ThaiPublica > เกาะกระแส > นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจ 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ใช้นโยบายจนตรอก – อย่าคิดว่าตัวเองเก่งกว่าตลาด – 3คำที่หายไป”

นักเศรษฐศาสตร์วิพากษ์นโยบายเศรษฐกิจ 1 ปีรัฐบาลยิ่งลักษณ์ “ใช้นโยบายจนตรอก – อย่าคิดว่าตัวเองเก่งกว่าตลาด – 3คำที่หายไป”

26 กรกฎาคม 2012


สถาบันคึกฤทธิ์ จัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “วิพากษ์ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ในฐานะประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
สถาบันคึกฤทธิ์ จัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “วิพากษ์ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยมีม.ร.ว.ปรีดิยาธร อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ในฐานะประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

รัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เข้ามาบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ นับตั้งแต่แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 มาจนถึงขณะนี้ก็เกือบจะครบ 1 ปีแล้ว สถาบันคึกฤทธิ์ โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวากุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการะทรวงคลัง ในฐานะประธานมูลนิธิคึกฤทธิ์ ได้จัดเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “วิพากษ์ผลงานเศรษฐกิจของรัฐบาล” โดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธรเป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ผู้ร่วมเสวนาได้แก่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ผลงานเศรษฐกิจที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรตั้งเป็นประเด็นถามเพื่อให้นักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 4 วิพากษ์ มุ่งไปที่เรื่องนโยบายจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน นโยบายค่าแรง 300 บาทต่อวัน นโยบายลงทุนโลจิสติกส์ของกระทรวงคมนาคมวงเงิน 19,000 ล้านบาท และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม

ทีดีอาร์ไอชี้ “ประชานิยม” เป็นนโยบาย “จนตรอก”

คำตอบที่ได้รับจากนักเศรษฐศาสตร์ทั้ง 4 มีทั้งด้านลบและด้านบวก เริ่มจาก ดร.นิพนธ์ ที่ตอบคำถามเรื่องนโยบายจำนำข้าวทุกเมล็ดราคา 15,000 บาทต่อตัน ว่า เป็นนโยบายที่เกิดขึ้นตอนหาเสียง และเป็นนโยบายของคน “จนตรอก” และทุกนโยบายประชานิยมเป็นนโยบายจนตรอกที่ต้องการจะชนะเลือกตั้ง

นโยบายของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แตกต่างจากนโยบายของ “ทักษิณ 1” ตรงที่ตอนนั้นนโยบายประชานิยมของ “ทักษิณ 1” มีการใช้เวลาเป็นปีไตร่ตรองอย่างรอบคอบกว่าจะประกาศเป็นนโยบาย เมื่อประกาศเป็นโยบายคนก็ประทับใจอย่างมากจึงชนะเลือกตั้ง

“แต่ปี 2554 ผมอยากเรียกว่าเป็นนโยบายจนตรอก ต้องการที่จะชนะการเลือกตั้ง ไม่ได้มีการไตร่ตรองให้ดีเหมือนสมัยก่อน ที่เห็นชัดเจนคือเรื่องจำนำข้าว กับ ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” ดร.นิพนธ์กล่าว

โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าว ดร.นิพนธ์แสดงความเป็นห่วงว่า โครงการจำนำข้าว 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณข้าวครึ่งหนึ่งอยู่ในมือรัฐบาล และรัฐบาลยังไม่มีการระบายข้าวออก ทำให้รัฐบาลเกิดปัญหา “กลืนไม่เข้าคายไม่ออก”

“ถ้ารัฐบาลไม่ระบายข้าว ปีต่อไป เมื่อผลผลิตข้าวออก รัฐบาลจะหาคลังที่ไหนไปเก็บข้าว ตอนนี้คลังกลางทั่วประเทศมีประมาณ 300 คลัง ไม่น่าเพียงพอ และถ้าไม่มีคลังสินค้าเก็บข้าว เราก็จะเหมือนอินเดียที่เอาข้าวไปกองกลางทุ่ง ซึ่งอินเดียก็มีปัญหาการระบาย เนื่องจากเก็บสต็อกไว้เยอะมาก แต่ถ้ารัฐบาลระบายข้าวออกมา ราคาข้าวจะต้องตกแน่ ไม่มีทางที่รัฐบาลจะขายข้าวได้ราคาสูง ขณะนี้มีความพยายามวิ่งเต้นจะขายข้าวให้รัฐบาลประเทศต่างๆ ที่เรียกว่า G to G ซึ่งเข้าใจว่ามีปัญหามาก” ดร.นิพนธ์กล่าว

ตัวอย่างเช่น ฟิลิปปินส์ เวลานี้กำลังเก็บเกี่ยว ไม่จำเป็นต้องซื้อข้าว และระบบการจัดซื้อจัดจ้างเริ่มโปร่งใสขึ้น ขณะที่อินโดนีเซีย ปีนี้ไม่มีความจำเป็นต้องซื้อข้าวเช่นกัน และระบบการซื้อขายข้าวมีระบบค่อนข้างชัดเจน การจะเปลี่ยนระบบเป็นล็อตใหญ่ๆ เป็นล้านตันค่อนข้างลำบาก และการขายข้าวกับบางประเทศ อาทิ เกาหลีเหนือ อาจมีปัญหาการจ่ายเงิน เป็นต้น

เพราะฉะนั้น การขายข้าวมีปัญหามาก ต้องหันมาพึ่งเอกชน ซึ่งเดิมเคยให้เอกชนรายได้ผูกขาดก็มีปัญหาอีก เพราะเอกชนรายเดียวไม่สามารถขายข้าวจำนวนมากๆ ได้ เนื่องจากการส่งออกไปหลายร้อยประเทศ จำเป็นต้องพึ่งผู้ส่งออกจำนวนมาก แต่ทำไมรัฐบาลไม่ระบายข้าวโดยประมูลเป็นล็อตเล็กๆ ประมาณ 100,000-200,000 ตัน เพื่อให้มีผู้ส่งออกหลากหลาย

“ถ้าไม่ระบายข้าว รัฐบาลจะมีภาระค่าใช้จ่ายเยอะ ทั้งเรื่องสต็อกข้าว เรื่องข้าวเสื่อมคุณภาพ ติดหนี้ติดสิน แล้วรัฐบาลไม่มีเงินไปรับจำนำล็อตต่อไป ก็ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ตอนนี้ ธ.ก.ส. เต็มกลืนแล้ว ก็ต้องไปกู้ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน ก็จะเป็นภาวะวนไปเรื่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อเอาเงินมาถมตรงนี้ เงินที่รัฐบาลจะเอาไปใช้ที่อื่นก็ลดลง ก็จะเป็นปัญหาวนเวียนแบบนี้” ดร.นิพนธ์กล่าว

ผลประโยชน์ “จำนำข้าว” ตกกับชาวนารวย

ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ดร.นิพนธ์ยืนยันว่า นโยบายจำนำข้าวไม่ได้ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มอย่างแท้จริง เพราะรายได้จากการส่งออกลดลง ไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณส่งออกข้าวลดลง ดังนั้น แม้ราคาจะสูงขึ้น แต่รายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น และเริ่มเห็นรายได้หายไปแล้วจากการส่งออกใน 8-9 เดือนตั้งแต่รัฐบาลรับจำนำข้าวเมื่อเดือน ต.ค. 2554

ขณะที่ชาวนาที่ได้ประโยชน์จากโครงการจำนำข้าวคือชาวนาที่มีฐานะดี โดยพบว่ามีชาวนาเข้าโครงการจำนำข้าวประมาณ 1 ล้านราย แต่ชาวนาทั่วประเทศมีประมาณ 3.7-3.8 ล้านราย เพราะฉะนั้นโครงการนี้ช่วยชาวนาเพียงแค่ 1 ล้านราย และยังเป็นชาวนาที่มีผลผลิตส่วนเกิน ซึ่งเป็นชาวนาที่มีฐานะดี แต่ชาวนาส่วนใหญ่ไม่ได้ประโยชน์

ดร.นิพนธ์อธิบายว่า เราเข้าใจผิดว่าชาวนาส่วนใหญ่เป็นคนจน ซึ่งไม่จริง ทีดีอาร์ไอได้ไปทำสถิติชาวนาว่าจนจริงหรือเปล่า โดยก็ไปเอารายได้ชาวนาทั้งหมดวัดตามรายได้ของคนทั้งประเทศมาเรียงเป็น 10 กลุ่ม ตั้งแต่จนที่สุดถึงรวยที่สุด ปรากฏว่า 4 กลุ่มบนที่รวยที่สุดทั้งประเทศมีชาวนาอยู่ 1 ล้านครัวเรือน ใกล้เคียงกับตัวเลขที่เข้าโครงการจำนำข้าว และชาวนา 1 ล้านครัวเรือนนี้มีผลผลิตส่วนเกินที่ออกขายในตลาดประมาณ 55% ของผลิตผลิตส่วนเกินที่ขายในตลาด ที่เหลือเป็นของชาวนารายเล็กๆ

“ฉะนั้นชาวนาที่ได้ประโยชน์คือชาวนาฐานะดี มีผลผลิตส่วนเกินขายตลาด แต่ชาวนาอีก 3 ล้านครัวเรือนไม่มีข้าวขายออกสู่ตลาด ปลูกข้าวกินเอง ไม่ได้ประโยชน์เลย” ดร.นิพนธ์กล่าว

แนะยกเลิกประชานิยม รองรับลงทุนระยะยาว

สำหรับนโยบายลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อป้องกันท่วม ดร.นิพนธ์ยอมรับว่า เป็นนโยบายที่ต้องชื่นชม แม้ตอนแรกจะมีปัญหาการจัดการ แต่หลังจากนั้นก็มีแผนแม่บทออกมาอย่างรวดเร็ว และจัดหางบประมาณ 350,000 ล้านบาท และรัฐบาลยังจะกู้เพิ่มอีก 2.2 ล้านล้านบาท รวมแล้วต้องลงทุน 2.5 ล้านล้านบาทภายใน 6-7 ปี หรือใช้งบประมาณปีละ 400,000-500,000 ล้านบาท เมื่อมีความจำเป็นต้องลงทุนมาก ในอนาคตก็ควรจะค่อยๆ ลดนโยบายประชานิยม โดยเฉพาะโครงการรับจำนำ และโครงการบ้านหลังแรก กับ รถคันแรก ซึ่งเป็นการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

“รัฐบาลต้องกู้เพิ่ม 2.5 ล้านล้านบาท ภาระดอกเบี้ยจะตามมา เพราะฉะนั้นเราต้องลดนโยบายประชานิยม และต้องทำโครงการให้ดี เพื่อให้ได้ผลตอบแทนกลับคืนมา และการบริหารจัดการโครงการขนาดใหญ่ให้ขับเคลื่อนได้ ควรมีการจัดตั้งหน่วยงานอิสระขึ้นมารับผิดชอบโดยตรง และกำหนดขั้นตอนการดำเนินการของหน่วยราชการให้ชัดเจน โดยต้องมีการบริหารความเสี่ยงการคัดเลือกโครงการ การป้องกันการทุจริต ที่สำคัญต้องมั่นใจว่า สามารถสร้างการเติบโตได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม” ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว

นอกจากนี้ ดร.นิพนธ์ยังประเมินว่า หากทำนโยบายประชานิยมต่อไปจะเป็นอันตราย โดยเฉพาะนโยบายการแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรที่รัฐบาลเข้าไปรับจำนำ รัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงกลไกตลาด ควรพยายามยกเลิกหรือค่อยๆ ลดลง โดยเฉพาะนโยบายจำนำข้าวจะทำให้รัฐบาลมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และอาจเป็นระเบิดเวลาสร้างปัญหาหนี้สาธารณะเพิ่มสูงขึ้น

จากข้อมูลที่ทีดีอาร์ไอรวบรวมภาระหนี้รัฐบาลทั้งหมดที่ซุกอยู่ตามที่ต่างๆ ด้วย พบว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะขณะนี้เกือบถึง 60% ต่อจีดีพีแล้ว และในกรณีเลวร้ายที่สุด ดร.นิพนธ์ระบุว่า เราจะเป็นเหมือนฟิลิปปินส์ที่ตกขบวนทุกครั้งที่เขาเจริญก้าวหน้า และย่ำแย่เมื่อเกิดวิกฤติ

“ดร.นิพนธ์” ให้รัฐบาลสอบตก

ดร.นิพนธ์กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นหรืออยากให้รัฐบาลทำมากที่สุดคือ “รัฐบาลควรทำในสิ่งที่ควรทำ และไม่ทำในสิ่งที่ไม่ควรทำ” โดยสิ่งที่รัฐบาลควรทำคือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการ การกำหนดปรับปรุงกฎกติกาต่างๆ ให้เหมาะสม สิ่งที่ไม่ควรทำคือ อย่าคิดว่าตัวเองเก่งกว่าตลาด เพราะรัฐบาลไม่ได้มีข้อมูลที่ดีที่สุด

“ถ้าต้องให้คะแนนรัฐบาล ผมให้ตามโพลล์ คือสอบตก” ดร.นิพนธ์กล่าว

“วิรไทย” ชี้ 3 คำที่หายไปจากรัฐบาลนี้

ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ดร.วิรไทยมีความเห็นว่า รัฐบาลบริหารแบบมองระยะสั้นเป็นหลัก เน้นใช้เงินเพื่อการบริโภคมากกว่าการลงทุน ไม่สนใจขยายฐานภาษี เพราะการทำนโยบายประชานิยมส่วนใหญ่จะลดภาษี และความโปร่งใสในการบริหารจัดการ นโยบายของรัฐบาลมี 3 คำที่หายไป หรือไม่เห็นในรัฐบาลนี้

คำแรก “นโยบายเศรษฐกิจ” รัฐบาลในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาทำงานตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน คือบริหารเศรษฐกิจด้วย “มาตรการ” มากกว่า “นโยบาย” เราไม่เห็นนโยบายเศรษฐกิจที่เป็นนโยบายระยะยาว เช่น มาตรการ 300 บาท ฟังดูดี แต่หลังจากปรับเพิ่มขึ้นแล้วไม่เห็นรัฐบาลมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องประสิทธิภาพ และช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบ

คำที่สอง “ปฏิรูปเศรษฐกิจ” เรื่องนี้ต้องมีนโยบายจัดการด้านซัพพลาย แต่รัฐบาลมุ่งทำแต่ด้านดีมานด์ แม้แต่การลงทุน 3.5 แสนล้านบาท หรือลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพการแข่งขันให้เศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นนโยบายด้านซัพพลาย แต่รัฐบาลก็ยังติดกับดักด้านดีมานด์

โดยการปฏิรูปที่สำคัญที่หายไปจากรัฐบาลนี้ ได้แก่ การปฏิรูปการศึกษา การปฏิรูประบบราชการ การปฏิรูปการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น การปฏิรูปสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเปิดเสรี และนโยบายเกี่ยวกับคอรัปชั่น

คำที่สาม “วินัย” ที่น่าเสียดายคือ เรื่องสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ที่ประเทศไทยเป็นประเทศสุดท้ายในเอเชียที่สามารถจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก แต่ล่าสุดรัฐบาลได้เลื่อนการคุ้มครองเงินฝากออกไปอีก ทำให้ผู้ฝากเงินไม่มีวินัย และไม่เข้าใจเรื่องความเสี่ยงของระบบการเงิน สามารถฝากเงินที่ไหนก็ได้ที่ให้ผลตอบแทนสูงเหมือนช่วงก่อนวิกฤติที่สถาบันการเงินแข่งกันให้ดอกเบี้ยสูง ถ้ากลับไปคิดแบบนี้ ตรงนี้อาจเป็นระเบิดเวลาก็ได้

อีกนโยบายที่ทำให้ขาดวินัย เช่น นโยบายพักหนี้ดี ซึ่งธุรกิจสถาบันการเงินเขาทำกันอยู่แล้ว หากเป็นลูกนี้ที่ดีเขามีการดูแลให้สินเชื่อเพิ่ม แต่รัฐบาลไปสั่งให้ดำเนินการ

“ถ้าทำ 3 เรื่องดังกล่าวกลับมาเป็นวาระประเทศไทยได้ ก็จะสบายใจได้ว่าประเทศไทยกำลังจะไปทางไหน หากรัฐบาลไม่คิดหนักๆ ยังเน้นใช้นโยบายประชานิยม ยัง “ลั่นล้า” อยู่ ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อประเทศอื่นๆ ในโลกถอนมาตรการผ่อนคลายด้านการคลัง การเงิน สภาพคล่องเริ่มหาย ดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น เราอาจเจอปัญหาหนักในตอนนั้น ถ้าไม่เตรียมตัวรับสถานการณ์ไว้ตั้งแต่ตอนนี้”

แนะ “copy” นโยบายมาเลเซีย

ถ้าให้เลือกเพียงอย่างเดียวว่ารัฐบาลควรทำอะไร ดร.วิรไทเสนอว่า อยากให้รัฐบาลไทยไปดูแผนแม่บทพัฒนาประเทศของรัฐบาลมาเลเซีย หรือไป copy (คัดลอก) มาสัก 90% ถ้าทำได้สักครึ่งหนึ่งประเทศไทยก็จะไปได้ แต่ไม่ใช่ดูแต่แผนแม่บท แต่ต้องดูเรื่องการบริหาร และวิธีการปฏิรูปของเขามาด้วย

“เราไม่มีเวลาก็ไปcopy มาเลย และเราจะเปลี่ยนประเทศไทยได้” ดร.วิรไทกล่าว

จี้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องโปร่งใส

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)

สำหรับนโยบายการลงทุนของกระทรวงคมนาคม ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณ 19,000 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน 8-9 ปีข้างหน้า ลงทุนในรถไฟรางคู่ การลงทุนท่าเรือปากบารา นอกจากนี้ยังอนุมัติวงเงินลงทุนสร้างรถไฟมาตรฐาน ซึ่งทั้งหมดเป็นแพคเก็จใหญ่เพื่อลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ นั้น ดร.ศุภวุฒิมีความเห็นว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง รวมถึงโครงการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) หรือ การเปิดประเทศของพม่า แต่ได้แสดงความเป็นห่วงในรายละเอียดโครงการว่า ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส และต้องเป็นการลงทุนในโครงการที่ให้ผลตอบแทนที่ดี

“ตามหลักเศรษฐศาสตร์ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดี จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการลงทุน และความโปร่งใสสำคัญที่สุด”

ดร.ศุภวุฒิยกตัวอย่างในกรณีการเปิดประมูลของรัฐบาลว่า ต้องทำให้บริษัทต่างประเทศที่มีมาตรฐานสูง เช่น อเมริกา กล้าเข้ามาประมูลด้วย ถ้าเขาไม่เข้ามาประมูลรัฐบาลก็ต้องทำงานเชิงรุกไปตามเหตุผลเขา ว่ามีข้อจำกัดอะไรถึงไม่เข้าร่วม อาทิ กำหนดให้บริษัทที่เข้าประมูลจะต้องมีคนไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่า 51% ต้องพิจารณาว่าเรื่องนี้จำเป็นหรือไม่ที่ต้องกำหนด ถ้าเราต้องการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า นโยบายที่อยากเห็นรัฐบาลทำมากที่สุดคือเรื่องพลังงาน ไม่เห็นนโยบายทดแทนพลังงานที่อาจหมดในอนาคต เนื่องจากแก๊สและถ่านหินเป็นพลังงานที่มีแหล่งการผลิตจำกัด แต่ไม่เคยเห็นแผนการของรัฐบาลเรื่องนี้เลยว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งจำเป็นมากเพราะอาจทำให้การพัฒนาอุตสาหกรรมมีปัญหาในอนาคต

นอกจากนี้ ประเทศมหาอำนาจอย่างญี่ปุ่นกับจีน พยายามพัฒนาเชื่อมต่อมหาสมุทรฝั่งอันดามันกับทะเลจีนใต้ ดังนั้น รัฐบาลไทยควรจะหาโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมตรงนี้ด้วย รวมทั้งเตือนรัฐบาลว่า อาจมีภาระค่อนข้างมากในการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีเงินฝากเพิ่มขึ้นถึง 30% จากที่ก่อนวิกฤติปี 2540 มีสัดส่วนเพียง 6% ดังนั้น หากสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐมีปัญหา รัฐบาลอาจมีภาระค่อนข้างหนักตรงนี้

พอใจนโยบายค่าแรง 300 บาท

ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ดร.ภาณุพงศ์ นิธิประภา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สำหรับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ดร.ภาณุพงศ์ตั้งข้อสังเกตว่า การประเมินควรดูให้รอบด้าน ไม่ควรคำนึงถึงแต่ผู้ผลิตฝ่ายเดียว ควรคำนึงถึงความมั่งคั่ง และการเจริญเติบโตด้านอื่นด้วย โดยมีความจริงที่ควรทำความเข้าใจคือ แรงงานที่ได้รับค่าจ้างข้างขั้นต่ำไม่ถึง 300 บาท ส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือและแรงงานต่างด้าว ดังนั้นไม่ใช่แรงงานทุกคนจะได้รับค่าจ้างเพิ่มเป็น 300 บาท แต่โดยทั่วไปจะได้ค่าจ้างสูงกว่าอยู่แล้ว จะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ ยกเว้นเอสเอ็มอี และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

ส่วนประเด็นที่ว่าปรับค่าจ้างขั้นต่ำแล้วทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ดร.ภาณุพงศ์อธิบายว่า ภาวะสินค้าราคาแพง หรือเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น มาจากปัจจัยอื่นด้วย ค่าจ้างเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“นโยบาย 300 บาท ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ควรทำ เพราะหากหักเงินเฟ้อออกไป ค่าแรงขั้นต่ำที่แท้จริงลดลงในรอบ 10 ปี และไม่ควรยึดติดกับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเรื่องการส่งออกที่เคยเน้นใช้แรงงานถูก ไปสู่การส่งออกในรูปแบบใหม่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปแล้ว” ดร.ภาณุพงศ์กล่าว

สำหรับนโยบายแทรกแซงราคาสินค้าของรัฐบาล ดร.ภาณุพงศ์มีความเห็นว่า สินค้าบางอย่างอ่อนไหว อาจมีผลต่อการคาดการณ์เงินเฟ้อหรือภาวะราคาสินค้า ทำให้สินค้าบางอยางจึงเป็นข้อยกเว้น รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุมราคา เช่น ราคาแก๊สแอลพีจี ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเมื่อไร ราคาสินค้าก็ปรับเพิ่มขึ้นตามทันที ขณะที่ข้าวกับยางเป็นสินค้าอ่อนไหวทางการเมือง การเข้าแทรกแซงเป็นเรื่องของการหาเสียงมากกว่า

แนะรัฐบาลใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมาย

หากให้เลือกว่าต้องการเห็นรัฐบาลทำอะไรมากที่สุด ดร.ภาณุพงศ์ระบุว่า นโยบายต่างๆ ที่รัฐบาลประกาศสวยหรู เขียนง่าย แต่สิ่งสำคัญคือต้องดูแลให้เงินเฟ้อและการว่างงานต่ำ ถ้าดูแลทั้งสองอย่างได้ก็สามารถทำอะไรเพื่อกระตุ้นหรือเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจได้ง่าย โดยที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศได้เสนอให้ปรับเป้าหมายเงินเฟ้อ จากเดิมใช้เงินเฟ้อพื้นฐานมาเป็นเงินเฟ้อทั่วไป ดังนั้น อยากเห็นรัฐบาลยอมรับเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเสนอ คือใช้เงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมาย ซึ่งขณะนี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม