ThaiPublica > คนในข่าว > “สดศรี สัตยธรรม” สะกดรอยคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ถ้าขัด ม. 68 เกิดสุญญากาศการเมือง ชนวนสู่ ม. 7 “รัฐบาลพระราชทาน”

“สดศรี สัตยธรรม” สะกดรอยคำวินิจฉัยศาล รธน. ชี้ถ้าขัด ม. 68 เกิดสุญญากาศการเมือง ชนวนสู่ ม. 7 “รัฐบาลพระราชทาน”

6 กรกฎาคม 2012


“สดศรี สัตยธรรม” หนึ่งในกรรมการการเลือกตั้ง และอดีตคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 3 ว่าด้วยศาลและองค์กรอิสระ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550

“…เมื่อเกิดสุญญากาศตาม ม.68 แล้ว กกต. ไม่น่าจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยได้ ซึ่งมีคนพูดถึงว่าจะต้องเข้ามาตรา 7 หรือไม่ เมื่อดำเนินการไม่ได้แล้วก็จะต้องมีรัฐบาลที่ทรงโปรดเกล้าฯ หรือเปล่า”

อีกไม่นาน คดีประวัติศาสตร์ที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องตามที่มีผู้ร้องว่า การร่างแก้ไขรัฐธรรรมนูญ (รธน.) ม.291 เป็นการล้มล้างการปกครองอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตาม รธน. ม.68 หรือไม่ จะมีคำวินิจฉัยออกมาสู่สาธารณะ

ผลการวินิจฉัยนั้นมีอยู่ 2 แนวทาง คือ

1. การแก้ไข รธน. ดังกล่าวไม่ขัดต่อ ม.68 การดำเนินการแก้ไขก็จะเดินหน้าตามปกติ และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะมีการลงมติในวาระที่ 3 ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย

2. การแก้ไข รธน. ขัดต่อ ม. 68 ตามที่มีผู้ยื่นคำร้อง ก็จะนำไปสู่การ “ระงับ” การกระบวนการแก้ไข รธน.โดยทันที และร่างแก้ไข รธน.ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสภาจะถือว่าตกไป รวมไปถึงความผิดฐาน “ยุบพรรค” พรรคการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการแก้ไข รธน. และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

ในห้วงเวลาของการรอคอยคำวินิจฉัยอย่างใจจดใจจ่อ “สดศรี สัตยธรรม” หนึ่งในกรรมการการเลือกตั้ง และ อดีตคณะอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหมวดที่ 3 ว่าด้วยศาลและองค์กรอิสระ ในสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เปิดห้องทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ทำนายอนาคตการเมืองไทยนับต่อจากวินาทีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กับ “สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า” ไว้อย่างน่าสนใจดังต่อไปนี้

ไทยพับลิก้า : ขณะนี้องค์กรอิสระและศาลมีปัญหาเรื่องวิกฤตความศรัทธา

ความศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอิสระต่างๆ ไม่ใช่เพิ่งมาเสื่อมลงวันนี้ ดูแล้วมันเริ่มเมื่อมีการร่าง รธน. ปี 2550 เป็นต้นมา มีความรู้สึกว่าองค์กรอิสระต่างๆ ตั้งขึ้นมาเป็นที่จับตาดูว่าการดำเนินงานต่างๆ มี 2 มาตรฐานจริงหรือไม่ ซึ่งการที่จะมอง 2 มาตรฐานไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไร คือถ้าเรื่องเดียวกันแต่วินิจฉัยแตกต่างกันแล้วอย่าว่าแต่ประชาชนเลย แม้แต่ตัวผู้ที่อยู่ในองค์กรเองก็มีความรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกันน

ดังนั้น ศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอิสระจะดีหรือไม่ดี ขึ้นอยู่กับตัวองค์กรนั้น ว่าท่านวางตัวเป็นกลางหรือไม่ การวินิจฉัยสิ่งต่างๆ เป็นมาตรฐานเดียวกันหรือไม่ ฉะนั้น แม้ว่าจะมี รธน.ฉบับใหม่ขึ้นมาอย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระจะต้องมีเหมือนเดิม ไม่ใช่ว่ามี รธน. แล้วจะแก้ปัญหาเรื่ององค์กรอิสระได้ เพราะขึ้นอยู่กับองค์กรนั้นๆ ว่ายังทำตัวเหมือนเดิมไหม ยังมีการวางแนวทางในลักษณะที่มีหลายมาตรฐานกันอยู่หรือไม่เพียงใด

ไทยพับลิก้า : อะไรที่ทำให้องค์กรอิสระทั้ง กกต., ป.ป.ช. รวมไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ถูกโจมตีจากกลุ่มคนเสื้อแดงว่าเป็นมือไม้ของอำมาตย์ในการทำลายฝ่ายตรงข้าม

คือ กระจกมันมี 2 ด้าน การวินิจฉัยไม่ว่าองค์กรไหนก็ตาม มันมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์กับเสียประโยชน์ ฝ่ายที่ได้ประโยชน์ก็บอกว่าดี ถูกต้อง ตัดสินได้ถูกต้องชัดเจน ฝ่ายที่เสียประโยชน์อาจจะมองว่าไม่ใช่ (เน้นเสียง) ไม่ถูกต้อง ก็มองได้อย่างนี้ คนที่พอใจคือคนที่ได้ประโยชน์จากการวินิจฉัยอันนั้น แต่คนที่เสียประโยชน์ก็แน่นอนที่สุดว่าเขาย่อมไม่พอใจ ถามว่าบรรทัดฐานอยู่ที่ไหนมันก็ยาก ยิ่งในสังคมไทยที่แบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย ทำให้เกิดอคติต่อองค์กร อันนี้พูดในฐานะคนกลางๆ เลย ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าการวินิจฉัยขององค์กรนั้น ว่าพอใจหรือสมประโยชน์ของตัวเองหรือไม่มากกว่า

ถ้าจะเห็นอีกอย่างหนึ่ง จะต้องมีการวางบรรทัดฐานกันไว้ สมมุติว่าเรื่องหนึ่งองค์กรนี้เคยตัดสินอย่างนี้มานะ แต่ในข้อเท็จจริงเดียวกันกลับบิดไปอีกอันหนึ่ง ก็ทำให้ไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน เมื่อไม่ได้เป็นมาตรฐานเดียวกันแล้วเนี่ย คนที่อยู่ตรงกลางเขาจะรู้ว่าคุณไม่ได้วางมาตรฐานอย่างนั้น ไม่ได้วางตามมาตรฐานเดิมที่วางเอาไว้

ไทยพับลิก้า : ทำไมต้องมีการเชื่อมโยงองค์กรอิสระกับอำมาตย์

เอ่อ ที่จริงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เรามีการปลดปล่อยทาส เราไม่มีทาส ไม่มีไพร่ เรามีความเสมอภาคกัน และในกฎบัตรสหประชาชาติบอกว่าทุกคนมีความเสมอภาคมีความเท่าเทียมกัน คำว่าอำมาตย์อาจจะมองดูว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น หันกลับไปมองในเรื่องของศักดิ์ศรี ฐานันดรของคน ซึ่งอันนี้อาจจะเป็นความคิดของผู้ที่มีความคิดอย่างนั้น โดยพื้นฐานอาจจะเกิดความที่ไม่พอใจว่า การวินิจฉัยอันนี้ ถ้าเป็นอีกคนหนึ่งหรือส่วนหนึ่งแล้วจะวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเป็นพวกเราแล้ววินิจฉัยอีกอย่างหนึ่ง เมื่อแตกต่างกันก็มองดูว่าฐานันดรของผู้นั้นมีส่วนมาทำให้การเมืองบิดไปจากเดิม ฉะนั้น จริงๆ แล้วเราก็คงจะไม่สามารถเอามาเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าสูงศักดิ์กับต่ำศักดิ์มันเป็นอย่างไร เพราะในขณะนี้โลกมันเปลี่ยนไปหมดแล้ว ทุกคนเท่ากันหมด แต่เป็นความคิดของผู้ที่พยายามจะแยกแยะว่าฉันเป็นไพร่ นั่นเป็นคนชั้นสูง อะไรก็แล้วแต่

ไทยพับลิก้า : เมื่อมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้องค์กรอิสระหรือศาลต้องทำงานภายใต้ความกดดันจากปัจจัยอื่น

ความกดดันขององค์กรอิสระหรือศาลก็ขึ้นอยู่กับตัวเองด้วยเหมือนกัน ถ้าจะเทียบความรู้สึกของตัวเองเนี่ย เราเคยวินิจฉัยเรื่องนี้มาแล้ว แต่พอมาเป็นของกลุ่มหนึ่งเราไปวินิจฉัยอีกอย่าง มันก็เกิดความรู้สึกกดดันจิตใจตัวเองเหมือนกัน ว่าที่ทำงานไปเราเคยทำอย่างนี้ แล้วพอมีอีกเรื่อง คนอีกสถานะหนึ่งร้องเข้ามา ทำไมเราถึงต้องเปลี่ยนไป มันมีความรู้สึกกดดันจากตัวเรามากกว่าน่ะค่ะ ไม่ใช่มาจากประชาชนหรือกลุ่มก้อนทางการเมืองใดๆ แต่มาจากตัวเองมากกว่า

ไทยพับลิก้า : ถ้าท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ม.219 ที่ผลักดันโดยรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยเข้าข่าย ม.68 อะไรจะเกิดขึ้นตามมา

สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ต้องเป็นไปตาม รธน. ม.68 ถ้าเป็นพรรคการเมือง พรรคการเมืองถูกยุบ กรรมการบริหารพรรคถูกเพิกถอนสิทธิ ซึ่งจะเป็นเหตุให้การเมืองเกิดวิกฤตฃขึ้นมาทันที ถามว่าพรรคการเมืองที่เสนอการขอแก้หรือแก้ไข รธน. มีกี่พรรค เพราะจะว่าไปแล้วถือว่าเป็นการร่วมสังฆกรรมกันหมดทุกพรรคที่เป็นทั้งรัฐบาลและเป็นฝ่ายค้าน ทั้งการขอแก้และการขอแปรญัตติ คือการร่วมสังฆกรรมกัน เมื่อสังฆกรรมกันแล้วก็เกือบทั้งสภา รวมทั้งมีการผ่านวาระที่ 1 และวาระที่ 2 ไปแล้ว ก็ต้องดูว่ามีพรรคการเมืองไหนเข้าร่วมบ้าง เขาใช้คำว่า “บุคคล” หรือ “พรรคการเมือง” ดังนั้น ถ้าใช้คำว่าบุคคล แม้ว่าจะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคก็โดนไปด้วย เมื่อโดนไปด้วยก็จะหมดทั้งสภา หมายถึงว่าทำให้การนั้นไม่ชอบ เมื่อการนั้นไม่ชอบ มันก็เข้าตามมาตรา 68 วรรคท้ายทันทีเลย คือโทษนี่รุนแรง

จำได้ว่าตอนที่อยู่ใน ส.ส.ร. ปี 2550 มาตรา 68 เป็น Hot topic ของการร่าง รธน. เลย มีการพูดกันมาก เพราะตอนนั้นเรามีความรู้สึกว่าไม่ควรมีการฉีก รธน. หรือการปฎิวัติรัฐประหาร ในครั้งนั้นก็มีผู้ยกร่างขึ้นมาแต่จำไม่ได้ว่าใคร และมีการเสนอเข้าสู่การพิจารณา ม. 68 มีถึงขนาดที่ว่าควรจะมีองค์กรใดไหมที่จะช่วยให้สถานการณ์บ้านเมืองในทางการเมืองคลี่คลายลง ถึงขนาดมีการร่างว่าจะมีสภาที่ปรึกษา ที่ประกอบด้วยประธานศาลทั้งหลาย ที่สำคัญมีสภากลาโหมเข้ามาร่วมกันแก้วิกฤต เป็นลักษณะว่าเรามัดมือทหารเข้ามาร่วมในการแก้ไขปัญหาของประเทศด้วย คล้ายๆ ว่าถ้าทหารเข้ามาร่วมทำงานกับรัฐบาลแล้วก็จะได้ไม่ต้องปฏิวัติรัฐประหาร แต่จะได้ช่วยกันแก้อะไรต่างๆ แต่แนวคิดนี้ก็ล้มเลิกไปเพราะถือเป็นการให้บทบาททหารมากไป เห็นว่าไม่เหมาะสมก็ยกเลิกไป

ดังนั้น ม.68 วรรค 1 ชัดเจนว่าไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร หรือจะใช้วิธีการได้มาซึ่งอำนาจปกครองด้วยวิธีอื่น ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย ไม่ให้มีการเลือกตั้งไม่ได้ ฉะนั้นจึงเป็นที่มาของ ม.68 ทีนี้ ไม่มีใครคิดถึงขนาดว่ามาตรา 68 นี่มันจะไปโยงการแก้ รธน. ด้วย ในชั้นนั้นไม่มีใครคิดถึงขนาดนั้น ไม่ได้คิดถึงว่าการแก้ รธน. จะเข้า ม.68 หรือไม่ เพราะตอนนั้นเราพูดกันเรื่องการปฏิวัติรัฐประหาร ว่าอย่างไรก็ตามจะทำไม่ได้ ทหารจะปฏิวัติไม่ได้ หรือพรรคการเมืองร่วมกับทหารทำการปฏิวัติรัฐบาลแล้วจะต้องโดนอะไรบ้าง เลยเป็นที่มาของวรรค 2 ว่าถ้าในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองกระทำการตามวรรค 1 ก็ให้ผู้ทราบการกระทำเสนอเรื่องไปให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และฟ้องยังศาลรัฐธรรมนูญ

คือต้องขออนุญาตว่าไม่อาจก้าวล่วงไปถึงการวินิจฉัยของศาล แต่ถ้าหากศาลท่านมองดูว่าเรื่องนี้เข้าตาม ม.68 แล้วเนี่ย คำว่าบุคคลหรือพรรคการเมืองโดนหมดก็จะเกิดสุญญากาศทางการเมืองทันที เมื่อสุญญากาศทางการเมืองแล้วอะไรจะเกิดต่อไป คือมันไม่มีอะไร ตอนนี้กำลังจะมองด้วยว่าถ้าสุญญากาศแล้ว กกต.จะเข้าไปจัดการได้ไหม เพราะมีกรณีที่นายกรัฐมนตรียุบสภาฯ ก็ทำให้ต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงที่รัฐบาลรักษาการชั่วคราวนั้น ทาง กกต. จะเป็นผู้ดำเนินการต่างๆ ในเรื่องเกี่ยวกับการขออนุมัติงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง แต่เมื่อเกิดสุญญากาศตาม ม.68 แล้ว กกต.ไม่น่าจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยได้ ซึ่งมีคนพูดถึงว่าจะต้องเข้ามาตรา 7 หรือไม่ เมื่อดำเนินการไม่ได้แล้วก็จะต้องมีรัฐบาลที่ทรงโปรดเกล้าฯ หรือเปล่า ซึ่งอันนี้ก็ยังไม่ทราบว่าข้างหน้าต่อไปเป็นอย่างไร และใครจะเป็นคนวินิจฉัย อ่านเพิ่มเติม รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27 18 มิ.ย. 2550 หน้าที่ 35

ไทยพับลิก้า : ถ้าไม่ชอบตามมาตรา 68 ขอบข่ายความผิดจะครอบคลุมขนาดไหน

ถ้าเป็นเรื่องความผิดทางอาญาแผ่นดิน อัยการจะต้องดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำการดังกล่าวนั้นด้วย แต่ตอนนี้ก็จะมีช่องโหว่งนิดนึงที่ว่า ในเมื่อเรื่องนี้ไม่ได้เสนอให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงกันก่อน แต่มีการฟ้องกันไปเลย แบบนี้จะเกิดอะไร และอัยการจะดำเนินเรื่องหรือไม่ หรือใครจะเป็นคนฟ้องผู้นั้น มันเป็นเรื่องการตีความของศาลหมดเลยน่ะค่ะ ศาลก็คงจะต้องวินิจฉัยยาวถ้าหากว่าเข้าตาม ม.68 ว่าไม่ได้เป็นการสิทธิการเสรีภาพ แต่เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ท่านก็คงต้องพูดต่อยาวว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เรื่องนี้ยังไม่เคยมีบรรทัดฐาน ศาลกำลังวางบรรทัดฐาน ว่าการขอแก้ไข รธน. ตาม ม.291 นี้ จะเป็นเหตุที่ทำให้ล้มล้างระบบการปกครองหรือไม่

ไทยพับลิก้า : ในฐานะเป็นคนยกร่าง รธน. มา รธน. ปี 50 สามารถแก้ไขทั้งฉบับได้หรือไม่

คือจริงๆ แล้วเขาไม่ได้บอกว่าขอแก้ไขทั้งฉบับ ตามที่มีการพูดกันในสภา บอกว่าไม่แก้หมวดที่ 1 และหมวดที่ 2 ซึ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ดังนั้นถือว่าเป็นการแก้เพียงบางส่วนเท่านั้น ซึ่ง ม.291 ก็เปิดให้มีการแก้ไขโดยทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหมวดที่ 15 และตอนทำประชามติปี 2550 ยังมีบทบัญญัติบอกไว้ว่าถ้าประชามติไม่ผ่าน ประธาน คมช. ขณะนั้นสามารถเอา รธน. ฉบับไหนก็ได้ขึ้นมา ฉะนั้น เป็นการชัดเจนว่าไม่ได้ว่าห้ามแตะต้อง รธน. ปี 50 เพราะถ้า รธน.ปี 50 ไม่ผ่านการพิจารณา ก็สามารถเอา รธน. ฉบับใดมาประกาศใช้โดย คมช.ได้ เป็นไปตาม รธน. ชั่วคราวปี 2549 ไม่ได้มีบทบัญญัติอันใดว่าเมื่อมี รธน.แล้ว และผ่านการทำประชามติจะแตะต้องไม่ได้ ขณะเดียวกันเมื่อปีที่แล้วทางพรรคประชาธิปัตย์เสนอแก้ไขไป 2 มาตรา เรื่องการเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียวก็มีการแก้กันมาแล้ว

ไทยพับลิก้า : ที่จริงการแก้ รธน. เกี่ยวข้องกับ ม.68 หรือไม่

เรื่องนี้น่าจะขอศาลเปิดดูเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของการร่าง รธน. ฉบับนี้ ว่า ม.68 มีเจตนาอย่างไร ซึ่งน่าจะชัดเจนว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร เพราะการปฏิวัติรัฐบาลเนี่ยมันเปลี่ยนหมดเลย คือไม่ให้มีรัฐบาลไม่มีการเลือกตั้งไม่มีอะไร เป็นลักษณะที่เปลี่ยนระบบเลย อาจจะเปลี่ยนระบบการปกครองอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเขารัฐประหารได้สำเร็จ คือในเจตนารมณ์ของ ม.68 น่าจะชัดเจนและสามารถเปิดดูได้ตามที่ร่างกันไว้ ม.68 มีความมุ่งหมายแค่ไหน

ไทยพับลิก้า : แต่ใน รธน. เปิดให้ประชาชนมีสิทธิในการพิทักษ์ รธน.

ม.291 อยู่ในหมวดแก้ไข รธน. ถ้ามีการระบุไว้ว่าสามารถแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ได้ การพิทักษ์รักษา รธน.น่าจะเป็นมาตรา 68 คือการไม่ให้มีการปฏิวัติรัฐประหาร ถ้ามีการปฏิวัติมันหมดเลย ฉีก รธน.ทิ้งเลย แต่ ม.291 ให้มีการแก้ไขได้ถ้าเห็นว่าไม่ถูกต้องหรืออะไร ดังนั้น ในความเห็น ถ้าทำตาม รธน. ม.291 แล้วไม่น่าจะเข้าตาม ม.68 ซึ่งศาลท่านอาจจะคิดอีกอย่างหนึ่งก็ได้ แต่ต้องไปดูเจตนารมณ์ของ รธน. ปี 2550 มาตรา 68 จะได้ชัดเจนมากกว่าที่จะมาโต้แย้งกัน

ไทยพับลิก้า : แต่ถ้ามีคำวินิจฉัยว่าชอบ กระบวนการก็เดินหน้าต่อไป

ใช่ เมื่อเห็นว่าไม่ผิดตามมาตรา 68 แล้ว การร่าง รธน. ก็ดำเนินการต่อไปในวาระที่ 3 ลงมติกันนับแต่วันที่ศาลพิจารณาภายใน 1 เดือนที่ศาลมีคำพิพากษา

ไทยพับลิก้า : ว่ากันว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของการแก้ไข รธน. คือต้องการลดอำนาจศาลกับองค์กรอิสระ

ในความคิดของตัวเอง ไม่ใช่ลดอำนาจศาล องค์กรอิสระ แต่น่าจะเปลี่ยนตัวผู้ที่อยู่ในองค์กรอิสระมากกว่า และเปลี่ยนวิธีการเลือก สรรหา ผู้ที่อยู่ในองค์กรนั้นมากกว่า อาจจะไม่ใช่สรรหาอย่างเดิม แต่สรรหาอย่างอื่นมา และต้องมีบทเฉพาะกาล ว่าถ้ามีการสรรหาใหม่แล้ว ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งขณะนั้นถือว่าต้องหมดวาระไปโดยปริยาย แต่ไม่คิดว่าจะไม่มีการยุบศาลรัฐธรรมนูญ กกต. หรือองค์กรอิสระอื่น แต่บางองค์กรอาจจะมีการเอามารวมกัน เช่น ผู้ตรวจการแผ่นดิน กับกรรมการสิทธิ อาจจะรวมกันก็ได้ เห็นว่างาน 2 หน่วยงานนี้อาจจะรวมกัน

แต่เราก็ถือว่าของธรรมดา กกต. ชุดนี้อาจจะไป เรามาโดย รธน. ปี 50 เราก็อาจจะไปโดย รธน.ปี 55 หรือ 56 อะไรก็แล้วแต่ แต่ถือว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของการเข้าสู่ตำแหน่ง และเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคนเราไม่ติดยึดในตำแหน่งการงานอะไรแล้วเนี่ย ก็จะมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาของระบบการเมือง หรือระบบการเข้าสู่ตำแหน่งโดย รธน. ดิฉันเชื่อว่าผู้ที่อยู่ในองค์กรอิสระทั้งหลายคงจะไม่ติดยึดในตำแหน่งหน้าที่ของท่าน

ไทยพับลิก้า : ดูเหมือนผู้มีอำนาจต้องการกำจัดขวากหนาม

คือ ถ้ายังมีแนวคิดว่าการวินิจฉัยไม่ถูกต้อง ยังมีหลายมาตรฐาน แน่นอนที่สุดว่าเขาคงอยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลง แต่จะเป็นขวากหนามหรือไม่ก็เป็นมุมมองแต่ละคน อาจจะไม่เหมือนกัน อาจจะเป็นลักษณะที่ว่าทำไมเรื่องนี้คนนี้วินิจฉัยอย่างนี้ แต่อีกเรื่องหนึ่งวินิจฉัยอีกอย่างหนึ่ง เกิดความรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับเขา

ไทยพับลิก้า : คนบางกลุ่มกังวลว่าการแก้ไข รธน. ของรัฐบาลเป็นความพยายามที่จะรวมอำนาจเบ็ดเสร็จ

คือ การได้อำนาจเบ็ดเสร็จเนี่ยนะ ยังไม่เคยเห็นที่ไหนได้อำนาจเบ็ดเสร็จจริงๆ อยู่ได้สักระยะหนึ่งจะโดนโค่นล้มโดยประชาชน มีหลายประเทศที่มีผู้นำอยู่ในอำนาจเบ็ดเสร็จมาระยะยาวนาน พอนานเข้าก็จะถูกเปลี่ยนโดยประชาชนนั่นเอง อำนาจประชาธิปไตยมีอยู่ 3 อำนาจคือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ทั้ง 3 อำนาจนี้จะต้องตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ มันต้องมีลักษณะเช็คแอนด์บาลานซ์กัน

ไทยพับลิก้า : ที่ผ่านมามีความพยายามแทรกแซงองค์กรอิสระ

มีการแทรกแซงทางความคิดในส่วนของบุคคลมากกว่า แต่ถ้าถามว่าแทรกแซงได้หรือไม่ อาจจะมีการแทรกแซงกันได้ แต่ผู้ที่อยู่ในองค์กรอิสระนั้นจะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ท่านจะวินิจฉัยอะไรจะต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ความถูกต้อง

ไทยพับลิก้า : ถ้ามีการแก้ไข รธน. ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยังคงต้องอยู่ไหม

คดีเกี่ยวกับนักการเมือง เมื่อก่อนอยู่ในคดีปกครอง ซึ่งศาลฎีกาจะพิจารณาหมด ทีนี้ พอแยกออกมา คดีอาญานักการเมืองก็เป็นตาม รธน. ที่มีการให้แยกคดีอาญานักการเมืองออกมา จริงๆ แล้วน่าจะมีศาล 3 ชั้นมากกว่า คือ ศาลชั้นต้น ชั้นอุทธรณ์ และชั้นฎีกา จะได้มีการกรองกันไปถึง 3 ศาล ซึ่งหลายคนอยากให้มี 3 ศาล นักการเมืองเขาก็อยากให้เป็นแบบนี้ อยากให้ศาลมี 3 ชั้น ไม่ใช่มีชั้นเดียว

ไทยพับลิก้า : ถ้าถูกยุบรวมในส่วนของตุลาการ จะมีปัญหาในการทำงานหรือไม่

คือ เอ่อ ระบบศาลยุติธรรม เรามีการสร้างผู้พิพากษามาตั้งแต่เด็กๆ เลย คือตั้งแต่เป็นผู้ช่วยผู้พิพากษา และมาเป็นผู้พิพากษา ซึ่งใช้เวลานานมากกว่าจะสร้างมา แต่ระบบของศาลอื่น เช่น ศาลปกครอง ไม่ได้สร้างในลักษณะอย่างสร้างยุติธรรม ท่านอาจจะเอาผู้ที่เป็นซี 9 ของธุรการท่านมาเป็นผู้พิพากษาก็ได้ในระบบสอบสรรหากันขึ้นมา อะไรก็แล้วแต่

ทีนี้ ของศาลยุติธรรม เรามีการเทรนมาตั้งแต่เด็กๆ มีติวเตอร์อะไรต่ออะไรกว่าจะทำคดีได้ ถ้าหากว่าเปลี่ยนระบบหมดเลยก็จะต้องโอนบุคคลกรทั้งหมดมาเข้าสู่ศาลยุติธรรมทั้งหมด ก็อาจจะต้องจัดระบบกันใหม่

ไทยพับลิก้า : มีการพูดถึงหน้าที่ กกต. ที่ควรเหลือเฉพาะการจัดการเลือกตั้งเท่านั้น ส่วนอำนาจในการให้ใบเหลืองใบแดงเป็นของศาลเลือกตั้ง ที่อาจจะมีการตั้งขึ้นใหม่

คือ ศาลเลือกตั้งเนี่ยนะ ตอนนี้แผนกคดีเลือกตั้งมีอยู่ที่ศาลฎีกาแล้ว ถามว่าศาลฎีกาตอนนี้มีภารกิจเยอะไหม ต้องยอมรับว่ามีมาก และมีคดีที่ค้างอยู่เยอะ ทีนี้ ถ้าหากว่าให้คดีเลือกตั้งกับศาลไปแล้วเนี่ย จริงๆ แล้วศาลจะต้องรีบทำคดีเลือกตั้ง เพราะมีการให้ใบเหลือง-ใบแดง ต้องมีการสอบกัน อะไรต่ออะไร แต่ถ้าให้ไปสู่ระบบธรรมดาอาจจะช้า ถ้ามีศาลคู่ขึ้นมาก็จะทำให้คดีเลือกตั้งเร็วขึ้น อย่าง กกต. มีอะไรก็ต้องรีบทำ ประกาศผลภายใน 1 เดือนนะ อย่างนั้นอย่างนี้ มันมีงานตอลดเวลา แล้วตอนนี้การวินิจฉัยเนี่ย หลังจากประกาศผลแล้วก็ไม่ได้จบที่ กกต. ก็ต้องไปศาลอีก ถ้าให้ไปศาลเลือกตั้งเลยตั้งแต่แรกน่าจะทำให้คดีเร็วขึ้น กกต. ก็จะลดบทบาทลง มีหน้าที่อำนวยการเลือกตั้งอย่างเดียว ในบางประเทศ กกต. ก็มีหน้าที่อำนวยการเลือกตั้งอย่างเดียว เช่น ประเทศมาเลเซีย พอหมดฤดูเลือกตั้ง กกต. ก็ไปเที่ยวต่างประเทศ (หัวเราะ)

แต่ก็คิดว่า เอ่อ ในส่วนของ กกต. เอง เราก็ยินดีถ้าหากว่ามีการลดบทบาทลง อย่างที่ว่าแหละ ทุกวันนี้เราก็โดนวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้ แต่ถ้าทำเลือกตั้งเฉยๆ เนี่ยก็คงไม่มีใครมาสนใจอะไรเราเท่าไหร่ และมอบหน้าที่ให้ศาลไป เพราะท่านได้รับการยอมรับ และทำในพระปรมาภิไธยด้วย ฉะนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ศาลเนี่ยจะทำได้ไม่มากเท่ากับการวิพากษ์วิจารณ์ กกต. ฉะนั้น ถ้าเราลดบทบาท กกต. ลง อย่าคิดมากว่าอำนาจหายไปหมดแล้วอะไรอย่างนี้ ก็จะทำให้องค์กรของ กกต. อยู่ได้ ไม่ถูกกระทบมากจากการเมือง

ไทยพับลิก้า : สถานการณ์ในวันนี้มีความน่าเป็นห่วง

ก็ดูแล้วว่าคนทั่วไปต้องการความสงบสุขนะ ปัญหา 4-5 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้น เชื่อว่าทุกคนไม่ต้องการให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ทีนี้ถ้าไม่ต้องการให้เกิดวิกฤตทางการเมืองต้องขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ท่านจะทำอย่างไรที่จะทำให้บ้านเมืองสงบสุข ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ถ้าเกิดขึ้นจากองค์กรใดแล้วจะเป็นหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ขึ้นมาทันที และทำให้เกิดความรู้สึกว่าบ้านเมืองเราไม่น่าอยู่ และเราจะอยู่กันได้หรือไม่ อันนี้ต้องถามแต่ละท่าน นักการเมืองก็ดี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะเกิดวิกฤตทางการเมืองก็ดี ต้องถามใจตัวเอง ว่าท่านจะให้เกิดวิกฤตในประเทศเราอีกหรือ เป็นเรื่องที่ต้องตอบคำถามกันต่อไปว่าเราจะทำอย่างไรกับประเทศเรา

ไทยพับลิก้า : ทำไมท่านมักจะเป็นเสียงข้างน้อยในการลงมติของ กกต. จนถูกมองว่าเป็นขวัญใจของคนเสื้อแดง

จริงๆ นะคะ ตัวเองไม่ได้ลงมติเข้าข้างเสื้อแดงอะไรไปหมด ดิฉันจะเป็นตัวของตัวเองมาโดยตลอด อย่างหลายเรื่อง เช่น เรื่องเกี่ยวกับป้าย เสือ สิงห์ กระทิง แรด ของกลุ่มพันธมิตร ก็ยังลงมติเป็นเสียงข้างน้อยว่าเป็นป้ายที่ใช้ได้ ไม่ได้เป็นป้ายที่ใช้หาเสียงด้วยซ้ำ เป็นป้ายที่ถือว่าอาจจะติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์บุคคลที่จะก้าวเข้าสู่การเมือง ว่าอย่าทำตัวเป็น เสือ สิงห์ กระทิง แรด ในการเมืองนะ ตอนนั้นก็ได้การชื่นชมโดยฝั่งพันธมิตรฯ ซึ่งดิฉันจะดูที่ความถูกต้องคืออะไรมากกว่า และหลายครั้งเป็นเสียงข้างน้อย เช่น กรณีคุณบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ส.ส.นครราชสีมา พรรคภูมิใจไทย ดิฉันก็เป็นเสียงข้างน้อย 1 ใน 4 ที่วินิจฉัยว่าการกระทำของคุณบุญจงในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนั้นไม่ได้เป็นการจัดเลี้ยงเพื่อหาเสียงอะไร ศาลฎีกาท่านก็ได้วินิจฉัยตามเสียงข้างน้อย ก็จะมีหลายหลาก อาจจะเผอิญเหมือนกันว่าไปวินิจฉัยในส่วนที่เป็นคนของเสื้อแดง จริงๆ แล้วในความคิดของตัวเองไม่อยากให้มีทั้งเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เราก็คือคนไทยด้วยกัน ทำไมต้องแบ่งแยกกันต้องมีม็อบ บางทีก็มองว่าเราเอาคนบางคนเป็นตัวตั้งทำให้เกิดปัญหาขึ้นมา

เมื่อมีสภาพอย่างนี้ ใครก็ตามยืนอยู่ตรงกลางจะยากมาก บางครั้งก็รู้สึกว่าเรามาทำงานองค์กรเหล่านี้แล้วไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง การวินิจฉัยของเราจะทำแบบกลางๆ ไม่ได้แล้ว กลายเป็นว่าถ้าเราเห็นว่าอันนี้ถูกต้อง ฝ่ายที่เขาได้ประโยชน์ก็จะบอกว่าถูกต้อง ดีมาก อีกฝ่ายก็จะบอกว่าเลวร้ายมาก ตัดสินอย่างนี้มันลำบากเหมือนกัน ถามว่าเวลาศาลวินิจฉัย คนนี้ชนะ คนนี้แพ้ ไม่มีการที่ว่าชนะทั้งคู่หรือแพ้ทั้งคู่ ก็ต้องเป็นเรื่องธรรมดา การทำงานของเราก็ต้องทำใจ ถ้าเกิดการวิพากษ์วิจารณ์

ไทยพับลิก้า : การแบ่งสีแบ่งขั้วทางการเมืองจะเป็นตัวผลักที่ทำให้คนที่อยู่จำเป็นต้องเลือกข้างหรือไม่

ไม่ เราต้องไม่พยายามเลือกข้างเด็ดขาดเลย เราจะต้องวินิจฉัยด้วยความถูกต้องมากกว่า เราจะพยายามไม่มองว่าคนนี้คือใคร คนนี้คือของพรรคไหน เราจะต้องไม่มองในเรื่องนั้น บางครั้งจะต้องหลับหูหลับตา ไม่ต้องดูเลยว่าเขาเป็นใครนะคะ เรื่องนี้คงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับที่ผู้ที่จะเข้าสู่อาชีพนื้ คือองค์กรอิสระนี่ย ต่อไปข้างหน้าท่านก็ต้องคิดแล้วคิดอีกเหมือนกัน ถ้าบ้านเมืองเรายังอยู่ในลักษณะแตกแยกอย่างนี้ แต่ กกต. ชุดนี้เราจะอยู่แค่กันยายน 2556 เท่านั้น คิดว่าจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เว้นแต่ว่าจะมี รธน. และให้วาระดำรงตำแหน่งของเราสุดสิ้นก่อนที่จะครบวาระ ก็ไปกันได้ ไม่มีปัญหา ทุกคนก็เตรียมเสื้อผ้ากันอยู่แล้ว (หัวเราะ)

เปิดเจตนารมณ์มาตรา 68 รัฐธรรมนูญ 2550

ส่วนที่ 13 ว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ

มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้มิได้

ในกรณีที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดกระทำการตามวรรคหนึ่ง ผู้ทราบการกระทำดังกล่าวย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนการดำเนินคดีอาญาต่อผู้กระทำการดังกล่าว

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้พรรคการเมืองใดเลิกกระทำการตามวรรคสอง ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้

ในกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองตามวรรคสาม ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบในขณะที่กระทำความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งดังกล่าว

เจตนารมณ์เพื่อคุ้มครองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ห้ามมิให้บุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

บุคคลหรือพรรคการเมืองที่ทราบการกระทำดังกล่าว มีสิทธิเสนอเรื่องให้อัยการสูงสุดไต่สวนข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้พิจารณาวินิจฉัยหรือมีคำสั่งให้ยุติการกระทำดังกล่าวได้

ในกรณีพรรคการเมืองเป็นผู้กระทำการดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญอาจสั่งยุบพรรคการเมือง และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารของพรรคการเมืองเป็นเวลาห้าปีได้

หมายเหตุ

1) หลักการคงเดิมตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 โดยเพิ่มการเพิกถอนสิทธิของหัวหน้าพรรคการเมือง และกรรมการบริหารของพรรคการเมือง

2) หลักการดังกล่าวนี้มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นครั้งแรก

3) รายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 27/2550 วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พุทธศักราช 2550