ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ ตายยาก: ผลวิจัยพบการเมืองครอบงำ ‘แบงก์ชาติ-ตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต.’ (2)

‘ทุจริตเชิงนโยบาย’ ตายยาก: ผลวิจัยพบการเมืองครอบงำ ‘แบงก์ชาติ-ตลาดหลักทรัพย์-ก.ล.ต.’ (2)

20 กรกฎาคม 2012


ที่มาภาพ : http://www.siamintelligence.com
ที่มาภาพ : http://www.siamintelligence.com

รายงานวิจัยการศึกษาเชิงลึก เรื่อง “รูปแบบการทุจริตเชิงนโยบาย” ของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มี ผศ.ดร.นนทวัชร์ นวตระกูลพิสุทธิ์ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าทีม พร้อมด้วย รศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ นักวิจัยอาวุโส และนักวิชาการอีก 3 คน มีการหยิบยกเงื่อนงำกรณีที่ส่อเค้าทุจริตเชิงนโยบายหลายรูปแบบ

หนึ่งในนั้นคือ การแต่งตั้งคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2551 โดยทีมวิจัยมีการหยิบยกข้อมูล ข้อเท็จจริง สรุปให้เห็นรูปแบบ กระบวนการ วิธีการ และกลยุทธ์ต่างๆ ในการตั้งคณะกรรมการ ธปท., ก.ล.ต. และ ตลท.

ผลการวิจัยระบุว่า”กลุ่มการเมืองต้องการกุมอำนาจหน่วยงานที่บริหารเศรษฐกิจทั้งหมด ตั้งแต่กระทรวงการคลัง ไปถึง ธปท., ก.ล.ต. และ ตลท. ที่ล้วนเป็นองค์กรที่สำคัญในการกำหนดนโยบายการเงินการลงทุนของประเทศ โดยไม่คำนึงถึงข้อกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลที่เกี่ยวข้องแม้แต่น้อย”

ต้นปี 2550 มีการแก้ไขกฎหมายจัดตั้ง ธปท. และ ก.ล.ต. เพื่อปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้มีการดำเนินงานที่มีหลักธรรมาภิบาลมากขึ้น โดยในส่วนของ ก.ล.ต. ได้ เปลี่ยนแปลงโครงสร้างกรรมการ จากที่ รมว.คลัง นั่งเป็นประธาน ซึ่งมีปัญหาว่าเป็นช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานของ ก.ล.ต. จึงมีการเปลี่ยนให้แต่งตั้งบุคคลภายนอกมานั่งในตำแหน่งนี้แทน

ส่วน ธปท. ที่เดิมผู้ว่าการ ธปท. นั่งเป็นประธาน ธปท. ก็ปรับเปลี่ยนให้มีการสรรหาประธานและกรรมการจากคนนอกเช่นกัน แต่ปรากฏว่าการปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าว ยังคงเป็นช่องให้ฝ่ายการเมืองส่งคนเข้ามาแทรกแซงการทำงานขององค์กรทั้งสองแห่ง

ผลการวิจัยชี้ว่าการตั้งกรรมการดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นกรรมการสรรหา กรรมการที่ได้รับการสรรหา ล้วนเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับฝ่ายการเมืองอย่างใกล้ชิด

รายงานวิจัยระบุว่าปัญหาความไม่เป็นกลางของการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธปท. และการแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.ล.ต.เมื่อพิจารณารูปแบบขั้นตอนและวิธีดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และการแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติในกรณีศึกษาทั้งสองกรณี จะเห็นได้ว่า นอกจากการดำเนินกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และคณะกรรมการ ก.ล.ต. เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันอย่างมาก และกระทำในลักษณะที่มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างเห็นได้ชัดแจ้ง การดำเนินการยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นกลางของการดำเนินกระบวนการแต่งตั้ง ดังนี้

1.การดำเนินกระบวนการแต่งตั้งกรรมการในหน่วยงานทั้งสองแห่ง มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างชัดแจ้ง

ความเกี่ยวเนื่องกันหรือความเชื่อมโยงระหว่างกันที่เห็นได้ชัดเจนในการดำเนินกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และการแต่งตั้งคณะกรรมการ ก.ล.ต. คือ กรณีที่ “กรรมการคัดเลือก” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และ “กรรมการคัดเลือก” กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

ในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วย “บุคคลเดียวกัน” ถึงสามคน กล่าวอีกนัยหนึ่ง มีบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการคัดเลือกทั้งในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และในการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ถึงสามคน ได้แก่ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ และนายสมใจนึก เฮงตระกูล

นอกจากกรรมการคัดเลือกทั้งสามคนซึ่งเป็นกรรมการคัดเลือกทั้งสองชุดดังกล่าวแล้ว บุคคลที่เป็นกรรมการคัดเลือกทุกคน ทั้งในกรณีกรรมการคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และกรณีกรรมการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ล้วนเป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกลุ่มการเมืองอย่างชัดแจ้ง และในส่วนที่เกี่ยวกับกรรมการ ก.ล.ต. บุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ก.ล.ต. ก็เป็นบุคคลที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดตัวไว้แล้ว

2.การดำเนินกระบวนการแต่งตั้งกรรมการในหน่วยงานทั้งสองแห่งนั้นนำมาซึ่งปัญหาความไม่เป็นกลางของกระบวนการ

ด้วยเหตุที่กรรมการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และกรรมการคัดเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกอบด้วยบุคคลที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกลุ่มการเมืองดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่าบุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแต่ละชุดดังกล่าว ย่อมต้องเป็นบุคคลที่มีความคุ้นเคยหรือใกล้ชิดสนิทสนมกับกรรมการคัดเลือก หรือเป็นบุคคลที่กลุ่มการเมืองกำหนดตัวมาล่วงหน้าแล้ว

ดังจะเห็นได้ตามข้อเท็จจริงในกรณีศึกษาทั้งสองเรื่องดังกล่าวข้างต้นว่า กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. ที่ผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการคัดเลือก ล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกลุ่มการเมือง เป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้นเช่น นายพรชัย นุชสุวรรณ ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการ ธ.ป.ท. ในอดีตเคยเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษา พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร หรือ นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงตามสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ภายหลังจากที่ถูกไล่ออกจากราชการอันเนื่องมาจากการรับสินบนจากบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในการประมูลพัฒนาที่ดินราชพัสดุตลาดหมอชิต ยังสามารถกลับเข้ารับราชการใหม่ได้โดยอำนาจของกลุ่มการเมืองซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในขณะนั้น

ในกรณีของการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. เป็นที่น่าสังเกตว่าบุคคลที่ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอต่อคณะกรรมการคัดเลือก ซึ่งล้วนแต่เป็นบุคคลที่มีความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องโดยตรง และเป็นที่ยอมรับของสังคมโดยทั่วไป กลับมิได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการคัดเลือกที่มีนายวิจิตร สุพินิจ เป็นประธานกรรมการแต่อย่างใด

นายวิจิตร สุพินิจ ที่มาภาพ : http://mcot-image01.mcot.gtis.co.th
นายวิจิตร สุพินิจ ที่มาภาพ : http://mcot-image01.mcot.gtis.co.th

นอกจากนี้ ยังปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งด้วยว่า กรรมการคัดเลือกบางคนดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารในสถาบันการเงินหรือบริษัทเอกชนต่าง ๆ ที่มีส่วนได้เสียซึ่งส่งผลกระทบต่อหลักความเป็นกลางในการดำเนินกระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าว

ด้วยเหตุนี้ จึงอาจกล่าวได้ว่าปัญหาการดำเนินกระบวนการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณุวุฒิในคณะกรรมการ ก.ล.ต. มีสภาพที่ขาดความเป็นกลางในการดำเนินกระบวนการอย่างเห็นได้ชัด และน่าจะขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 อันจะส่งผลให้กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธ.ป.ท. ไม่ชอบด้วยกฎหมายและเสียไป

เพราะเหตุดังกล่าวที่ทำให้ผู้ตรวจการแผ่นดินวินิจฉัยว่ากระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการ ธ.ป.ท. เป็นการดำเนินกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยกเลิกการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ ธ.ป.ท. และดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิชุดใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งระงับการทูลเกล้าฯ เพื่อทรงแต่งตั้งประธานกรรมการ ธ.ป.ท.

อนึ่งกระบวนการการตั้งกรรมการ ก.ล.ต. เริ่มในเดือน เม.ย. 2551 นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.คลังในขณะนั้น ได้แต่งตั้งนายวิจิตร สุพินิจ อดีตผู้ว่าการ ธปท. เป็นประธาน ก.ล.ต. ทั้งที่นายวิจิตรนั่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท จีสตีล จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ โดยนายวิจิตรไม่ยอมไม่ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว แม้จะมีคนท้วงติงว่าฝ่ายกำกับไม่ควรไปนั่งอยู่ในองค์กรที่ตัวเองกำกับ เพราะถือว่ามีผลประโยชน์ขัดแย้งกัน

ต่อมาเดือน พ.ค. 2551 นพ.สุรพงษ์ ยังได้แต่งตั้งนายนิพัทธ พุกกะณะสุต เป็นประธานกรรมการสรรหา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ก.ล.ต. ทั้งที่นายนิพัทธมีประวัติถูกไล่ออกจากราชการกรณีทุจริตต่อหน้าที่รับสินบน 30 ล้านบาท จากโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุหมอชิตสมัยที่เป็นอธิบดีกรมธนารักษ์

นอกจากนี้ นายนิพัทธยังมีคดีถูกธนาคารออมสินฟ้องร้องสมัยนายนิพัทธนั่งเป็นประธานออมสิน และนำเงินของธนาคาร 500 ล้านบาทไปลงทุนซื้อหุ้นธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การ หรือ บีบีซี และเกิดความเสียหายทั้งหมด โดยการไปซื้อหุ้นดังกล่าวได้รับการร้องขอจากนายวิจิตรที่เป็นผู้ว่าการ ธปท. ในขณะนั้น และต่อมาหลังจากนั้น นายวิจิตรก็ต้องลาออกจากตำแหน่งผู้ว่า ธปท. เพราะถูกกดดันจากสังคมว่ามีส่วนได้เสียกับการเพิ่มทุนธนาคารกรุงเทพฯพาณิชยการหรือบีบีซี เพราะมีการตรวจพบว่า นายวิจิตรไปเปิดบัญชีกู้เงินโอดีกับธนาคารบีบีซีในระหว่างที่เพิ่มทุน

นอกจากนี้ กรรมการสรรหากรรมการ ก.ล.ต. ยังมีนายสมใจนึก เองตระกูล อดีตปลัดกระทรวงการคลัง ที่ถูกคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ชี้มูลความผิดคดีโครงการออกสลากพิเศษแบบเลขท้ายสามตัวและสองตัว และภายหลังศาลตัดสินว่ามีความผิดให้จำคุก 2 ปี แต่ให้รอลงอาญา

ผลการสรรหากรรมการ ก.ล.ต. ยังปรากฏว่า หนึ่งในผู้รับเลือกคือ นางพรรณี สถาวโรดม อดีตผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ซึ่งเป็นลูกน้องคนสนิทของนายนิพัทธ สมัยรับราชการที่กระทรวงการคลัง

หลังจากได้คณะกรรมการ ก.ล.ต. ครบชุด ก็ได้ปฏิบัติภารกิจแรก โดยการแต่งตั้ง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. อีกหนึ่งสมัย ซึ่งนายธีระชัยเป็นผู้ที่ถูกมองว่าช่วยเหลือการซื้อขายหุ้นของคนในตระกูลชินวัตร โดยเฉพาะการซื้อขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป จำนวน 7.2 หมื่นล้านบาท ที่มีประเด็นเรื่องไม่จ่ายภาษี รวมทั้งประเด็นข้อกล่าวหาการใช้ข้อมูลอินไซเดอร์ในการซื้อขาย ซึ่งหากมีความผิดจะถูกปรับ 2-3 เท่า ของมูลค่าการซื้อขาย ในขณะนั้นนายธีระชัย ได้ออกมายืนยันว่าการซื้อขายดังกล่าวไม่มีการใช้ข้อมูลอินไซด์เดอร์ ทำให้ครอบครัวชินวัตรไม่ถูกปรับ

นายธีระชัย ภูนาถนรานุบาล ที่มาภาพ :  http://www.bangkokbiznews.com
นายธีระชัย ภูนาถนรานุบาล ที่มาภาพ : http://www.bangkokbiznews.com

ต่อมายังพบว่า นายวิจิตรและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของ ก.ล.ต. ซึ่งนายนิพัทธเป็นผู้คัดเลือกมา ได้มีมติแต่งตั้งให้นายนิพัทธนั่งเป็นกรรมการ ตลท. ทำให้ถูกมองว่าเป็นผลประโยชน์ตอบแทนสลับกันไปมา

ส่วนทางด้านการสรรหากรรมการ ธปท. หน่วยงานที่ดูแลตลาดเงินของประเทศ ผลการวิจัยก็ระบุว่า มีการถูกครอบงำจากฝ่ายการเมืองด้วยคนกลุ่มเดียวกันกับที่ทำครอบงำการบริหาร ก.ล.ต. และ ตลท. โดยในเดือน มี.ค. 2551 นพ.สุรพงษ์แต่งตั้งให้นายวิจิตรเป็นประธานกรรมการสรรหาประธาน และกรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิของ ธปท.

กรรมการสรรหาชุดดังกล่าวยังประกอบด้วยนายนิพัทธ นายสมใจนึก ที่เคยเป็นประธานและกรรมการสรรหา ก.ล.ต. มาก่อนหน้านี้

นอกจากนั้น ยังมี นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ อดีตผู้ว่า ธปท. นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ที่ขณะนั้นนั่งเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ อธิบดีกรมศุลกากรในขณะนั้น และ นายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และประธานกรรมการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงก์ สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี และให้เอสเอ็มอีแบงก์ปล่อยกู้ตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้

ดังที่กล่าวมาข้างต้นกรรมการสรรหา ธปท. ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่มีความเหมาะสม เพราะมีการตั้งคนมีคดีติดตัวขัดหลักธรรมาภิบาล และยังมีกรรมการบางคนที่ขัดระเบียบของการเป็นกรรมการสรรหา เพราะมีส่วนได้เสีย ในกรณีของนายวิจิตร ที่นั่งเป็นประธานกรรมการตรวจสอบธนาคารทหารไทย นายสถิตย์ ที่เป็นประธานกรรมการธนาคารทหารไทย และ นายชัยวัฒน์ ที่เป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย

อย่างไรก็ตาม ในเดือน ก.ค. 2551 กรรมการสรรหาได้เลือกนายพรชัย นุชสุวรรณ อดีตที่ปรึกษาอดีตนายกทักษิณ เป็นประธานกรรมการ ธปท.

ขณะที่กรรมการ ธปท. มี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นายวุฒิพันธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด ซึ่งทั้ง 3 คน ล้วนมีความใกล้ชิดกับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

นอกจากนี้ กรรมการ ธปท. ที่ได้รับการคัดเลือกที่เหลือ คือ นายคณิศ แสงสุพรรณ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจการคลัง (สวค.)ซึ่งเคยทำงานใกล้ชิดนายโอฬาร ไชยประวัติ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน จนถึงรัฐบาลพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน

ในกรรมการ ธปท. ที่รับการคัดเลือก มีเพียงนายจรุง หนูขวัญ อดีตรองผู้ว่าการ ธปท. ที่เป็นคนนอกสายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ คนเดียวที่เข้ามาเป็นกรรมการ ธปท. ครั้งนั้น

อย่างไรก็ตามในรายงานิจัยระบุว่าการตั้งกรรมการ ธปท. ต้องมาสะดุดเมื่อนายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ในขณะนั้น ได้ยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาตรวจสอบว่าการตั้งคณะกรรมการ ธปท. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะกรรมการสรรหาที่ตั้งขึ้นมาขาดคุณสมบัติ คือ นายวิจิตร นายสถิตย์ และนายชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นกรรมการในธนาคารพาณิชย์ และมาเป็นกรรมการคัดสรรกรรมการที่เป็นองค์กรกำกับธนาคารพาณิชย์ จึงมีเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ขัดระเบียบการเป็นกรรมการสรรหา

ผลสรุปของผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า เรื่องดังกล่าวมีเป็นข้อเท็จจริง มีคำสั่งเพิกถอนการตั้งกรรมการ ธปท. ดังกล่าวในที่สุด

นายกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลขณะนั้นรู้ดีว่า การตั้งกรรมการ ธปท. ไม่ถูกต้องทั้งกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล แต่ไม่ฟังเสียงค้านจากฝ่ายต่างๆ ทำให้ต้องยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบ และผลสอบก็ออกมาว่ารัฐบาลขณะนั้นทำไม่ถูกต้อง

นายกรณ์กล่าวว่า หลังจากที่ได้เป็นรัฐบาล และดำรงตำแหน่งเป็น รมว.คลัง ก็ได้ยื่นหนังสือไปยัง ก.ล.ต. กล่าวถึงเรื่องความเหมาะสมในการตั้งนายนิพัทธเป็นกรรมการ ตลท. เพราะขณะนั้นนายนิพัทธถูกศาลอุทธรณ์ตัดสินว่าทำให้ธนาคารออมสินเสียหายจากการนำเงินไปลงทุนซื้อหุ้นธนาคารบีบีซี แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากทั้งนายธีระชัยและนายวิจิตร เพราะเป็นที่รู้กันว่า ทั้งหมดมาจากการเมืองขั้วเดียวกันและมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันให้ได้นั่งในตำแหน่งในองค์กรทางการเงินต่างๆ ของประเทศ

นอกจากนี้ยังเคยทำหนังสือถึงนายธีระชัย ให้ตรวจการแจ้งข้อมูลหุ้นเป็นเท็จของคนในครอบครัวชินวัตร ก็ไม่ได้รับความร่วมมือเช่นกัน โดยเลขาธิการ ก.ล.ต. จะยืนยันว่าดำเนินการแล้วไม่พบความผิดทุกครั้ง

ขณะที่ ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจการเมือง ให้ความเห็นว่า การตั้งกรรมการองค์กรกำกับการเงินของประเทศดังกล่าวมีปัญหาเรื่องธรรมาภิบบาล เพราะประเทศไทยมองเรื่องธรรมาภิบาลแบบแคบๆ ว่า การดำเนินการทำตามระเบียบหรือ กฎหมาย ก็เป็นเรื่องที่มีธรรมาภิบาล ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะธรรมาภิบาลต้องมองมากกว่านั้น เป็นเรื่องถูกผิด ควรไม่ควร หรือ ดีไม่ดี

ดร.สมชายยกตัวอย่างว่า ธรรมาภิบาลในต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากทำตามกฎระเบียบกฎหมายให้ถูกต้องแล้ว ยังต้องมีการตรวจสอบประวัติของบุคคลที่จะมานั่งเป็นกรรมการขององค์กรที่สำคัญๆ ว่ามีปัญหาถูกฟ้องร้องหรือไม่ มีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือเคยทุจริตคอรัปชั่นหรือไม่ หากมีปัญหาเรื่องดังกล่าว จะมีปัญหาที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งทันที เพราะถือว่าจะทำให้องค์กรนั้นเสียธรรมาภิบาล

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการอิสระรายนี้ยอมรับว่า เป็นเรื่องอยากที่จะทำให้นักการเมืองไทยมีหลักธรรมาภิบาลในการตั้งคนเข้าไปนั่งในองค์กรการเงินต่างๆ เพราะเรื่องธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของจิตสำนึก ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย การไม่มีธรรมาภิบาลไม่สามารถไปเอาผิดอะไรได้

รัฐบาลยิ่งลักษณ์วังวนเดิม ตัวละครเก่ากลับมามีอำนาจ

ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ซ้าย)และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวร่วมแถลงประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มาภาพ : http://www.siamintelligence.com
ดร.วีรพงษ์ รามางกูร (ซ้าย)และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อคราวร่วมแถลงข่าวแต่งตั้งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) ที่มาภาพ : http://www.siamintelligence.com

แม้ว่าวันนี้จะมีผลวิจัยสรุปออกมาว่า การแต่งตั้งกรรมการ ธปท., ก.ล.ต. และ ตลท. ในปี 2551 เป็นการ “ครอบงำ” องค์กรทางการเงินของประเทศจากฝ่ายการเมือง แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีกลไกในการยับยั้งให้ฝ่ายการเมืองเข้า “แทรกซึม” องค์กรทางการเงินของประเทศ เพื่อ “แทรกแซง” นโยบายเศรษฐกิจอย่างชัดเจน

จะเห็นว่า ในปัจจุบัน หน่วยงานทางตลาดเงิน ตลาดทุน ของประเทศยังมีตัวละครเดิมๆ ที่มีปัญหาในอดีตเข้ามาในฉาก เพียงแต่ทำแบบแนบเนียนมากขึ้น

ไม่ว่าจะเป็น นายนิพัทธ พุกกะณะสุต ที่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ตั้งให้เป็นคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดแผนการลงทุนโครงการน้ำหลายแสนล้านบาทของประเทศ

ขณะเดียวกันนายนิพัทธ ก็ได้ผลักดัน นางพรรณี สถาวโรดม ลูกน้องเก่าที่นายนิพัทธ คัดเลือกให้ไปนั่งเป็นกรรมการ ก.ล.ต. ให้ไปนั่งกุมบังเหียนเป็นประธานกรรมการธนาคารออมสิน ที่กำลังมีคดีฟ้องนายนิพัทธอยู่ขณะนี้ และยังถือเป็นการเข้าไปครอบงำการบริหารงานสถาบันการเงินของรัฐให้เป็นแขนขาของรัฐเพื่อปล่อยสินเชื่อสนองนโยบายต่างๆ

นอกจากนี้ รัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ยังแต่งตั้งนายวีรพงษ์ รามางกูร เป็นประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ (กยอ.) คลอดแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2.27 ล้านล้านบาท

หลังจากนายวีรพงษ์คลอดแผนลงทุนประเทศไทยวงเงินมหาศาล รัฐบาลก็ผลักดันนายวีรพงษ์ ไปนั่งเป็นประธานกรรมการ ธปท. ทั้งที่ก่อนหน้านายวีรพงษ์มีความเห็นสวนทางกับ ธปท. หลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนโยบายอัตราดอกเบี้ย นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ เงินคลังหลวง ออกมาลงทุน

หรือกรณีล่าสุด รัฐบาลตั้งนายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุด ที่เป็นหนึ่งในกรรมการ ธปท. เมื่อปี 2551 ชุดที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาสั่งให้เป็นโมฆะ ไปนั่งเป็นประธาน ก.ล.ต. หลังจากที่ก่อนหน้านี้ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้เห็นชอบให้ นายวรพล โสคติยานุรักษ์ ไปเป็นเลขาธิการ ก.ล.ต. แซงหน้าตัวเต็งที่เป็นคนใน “ลูกหม้อ” ก.ล.ต.

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า กระบวนการครอบงำองค์กรทางตลาดเงิน-ตลาดทุนของประเทศของฝ่ายการเมืองยังดำรงอยู่ เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบายหาผลประโยชน์ให้กับพวกพ้องตัวเองได้ต่อไป