ThaiPublica > เกาะกระแส > “รสนา-สภาธรรมาภิบาล” จี้รัฐรื้อค่าสัมปทานใหม่ ระบุประมูลแหล่งพลังงานปิโตรเลียมถูกมาก เผย 12 ก.ค. เตรียมไฟเขียว 22 แปลง

“รสนา-สภาธรรมาภิบาล” จี้รัฐรื้อค่าสัมปทานใหม่ ระบุประมูลแหล่งพลังงานปิโตรเลียมถูกมาก เผย 12 ก.ค. เตรียมไฟเขียว 22 แปลง

3 กรกฎาคม 2012


พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาลมายื่นหนังสือคัดค้าน การให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมแก่ภาคเอกชนจำนวน 21 แปลง
พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาลมายื่นหนังสือคัดค้าน การให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมแก่ภาคเอกชนจำนวน 21 แปลง

เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2555 พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาล มายื่นหนังสือคัดค้านการให้สัมปทานสำรวจปิโตรเลียมแก่ภาคเอกชนรอบที่ 21 จำนวน 22 แปลงของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติต่อ น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล เพื่อขอให้คณะกรรมาธิการช่วยตรวจสอบข้อมูล และยับยั้งการให้สัมปทานปิโตรเลียมแก่ภาคเอกชน ที่กำลังจะจัดให้มีขึ้นในเดือนกรกฏาคม 2555

น.ส.รสนากล่าวว่า เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2555 กรมเชื้อเพลิงพลังงานธรรมชาติได้ออกประกาศ กำหนดเขตพื้นที่แปลงสำรวจปิโตรเลียมทั้งบนบกและอ่าวไทยจำนวน 22 แปลง ขณะที่ราคาปิโตรเลียมในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลเรียกเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมกับเอกชนในอัตรา 5-15% ของมูลค่าปิโตรเลียม และถ้านำค่าภาคหลวงปิโตรเลียมมารวมกับภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่เก็บอยู่ในอัตรา 50% ของกำไรสุทธิ ในแต่ละปีรัฐจัดเก็บรายได้ไม่ถึง 30% ของมูลค่าปิโตรเลียม ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก

น.ส.รสนากล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการธิการฯ จึงเสนอให้กระทรวงพลังงานปรับขึ้นค่าภาคหลวงปิโตรเลียม แต่กระทรวงพลังงานบอกว่า “ทำไม่ได้ เพราะสัญญาสัมปทานฯ มีอายุ 20-30 ปี ระหว่างนี้เปลี่ยนแปลงแก้ไขอะไรไม่ได้เลย” ดังนั้น กรณีที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นขอสัมปทานครั้งใหม่นี้ น่าจะถือเป็นจังหวะที่ดี กระทรวงพลังงานควรจะมีการทบทวนค่าภาคหลวงปิโตรเลียมใหม่ ก่อนที่จะมีการให้สัมปทานแก่เอกชน ซึ่งในวันที่ 12 กรกฏาคม 2555 คณะกรรมาธิการฯ จะเชิญนายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาชี้แจงเรื่องนี้ และหารือเรื่องราคาพลังงานด้วย

แผนที่สัมปทานพลังงานครั้งที่ 21

หากดูตามแผนที่ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ พบว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานเป็นจำนวนมาก แปลงที่มีสีเหลือง สีส้ม สีฟ้า และสีเขียว คือแปลงที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกำลังจะเปิดให้เอกชนเข้ามายื่นขอสัมปทานใหม่ (ครั้งที่ 21) ส่วนแปลงที่ไม่มีสี คือแปลงที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติให้สัมปทานไปแล้ว โดยพื้นที่ที่เปิดให้สัมปทานส่วนใหญ่อยู่ภาคอิสาน ส่วนในทะเลมีอยู่เล็กน้อย

จากผลการสำรวจขององค์กรที่มีชื่อว่า “Energy information administration” ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติเป็นอันดับ 23 ของโลก อยู่ในลำดับที่สูงกว่าประเทศบรูไน ส่วนน้ำมันดิบผลิตได้เป็นอันดับ 35 ของโลก ซึ่งเหนือกว่าบรูไนอีกเช่นกัน และเมื่อเร็วๆ นี้มีเว็บไซต์ของกลุ่มประเทศโอเปค ระบุว่าประเทศไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 5 ของกลุ่มโอเปค ข้อมูลดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานในปริมาณที่มาก

แต่ปรากฏว่าราคาก๊าซที่บริษท ปตท. ขายให้กับประชาชนกลับมีราคาขายสูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ซึ่งการปรับขึ้นราคาก๊าซรรมชาติครั้งนี้ เป็นสาเหตุที่ทำให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ต้องปรับค่าไฟฟ้าขึ้นไปยูนิตละ 30 สตางค์

อย่างไรก็ตาม ช่วงนี้รัฐบาลชะลอการปรับขึ้นราคาก๊าซ ทั้งเอ็นจีวีและแอลพีจี แต่คณะกรรมาธิการก็ได้ตั้งข้อสังเกตุว่า เดิมทีรัฐบาลปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกิโลกรัมละ 1 บาท ซึ่งภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใช้ก๊าซแอลพีจีมากกว่าภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมทั่วไป หากปรับขึ้นราคาแอลพีจีที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 1 บาท จะทำให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีรายได้เพิ่มขึ้น 2,400 ล้านบาทต่อปี ดังนั้น หากไม่ขึ้นราคาแอลพีจีในภาคปิโตรเคมี ถือว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบางบริษัทหรือไม่ เป็นประเด็นที่คณะกรรมาธิการฯกำลังตรวจสอบอยู่

พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาล
พญ.กมลพรรณ ชีวพันธ์ศรี ประธานเครือข่ายสภาธรรมาภิบาล

ด้าน พญ.กมลพรรณกล่าวว่า จากข้อมูลของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ประเทศไทยมีแหล่งพลังงานเป็นจำนวนมาก ทั้งบนบกและในทะเลอ่าวไทย ในปี 2553 ภาคเอกชนมีรายได้จากสัมปทานประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่รัฐบาลได้ค่าสัมปทานฯ 4-5 หมื่นล้านบาทเท่านั้น หากเปรียบเทียบกับประเทศมาเลเซียและอินโดนิเซีย ถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก ค่าภาคหลวงปิโตรเลียมที่เก็บในอัตรา 5-15% ซึ่งเป็นอัตราที่ทำกันไว้เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา การให้สัมปทานฯ กับบริษัทต่างชาติและภาคเอกชนรอบใหม่นี้ หากไม่มีการทบทวนอัตราค่าภาคหลวงฯ ใหม่จะยิ่งทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม

“อย่างการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าครั้งที่ผ่านมา ยูนิตละ 30 สตางค์ ก็เป็นผลมาจากการที่บริษัท ปตท. ปรับขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวี ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ที่มีฐานะยากจนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงขึ้น ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีรายได้เพิ่มขึ้นปีละ 4-5 หมื่นล้านบาท แต่สุดท้ายผู้ที่ได้รับประโยชน์ตัวจริง คือบริษัท ปตท.”พญ.กมลพรรณ กล่าว

พญ.กมลพรรณกล่าวต่อไปอีกว่า ประเด็นที่เครือข่ายสภาธรรมาภิบาลสงสัยคือ ทำไม ปตท. ขายก๊าซเอ็นจีวีให้กับ กฟผ. ในราคาที่แพงกว่าขายให้โรงไฟฟ้าเอกชน รวมไปถึงค่าผ่านท่อก๊าซ ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 2 กรกฏาคม 2555 เครือข่ายสภาธรรมาภิบาล จึงมายื่นหนังสือต่อวุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ทั้งหมด และในวันเดียวกันนั้น ก็ไปยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อขอให้สั่งระงับการประมูลแหล่งพลังงานครั้งที่ 21 และควรแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 และ 85 (4) ก่อนที่จะดำเนินการเปิดประมูลแหล่งพลังงานใหม่