ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม.ห้ามโรงงานยาสูบทำซีเอสอาร์ โยนคลังตีความมติ 17 เม.ย. เบรกงบขุดลอกคูคลอง-มูลนิธิ-โรงเรียน

ครม.ห้ามโรงงานยาสูบทำซีเอสอาร์ โยนคลังตีความมติ 17 เม.ย. เบรกงบขุดลอกคูคลอง-มูลนิธิ-โรงเรียน

3 มิถุนายน 2012


โรงงานยาสูบสนับสนุนสมทบทุนก่อสร้างมัสยิดดารุสซาอาดะฮ์
โรงงานยาสูบสนับสนุนสมทบทุนก่อสร้างมัสยิดดารุสซาอาดะฮ์

มาตรการสกัดกั้นการขยายตัวของธุรกิจบุหรี่ ที่ผลักดันโดยสำนักงานกองทุนสร้างเสริมสุขภาพแห่งชาติ (สสส.), กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้รับ “ไฟเขียว” จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2555 ที่สั่งห้ามผู้จำหน่ายยาสูบใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการตลาดด้วยกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ “ซีเอสอาร์” อ่านเพิ่มเติม

โดยองค์กรต่อต้านบุหรี่มองว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติและผู้ค้าบุหรี่รายใหญ่ของประเทศไทยก็คือ “โรงงานยาสูบ” มักใช้กลยุทธ์โฆษณาแฝงในการ “แทรกซึม” ทางความคิดคนรุ่นใหม่ ด้วยการบริจาคเงินและสิ่งของสนับสนุนกิจการสาธารณกุศล ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน มหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น

ปัจจุบัน โรงงานยาสูบใช้งบประมาณปีละกว่า 100 ล้านบาท บริจาคให้โรงเรียนยากจนและขาดแคลนอุปกรณ์กว่า 120 แห่ง รวมถึงทุนการศึกษา การวิจัย โครงการช่วยเหลือชาวบ้านในช่วงมหาอุทกภัย การมอบผ้าห่มกันหนาว สมทบทุนสร้างมัสยิด และส่งเสริมอาชีพชุมชน เป็นต้น

ล่าสุด ทางผู้บริหารโรงงานยาสูบ ได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอให้ “ตีความ” มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 เม.ย. ให้เกิดความชัดเจนว่า การทำซีเอสอาร์ครอบคลุมการดำเนินการอะไรบ้าง และจำเป็นต้องออกเป็นกฎกระทรวงหรือประกาศเพื่อรองรับหรือไม่

“ในขณะนี้โครงการที่หน่วยงานต่างๆ ยื่นขอรับการสนับสนุนมาส่วนหนึ่งคงต้องชะลอออกไปก่อน รวมทั้งโครงการที่กระทรวงการคลังเองขอรับบริจาคเงินจากโรงงานยาสูบ เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการขุดลอกคูคลองรองรับฤดูฝนที่มาถึงในขณะนี้ เพื่อให้มีความชัดเจนว่าการห้ามทำซีเอสอาร์คืออะไร” แหล่งข่าวระบุ

ทั้งนี้ ในปี 2554 งบประมาณด้านซีเอสอาร์ของโรงงานยาสูบ ส่วนใหญ่นำไปใช้ในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งการตั้งศูนย์อพยพ การเยียวยาพนักงานและครอบครัว การบริจาคให้องค์กรการกุศล สถานีโทรทัศน์ รวมถึงการบริจาคเงินให้โรงเรียนต่างๆ ที่ขอรับทุนการศึกษา อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ตามที่ร้องขอมา

แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาที่พบขณะนี้ก็คือ กรณีของมูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบัน ซึ่งปกติโรงงานยาสูบจะสนับสนุนเงินทุนทุกปี ได้แก่ ทุนอานันทมหิดล ทุนสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล มูลนิธิสายใจไทย มูลนิธิศิลปาชีพ มูลนิธิพระดาบส รวมถึงการสนับสนุนเงินจัด “งานกาชาด” ประจำทุกปี จะให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป

“หากมองว่าการบริจาคเงินให้องค์กรสาธารณกุศลเป็นการทำซีเอสอาร์ ทุนทั้งหมดที่เคยให้ไปก็ต้องถูกตัดงบประมาณและส่งเข้าคลังหลวง” แหล่งข่าวระบุ

สำหรับเนื้อหาของมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 เม.ย. เห็นชอบมาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบ ตามรายงานของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเมื่อปี 2553 โดยให้กระทรวงการคลังดำเนินการ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือปรับโครงสร้างภาษียาสูบเพื่อให้ราคาบุหรี่สูงขึ้น พร้อมเก็บภาษียาเส้นที่ทำจากใบยาสูบพันธุ์พื้นเมืองด้วย และเรื่องที่สองคือ ห้ามธุรกิจยาสูบทำกิจกรรมภายใต้นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมหรือซีเอสอาร์

นายไกรสร บารมีอวยชัย กรรมการโรงงานยาสูบ ยอมรับว่า เมื่อมีมติคณะรัฐมนตรีออกมาเช่นนี้ ทางโรงงานยาสูบก็พร้อมจะปฏิบัติตาม ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยมีกฎหมายห้ามไม่ให้โรงงานยาสูบเผยแพร่สปอตโฆษณาทางโทรทัศน์มาแล้ว คิดว่าครั้งนี้ก็ถือเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องกัน แต่จะมีการออกกฏหมายด้วยหรือไม่คงต้องหารือกันอีกครั้ง

ด้านนางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล ผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กล่าวว่า โรงงานยาสูบพร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายอยู่แล้ว หากกระทรวงการคลังให้แนวทางดำเนินการมาอย่างไรก็เป็นไปตามนั้น เพราะที่ผ่านมาเงินบริจาคหรือทำซีเอสอาร์ของโรงงานยาสูบมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ในรายงานประจำปีที่ระบุถึงการใช้งบประมาณส่วนนี้

“เงินที่เราให้กับโรงเรียนต่างๆ ถือว่าน้อยมาก เพราะส่วนนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการก็มีความเข้มงวดอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นการขอบริจาคคอมพิวเตอร์เก่าๆ ซึ่งปกติเราก็ตัดบัญชีทุก 3-5 ปีอยู่แล้ว เราจะล้างโปรแกรมเดิมและดาวน์โหลดโปรแกรมใหม่ที่จำเป็นต่อการเรียนการสอนให้ แต่ปีนี้ทางรัฐบาลมีนโยบายแจกแท็บเล็ต ทำให้โรงเรียนต่างๆ ไม่ขาดแคลน “นางประภัสสรกล่าว

ผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการโรงงานยาสูบระบุว่า ได้มีการนำมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เม.ย. แจ้งให้คณะกรรมการโรงงานยาสูบ ที่มีนายสมชัย อภิวัฒนพร เป็นประธานรับทราบแล้ว และอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนจากทาง สคร. ซึ่งก็ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น เพระทางกระทรวงการคลังเองก็ตัดสินใจไม่ได้ คงต้องรวบรวมข้อมูลก่อน แต่หากไม่อนุญาตให้โรงงานยาสูบทำงานด้านสังคมจริงๆ เงินส่วนนี้ก็จะเป็นกำไรของรัฐวิสาหกิจที่ส่งให้กระทรวงการคลังทุกปี

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า การทำ CSR เป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดโดยแท้จริง โดยเป็นการกระตุ้นที่แฝงไปด้วยรูปแบบของการให้สิ่งของและเงินทอง ซึ่งในแต่ละปีโรงงานยาสูบมีงบประมาณในการให้รูปแบบนี้ถึง 100 ล้านบาท และน่าเสียดายที่ปัจจุบันมีหน่วยราชการของไทยรับเงินจากโรงงานยาสูบจำนวนมาก แต่หลังจากนี้ไปโรงงานยาสูบคงดำเนินการลักษณะนี้ไม่ได้

นายธนาชัย รอดศิริ ผู้ช่วยเลขาคณะทำงานของกรมสรรพสามิตกล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคีต่างๆ ทุกภาคส่วน ได้ร่วมกันจัดทำยุทธศาสตร์ในการควบคุมการบริโภคและปราบปรามบุหรี่เถื่อนขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอกระทรวงสาธารณสุขเพื่อนำเข้า ครม. ต่อไป

ทั้งนี้ ถือเป็นการใช้มาตรการภาษีควบคู่กับมาตรการทางสังคม โดยอาจต้องมีการออกกฎหมายมาบังคับใช้ เช่น ภาษีเพื่อลดการบริโภคยาเส้นที่ขณะนี้เสียภาษีเพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม และยาเส้นพื้นเมืองไม่เสียภาษี หรือใบอนุญาตร้านค้าปลีกบุหรี่ยาเส้น ที่ตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 กำหนดค่าธรรมเนียมไว้แค่ 20 บาท ต่อไปใบอนุญาตต้องแพงขึ้น รวมทั้งแก้ไขเรื่องปริมาณการนำเข้าบุหรี่จากต่างประเทศที่แต่เดิมให้เข้าได้ไม่เกิน 200 มวน ขณะที่ฮ่องกงจำกัดไว้ไม่เกิน 19 มวนเท่านั้น

นอกจากนั้น สิ่งที่ต้องเร่งแก้ไขปราบปรามคือการลักลอบผลิตบุหรี่เถื่อน ทั้งที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้านและลักลอบผลิตในประเทศ ซึ่งจะมีขนาดซอง รูปแบบ ตราสัญลักษณ์ และแสตมป์อากรของกรมสรรพสามิต เหมือนบุหรี่ที่ถูกกฎหมายทุกประการ

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า มติ ครม. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งไปดำเนินการ ทั้งเรื่องการห้ามการโฆษณาผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม รวมถึงระเบียบการควบคุมการรับบริจาคเงินจากโรงงานยาสูบ ที่ให้แก่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น ยังได้หารือกับ รมว.สาธารณสุขและปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องการออกระเบียบการติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุข ว่าต้องดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างไร เพื่อความโปร่งใสและป้องกันการล็อบบี้ของบริษัทผู้ค้าบุหรี่

โดยขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างการยกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบและคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการรวมเอาสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 มาเป็นฉบับเดียว เพื่อปรับปรุงให้มีความทันสมัยและครอบคลุมมากขึ้น เนื่องจากกฎหมายเดิมทั้ง 2 ฉบับ ใช้มากว่า 20 ปี และมีจุดอ่อน ไม่ครอบคลุมถึงการทำซีเอสอาร์ที่เป็นช่องทางการตลาดของบริษัทบุหรี่ รวมถึงการปรับปรุงบทลงโทษให้เหมาะสม เน้นให้ประชาชนรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทบุหรี่

“การที่บริษัทบุหรี่ใช้ CSR ทำการตลาด คือการแทรกแซงทางใจที่ได้ผลกว่าการโฆษณา ดังนั้นเราจะเห็นเหล้าบางยี่ห้อออกมาบอกให้คนทำความดี หรือใช้ชีวิตที่ท้าทาย ขณะที่บางประเทศ บริษัทบุหรี่โฆษณาว่าการสูบเป็นการแสดงความเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง” นพ.นพพรกล่าว

นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขและภาคีต่อต้านการสูบบุหรี่ ยังเคยมีการท้วงติงไปยังโรงงานยาสูบที่มีการจัดทำสินค้าพรีเมียม เช่น แก้วน้ำ จาน ที่พิมพ์ตราสัญลักษณ์บุหรี่ เช่น ยี่ห้อวันเดอร์ ว่าไม่สามารถทำได้ เพราะอาจเข้าข่ายการเผยแพร่หรือกระตุ้นให้ประชาชนเพิ่มการบริโภคบุหรี่มากขึ้นด้วย

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือน พ.ย. 2553 ระบุว่า โรงงานยาสูบมีการทำการตลาดและประชาสัมพันธ์แฝงไปกับกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งเน้นกลุ่มคนด้อยโอกาส เยาวชน และผู้หญิง ใช้เงินประมาณปีละ 150-200 ล้านบาท มีการจัดคอนเสิร์ตในต่างจังหวัด หรือออกบูธในงานคอนเสิร์ต การจัดสร้างห้องสูบบุหรี่ตามสถานที่สาธารณะ เข่น หัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต

ขณะที่บริษัท ฟิลิป มอริส (ไทยแลนด์) จำกัด เจ้าของแบรนด์มาร์ลโบโรและแอลแอนด์เอ็ม (แอลเอ็ม) มีลักษณะของกิจกรรมซีเอสอาร์ร่วมกับคู่ค้า โดยกลุ่มเป้าหมายคือครูและนักเรียนในพื้นที่ที่ปลูกยาสูบ ศจย. พบว่าในปี 2550 บริษัทใช้เงินในการทำซีเอสอาร์ทั้งหมด 170 ล้านบาท มีการทำการตลาด ณ จุดขาย เช่น งานเปิดตัวบุหรี่ใหม่ พริตตี้ รวมถึงการให้รางวัลร้านค้าปลีกเพื่อการจัดวางซอง มีจุดขายประมาณ 200,000 จุดทั่วประเทศ

ศจย. เปิดเผยด้วยว่า บริษัท บริติชอเมริกัน โทแบคโค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าพรีเมียมแบรนด์ เช่น ลัคกี้ เคนท์ เน้นการตลาดที่หากลุ่มนักสูบหน้าใหม่ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา โดยเฉพาะในสถานบันเทิงในกรุงเทพและเมืองใหญ่ โดยเฉพาะรอบๆ มหาวิทยาลัย มีการนำซองบุหรี่แลกบัตรคอนเสิร์ต

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า การผลักดันมาตรการคุมเข้มยาสูบให้ได้ผล คงต้องดำเนินการผ่านความร่วมมือกับทุกฝ่าย โดยให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม และทาง สช. ต้องรายงานต่อเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 5 ที่จะมีการประชุมกันในเดือน ธ.ค. 2555 โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันรายงานความก้าวหน้า ปัญหา และอุปสรรคด้วย

ย้อนดูวิบากกรรมธุรกิจสิงห์อมควัน

การเปิดศึกทางกฎหมายระหว่างกลุ่มแอนตี้บุหรี่ กับรัฐวิสหากิจยักษ์ใหญ่อย่างโรงงานยาสูบและบริษัทบุหรี่ข้ามชาติเกิดขึ้นมานานแล้ว หากย้อนไปดูข้อมูลจะพบว่า เรื่องที่เป็นประเด็นฮือฮา คือ กรณีกรมควบคุมโรคได้ยื่นข้อมูลให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตีความการเผยแพร่ภาพและสัญลักษณ์ของธุรกิจบุหรี่เมื่อปี 2547 ซึ่งมีคุณหญิงพรทิพย์ จาละ เป็นเลขาธิการกฤษฎีกา

เว็บไซต์ของกฤษฎีกาบันทึกไว้ว่า กรมควบคุมโรคได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ สธ ๐๔๒๓.๓/๒๑๖๒ ลงวันที่ 19 เม.ย. 2547 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า มีผู้ประกอบการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบในรูปแบบต่างๆ โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย ตามที่มาตรา 8 วรรคหนึ่ง และมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 ที่ได้กำหนดห้ามการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ หรือแสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผลิตภัณฑ์ยาสูบในสิ่งพิมพ์ ทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์หรือสิ่งอื่นใดที่ใช้เป็นการโฆษณาได้

โดยมีประเด็นให้ตีความและเอาผิด ประกอบด้วย

1. การเปิดสปอตโฆษณาในรายการต่างๆ ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ ที่ระบุว่าได้รับการสนับสนุนหรือด้วยความปรารถนาดีจาก “โรงงานยาสูบ”

2. การตีพิมพ์บนสื่อสิ่งพิมพ์เรื่องให้การสนับสนุนสมาคมแม่บ้านมหาดไทย โดยบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) จำกัด

3. การเอ่ยนามผู้ผลิตยาสูบทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ โดยไม่มีภาพและสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายการค้าของบุหรี่

4. การผลิตสินค้าต่างๆ โดยใช้ตราหรือโลโก้ของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น เสื้อผ้า นาฬิกาที่มีตราหรือติดเครื่องหมายการค้าบุหรี่เป็นรูป “อูฐ” หรือตัวอักษร “Camel”

5. การโฆษณาหรือวางขายเสื้อผ้า สินค้าอื่นๆ ของผู้ประกอบการ (ห้างสรรพสินค้า) โดยใช้ชื่อรากศัพท์ของบุหรี่พร้อมทั้งมีคำขยายหรือเพิ่มเติมคำอื่นๆ หรือมีโลโก้ของบุหรี่ หรือตัวหนังสือซึ่งเป็นชื่อตราบุหรี่อยู่ เช่น “Camel activeware” หรือ “Marlboro classic”

6. เงื่อนไขการแสดงฉลากและข้อความในฉลาก เพื่อห้ามใช้ถ้อยคำที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า โทษ พิษภัย หรืออันตรายจากการสูบบุหรี่มีเล็กน้อยบนซองหรือหีบห่อบุหรี่ได้หรือไม่ เช่น คำว่า “Mild” หรือ “light” เป็นต้น

คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ ๑๐) พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่รายการวิทยุโทรทัศน์หรือวิทยุระบุชื่อ “โรงงานยาสูบ” ในสปอตโฆษณาที่เป็นการสนับสนุนรายการ ไม่ว่าจะมีภาพสัญลักษณ์ (logo) หรือเครื่องหมายของโรงงานยาสูบที่เป็นตรา “ร.ย.ส.” หรือไม่ก็ตาม หรือกรณี บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) มอบเงินเพื่อสนับสนุนสมาคมแห่งหนึ่ง โดยไม่ได้มีข้อความหรือภาพของผลิตภัณฑ์ยาสูบแต่อย่างใด “ไม่อาจถือว่าเป็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ” ไม่ขัดต่อมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535

ประเด็นที่สอง การใช้ตราหรือภาพสัญลักษณ์ (logo) หรือเครื่องหมายการค้าของผลิตภัณฑ์ยาสูบ เช่น รูป “อูฐ” หรือตัวอักษร “Camel” โฆษณาเสื้อผ้าสุภาพบุรุษ หรือการใช้ชื่อหรือออกเสียงพ้องหรือคล้ายผลิตภัณฑ์ยาสูบ ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณา ยังไม่มีลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจได้ว่าหมายถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบ และเนื่องจากมีการระบุข้อความอื่นๆ ประกอบว่าเป็นการโฆษณาลดราคาเสื้อผ้าของสุภาพบุรุษด้วย การกระทำดังกล่าวจึงไม่เป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามมาตรา 9 ของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว

ประเด็นที่สาม ถ้ากระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าการใช้คำว่า “Mild” หรือคำว่า “light” เป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่ชัดแจ้ง และอาจทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับพิษภัยหรืออันตรายของบุหรี่ว่ามีเล็กน้อย กระทรวงสาธารณสุขก็อาจดำเนินการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุขโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 กำหนดห้ามการใช้ถ้อยคำดังกล่าวในฉลากได้