ThaiPublica > คอลัมน์ > เฟซบุ๊ก: ความอึกทึกอันเงียบงัน

เฟซบุ๊ก: ความอึกทึกอันเงียบงัน

6 กรกฎาคม 2012


ยุทธการ ยุทธนาวุธพิทักษ์

โหวกเหวกครับ…

เฟซบุ๊กของตัวเอง ที่ผู้เขียนไปทำสัญญาขอมาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก มาใช้นี่ช่างโหวกเหวก อึกทึก พุกพล่าน พุ่งโพล่ง เพราะเต็มไปด้วยการ “แบ่งปัน” อันมากมาย ไม่ว่าจะอกหัก รักหมา บ้าแมว แซวเพื่อน เคลื่อนไหว ไล่ล่า ด่ากัน ฉันเธอ เรอตด สดคาว ข่าวสาร งานเงิน เสริญสรร ปั้นเรื่อง เปรื่องปราชญ์ ขาดสติ ฯลฯ

ใครมีอะไรก็อยากแบ่งปันให้คนอื่นรับรู้ ยิ่งที่ถ้ามี “เพื่อน/friend” เยอะ สิ่งที่ผู้คนขว้างๆ ปาๆ มาแบ่งปันมันก็เยอะตามไปด้วย นั่นทำให้เฟซบุ๊กของผู้เขียน (และหลายๆ คน) ช่างเป็นพื้นที่ที่อึกทึกคึกโครมเป็นอย่างมาก ทว่า หากกล่าวกันในเชิงสัมผัสรับรู้แล้ว แม้ว่าบางสิ่งที่คนอื่นแบ่งปันมาจะมีสื่อที่มี “เสียง” อยู่ด้วย (เพลง, วิดีโอ) แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ผู้เขียนคิดว่าเราปฏิสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กผ่านการรับรู้ซึ่ง “ภาพ” ครับ

การปฏิสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กเกิดขึ้นผ่านการรับรู้ด้วยสายตาครับ เพราะฉะนั้น ความหมายของภาพในที่นี้จึงไม่ใช่แค่ภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหว แต่ยังรวมถึง “ตัวหนังสือ” ด้วยครับ และนั่นหมายความว่า แม้บนเฟซบุ๊กจะมีภาพอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่ภาพที่เราเห็นเยอะที่สุด ก็คือภาพของตัวหนังสือครับ

เพราะฉะนั้น โหวกเหวกโวยวายทั้งหลายที่ปรากฏอยู่บนเฟซบุ๊ก จึงเป็นความอึกทึกของภาพ ไม่ใช่เสียง ซึ่งตรงนั้นแหละ ที่ทำให้ผู้เขียนเห็นว่าความอึกทึกในเฟซบุ๊กนั้นมันช่างเงียบงันเสียนี่กระไร

เสียงเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสื่ออารมณ์ เป็นเครื่องมือที่สื่อสารอารมณ์ได้ตรงไปตรงมาเสียยิ่งกว่าตัวหนังสือของนักประพันธ์ชั้นยอดเสียอีก แต่เฟซบุ๊กไม่มีเสียงครับ เมื่อไม่มีเสียงก็ทำให้ไม่สามารถรู้อารมณ์ของผู้ที่แบ่งปันภาพตัวหนังสือบอกเล่าสิ่งต่างๆ ลงบนเฟซบุ๊กได้ การปะทะกันหลายๆ ครั้งบนเฟซบุ๊กเกิดขึ้นเพราะสภาพที่ไม่มีเสียงนี่แหละครับ มันทำให้การรับรู้อารมณ์ของคู่หรือวงสนทนาออนไลน์เป็นไปอย่างผิดพลาด ไอ้ที่ทีแรกคุยกันอย่างชาญฉลาด พอตีความอารมณ์พลาดก็สาดตะกวดสวดกัน เรื่องแบบนั้นมันก็เป็นเพราะแบบนี้

เมื่อตระหนักถึงความไม่สามารถสื่ออารมณ์ตรงนั้น หลายคนก็ใช้ความพยายามอันหลากหลาย เพื่อสร้างตัวหนังสือที่จะบันทึกเสียง อันสามารถสื่อความหมายออกมาได้ตรงกับเสียง ที่ตรงกับการแสดงออกในขณะนั้นของตัวเองมากที่สุด เช่น แทนที่จะเขียนว่า “จริงเหรอ” ที่ดูไม่มีอารมณ์อันใดแน่ชัด ก็เขียนเป็น “จิงเหยอ” ให้ดูน่ารักออดอ้อน หรือกระทั่ง “เจงหราาาาา” (ใส่ “า” หลายตัวเพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนการลากเสียงยาว) เพื่อแสดงอารมณ์กวนๆ เหล่านี้นั้น ล้วนเป็นการพยายามทำสิ่งที่หายไปในรูปแบบหนึ่ง (การได้ยิน) ให้ปรากฏขึ้นในอีกรูปแบบหนึ่ง (การมองเห็น) เป็นการพยายามสร้างเสียงกำหนดอารมณ์ผ่านภาพตัวหนังสือ

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ว่าการบันสึกเสียงด้วยภาพอักษรเหล่านั้นจะสมจริง (Hi-Def) แค่ไหน เมื่อมันเป็นการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊กแล้ว สุดท้าย ในทางของผู้รับรู้การถ่ายทอด สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่การได้ยินเสียง แต่คือการมองเห็นภาพอยู่ดี

แล้วอะไรเล่าครับ กระบวนการอะไร ที่มันเกิดขึ้นเมื่อเราเห็นภาพตัวหนังสือ คำตอบก็คือ “การอ่าน” นั่นเองครับ และถ้าจะให้เฉพาะเจาะจงกว่านั้น เมื่อเห็นภาพตัวหนังสือต่างๆ ในเฟซบุ๊ก กระบวนการที่เกิดขึ้นก็คือ “การอ่านในใจ”

หากไม่ใช่การอ่านให้ใครฟัง การอ่านเป็นกิจกรรมที่มีความเป็นส่วนตัวสูงนะครับ เป็นกิจกรรมทำคนเดียว หรือแม้จะเป็นการนั่งอ่านหนังสือด้วยกันหลายๆ คน เช่น รวมกันอ่านหนังสือสอบ แต่ในขณะที่อ่าน กระบวนการเข้าใจภาพตัวหนังสือที่เรียงกันตามกำกับของระบบภาษาก็เป็นไปแต่ในหัวผู้อ่านเพียงผู้เดียว

การอ่านในใจเป็น “การอ่านเงียบ” เป็นการทำให้เสียงหายไป เมื่ออ่านในใจ “สิ่งเสมือนเสียงอ่านของตน” ที่ปรากฏขึ้นในหัว ไม่ได้มาจากการที่สมองตีความเสียงที่ได้ยินจากภายนอก มันไม่ได้เกิดจากการที่ผู้อ่านได้ยินเสียงอ่านอันเกิดจากการอ่านออกเสียงของตัวเอง แต่เป็นสิ่งเสมือนเสียงอ่านที่เกิดขึ้นเพราะผู้อ่านปฏิสัมพันธ์กับภาพตัวหนังสือผ่านการมองเห็น โดยมี “ระบบภาษาที่ตนมีประสบการณ์” (ความรู้ทางภาษาที่ผู้อ่านมีอยู่) เป็นเครื่องมือในการแปลงสัญญาณภาพ

หากได้ยินเสียงอ่านในใจของตน สิ่งเสมือนเสียงที่ได้ยินในหัว (โดยไม่ผ่านหู) ในขณะที่ทำการอ่านนั้น เป็นเพียง “ร่องรอย” ของเสียง (ในฐานะคลื่นสั่นสะเทือนจากเส้นเสียงในลำคอ) ที่หายไปในการอ่านเงียบของผู้อ่าน โดยสมองของผู้อ่านใช้ความทรงจำที่มีต่อเสียงของตนเองเป็นวัตถุดิบในการสร้างร่องรอยนั้นขึ้นมา (ตรงนี้ทำให้สนุกครับ ลองอ่านในใจโดยใช้เสียงของคนอื่นที่เราจำได้ดู)

แต่ถึงที่สุด การอ่านในใจไม่มีเสียงครับ มีแต่ความเข้าใจที่มีต่อภาพตัวหนังสือตรงหน้า ผ่านระบบภาษาที่ตนรู้เรื่อง ซึ่งรู้เรื่องที่ว่าก็คือในเชิงการอ่านออกเขียนได้ เช่น อ.อ่าง+สระอา+น.หนู+ไม้เอกบน อ.อ่าง=อ่าน และมีความหมายแบบหนึ่งตามที่ผู้อ่านมีความเข้าใจต่อภาพคำว่า “อ่าน” ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะผู้อ่านมีระบบภาษาแบบนั้น สมองจึงแปลสัญญาณภาพออกมาได้แบบนั้น

ที่พูดมาทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็เพื่อจะชี้เห็นว่า เพราะเฟซบุ๊กเป็นสื่อที่ประกอบด้วยภาพตัวหนังสือเป็นหลัก แม้กระทั่งการพูดคุยที่ผู้อื่นมีต่อเราก็ยังเป็นการสื่อสารผ่านภาพตัวหนังสือ เฟซบุ๊กจึงเป็นโลกของการอ่านอันเงียบงันครับ แม้จะมีเสียงที่เกิดจากการแปลภาพตัวหนังสือเหล่านั้น มันก็เป็นเสียงที่เกิดแต่ในใจเราเงียบๆ คนเดียวเท่านั้น

สภาพดังกล่าว ทำให้การอ่านอันเกิดจากการมองเห็นภาพตัวหนังสือเป็นภาวะที่มีความลักลั่น (paradox) ในตัวเองครับ กล่าวคือ ในขณะที่ “การอ่าน” พาผู้อ่านไปสู่ “ความเป็นอื่นภายนอก” ที่ไม่ใช่ตัวเราเอง เพราะเป็นสิ่งที่แสดงออกมาโดยผู้อื่นหรือสิ่งอื่น แต่ในการ “อ่านรู้เรื่อง” ผู้อ่านต้องใช้ “ความเป็นอื่นภายใน” อันหมายถึงความเข้าใจที่ผู้อ่านมีต่อระบบภาษา (ที่พูดแบบนี้เพราะผู้เขียนคิดว่าจริงๆ แล้วคนเรานั้นว่างเปล่านะครับ อะไรๆ ที่มีประกอบเป็นตัวตนขึ้นมาล้วนเป็นสิ่งที่รับปรับแต่งมาจากภายนอกทั้งนั้น ความเข้าใจต่อระบบภาษาจึงถูกนับเป็น “ความเป็นอื่นภายใน”)

การอ่านให้รู้เรื่องจึงไม่ใช่ภาวะของการทำความเข้าใจสิ่งอื่นโดยตรง แต่คือการทำความเข้าใจสิ่งอื่นผ่านระบบภาษาที่พรรณนาถึงสิ่งนั้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ บุคคล หรือเหตุการณ์ต่างๆ เพราะฉะนั้น เวลาที่คนเราทำความเข้าใจสิ่งอื่น (ในที่นี้คือผ่านการอ่าน) แท้จริงแล้วน่าจะเป็นว่า เรากำลังทำความเข้าใจกับระบบภาษาที่มีอยู่ในตัวเอง (และถือใช้ร่วมกับคนอื่น) มากกว่า

ประเด็นมันอยู่ตรงนี้แหละครับ ทั้งหมดทั้งมวลนั้นทำให้ “การอ่านในใจ/การอ่านเงียบ” เป็นการอยู่กับ “ตัวเอง” มากกว่า “สิ่งอื่น” ยิ่งเมื่อเฟซบุ๊กเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยภาพตัวหนังสือมากกว่าสิ่งอื่น ทำให้ปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อเฟซบุ๊กเป็นไปในรูปของการอ่านเสียยิ่งกว่าวิธีการอื่นๆ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อปฏิสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ คนเราก็ยิ่งต้องอ่านไปเรื่อยๆ เกิดการปะทะสังสรรค์กันระหว่างความเป็นอื่นภายนอกกับความเป็นอื่นภายในดังที่กล่าวไปแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยต่อเนื่องที่ว่าไม่จำเป็นว่าต้องต่อสิ่งเดียวกันเรื่องเดียวกัน แต่เป็นในเชิงการปฏิสัมพันธ์ผ่านการอ่านที่มีต่อสิ่งต่างๆ อันหลากหลาย

และนั่นหมายความว่า ยิ่งเล่นเฟซบุ๊กไปเรื่อยๆ ยิ่งอ่านภาพตัวหนังสือไปเรื่อยๆ ผู้อ่านก็จะยิ่งจมอยู่กับตัวเองไปเรื่อยๆ เพราะไม่ว่าเมื่อภาพตัวหนังสือนั้นประกอบกับการทำความเข้าใจของผู้อ่านแล้วจะพาผู้อ่านไปถึงไหน ไปอยู่กับใคร แต่สุดท้าย ผู้อ่านกลับไม่ได้ไปไหนเลย ผู้อ่านยังคงนั่งอยู่ตรงนั้น นั่งเงียบๆ อยู่ต่อหน้าความอึกอึกของภาพตัวอักษรบนเฟซบุ๊ก และจมลงไปในโลกแห่งความเข้าใจที่มีแต่ตัวเองอยู่ผู้เดียว แบบนั้นแหละครับ ทำให้เมื่ออยู่กับความอึกทึกอันเงียบงันนั้นจนนานเกินไป จิตใจก็จะเข้าสู่ภาวะที่ใครต่อใครเขาเรียกว่าเหงาในที่สุด

นี่อาจจะเป็นผลข้างเคียง และเป็นตลกร้าย เมื่อเครื่องมือที่สามารถกระชับแน่นเวลาและสถานที่ บิดโน้มให้ผู้คนสามารถเข้าหากันได้รวดเร็วอย่างเฟซบุ๊ก กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวเสียเอง