ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ความไว้วางใจ เสถียรภาพ และจรรยาบรรณ : กรณีแจ้งเท็จ LIBOR

ความไว้วางใจ เสถียรภาพ และจรรยาบรรณ : กรณีแจ้งเท็จ LIBOR

12 กรกฎาคม 2012


สฤณี อาชวานันทกุล

ตอนที่แล้วทิ้งท้ายว่าจะเขียนถึงตัวอย่าง “ธนาคารที่ยั่งยืน” แต่ข่าวครึกโครมปลายเดือนมิถุนายน 2012 ก็ทำให้ต้องเปลี่ยนความตั้งใจ เพราะข่าวนี้สะท้อนความซับซ้อนของระบบการเงิน แรงจูงใจของนักการเงิน และความสำคัญของความไว้วางใจได้อย่างดีเยี่ยม

ผู้เขียนกำลังพูดถึงกรณี บาร์เคลย์ส์ (Barclays) ธนาคารยักษ์ใหญ่สัญชาติอังกฤษ ถูกทางการจับได้ว่าแจ้งข้อมูลเท็จในการคำนวณอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงชื่อ LIBOR (ย่อมาจาก London Interbank Offer Rate) ระหว่างปี 2005-2009

หลังจากที่ธนาคารยอมรับว่าแจ้งเท็จหลายร้อยครั้ง ก็ถูกคณะกรรมการกำกับสัญญาซื้อขายโภคภัณฑ์ล่วงหน้าของอเมริกาปรับ 200 ล้านเหรียญ กระทรวงยุติธรรมอเมริกันปรับอีก 150 ล้านเหรียญ และถูกคณะกรรมการกำกับสถาบันการเงินของอังกฤษปรับ 59.5 ล้านปอนด์

เรื่องนี้เป็นข่าวอื้อฉาวเพราะ LIBOR เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงกันทั่วโลก ใช้กับตราสารทางการเงินมูลค่ากว่า 800 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้รวมตราสารอนุพันธุ์ 350 ล้านล้านเหรียญ เฉพาะในสหรัฐอเมริกาประเทศเดียวใช้ LIBOR กำหนดดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย เงินกู้ส่วนบุคคล และสินเชื่อธุรกิจรวมมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านเหรียญ

มหกรรมบิดเบือนดอกเบี้ยบันลือโลกครั้งนี้ส่งผลให้ มาร์คัส อาจิอุส และ โรเบิร์ต ไดมอนด์ ประธานกรรมการและซีอีโอของบาร์เคลย์ส์ตามลำดับ ประกาศลาออกจากตำแหน่งไม่กี่วันหลังบาร์เคล์ย์ส์ถูกปรับ ขณะที่การสืบสวนของทางการก็ขยายวงข้ามทวีปจากอังกฤษและอเมริกาไปยังสวิสเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น และแคนาดา ครอบคลุมธนาคารยักษ์ใหญ่อื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 20 แห่ง ในข้อหาเดียวกัน

โรเบิร์ต ไดมอนด์ ซีอีโอของบาร์ค์เลย์ส์
โรเบิร์ต ไดมอนด์ ซีอีโอของบาร์ค์เลย์ส์

อีกไม่นานเราคงได้รู้ว่ามีธนาคารอื่นใดอีกบ้างที่แจ้งเท็จแบบบาร์เคล์ย์ส์ การกระทำของบาร์ค์เลย์ส์ผิดกฎหมายอาญาหรือไม่ จะมีลูกหนี้บริษัท ลูกหนี้รายย่อย และคู่ค้ากี่รายที่ฟ้องบาร์ค์เลย์ส์และธนาคารอื่นโทษฐานทำให้ตัวเองจ่ายดอกเบี้ยแพงเกินควร แต่ที่ชัดเจนแล้วคือ พฤติกรรมของบาร์ค์เลย์ส์ได้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนในระบบการเงิน ที่ตกต่ำไปมากอยู่แล้วหลังเกิดวิกฤติการเงินปี 2008 ให้ต่ำเตี้ยติดดินกว่าเดิมอีก

บาร์เคลย์ส์มีแรงจูงใจอะไรที่จะแจ้งต้นทุนการเงินของตัวเองเท็จ? คำตอบมีสองเหตุผล สองกรณีที่ “น่าประณาม” ไม่เท่ากัน เหตุผลและกรณีแรกคือ นักค้าตราสารอนุพันธ์ของธนาคารจงใจแจ้งดอกเบี้ยเท็จเพื่อทำกำไร หลักฐานจากอีเมลภายในของบาร์ค์เลย์ส์ชี้ชัดว่า กรณีนี้เกิดขึ้นเป็นประจำติดกันนานหลายปี เป็นพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ผิดจรรยาบรรณ และผิดศีลธรรมไม่ว่าจะใช้ไม้บรรทัดอะไรวัด

เหตุผลและกรณีที่สองของการรายงานเท็จอาจ “น่าเห็นใจ” มากกว่ากรณีแรก ถึงแม้จะผิดไม่ต่างกัน นั่นคือ ในช่วงวิกฤติการเงินปี 2007-2012 ที่สถาบันการเงินน้อยใหญ่ถูกตั้งคำถามอย่างหนักว่าแข็งแกร่งพอที่จะเอาตัว (และเงินฝากของประชาชน) รอดหรือไม่ นักค้าของบาร์ค์เลย์ส์รายงานต้นทุนของธนาคารต่ำกว่าที่ควรเป็น เพื่อให้ธนาคารดูแข็งแกร่งกว่าและเสี่ยงน้อยกว่าความเป็นจริง เป้าหมายสุดท้ายเพื่อพยุงความเชื่อมั่นของลูกค้าและธนาคารที่เป็นคู่ค้าเอาไว้

แน่นอนว่าทางการและคนทั่วไปย่อมโกรธแค้นที่นักค้าบาร์ค์เลย์ส์แจ้งเท็จเพื่อโกยกำไรให้กับธนาคารของตัวเอง แต่สำหรับกรณีที่บาร์ค์เลย์ส์แจ้งต้นทุนต่ำกว่าความจริงในช่วงวิกฤติ ข้อมูลหลักฐานเริ่มเผยออกมาเรื่อยๆ ในสื่อว่า ทางการคือธนาคารกลางอังกฤษไม่เพียงแต่รู้ว่าบาร์ค์เลย์ส์กำลังทำแบบนี้ แต่ “รู้เห็นเป็นใจ” ให้ทำด้วยซ้ำไป เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน เพราะถ้าหากคนขาดความเชื่อมั่นในบาร์ค์เลย์ส์ เชื่อว่าธนาคารจะล้ม (ยิ่งธนาคารเสี่ยงมากต้นทุนการกู้เงินจะยิ่งสูง) ธนาคารอื่นก็จะยิ่งไม่ยอมปล่อยกู้ไม่ว่าจะได้ดอกเบี้ยแพงเพียงใด ส่วนประชาชนก็อาจตกใจถึงขั้นแห่กันมาถอนเงิน เจ้าหนี้ก็เรียกเงินกู้คืน ซึ่งจะทำให้ธนาคารประสบปัญหาอย่างรุนแรงจนถึงขั้นล้มลงไปจริงๆ ตามคำพยากรณ์ ร้อนให้รัฐมาอุ้ม ซึ่งความที่บาร์ค์เลย์ส์เป็นธนาคารขนาดใหญ่ ไฟแห่งความตระหนกจึงอาจลามไปทั้งระบบ จุดชนวนการแห่ถอนทุนอย่างรุนแรงจนทำให้ธนาคารอื่นล้มตามไปด้วยและระบบการเงินชักกระตุก ไม่มีใครยอมปล่อยกู้ให้ใครอีก

กรณีที่เกิดขึ้นชี้ว่า การโกหกของสถาบันการเงินเพื่อเอาตัวรอด (และระบบรอด) ยามวิกฤตินั้น ถึงแม้จะน่าประณามแต่ก็เข้าใจได้มากกว่ากรณีที่โกหกเพื่อกอบโกยกำไรในยามปกติ อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในระบบการเงินไม่ใช่เงิน แต่เป็นความไว้วางใจ (trust) ระหว่างสถาบันการเงินด้วยกัน และระหว่างสถาบันการเงินกับประชาชน

วิธีการคำนวณ LIBOR คือ ในแต่ละวันธนาคารขนาดใหญ่ 16 แห่ง จะส่งข้อมูลให้กับสมาคมนายธนาคารอังกฤษว่า ตัวเองจะต้องจ่ายดอกเบี้ยอัตราเท่าไรถ้ากู้เงินจากธนาคารอื่นวันนี้ จากตัวเลขอัตราดอกเบี้ย 16 ตัว ตัวเลข 4 ตัวที่สูงสุด และ 4 ตัวที่ต่ำสุดจะถูกทิ้งไป อัตรา LIBOR จะถูกคำนวณจากค่าเฉลี่ยของต้นทุน 8 ธนาคารที่เหลือ

หลังจากถูกทางการอเมริกันและอังกฤษสั่งปรับ บาร์เคล์ย์ส์พยายามสื่อสารว่ากรณีบิดเบือน LIBOR เพื่อทำกำไรจากตราสารอนุพันธุ์นั้นเป็นเพียงพฤติกรรมแย่ๆ ของนักค้านิสัยไม่ดีไม่กี่คน อย่างไรก็ดี หลักฐานที่ผ่านมาชี้ชัดว่านักค้าเหล่านี้ “ฮั้ว” กันข้ามฝ่ายข้ามธนาคารโดยไม่เกรงใจใครจนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ สะท้อนว่าผู้บริหารธนาคารถ้าไม่สนับสนุนพฤติกรรมนี้อย่างออกนอกหน้า อย่างน้อยก็ยินยอมให้เกิดอย่างเป็นระบบ นักค้าคนหนึ่งในบาร์เคล์ย์ส์ถึงขนาดตะโกนบอกเพื่อนร่วมห้องตลอดเวลาว่าเขากำลังจะส่งตัวเลขอะไร เพื่อเช็คก่อนว่าจะขัดผลประโยชน์ของนักค้าคนอื่นหรือเปล่า (เช่น นักค้าที่กำลังจะส่งคำสั่งซื้อตราสารอนุพันธุ์ย่อมอยากได้ราคาถูก ขณะที่คนสั่งขายย่อมอยากได้ราคาแพง)

หลังจากที่บาร์ค์เลย์ส์ถูกเปิดโปง นักการเงินหลายคนก็ออกมาบอกว่าที่จริงการฮั้วดอกเบี้ยแบบนี้น่ะทำกันมานานหลายปีแล้ว ไม่ใช่แค่ตั้งแต่ปี 2005 นักค้าคนหนึ่งบอกวารสาร ดิ อีโคโนมิสต์ ว่า “มันเป็นความลับที่เก็บกันดีมากๆ เรื่องหนึ่ง แต่หน่วยงานกำกับดูแลดันนอนหลับ ธนาคารกลางอังกฤษไม่สนใจ …และ[ธนาคารที่ร่วมวง]ก็แฮปปี้กับราคาที่ได้”

กรณีฮั้ว LIBOR ตอกย้ำให้เห็นอีกครั้งหนึ่งว่า ถ้าปราศจากกฎกติกาที่เหมาะสม การกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ และมาตรฐานความโปร่งใสที่ประชาชนตรวจสอบได้ ระบบการเงินในวงกว้างที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงก็คงยังอยู่อีกยาวไกล.

ประเด็นน่าคิดจากกรณี LIBOR

ระหว่างที่การสอบสวนบาร์ค์เลย์ส์และธนาคารยักษ์ใหญ่อื่นๆ ดำเนินไป กรณีบิดเบือนต้นทุนการเงินก็มีประเด็นน่าคิดมากมาย ซึ่งทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคงจะต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะขบกันแตก เช่น –

1. ใครบ้างที่ควรมีสิทธิเรียกร้อง “ค่าชดเชยความเสียหาย” จากบาร์ค์เลย์ส์และธนาคารอื่นที่โกหก? ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่ามีบริษัทไทยทำสว็อปอัตราดอกเบี้ยกับธนาคารไทยแห่งหนึ่ง สว็อปนั้นใช้ LIBOR เป็นดอกเบี้ยอ้างอิง ไม่เคยทำธุรกรรมใดๆ กับบาร์ค์เลย์ส์ บริษัทที่ว่านี้ควรมีสิทธิฟ้องบาร์ค์เลย์ส์หรือไม่? หน่วยงานกำกับดูแลคงต้องคิดหนักว่าจะขีดเส้น “ความรับผิด” ของบาร์ค์เลย์ส์และธนาคารอื่นๆ ในกรณีนี้ตรงไหน เพราะถ้าหากขีดวงกว้าง คือให้ธนาคารรับผิดมาก สุดท้ายมูลค่าความเสียหายที่ธนาคารต้องชดใช้อาจจะมโหฬารจนธนาคารเจียนล้ม ร้อนให้รัฐมาอุ้ม ก่อเกิดวิวาทะว่ารัฐควรปล่อยให้ล้มหรือไม่ ฯลฯ รอบใหม่

2. ในแง่หนึ่ง การขีดเส้นให้ธนาคารรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะขีดวงแคบหรือกว้างเพียงใด อาจเป็นประเด็นที่มองได้ว่าไม่เป็นธรรม เนื่องจากธนาคารอยู่ “ตรงกลาง” ระหว่างธุรกรรมจำนวนมาก ถ้ามีลูกค้าขาดทุนจากการบิดเบือน LIBOR ก็น่าจะมีลูกค้าอีกรายที่ได้ประโยชน์ (เช่น ถ้าคนซื้อตราสารเสียหายจากการจ่ายดอกเบี้ยแพงเกินจริง คนขายก็ย่อมได้กำไรจากการรับดอกเบี้ยแพงเกินจริงในจำนวนที่เท่ากัน) แต่แน่นอนว่าธนาคารจะถูกฟ้องจากคนที่ขาดทุนเท่านั้น โดยที่ไม่อาจเรียกกำไรคืนจากลูกค้าที่ได้กำไรเกินจริงได้

3. หน่วยงานกำกับดูแลต้องคำถามยากๆ เช่นกัน เช่น สำหรับกรณีที่บาร์ค์เลย์ส์แจ้งเท็จในช่วงวิกฤติการเงินโดยที่ธนาคารกลางรู้เห็นเป็นใจ ซึ่งช่วยพยุงความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงินเอาไว้ ไม่ใช่กรณีที่นักค้าจงใจโกหกเพื่อกอบโกยกำไร เป็นกรณีที่ธนาคารควรถูกลงโทษหรือไม่? ถ้าควร นายธนาคารกลางที่เกี่ยวข้องควรถูกลงโทษด้วยหรือเปล่า?

ในช่วงวิกฤติ ธนาคารกลางมีแรงจูงใจที่จะให้ธนาคาร “กด” ต้นทุนที่รายงานให้ต่ำกว่าความจริง เนื่องจากช่วงนั้นสภาพคล่องเหือดแห้ง ความเชื่อมั่นต่ำมาก LIBOR สูงมากซึ่งสะท้อนความไม่ไว้วางใจในสถาบันการเงิน ถ้าหาก LIBOR ถีบตัวสูงขึ้นไปอีก แน่นอนว่าการพยุงระบบการเงินก็จะมีต้นทุนแพงกว่าเดิม และธนาคารขนาดใหญ่ก็สุ่มเสี่ยงที่จะล้มมากกว่าเดิม

4. คำถามน่าคิดอีกข้อคือ รัฐควรปฏิรูประบบอย่างไร? ในหลักการ อัตราดอกเบี้ยทุกชนิดควรตั้งอยู่บนข้อมูลการกู้ยืมเงินที่แท้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้ธนาคารรายงานเอาเอง แต่ตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารนั้นบางครั้งไม่ “ลึก” พอที่จะมีข้อมูลจริง ต้องอาศัยสมมุติฐานเข้าช่วยว่าต้นทุน “น่าจะ” เป็นเท่าไร นักเศรษฐศาสตร์การเงินหลายคนเสนอให้เพิ่มจำนวนธนาคารที่รายงานต้นทุนสำหรับ LIBOR เพื่อลดแรงจูงใจที่จะฮั้วกันและทำให้การฮั้วกันหลายแห่งทำได้ยากกว่าเดิม