ThaiPublica > เกาะกระแส > โครงการบรีสเปลี่ยนสังคม เด็กประถมก็ทำได้ ด้วย head – hand – heart

โครงการบรีสเปลี่ยนสังคม เด็กประถมก็ทำได้ ด้วย head – hand – heart

10 กรกฎาคม 2012


มร.เบนจี้ แย็บ รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน บริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด
มร.เบนจี้ แย็บ รองประธานกรรมการบริหาร ด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน บริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด

ก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว สำหรับโครงการ “บรีส ป.ปลายเปลี่ยนโลก เปลี่ยนแปลงสังคม เด็กประถมก็ทำได้” ที่สนับสนุนและผลักดันให้เด็กเรียนรู้ผ่านการลงมือทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อให้เด็กๆ พัฒนาทักษะชีวิตได้อย่างรอบด้าน

ในงานเสวนา “จิตอาสา ทางเลือกใหม่ของการพัฒนาเด็กในโลกนอกห้องเรียน” ณ โรงเรียนบ้านขุนสมุทรไทย จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มร.เบนจี้ แย็บ รองประธานกรรมการบริหารด้านการตลาดผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน บริษัทยูนิลีเวอร์ ไทย เทรดดิ้ง จำกัด กล่าวว่า โครงการดังกล่าวเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี 2553 โดยมุ่งหวังให้สังคมไทยตระหนักถึงการส่งเสริมทักษะชีวิตของเด็ก ผ่านการลงมือทำกิจกรรมจิตอาสา ซึ่งถือเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่นอกห้องเรียน และสนับสนุนให้เด็กกล้าคิด กล้าลงมือทำ เปิดโอกาสให้เด็กๆ มีอิสระที่จะได้เรียนรู้และเป็นผู้คิดริเริ่มกิจกรรมด้วยตนเอง สามารถมองเห็นถึงปัญหา และอยากมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาทั้งในโรงเรียนและชุมชน

ในทุกๆ กิจกรรมจะมุ่งเน้นกระบวนการเสริมพลัง โดยเปิดโอกาสให้เด็กลงมือทำเองตั้งแต่การตัดสินใจ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา ความคิดสร้างสรรค์ การเผชิญหน้ากับอารมณ์ต่างๆ การเห็นใจผู้อื่น และเห็นคุณค่าในตัวเอง ภูมิใจว่าเราสามารถทำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับสังคมได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เด็กสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่นับวันยิ่งมีความรุนแรงและซับซ้อนมากยิ่งขึ้นได้

โครงการ “บรีส ป.ปลายเปลี่ยนโลก เปลี่ยนแปลงสังคม เด็กประถมก็ทำได้”
โครงการ “บรีส ป.ปลายเปลี่ยนโลก เปลี่ยนแปลงสังคม เด็กประถมก็ทำได้”

ป.ปลาย หมายถึง เด็กชั้นประถมปลายซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาของโครงการดังกล่าว เนื่องจากเด็กวัย 9-12 ปีกลุ่มนี้เป็นวัยที่กำลังจะก้าวเข้าสู่วัยรุ่น และต้องเผชิญกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านนายพฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มมะขามป้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นผู้อบรมครูและเด็กในโครงการนี้ กล่าวว่า เด็กเป็นบุคคลที่ต้องได้รับการพัฒนามากที่สุด เพราะต้องต่อสู้ต่อไปอีกนานบนโลกใบนี้ และการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะพัฒนาได้ดีที่สุด โดยต้องพัฒนาใน 3 ด้าน คือ head hand และ heart หมายถึง มีความคิด แล้วลงมือทำด้วยใจอย่างจิตอาสาโดยพัฒนาไปพร้อมๆ กัน เพราะปัญหาในโลกทุกวันนี้มีมากขึ้น ทรัพยากรมีน้อยลง สังคมจึงมีความซับซ้อนมากขึ้น แต่เด็กต้องอยู่ต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เราต้องเริ่มให้เด็กเรียนรู้ปัญหาและแก้ไขด้วยตนเองให้ได้ เมื่อเด็กลงมือทำ ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุน ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มากขึ้น

สำหรับการอบรมในโครงการดังกล่าว จะแยกห้องอบรมเด็กและครูออกจากกัน แต่ทำในกิจกรรมอย่างเดียวกัน สิ่งที่เราทำคือสอนให้เด็กพัฒนาโครงการที่พวกเขามองว่าเป็นปัญหาได้ โดยสอนผ่านกิจกรรมสนุกสนานแต่เต็มไปด้วยสาระ เช่น ให้เด็กๆ เขียนถึงปัญหาของเขา และเขียนออกมาว่าอยากจะให้ผลลัพธ์ของการแก้ปัญหานั้นๆ เป็นอย่างไร หรือการแสดงละครที่ต้องเล่าถึงปัญหาและหนทางแก้ไข ซึ่งกระบวนการที่ทำให้เด็กรู้จักคิด รู้จักแก้ไขปัญหานี้ก็คือกระบวนการเรียนรู้แบบโครงการนั่นเอง

ส่วนครูก็อบรมแบบเดียวกัน แต่จะสรุปกิจกรรมทุกครั้งในทุกๆ กิจกรรม เพื่อบอกให้ครูรับรู้และเข้าใจว่า สิ่งที่ครูได้รับจากกิจกรรมนั้นๆ หากนำกลับไปให้เด็กได้ทำ เด็กๆ ก็จะได้รับสิ่งนี้เช่นเดียวกับครู

การเวิร์คช็อปมีแนวคิดสำคัญคือ ให้เด็กคิดโครงการได้ด้วยตนเอง ลงมือทำงานแก้ไขปัญหาเอง ไม่ใช่การทำตามที่ครูกำหนดมาเหมือนแต่ก่อน ซึ่งก็เป็นเรื่องยากที่ครูจะห้ามใจไหว

นายพฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มมะขามป้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน
นายพฤหัส พหลกุลบุตร หัวหน้าโครงการละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง กลุ่มมะขามป้อม ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน

“ส่วนตัวผมว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่จริงใจ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจริงในสังคม การอบรมเพียง 2 วัน 2 คืนไม่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ หากเด็กๆ ไม่กลับไปลงมือทำ”

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับเด็กคือ กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และทำงานเป็นระบบมากขึ้น ส่วนครูก็มีความเชื่อมั่นในตัวเด็กมากขึ้น มองเห็นเห็นว่าความคิดของเด็กๆ นั้นทำได้จริง

สิ่งสำคัญที่จะช่วยพัฒนาเด็กคือการศึกษา เราอยากได้สังคมแบบไหน เราก็ต้องสร้างเด็กแบบนั้น โดยเฉพาะการฝึกวิธีคิด เช่น การอยู่ร่วมกัน การเปิดใจเรียนรู้ความแตกต่าง ซึ่งเป็นเรื่องนอกตำราหาอ่านไม่ได้ จำเป็นต้องฝึกฝน เพื่อเตรียมพร้อมเผชิญกับสังคมในอนาคต เพราะการศึกษาในตำราของไทยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน

เด็กประถมปลายเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ เพราะอยู่ในช่วงที่กำลังสร้างบุคลิกภาพของตนเอง เข้าใจสังคม มีจิตอาสารู้จักช่วยเหลือ สนใจในความดีงาม มีการเข้าร่วมกลุ่มกับเพื่อนๆ ซึ่งการปลูกฝังการรับรู้เด็กในวัยนี้จะมีผลต่ออนาคตเด็กในระยะยาว

“การพัฒนาที่ยั่งยืนที่สุดคือการพัฒนาคน เพราะคนสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาก หากจับถูกคนก็จะส่งผลต่อยังคนอื่นได้อีกหลายๆ คน สร้างคนด้วยการให้การศึกษา และความคิด”

มร.เบนจี้ แย็บกล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าวแบ่งกิจกรรมในโครงการเป็น 3 ส่วน คือ

1. จัดเวิร์คช็อป และสนับสนุนให้เกิดโครงการจิตอาสา โดยคัดเลือกโรงเรียนประถมเข้ามาอบรมครั้งละประมาณ 10 แห่ง ซึ่งแต่ละโรงเรียนจะประกอบด้วยเด็ก 6 คน ครู 3-4 คน และบังคับว่าต้องให้ผู้อำนวยการโรงเรียนมาอบรมด้วย เพื่อให้ครูและเด็กเข้าใจวัตถุประสงค์ของโครงการที่ว่า ต้องการให้เด็กคิดเอง ทำเอง โดยครูเป็นเพียงผู้สนับสนุนและที่ปรึกษาเท่านั้น

2. กิจกรรม “บรีส คิดส์ ฟอร์ คิดส์ เดย์” วันรวมพลังอาสาสมัคร ที่จัดขึ้นปีละครั้ง เพื่อให้เด็กๆ รู้จักแบ่งปันทำเพื่อผู้อื่น และร่วมเป็นอาสาสมัคร ซึ่งเป็นการขยายผลต่อจากข้อแรก

3. การประกวดโครงงานจิตอาสา พัฒนาสังคม โดยร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เด็กรวมตัวกันทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียนหรือชุมชนตนเอง และส่งผลงานมาประกวดภายใต้แนวคิด “เปลี่ยนแปลงสังคม เด็กประถมก็ทำได้”

ปัจจุบันมีโรงเรียนที่ผ่านการอบรมและสร้างโครงการจิตอาสาแล้วกว่า 300 แห่ง รวมเด็กกว่า 1 แสนคน และปีที่ 3 นี้ก็ยังมุ่งขยายแนวคิดนี้ต่อไปสู่เป้าหมายโรงเรียน 2,000 แห่ง และปลูกจิตสำนึกแก่เด็กครบ 150,000 คน

ตัวอย่างโครงการที่เด็กประถมคิดและลงมือทำเอง เช่น โครงการ “แสงธรรมะ ชนะความโลภ” ของน้องๆ โรงเรียนบ้านคลองขุด จังหวัดสตูล เพื่อแก้ปัญหาเรื่องของหายภายในโรงเรียน หรือโครงการ “เฮาฮักกั๋น” ของน้องๆ โรงเรียนบ้านหนองโค้ง จ.เชียงใหม่ เพื่อแก้ปัญหานักเรียนชนเผ่าและชาวพม่าโดนดูถูก เหยียดหยาม ถูกใช้ หรือกลั่นแกล้งจากเด็กคนอื่นๆ

เปลี่ยนแปลงสังคม เด็กประถมก็ทำได้ “พาพี่พูน้องแพนกลับบ้าน”

โครงการพาจิตอาสา"พาพี่พูน้องแพนกลับบ้าน"
โครงการพาจิตอาสา “พาพี่พูน้องแพนกลับบ้าน”

กิจกรรมที่บรีสพาลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และสัมผัสกับกิจกรรมอาสาของน้องๆ โรงเรียนบ้านขุนสมุทรไทย ที่อนุรักษ์ต้นลำพูลำแพน พืชพันธุ์ท้องถิ่นที่กำลังสูญหาย ในโครงการ “พาพี่พูน้องแพนกลับบ้าน”

โรงเรียนแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตป่าชายเลน แต่เดิมมีต้นลำพูและลำแพนจำนวนมาก แต่ชาวบ้านกลับตัดต้นไม้เหล่านี้ทิ้งหมดเพื่อทำวังกุ้ง วังหอย จะเหลือไว้ก็แต่ต้นโกงกางเท่านั้น ปัจจุบันต้นไม้ดังกล่าวจึงแทบจะสูญพันธุ์ เด็กๆ จึงทำโครงการดังกล่าวเพื่ออนุรักษ์ลำแพนและลำพูไม่ให้สูญพันธุ์ไป โดยการเพาะกล้าต้นลำพูและลำแพนจากเมล็ด แล้วให้นักเรียนเอากลับไปปลูกที่บ้านบ้าง แจกจ่ายให้ชาวบ้านบ้าง และปลูกที่โรงเรียนเองบ้าง

ประโยชน์ของต้นลำพูคือเป็นที่อาศัยของหิ่งห้อย ส่วนลำแพนคือทำเป็นอาหารได้หลายอย่างเนื่องจากมีรสเปรี้ยว เช่น น้ำพริกกะปิ ส้มตำ ลำแพนแก้ว หรือทานสดๆ กับกะปิหวาน

ลักษณะของลำแพนและลำพูมองผ่านๆ ดูคล้ายกัน แต่ลำแพนจะมีใบกลม ต้นเล็ก ผลสีเขียวเข้ม ใบเลี้ยงสั้น ในขณะที่ลำพูใบแหลม ต้นใหญ่ ผลสีอ่อน ใบเลี้ยงยาว

นอกจากนี้ ทางโรงเรียนยังทำลำแพนแก้วขายเป็นรายได้ส่วนหนึ่งของโรงเรียน ซึ่งขายดีมากจนบางครั้งทำส่งแทบไม่ทัน ดังนั้นจึงรับซื้อผลลำแพนจากชาวบ้านที่เอากล้าจากทางโรงเรียนไปปลูกไว้ด้วย ทำให้เกิดรายได้หมุนเวียนภายในชุมชนอีกทางหนึ่ง

แม้ว่าปัจจุบันต้นลำแพนจะกลายเป็นไม้มงคลชื่อ “มหาลาภ” ที่มีราคาตั้งแต่ 350-1,500 บาทในตลาดต้นไม้ แต่ที่โรงเรียนแห่งนี้ยังคงเพาะพันธุ์เพื่อแจกฟรีให้ชาวบ้านนำไปปลูกต่อไป