ThaiPublica > คนในข่าว > “ดร.ทวิดา กมลเวชช” นักจัดการภัยพิบัติ ประเมินความพร้อมประเทศไทย ต้องหยุด”บูรณาการ”แบบงานวัดงานกฐิน

“ดร.ทวิดา กมลเวชช” นักจัดการภัยพิบัติ ประเมินความพร้อมประเทศไทย ต้องหยุด”บูรณาการ”แบบงานวัดงานกฐิน

25 กรกฎาคม 2012


ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช
ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช

สึนามิและแผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติ ที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในแต่ละปีเป็นจำนวนมหาศาล หลายปีที่ผ่านมา คนไทยเริ่มตระหนักและรับรู้ถึงผลของภัยพิบัติมากขึ้นจากการเป็นผู้ประสบภัย แต่การจะห้ามภัยพิบัติ โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและสึนามิ คงเป็นเรื่องเหลือบ่ากว่าแรงที่มนุษย์จะสามารถหยุดยั้งปรากฏการณ์ทางธรรมชาติได้ ทางเดียวที่ดีที่สุดที่เราจะสามารถทำได้ก่อนเกิดเหตุภัยพิบัติเหล่านี้ก็คือ การเตรียมความพร้อม

ก่อนเกิดภัยพิบัติ การหาแนวทางในการลดผลกระทบ และสร้างความเข้าใจให้กับประชนเพื่อที่จะอยู่กับภัยพิบัติเป็นเรื่องจำเป็น นอกเหนือจากการเตรียมความพร้อมในเชิงกายภาพ เช่น เตรียมอาคาร สถานที่ หรือที่อยู่อาศัย ให้พร้อมรับมือกับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นแล้ว ความสามารถในการบริหารจัดการภัยพิบัติก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่จะช่วยลดผลกระทบจากเหตุการณ์ และช่วยให้สังคมกลับไปสู่สถานการณ์ปกติได้

ปัจจุบัน ศาสตร์ด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติ เป็นวิชาที่ได้รับความสำคัญมากขึ้นจากรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลก เนื่องจากความถี่และความรุนแรงของภัยพิบัติที่มากขึ้น ทำให้ประเด็นเรื่องความปลอดภัยของสาธารณะกลายเป็นเรื่องที่ประเทศต่างๆ ต้องกลับมาพิจารณาทบทวน หลักการเบื้องต้นของการจัดการภัยพิบัติก็คือ การสร้างความสามารถในการเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญหน้ากับภัยพิบัติในช่วงก่อนเกิดเหตุ ในระหว่างเกิดเหตุ และสร้างความสามารถในการฟื้นคืนจากภัยให้กลับสู่ภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับประเทศไทย แม้ความสามารถเรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติ จะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นจากอดีต แต่ในอนาคตที่ภัยพิบัติกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าไปเรื่อยๆ ประเทศไทยควรปรับตัวอย่างไร เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคต สำนักข่าวไทยพับลิก้าสัมภาษณ์ ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช อาจารย์ประจำสาขาบริหารรัฐกิจและนโยบายสาธารณะ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย เพื่อหาคำตอบสำหรับเรื่องนี้

ไทยพับลิก้า : ทุกวันนี้สังคมไทยสามารถรับมือกับปัญหาภัยพิบัติได้ดีเพียงใด

ความสามารถในการบริหารจัดการของประเทศไทยในวันนี้ถือว่าดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา เพราะในอดีตเราเริ่มจากศูนย์ วันนี้รับรองว่าปริมาณคนที่จะเสียชีวิต หรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับภัยหน้าตาเหมือนเดิมลดลงแน่นอน แต่ปัญหาคือ ภัยพิบัติชอบมาไม่เหมือนเดิม ซึ่งเป็นเรื่องลำบาก

และวิธีการมองของเรา ยังเป็นวิธีมองที่วิ่งตามหลังปัญหาอยู่ การวางแผนยังไม่มีการคิดออกนอกกรอบ เลยกลายเป็นว่าพอเราแก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ เราก็ชอบคลอดหน่วยงานใหม่ๆ ออกมาจัดการกับมัน โดยหน่วยงานใหม่ที่ออกมาอาจยังไม่ได้เคลียร์อำนาจหน้าที่กับหน่วยงานเก่าที่บังเอิญทำหน้าที่นี้อยู่เหมือนกัน หรือไม่เคยมีการซักซ้อมความเข้าใจถึงบทบาทที่แท้จริง และกระบวนการทำงานที่สอดคล้อง จึงอาจมีปัญหาบ้างอยู่เป็นระยะ

ขณะที่การรอให้เกิดภัยแล้วค่อยตอบสนอง ทำให้ขั้นตอนการเตรียมพร้อมต่างๆ อาจไม่พอ ขาดการวิเคราะห์ความเสี่ยงในระดับพื้นที่ ซึ่งการวิเคราะห์ความเสี่ยงต้องวิเคราะห์ในรายพื้นที่ ความเสี่ยงใครความเสี่ยงมัน เพราะภัยขนาดเท่ากัน แต่ชุมชนที่อ่อนแออาจไม่สามารถรับมือได้

ไทยพับลิก้า : การจัดการภัยพิบัติ โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ผ่านมาหลายครั้ง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ แผ่นดินไหวใหญ่ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2555 ก็สะท้อนอะไรบางอย่างได้ ว่าเรายังต้องปรับปรุงอีกมาก

เรื่องการบริหารจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหว ต้องทราบก่อนว่า ด้วยความสามารถของเทคโนโลยีที่มีอยู่ แผ่นดินไหวจะเป็นภัยที่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเตือนล่วงหน้าได้ ซึ่งเราจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดแรงสั่นสะเทือนแล้ว เงื่อนไขของแผ่นดินไหวจึงเป็นการที่เราได้รับความรู้สึก รู้ว่ามีอะไรสั่นสะเทือน มีเสียงเกิดขึ้น เป็นการรับรู้ได้ก่อนที่ภาครัฐจะเตือน

แต่เมื่อถามว่า ครั้งที่ผ่านมามันมีวิธีการอย่างไร ปกติในวงจรของการจัดการภัยพิบัติจะมีช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเกิดภัยพิบัติ แต่เนื่องจากแผ่นดินไหวเตือนล่วงหน้าไม่ได้ การจัดการช่วงก่อนภัยพิบัติจึงเป็นเรื่องของการลดแรงกระทบ คือการตรวจสอบอาคาร ตรวจโครงสร้างให้พร้อมรับแรงสั่นสะเทือน และให้องค์ความรู้เรื่องแผ่นดินไหว เพื่อให้คนรู้ว่าถ้าเกิดแผ่นดินไหวควรต้องมีการปฏิบัติอย่างไร อย่างญี่ปุ่นที่มีการสอนให้รู้ว่าต้องหลบใต้โต๊ะ แต่ก็ต้องผูกกับเงื่อนไขว่า ตึกต้องมีความมั่นคงในระดับหนึ่ง

ไทยพับลิก้า : การเตรียมความพร้อมให้อาคารรับมือกับแผ่นดินไหวได้ บ้านเรายังมีคนมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว คนจึงยังไม่ให้ความสำคัญเรื่องนี้เท่าไรนัก

ด้วยภูมิประเทศของประเทศไทย เราได้เปรียบมาตลอด เรามีแผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายรุนแรงน้อยมาก เราไม่รู้สึกว่ามันเป็นภัย เพราะเราไม่มีภัยขนาดใหญ่ แต่ต้องอย่าลืมว่าช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อะไรที่ไม่เคยเกิด เกิดแล้วทั้งนั้น ดังนั้น แผ่นดินไหวขนาดใหญ่อาจจะมีโอกาสเกิด เผื่อใจไว้บ้างก็ดี คำว่าเผื่อใจไม่ได้ให้ตระหนก แต่เป็นการให้ความรู้กับประชาชนให้พอว่า ควรจะต้องปฏิบัติอย่างไร เพราะต่อให้เป็นภัยชนิดอื่นที่เตือนได้ คนที่เผชิญหน้าก็ไม่ใช่รัฐ แต่เป็นประชาชน ยิ่งเป็นภัยแผ่นดินไหว คนที่เผชิญหน้าจริงๆ คือประชาชน

ไทยพับลิก้า : ปัญหาของไทยในการจัดการภัยพิบัติแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด เดือนเมษายน 2555 คืออะไร

ครั้งที่ผ่านมา เมื่อกลับไปดูวัฒนธรรมความปลอดภัยของสังคมไทยก็พบว่า เราเป็นประเภทที่ตื่นตัวเป็นระยะตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น วันที่ 11 เมษายน 2555 เรามีปัญหาในขั้นตอนของการเตรียมความพร้อม ที่ผ่านมาเราให้ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวว่า แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในทะเลจะทำให้เกิดสึนามิ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่เราเรียนมาจากสึนามิปี 2547 แต่ตอนหลังก็มีเสียงบ่นจากประชาชนว่า บทเรียนที่เรียนมา มันขังเราไว้ในแผ่นดินไหวแบบสึนามิ พอเกิดแผ่นดินไหวบนบก มันก็เกิดความสับสนในคนบางกลุ่มว่า แผ่นดินไหวแบบนี้ควรทำอย่างไร ซึ่งหน่วยงานของรัฐเมื่อให้ความรู้ ต้องให้ทั้งหมด และให้ทุกแง่ ให้รู้ทั้งแผ่นดินไหวบนบก แผ่นดินไหวในทะเล แต่อันนี้จะไปโทษรัฐ หรือไปโทษกระบวนการที่วางไว้ทั้งหมดก็ไม่ได้ เพราะภัยพิบัติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นนอกกรอบตลอดเวลา

ไทยพับลิก้า : แต่บางครั้งการออกมาเตือนภัยของรัฐ กลับล่าช้า และขาดความน่าเชื่อถือ

คราวที่แล้วรัฐรอเวลา เมื่อศูนย์เตือนภัยในต่างประเทศมีรายงานแผ่นดินไหวแล้วรัฐบาลยังไม่ทำอะไร ประชาชนก็เริ่มสับสนและเริ่มจะอพยพไปเอง เพราะประชาชนมีแหล่งข้อมูลอื่นๆ มีสังคมออนไลน์ มีอินเทอร์เน็ตต่างๆ แต่ศูนย์เตือนภัยต่างประเทศ วิธีการของเขาคือจะเตือนทันทีที่คาดว่าเหตุการณ์จะเป็นภัย แต่เขาจะมีข้อความว่า การอพยพหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาลชาติด้วย และการที่หน่วยงานเหล่านี้เตือน เขาก็จะเตือนเป็นสถาณการณ์ที่เลวร้ายที่สุดทันที (worst case scenario) โดยไม่ต้องไตร่ตรองมากนัก ตรงข้ามกับรัฐบาลชาติที่เวลาเตือนจะพกพาอำนาจในการสั่งอพยพมาด้วย ซึ่งการอพยพจะก่อให้เกิดอะไรตามมาอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ ความตกใจ ในขณะที่วัฒนธรรมไทยคือ เตือนบ่อยๆ แล้วไม่เกิดก็จะไม่เชื่อ รัฐบาลจึงลังเลเพื่อจะเตือนให้ถูกต้องที่สุด

แต่วัฒนธรรมของคนไทยที่ว่า เตือนแล้วต้องเกิด ถ้าไม่เกิดจะไม่เชื่อ ต้องมีการแก้ไข ในต่างประเทศเวลาเตือนภัย ถ้าเตือนแล้วไม่เกิดถือเป็นเรื่องปกติ แม้คนของเขาเมื่อรู้ว่าเตือนแล้วไม่เกิดเป็นเรื่องปกติ แต่เวลาเตือนก็ไปทุกครั้ง และที่เตือนก็ไม่ได้ถูกทุกครั้ง แต่ส่วนที่ผิดไม่ได้ทำให้คนของเขารู้สึกว่าเป็นปัญหา ถ้าทำแบบนั้น รัฐก็จะสบายขึ้น เวลาเกิดสถาณการณ์ พอรู้ว่าเป็นภัยที่คุกคามก็ไม่ต้องมานั่งคิดว่า ถ้าเตือนแล้วไม่เกิด ประชาชนจะว่า หรือจะไม่เชื่อถือหรือไม่

อย่างประเทศญี่ปุ่น เมื่อแผ่นดินไหวที่ผ่านมา ประชาชนไม่มีอุปกรณ์สื่อสาร เพราะเสียหายไปหมดแล้ว รัฐและสื่อญี่ปุ่นก็ใช้วิธีนำหนังสือพิมพ์ไปวางตามที่ต่างๆ เพื่ออัพเดตสถาณการณ์ ให้ประชาชนที่หลบอยู่ได้ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น มีอยู่วันหนึ่ง ในหนังสือพิมพ์เขียนว่าอาจมีโอกาสเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมา ประชาชนก็จะเริ่มเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ แต่เมื่อแจ้งแบบนี้ และคนของเขาเข้าใจว่านี่คือความน่าจะเป็น เขาก็จะรอแบบระแวดระวัง พอเลยวันที่บอกว่าจะเกิดแล้วไม่เกิดก็คลายกังวลไป พอภาครัฐภาคและประชาชนร่วมมือกันได้ มันก็สามารถทำได้ ขั้นตอนแบบนี้บ้านเรายังต้องสร้างอีก

โดยประชาชนต้องเข้าใจว่าการเตือนภัยมีสัดส่วนของความไม่ถูกต้องอยู่ แต่รัฐก็ต้องเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารให้ประชาชนรู้ด้วยว่าต้องทำตัวอย่างไร ประชาชนจะเชื่อหรือไม่นั่นอีกเรื่องหนึ่ง บอกให้รู้ว่าต้องติดตามช่องทางไหน และบอกล่วงหน้าว่าจะมีความร้ายแรงแค่ไหน หากยังคำนวณอยู่ก็ต้องบอกว่าจะออกข่าวอีก 15–20 นาที แล้วต้องทำแบบนั้นจริงๆ

ไม่ใช่บอกว่าจะออกข่าวแล้วสุดท้ายก็ไม่ออก มันมีผลให้สื่อมวลชนวิ่งไปหาคนอื่น ซึ่งไม่ใช่ความผิดของสื่อมวลชน เนื่องจากรัฐไม่ให้ข้อมูล ไม่อัพเดตสถานการณ์ สื่อมวลชนจึงไปหานักวิชาการ หรือใครที่สามารถให้ข้อมูลได้ นักวิชาการก็จะให้ข้อมูลซึ่งอาจจะต่างหรือใกล้เคียงกับรัฐก็ได้ แต่สิ่งที่ตามมาจะทำให้เกิดภาวะข้อมูลท่วมท้น ประชาชนอาจเกิดความสับสนเข้าไปอีก

และเมื่อเตือนไปแล้วประชาชนก็ควรรอให้มีการยกเลิกสถานการณ์ อย่าเพิ่งใจร้อน ซึ่งหากไม่มีคนให้ข้อมูล เมื่อคนรู้สึกว่ากลับได้แล้ว แต่ไม่มีการประกาศยกเลิกสถานการณ์จากทางภาครัฐ ก็เกิดปัญหาภาวะชะงักงัน คนก็รู้สึกไม่พอใจ เกิดผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของหน่วยงานรัฐ โดยรัฐก็ต้องขอความร่วมมือสื่อมวลชนให้ช่วยประกาศเมื่อมีการยกเลิกสถาณการณ์ด้วย ประชาชนจะได้ไม่ต้องรอ และไม่เกิดความสับสน

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันสังคมออนไลน์ทำให้การสื่อสารรวดเร็ว แต่ข้อมูลที่มีการส่งต่อกันในอินเทอร์เน็ตจะมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน ภาครัฐควรทำอย่างไร

โซเชียลมีเดีย หรือเครือข่ายต่างๆ ที่อยู่ในอินเทอร์เน็ต ที่จริงเป็นดาบ 2 คม ด้านหนึ่งเป็นประโยชน์ที่สามารถทำให้การส่งข้อมูลถึงกันเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมา มีการยอมรับกันว่าแหล่งข้อมูลในการเตรียมพร้อมที่ดีที่สุดกับกลายเป็นเครือข่ายพวกนี้ ไม่ใช่สื่อกระแสหลักหรือภาครัฐ แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยความที่มันไม่สามารถจำกัดข้อมูลได้ เพราะฉะนั้นข่าวลือจึงตามมา มีคนที่ใช้อารมณ์ ใช้ความสนุกเข้าไปร่วม

ในการจัดการเรื่องนี้ การห้ามทำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะลักษณะของข้อมูลพวกนี้เป็นอิสระและเข้าถึงได้ง่าย ดังนั้นจึงห้ามไม่ได้ เมื่อห้ามไม่ได้ รัฐจึงต้องเป็นหลักหนึ่งในการให้ข้อมูล และการให้ข้อมูลต้องทำงานร่วมกับสื่อ แต่การสื่อสารไม่ใช่เรื่องของการมีช่องเป็นของตัวเอง แต่เป็นเรื่องของการจัดการสื่อด้วย

ในการสื่อสารจะต้องดูว่าช่องทางที่ส่งไป รับได้ทุกที่หรือไม่ ถ้าไม่ได้ต้องมีช่องทางอื่น มีวิทยุ มีสื่อในพื้นที่ เมื่อมีสื่อหลายแขนง ผู้ที่ต้องมาสื่อจะเป็นใครบ้าง ในประเทศที่มีประสบการณ์จะมีผู้ประสานงานสื่อ เพื่อดูว่าข้อความแบบไหนควรส่งไปให้คนกลุ่มใด และดูว่าจะใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ควรทำอย่างไร

เพราะสื่อเป็นกลุ่มคนที่น่ากลัวในการแถลงข่าวเมื่อเกิดภัยพิบัติ เนื่องจากสื่อจะเร็วมาก คนที่มาจัดการจึงต้องรู้ธรรมชาติการทำงานของสื่อ และต้องรู้ว่าการปล่อยข้อมูลควรต้องปล่อยแค่ไหน หลักการที่ภาครัฐชอบใช้คือ รู้เท่าที่ควรรู้ มันไม่มีแล้วในการจัดการภัยพิบัติ มันต้องมีการอัพเดตข้อมูลและส่งข้อมูลให้สื่อด้วย ถ้าเป็นสื่อกระแสหลักเขาก็จะหยิบข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่อยู่แล้ว ซึ่งถ้าสื่อไม่ได้ข้อมูลจากตรงนี้ และภาครัฐไม่เข้าไปจัดการ มันก็จะไปสู่การหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ซึ่งเข้าไปห้ามไม่ได้ ดังนั้น วิธีการแก้ ภาครัฐต้องเป็นหลักในการสื่อข้อมูลที่ถูกต้อง และอัพเดตตลอด การใช้สื่อกระแสหลักช่วยก็จะไปคานอำนาจของสังคมออนไลน์ ถ้ามีข้อมูลหลักจากทางภาครัฐ ข้อมูลในอินเทอร์เน็ตก็จะกลายเป็นข้อมูลปลีกย่อยในทันที และคนก็จะนำไปใช้เปรียบเทียบ ซึ่งจะช่วยเข้าไปจัดการด้านที่ไม่ดีของสังคมออนไลน์ได้

อย่างในประเทศสหัฐอเมริกา ที่ทีวีทำงานดีมาก คนสามารถเข้าถึงได้มากกว่าบ้านเรา โดยช่องที่ไม่มีพยากรณ์อากาศ ช่องที่ไม่มีเตือนภัย คนก็จะไม่ค่อยดู จึงเป็นการบังคับไปในตัวว่าสื่อต้องมีการรายงาน เมื่อสื่อทำงานเร็วและเข้าถึงพื้นที่ ดังนั้นสังคมออนไลน์จะถูกใช้เมื่อสื่ออื่นๆ ล่ม สังคมออนไลน์ก็จะกลายเป็นแหล่งที่รองลงมา แต่ครั้งนี้ประเทศไทยเราเป็นแหล่งแรก

ไทยพับลิก้า : หลักการนี้จะช่วยเข้าไปจัดการข่าวลือที่เป็นเรื่องเหนือธรรมชาติได้ด้วยหรือไม่ เช่น คำทำนายของเด็กชายปลาบู่

สังคมไทยเป็นสังคมที่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติอยู่แล้ว เวลาที่ภาครัฐหรือนักวิชาการเตือนภัยคนอาจไม่ค่อยฟัง หรือถ้าฟังแล้วไม่เกิดก็จะโดนบ่น แต่ถ้าโหรหรือหมอดูออกมาพูดก็จะฟังทันที พอเป็นแบบนี้ ข่าวลือประเภทเหนือธรรมชาติในสังคมไทยก็จะออกฤทธิ์ได้เยอะกว่าสังคมอื่นๆ ในสังคมอื่น เมื่อเกิดข่าวลือ คนก็จะวิ่งหาข้อมูล แต่เรากลับไปตอบสนองเรื่องพวกนี้แทน สำหรับทางแก้ ภาครัฐจะต้องเข้าให้ถึงสื่อทุกชนิด ไม่ใช่เข้าไปตามปิดสื่อ แต่เข้าไปดูความเคลื่อนไหว แล้วใช้หน่วยงานที่มีอยู่ช่วยให้ข้อมูล และให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลของรัฐด้วย

ไทยพับลิก้า : แต่เราก็ยังมีปัญหาเรื่องเอกภาพในการส่งสาร เนื่องจากมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เวลาที่สื่อสารคนก็ไม่รู้ว่าควรฟังใคร

ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะบ้านเราไปตีความคำว่าบูรณาการแปลกๆ เนื่องจากบ้านเราปลอดภัยมาตลอด เพราะเราอยู่ในภูมิประเทศที่ค่อนข้างดี การออกแบบกระทรวง ทบวง กรม และการออกแบบสื่อต่างๆ จะใช้วิธียึดตามงานปกติ จนในปัจจุบันเมื่อต้องมาทำงานร่วมกันก็ยังคงความเป็นกรมาธิปไตยให้เห็นอยู่

แต่คอนเซ็ปต์เรื่องบูรณาการของเราคือ ในแผนต้องเอาทุกกรมมาใส่ไว้ สื่อเองก็อยู่ในนั้น แต่พอถึงเวลาสื่อก็มีแผนเป็นของตัวเอง กรมก็มีแผนเป็นของตัวเอง แต่แผนนั้นไม่เคยลองเอามาต่อหรือเอามาทับกัน การบูรณาการจึงกลายเป็นการรวมสุม อาจารย์ท่านหนึ่งของที่นี่ชอบพูดว่าการบูรณาการคืองานวัดงานกฐิน ซึ่งมันไม่ควร

บูรณาการควรเป็นเอกภาพของการประสานงาน ซึ่งเป็นคู่ตรงข้ามกัน เพราะเอกภาพเป็นเรื่องของการควบคุม แต่การประสานงานคือแผ่กระจายออกไป เรื่องนี้จึงเป็นศิลปะของผู้นำ ที่จะทำอย่างไรให้การประสานงานมีเอกภาพให้ได้ จึงนำมาสู่หลักการว่า คนที่จะทำให้เกิดเอกภาพ ต้องรู้จักหน่วยต่างๆ ว่าเป็นใคร มีวิธีการทำงานอย่างไร

จุดเด่นของแต่ละกลุ่ม เช่น พวกเอกชนที่เข้ามาช่วย เน้นผลงาน กระบวนการไม่ต้องเยอะ สื่อก็เป็นประเภท กระบวนการตัวเองมี เพราะเป็นสื่อ ทหารมีระบบการสั่งงานแบบทิศทางเดียว อย่าทิ่มข้าง ไม่งั้นเขางง ของแบบนี้คนควบคุมต้องรู้ จึงจะทำให้เกิดเอกภาพดีขึ้น

ไทยพับลิก้า : การเตรียมความพร้อมในช่วงก่อนเกิดภัยพิบัติควรทำอย่างไร

หลักการจัดการภัยพิบัติ ปกติขั้นตอนก่อนการเกิดภัยสำคัญที่สุด เพราะถ้าขั้นตอนนี้ทำได้ดี ตอนที่เผชิญเหตุกับตอนฟื้นฟูก็จะทำได้ไม่ยาก ข้อปฏิบัติที่ทั่วโลกทำกันคือลงทุนในขั้นตอนก่อนเกิดภัยสูงกว่าขั้นตอนอื่น หากโฟกัสเรื่องแผ่นดินไหว อยากให้คิดนอกกรอบออกมาหน่อย แม้ว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภูมิประเทศที่เกิดแผ่ดินไหวขนาดใหญ่และอาจเกิดได้ยาก แต่วันนี้โอกาสเกิดก็ไม่ได้เป็นศูนย์ ความเสี่ยงยังมี เราก็ควรต้องเตรียมตัว เช่น รอยเลื่อนที่มีอยู่ในประเทศไทย มีอยู่ตรงไหนบ้าง หากคิดในสถานการณ์ที่ดีที่สุด จะเป็นอย่างไร ความรุนแรงจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ตรงไหนบ้าง และส่งข้อมูลให้ท้องถิ่น ให้จังหวัดเพื่อเตรียม แม้ไม่ได้ใช้ก็ไม่เป็นไร และในสถาณการณ์เลวร้ายที่สุด ก็ต้องเตรียม ต้องวางแผนเช่นกัน

อย่างเรื่องเขื่อน ตอนที่มีข่าวเรื่องแผ่นดินไหว สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือ รอยเลื่อนที่อยู่ตรงนั้นมีอยู่จริงหรือไม่ และเขื่อนสามารถรองรับแผ่นดินไหวได้ขนาดเท่าไร มีคนออกมาบอกว่าเขื่อนทนได้ขนาด 7 แต่คำถามคือที่บอกว่าทนได้ 7 มันเป็นเฉพาะวันที่สร้างหรือไม่ กาลเวลาที่ผ่านมาเขื่อนยังทนได้เท่าเดิมหรือไม่ ต้องให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยประเมิน และจะมีจุดอ่อนอยู่ที่ไหน

ในสถานการณ์ที่เลวร้าย สมมติหากเขื่อนรองรับไม่ได้ มวลน้ำก้อนแรกจะถึงชุมชนที่ใกล้เขื่อนที่สุดต้องใช้เวลานานแค่ไหน จังหวัดก็ต้องประเมินสถาณการณ์ว่าหากน้ำมาจริงจะหนีทันหรือไม่ มีแผนจัดการอย่างไร ใช้เวลาแค่ไหน ซึ่งของแบบนี้ต้องเตรียม และต้องมีการออกนอกกรอบมาตั้งคำถามแบบนี้

ไทยพับลิก้า : การจัดการภัยพิบัติในช่วงระหว่างเกิดภัย ควรทำอย่างไร

เมื่อเกิดเหตุ การเตรียมตัวในขั้นตอนการตอบสนอง อาจต้องมีการวางแผนโลจิสติกส์ มีเรื่องเส้นทางสำรอง หากเกิดเหตุขึ้น ดูว่าเมื่อเส้นทางหลักใช้ไม่ได้ต้องทำอย่างไร เพราะทุกครั้งที่เราซ้อม การซ้อมของเราจะเป็นการจัดฉากมากไปหน่อย สังเกตดูว่าตอนซ้อมจะมีสื่อไปรอรายงานข่าวอยู่ที่ชายหาด มีรถพยาบาลจอดรอ มีรถดับเพลิง มีเฮลิคอปเตอร์รออยู่ ซึ่งของจริงเมื่อเกิดมันไม่มีการรออยู่ในที่เกิดเหตุแบบนั้น การซ้อมจึงควรต้องให้พาหนะเหล่านี้ออกมาจากที่จริง เพื่อให้รู้ว่าเมื่อเกิดเหตุจริงต้องใช้เวลาเท่าไร และทำให้รู้ว่าควรแก้ไขเรื่องการเดินทางอย่างไร

ขณะเดียวกัน ก็ต้องซ้อมระหว่างหน่วยงานให้มากขึ้น เพราะมันจะมีปัญหาที่ทั่วโลกต่างเจอคือ เมื่อเกิดเหตุจะมีตัวแสดงอื่นๆ ออกมาปน ทำให้ยุ่ง การซ้อมกระบวนการเพื่อทำงานร่วมกันของประเทศไทยในตอนนี้ยังขาดอยู่ เราแค่มีการเขียนแผนให้มีความสอดคล้อง แต่ระบบบัญชาการสถานการณ์เรายังต่างคนต่างทำ เพื่อให้แต่ละหน่วยงานเวลาต้องมาทำงานด้วยกันจะได้รู้ว่า คนที่ตัวเองต้องทำงานด้วยทำงานเป็นอย่างไร และต้องคิดเผื่อกรณีบริบทและวัฒนธรรมของแต่ละสังคมที่มีความแตกต่างกัน อย่างคนไทยที่ไม่ค่อยออกจากบ้าน และไม่ค่อยยอมไปไหนเมื่อไม่มีญาติพี่น้องไปด้วย การอพยพจึงเป็นการอพยพแบบกลุ่ม เมื่อไปอยู่ที่ไหนก็จะไม่ยอมไปไกลบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปรับวิธีการจัดการให้สอดคล้องกับวิถีสังคม

ในภาวะฉุกเฉินภาครัฐก็ต้องเข้าใจว่าจะมีคนที่ไม่ได้ทำตามแผนที่ซ้อมไว้ ก็ต้องมีการเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย การช่วยเหลือฟื้นฟูก็จะทำได้ง่ายขึ้นหากแต่ละฝ่ายรู้ลักษณะการทำงานของกันและกัน และการฟื้นฟูก็ต้องทำให้ดีกว่าเดิม เป็นวงจรเพื่อนำไปสู่การเตรียมพร้อมเผื่อครั้งหน้า ซึ่งเรื่องพวกนี้ไม่มีวันสมบูรณ์ ต้องซ่อมอยู่ตลอดเวลา อย่างประเทศญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าเชี่ยวชาญที่สุด ยังต้องมีอะไรที่เรียนรู้ ต้องปรับแก้อีก

ไทยพับลิก้า : วันนี้ในการจัดการภัยพิบัติโดยรวม ประเทศไทยยังขาดอะไร

ต้องบอกว่าที่ผ่านมาภาครัฐก็พยายามทำมาเยอะมากแล้ว แต่มันยังไม่พอ เราอาจต้องคิดนอกกรอบให้มากกว่านี้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของทุกประเทศ ที่การคิดนอกกรอบอาจทำให้มีการเตรียมพร้อมในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งอาจทำให้สังคมไม่เข้าใจ และคิดว่าคนที่คิดนอกกรอบเพ้อเจ้อ ทำให้สังคมตระหนก ตรงนี้เป็นอุปสรรคใหญ่ และทำให้เกิดการใช้งบประมาณ

ตอนนี้สังคมเราเป็นสังคมที่มีความหวาดกลัวเรื่องคอร์รัปชัน เรื่องนี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคหนึ่งในการเตรียมพร้อม เพราะการเตรียมพร้อมเป็นเรื่องของการใช้ดุลพินิจในการวิเคราะห์สถานการณ์ จำนวนเงินที่จะใช้อาจไม่เหมือนเอาไปซื้อของ ที่ซื้อแล้วจะได้เลยเดี๋ยวนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของการสร้างเสริมความสามารถที่จะถูกทดสอบเมื่อไหร่ไม่มีใครรู้ เป็นเรื่องลำบากที่ต้องทำอีกมาก แต่ที่มีอยู่วันนี้ก็ถือว่ามาได้เยอะแล้วจากวันนั้น ตอนนี้ภัยเริ่มเปลี่ยนโฉมหน้าไป เราจึงต้องต้องปรับปรุงอีก

ต้องมีการให้ความสามารถท้องถิ่นในการจัดการภัยพิบัติมากขึ้น ประเทศเรายังมองข้ามท้องถิ่นไป มัวแต่ไปโฟกัสอยู่ที่ระดับชาติและระดับภูมิภาค ซึ่งมันไปหยุดที่ตรงนั้น เราต้องอย่าลืมว่าท้องถิ่นคือหัวใจในการจัดการภัยพิบัติ เพราะฉะนั้น ในการจัดการภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานในท้องที่ ต้องเป็นเจ้าของความสามารถในการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ เพราะภัยเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่แต่เฉพาะทำงานให้เสร็จเท่านั้น

และเงื่อนไขความขัดแย้งบางอย่างของการเมือง ของมวลชนต้องจัดการให้หมดไป อย่าให้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องเรื่องการจัดการภัยพิบัติ ความขัดแย้งในมวลชนจะเกิดเสมอ จึงต้องมีการวางแผนมาก่อนล่วงหน้า หากแผนจัดการภัยพิบัติจะทำให้เกิดผลกระทบจากภัยมากน้อยไม่เท่ากัน หากเป็นเช่นนั้นต้องสื่อสารให้กับประชาชนทราบตั้งแต่ยังไม่เกิด เพราะเวลาภัยเกิดจะสื่อสารไม่รู้เรื่อง ไม่มีใครฟัง