ThaiPublica > คอลัมน์ > ตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรจึงจะยุติธรรม

ตุลาการในระบอบประชาธิปไตย ทำอย่างไรจึงจะยุติธรรม

1 กรกฎาคม 2012


ตะวัน มานะกุล

ว่ากันว่าหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ผู้คนคือหน้าที่แก่นกลางของระบอบการเมืองทุกระบอบ และเมื่อพูดถึงความยุติธรรมแล้ว เรามักนึกถึงสถาบันซึ่งถูกถือว่าเป็นตัวแทนของคุณค่าดังกล่าว ได้แก่ สถาบันตุลาการ ที่มีหน้าที่พิจารณาตัดสินถูกผิด รวมถึงใช้อำนาจของตนจัดการกับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในสังคม

แต่เมื่อศาลคือผู้พิทักษ์ความเที่ยงธรรมทางสังคมแล้ว เหตุใดตราชั่งของศาลไทยนั้น ชั่งออกมาอย่างไรก็ไม่เคยเที่ยงในสายตาคนทุกกลุ่มพร้อมกันเสียที ลักษณะดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในสังคมไทย และหลายครั้งเราไม่อาจอธิบายปรากฏการณ์ได้โดยง่ายๆ ว่าเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องผลประโยชน์หรือศีลธรรมของตัวผู้พิพากษา

เช่นนั้นแล้วปัญหาอยู่ที่ตรงไหน?

เพื่อหาคำตอบ นิยายบางเรื่องอาจช่วยเราได้ ในหนังสือนิยายปรัชญาเรื่องการิทัตผจญภัย (The Curious Enlightenment of Professor Caritat) เขียนโดยสตีเวน ลุคส์ (Steven Lukes) การิทัตตัวเอกของเรื่องได้เดินทางผ่านนครทั้งหมดห้าแห่ง แต่ละแห่งเป็นนครที่สร้างขึ้นบนฐานปรัชญาหนึ่งๆ ตลอดการเดินทาง การิทัตได้เห็นกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้นในหลายๆ เมือง ซึ่งมีวิธีพิจารณาคดีความที่สุดแปลกแหวกแนวอย่างไม่น่าเชื่อ เช่น ในเสนานครนั้นถือว่าผู้กุมอำนาจคือความยุติธรรม ดังนั้นความอยุติธรรมคือการไม่เคารพเชื่อฟังอำนาจของผู้ปกครอง (ซึ่งเป็นเหตุให้การิทัตต้องหนีออกไปเร่ร่อนอยู่ต่างแดน) ส่วนในประโยชน์นครนั้น การิทัตได้รับรู้ว่าศาลของที่นี่พิจารณาถูกผิดโดยการชั่งน้ำหนัก ว่าตัดสินอย่างไรจึงจะเกิดอรรถประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมมากที่สุด ดังนั้น ผู้บริสุทธิ์คนหนึ่งจึงถูกตัดสินลงโทษด้วยเหตุผลของศาลที่ว่า หากไม่ตัดสินเช่นนี้แล้ว กระบวนการยุติธรรมจะเสื่อมความเชื่อถือ เพราะจะถูกมองว่าไร้ประสิทธิภาพเนื่องจากไม่สามารถหาจำเลยมาลงโทษได้!!!

นิยายเรื่องนี้ หากผู้อ่านอ่านด้วยใจที่เปิดกว้างแล้วจะรู้สึกนึกขันตัวเองขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก เพราะเมืองแต่ละแห่งสามารถอธิบายแนวคิดของความยุติธรรมของตนเองได้อย่างมีเหตุผล จนเราเห็นความเที่ยงธรรมในแบบที่เราไม่คุ้นเคยขึ้นมารำไร ทั้งที่มันสุดแสนจะเอียงหากพิจารณาจากหลักคิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม คุณูปการของนิยายปรัชญาการเมืองที่อธิบายแนวคิดปรัชญาให้เราเข้าใจ ด้วยการขับเน้นความสุดขั้วชวนหัวเราะออกมานั้น มีคุณูปการสำคัญคือช่วยชี้ชวนให้เห็นว่า เอาเข้าจริงแล้ว มันอาจจะไม่มีความยุติธรรมสากลสูงสุดลอยอยู่บนฟ้ารอคอยให้มนุษย์เข้าถึง แต่ความยุติธรรมหรือไม่ยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มนุษย์ประกอบสร้าง ให้คุณค่าตามค่านิยม หลักการ ปรัชญา ที่ตนสมาทานอยู่ กล่าวคือ ตราชั่งที่เที่ยงตรงสมบูรณ์ในตัวเองนั้นไม่มีอยู่จริง เพราะชั่งแต่ละครั้งจะเที่ยงหรือไม่ ย่อมขึ้นกับพื้นที่ผู้ถือตราชั่งถืออยู่ ว่า เอียง ล้ำ ต่ำ สูงแค่ไหน อย่างไร ดังนั้น เที่ยงในมุมมองหนึ่งอาจไม่เที่ยงในอีกมุมมองหนึ่ง

แน่นอนว่านิยายเป็นเรื่องแต่ง แต่ความลักลั่นย้อนแย้งดังตัวอย่างในนิยายไม่ใช่เรื่องเกินจริงหากพิจารณาจากหน้าประวัติศาสตร์ ตัวอย่างเช่น เราอาจพบว่าศาลประชาชนหลังการปฏิวัติประชาธิปไตยฝรั่งเศส พยายามสถาปนาความยุติธรรมด้วยการกวาดล้างบุคคลในระบบอำนาจเก่าในฐานะศัตรูแห่งรัฐและประชาชน ในขณะที่ศาลอเมริกายุคเริ่มแรกที่หวาดเกรงสภาวะเผด็จการเสียงข้างมากเช่นในฝรั่งเศสนี้ ก็ตัดสินแขวนคอผู้คนที่เผยแพร่คำสอนนอกรีตอันเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ

ตัวอย่างที่ชวนสยองขวัญกว่าคือ ในช่วงเวลาหนึ่ง Roland Freisler ผู้พิพากษาคนสำคัญของระบอบนาซีกล่าวออกมาอย่างไม่สะทกสะท้านว่า “…นี่คือตำแหน่งแห่งที่ของภารกิจเราที่ถูกวางไว้ในฐานะผู้รักษากฏหมาย… ความยุติธรรมคืออะไรก็ได้ที่รับใช้ประชาชนเยอรมัน…” และเพื่อการนี้ เขาจึงเห็นว่า “หลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of powers) ไม่มีที่ทางในรัฐนาซีอีกต่อไป อำนาจสูงสุดไม่สามารถแบ่งแยกได้ในมือท่านผู้นำ” และเมื่อความยุติธรรมเป็นเช่นนี้เสียแล้ว เขาจึงลงความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของตนเองในฐานะตุลาการอย่างสั้นๆ ได้ใจความว่า “ใครสักคนต้องเป็นหมาล่าเนื้อ”1 แน่นอนว่าความเห็นนี้เที่ยงธรรมอย่างยิ่งในระบอบนาซี

สรุปแล้ว ในระดับสังคมการเมือง ตราชั่งจึงไม่เคยเที่ยงตรงในสายตาผู้ที่สมาทานคุณค่าแตกต่างกัน ดังนั้น ในเบื้องต้น ผู้พิพากษาจำเป็นต้อง “เลือกข้าง” ในความหมายที่ว่า ตกลงแล้วตนยืนอยู่บนหลักคุณค่าอะไรเป็นสำคัญ การถามหาบทบาทของศาลในการอำนวยความยุติธรรมบนฐานของชุดคุณค่าหนึ่งที่สังคมสมาทาน อาจช่วยจำกัดกรอบโจทย์ทางการเมืองไทยในปัจจุบันง่ายขึ้นกว่าการไปถามหาความยุติธรรมสมบูรณ์ (Absolute Justice) ซึ่งตีความกันได้อย่างไม่รู้จบ กล่าวอย่างตรงประเด็น ทางออกการเมืองไทยในเรื่องบทบาทศาลท่ามกลางความขัดแย้ง จึงน่าจะอยู่ที่การหาคำตอบว่าตกลงแล้วศาลมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมอย่างไรในระบอบเสรีประชาธิปไตย

… สมมติว่าประเทศเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย

ศาลในฐานะกรรมการเส้น และปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัตน์”

ปัญหาชวนปวดหัวต่อมาคือ ระบอบระบอบประชาธิปไตยดันเป็นระบอบที่เปิดพื้นที่เสรีภาพให้กับประชาชน ดังนั้น ในสังคมที่ปกครองด้วยระบอบดังกล่าว จึงเต็มเปี่ยมไปด้วยชุดคุณค่าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหลักเสรีภาพ, อำนาจของรัฐบาลเสียงข้างมาก, สิทธิชุมชน, ความเสมอภาค เช่นนี้แล้ว การชั่งตราชั่งของตุลาการอาจไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะปัญหาเรื่องชุดคุณค่าที่ขัดกัน เมื่อนำเหตุผล หลักคิด ของทั้งสองฝ่ายมาชั่งแล้ว ตราชั่งอาจไม่ได้เอียงหักตกไปด้านใดด้านหนึ่งให้เห็นถูกผิดได้ง่ายๆ

ก่อนจะถึงมือศาล โดยทั่วไปรัฐธรรมนูญแต่ละประเทศมักจะกำหนดกติกา กลไกความสัมพันธ์ระหว่างชุดคุณค่าในสังคมการเมือง เช่น รัฐบาลเสียงข้างมากได้สิทธิในการบริหารประเทศ แต่ตัวแทนเสียงข้างน้อยในสภาก็มีสิทธิในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลได้ด้วยจำนวนผู้แทนฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เอาเข้าจริง ลักษณะการกำหนดความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นเกณฑ์ประเมินสำคัญ ที่เราสามารถใช้เพื่อประเมินว่ารัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งๆ ดีแค่ไหน กล่าวคือยิ่งกำหนด “เส้น” กติกา กลไกความสัมพันธ์ไว้อย่างลงตัวและเปิดกว้างให้ทุกชุดคุณค่าก็ยิ่งทำให้ระบอบการเมืองลงตัวและยืดหยุ่นได้เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยทั่วไปบทบาทในการธำรงรักษา “เส้น” ดังกล่าว คือหน้าที่ของศาลสูงฯ หรือศาลรัฐธรรมนูญในแต่ละประเทศ

ดังนั้น ศาลจึงเป็นดั่งกรรมการเส้นในระบอบประชาธิปไตย

แต่ปัญหาของทุกสังคมการเมืองคือ “เส้น” ที่เขียนโดยรัฐธรรมนูญไม่เคยสมบูรณ์ หลายครั้งที่เมื่อชุดคุณค่าเกิดขัดกันขึ้นมา แล้วมีผู้ยื่นเรื่องเพื่อร้องถามผู้พิพากษาว่าอะไรคือ “เส้น” ที่ชัดเจนของข้อพิพาทดังกล่าว การตีความของศาลนั้นอาจนำไปสู่นัยยะการเปลี่ยนแปลงเชิงคุณค่าของสังคม ตามความเห็นของผู้เขียน การที่อำนาจตุลาการต้องเข้ามามีบทบาทในการชี้ขาดเส้นนี้เรียกว่า “ตุลาการภิวัตน์” (Judicial Activism)

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญอเมริกามีข้อความตอนหนึ่งเขียนว่า “มนุษย์ทุกคนล้วนเท่ากัน” (All man are equal) คำถามที่ถกเถียงกันตามมายาวนานกว่าจะได้ข้อยุติคือ หากมนุษย์ทุกคนเท่ากัน คนผิวดำถือเป็นมนุษย์หรือไม่ เป็นวลานานทีเดียวกว่าที่ศาลสูงฯ จะช่วยชี้ “เส้น” ให้เห็นว่า “รัฐธรรมนูญของเรานั้นตาบอดสี” (Our constitution is color-blind)

ดังนั้น ตุลาการณ์ภิวัติน์จึงไม่ใช่ดังที่มีผู้เข้าใจว่าหมายถึงการเขียนกฎหมาย หรือตีความกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตุลาการ เช่นการเขียนกฎหมายให้ศาลข้องเกี่ยวกับการแต่งตั้ง สว. องค์กรอิสระเพื่อควบคุมรัฐบาล ลักษณะเช่นนี้อาจเรียกได้ว่า “ตุลาการธิปไตย” มากกว่า

แต่ประวัติศาสตร์บอกเราว่า ทุกครั้งที่มีปรากฏการณ์ “ตุลาการภิวัตน์” ความเที่ยงตรงที่ตราชั่งชั่งออกมาไม่เคยเที่ยงธรรมในสายตาคนทุกหมู่เหล่าพร้อมกัน เพราะแต่ละคนล้วนสมาทานชุดคุณค่าที่แตกต่างกันไป

ตัวอย่างของเช่น ย้อนไปเมื่อเจ็ดสิบกว่าปีก่อน แฟลงกลิน ดี รูสเวลท์ นำเสนอแผนการ New Deal เพื่อจัดการกับวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ความพยายามของรัฐบาลที่จะแทรกแซงระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลสูงว่า แผนการดังกล่าวมีลักษณะขัดต่อหลักการตลาดเสรี ดังนั้นจึงขัดต่อรัฐธรรมนูญอเมริกา โปรแกรมต่างๆ ของแผนการ New deal จึงทยอยถูกศาลสูงฯ ปัดตกทีละข้อ

แน่นอนว่าในมุมของผู้ที่เชื่อในตลาดเสรีสมบูรณ์ ย่อมเห็นว่าตราชั่งของศาลนั้นเที่ยงธรรม แต่ในสายตาของผู้ที่เชื่อว่ารัฐบาลควรมีบทบาทในการบริหารจัดการเศรษฐกิจนั้น ตราชั่งเอียง เช่นนี้แล้ว ศาลควรดำรงตนอย่างไรเพื่อสามารถรักษาความยุติธรรมได้อย่างสง่างาม

ความชอบธรรมของผู้พิพากษา ความชอบธรรมของเทพีแห่งความยุติธรรม

ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ที่ชุดคุณค่าต่างๆ กำลังกระทบกระทั่งกันขั้นแตกหัก ผู้พิทักษ์ “เส้น” เป่านกหวีดอย่างไรก็คงถูกใจกองเชียร์ฝั่งหนึ่ง และไม่เข้าหูกองเชียร์อีกฝั่งหนึ่ง ยังไม่ต้องนับว่าบางครั้งผู้พิพากษายังอาจใช้อคติส่วนตัวในการเป่าเอียงข้างอย่างจงใจ

กล่าวให้ถึงที่สุด ปัญหาใจกลางของสถาบันตุลาการท่ามกลางความขัดแย้ง คือปัญหาเรื่องความชอบธรรม กล่าวคือยิ่งชี้ “เส้น” ก็ยิ่งถูกฝ่ายที่ไม่พอใจมองว่าไม่ยุติธรรม เช่นนั้นแล้ว ทำอย่างไรผู้พิพากษาจึงจะสามารถรื้อฟื้นและธำรงความชอบธรรมไว้ได้ในห้วงวิกฤตการเมือง

สำหรับคำถามดังกล่าว เทพีแห่งความยุติธรรมอาจให้คำตอบเราได้บางประการ

เทพีแห่งความยุติธรรม คือสัญลักษณ์ของความยุติธรรมในระดับสากล แม้ว่าลักษณะของเธออาจเปลี่ยนไปบ้างในแต่ละพื้นที่ แต่ส่วนใหญ่ล้วนมีองค์ประกอบร่วมสำคัญ คือ เธอต้องถือตราชั่งไว้ที่มือข้างหนึ่ง อาวุธไว้ที่มืออีกข้าง ส่วนบนใบหน้านั้น ดวงตาของเธอหลับลง และถูกโพกไว้ด้วยผ้าอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งมีนัยยะถึงการที่ความยุติธรรมจะต้องไม่ส่งสายตาเลือกที่รักมักที่ชังให้ใคร

เกร็ดน่าสนใจคือ เทพีแห่งความยุติธรรมที่สถิตอยู่ ณ กรุงลอนดอนไม่ได้โพกผ้าปิดตา มีผู้อธิบายว่า เป็นเพราะปล่อยให้ตัวเธอหลับตาก็เพียงพอแล้ว แต่ก็มีผู้โต้แย้งอย่างแหลมคมว่าการเชื่อใจเธอ แล้วปล่อยให้เธอหลับตาตนเองนั้นไม่เพียงพอ เพราะต่อให้เธอเป็นเทพีที่ยุติธรรมแค่ไหน หากเธอตัดสินโดยไม่ถูกผ้าปิดตาไว้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเธอไม่ได้แอบลืมตา!!!

กล่าวให้ถึงที่สุด การถูกผ้าโพกตาไว้คือการสถาปนาความชอบธรรมให้กับผู้อำนวยความยุติธรรม

ฉันใดฉันนั้น ต่อให้ผู้พิพากษาจะเที่ยงธรรมอย่างไร หรือเป็นคนดีมาจากไหน การเปิดช่องให้มีการถ่วงดุลตรวจสอบคือหัวใจสำคัญในการรักษาความมั่นคงของศาล เพราะยิ่งถูกถ่วงดุลความชอบธรรมก็ยิ่งสูง เช่นเดียวกับที่เทพีแห่งความยุติธรรมต้องถูกโพกผ้าปิดตาไว้ คำถามต่อมาคือ ถ่วงดุลอย่างไรจึงจะไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาล จนนำไปสู่การล่มสลายของสถาบันผู้พิทักษ์

วิธีที่ง่ายที่สุด และต้นทุนต่ำที่สุด คือการเปลี่ยนแปลงเชิญทัศนคติ อันได้แก่ทัศนคติเรื่อง “หมิ่นศาล” กล่าวคือ เราจะกำหนดเส้นแบ่งอย่างไรจึงจะแยกระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเหตุผล แนวคิด กับการวิพากษ์วิจารณ์เพื่อโจมตีโค่นล้มศาลอย่างไร้เลื่อนลอย โดยกำจัดทิ้งทัศนคติที่มองว่าการวิพากษ์วิจารณ์ล้วนถือเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคง นอกจากนี้ เอาเข้าจริง ปัญหาดังกล่าวไม่มีทางออกในเชิงหลักการตายตัว แต่วัฒนธรรมการเมืองเป็นตัวชี้วัดสำคัญ

ตัวอย่างเช่น เมื่อครั้งที่เกิดความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีรูสเวลท์ กับศาลสูงฯ สหรัฐอเมริกา รูสเวลท์ท้าทายอำนาจศาลด้วยการนำเสนอกฎหมายอันโด่งดังชื่อ “ปฏิรูปกระบวนการทางศาล 1937”2 ซึ่งมีเนื้อหาเปิดช่องให้ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลสูงเพิ่มเข้าไปได้หนึ่งคนต่อทุกๆ ผู้พิพากษาหนึ่งคนที่มีอายุเกินเจ็ดสิบปี แต่ทั้งหมดต้องไม่เกินสิบห้าคน จากแต่เดิมที่มีเพียงเก้าคน ทั้งนี้ เพื่อที่ประธานาธิบดีจะได้แต่งตั้งผู้พิพากษาที่มีอุดมการณ์หัวก้าวหน้าเข้าไปนั่งในศาลรัฐธรรมนูญ แล้วเพิ่มคะแนนเสียงเปิดทางให้แผนเศรษฐกิจของรัฐบาล

ในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศอเมริกาตกอยู่ภายใต้ความตึงเครียด เพราะในขณะที่แผนการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจถูกศาลตัดสินให้ตกไปทีละแผน ประธานาธิบดีรูสเวลท์ก็แสดงท่าทีแข็งกร้าวขึ้นตามลำดับ ครั้งหนึ่งถึงกับประกาศเสียงออกวิทยุว่า “…เราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญเราจากศาล และปกป้องศาลจากตัวศาลเอง… เราต้องการให้ศาลสูงมอบความยุติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่อยู่เหนือมัน” 3 กระแสสังคมส่วนใหญ่ที่สนับสนุนประธานาธิบดี เริ่มโจมตีว่าศาลสูงฯ เป็นปฏิปักษ์กับรูสเวลท์ เพราะเนื้อหาแผนเศรษฐกิจส่วนหนึ่งจะทำให้ผู้พิพากษาได้รับเงินบำนาญน้อยลง ในขณะเดียวกัน ศาลสูงก็ได้รับการสนับสนุนจากฝั่งนักธุรกิจอย่างแข็งขัน

ดังนั้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น จึงเป็นความขัดแย้งทั้งในเชิงสถาบันและในระดับสังคม

ในที่สุด ความขัดแย้งคลี่คลายลงเมื่อผู้พิพากษาคนหนึ่งจะเสียชีวิตลง และอีกคนเกษียณตัวเอง (Retire) ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประธานาธิบดีสามารถแต่งตั้งเสียงสนับสนุนเข้าไปในที่นั่งที่ว่างลง แล้วกลับไปเล่นไปต่อสู้ในชั้นศาล เพราะเมื่อศาลสูงมีคะแนนเสียงระหว่างผู้พิพากษาหัวก้าวหน้าและหัวอนุรักษ์พอกัน การต่อสู้อย่างเท่าเทียมจึงเป็นไปได้ในกระบวนการทางศาลตามปกติ

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนว่า กลไกหรือสำนึกทางวัฒนธรรมเป็นสิ่งสำคัญ ศาลอเมริกาเลือกหลีกเลี่ยงการเข้าปะทะแตกหักด้วยการถ่วงดุลตัวเอง เพราะหากไม่ทำเช่นนี้แล้ว เสียงส่วนใหญ่ในศาลก็เป็นเสียงฝั่งอนุรักษ์นิยมที่ปฏิเสธแผนการทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดี ซึ่งย่อมไม่เป็นประชาธิปไตยตามหลักเสียงข้างมาก

จากที่เล่ามาทั้งหมด จะเห็นได้ว่าการดำรงตนของอำนาจตุลาการภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศแม่แบบประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา เพราะบนฐานคิดของระบอบนี้ หลายครั้งความขัดแย้งไม่มีคำตอบผิดถูกชัดเจน แต่เป็นเรื่องของความเห็นหรือจุดยืนที่แตกต่างกันของคู่ขัดแย้ง ในระบอบอื่นๆ ศาลอาจสมาทานคุณค่าใดคุณค่าหนึ่ง แล้วตัดสินอำนวยความยุติธรรมบนพื้นฐานหลักการใดหลักการหนึ่งเพียงอย่างเดียวได้โดยไม่ต้องคิดมาก เช่น จำคุกหรือประหารชีวิตผู้ที่หมิ่นผู้นำโดยไม่ต้องคำนึงถึงหลักกระบวนการยุติธรรม หรือสิทธิเสรีภาพของประชาชน

หลายครั้งศาลสามารถสร้างสรรค์คำตัดสินที่ลงตัว เช่น ครั้งหนึ่งศาลสูงฯ อเมริกาตัดสินไม่ให้เสียงข้างมากละเมิดเสียงข้างน้อย โดยให้เหตุผลว่าเพราะเสียงข้างมากก็ประกอบขึ้นด้วยเสียงข้างน้อยหลายเสียงมารวมกัน กล่าวโดยสรุปได้ว่า ดังนั้นแล้ว ถ้าเสียงข้างน้อยไม่มีความหมาย เสียงข้างมากก็ย่อมไม่มีความหมาย คำตัดสินดังกล่าวคือตัวอย่างของการที่ศาลสามารถกลมกลืนหลักการเสียงข้างน้อยและเสียงข้างมาก ซึ่งกำลังปะทะกันอยู่ให้เป็นเนื้อเดียวกันอย่างงดงาม

แต่ความสามารถส่วนบุคคลเช่นนี้ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา หลายครั้งศาลอเมริกาก็ตัดสินผิดพลาดได้ เช่น ครั้งหนึ่งเคยตัดสินว่าคนดำไม่ถือเป็นมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่เป็นส่วนหนึ่งของหลักความเสมอภาค เช่นนี้แล้ว เราคงปล่อยให้สังคมการเมืองหวังพึ่งแต่กึ๋นของตุลาการไม่ได้ เอาเข้าจริง ต่อให้ตัดสินออกมาได้อย่างมีกึ๋นอย่างไรก็ไม่วายมีคนไม่พอใจประณามอยู่ดี ดังนั้น เพื่อธำรงความชอบธรรมของสถาบันศาลเอาไว้ท่ามกลางระบอบประชาธิปไตย กลไกเชิงสถาบันและวัฒนธรรมที่ใช้ในการถ่วงดุลอำนาจศาลจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง

เพื่อไม่ให้ถูกก่นด่าว่าแอบลืมตาเลือกที่รักมักที่ชัง ทางออกคงไม่ใช่การที่ศาลมาตะแบงว่าตนซื่อสัตย์หลับตาตนเองตลอดเวลา แต่น่าจะอยู่ที่การยอมให้ตนถูกผ้าโพกปิดตาตนเอาไว้ เท่านี้ ต่อให้ตัดสินมาแย่อย่างไรก็ชอบธรรมกว่า เพราะอย่างน้อยก็จะไม่ถูกโจมตีว่าความผิดพลาดเกิดจากอคติส่วนตัว

หมายเหตุ

1 Guido Knopp. Hitler’s Hitmen. Sutton publishing. 2006: p. 209-219

2“Judicial procedures reform 1937”

3Raul C. Pagalangan. Save the constitution from the court. (Website). เข้าถึงได้จาก http://opinion.inquirer.net/19229/%E2%80%98save-the-constitution-from-the-court%E2%80%A6%E2%80%99. (วันที่ค้นข้อมูล: 18 มิถุนาน 2555).