ThaiPublica > คอลัมน์ > ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2)

ประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (2)

9 กรกฎาคม 2012


ภาวิน ศิริประภานุกูล
[email protected]

ในครั้งที่แล้ว ผมได้ชวนคุยชวนคิดเกี่ยวกับประเด็นการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยครับ โดยประเด็นหลักจะอยู่ที่การปรับโครงสร้าง “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย ซึ่งเจ้าตัว “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” นี้ จะถูกนำไปหักออกจากรายได้รวมของผู้มีรายได้ก่อน เพื่อคำนวณหา “เงินได้สุทธิ” ซึ่งเจ้าตัวเงินได้สุทธินี้เองครับ ที่จะถูกนำไปคำนวณกับอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อหามูลค่าภาษีที่ผู้มีรายได้แต่ละคนจะต้องจ่าย

จากวิธีการคำนวณภาษีดังกล่าว ประกอบกับข้อกำหนดในการหักค่าใช้จ่ายโดยปกติที่ระดับ 60,000 บาท และเงินลดหย่อนส่วนบุคคลอีก 30,000 บาท ทำให้ผู้ที่มีรายได้รวมอยู่ในระดับ 240,000 บาทต่อปี (หรือ 20,000 บาทต่อเดือน) ได้รับการยกเว้นภาษีโดยอัตโนมัติ เนื่องจากรายได้ 240,000 บาทต่อปี เมื่อนำไปหัก “ค่าใช้จ่าย” และ “เงินลดหย่อน” ดังกล่าวแล้วจะเหลือเป็น “เงินได้สุทธิ” ที่ระดับ 150,000 บาทต่อปี ตกอยู่ในชั้นอัตราภาษีที่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบัน พูดง่ายๆ ว่ากลุ่มคนที่มีรายได้ในระดับต่ำกว่าหรือเท่ากับ 20,000 บาทต่อเดือน ไม่ต้องจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้วครับ

จากข้อมูลที่ผมได้แสดงเอาไว้ในครั้งที่แล้ว ผู้มีรายได้ในระบบของประเทศไทยราว 60-70% นั้นไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้สิทธิเงินลดหย่อน เนื่องจากรายได้รวมของพวกเขาตกอยู่ในระดับต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน และได้รับการยกเว้นภาษีโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงขอเน้นย้ำไว้ตรงนี้อีกครั้งครับว่า การพูดถึงการปรับโครงสร้าง “เงินลดหย่อน” ของประเทศไทยในปัจจุบันนั้นจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้คนในระดับรากหญ้า บัณฑิตปริญญาตรีจบใหม่ที่มีรายได้ 15,000 บาทต่อเดือน หรือแรงงานด้อยฝีมือที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำแต่ประการใด พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้รับคุณรับโทษจากการปรับเพิ่มหรือปรับลดประเภท รวมไปถึงมูลค่าของเงินลดหย่อนในแต่ละรายการอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเรามีการกำหนดให้มี “เงินลดหย่อน” รวมอยู่ 17 รายการ โดยในจำนวน 17 รายการดังกล่าวมีลักษณะเป็นรายการชั่วคราวอยู่ 3 รายการ ซึ่งได้แก่ 1) เงินลดหย่อนในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อการซ่อมแซมบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 2) เงินลดหย่อนในส่วนของค่าใช้จ่ายเพี่อการซ่อมแซมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และ 3) เงินลดหย่อนตามสิทธิบ้านหลังแรก ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 5,000,000 บาท และจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 นี้ ซึ่งทั้ง 3 รายการนี้จะส่งผลกระทบต่อปีภาษี 2555–2559 เท่านั้นครับ และจะหมดอายุลงไป

ในขณะที่อีก 14 รายการที่เหลือจะมีลักษณะที่เป็นรายการถาวร โดยที่ผมจะขอแบ่งทั้ง 14 รายการออกเป็น 4 หมวดหลักตามความเห็นของผมเอง ดังนี้ครับ 1) เงินบริจาค 2) เงินลดหย่อนที่เกี่ยวพันกับค่าใช้จ่ายของผู้ที่อยู่ในอุปการะ 3) เงินลดหย่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตภายหลังการเกษียณอายุการทำงาน และ 4) เงินลดหย่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์อื่นๆ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าเงินลดหย่อนในส่วนของเงินบริจาคเป็นส่วนที่น่าจะมีปัญหาน้อยที่สุดครับ โดยเราอาจจะให้คงเงินลดหย่อนส่วนนี้ต่อไป เนื่องจากในมุมมองทางการคลังแล้ว เงินบริจาคนี้จะมีลักษณะใกล้เคียงกับ “ภาษี” อีกประเภทหนึ่งซึ่งผู้มีรายได้จะต้องจ่ายออกไป เพียงแต่ว่าภาษีประเภทนี้จะไม่ถูกนำส่งผ่านรัฐบาล แต่จะถูกนำส่งผ่านมูลนิธิหรือหน่วยงานประเภทอื่นๆ แทน โดยที่มูลนิธิหรือหน่วยงานเหล่านั้นจะต้องทำงานที่สอดคล้องหรือเป็นที่ต้องการตามที่กำหนดโดยรัฐบาล

ยกตัวอย่างเช่น เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษาจะมีลักษณะของเงินที่จะถูกใช้ไปกับการช่วยเหลือและพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งของรัฐบาลอยู่แล้ว แทนที่ผู้มีรายได้จะต้องจ่ายภาษีเพื่อให้รัฐบาลนำเงินภาษีดังกล่าว ไปใช้จ่ายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและยกระดับการศึกษาของประเทศไทย เงินบริจาคในส่วนนี้จะลงไปสู่หน่วยงานประเภทอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ในการพัฒนาหรือยกระดับการศึกษาของประเทศไทยโดยตรง ซึ่งก็น่าจะมีส่วนช่วยลดภาระของรัฐบาลในการทำหน้าที่ดังกล่าวลงได้ระดับหนึ่งครับ

ในส่วนที่สอง ที่เป็นส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูผู้ที่อยู่ในอุปการะนั้น ผมหมายรวมถึงเงินลดหย่อนส่วนบุคคลในส่วนของคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้ 30,000 บาท บุตรที่ศึกษาในประเทศคนละ 15,000 บาท บุตรที่ศึกษาอยู่ต่างประเทศคนละ 17,000 บาท บิดามารดาที่มีอายุเกินกว่า 60 ปีและไม่มีรายได้คนละ 30,000 บาท ค่าเลี้ยงดูคนพิการคนละ 60,000 บาท รวมไปถึงเบี้ยประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดาของผู้มีรายได้และคู่สมรส 15,000 บาท เป็นต้น

ประเด็นของเงินลดหย่อนในส่วนนี้น่าจะติดอยู่ตรงที่ ผู้ได้รับสิทธิลดหย่อนดังกล่าวจะเป็นผู้ที่มีรายได้ในระดับปานกลางถึงผู้มีรายได้สูงเท่านั้น เนื่องจากตามที่ผมกล่าวเอาไว้ในตอนต้นว่า ผู้ที่มีรายได้น้อยนั้นไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ จากเงินลดหย่อนประเภทต่างๆ อยู่แล้ว ในขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยเหล่านี้ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่มีภาระค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่อยู่ในอุปการะเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม มูลค่าของเงินลดหย่อนเหล่านี้แต่ละรายการ ซึ่งเป็นมูลค่าต่อปี ก็อยู่ในระดับที่ไม่ได้มากมายนักครับ ยกตัวอย่างเช่น ค่าเลี้ยงดูบุตรที่ศึกษาอยู่ในประเทศ 15,000 บาทต่อปีหรือ 1,250 บาทต่อเดือน เป็นต้น

ในส่วนที่สามจะเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตภายหลังเกษียณอายุการทำงาน ซึ่งผมหมายรวมถึง เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินสะสม กบข. เงินสะสมเข้ากองทุนประกันสังคม เงินได้ของผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 65 ปีส่วนเพิ่มเติมอีกไม่เกิน 190,000 บาท เป็นต้น

ตามหลักการแล้วเงินลดหย่อนในส่วนนี้จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับหน้าที่สำคัญของรัฐบาลอีกประการหนึ่งเช่นเดียวกันครับ นั่นคือ หน้าที่ในการให้การบริบาลหรือเลี้ยงดูผู้สูงอายุหรือผู้ที่เกษียณอายุจากการทำงานแล้ว โดยรัฐบาลมีทางเลือกอยู่ 2 ทางในการทำหน้าที่ดังกล่าว ได้แก่ รัฐบาลเลือกที่จะใช้จ่ายเพื่อเลี้ยงดูผู้สูงอายุเอง หรือรัฐบาลอาจส่งเสริมให้ประชาชนแต่ละคนเก็บออมเงินเพื่อเลี้ยงดูตนเองในอนาคต เงินลดหย่อนในส่วนนี้น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับทางเลือกที่สอง ที่รัฐบาลต้องการจูงใจให้ประชาชนเก็บออมเงินเอาไว้ใช้จ่ายในยามเกษียณอายุ ที่จะนำมาซึ่งการลดภาระการพึ่งพิงรัฐบาลในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นของเงินลดหย่อนดังกล่าว จะอยู่ที่การให้สิทธิกับผู้ที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงเพิ่มเติมไปจากผู้ที่มีรายได้น้อยเช่นเดียวกันครับ ซึ่งประเด็นนี้อาจจะไม่น่ากังวลมากเท่าไหร่ ในกรณีที่สิทธิเงินลดหย่อนดังกล่าวอยู่ในระดับพอดี ที่จะทำให้ผู้ออมเงินแต่ละคนมีเงินพอประทังชีวิตในวัยเกษียณ โดยที่ระดับค่าใช้จ่ายที่เพียงพอต่อการประทังชีวิตในวัยเกษียณนั้น ก็เป็นประเด็นที่ควรจะต้องมีการพูดคุยกันในวงกว้างเช่นเดียวกันครับ ก่อนที่จะมีการปรับโครงสร้างเงินลดหย่อนในส่วนนี้

แต่ตัวอย่างที่เราน่าจะสังเกตได้ชัด อยู่ที่เงินลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF ซึ่งในปัจจุบันได้มีการกำหนดสิทธิเงินลดหย่อนเอาไว้ในระดับ 15% ของรายได้รวม แต่ไม่เกิน 500,000 บาทเมื่อรวมกับเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพประเภทอื่นๆ เงินสะสมเข้า RMF นี้น่าจะเป็นส่วนที่มากเกินกว่าการประทังชีวิตในวัยเกษียณพอสมควรครับ โดยในกรณีของผู้มีรายได้ที่ระดับ 50,000 บาทต่อเดือน หรือ 600,000 บาทต่อปี สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเงินสะสมในส่วนนี้ได้ 90,000 บาทต่อปี ผมสมมุติว่าผู้มีรายได้คนนี้เริ่มใช้สิทธิ RMF ตั้งแต่อายุ 35 ปีไปจนกระทั่งถึงอายุ 60 ปี ในอัตราคงที่ 90,000 บาทต่อปี โดยผลตอบแทนของกองทุนอยู่ที่ 2.5% ต่อปี จะทำให้เขามีเงินเก็บเฉพาะในส่วนของ RMF อยู่ที่ราว 3.32 ล้านบาท ทั้งนี้ยังไม่นับรวมเงินเก็บส่วนอื่นๆ ที่เขาอาจมีสะสมเอาไว้ด้วยครับ

แน่นอนว่ากลุ่มผู้มีรายได้ในระดับสูงก็จะยิ่งได้เปรียบกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำกว่า โดยผู้ที่จะใช้สิทธิ RMF ได้ในวงเงินระดับ 300,000 บาทจะต้องเป็นผู้ที่มีรายได้รวมอยู่ในระดับ 2 ล้านบาทต่อปี และเงินสะสมดังกล่าวที่อัตราผลตอบแทน 2.5% ต่อปี จะกลายเป็นเงินราว 3.45 ล้านบาทในเวลา 10 ปีครับ ทั้งนี้จะต้องจำไว้เสมอนะครับว่า ผู้มีรายได้น้อยหรือผู้คนระดับรากหญ้าไม่มีสิทธิได้รับประโยชน์จากเงินลดหย่อนส่วนนี้

ท้ายที่สุด ผมขอเปลี่ยนหัวข้อการพูดคุยไปที่เงินลดหย่อนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์อื่นๆ เช่น เงินลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เพื่อส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้น เบี้ยประกันชีวิต และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและการประกันชีวิต หรือดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อการมีที่อยู่อาศัย เพื่อลดภาระ (ของผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายได้สูง) ในการซื้อที่อยู่อาศัยของตนเอง เป็นต้น

เงินลดหย่อนในส่วนนี้น่าจะมีปัญหามากที่สุดในเชิงหลักการ เนื่องจากวัตถุประสงค์ของเงินลดหย่อนเหล่านี้ยังไม่ค่อยชัดเจนนักครับ ว่ามีความสอดคล้องกับหน้าที่อันพึงกระทำของรัฐบาลบ้างหรือไม่ ในขณะที่ลักษณะของเงินลดหย่อนในส่วนนี้จะมีความใกล้เคียงกับเงินออมหรือการสะสมสินทรัพย์อย่างชัดเจน การเพิ่มแรงจูงใจในการออมเงินหรือการสะสมสินทรัพย์นี้ อาจนำมาซึ่งการเพิ่มระดับความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจให้กับสังคมไทยในอนาคตได้ครับ

ไม่เพียงแต่วัตถุประสงค์ของเงินลดหย่อนเหล่านี้เท่านั้นที่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหา แต่ว่ามูลค่าของเงินลดหย่อนในส่วนนี้ยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากครับเมื่อเทียบกับข้อมูลการกระจายรายได้ในสังคมไทยที่เราได้เห็นกันไปในตอนที่แล้ว เฉพาะในส่วนของ LTF มีการกำหนดเอาไว้ที่ 15% ของรายได้รวม โดยที่มีเพดานสูงสุดอยู่ที่ระดับ 500,000 บาท ประกันชีวิตรวมถึงประกันชีวิตแบบบำนาญ และเงินลดหย่อนดอกเบี้ยบ้าน จะเพิ่มเพดานสูงสุดเข้าไปอีก 300,000 บาท รวมเป็น 800,000 บาทต่อปี

เงินในส่วนนี้สร้างความสงสัยตามมาครับ ว่าผู้ที่มีรายได้ที่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนในระดับนี้ได้ ถ้าไม่เอาเงินส่วนนี้ไปออมหรือไปสะสมสินทรัพย์อยู่แล้ว พวกเขาจะเอาเงินก้อนนี้ไปทำอะไร และถ้าหากพวกเขาจะเอาเงินก้อนนี้ไปออมหรือสะสมทรัพย์สินอยู่แล้ว ทำไมโครงสร้างภาษีของประเทศไทยจะต้องสร้างแรงจูงใจให้พวกเขานำเงินไปออมหรือสะสมทรัพย์สินเพิ่มเติมเข้าไปอีก

ผมยังมีประเด็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทยอีกครับ โดยจะขอนำไปพูดคุยกับทุกท่านในตอนหน้า