ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มายาคติเรื่องแผ่นดินไหว – ทำไมแผ่นดินไหวเกิดบ่อยขึ้น?

มายาคติเรื่องแผ่นดินไหว – ทำไมแผ่นดินไหวเกิดบ่อยขึ้น?

13 มิถุนายน 2012


การเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในแต่ละปี - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net
การเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในแต่ละปี - ภาพจาก วิชาการธรณีไทย GeoThai.net

ในอดีต เมื่อพูดถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว คนไทยหลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว และเกิดขึ้นได้ยากในประเทศไทย แต่จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั้งในประเทศ และต่างประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า แผ่นดินไหวเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่หลายคนเข้าใจ และได้เปลี่ยนทัศนคติเรื่องแผ่นดินไหวของคนไทยในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

ช่วงเวลาแค่ 10 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2002-2012 พบว่ามีเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ที่ได้คร่าชีวิตผู้คนมากกว่า 1 แสนคนเกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกันเพียงไม่กี่ปี ไล่เรียงตั้งแต่แผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ในปี 2004 มีผู้เสียชีวิต 227,898 คน และแผ่นดินไหวที่เฮติ ในปี 2010 มีผู้เสียชีวิต 316,000 คน โดยแผ่นดินไหวที่เฮติ เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากที่สุดในรอบศตวรรษ นับตั้งแต่ปี 1900 หรือปี 2443 เป็นต้นมา

แค่ระยะเวลาเพียง 10 ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้คร่าชีวิตพลเมืองของโลกใบนี้ไปแล้วกว่า 783,026 ชีวิต คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของผู้เสียชีวิตทั้งหมดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ในช่วงเวลา 100 ปี ที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 1900 ที่มียอดผู้เสียชีวิตรวมกว่า 2,309,716 คนทั่วโลก (สถิติผู้เสียชีวิตจากแผ่นดินไหวตั้งแต่ปี 1900 โดยองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา – USGS)

ขณะที่สื่อสารมวลชนได้โหมกระพือรายงานข่าวแผ่นดินไหว จนทำให้รู้สึกว่าแผ่นดินไหวในปัจจุบัน มีขนาดใหญ่ ทวีความรุนแรงมากขึ้น เกิดบ่อยขึ้น และถี่ขึ้น ตามที่ปรากฎให้เห็นในสื่อต่างๆ เมื่อเปรียบเทียบกับหลายสิบปีก่อนหน้า ทั้งที่ขนาดของแผ่นดินไหวเท่ากัน แต่ทำไมแผ่นดินไหวในปัจจุบัน จึงได้ทำลายชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าในอดีต เกิดเป็นข้อสงสัยว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวทุกวันนี้ มีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดขึ้นบ่อยกว่าในอดีตจริงหรือ เรื่องนี้สามารถหาคำตอบได้ตามหลักวิทยาศาสตร์

องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ได้ทำการบันทึกสถิติแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ปี 1900 จนถึงปัจจุบัน พบว่าประมาณการค่าเฉลี่ยของการเกิดแผ่นดินไหวทั่วโลกในแต่ละปีมีมากกว่า 1 ล้านครั้ง ส่วนหนึ่งไม่สามารถตรวจจับได้เนื่องจากอยู่นอกพื้นที่การตรวจวัด หรือมีขนาดเล็กมากจนไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยจำนวนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 7.0 ขึ้นไปที่เกิดขึ้น มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 16 ครั้งต่อปี แบ่งเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ตั้งแต่ 7.0 – 7.9 จำนวน 15 ครั้งต่อปี และ ขนาดตั้งแต่ 8.0 ขึ้นไป 1 ครั้งต่อปี

ในส่วนที่สามารถตรวจจับได้จริง โดยเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว (Seismograph) ศูนย์ข้อมูลแผ่นดินไหวแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NEIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายในขององค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) สามารถตรวจจับแผ่นดินไหวทั่วโลกขนาดตั้งแต่ 4.5 ขึ้นไปได้โดยเฉลี่ย 50 ครั้งต่อวัน หรือประมาณ 20,000 ครั้งต่อปี (สถิติแผ่นดินไหว โดยองค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา – USGS)

ในช่วง 38 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 1973 – 2011 ตัวเลขจำนวนครั้งของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่กว่า 7.0 ที่มีการบันทึกได้ทั่วโลก เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ย 16 ครั้งต่อปี แสดงให้เห็นว่า ปีที่มีจำนวนแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกินจากค่าเฉลี่ย มี 8 ปี คือ ปี 1976, 1990, 1995, 1999, 2007, 2009, 2010 และ 2011

โดยปีที่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่เกิน 7.0 เกิดขึ้นสูงสุดคือปี 2010 ที่มีการตรวจพบถึง 24 ครั้ง ในขณะที่ปีอื่นๆ ยังคงอยู่ในระดับค่าเฉลี่ย และมีปีที่เกิดแผ่นดินไหวน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเป็นจำนวนมากคือ ปี 1989 เกิด 6 ครั้ง และ ปี 1988 เกิด 7 ครั้ง

จากข้อมูลดังกล่าว องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) จึงได้ยืนยันว่า แผ่นดินไหวที่มีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 7.0 ขึ้นไป ยังคงเกิดขึ้นในอัตราคงที่ นั่นแปลว่า ปัจจุบัน แผ่นดินไหวไม่ได้รุนแรงขึ้น และเกิดบ่อยขึ้นกว่าในอดีตแต่อย่างใด

แต่เหตุใด คนส่วนใหญ่จึงไม่ได้คิดเช่นนั้น องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (USGS) ได้ให้คำอธิบายไว้อย่างน่าสนใจ

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า แผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 7.0 ขึ้นไป ยังคงเกิดขึ้นในอัตราคงที่ ไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่ในส่วนของแผ่นดินไหวที่ขนาดเล็กกว่า ยังคงพบว่ามีจำนวนครั้งของแผ่นดินไหวมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา แต่สาเหตุสำคัญไม่ได้เป็นเพราะมีแผ่นดินไหวเกิดมากขึ้นจริงๆ แต่เป็นเพราะเรามีเทคโนโลยีที่ดีขึ้น การสื่อสาร และการตรวจจับแผ่นดินไหวจึงมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เราสามารถรับรู้เรื่องราวแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ต่างจากอดีตที่ผ่านมา

ในปี 1931 ทั่วทั้งโลกมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเพียง 350 สถานี ในขณะที่ปัจจุบัน จำนวนสถานีเพิ่มขึ้นไปแล้วกว่า 8,000 สถานี และมีการส่งข้อมูลอย่างรวดเร็วด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบดาวเทียม ทำให้การตรวจจับแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นบนโลกนี้เป็นไปอย่างรวดเร็ว และด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ ทำให้เราสามารถตรวจจับแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้มากขึ้น และเร็วขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

สอดคล้องกับความเห็นของ ผศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์ นักธรณีฟิสิกส์และหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในช่วงนี้กับช่วงก่อนหน้า ไม่ได้มีความแตกต่างกัน โลกของเราเกิดแผ่นดินไหวในระดับนี้อยู่แล้วเป็นธรรมชาติ

“แต่สิ่งที่สำคัญคือ ตำแหน่งที่เกิดของแผ่นดินไหว หากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ไปเกิดขึ้นในป่าอาจจะไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น แต่หากแผ่นดินไหวขนาดเดียวกันเกิดขึ้นในเมือง ในบริเวณที่มีคนอาศัยอยู่ ความเสียหายก็จะมีมากกว่า แม้ขนาดของแผ่นดินไหวจะเท่ากัน โดยในปัจจุบัน ประชากรของโลกมีจำนวนมากขึ้น เมืองและชุมชนมีการขยายตัว ทำให้มีโอกาสสูงขึ้นที่เมืองจะไปอยู่ในพื้นที่แผ่นดินไหว” ผศ.ดร.วีระชัย อธิบาย

ผศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์
ผศ.ดร.วีระชัย สิริพันธ์วราภรณ์

และสาเหตุหลักของการสูญเสียชีวิต ไม่ได้เกิดมาจากแผ่นดินไหวโดยตรง แต่เป็นจากสิ่งก่อสร้าง หากแผ่นดินไหวไปเกิดในประเทศที่มีสิ่งก่อสร้างที่สามารถรองรับแผ่นดินไหวได้อย่างประเทศญี่ปุ่น ก็อาจจะไม่เกิดความเสียหายเท่ากับไปเกิดในประเทศที่สิ่งก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น เฮติ ดังนั้น ถ้าเรามีสิ่งก่อสร้างที่แข็งแรงมากขึ้น คนก็จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวน้อยลง

ในเรื่องการรับรู้ของผู้คน หากแผ่นดินไหวไปเกิดขึ้นในป่า ไม่สร้างความเสียหาย คนก็จะไม่รับรู้ ไม่สนใจ และไม่เป็นข่าว แต่หากไปเกิดขึ้นในเมือง ก็จะกลายเป็นข่าว บางทีเกิดขึ้นครั้งเดียวแต่กลายเป็นข่าวหลายวันหรือหลายเดือนก็มี เลยดูเหมือนว่าแผ่นดินไหวเกิดขึ้นในเขตเมืองบ่อยขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริง อัตราการเกิดแผ่นดินไหวยังคงเท่าเดิม

“และการรายงานข่าวในปัจจุบัน ที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นที่หนึ่งบนโลก คนทั่วโลกสามารถรับรู้ได้พร้อมกันจากการรายงานข่าวในเวลาเพียงไม่กี่นาที แตกต่างจากอดีตที่กว่าจะรู้ต้องใช้เวลานาน หรือรับรู้แค่เฉพาะพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวเท่านั้น” ผศ.ดร.วีระชัยกล่าว

จากข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ จึงสามารถตอบคำถามได้ว่า ความเชื่อเรื่องแผ่นดินไหวที่ว่า แผ่นดินไหวในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น และเกิดบ่อยขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา จนบางคนคิดกันไปถึงขนาดว่า อาจเป็นการส่งสัญญาณเตือนของโลกใบนี้ว่า โลกกำลังจะแตก บางที อาจเป็นเพียงสิ่งที่เราคิดกันไปเอง

แหล่งข้อมูล: องค์กรสำรวจทางธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Geological Survey), วิชาการธรณีไทย GeoThai.net