ThaiPublica > คอลัมน์ > มาตรฐานการแพทย์ไทยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

มาตรฐานการแพทย์ไทยเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย

13 มิถุนายน 2012


พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.)

กระทรวงสาธารณสุขแต่เดิมมา เป็นกระทรวงที่มีภารกิจในการจัดบริการสาธารณะด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนชาวไทยทุกคน โดยกระทรวงสาธารณสุขได้รับงบประมาณในการบริหารจัดการสาธารณสุขจากเงินงบประมาณแผ่นดิน เหมือนกับกระทรวงอื่นๆ ทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งผู้บริหารระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้นำนโยบายของ ครม. ที่เสนอและได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร นำมากำหนดแนวทางให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข นำไปปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามนโยบายที่รัฐบาลได้แถลงไว้แล้วดังกล่าว โดยมีเงินงบประมาณมาให้ใช้ดำเนินงานตามนโยบายนั้นๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ตามนโยบายนั้นๆ

โดยข้าราชการที่รับผิดชอบสูงสุดก็คือปลัดกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องสั่งการ กำกับ ควบคุม แนะนำ และสนับสนุนให้ข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข สามารถทำงานในหน้าที่ความรับผิดชอบให้สัมฤทธิ์ผลดังกล่าว โดยบุคลากรที่ปฏิบัติงานทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับตำแหน่ง เงินเดือน ค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ตามระเบียบของข้าราชการพลเรือนตามที่กำหนดไว้ในระเบียบข้าราชการพลเรือน เหมือนกับข้าราชการพลเรือนของกระทรวงอื่นๆ เช่นเดียวกัน

ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ทำให้ระบบการบริหารราชการแผ่นดินของกระทรวงสาธารณสุขเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้รับเงินงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลเหมือนเดิม เนื่องจากรัฐบาลจ่ายเงินงบประมาณทั้งหมดในการดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุข ไปยังสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมทั้งเงินเดือนของข้าราชการและบุคลากรสาธารณสุข ก็จ่ายไปให้ สปสช. เรียกว่า “เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”

โดย สปสช. เป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการงบประมาณเหล่านี้แทนกระทรวงสาธารณสุข แต่กระทรวงสาธารณสุขมีเพียงภาระงานในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชนเหมือนเดิม เมื่อข้าราชการและบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขได้ทำหน้าที่ในการให้บริการสาธารณสุขแก่ประชาชน 48 ล้านคนที่มีสิทธิ์ในการได้รับการดูแลรักษาสุขภาพตามระบบของหลักประกันสุขภาพแล้ว บุคลากรของกระทรวงสาธารณสุขต้องทำรายงานค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยส่งไปยัง สปสช. เพื่อไปขอรับเงินจาก สปสช. มาใช้จ่ายในการที่ได้ดำเนินกิจการสาธารณะด้านสาธารณสุขเพื่อประชาชนไปแล้ว

ในปี พ.ศ. 2550 ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่ได้กำหนดไว้ในหมวด 5 ว่าด้วยธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยให้คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจัดทำธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และเมื่อ ครม. เห็นชอบแล้ว ให้ธรรมนูญสุขภาพแห่งชาตินี้ (มีผล) ผูกพันหน่วยงานของรัฐและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ของตน

ดังนั้นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีอำนาจที่จะ “กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพของประเทศ”เพื่อให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำไปปฏิบัติตาม

ภายหลังจากการประกาศใช้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเป็นผู้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพ (หรือเมื่อก่อนเรียกว่านโยบายสาธารณสุข) และภายหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 แล้ว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานที่ “บริหารงบประมาณแผ่นดินเกี่ยวกับการบริการด้านสาธารณสุข”

ส่วนกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการ ปลัดกระทรวง และบุคลากรทุกระดับ ต้องทำงานตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และระเบียบหรือโครงการและข้อกำหนดของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเท่านั้น เนื่องจาก พ.ร.บ. ทั้งสองฉบับนี้ได้กำหนดให้นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นเพียงผู้ “กำกับ” ดูแลการดำเนินการของคณะกรรมการเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ในการ “บังคับบัญชา” สำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และ สปสช. แต่อย่างใด

ถ้ามาทบทวนดู “คุณสมบัติของคณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับ” ที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการคล้ายคลึงกัน กล่าวคือ ให้นายกหรือรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง กรรมการโดยตำแหน่งมาจากนักการเมืองในระดับรัฐมนตรี ข้าราชการประจำในระดับสูงคือปลัดกระทรวงต่างๆ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรวิชาชีพด้านสาธารณสุข ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งการตั้งกรรมการสรรหาและการคัดเลือกกรรมการต่างๆ (ที่เป็นผู้แทนจากองค์กรต่างๆ และองค์กรเอกชน) นั้น จะเห็นได้ว่า เป็นช่องทางที่ทำให้กลุ่มคนพวกเดียวกันเป็นส่วนมาก

ผลการกำหนดวิธีการเลือกกรรมการต่างๆ ทำให้มีคนกลุ่มเดียวกันที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ. เหล่านี้ เข้ามาเป็นกรรมการและเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ที่ไม่เปิดกว้างรับฟังความเห็นของนักวิชาการหรือบุคลากรสาธารณสุขที่มีความเห็นไม่ตรงกับแนวทางของตนเอง ได้ส่งผลเสียหายแก่ระบบสาธารณสุขมากมายที่ประชาชนทั่วไปอาจไม่รับทราบ แต่ต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้หลายประการดังนี้คือ

1. เกิดองค์กรอิสระด้านสาธารณสุขหรือสุขภาพ ที่กรรมการส่วนมากไม่มีความรู้พื้นฐานในการกำหนดนโยบายหรือยุทธศาสตร์ในการบริหารจัดการในการบริการสาธารณะด้านสาธารณสุข ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน ที่ไม่ได้นำไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ไม่สามารถตรวจสอบความสุจริต โปร่งใส และความคุ้มค่าได้

2. ก่อให้เกิดความขาดแคลนงบประมาณที่เหมาะสม ในการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีมาตรฐานที่ดี ที่ควรจะได้รับการบำรุงและพัฒนาให้เหมาะสมกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อคุณภาพการรักษา สุขภาพ และคุณภาพชีวิตประชาชน และทำให้มาตรฐานการแพทย์ไทยตกต่ำ

3. การที่ส่งเสริมให้ประชาชนมารับการตรวจรักษาโรคเมื่อเจ็บป่วยแล้ว โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิประโยชน์ในการรับการรักษา “ทุกโรคฟรี” โดยไม่มีการกำหนดให้ประชาชนร่วมรับผิดชอบในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ไม่ต้องดูแลรักษาตัวและคนในครอบครัวเมื่อเจ็บป่วย ทำให้ประชาชนมารับการตรวจรักษามากเกินกำลังของบุคลากรสาธารณสุขที่จะให้การดูแลรักษาได้อย่างทั่วถึง และงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมาก็ไม่เพียงพอที่จะจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อมาให้การดูแลรักษาแก่ประชาชนได้ตามมาตรฐานการแพทย์ที่ดีและทันสมัย เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาที่มีมาตรฐานและปลอดภัย ทำให้ประชาชนร้องเรียนหรือฟ้องร้องว่า ได้รับความเสียหายจากการไปรับการรักษาหรือการรับบริการสาธารณสุขมากขึ้น ภายหลังจากการมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (30 บาทหรือบัตรทอง)

การที่มีงบประมาณไม่เพียงพอที่จะรักษาประชาชนให้ได้ตามมาตรฐาน ยังทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติออกกฎระเบียบ/ข้อบังคับในการจัดซื้อยาเวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ ที่ไม่มีคุณภาพเหมาะสมกับอาการป่วยหลายๆ อย่าง ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อสุขภาพของผู้ป่วย แต่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ชี้แจงว่าแพทย์ที่ใช้ยานอกเหนือจากกฎเกณฑ์/ระเบียบที่ สปสช. กำหนด เป็นผู้มีผลประโยชน์กับบริษัทยาข้ามชาติ โดยการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นการส่วนตัว หรือมีการทุจริต (ซึ่งอาจจะมีคนทุจริตบ้าง แต่คงไม่ใช่ทุกคน และต้องไปสอบสวนให้เกิดความกระจ่างในแต่ละกรณีไป)

4. เมื่อมีงบประมาณไม่พอที่จะจัดบริการที่มีคุณภาพได้ โรงพยาบาลหลายร้อยแห่งของกระทรวงสาธารณสุขก็ยังประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ขาดเงินงบประมาณที่จะบูรณะและพัฒนาการจัดบริการสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ทำให้มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยตกต่ำ ประชาชนได้รับผลเสียหายจากการไปรับการรักษาจากโรงพยาบาล และ/หรือไม่มีความพึงพอใจต่อผลการรักษา ทำให้เกิดการฟ้องร้อง/ร้องเรียนเพื่อขอเงินช่วยเหลือเยียวยาจากการได้รับความเสียหายมากขึ้น ต่างจากก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

5. บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระงานที่มากเกินไป และยังมีภาระหนักใจเรื่องการถูกฟ้องร้อง/กล่าวหา/กล่าวโทษมากขึ้น ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ลาออกจากระบบราชการกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะบังคับให้นักศึกษาแพทย์ต้องมาทำงานชดใช้ทุนเป็นเวลา 40 ปี ก็ไม่อาจทดแทนจำนวนบุคลากรที่ลาออกไปและไม่สามารถรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นได้ นอกจากนั้น บุคลากรพยาบาลก็มีน้อย ทำให้ต้องรับภาระในการให้การพยาบาลผู้ป่วยมากเกินไป ต้องทำงานติดต่อกัน 16 ชั่วโมง ทำให้เสี่ยงต่อความเสียหายของผู้ป่วยและคุณภาพการพยาบาลอีกด้วย

6. พรรคเพื่อไทยอาจจะทราบถึงความไม่พียงพอของงบประมาณ และการที่ประชาชนมาใช้บริการมากเกินไปโดยไม่ต้องรับผิดชอบในการดูแลรักษาสุขภาพตนเองเลย จึงได้ประกาศว่าจะกลับมาเก็บเงินประชาชนครั้งละ 30 บาทต่อการไปรับการรักษา 1 ครั้ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการไปรับการรักษาพยาบาลบ้าง ถึงแม้เงินจำนวนนี้จะไม่ทำให้โรงพยาบาลได้เงินเพียงพอต่อต้นทุนการรักษา แต่ก็อาจจะลดจำนวนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถดูแลตนเองได้ และทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีเวลาไปให้การดูแลรักษาผู้ป่วยหนักได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐานมากขึ้น

7. การที่มีกลุ่มแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ สนับสนุนรัฐบาลให้มีการเก็บเงินจากประชาชนที่มีฐานะทางการเงินที่พอจะจ่ายเงินเมื่อไปโรงพยาบาลได้ ก็เพื่อทำให้ประชาชนหันไปดูแลรักษาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ได้เอง เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยเล็กๆ น้อยๆ และเพื่อให้แพทย์/พยาบาล มีเวลาดูแลรักษาผู้ป่วยหนักที่ต้องการได้รับการดูแลใกล้ชิดได้ดีขึ้น จะช่วยทำให้มาตรฐานการรักษาผู้ป่วยดีขึ้น ทำให้ผู้ป่วยปลอดภัย มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี และยังได้เงินมาพัฒนาบริการทางการแพทย์ได้อีกด้วย ซึ่งตามสถิติพบว่า ประชาชนไปใช้บริการทางการแพทย์ปีละประมาณ 200 ล้านครั้ง ก็จะมีเงินเข้าสู่โรงพยาบาลอีกไม่น้อยกว่าปีละ 6,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ผู้ที่ยากจนก็สมควรได้รับการยกเว้นการจ่ายเงิน ส่วนผู้ที่ไม่ยากจนก็ควรที่จะต้องจ่ายเงินสมทบในการไปรับการรักษาพยาบาลด้วย เหมือนกับที่คนจนไม่ต้องจ่ายเงินภาษีรายได้ ในขณะที่ผู้มีรายได้มากก็ต้องเสียภาษีมาก ผู้มีรายได้น้อยก็ควรเสียภาษีน้อยหรือไม่ต้องเสียภาษีรายได้เลย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความ “ยุติธรรม” และความสงบสุขสำหรับทุกคนในสังคม

8. การที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนดการใช้ยาบางอย่าง การรักษาเพียงบางอย่าง การใช้เครื่องมือแพทย์เพียงบางอย่าง รวมทั้งการ “บังคับ” การให้แพทย์รักษาได้เพียงบางชนิด โดยไม่เปิดโอกาสให้มีการเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน กล่าวคือ ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์ในการรักษาตามระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น ไม่ได้รับการดูแลรักษาสุขภาพดีที่สุดตามมาตรฐานการแพทย์ในปัจจุบัน

9. การเขียนบทความนี้ มีความมุ่งหมายให้ประชาชนได้รับทราบว่า บุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ต่างก็มีความห่วงใยต่อพี่น้องประชาชนไทย ที่จะได้รับการดูแลรักษาโรคต่ำกว่ามาตรฐานการแพทย์ที่ดี

เอกสารอ้างอิง :

1. ภาคประชาชนยื่นจม.ถึงนายกค้านเก็บ 30 บาท

2. ราชกิจจานุเบกษาเล่ม29 ตอน 50 ก 8 มิถุนายน 2555

3. กางข้อมูล สปสช. โต้ สปสช. เปิดสถิติผู้เสียชีวิตล้างไตทางช่องท้องสูง 40% แต่ สปสช. ยังยันเป็นวิธีที่ดีที่สุด

4. อดีตประธานสปสช.ระบุบอร์ดสปสช.มีอำนาจล้น ชงเลขาฯอนุมัติงบครั้งละ 1 พันล้าน

5.ทีดีอาร์ไอแฉ 30 บาทถังแตก ปัญหาท่วม

6. ทิศทางของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหลังยุค 30 บาท

7.“อัมมาร” แนะเพิ่ม 3 หมื่นล้าน-30 บาทไปรอด