่าตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ส.ร. มาจากการเลือกตั้งของคน 77 จังหวัด เป็นไปไม่ได้หรอกที่คนของ พท. จะได้ทั้งหมด และก็เป็นไปไม่ได้เหมือนกันที่จะเป็นคนของ ปชป. ทั้งหมด มันต้องมีทั้งคนของประชาชน ของ พท. ของ ปชป. ของ ชทพ. มันต้องหลากหลายคละเคล้ากัน โดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิอีก 22 คนที่จะมาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ไม่ใช่จู่ๆ จับนายเป๋อ นายป่อง นาย ก. นาย ข. เข้ามา ใช่ไหม มันก็มาจากกระบวนการสรรหา แล้วในที่สุดก็มาจบลงที่รัฐสภาซึ่งจะเป็นคนเลือกคน 22 คน ดังนั้นอย่าไปคลางแคลงเลย คำว่ารัฐสภาไม่ได้มีแค่ พท. พรรคเดียว มันก็มี ปชป. มี ส.ว. ที่เป็นกลาง มีคนของพรรคที่เห็นด้วยกับ ปชป. พรรคที่เห็นด้วยกับ พท.

ไทยพับลิก้า : ถ้าผลประชามติออกมาว่าฝ่ายให้แก้รัฐธรรมนูญชนะถล่มทลาย จะยิ่งเพิ่มความกังวลของฝ่ายพิทักษ์รัฐธรรมนูญเรื่องล็อคตัว ส.ส.ร. หรือไม่

ถ้าไปคิดอย่างนั้นก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว คือ เราอย่าไปฝันตั้งแต่ยังไม่หลับ ทุกอย่างให้มันเป็นไปตามกระบวนการของมัน ในเมื่อเราบอกว่าเราอยู่ในระบอบ เราเชื่อมั่นในระบบ เราก็ต้องยอมรับกับมติของประชาชน ในระบอบประชาธิปไตยเสียงของประชาชนเป็นเสียงสวรรค์นะ ไม่ใช่เสียงนกเสียงกาอีกต่อไป คุณจะไปอ้างโน่นอ้างนี้ อ้างว่าบล็อคโหวต คุณอย่าไปอ้างเลย ทีเวลาเลือกตั้งแล้วคุณชนะเข้ามา คุณไม่เห็นพูดอะไร พอคุณแพ้ คุณก็อ้างโน่นอ้างนี่

ไทยพับลิก้า : วิเคราะห์ความกลัวของสายอนุรักษนิยมอย่างไร

คือสำหรับคนที่ไม่ไว้วางใจกัน อะไรมันก็ไม่ไว้วางใจกัน ผมไม่อยากให้ใช้อารมณ์ความรู้สึกเป็นตัววิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น อยากจะให้เอาความเป็นจริงที่มันเกิดขึ้น เอาพื้นฐานที่เป็นตัวตนจริงๆ ของสังคมไทยมาเป็นตัวตั้งต้นมากกว่า มันไม่ได้เลวร้ายอย่างที่หลายๆ คนมอง หรือหลายๆ คนคิดกันหรอก

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันเห็นฝ่ายอนุรักษนิยมกำลังหลับใหล หรือตื่นตกใจกับความฝันเรื่องรัฐธรรมนูญ

(อมยิ้ม) คือผมว่าเขา… (หัวเราะเบาๆ) อย่างที่ผมบอกน่ะ เขาฝันตั้งแต่ยังไม่ได้นอน จินตนาการไปนั่นจินตนาการไปนี่ กลัวว่าอย่างนั้นกลัวว่าอย่างนี้ มองคุณทักษิณเป็นตัวตั้งของปัญหาทั้งหมด และมองว่าจะต้องอย่างนั้นจะต้องอย่างนี้ ผมว่าถ้ามองอย่างนั้นมันไปไม่ได้หรอก สังคมไทยมันต้องละวาง และทำใจยอมรับให้ได้

ไทยพับลิก้า : พ.ต.ท.ทักษิณเปรียบเป็นเฟรดดี้ ครูเกอร์ ปรากฏตัวเป็นนักฆ่าได้เฉพาะในฝัน หรือมีอิทธิฤทธิ์ในโลกความเป็นจริงกันแน่

มันอยู่ที่ใจ อยู่ในความรู้สึกของคนมากกว่า ถ้าไปหวาดระแวง ไปคิดว่า เฮ้ย! มันมีตัวตนจริงๆ มันไม่ได้อยู่ในฝัน ไอ้คนที่เป็นกลางๆ มันก็ไม่เห็นมีอะไรนี่ ก็แล้วแต่คนมองน่ะ

ไทยพับลิก้า : แล้ว ชทพ. มอง พ.ต.ท.ทักษิณเป็นอย่างไร

ชทพ. เรายืนอยู่บนโลกของความเป็นจริง แล้วก็ยืนอยู่บนโลกของความตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ยืนอยู่บนโลกของความฝันและความหวาดระแวง

ไทยพับลิก้า : หลายคนสรุปบทเรียนที่ทำให้รัฐธรรมนูญติดบล็อคว่าเป็นเพราะมีร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปรองดองแห่งชาติ แทรกคิวเข้ามา

ผมว่ามันไม่เกี่ยว รัฐธรรมนูญกับ พ.ร.บ.ปรองดองมันคนละส่วน ไม่สามารถมาแตะโยงกันได้เลย เพียงแต่คนไปจินตนาการกันว่าเมื่อไปตรงนี้เดี๋ยวมันก็จะไปตรงนั้น เหมือนกับว่าเอา พ.ต.ท.ทักษิณเป็นตัวตั้ง ก้าวข้ามไม่พ้น พ.ต.ท.ทักษิณเสียที รัฐธรรมนูญก็ทักษิณ ปรองดองก็ทักษิณ มันก็เลยก้าวข้ามไม่พ้น พอก้าวข้ามไม่พ้นมันก็จิตตก ก็คิด จินตนาการไปโน่นมานี่ จนทำให้เกิดความรู้สึกหวาดระแวง เกิดความรู้สึกไม่เชื่อมั่นคนไทยด้วยกัน

ทั้งหมดนี้มันอยู่ที่ความสุจริตใจ คุณจะทำอะไร เป็นกฎหมายก็ดี เป็น พ.ร.บ.ปรองดองก็ดี เป็นรัฐธรรมนูญก็ดี คุณบอกไปเลย เขียนอย่างนั้นเพื่ออย่างนี้ เอาให้ทุกคนรู้ไปเลย ไม่ใช่มาเขียนแล้วให้ตีความได้หลายอย่าง ตีความได้หลายหน้า เขาถึงบอกไงว่าเจตนารมณ์ของกฎหมายเป็นอย่างไร คนเขียน คนตั้งใจ คนเสนอ นี่รู้ดีที่สุด

ไทยพับลิก้า : แต่ร่าง พ.ร.บ. ปรองดองก็ดูลับลวงพราง และเล่นหลายหน้า

ก็นี่ไง ผมถึงบอกว่าเอาความจริงมาพูดกัน พี่หนั่น (พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกฯ และประธานที่ปรึกษา ชทพ.) ถึงตั้งคำถามถึง พล.อ.สนธิ (บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และประธาน กมธ. ปรองดอง ในฐานะอดีตประธาน คมช.) ไงว่าเจตนาจริงๆ เป็นอย่างไร เบื้องหลังการปฏิวัติเป็นอย่างไร ถ้าคุณไม่ค้นหาความจริง คุณก็ไม่มีทางจะได้ความจริง และคุณไม่มีทางจะได้ความไว้เนื้อเชื่อใจ ทุกอย่างมันถึงอยู่บนความเคลือบแคลงไปหมด ถ้าสุจริตใจ เอ้า มาเลย เจตนาจริงๆ เป็นอย่างไร การแก้ปัญหาไปแก้ปลายเหตุไม่ได้หรอก มันต้องแก้ที่ต้นเหตุ

ทุกอย่างอยู่ที่การทำความเข้าใจ แต่ละฝ่ายต้องทำความเข้าใจ และทุกเวทีต้องกล้าขึ้นไปดีเบต ถ้าประชาชนเคลือบแคลงประเด็นนี้ คุณต้องเคลียร์ให้ชัด พูดไปเลย เหมือนเป็นสัญญาประชาคมว่าเจตนาของคนยกร่างเป็นอย่างนี้ เมื่อเวลายกร่าง คุณเป็นคนร่าง แน่นอนว่าคุณต้องเป็น กมธ. อยู่แล้ว คุณก็ต้องบอกเจตนารมณ์ให้ กมธ. รู้ เมื่อร่างเข้าสภา เมื่อถึงวาระ 2 วาระ 3 คุณก็ต้องพูดยืนยันเจตนาของคุณให้ชัดเจน แล้วสิ่งเหล่านั้นจะถูกบันทึกไว้ เมื่อถึงเวลาเกิดปัญหา ไอ้สิ่งเหล่านี้ก็จะถูกนำมา มันไม่มีอะไรจะดีกว่านี้

ไทยพับลิก้า : แต่เรื่องปรองดอง ไม่มีใครออกมาย้ำเจตนาชัดเจน เลยเกิดการผูกโยงกับรัฐธรรมนูญ

จริงๆ มันไม่เกี่ยวกันเลย แต่คนมันแตะโยงกันไปเอง แล้วก็หวาดระแวงกันไปเอง มันก็เลยทำให้ปัญหานี้เกิด

ไทยพับลิก้า : เป็นเพราะวัตถุประสงค์ทางการเมืองตรงกันบางส่วนหรือไม่ คนจึงอดคิดเชื่อมโยงไม่ได้

ผมไปอ่านใจคนอื่นไม่ได้ แต่เจตนารมณ์ ชทพ. คือสุจริตใจ เราต้องการปฏิรูปการเมือง ต้องการเห็นบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติ เราจึงเสนอการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราจึงสนับสนุนกฎหมายปรองดอง แต่ต้องยอมรับว่าเราเป็นพรรคเล็ก มีแค่ 19 เสียง พอทำอะไร คนในสังคมเขาก็รู้จักคิด เขาก็รู้จักวิเคราะห์ปัญหา ว่าต่อให้พรรคเล็กตั้งใจ แต่เสียงมีแค่นี้ ถ้าจะผลักดันให้มันเกิด พรรคใหญ่ของสภาต้องเอาด้วยมันถึงจะไปได้ พอเสียงส่วนใหญ่ไปแตะ มันเลยหนีไม่พ้นวงจรความหวาดกลัว วงจรคุณทักษิณอีกน่ะ ลอง ชทพ. เป็นพรรคเสียงข้างมาสิ มันก็จบหมดแล้ว (หัวเราะ)

หัวอกพ่อ “พยานหมายเลข 5”

ก่อนบทสนทนาร้อนว่าด้วยเกมแห่งอำนาจอธิปไตยตามรัฐธรรมนูญจะเริ่มต้นขึ้น

“สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นั่งอ่าน “จดหมายน้อย” ที่เขียนด้วยลายมือจากผู้เขียนที่ใช้ชื่อว่า “ครูเกษียณ” ส่งตรงมายังที่ทำการ ชทพ. แยกพิชัย ก่อนระบายยิ้ม สลับเสียงหัวเราะเป็นครั้งคราว แล้วพับจดหมายเก็บเข้าซองที่จ่าหน้าถึงตัวเขา วางมันไว้บนโต๊ะ

จนเมื่อเราไถ่ถามถึงบุตรชาย “ภราดร ปริศนานันทกุล” ส.ส. อ่างทอง ชทพ. พยานปากที่ 5 จากทั้งหมด 8 ปากของฝ่ายผู้ถูกร้อง ที่ถูกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไต่สวนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 291 เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ เมื่อวันที่ 5-6 กรกฎาคมที่ผ่านมา

“สมศักดิ์” จึงคลี่จดหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมาดูอีกครั้ง พลางอธิบายว่า “จดหมายฉบับนี้มีคนเขียนถึงผม ก็เขียนมาชื่นชมว่าอยากจะเห็นนักการเมืองเป็นอย่างนี้ ขอบคุณพ่อแม่ที่อบรมมาดี ขอบคุณพรรค อะไรอย่างนี้ มันก็ดีน่ะ”

นายภราดร ปริศนานันทกุล (ซ้าย) และนายกรวีร์ น้องชาย ส.ส. อ่างทอง (ขวา)
นายภราดร ปริศนานันทกุล สส.อ่างทอง เขต 1 (ซ้าย) และนายกรวีร์ น้องชาย ส.ส. อ่างทอง สส.อ่างทอง เขต 2 (ขวา)

“พ่อพยานปากเอก” เล่าว่า ตั้งแต่เล็กจนโตไม่เคยมีเหตุให้ “ภราดร” ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เมื่อมีเหตุต้องขึ้นให้การต่อศาลรัฐธรรมนูญ จึงมีการเก็งข้อสอบและจัดวงติวเข้ม นั่งอ่านร้องแฟ้มเบ้อเร่อ เพื่อเตรียมความพร้อม-เตรียมความรู้-เตรียมข้อมูลให้บุตรชาย เพื่อไม่ให้เสียชื่อ “พ่อ” และ “พรรค”

“ก่อนถึงวันขึ้นศาล ผมกับคุณสุรกิจ (ลิ้มสิทธิกูล เลขานุการ รมว.เกษตรและสหกรณ์) ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมาย ก็มานั่งคุยกัน เฮ้ย! ปัญหาแบบนี้จะต้องโดนอะไร แล้วเราก็เดา พูดง่ายๆ คือเราเดาข้อสอบถูก รู้ว่าเขาจะถามอะไร อย่างกรณีเรื่องที่เราแถลงต่อศาลว่าร่างของ ชทพ. กับร่างของ พท. มีความต่างตรงที่ร่างชทพ. ต้องกลับมาสู่สภา แต่ร่างของ พท. ประชามติแล้วออกไปเลย มันก็มีความต่าง ทางศาลและทางฝ่ายซักค้านก็ซักค้านว่า เอ๊ะ! ถ้าอย่างนั้นคุณไปยกมือได้ให้เขาทำไมล่ะ ในเมื่อมันไม่ตรงกับคุณ เรารู้ว่าเขาจะต้องถามอย่างนี้แน่ ก็ต้องเตรียมคำตอบว่าเจตนารมณ์ของเราคือการยึดโยงกับภาคประชาชน ถ้าอะไรก็แล้วแต่ที่กลับไปหาประชาชน เราพอรับได้ อันนี้มันต่างกันไม่มาก อย่างนี้มันก็โอเค แล้วเขาก็ถาม เราก็ตอบไป มันก็มีการเก็งว่าจะต้องอย่างไร ก็ดูจากคำร้อง”

ในบรรดาพยานฝ่ายผู้ถูกร้องทั้งหมด 8 คน มีคนของ ชทพ. 2 คนที่ต้องขึ้นให้การ

คนหนึ่งคือ “ชุมพล ศิลปอาชา” หัวหน้า ชทพ.

ส่วนอีกคนคือ “ภราดร ปริศนานันทกุล” เจ้าของต้นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ฉบับ ชทพ. นั่นเอง

“แบด (นายภราดร) ไปในนามเจ้าของร่าง แต่อย่างสุนัย (จุลพงศธร ส.ส. บัญชีรายชื่อ พท. เจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ ของ พท.) เขาก็ไม่ได้ไปให้การนะ แต่ที่เราเลือกแบดก็เพราะใน ชทพ. มันมีแบดคนเดียวที่เป็นคนยื่น อีกอย่างตั้งแต่ตอนเริ่มต้นเสนอกฎหมายเราก็คุยกันตลอดว่า เฮ้ย! เจตนารมณ์ในการเสนอกฎหมายเป็นอย่างไร จะต้องทำอะไร วันนี้เราอยากจะปฏิรูปทางการเมืองกันอย่างไร ก็คุยกันมาตั้งแต่เสนอแล้ว แบดถึงเข้าใจพื้นฐานว่าเป็นมาอย่างไร ถึงตอบได้ เพราะเข้าใจเรื่องทั้งหมด ถ้าจู่ๆ จับมาเซ็นชื่อนี่ มันตอบไม่ได้หรอก มันต้องรู้ว่าแก่นอยู่ตรงไหน เจตนาอยู่ตรงไหน”

หลังลาโรง “สมศักดิ์” ยืนยันว่าทุกคนและพรรคแฮปปี้กับการทำหน้าที่ของ “พยานหมายเลข 5”

และทำให้คนเป็นพ่อปลาบปลื้มใจกับ “ลูกไม้ใต้ต้น” รายนี้ไม่ได้

เมื่อถูกแซวว่าสมใจเลยใช่หรือไม่ ที่ส่งลูกคนนี้เข้าสภาช่วงตัวเองติดโทษแบน?

“สมศักดิ์” ทำท่าเขิน หัวเราะเล็กๆ ก่อนบอกว่า “คือเราแค่ลูกไม่เลวก็พอแล้ว ลูกอย่าไปสร้างปัญหาให้แก่สังคม ทำตัวไม่ให้ตัวเอง ครอบครัว และสังคมเดือดร้อน มันก็ดีแล้ว แต่อันนี้ช่วยเหลือสังคมได้ เราก็โอเค ขนาดคุณหญิงสุดารัตน์ (เกยุราพันธุ์) เขาก็เขียนจดหมายมาชื่นชมเลย ก็เก็บไว้เหมือนกัน ให้แบดดู จะได้มีกำลังใจ”

ถือเป็นความสุขเล็กๆ ในหัวอกคนเป็น “พ่อ” ยามเห็นลูกได้ดี!!!