ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล (1) : รื้อภาษีนิติบุคคล มี 1.5 แสนบริษัทที่เสียภาษี

โครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคล (1) : รื้อภาษีนิติบุคคล มี 1.5 แสนบริษัทที่เสียภาษี

26 มิถุนายน 2012


นโยบายของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ต้องการปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลใหม่ จากเดิมที่เก็บอยู่ในอัตรา 30% ของกำไรสุทธิ ปรับลดลงเหลือ 23% ในปี 2555 และลดลงเหลือ 20% ในปี 2556 การปรับโครงสร้างภาษีครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศแล้ว ยังช่วยกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน และในระยะยาวรัฐบาทคาดว่าจะมีรายได้ภาษีเพิ่มมากขึ้น

ภาษีเงินได้ (Income tax) เป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นในประเทศไทย มี 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กับ ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเป็นภาษีทางตรงอีกประเภทหนึ่งที่เก็บจากกำไรสุทธิของบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จัดตั้งขึ้นตามกฏหมายไทย

ทั้งประเทศมีบริษัท ห้างร้าน ที่อยู่ในฐานภาษีประมาณ 327,127 บริษัท แต่ที่เสียภาษีให้กรมสรรพากรจริงๆ มี 153,906 บริษัท อีก 173,221 บริษัทไม่เสียภาษี

บรรดาบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่จ่ายภาษี 327,127 บริษัท ในกลุ่มนี้มี 523 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่ของกรมสรรพากร ที่จ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของยอดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ส่วนที่เหลืออีก 2 ใน 3 เป็นบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ในจำนวนนี้กว่าครึ่งไม่ได้จ่ายภาษีให้กรมสรรพากร

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดทุนมีกำไรเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี และมีอัตรากำไรเฉลี่ยอยู่ที่ 21% ต่อปี ยกเว้นปี 2549-2551 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติซับไพร์ม ปี 2549 กำไรสุทธิของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ติดลบ 12.79% ปี 2550 ติดลบ 10% และปี 2551 ติดลบ 26%

แต่หลังจากที่รัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช มีมติเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551 ปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ จาก 30% ลดเหลือ 20% เฉพาะกำไรส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทแรกเป็นระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551

ส่วนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่แล้วปรับลดอัตราภาษีเหลือ 25% เฉพาะกำไรสุทธิไม่เกิน 300 ล้านบาท ตั้งแต่ปี 2552 บริษัทในตลาดทุน ก็เริ่มโชว์ตัวเลขกำไร ปี 2552 บริษัทในตลาดทุนมีกำไรสุทธิ 446,512.79 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43% (ฐานต่ำ) และปี 2553 มีกำไรสุทธิ 617,534.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 38.30%

จากการที่บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรเพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มขึ้นตาม ปี 2551 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรก่อนหักภาษี 472,885.86 ล้านบาท กรมสรรพากรเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล 159,817.68 ล้านบาท

ปี 2552 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์กำไรก่อนหักภาษี 613,176.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 140,290.19 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 27.18% กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 166,663.26 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 4.28%

ปี 2553 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรก่อนหักภาษี 856,734.40 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 243,558.35 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 27.92% กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 239,200.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 43.52%

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้อัตราภาษีที่แท้จริงของบริษัทในตลาดทุนจะลดลงตามนโยบายของรัฐบาล แต่ผลการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

เมื่อเปรียบเทียบผลการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งไม่ได้รับอานิสงส์จากมาตรการนี้ ปรากฏว่าตัวเลขกำไรก่อนหักภาษีของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลทำให้ยอดการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลงเป็นลำดับ

ปี 2551 บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯทั่วประเทศกำไรก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคล 1,002,775.68 ล้านบาท กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 300,832.70 ล้านบาท

ปี 2552 บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์กำไรก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคล 751,695.34 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 251,008.38 ล้านบาท หรือลดลง 25.03% กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 225,508.60 ล้านบาท

ปี 2553 บริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ กำไรก่อนหักภาษีเงินได้นิติบุคคล 717,883.60 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อนอีก 33,811.74 ล้านบาท หรือลดลง 4.49% กรมสรรพากรเก็บภาษีได้ 215,365.08 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกรมสรรพากร กล่าวว่าสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผลประกอบการของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ ลดลงมาอย่างต่อเนื่องผลจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพื่อไม่ให้เสียเปรียบบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายกิจการหันมาใช้เทคนิคทางบัญชีหาช่องทางลดต้นทุนทางภาษี (Minimize tax) ช่วงนั้นทางกรมสรรพากรได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกไปตรวจสอบภาษีรายที่ต้องสงสัยว่าจะเสียภาษีไม่ถูกต้อง

นี่คือเหตุลหนึ่งในการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้นิติบุคคลใหม่