ThaiPublica > เกาะกระแส > ก้าวสู่โลก “เศรษฐกิจสีเขียว” ต้องทำความเข้าใจและไปให้ไกลกว่ากระแส

ก้าวสู่โลก “เศรษฐกิจสีเขียว” ต้องทำความเข้าใจและไปให้ไกลกว่ากระแส

9 กรกฎาคม 2012


งานเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว" วิทยากรเริ่มที่สองจากซ้ายได้แก่นายพาโบล โซลอน ผู้อำนวยการบริหาร, นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระ เจ้าของบล็อก, นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายนณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจสิ่งแวดล้อม
งานเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว” วิทยากรเริ่มที่สองจากซ้ายได้แก่นายพาโบล โซลอน ผู้อำนวยการบริหาร, นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระ เจ้าของบล็อก, นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และนายนณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจสิ่งแวดล้อม

เศรษฐกิจสีเขียวในไทยไม่แตกต่างกับนิยามเพื่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ที่ผ่านมา เป็นเพียงนโยบายของรัฐที่เอื้อให้อุตสาหกรรมปล่อยมลพิษและทำลายสิ่งแวดล้อมได้อย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ “เศรษฐกิจสีเขียว” สามารถทำได้หากรัฐบาลกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง คิดถึงประชาชนส่วนใหญ่มากกว่านายทุน

จากแนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว (www.gsei.or.th/pdf/24-8-54_rio+20.doc) ที่เป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นสีเขียวจริงไหม และทำได้จริงหรือเหมาะสมกับประเทศไทยหรือไม่

งานเสวนาเรื่อง “เศรษฐกิจสีเขียว: ทำความเข้าใจ ไปให้ไกลกว่ากระแส Green Economy: Let’s Go Beyond the Mainstream” ณ ศาลาปันมี บ้านอารีย์ เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีผู้ร่วมเสวนาได้แก่ นายพาโบล โซลอน (Pablo Solón) ผู้อำนวยการบริหาร Focus on the Global South และ อดีตหัวหน้าคณะเจรจาเรื่องโลกร้อนและเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศโบลิเวีย, นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระ เจ้าของบล็อก“คนชายขอบ” และอดีตนักการเงินการธนาคาร, นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจสิ่งแวดล้อม จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (Siamensis.org) และนางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ร่วมผลักดันแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทางเลือก และผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ท

นายพาโบล โซลอน (Pablo Solón) ผู้อำนวยการบริหาร Focus on the Global South และ อดีตหัวหน้าคณะเจรจาเรื่องโลกร้อนและเศรษฐกิจสีเขียว ประเทศโบลิเวีย กล่าวว่า เศรษฐกิจสีเขียวคือ การพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงธรรมชาติ อยู่บนพื้นฐานของความสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด โดยการดึงธรรมชาติเข้ามาสู่ตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขัน

จากแนวคิดที่ว่าธรรมชาติต้องไม่ถูกละเลยนี้ นักวิชาการบางกลุ่มมีความคิดที่จะแก้ปัญหาโดยการติดป้ายราคาให้กับธรรมชาติ ตั้งแต่ติดป้ายต้นไม้ มายังการติดป้ายที่ระบบ และศักยภาพการทำงานของธรรมชาติที่สามารถทำได้ เพื่อให้คนเข้าไปดูแลรักษา แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนที่ไม่เห็นด้วย เพระไม่เชื่อว่าการติดป้ายราคานั้นจะช่วยแก้ปัญหาได้ เพราะสุดท้าย การติดป้ายก็คือการทำธรรมชาติให้กลายเป็นสินค้าให้คนมาเก็งกำไร แล้วก็สามารถออกใบอนุญาตให้คนก่อมลพิษต่อไปได้ เช่น คาร์บอนเครดิต หากไม่มีการควบคุมอย่างจริงจัง ว่าแต่ละประเทศสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่าไหร่ ปัญหาก็ยังอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น คุณค่าหรือประโยชน์ที่แท้จริงของราคาต้องสะท้อนความเป็นจริง

หันกลับมามอง “เศรษฐกิจสีเขียว” ที่ประเทศไทย นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักวิชาการอิสระ เจ้าของบล็อก “คนชายขอบ” และอดีตนักการเงินการธนาคาร กล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยยอมรับได้หรือยัง ว่าวิถีการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยในขณะนี้ไม่ยั่งยืน หากยอมรับได้แล้ว ก็ต้องพยายามหาจุดที่สมดุลหรือพื้นที่ตรงกลางระหว่าง “ตลาด” และ “พื้นที่สีเขียว” ให้ได้ ไม่ใช่พอยอมรับว่าไม่ยั่งยืน เลยแก้ปัญหาโดยการใช้ตลาดเป็นตัวนำ ดึงทุกอย่างเข้าสู่ตลาด

เรื่องปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นในประเทศไทย คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือประชาชนหรือชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง และเมื่อเกิดปัญหา การเยียวยาก็แทบจะไม่มี ชาวบ้านเองก็เป็นคนที่มีเสียงน้อย และก็ต้องทนกับมลพิษเหล่านั้นต่อไป เพราะไม่สามารถหลีกหนีไปไหนได้ ดังนั้น การแก้ปัญหาที่ดีควรจะให้ทุกฝ่ายได้ตัดสินใจร่วมกัน ทั้งภาคประชาชน ผู้ประกอบการ และภาครัฐ

ขณะที่นโยบายของรัฐบาลก็มีส่วนสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ที่ผ่านมา รัฐบาลสนับสนุนพลังงานที่ไม่ยั่งยืนมาโดยตลอด ทำให้พลังงานหมุนเวียนนั้นมีราคาแพง

“เศรษฐกิจสีเขียวคือไม่เบียดเบียนกัน ที่ผ่านมา กว่าจะรู้ตัวว่าเบียดเบียนอาจสายเกินไป ดังนั้น สิ่งสำคัญคือ “ข้อมูล” ที่ภาครัฐและภาคธุรกิจต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เพื่อตรวจสอบและเฝ้าระวังซึ่งกันและกัน สุดท้ายคือ “การเชื่อมโยง” ให้ข้อมูลและปัญหาไปถึงยังทุกๆ ฝ่าย กระจายจากเมืองไปสู่ชนบท และจากชนบทมาสู่เมือง ซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญที่สื่อสารมวลชนต้องปฏิบัติให้สำเร็จ”

ในส่วนของผู้ประกอบการ นายนณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ประกอบการธุรกิจที่สนใจสิ่งแวดล้อม จนกลายมาเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ กล่าวว่า ธุรกิจเกิดขึ้นจาก 3 ส่วน คือ ผู้ประกอบการ รัฐบาล และชาวบ้านหรือชุมชน ดังนั้น เพื่อขจัดปัญหาที่จะเกิดกับชุมชน ผู้ประกอบการต้องทำธุรกิจด้วยความจริงใจ มีจิตสำนึกคิดถึงส่วนรวม แน่นอนว่าธุรกิจต้องมุ่งเน้นกำไร แต่ก็ต้องดูสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบด้วย

เรื่องการกำจัดมลพิษก่อนปล่อยทิ้งสู่สิ่งแวดล้อม แม้ว่าเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีนั้นๆ มีราคาสูง อาจถึง 35% ของต้นทุน แต่ก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่ผู้ประกอบการจะไม่ทำ เพราะแม้การลงทุนจะสูงเพียงใดก็ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ ส่วนเรื่องคาร์บอนเครดิตในไทยนั้น ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ใช่ของจริง

สำหรับพลังงานทางเลือก ในประเทศไทยก็มีน้อยกว่าและราคาแพง ดังนั้น คนจะเลือกใช้ก็ต่อเมื่อมันดีกว่าจริงๆ แต่เทคโนโลยีที่เรามีตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้น รัฐบาลเองก็สนับสนุนแบบกล้าๆ กลัวๆ ตัวอย่างเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ถ้าหากเราใช้จะทำให้ค่า FT สูงขึ้น เมื่อต้นทุนสูงขึ้น ค่าไฟจึงสูงขึ้นตาม แล้วประชาชนจะยอมจ่ายไหม

“หากรัฐบาลคำนวณถึงต้นทุนให้รอบด้านมากขึ้น ทั้งต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ต้นทุนทางสุขภาพของประชาชน ฯลฯ รวมเข้าไปในต้นทุนการผลิตด้วย ก็จะพบว่า แม้ราคาจริงที่ประชาชนต้องจ่ายจะสูงขึ้น แต่ก็ถูกกว่าการจ่ายตามราคาตามเดิมโดยทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพร่างกายค่อยๆ ถูกทำลายไป แต่ถ้ารวมต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมไปแล้ว พลังงานทางเลือกอาจจะถูกกว่าก็ได้ เพราะต้นทุนทางอ้อมที่รัฐบาลไม่ได้คิดนั้นมันมีมูลค่ามหาศาล เพราะหมายถึงชีวิตของประชาชน และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วจะวัดได้ยากก็ตาม”

ในขณะที่นางสาวสุรีรัตน์ แต้ชูตระกูล กลุ่มอนุรักษ์ทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ผู้ร่วมผลักดันแผนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทางเลือก และผู้ประกอบการธุรกิจรีสอร์ท ตัวแทนจากภาคประชาชน มองว่า เศรษฐกิจสีเขียวที่เกิดขึ้นในประเทศไทยนั้นยังไม่ใช่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างแท้จริง ฟังไปฟังมาก็เหมือนกับคำว่าคาร์บอนเครดิต หรือ CSR ที่เคยมีมาก่อนหน้านี้เท่านั้น เพียงแค่เปลี่ยนชื่อให้ฟังดูดีขึ้น แต่นโยบายหรือพฤติกรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจยังคงเหมือนเดิม โดยเฉพาะนโยบายของรัฐที่สนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรม แต่ขาดนโยบายในการควบคุมการปล่อยของเสียจากอุตสาหกรรมเหล่านี้ ทำให้เกิดมลพิษที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนโดยรอบ

เช่น ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รัฐบาลส่งเสริมให้การทำอุตสาหกรรมเหล็ก การถลุงเหล็ก ทั้งๆ ที่อุตสาหกรรมเหล็กของไทยไม่สามารถแข่งขันกับตลาดต่างประเทศได้ ต้องใช้เงินอุดหนุนของรัฐตลอดเวลา หรือโครงการสร้างท่าเรือน้ำลึก ซึ่งทับซ้อนกับพื้นที่วางไข่ของปลาทู และโครงการขยายถนนโดยทับพื้นที่ป่าชายเลน เป็นต้น

ดังนั้น การต่อสู้เพื่อ “สีเขียว” เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ก็คือการต่อสู้กับรัฐบาลมากที่สุด ทั้งโครงการของรัฐโดยตรงและนโยบายต่างๆ ที่เอื้อให้นายทุนสามารถตั้งโรงงานอุตสาหกรรมได้ แม้ว่าในความเป็นจริงจะทำลายสิ่งแวดล้อม แต่หากบอกว่าอยู่ในโครงการที่มีชื่อความหมายว่า “รักษาสิ่งแวดล้อม” ก็สามารถตั้งโรงงานได้ เช่น อุตสาหกรรมเชิงนิเวศ คือการใช้พื้นที่เชิงนิเวศตั้งโรงงาน

“สิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือ “ความเป็นธรรม” จากภาคธุรกิจและภาครัฐ ในการดำเนินกิจการหรือออกนโยบายที่คำนึงถึงผลกระทบที่พวกเขาจะต้องได้รับด้วย ไม่ใช่ตีค่าต้นทุนของพวกเขาเท่ากับศูนย์ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มีอาชีพเกษตรกรหรือรับจ้างเป็นงานหลักอยู่แล้ว แต่กลับต้องมาต่อสู้กับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเหนื่อยกว่างานประจำเสียอีก คาร์บอนเครดิตก็มีเพื่อให้โรงงานสามารถปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ สร้างโรงไฟฟ้าก็เพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมพอใช้”

สิ่งที่ชาวบ้านต้องมีคือ “รู้เท่าทัน” ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และปัญหาที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจสีเขียวทำได้ไม่ยาก แต่ทุกฝ่ายต้องมองอย่างใจเป็นธรรม ในสังคมเศรษฐกิจ บทบาทของผู้บริโภคสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ถ้าอยากให้สังคมเปลี่ยน ก็ต้องเริ่มเปลี่ยนตัวเองก่อน แต่การเปลี่ยนแปลงระดับปัจเจกบุคคลจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงไปยังระดับมหภาคได้ หากรัฐบาลไม่ยอมเปลี่ยนแปลงด้วย