ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > “กฤป โรจนเสถียร” สวมบท “พิทักษ์หัวหิน” ส่งมอบ wellness พร้อมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม

“กฤป โรจนเสถียร” สวมบท “พิทักษ์หัวหิน” ส่งมอบ wellness พร้อมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม

16 กรกฎาคม 2012


นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหาร ชีวาศรม และในฐานะประธานชมรมพิทักษ์หัวหิน
นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหาร ชีวาศรม และในฐานะประธานชมรมพิทักษ์หัวหิน

“เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการส่งมอบ wellness ให้กับแขกที่มาพักกับเรา จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ wellness ทางสิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเขา คือพูดง่ายๆ ว่า personal wellness มาควบคู่กับ enviromental wellness”

ด้วยวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของ“บุญชู โรจนเสถียร”อดีตนักการเงิน นักการเมือง ที่มีชื่อเสียงคนหนึ่งของไทย เสียชีวิตด้วยอายุ 86 ปี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2550 ในช่วงปลายชีวิตเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่ “ชีวาศรม” ที่เขาตะเกียบ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ รีสอร์ทสุขภาพแห่งแรกของประเทศไทย

“บุญชู โรจนเสถียร” เป็นผู้ก่อตั้ง “ชีวาศรม” ขึ้นมาในปี 2538 โดยเล็งเห็นว่าสุขภาพที่ดีคือชีวิตที่ดี ที่ควบคู่กันไปกับสิ่งแวดล้อมที่ดี

ระหว่างที่ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เมื่อถูกถามว่าทราบมาก่อนหรือไม่ว่าเทรนด์สุขภาพแบบนี้จะมาแรง “กฤป โรจนเสถียร” ประธานและประธานบริหารชีวาศรม และในฐานะประธานชมรมพิทักษ์หัวหิน ลูกชาย “บุญชู โรจนเสถียร” กล่าวว่า “ตอนนั้นมีคนหนึ่งที่รู้ ผมไม่รู้หรอก (หัวเราะ…)”

ไทยพับลิก้า : คือคุณบุญชู (โรจนเสถียร)

คุณบุญชูท่องเที่ยวสปามา 30 ปี ก่อนหน้านั้น ก่อนที่จะตั้งชีวาศรม

ไทยพับลิก้า : เล่าให้ฟังนิดหนึ่ง

คุณบุญชูเริ่มไปยุโรปตะวันออก โรมาเนีย สมัยนั้นที่เรียกว่าไปฉีดรกแกะ หรือทุกวันนี้ที่เรียกว่าเสต็มเซลส์ คุณบุญชูทำเมื่อ 40 ปีมาแล้ว ชะลอความแก่ จากนั้นไปต่อสวิสเซอร์แลนด์ บัลกาเรีย และไปต่อที่อังกฤษ เฮลท์ฟาร์ม ในชั้นนั้นคุณบุญชูคิดแล้วว่าจะทำธุรกิจนี้แน่นอน เลือกเอาที่นี่ (หัวหิน) เป็นบ้านตากอากาศของครอบครัว ทุบทิ้งทำชีวาศรม ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี

ตอนแรกไม่มีคนมา คนไม่รู้จัก มีเมมเบอร์ที่เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงจ่ายเงินแต่ไม่มาใช้บริการ มาแล้วไม่รู้จะมาทำอะไร จนกระทั่งต่างชาติเริ่มทราบ เริ่มคุ้นเคยกับที่นี่ หลั่งไหลเข้ามา ต่างชาติเป็นคนขับเคลื่อนชีวาศรม มีประมาณ 90% ส่วนที่เป็นเมมเบอร์ตั้งแต่แรก เป็นฟาวดิ้งเมมเบอร์ เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ผมคาดว่าในส่วนของคนไทยจะขยายตัว แต่ตลาดนี้คนไม่เยอะ

ที่ผ่านมาชีวาศรมได้ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดี เป็นความรับผิดชอบต่อสังคมที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง 17 ปี ตั้งแต่แรกเริ่มดำเนินการชีวาศรมในปี 2538 การปฏิบัติตนเป็นส่วนที่ดีงามของสังคม เพื่อยกผลประโยชน์คืนให้กับท้องที่ที่เราประกอบธุรกิจอยู่ ความสำเร็จที่ชีวาศรมได้มา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเอกลักษณ์ความน่าอยู่ของหัวหิน จึงจำเป็นที่ต้องตอบสนองเมืองหัวหินและชาวหัวหินอย่างสม่ำเสมอ

คุณบุญชูลงทุนทำเรื่องระบบน้ำเสีย สมัยนั้นไม่มีใครเขาทำกัน เพราะผมไม่อยากปล่อยน้ำเสียลงทะเล ที่เราบอกว่าเราจะคืนต่อสังคมอย่างไร เพราะธุรกิจเราประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจที่นี่ บนท้องที่ของเขา เพราะฉะนั้นอย่าไปทำลายของของเขา และอย่าทำอะไรที่เป็นภาระ อย่าไปทำลายอะไรที่อยู่รอบๆ ตัวของเขา จากนั้นพอประสบความสำเร็จจะคืนอะไรให้เขา

“เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าการส่งมอบ wellness ให้กับแขกที่มาพักกับเรา จำเป็นต้องควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์ wellness ทางสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวเขา คือพูดง่ายๆ ว่า personal wellness มาควบคู่กับ environmental wellness”

สำหรับนโยบายของชีวาศรม ผมขอเรียนดังนี้ มี 2 ส่วน ส่วนแรกภายในชีวาศรมเอง พยายามจัดความเรียบร้อยในรอบรั้วเราก่อน โดยการจัดระบบนิเวศของเราให้สมบูรณ์ หลีกเลี่ยงการทำลายสิ่งแวดล้อม ที่นี่มีระบบบำบัดน้ำเสีย 100 % โดยไม่มีน้ำเสียออกสู่ท่อเทศบาลเลย เราทำมาตั้งแรก 17 ปีแล้ว

การจัดการกับขยะ มีการแยกแยะเพื่อรีไซเคิล นำมาทำปุ๋ยใช้ในสวนออร์แกนิก เป็นปุ๋ยธรรมชาติมาจากใบไม้ หญ้าที่เราเก็บไปทำปุ๋ยธรรมชาติ ใช้ปลูกผักผลไม้ที่สวนของเรา มาปรุงอาหารในรีสอร์ทของเรา

มีการประหยัดพลังงานโดยกำหนดการใช้น้ำ ไฟฟ้า มีการทำพลังงานแสงแดด มีแผงโซลาร์ในจุดต่างๆ ประมาณ 300 ตารางเมตร สามารถป้อนการทำน้ำร้อนให้รีสอร์ทได้ทั้งหมด ทำให้ทั้งๆ ที่ราคาน้ำมันแพงขึ้นแต่ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไม่เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มลดลงด้วยซ้ำ โดยทำมา 8 ปีแล้ว

แปลงผักที่ปลูกในสวนออร์แกนิก
แปลงผักที่ปลูกในสวนออร์แกนิก นำมาปรุงอาหารสำหรับแขกชีวาศรม

นอกจากนี้ ใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำดื่ม เราเลิกใช้ขวดพลาสติก หันมาใช้ขวดแก้วและมีกระติกน้ำทำจากสเตนเลสสตีล แจกให้แขก และใช้ถือไปได้ทั่วรีสอร์ท เวลาต้องการน้ำ สามารถกรอกน้ำได้ในจุดต่างๆ 6 จุด ไม่ว่าแขกไปออกกำลัง อาบแดด สามารถกรอกน้ำได้โดยใช้กระติกน้ำใบนี้ และให้เอากลับบ้านไปเลย จึงไม่มีขยะ

ขณะเดียวกัน เรื่องความสะอาดในการปรุงอาหาร ทางชีวาศรมได้มาตรฐานการจัดการระดับสากลมาแล้ว และบางอย่างที่เรากำลังจัดทำอยู่นั้น ก็คงจะได้รับ immigration ในชั้นต่อๆ ไป

เรื่องการดูแลคุณภาพชีวิต สุขภาพของพนักงาน มีการทำอย่างต่อเนื่องในฐานะที่เป็นสถานบำบัดสุขภาพ มีการเช็คสอบร่างกาย มีการกระตุ้นให้ออกกำลังกาย มีการกระตุ้นให้ดำเนินชีวิตสอดคล้องกับนโยบายที่เราส่งมอบให้กับแขก เราเรียกว่า walk in the talk ในเมื่อเราพยายามผลักดันให้แขกเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของเขา เราก็ต้องทำด้วย อันนั้นในเชิงสุขภาพ

นอกจากนี้ในส่วนของพนักงาน โบนัส ทุนการศึกษาให้ลูกพนักงานที่มีการเรียนที่ดี การเพิ่มเติมอัพเกรดพนักงาน เช่น ส่งพนักงานไปฝึกอบรมทั้งในและต่างประเทศ ส่งไปเรียนออสเตรเลียเพื่อให้ความรู้บางอย่าง จัดให้มีกิจกรรมที่ทำเกิดความสนิทสมกลมเกลียว เช่น มีการจัดฉลองให้พนักงานที่เกิดในแต่ละเดือน มีการจัดการงานซีเอส อะวอร์ด ให้พนักงานที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนร่วมงาน ทำงานเป็นทีมอย่างแท้จริง หรือจัดงานวันเด็ก วันแม่ มีการจัดกีฬาภายใน นอกจากนี้มีการส่งเสริมฟุตบอลในระดับท้องที่ เป็นฟุตบอลประเพณีระหว่างโรงแรมต่างๆ ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์กับ จ.เพชรบุรี จัดมา 18 ปีแล้ว ปีนี้ชีวาศรมร่วมเป็นเจ้าภาพกับโรงแรมแกรนด์ มี 17 ทีมเข้าแข่งขัน

นั่นคือส่วนการเป็นพลเมืองดีภายในของเรากันเอง

ในส่วนการเป็นพลเมืองดีนอกบ้านของเรา คือการผลักดันในเกิดความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนในท้องที่หัวหิน ทำในรูปชมรมพิทักษ์หัวหิน ก่อตั้งขึ้นในปี 2547 ในส่วนภาครัฐที่มาร่วมมือกันคือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์กับเทศบาลเมืองหัวหิน ซึ่งผลกระทบเรื่องการปกครองและการจัดการต่างๆ อาทิ การจราจร สาธารณูปโภค ความปลอดภัย ความสะดวก ในท้องที่หัวหิน

ขณะที่ภาคเอกชน คือกลุ่มโรงแรมในหัวหิน นำโดยโรงแรม 5 ดาว ตามมาด้วยคอนโดมีเนียม นิติบุคคลอาคารชุด ต่อมาขยายออกไป คือ นักธุรกิจท้องที่มีความสนใจเข้ามาร่วม เวลาจัดงานอีเวนท์ขึ้นมา ก็มีทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันทำกิจกรรม เช่น การทำความสะอาดชายหาด เมื่อก่อนเรื่องนี้เป็นประเด็นเป็นปัญหาเยอะมาก เพราะว่าพวกรีสอร์ท พวกที่มีคอนโดมีเนียม และพวกที่มีที่พักอยู่ริมหาด เขาคิดว่าเขาจ่ายภาษีท้องที่ไปแล้วก็ต้องมีเทศบาลมาทำให้ เขาไม่มีหน้าที่นี้

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ “ชมรมพิทักษ์หัวหิน” ไปปรับเปลี่ยนแนวคิดก็คือว่า เราจะปล่อยให้ภาครัฐทำตามลำพัง ยากหน่อย เพราะเขามีความจำกัดเรื่องงบประมาณ กำลังบุคลากร ทำไมเราไม่ยื่นมือเข้าไปช่วย ทำด้วยกัน ทำง่ายๆ คือ เวลารถเทศบาลวิ่งมาเก็บขยะต้องมาเก็บชิ้นเล็กชิ้นน้อย ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราเก็บไว้ก่อน ใส่ถุงเอาไว้หน้าบ้าน พอรถเทศบามาก็เก็บถุงใส่รถไป แต่ทุกคนต้องเป็นพลเมืองที่ดี รักษาหน้าหาดของตัวเอง หาดไหนที่ไม่มีคนช่วยเก็บ เราก็ขยายเขตแดนไปช่วยเก็บเพิ่มขึ้น เทศบาลก็ทำงานได้ง่ายขึ้น

เรื่องการปลูกป่า ปลูกต้นไม้ reforestation เราทำหลายจุด ปลูกที่เขาหินเหล็กไฟ อุทยานสิ่งแวดล้อมนานาชาติสิรินธร อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี และป่าโกงกางที่เชิงเขาไกรลาศ ทางไปเขาตะเกียบ เราจะผลักดันให้มีต่อเนื่องต่อไป เพราะป่าโกงกางมีประโยชน์ในการศึกษาของเยาวชน

ที่ผ่านมา เรามีโครงการยุวทูตพิทักษ์หัวหิน คัดเลือกเด็กจากโรงเรียนเทศบาลในท้องที่ปีละ 50 คน เข้าไปศึกษาระบบนิเวศที่อุทยานปราณบุรี อยู่ข้างๆ เขาเต่า มีเนื้อที่ 2,000 ไร่ เป็นป่าโกงกาง โครงการ 3 วัน เริ่มจากให้เด็กเดินเข้าไปดูพันธุ์ไม้ สัตว์น้ำ ตอนเย็นมาทำแคมป์ไฟ วันรุ่งขึ้นให้เด็กรวมกลุ่มระดมสมอง เด็กจับกลุ่มกันคิดทำโครงการต่างๆ ในท้องที่ของเขาเพื่อกลับไปทำอะไรที่บ้านเขา เช่น บางคนเน้นเรื่องขยะ บางคนเรื่องน้ำเสีย เมื่อกลับไปแล้วเขาทำได้แค่ไหน เราจะเน้นเรื่องความเป็นผู้นำ คือนอกจากดึงคนในครอบครัวทำแล้ว ดึงเพื่อนบ้าน ชุมชน มาร่วมกิจกรรมได้มากน้อยแค่ไหน แล้วประเมินแจกรางวัลเป็นระยะๆ และกระตุ้นให้ทำต่อ ที่เราเน้นมากคือการเป็นผู้นำ

และสนับสนุนโรงเรียนบางกลุ่ม เอาวัสดุเหลือใช้มาดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ขายนักท่องเที่ยว ที่ชีวาศรมเอาผลิตภัณฑ์ของเด็กมาใส่ถุงใยสับปะรด แจกแขกตามห้อง เราก็มีโนติสให้แขกว่าหากสนใจจะบริจาคสนับสนุนโครงการนี้เราก็มีกล่องให้เขาบริจาค อันนี้เป็นการช่วยเหลือโรงเรียนบางโรงเรียนที่เขามีความคิดริเริ่ม ให้เขาได้ทำต่อ ส่วนบางโรงเรียนที่ยังไม่ริเริ่ม เรากระตุ้นให้ทำ เอาแบบอย่างโรงเรียนที่ทำไปแล้วมาให้ดู เราเป็นกึ่งตัวช่วยและสื่อความให้

ไทยพับลิก้า : การประเมินผลงานยุวทูตพิทักษ์หัวหิน ทำอย่างไร

ทำมาแล้ว 3 รุ่น ปีนี้รุ่นที่ 4 การประเมินผลงาน เช่น สมมติเขาบอกว่ากลับไปบ้านจะจัดเก็บขยะให้เรียบร้อย แทนที่จะทิ้งเรี่ยราดก็ทิ้งลงถัง และแยกขยะ ก็ดูว่าเขาทำที่บ้านเขาจริงไหม และทำในครอบครัวใช่ไหม หรือไปชักจูงคนอื่นในละแวกนั้นให้ทำด้วยไหม หรือไปเผยแพร่ไอเดียและโน้มน้าวให้ผู้ใหญ่ทำ เพราะเด็กเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ใหญ่สนใจที่ดีที่สุด ทั้งนี้เด็กรุ่นก่อนจะเป็นพี่เลี้ยงรุ่นต่อมาและมาแนะนำ

นอกจากนี้ กิจกรรมจัดหาทุนที่หาเงินให้เทศบาลหัวหินเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม พิทักษ์หัวหิน มี 2 กิจกรรม 1. วิ่งพิทักษ์หัวหิน เฮฟวี่ ฮาล์ฟ มาราธอน บนเขาหินเหล็กไฟ ทำต่อเนื่องมา 9 ปี เริ่ม จาก 300-400 คน ตอนนี้มีคนมาร่วมเป็น 1,000 คน เขาหินเหล็กไฟมันชันมาก ระยะ 800 เมตรสุดท้าย หนักหน่วงมาก เป็นสนามที่ท้าทาย

“กิจกรรมนี้เรากระตุ้นให้คนที่เข้ามาร่วมงานเข้าใจและปลุกจิตสำนึกในเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่มาล่ารางวัล เราแจกรางวัลทุกคน แต่มาวิ่งเพื่อสร้างจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม จะมาเดินก็ได้ มีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคนท้องที่ทั้งผู้ใหญ่และเยาวชน และคนจากจังหวัดอื่นมาร่วมด้วย ให้รู้ว่าคนหัวหินคิดเรื่องสิ่งแวดล้อม สร้างจิตสำนึกเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง”

อีกกิจกรรมเป็นคอนเสิร์ตเพลงซิกตี้ ปีที่ผ่านมาคนมาล้นเขาหินเหล็กไฟ และปัจจุบันชมรมพิทักษ์หัวหินอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพพระรัตนฯ

ไทยพับลิก้า : การจัดคอนเสิร์ตยิ่งเพิ่มขยะ ยิ่งสร้างมลภาวะ มีเงื่อนไขอะไรไหม

เราใช้รถรับส่ง ไม่ต้องเอารถขึ้นมา และเราซื้อคาร์บอนเครดิตจากองค์กรบางแห่งในประเทศ ออฟเซทกับคาร์บอนที่เกิดขึ้นจากที่เราจัดคอนเสิร์ต เราคำนวณได้ว่าแต่ละครั้งมันเกิดคาร์บอนเท่าไหร่ ก็ซื้อเครดิต รวมทั้งปลูกต้นไม้ และคนมาดูคอนเสิร์ตก็แจกกล้าไม้ ปลูกต้นไม้เลย กิจกรรมทั้งสองเราทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ทำในส่วนของชมรมพิทักษ์หัวหิน

และชมรมพิทักษ์หัวหินได้จัดทำสมุดปกขาว โดยกลุ่มชุมชนทุกกลุ่มและกลุ่มธุรกิจ เพื่อให้ทุกคนทราบว่านี่คือปัญหา ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาสาธารณูปโภคของหัวหิน ใครก็ตามที่จะเข้ามาบริหารเมืองหัวหินจำเป็นจะต้องรับทราบปัญหา และเข้ามาต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ตอนนี้หัวหินเริ่มขาดน้ำ เพราะการเติบโตรวดเร็ว น้ำไม่เพียงพอ จะรู้กันว่าบางส่วนของหัวหิน ในสัปดาห์หนึ่งจะขาดน้ำ 2 วัน เขาแก้ไขโดยการที่ใครมีเงินก็สร้างแทงก์น้ำ หรือไม่มีเงินก็ซื้อถังใหญ่ที่มากักเก็บน้ำ ไว้ เพราะบางวันน้ำไม่ไหล อันนี้คือปัญหาที่เทศบาลจะต้องแก้

“เรารู้ว่าแหล่งน้ำอยู่ที่ไหน ผลิตน้ำได้เท่าไหร่ ผ่านที่ไหนบ้าง จากจุดต้นน้ำ ต้นทางมีน้ำ 50,000 คิวต่อวัน มาถึงหัวหินเหลือ 40,000 คิวต่อวัน มันหายไปไหน คนถึงได้ขาดน้ำ แล้วจะแก้อย่างไร”

ปัญหาเรื่องน้ำ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะหัวหินไม่มีโซนนิ่ง การพัฒนาไร้ทิศทาง มีการเสนอให้มีกฏหมายโซนนิ่งออกมาเร็วที่สุด

ไทยพับลิก้า : หัวหินไม่มีผังเมือง

หัวหินไม่มีผังเมืองมา 7 ปีแล้ว หมดอายุ ต่ออายุได้ 2 ครั้ง ก็ต้องออก พ.ร.บ.ผังเมืองใหม่ ตอนนี้ไม่มีมา 7 ปีแล้ว จึงเกิดปัญหาเรื่องพวกนี้ขึ้นมา เช่น มีไฮเปอร์มาร์เก็ตในกลางเมืองหัวหิน ซึ่งปกติแล้วเขาห้าม ต้องออกไปห่างจากกลางเมืองเป็น 10 กิโลเมตร แต่นี่มาตั้งในใจกลางเมือง นี่มาตั้งได้อย่างไร

ไทยพับลิก้า : ปกติแม้จะไม่มีผังเมือง ผู้มีอำนาจไม่เซ็นก็ได้ไม่ใช่หรือ

ก็ได้ แต่ก็เขาเซ็น มันถึงมีมาร์เก็ตวิลเลจขึ้นมา พอมีแล้วรถก็ติด ตั้งกรวยอะไรวุ่นวายไปหมด และอยู่ติดโรงเรียนอีกนะ ผิดเทศบาลบัญญัติ คุณห้ามสร้างศูนย์การค้าติดโรงเรียน ตรงนั้นก็มีโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย

ไทยพับลิก้า : ปัจจุบันมีข้อมูลไหมว่ามีคอนโดฯ หรือโครงการใช้น้ำเท่าไหร่ มากเกินกว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้ว จะต้องหยุดก่อสร้างไหม หยุดการอนุมัติโครงการ เพราะไม่สามารถรองรับได้แล้ว

ไม่มีๆ ปล่อยให้สร้างกันขึ้นมา ตอนนี้นอกจากที่เห็นตรงริมหาดฝั่งชายทะเลแล้ว ถ้าหากคุณขับรถเข้าไปในเขาด้านใน จากบ่อฝ้าย เขาเต่า จะเห็นมีโครงการผุดขึ้นมาหลายสิบโครงการ และโครงการเหล่านั้นเป็นต่างชาติก็เยอะ บางรายบอกว่าเขาใช้วิธีกักน้ำโดยการเปิดน้ำทิ้งไว้ในอ่างเลย เพราะบางวันเขาขาดน้ำ พวกนั้นซื้อบ้านหลังหนึ่ง 5-20 ล้านบาท ปัญหานี้เกิดขึ้นต่อเนื่องทั่วไปหมด

ไทยพับลิก้า : ไม่มีใครมอนิเตอร์ตัวเลขการใช้น้ำ การขาดน้ำ

ผมว่าตัวเลขเขาไม่ได้เก็บ ปัญหาคือเขารู้ แต่เป็นตัวเลขที่ไม่เปิดเผย น้ำที่มาจากเขื่อนปราณบุรีจำนวน 50,000 คิวบ์ต่อวัน แต่มาถึงที่หัวหินแค่ 40,000 คิวบ์ มันหายไปไหน!!

ไทยพับลิก้า : แต่มีคำตอบ

เขารู้ แต่เขาคงไม่ตอบเป็นทางการ มันมีผู้มีอิทธิพลดูดเอาไปใช้ แต่ทราบว่ามีการแอบลักน้ำ เป็นพวกที่ที่ต้องใช้น้ำเยอะๆ ระหว่างทาง เป็นกลุ่มที่ถูกเพ่งเล็ง ระหว่างเขื่อนปราณมาถึงหัวหินมีโครงการอะไรบ้าง ชี้ได้เลยว่าต้องสงสัย นั่นเป็นปัญหาส่วนหนึ่ง แต่ในส่วนที่ไม่มีผังเมืองทำให้เขาออกอนุญาตได้ตลอด มีโครงการไหนมาขอ หากพูดจากันรู้เรื่องเขาก็อนุมัติให้

นี่คือส่วนที่ชมรมพิทักษ์หัวหินเป็นกำลังกดดันเรื่องนี้ ผลักดันเรื่องนี้ เพราะนอกจากพวกธุรกิจแล้ว เราเข้าถึงชุมชน ในหัวหินมี 35 ชุมชน เรามีการพบปะตัวแทนชุมชนอยู่เรื่อยๆ รับทราบปัญหา จะร้องเรียนอย่างไร เขาก็เสนอความเห็นว่าควรจะแก้ไขอย่างไร ลงสมุดปกขาว และแจกว่านี่คือความเห็นของชาวหัวหินว่าด้วยเรื่องปัญหาของคนหัวหิน เราทำทุกปี และอัพเดททุกปี

เรื่องน้ำ กรมควบคุมมลพิษมาเก็บตัวอย่างน้ำทะเลทุกไตรมาส และสิ้นปีเขาจะให้คะแนนออกมาเป็นดาวว่ากี่ดาว เราไม่ใช่หน่วยงานราชการ เราไม่ใช่หน่วยงานการเมือง ก็มีวิธีกดดันวิธีอื่น ก็ขอติดป้ายแจ้งคะแนนคุณภาพน้ำและชายหาดหัวหินจากกรมควบคุมมลพิษ ติดป้ายให้เห็นชัดๆ หัวหินติด 4 ดาวมาต่อเนื่อง มีอยู่ปีหนึ่งที่ตกมาอยู่ที่ 3 ดาว พอร่วง หัวหินต้องรีบทำให้คะแนนกลับขึ้นมา เป็นการแจ้งนักท่องเที่ยว ประชาชน เขาจะได้ตักเตือนเทศบาลว่าคุณทำอะไรกันอยู่

ไทยพับลิก้า : ทางออกจะแก้ปัญหาอย่างไรนอกจากการบำบัดน้ำ

เรื่องบำบัดเป็นเรื่องใหญ่มาก ส่วนใหญ่ยังไม่ได้ทำกันและส่วนใหญ่ยังปล่อยน้ำเสียลงทะเล และน้ำเสียลงสู่ท่อเทศบาลเอาไปบำบัด แต่ของเราบำบัดเองใช้เอง ไม่สร้างภาระให้เทศบาล

“ส่วนเรื่องขาดน้ำเป็นพื้นฐานที่เทศบาลต้องแก้ให้ได้ หากแก้ไม่ได้เอกชนจะขาดศรัทธา ในเรื่องการเอาใจใส่ของเทศบาล ขีดความสามารถของเทศบาลในการดูแล เขาจะบอกว่าคุณยังดูแลผมไม่ได้เลย แล้วคุณจะให้ผมทำอะไร และผมต้องจ่ายภาษีให้คุณ ก็เป็นแนวคิดในทางลบ ไม่สร้างสรรค์”

นอกจากนี้ยังมีปัญหาการจราจร คนที่มาหาหัวหินก็บ่น ไปทางไหนรถก็ติด มีที่จอดรถที่ผิดกฎหมาย ทำไมไม่จัดการ อย่างในเมือง แถวตลาดโต้รุ่ง ตลาดฉัตรไชย หาที่จอดรถไม่ได้ จะแก้ไขอย่างไร จะทำให้เป็นวอล์คกิ้งทาวน์ไหม จัดที่รถจอดรถใหญ่สักแห่งอยู่รอบๆ เมือง ให้คนจอดรถ จะเดินหรือขึ้นสามล้อถีบให้คนนั่งรถเข้ามา ให้เกิดบรรยากาศย้อนยุคไหม ก็เป็นเรื่องที่ต้องหยิบยกมาหารือกันว่าทำได้ไหม เพื่อหาทางแก้ไขกัน

ส่วนปัญหาขยะ ก็เป็นปัญหาขยะล้นเมือง แม้ชายหาดจะดีขึ้น แต่ในเมืองมีการโยนขยะลงในคลองเลอะเทอะอยู่ และสภาพที่เก็บขยะ 100 กว่าไร่ กำลังจะเต็มจะทำอย่างไร จะแก้ไขอย่างไร

ของพวกนี้เราทำไว้ในสมุดปกขาว ส่งให้เทศบาลไปเมื่อปลายปี 2554 และปีนี้มีการเลือกตั้งใหม่ ดูว่าใครจะเข้ามา (มีการเลือกตั้ง 23 มิถุนายน 2555 ที่ผ่านมา) รอ กกต. รับรอง

นี่คือสโคปงานทั้งภายในและภายนอกที่เราทำ

ไทยพับลิก้า : จากแนวคิดและการลงมือทำ สิ่งเหล่านั้นได้สร้างความยั่งยืนให้ชีวาศรมอย่างไร

ชีวาศรมมีการรายงานความยั่งยืน sustainability เราสรุปเป็นระยะๆ มีผลอย่างไร เวลาเราทำ ผู้ถือหุ้นอยากจะรู้ว่าดีกับส่วนรวมอย่างไร และเราก็อยากจะรู้ว่าในเชิงผลตอบแทนมันจะกลับมาในส่วนของธุรกิจองค์กรอย่างไร กลับมาในรูปผลตอบแทนอย่างไร กลับมาในรูปของการประหยัด เช่น ในเรื่องพลังงาน ถือเป็นเรื่องใหญ่มาก หากเราไม่ดูแลเรื่องนี้ธุรกิจเราจะมีปัญหาได้ เพราะเป็นธุรกิจที่ใช้พลังงานเยอะ อย่าง สปาใช้น้ำเยอะมาก ไม่ใช้ไม่ได้ ไฟก็ต้องใช้ หากในอนาคตเราไม่รีบดูแลเรื่องนี้ เราจะไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ธุรกิจจะไม่ viable หากไม่มองเรื่องนี้ อีก 5-10 ปี มีปัญหาเรื่องพลังงาน ยังไงก็ต้องใช้ ก็ต้องมีอะไรทดแทนน้ำมัน เพราะราคามีแต่จะขึ้น ไม่มีลง คุณจะเอาตัวนี้ไม่อยู่

ไทยพับลิก้า : โซลาร์เซลส์จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ใช่ ต้องเพิ่มไปเรื่อยๆ ทำน้ำร้อนทำได้อยู่แล้ว แต่จะทำน้ำเย็นแพงกว่าเยอะ หากทำได้เมื่อไหร่เราจะเริ่มได้ทันที

ไทยพับลิก้า : การลงทุนทำเรื่องความยั่งยืน กว่าสังคม กว่าประชาชนจะเห็น ต้องใช้เวลา

ไม่ช้า อย่างโครงการที่จะทำกับ คลินตัน เป็นโครงการการปรับปรุงอาคารเพื่อการประหยัดพลังงานของ the Clinton Climate foundation ประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ 26% ถ้าทำได้จริงก็ประหยัดในอนาคต แต่การลงทุนเบื้องต้นมันเยอะ การตัดสินใจตอนแรกมันต้องลงทุนเยอะ บีโอไอต้องเข้ามาช่วย มีแรงจูงใจกระตุ้นให้ธุรกิจทำ ทำให้เป็นเรื่องธุรกิจที่ต้องทำ

เราเดินหน้าไปก่อน หากไม่ทำเราจะมีปัญหากับธุรกิจล้วนๆ ยังไม่พูดถึงสิ่งแวดล้อม มันต้องไปควบคู่กัน

ไทยพับลิก้า : การทำเรื่องความยั่งยืน เป็นจุดแข็งให้ชีวาศรมอย่างไร

มันเป็นการมองระยะยาว 10-20 ปีข้างหน้า ว่าการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้จะมีผลกระทบอย่างไร อาทิ เรื่องบุคลากร มีผลกระทบเยอะมาก หากเราสามารถพัฒนาคนขึ้นมาได้ จ็อบงานที่ต้องอิมพอร์ตต่างชาติเข้ามาทำเราก็ไม่ต้อง เช่น นักกายภาพ เทอราพิสต์ ไปเรียนที่ออสเตรเลียคอลเลจ ที่ซิดนีย์ 8 คน ผมส่งไปเรียนพร้อมกัน จ็อบนี้ เมื่อก่อนต้องใช้ต่างชาติ คนไทยไม่มี และหาเรียนไม่ได้ ไม่มีสอน ต้องไปเอามา และรุ่นที่สองกำลังตามไป ของพวกนี้ต้องคิดไปล่วงหน้าตลอด เราต้องไปเอาความรู้มาก่อน อย่างที่เราส่งไปเรียนรุ่นแรก กลับมาเราแทรคได้เลยว่า เป็นความรู้ที่ต้องใช้จริงๆ สำหรับแขกในยุคปัจจุบัน และในอนาคตมีอะไร ไปเอามาก่อนเลย เพราะมันต้องมาแน่ มันต้องเจอแน่ แทนที่จะรอให้มันมาแล้วค่อยๆ ทำ แต่เราดักไว้ก่อน

หรือเรื่องระบบงาน ต่างๆ ไอที อย่างตอนนี้ระบบซอฟต์แวร์ที่เอามาทำระบบสปาของชีวาศรมละเอียดอ่อนกว่าที่อื่น ก็เป็นระบบที่แอดวานซ์กว่าที่อื่น เรามีห้องพัก 58 ห้อง แต่มีห้องทรีตเมนท์ 72 ห้อง ดูสัดส่วนมันชัดว่าแหวกแนวไปเลย ไม่เหมือนที่อื่นที่มีห้องพัก 90 ห้อง มีห้องสปา 10 ห้อง ของเรามันพลิกเลย รู้เลยว่าโฟกัสที่ไหน

ตรงนี้ก็เป็นอีกตัว ถ้าหากคุณจะทำ wellness แต่คุณไม่ได้โฟกัสที่ wellness มันก็ไม่ใช่ wellness คุณก็เพียงเอ่ยมาแค่ชื่อเท่านั้น ไม่ใช่ wellness

“คนที่เข้ามาที่นี่มาเพื่อ wellness อย่างเดียว ไม่ต้องการอย่างอื่น นี่เป็นรีสอร์ทที่แปลก ที่นี่เข้ามาเป็น single destination เข้ามาแล้วไปเลย ไม่ไปที่อื่น แต่แขกเราไม่ ต้องหัวหินอย่างเดียว อย่างมากก็แวะกรุงเทพฯ คืนสองคืนก็ไปเลย”

ไทยพับลิก้า : ธุรกิจชีวาศรม เศรษฐกิจขาลงไม่กระทบ

ไม่กระทบ

ไทยพับลิก้า : ทราบว่าชีวาศรมดูแลการเดินทางของแขกที่มาพักดีมาก

บางรายมีเครื่องบินส่วนตัว บินมาลงที่สนามบินหัวหิน หรือชาร์เตอร์ไฟท์ หรือนั่งรถจากแอร์พอร์ต เราแทบจะอุ้มจากเครื่องบินมาเลย ไม่เกิน 20 นาที แต่จะช้าเร็วอยู่ที่กระเป๋า

บางคนนั่งเครื่องจากสุวรรณภูมิมา ไม่อยากขึ้นรถ เอาเครื่องบินมาเก็บที่สนามบินหัวหิน ที่ผมประทับใจมากที่สุด ช่วงที่มีปัญหาการเมือง มีแขกของเราไปลงที่สนามบินอู่ตะเภา นั่งรถมาถึงที่นี่ เบ็ดเสร็จเดินทาง 24 ชั่วโมงจากที่เขามา

ไทยพับลิกา : แบรนด์ชีวาศรม แข็งมากสำหรับต่างชาติ

เขามาบำรุงรักษาตัวเอง เขาไม่ได้มานอนอาบแดด เพราะเขาหาที่อื่นได้

ไทยพับลิก้า : ที่อื่นที่ทำแบบเดียวกับที่นี่มีไหม

ไม่มี ผมไปมาทุกทวีป และที่เป็นต้นตอที่ทำแบบนี้ที่อเมริกา ไปดูทุกซอกทุกมุม ไปกันหลายคน ดูจุดอ่อนจุดแข็งเปรียบเทียบกับเรา ผมว่ายังไม่มี แต่เราไม่นิ่งนอน เราจะเดินอย่างรวดเร็ว เพราะเขารู้กันแล้วว่าเรื่อง wellness จะเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก เพราะทุกๆ คนรู้ว่าเทรนด์นี้มาแรง อย่างเมดิคัลทัวร์ริสซึม ทุกๆ คนที่มาคือคนเจ็บที่มารักษาที่เมืองไทย และมีคนที่ไม่อยากเจ็บที่มาด้วยกัน คนที่มาด้วยก็รู้สึกว่าฉันไม่อยากเจ็บ ไม่สบาย แล้วจะทำอย่างไร โรงพยาบาลหลายแห่งพยายามตั้งเป็นศูนย์สปา ก็ส่อให้เห็นว่าคนที่อยากจะเข้า wellness มีมากกว่าคนที่อยากเข้าเมดิคัล 3-4 เท่า ก็เห็นแล้วว่าคนที่อยากจะ wellness มีอยู่มาก คนที่เล็งเห็นศักยภาพด้านนี้มีเยอะ

“ผมเพิ่งไปประชุมที่อเมริกา มีผู้นำจากธุรกิจนี้มาจากทั่วโลก เห็นพ้องต้องกันว่า wellness คือเส้นทางที่จะไปแน่นอน ส่วนสปา สมัยนี้คนไม่อยากใช้คำนี้แล้ว แล้วก็ทำอย่างไรที่จะให้ wellness เป็นที่ยอมรับ อย่างอาชีพของแพทย์เป็นที่ยอมรับ มีการศึกษา มีการรับรอง ออกประกาศนียบัตร อันนี้เป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะ wellness ไม่มีหลักสูตร ไม่มีปริญญาชัดเจน”

แต่ละที่ไม่เหมือนกัน แต่ละที่เน้น wellness ไม่เหมือนกัน ยุโรปเป็นคลินิก ไปอเมริกา จะเป็นฟิตเนส มาบ้านเราเมดิเทชั่น ฝังเข็ม โยคะ หรืออายุรเวทของอินเดีย ทางเราก็เก่งทางด้านนี้ ผมเคลมว่าชีวาศรมรวมพวกนี้ได้หมดอยู่ในจุดเดียว

ถามว่ามีคู่แข่งไหม ตอนนี้ยังไม่เห็น แต่มันอาจจะมีก็ได้

สัญลักษณ์"ช้าง"เพื่อการประหยัดน้ำ หากแขกวางช้างไว้บนเตียงแสดงว่าไม่ต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอน
สัญลักษณ์ “ช้าง” เพื่อการประหยัดน้ำ หากแขกวางช้างไว้บนเตียงแสดงว่าไม่ต้องเปลี่ยนผ้าปูที่นอน

ไทยพับลิก้า : ตอนนั้นที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ เพราะคิดว่าเทรนด์นี้ต้องมาใช่ไหม

การดูแลสุขภาพไม่ใช่การดูแลจุดใดจุดหนึ่ง ไม่ใช่ออกกำลังเยอะแล้วคุณจะสุขภาพดี แต่คุณทานอาหารได้ถูกต้องไหม “ถูกต้อง” มันมีนัยต่างกัน แต่ละคนแตกต่างกัน สภาพร่างกาย สภาพการใช้ชีวิตที่แตกต่างกัน จะบอกกินเหมือนกันหมด ไม่ใช่ เรื่องนี้เรื่องใหญ่มาก

หรือการพักผ่อนสำหรับตัวเรากับคนอื่นไม่เหมือนกัน บางคนนอนหลับสนิทแค่ 5 ชั่วโมงก็สดชื่นแล้ว บางคน 8 ชั่วโมง แล้วทำอย่างไรให้ได้ 8 ชั่วโมง ต้องปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง ออกกำลังกายไหม ทานอาหารกี่โมง ดังนั้น การที่จะนอนให้ได้ตามธรรมชาติมันโยงกันไปหมด เพราะร่างกายมีหลั่งสารอาหารตอนไหนอย่างไร ต้องศึกษาพวกนี้ ไม่งั้นก็พลาด การนอนที่เป็นธรรมชาติ ต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง

สมุดปกขาวของชมรมพิทักษ์หัวหิน

จากส่วนหนึ่งของสมุดปกขาว ตอนหนึ่งได้ระบุว่า ชมรมฯ มีเป้าหมายในการรณรงค์และสนับสนุนการใช้พื้นที่ของหัวหินอย่างเหมาะสมตามกฏหมายผังเมืองทั้งระดับประเทศ และของเทศบาลเมืองหัวหิน เพื่อให้การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ของหัวหิน เป็นไปในแนวทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน และสามารถสงวนและแจกจ่ายทรัพยากรพื้นฐาน เช่น น้ำประปา พลังงานไฟฟ้า ให้กับผู้ใช้ของหัวหินอย่างเพียงพอ เนื่องจากพื้นที่และทรัพยากรของหัวหิน เช่น พื้นที่ที่เหมาะสมกับการก่อสร้าง พลังงานไฟฟ้า น้ำประปา พื้นที่ถนน มีปริมาณที่จำกัด ขณะที่ความต้องการที่จะใช้ทรัพยากรเหล่านั้นกลับมีปริมาณที่มากเกินกว่าความสามารถของเมืองหัวหินจะสามารถสนับสนุนการเติบโตได้ จนส่งผลกระทบต่อผู้ที่อยู่อาศัยเดิมในที่สุด

ผลลัพธ์ของปัญหาจากการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้งและไม่ยั่งยืนนี้ สามารถสังเกตได้จากปัญหาการจราจรที่ติดขัดในช่วงวันหยุด เมื่อนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามา จนถนนหัวหินไม่สามารถรองรับได้ การที่เมืองหัวหินมีปัญหาการขาดน้ำประปาใช้ในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากปริมาณน้ำที่สะสมไว้ในเขื่อนปราณบุรีมีไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้แก่ประชาชนของเมืองหัวหิน จนทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำประปาใช้เป็นระยะยาวนาน

ปัญหาน้ำท่วมขังในเมืองหัวหินที่มาจากการก่อสร้างอย่างไม่หยุดยั้ง จนทำให้ทางระบายน้ำที่เคยมีอยู่ตามธรรมชาติหายไป มีสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กั้นทางไหลของน้ำ รวมถึงปัญหาการตีบตันของทางระบายน้ำ เนื่องจากเศษดินที่มาจากการก่อสร้าง การที่มีการก่อสร้างห้างสรรสินค้าขนาดใหญ่ เช่น Market Village ที่มีเทสโก้ โลตัสตั้งอยู่ภายในเขตเมืองหัวหิน จนเป็นสาเหตุของการจราจรที่ติดขัดและเป็นส่วนหนึ่งที่ซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรน้ำให้รุนแรงยิ่งขึ้น

เพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาเรื่องการเติบโตของเมืองหัวหินอย่างไม่ยั่งยืนนั้น ทางชมรมฯ จะดำเนินการต่อไปนี้ เพื่อให้เมืองหัวหินยังคงสเน่ห์ความเป็นเมืองชายหาดที่สวยงามต่อไป

โดยทางชมรมมีจุดยืนที่ไม่สนับสนุนการก่อสร้างและการพัฒนาโดยไม่คำนึงถึงและเสนอการแก้ไขที่เหมาะสมต่อปัญหาที่เกิดมาจากกิจกรรมนั้นๆ เช่น การก่อสร้างโรงแรมหรือหอพักในเขตหัวหินที่มิได้แสดงวิธีการแก้ไขปัญหาเรื่องการแย่งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและไม่เพียงพออยู่เดิม โดยชมรมจะเข้าร่วม เสนอแนะ ในการรับฟังปัญหาของภาคประชาชน ในช่วงของการประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการก่อสร้างตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดไว้ และจะทำการคัดค้านเรื่องปัญหาของการพัฒนาที่มาจากการก่อสร้างนี้อย่างแข็งขัน จนกว่าปัญหาเรื่องการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนนี้ได้รับการแก้ปัญหาที่เหมาะสมต่อไป โดยเฉพาะการแย่งใช้ทรัพยากรพื้นฐาน